กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ

กองบังคับการสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ (อังกฤษ: Aerial Reinforcement Division) หรือรู้จักกันในชื่อของ ตำรวจพลร่ม (อังกฤษ: Police Aerial Reinforcement Unit: PARU) เป็นกองบังคับการภายใต้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2496 โดยได้รับการสนับสนุนการฝึกจากสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา ในการต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น[4]

กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ
Aerial Reinforcement Division
Police Aerial Reinforcement Unit
เครื่องหมายนักโดดร่มชั้นพิเศษ
สัญลักษณ์ค่ายนเรศวร
อาร์มตำรวจพลร่ม
เครื่องหมายราชการ
ชื่อทางการกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ
อักษรย่อบก.สอ. / PARU
คำขวัญไม่มีอะไรที่ตำรวจพลร่มทำไม่ได้
ตายเสียดีกว่าละทิ้งหน้าที่
ตายในสนามรบ
เป็นเกียรติของค่ายนเรศวร
[1]
PARU Can do.[2]
ข้อมูลองค์กร
ก่อตั้ง1 เมษายน, พ.ศ. 2496
หน่วยงานก่อนหน้า
  • หน่วยตำรวจพลร่ม (PARU) พ.ศ. 2496 - 2503
  • กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจภูธร พ.ศ. 2503 - 2515
  • กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน พ.ศ. 2515 - 2548
โครงสร้างเขตอำนาจ
เขตอำนาจในการปฏิบัติการประเทศไทย
แผนที่เขตอำนาจของ กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ
เขตอำนาจตามกฎหมายทั่วราชอาณาจักร
ลักษณะทั่วไป
เขตอำนาจเฉพาะทาง
  • กองกำลังกึ่งทหาร การปราบปรามความไม่สงบ และการควบคุมจลาจล
  • ตระเวนชายแดน รักษาความปลอดภัย และความมั่นคง
สำนักงานใหญ่ค่ายนเรศวร, เลขที่ 1280 ถนนเพชรเกษม ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 76120

ผู้บริหารหน่วยงาน
  • พลตำรวจตรี วันชนะ ธรรมเสมา, ผู้บังคับการกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ
หน่วยงานปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
 • กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
กองกำกับการ • 5 กองกำกับการ
ปฏิบัติการสำคัญ
เว็บไซต์
http://www.bppparu.go.th/

กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ มีศักยภาพในการปฏิบัติการสงครามพิเศษ การยุทธส่งทางอากาศ และการยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศสูง สามารถปฏิบัติงานได้ทั่วปรเทศ โดยกำลังส่วนหน้าสามารถเคลื่อนย้ายได้ภายใน 30 นาที และกำลังส่วนใหญ่เคลื่อนที่ได้ภายใน 2 ชั่วโมง ตามขีดความสามารถของอากาศยานสนับสนุน[5]

คติประจำใจของตำรวจพลร่ม คือ "ไม่มีอะไรที่ตำรวจพลร่มทำไม่ได้ ตายเสียดีกว่าละทิ้งหน้าที่ ตายในสนามรบ เป็นเกียรติของค่ายนเรศวร"[6]

ประวัติ แก้

สำนักข่าวกรองสหรัฐได้ทำการฝึกตำรวจและทหารไทยให้มีศักยภาพในการส่งกำลังทางอากาศ การฝึกอาวุธพิเศษ และรบแบบกองโจรเพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยมอบหมายให้ พ.ต.อ. เจมส์ วิลเลี่ยม แลร์ พร้อมคณะ เป็นครูฝึกหน่วยพลร่ม ณ ค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2494[4] ในขณะนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้รับการฝึกเสร็จสิ้นแล้วก็เดินทางกลับไปประจำการตามต้นสังกัดเดิมของตน เนื่องจากยังไม่มีการตั้งหน่วยพลร่มหรือตำรวจพลร่มขึ้นมาอย่างเป็นทางการ เหลือไว้เพียงกำลังชุดที่ได้รับเลือกให้เป็นครูฝึกเพื่อถ่ายทอดการรบแบบกองโจร การฝึกอาวุธพิเศษ และการกระโดดร่มให้กับนักเรียนรุ่นต่อไป

