กาเตรีนาแห่งซีเอนา
นักบุญกาเตรีนาแห่งซีเอนา (อิตาลี: Caterina da Siena) เป็นสมาชิกคณะชั้นสามของนักบุญดอมินิก เกิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1347 ที่เมืองซีเอนา สาธารณรัฐซีเอนา และถึงแก่มรณกรรมเมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1380 ที่กรุงโรม รัฐสันตะปาปา เป็นนักปรัชญาและนักเทววิทยาศาสนาคริสต์ ได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปี ค.ศ. 1461 และได้รับแต่งตั้งเป็น “นักปราชญ์แห่งคริสตจักร” ในปี ค.ศ. 1970
นักบุญกาเตรีนาแห่งซีเอนา | |
---|---|
“นักบุญกาเตรีนาแห่งซีเอนา” - ราว ค.ศ. 1515 โดยโดเมนีโก ดี ปาเช เบกกาฟูมี (Domenico Beccafumi) | |
พรหมจารีและนักปราชญ์แห่งคริสตจักร | |
เกิด | 25 มีนาคม ค.ศ. 1347 เมืองซีเอนา สาธารณรัฐซีเอนา |
เสียชีวิต | 29 เมษายน ค.ศ. 1380 กรุงโรม รัฐสันตะปาปา |
นิกาย | โรมันคาทอลิก แองกลิคัน ลูเทอแรน |
เป็นนักบุญ | ค.ศ. 1461 โดย สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 2 |
วันฉลอง | 29 เมษายน |
สัญลักษณ์ | เครื่องแบบคณะดอมินิกัน, ดอกลิลี, หนังสือ, กางเขน, หัวใจ, มงกุฏหนาม, สติกมาตา, แหวน, นกพิราบ, ดอกกุหลาบ, หัวกะโหลก, วัดย่อส่วน, เรือย่อส่วนที่มีตราประจำพระองค์ของสันตะปาปา |
องค์อุปถัมภ์ | ปฏิปักษ์ต่อไฟ, ความเจ็บป่วย, ผู้ดับเพลิง, การแท้ง, พยาบาล, ผู้ที่เยาะเย้ยเพราะความเคร่งครัด, โทรทัศน์ |
ชีวิต
แก้นักบุญกาเตรีนาเป็นชาวซีเอนา บุตรสาวของจาโกโม ดี เบนินกาซา ช่างย้อมผ้าผู้มีฐานะดี และมารดาคือ ลาปา ปีอาเจนตี ลูกสาวของกวีท้องถิ่น กาเตรีนาเป็นลูกคนที่ 23 ในบรรดาพี่น้อง 25 คน แฝดของกาเตรีนาเสียชีวิตเมื่อแรกเกิด เธอไม่ได้รับการศึกษาอะไรเป็นทางการ เมื่ออายุได้ 7 ขวบ กาเตรีนาก็อุทิศความเป็นพรหมจารีต่อพระเยซูทั้ง ๆ ที่ครอบครัวประท้วง บิดาและมารดาต้องการให้กาเตรีนามีชีวิตอย่างธรรมดาและแต่งงานมีครอบครัวเช่นคนอื่น ๆ แต่กาเตรีนากลับอุทิศตัวต่อการอธิษฐาน และอยู่อย่างสันโดษจนกระทั่งอายุเกือบ 20 ปี เมื่ออายุได้ 16 ปี กาเตรีนาก็เข้าเป็นสมาชิกคณะชั้นสามของนักบุญดอมินิก ในสังกัดคณะดอมินิกันที่นักบุญดอมินิกก่อตั้งขึ้นนปี ค.ศ.1215
นักบุญกาเตรีนาอุทิศตัวช่วยเหลือคนเจ็บไข้และคนยากจน โดยไปดูแลที่โรงพยาบาลหรือที่บ้านของคนเหล่านั้น จากนั้นนักบุญกาเตรีนารวบรวมผู้ติดตามทั้งหญิงและชายและพากันเดินทางไปทางเหนือของอิตาลีเพื่อพยายามปฏิรูปนักบวช ซึ่งเป็นขบวนการที่พยายามทำให้ผู้คนมีความเชื่อว่าสามารถที่เปลื่ยนชีวิตใหม่หรือรู้สึกสำนึกบาปได้โดยการเข้าถึงความรักของพระเจ้า นอกจากนั้นก็ยังอุทิศชีวิตให้กับการศึกษาตำราศาสนาต่าง ๆ
ประมาณปี ค.ศ. 1366 นักบุญกาเตรีนามีประสบการณ์กับตนเองที่บรรยายไว้ในจดหมายว่าพระนางมารีย์พรหมจารีและพระเยซูได้ทรงประจักษ์แก่เธอในวันอังคารก่อนวันพุธรับเถ้า และในการประจักษ์มาครั้งนี้เอง พระเยซูได้สวมแหวนให้แก่เธอและบอกให้เธอกล้าหาญ แหวนที่กาเตรีนาได้รับนี้มีเพียงเธอผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถมองเห็นได้
หลังจากที่ได้ดูแลคนยากจนและคนเจ็บไข้ ในปี ค.ศ. 1370 ก็ได้รับนิมิตหลายครั้งเรื่อง “นรก” และ “แดนชำระ” และ “สวรรค์” หลังจากนั้นที่ได้เห็นภาพก็ได้รับคำสั่งให้เลิกการอยู่อย่างสันโดษเพื่อจะไปทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม เพราะความที่ไม่มีการศึกษากาเตรีนาจึงต้องบอกจดหมายให้ผู้เขียนเขียนถึงผู้มีอำนาจเพื่อเรียกร้องสันติภาพให้แก่รัฐ- และราชอาณาจักรต่าง ๆ ในอิตาลี และเพื่อขอร้องให้สำนักพระสันตะปาปาย้ายราชสำนักจากอาวีญงในประเทศฝรั่งเศสกลับมาอยู่ที่โรมเช่นเดิม กาเตรีนาเขียนจดหมายติดต่อกับสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 11 อยู่เป็นเวลานานเพื่อขอให้พระองค์ปฏิรูปนักบวชและการบริหารของรัฐต่าง ๆ ที่ขึ้นอยู่กับพระสันตะปาปา
ในเดีอนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1376 กาเตรีนาเดินทางไปอาวีญองด้วยตนเองในฐานะทูตของฟลอเรนซ์เพื่อไปแสวงหาสันติภาพระหว่างรัฐที่ขึ้นอยู่กับพระสันตะปาปาแต่ก็ไม่สำเร็จ นอกจากนั้นกาเตรีนาก็พยายามชักจูงให้พระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 11 ผู้พำนักและปกครองคริสตจักรอยู่ที่อาวีญงในประเทศฝรั่งเศส ให้ย้ายราชสำนักพระสันตะปาปากลับไปกรุงโรมซึ่งกาเตรีนาเห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะสมที่จะเป็นศูนย์ของคริสตจักรที่แท้จริง (Hollister 343) กาเตรีนาสร้างความประทับใจให้แก่พระสันตะปาปาเป็นอันมากจนกระทั่งทรงย้ายราชสำนักกลับมากรุงโรมเมื่อเดีอนมกราคม ปี ค.ศ. 1377 ระหว่างศาสนเภทตะวันตก (Western Schism) เมื่อ ปี ค.ศ. 1378 สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6 ก็ทรงเรียกตัวกาเตรีนากลับมารับใช้มารับใช้ที่โรมเพื่อให้ช่วยชักจูงให้เจ้านายและพระคาร์ดินัลทั้งหลาย ว่าพระองค์เป็นพระสันตะปาปาผู้ชอบธรรม กาเตรีนาอยู่ที่โรมจนกระทั่งถึงแก่มรณกรรมเมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1380
จดหมายของกาเตรีนาที่ยังมีเหลืออยู่ด้วยกันทั้งหมด 300 ฉบับ ถือกันว่าเป็นงานวรรณกรรมที่มีค่าที่สุดชิ้นหนึ่งของแคว้นทัสกานี ในจดหมายที่เขียนถึงพระสันตะปาปา กาเตรีนามักจะเรียกพระสันตะปาปาอย่างน่ารักว่า “ปาปา” หรือ “พ่อ” ( “Babbo” ในภาษาอิตาลี) งานชิ้นเอกของกาเตรีนาคืองานชื่อ “เสวนาเรื่องพระญาณสอดส่อง” (Dialogue of Divine Providence)
กาเตรีนาเสียชีวิตด้วย เส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน (stroke) เมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1380 ที่กรุงโรมเมื่อมีอายุได้เพียง 33 ปีซึ่งเป็นอายุที่เท่ากับพระเยซูเมื่อสิ้นพระชนม์ ประชาชนเมืองเซียนนาต้องการร่างของกาเตรีนากลับมายังซีเอนา มีเรื่องเล่ากันถึงสาเหตุที่เพียงแต่หัวของกาเตรีนาได้กลับมาอยู่ที่เมืองเซียนนา โดยว่ากันว่าเมื่อชาวเมืองเซียนนารู้ว่าไม่สามารถนำร่างของกาเตรีนาผ่านทหารยามที่โรมออกมาได้ ก็ตัดสินใจลักลอบเอาแต่หัวใส่ถุงกลับมา แต่อย่างไรก็ตามทหารก็ยังหยุดตรวจ ผู้ที่ลักลอบก็รีบสวดมนต์ให้กาเตรีนาช่วย เมื่อทหารเปิดถุงที่ใส่หัวกาเตรีนาแทนที่จะเห็นหัวคนกลับเห็นถุงที่เต็มไปด้วยกลีบดอกไม้แทนที่ แต่เมื่อกลับไปถึงซีเอนาเมื่อเปิดถุงก็กลับกลายเป็นหัวกาเตรีนาเช่นเดิม จากตำนานดังกล่าวรูปเขียนของกาเตรีนาจึงเป็นผู้หญิงถือดอกกุหลาบ
การประกาศเป็นนักบุญ
แก้ภคินีกาเตรีนาได้รับการประกาศเป็นนักบุญโดยสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 2 เมื่อปี ค.ศ. 1461 และวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1970 สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ได้แต่งตั้งท่านและนักบุญเตเรซาแห่งอาบีลา เป็นนักปราชญ์แห่งคริสตจักรพร้อมกัน นับเป็นสตรีคู่แรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ และในปี ค.ศ. 1999 สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ประกาศให้นักบุญกาเตรีนาเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ทวีปยุโรปอีกคนหนึ่ง
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Letters of Catherine Benincasa by Saint of Siena Catherine (จดหมายของกาเตรีนา เบนินคาซา โดยนักบุญแห่งเซียนนา กาเตรีนา)
- “นักบุญกาเตรีนาแห่งซีเอนา” โดยเอ็ดมันด์ จี การ์ดเนอร์ (Catholic Encyclopedia)
- นักบุญกาเตรีนาแห่งซีเอนา พรหมจารี (EWTN) เก็บถาวร 2019-05-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- นักบุญกาเตรีนาแห่งซีเอนา
- Drawn by Love. The Mysticism of Catherine of Siena (รหัสยลัทธิของนักบุญกาเตรีนาแห่งซีเอนา)
- Hollister, Warren C. and Judith M. Bennett. Medieval Europe: A Short History. 9th edition. Boston: McGraw-Hill Companies Inc., 2002. p. 342-343