จากนั้น บิล แลร์ ได้มีแนวคิดในการจัดตั้งหน่วยตำรวจพลร่มขึ้นในปี พ.ศ. 2496 โดยเรียกว่าหน่วย PARU ซึ่งย่อมาจาก Police Aerial Reinforcement Unit[7] โดยเน้นความหมายไปที่ตัว R ของคำว่า PARU หมายถึงการสนับสนุนกำลังเพิ่มเติม ซึ่งเป็นคำที่ดูแล้วไม่ให้ความรู้สึกคุกคามมากเกินไป และเหมาะสมกับหน่วยตำรวจ โดย บิล แลร์ และ ร.ต.ต. เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในครูฝึกชุดแรก ได้เสนอต่อ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ให้รวบรวมกำลังตำรวจที่ได้รับการฝึกการรบแบบกองโจรและการโดดร่มตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2494 เป็นต้นมาให้มาประจำการรวมกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการส่งกำลังโดยไม่ต้องรวบรวมกำลังพลจากต้นสังกัดต่าง ๆ ที่ตำรวจเหล่านั้นต้องกลับไปหลังจากฝึกในช่วงแรก โดยใช้ค่ายนเรศวร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นที่ตั้งหน่วย เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2496 โดยหน่วยตำรวจพลร่มได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ กองยานยนต์ (ตำรวจรถถัง) ตำรวจสอบสวนกลาง[8] ตามความเห็นชอบของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ที่ได้รับการเสนอจาก บิล แลร์ ซึ่งบิล แลร์เอง ได้รับการแต่งตั้งและพระราชทานยศทางตำรวจ และมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาประจำหน่วยตำรวจพลร่ม [4] ในขณะเดียวกัน ร.ต.ต. สเน่ห์ สิทธิพันธุ์ ผู้ร่วมเสนอการจัดตั้งหน่าวยก็ได้ถูกแต่งตั้งเป็นผู้บังคับหน่วยคนแรก[9]

หน่วยตำรวจพลร่มได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดค่ายนเรศวร รวมถึงได้ทอดพระเนตรการสาธิตโดดร่ม การใช้อาวุธพิเศษ ในการรบด้วยยุทธวิธีแบบกองโจรของตำรวจพลร่ม ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2496[10] จึงได้ถือว่าวันนี้ เป็นวันสถาปนาของค่ายนเรศวร ฐานปฏิบัติการของตำรวจพลร่ม

สำหรับสายการบังคับบัญชาในทางธุรการนั้นหน่วยตำรวจพลร่มขึ้นกับกองยานยนต์ แต่ในทางปฏิบัตินั้นมีการจัดรูปแบบองค์กรเที่ยบเท่ากองกำกับการแบบเดียวกับทหารหน่วยพลร่ม โดยขึ้นตรงสายการบังคับบัญชาด้านยุทธการและข่าวกรองต่อกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน การฝึกและเตรียมความพร้อมสำหรับการเสริมกำลังทางอากาศให้กับกรมตำรวจได้อย่างรวดเร็ว มีศักยภาพในการส่งกำลังภายใต้ทุกสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ ปฏิบัติงานตำรวจได้ในพื้นที่ห่างไกลและหน่วยตำรวจทั่วไปไม่สามารถทำได้อย่างทันท้วงที[11]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 หลังจากตำรวจพลร่มได้โอนพื้นที่ฝึกที่ค่ายเอราวัณให้กับกองทัพบก[12] ได้มีการสำรวจทางอากาศสำหรับหาพื้นที่ในการฝึกฝนและทบทวนทักษะการรบแบบกองโจร และการดำรงชีพในป่า โดยพื้นที่ทางตะวันตกของอำเภอหัวหิน ที่ตั้งของค่ายนเรศวรขณะนั้นมีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งค่ายฝึก เนื่องจากภูมิประเทศที่มีความเหมาะสม จึงได้จัดกำลังลงพื้นที่สำรวจในพื้นที่ดังกล่าว ระยะเวลา 4 สัปดาห์ จนพบสถานที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งค่ายฝึกในพื้นที่ป่า บริเวณริมแม่น้ำห้วยสัตว์ใหญ่ ตำบลสองพี่น้อง กิ่งอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี[11] ปัจจุบันคือ ศูนย์ฝึกรบพิเศษฤทธิฤาชัย ค่ายป่าละอู ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์[13]

จากนั้นในปี พ.ศ. 2500 ได้เกิดรัฐประหารขึ้น ทำให้เกิดการปรับโครงสร้างบริหารของกรมตำรวจ และยุบตำรวจกองยานยนต์ (ตำรวจรถถัง) แต่หน่วยตำรวจพลร่มก็อยู่รอดมาได้จากการถูกยุบเลิก[7] โดยยังไม่มีสถานะที่ชัดเจน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 ตำรวจพลร่มจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ (กก.สอ.) ฝ่ายสนับสนุนตำรวจภูธรชายแดน กองบัญชาการตำรวจภูธร[14]

ในขณะนั้น จากภัยคุกคามของประเทศกำลังประสบกับการรุกรานของลัทธิคอมมิวนิสต์เพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้มีการกำหนดกรอบภารกิจของตำรวจพลร่ม ในการปฏิบัติการส่งครามพิเศษ การทำสงครามแบบกองโจร และได้เข้าร่วมปฏิบัติการในสงครามลับในประเทศลาว ทั้งการฝึกทหารม้ง[15] การปฏิบัติการจิตวิทยา จัดตั้งกองกำลัง[16] และการร่วมปฏิบัติการรบ จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในชื่อของ PARU ในหมู่ทหารอเมริกัน ทหารม้ง ทหารลาว และทหารไทย ที่ได้ร่วมปฏิบัติการระหว่างปี พ.ศ. 2503 - 2515[4] นอกจากนี้ตำรวจพลร่มได้รับลายพรางไทเกอร์ ซึ่งเป็นลายของเครื่องแบบที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริการในการใช้ปฏิบัติการในประเทศลาว มาเป็นลายพรางประจำหน่วยจนถึงปัจจุบัน[17]

พ.ศ. 2515 กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ ถูกปรับแยกจากกองบัญชาการตำรวจภูธร มาขึ้นกับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ในชื่อ กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน[18] ประกอบไปด้วย 9 แผนก และ 5 กองร้อย จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของตำรวจพลร่มกับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ตำรวจพลร่มจากกองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ เป็นกำลังส่วนหนึ่งที่ร่วมปฏิบัติการในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม มีกำลังประมาณ 50 - 60 นายเข้าร่วมปฏิบัติการโดยไม่ได้รับการแจ้งวัตถุประสงค์ล่วงหน้า[19] ซึ่งอาวุธที่นำมาปฏิบัติการประกอบด้วย ปืนเอ็ม 16 ปืนเอชเอค 33 เครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 79 และปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง[15]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 ได้มีการปรับส่วนราชการภายในของกองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน แบ่งเป็น 6 แผนก และ 8 กองร้อย[20] และย้ายที่ตั้งของค่ายนเรศวร มายังพื้นที่ใหม่ซึ่งเป็นที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์[21] ในอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี[22] ซึ่งเป็นที่ตั้งมาจนถึงปัจจุบัน

จากนั้น ในปี พ.ศ. 2548 ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงจากกรมตำรวจมาเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการยกฐานะของ กำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน ขึ้นเป็น กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ ส่วนราชการภายในประกอบไปด้วย ฝ่ายอำนวยการ และกองกำกับการ 1 - 4[23]

และในปี พ.ศ. 2552 กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศได้รับโอนหน้าที่ของอดีตกองกำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจดับเพลิง ที่มีภารกิจในป้องกันและระงับอัคคีภัยในเขตพระราชฐาน ซึ่งถูกยุบเลิกในปี พ.ศ. 2546 ตามมติคณะรัฐมนตรี[24] โดยอดีตกองกำกับการ 5 ตำรวจดับเพลิงได้โอนไปอยู่ในการดูแลของกรุงเทพมหานคร และสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ[25] ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2548 และถ่ายโอนมาก่อตั้งเป็น กองกำกับการ 5 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา[26] ทำให้กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ มีภารกิจเพิ่มเติมในการถวายความปลอดภัยในด้านของการป้องกันและระงับอัคคีภัยในเขตพระราชฐาน[27] ทั้งที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และนอกเขตกรุงเทพมหานคร

ภารกิจ แก้

การปฏิบัติการสงครามพิเศษ แก้

การปฏิบัติการสงครามพิเศษ คือการปฏิบัติการปฏิบัติการสงครามนอกแบบ ในการป้องกันและปราบปรามความไม่สงบ ซึ่งรวมไปถึงการปฏิบัติการจิตวิทยา เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ไม่ว่าจะเป็นทั้งการทหาร การเมือง เศรษฐกิจหรือสังคม ในพื้นที่ของข้าศึก พื้นที่ที่ล่อแหลม พื้นที่ที่ถูกข้าศึกเข้ายึดครอง และหลังแนวของข้าศึก โดยสามารถปฏิบัติการได้ทั้งยามสงบหรือยามสงครามเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยมุ่งเน้นในการปกปิดอำพรางปฏิบัติการเพื่อประโยชน์ของการปฏิบัติการและผลประโยชน์ของประเทศชาติ ภายใต้กรอบของยุทธวิธี ยุทธการ และยุทธศาสตร์[28]

การยุทธส่งทางอากาศ แก้

การยุทธส่งทางอากาศ (airborne operation) หรือการปฏิบัติการส่งทางอากาศ[29] เป็นการเคลื่อนย้ายกำลังทั้งในส่วนของพลร่มและส่วนสนับสนุนเข้าไปยังเป้าหมายโดยการส่งทางอากาศ เพื่อปฏิบัติภารกิจทั้งในทางยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีในพื้นที่นั้น ๆ เข้าครอบครองพื้นที่หรือรักษาพื้นที่ โดยใช้ร่มชูชีพ หรือการบินลงด้วยอากาศยานขนส่งที่เหมาะสม[30]

การยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศ แก้

การยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศ (air assault) เป็นการเคลื่อนกำลังของกองกำลังภาคพื้นดินพร้อมกับอุปกรณ์สนับสนุนโดยใช้อากาศยานเข้าไปในพื้นที่แนวหลังของฝ่ายตรงข้ามด้วยความรวดเร็ว[31] เพื่อยึดครองภูมิประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ปฏิบัติการโดยอากาศยานขึ้นลงแนวดิ่งอย่างเฮลิคอปเตอร์

การต่อต้านการก่อการร้าย แก้

การต่อต้านการก่อการร้าย (Counter-Terrorism) เป็นการป้องกันและระงับไม่ให้เกิดเหตุการก่อการร้าย การตอบโต้เมื่อเกิดการก่อการร้ายขึ้น โดยตอบสนองต่อเหตุการณ์ด้วยความรวดเร็ว รวมไปถึงมาตรการด้านการข่าวในการต่อต้านการก่อการร้าย โดยมีหน่วยงานหลักในการปฏิบัติการคือ กองกำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ หรือ "หน่วยนเรศวร 261"

การฝึกอบรม แก้

การฝึกอบรมให้กับบุคลากรของหน่วยงานเพื่อทบทวนให้เกิดความเชี่ยวชาญ การฝึกอบรมให้กับบุคลากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ[32] ทั้งในด้านของยุทธวิธีต่าง ๆ อาทิ การส่งกำลังทางอากาศด้วยการกระโดดหอสูง การฝึกในอุโมงค์ลม การโดดร่ม การฝึกอาวุธยุทธวิธีในการปฏิบัติการ การฝึกเกี่ยวกับหลักสูตรการส่งครามพิเศษ การปฏิบัติการจิตวิทยา การควบคุมฝูงชน การป้องกันและปราบปรามความไม่สงบในสถานการณ์ต่าง ๆ รวมไปถึงการสนับสนุนการฝึกอบรมให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่าง ๆ[33]

หลักสูตรที่มีการฝึกอบรมโดยกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ อาทิ

  • การโดดร่มแบบสายกระตุก[34]
    • หลักสูตรการโดดร่มขั้นพื้นฐาน (Airborne)
    • หลักสูตรการโดดร่มเพื่อแต่งตั้งในตำแหน่งนักโดดร่ม
    • หลักสูตรการโดดร่มทบทวนประจำปี
    • หลักสูตรผู้ควบคุมการโดดร่ม (Jumpmaster)
  • การโดดร่มแบบกระตุกเอง (Free Fall)[34]
    • หลักสูตรการโดดร่มแบบกระตุกเองขั้นพื้นฐาน (Free Fall)
    • หลักสูตรการโดดร่มแบบกระตุกเองขั้นสูง (Advance Free Fall)
  • หลักสูตรการต่อต้านการก่อการร้าย[35]
  • หลักสูตรค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย (Sea Air Rescue)[36]
  • หลักสูตรหน่วยปฏิบัติการพิเศษขั้นชำนาญการ (S.W.A.T Advance)[37]

ถวายความปลอดภัยด้านการป้องกันและระงับอัคคีภัย แก้

ถวายความปลอดภัยด้านการป้องกันและระงับอัคคีภัยในเขตพระราชฐานและที่ประทับ ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และภายนอกกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการสนับสนุนการบรรเทาสาธารณภัยให้กับประชาชน โดยกองกำกับการ 5 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ

การช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย แก้

 
กองร้อยกู้ชีพ ตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร กำลังโรยตัวลงไปสำรวจโพรงอากาศเหนือถ้ำหลวง

ดำเนินการโดยกองร้อยกู้ชีพ กองกำกับการ 3 การให้การสนับสนุนและช่วยเหลือกู้ภัยตามที่ได้รับการร้องขอ อาทิ การค้นหาผู้ประสบภัยทางทะเล[38][39] การค้นหาและช่วยเหลือผู้หลงป่า[40]

นอกจากนี้ กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนได้ร่วมปฏิบัติภารกิจในการร่วมปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง โดยกำลังพลของกองร้อยกู้ชีพ จำนวน 10 นาย[41] ถูกส่งไปเตรียมความพร้อมในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ซึ่งต่อมา พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา[42] ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น ได้นำกำลังพลชุดดังกล่าวออกปฏิบัติการสำรวจค้นหาโพรงถ้ำและโพรงอากาศเหนือถ้ำหลวง[43] เพื่อค้นหาแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้ง 13 ราย โดยขณะปฏิบัติภารกิจได้มีหนึ่งในกำลังพลได้รับบาดเจ็บในขณะปฏิบัติภารกิจ แต่ก็ได้พักรักษาตัวและดีขึ้นในเวลาต่อมา[44]

โครงสร้างภารกิจ แก้

โครงสร้างของกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ค่ายนเรศวร) ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ประกอบไปด้วย

  • ฝ่ายอำนวยการ
  • กองกำกับการ 1
  • กองกำกับการ 2
  • กองกำกับการ 3
  • กองกำกับการ 4
  • กองกำกับการ 5

กองกำกับการ 1 แก้

กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ "หน่วยตำรวจพลร่มรบพิเศษ" มีหน้าที่หลักในการปฏิบัติการสงครามพิเศษ การยุทธส่งทางอากาศ การยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศ การยิงสนุนบสนุนด้วยอาวุธประจำหน่วย ปฏิบัติการจิตวิทยา สนับสนุนภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อย รักษาความมั่นคงภายในและการป้องกันประเทศ รวมไปถึงการรักษาผลประโยชน์ของประเทศตามแนวชายแดน

ปัจจุบันกองกำกับการ 1 ได้มีการวางกำลังประจำการอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย[45] เพื่อปฏิบัติภารกิจรักษาความสงบ ปฏิบัติการมวลชนสัมพันธ์[46]และดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบตามฐานปฏิบัติการต่าง ๆ[47]

สำหรับกองกำกับการ 1 ประกอบไปด้วยส่วนงานดังนี้

กองร้อยปฏิบัติการจิตวิทยา แก้

ปฏิบัติการด้านจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ และเป็นกำลังสนับสนุนในสภาวะสงคราม สภาวะฉุกเฉิน สถานการณ์ไม่ปกติ ด้านการปฏิบัติการสงครามพิเศษ การส่งยุทธทางอากาศ การยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศ

กองร้อยอาวุธ แก้

ปฏิบัติการด้านการยิงสนับสนุนให้กับหน่วยดำเนินกลยุทธ์ที่กำลังปฏิบัติการ รวมถึงเป็นกำลังสนับสนุนในสภาวะสงคราม สภาวะฉุกเฉิน สถานการณ์ไม่ปกติ ด้านการปฏิบัติการสงครามพิเศษ การส่งยุทธทางอากาศ การยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศ

กองร้อยรบพิเศษ 1 - 4 แก้

ปฏิบัติการด้านกลยุทธ์ในการปฏิบัติการสงครามพิเศษ การส่งยุทธทางอากาศ การยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศ การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง ป้องกันรักษาการณ์ชายแดนไทย

กองกำกับการ 2 แก้

กองกำกับการ 2 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ มีหน้าที่เกี่ยวกับการสนับสนุนการรักษาความสงบเรียบร้อยในการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบรวมไปถึงการก่อการร้าย การควบคุมฝูงชนตามการร้องขอของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ[17] งานด้านกิจการพลเรือนและการช่วยเหลือประชาชนตามแนวชายแดน และเป็นกำลังสนับสนุนในการปฏิบัติการในสภาวะสงคราม สภาวะฉุกเฉิน และสถานการณ์ไม่ปกติ ในการยุทธส่งทางอากาศ การยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศ[48] ประกอบไปด้วยหน่วยงานภายในคือ

กองร้อย 1 - 4 แก้

ปฏิบัติหน้าที่ในการสนับสนุนการรักษาความสงบ ป้องกันและปราบปรามความไม่สงบ และการปราบปรามการก่อการร้าย และเป็นกำลังสนับสนุนในสถานการณ์ไม่ปกติ สภาวะฉุกเฉิน สภาวะสงคราม ด้วยการยุทธส่งทางอากาศ และการยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศ

กองกำกับการ 3 แก้

กองกำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ "หน่วยนเรศวร 261" มีหน้าที่หลักในการปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล การก่อการร้ายในเขตเมือง การรักษาความปลอดภัย การเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และสนับสนุนการรักษาความสงบและความมั่นคงภายใน การหาข่าวกรองเชิงยุทธวิธี และเป็นกำลังสนับสนุนสภาวะสงคราม ทางด้านการปฏิบัติการสงครามพิเศษ การส่งยุทธทางอากาศ การยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศ ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ[49] ประกอบไปด้วยส่วนงานต่าง ๆ ดังนี้

กองร้อยปฏิบัติการพิเศษที่ 1 แก้

ปฏิบัติการด้านการต่อต้านการก่อการร้ายสากล การก่อการร้ายในเขตเมือง และเป็นกำลังสนับสนุนในสภาวะสงคราม สภาวะฉุกเฉิน สถานการณ์ไม่ปกติ ด้านการปฏิบัติการสงครามพิเศษ การส่งยุทธทางอากาศ การยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศ เป็นกำลังหลักของหน่วยนเรศวร 261

กองร้อยปฏิบัติการพิเศษที่ 2 - 3 แก้

ปฏิบัติการถวายความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ และพระราชอาคันตุกะ รวมไปถึงการรักษาความปลอดภัยให้แก่บุคคลสำคัญ และเป็นกำลังสนับสนุนในสภาวะสงคราม สภาวะฉุกเฉิน สถานการณ์ไม่ปกติ ด้านการปฏิบัติการสงครามพิเศษ การส่งยุทธทางอากาศ การยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศ

งานเก็บกู้วัตถุระเบิด แก้

ปฏิบัติหน้าที่ด้านการค้นหา เก็บกู้ พิสูจน์ทราบ และทำลายวัตถุระเบิด การตรวจสถานที่หลังเกิดเหตุระเบิด การป้องกันการก่อวินาศกรรมและต่อต้านการก่อการร้าย รวมไปถึงการตรวจสอบสถานที่ประทับเพื่อถวายความปลอดภัย และรักษาความปลอดภัยของพื้นที่ และการปฏิบัติงานเพื่อสนับสนุนภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

กองร้อยกู้ชีพ แก้

ปฏิบัติหน้าที่ด้านการกู้ชีพ กู้ภัย การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมไปถึงเป็นกำลังสนับสนุนในสภาวะสงคราม สภาวะฉุกเฉิน สถานการณ์ไม่ปกติ ด้านการปฏิบัติการสงครามพิเศษ การส่งยุทธทางอากาศ การยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศ

กองร้อยระวังป้องกันที่ 1 - 3 แก้

ปฏิบัติหน้าที่ในการสนับสนุนและร่วมปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล การก่อการร้ายในเมือง และการก่อความไม่สงบ พร้อมทั้งเป็นกำลังสนับสนุนในสภาวะสงคราม สภาวะฉุกเฉิน สถานการณ์ไม่ปกติ ด้านการปฏิบัติการสงครามพิเศษ การส่งยุทธทางอากาศ การยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศ

กองกำกับการ 4 แก้

กองกำกับการ 4 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ มีหน้าที่หลักในการฝึก อบรม ศึกษา วิจัย และพัฒนาเกี่ยวกับการส่งครามพิเศษ ทั้งด้านอาวุธ ยุทธวิธี โดยมีผลงานการวิจัยพัฒนา อาทิ นวัตกรรมการฝึกสถานีหอสูง การฝึกสถานีล้มตัว การฝึกกับเครื่องมือจำลองที่ทันสมัยคืออุโมงค์ลมเพื่อฝึกซ้อมก่อนการกระโดดร่มจริง[50] และเป็นกำลังสนับสนุนในสถานการณ์ไม่ปกติ ภาวะฉุกเฉิน สภาวะสงคราม ในด้านของการการยุทธส่งทางอากาศ การยุทธเคลื่อนทางอากาศ และการสงครามพิเศษ ประกอบไปด้วย[51]

กองร้อยฝึกรบพิเศษ แก้

ดำเนินการฝึกเกี่ยวกับหลักสูตรการส่งครามพิเศษ การปฏิบัติการจิตวิทยา การควบคุมฝูงชน การป้องกันและปราบปรามความไม่สงบในสถานการณ์ต่าง ๆ และเป็นกำลังสนับสนุนในสถานการณ์ไม่ปกติ ภาวะฉุกเฉิน และสภาวะสงคราม ในการปฏิบัติการสงครามพิเศษ การยุทธส่งทางอากาศ การยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศ

กองร้อยฝึกอาวุธ ยุทธวิธี แก้

ดำเนินการฝึกเกี่ยวกับการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษต่าง ๆ การต่อต้านและปราบปรามการก่อการร้าย การรักษาความปลอดภัยในสถานการณ์ต่าง ๆ การเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด และการค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบภัย[52] รวมถึงเป็นกำลังสนับสนุนในสถานการณ์ไม่ปกติ ภาวะฉุกเฉิน และสภาวะสงคราม ในการปฏิบัติการสงครามพิเศษ การยุทธส่งทางอากาศ การยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศ

กองร้อยฝึกส่งกําลังทางอากาศ แก้

ดำเนินการฝึกเกี่ยวกับการโดดร่ม ทั้งในส่วนของนักโดดร่ม การควบคุมการโดดร่ม การส่งกำลังทางอากาศยาน[53] และเป็นกำลังสนับสนุนในสถานการณ์ไม่ปกติ ภาวะฉุกเฉิน และสภาวะสงคราม ในการปฏิบัติการสงครามพิเศษ การยุทธส่งทางอากาศ การยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศ

กองกำกับการ 5 แก้

กองกำกับการ 5 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ "ตำรวจพลร่มดับเพลิง"[54] เป็นกองกำกับการที่มีภารกิจหลักในการถวายความปลอดภัยและการป้องกันระงับอัคคีภัยในเขตพระราชฐาน ทั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร 5 แห่ง[55] และเขตพระราชฐานนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงสนับสนุนในด้านของการบรรเทาสาธารณภัย การฝึกอบรมด้านการบรรเทาสาธารณภัยให้แก่หน่วยงานและประชาชน[56]

หน่วยงานภายในอื่น ๆ แก้

ฝึกศูนย์ฝึกรบพิเศษฤทธิฤาชัย ค่ายฝึกรบพิเศษตำรวจพลร่ม (ป่าละอู) แก้

ฝึกศูนย์ฝึกรบพิเศษฤทธิฤาชัย ค่ายฝึกรบพิเศษตำรวจพลร่ม (ป่าละอู) สังกัดกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ ตั้งอยู่ที่ ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์[13] เป็นศูนย์ฝึกเกี่ยวกับการฝึกการทำการรบในภูมิประเทศป่าเขา ซึ่ง นักเรียนพลร่มทุกนายจะต้องผ่านการฝึกจากที่นี่อย่างน้อย 3 เดือน เพื่อฝึกและทดสอบการดำรงชีพในป่า[11]

บ้านพักสวัสดิการ ตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร แก้

กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ มีบ้านพักสวัสดิการเปิดให้บริการนักท่องเที่ยว ประชาชนและข้าราชการตำรวจสำหรับพักผ่อนตากอากาศริมทะเล ระหว่างค่ายนเรศวรและพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ประกอบด้วยอาคารชุดแบบทาวน์เฮ้าส์ อาคารพักแบบเดี่ยว และอาคารจัดเลี้ยงขนาดเล็ก[57]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. http://www.pinthup.com/?page_id=88
  2. เนตรเกื้อกิจ, พันตำรวจโท รังสรรค์, INSIGHT POLICE กองร้อยกู้ชีพ ค่ายนเรศวร ตอนที่ 2, สืบค้นเมื่อ 2022-04-01
  3. บันทึก 6 ตุลา - ตำรวจพลร่มตระเวนชายแดน https://doct6.com/learn-about/who/6-2
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 "กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน". www.bppparu.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-08. สืบค้นเมื่อ 2022-04-01.
  5. "ผบ.ตร.ลงเพชรตรวจเยี่ยม "บก.สอ.บช.ตชด." ชมการสาธิตช่วยเหลือตัวประกัน". mgronline.com. 2015-03-03.
  6. เนตรเกื้อกิจ, พันตำรวจโท รังสรรค์, INSIGHT POLICE กองร้อยกู้ชีพ ค่ายนเรศวร ตอนที่ 2, สืบค้นเมื่อ 2022-04-01
  7. 7.0 7.1 matichon (2020-10-12). "ภาพเก่าเล่าตำนาน : พันตำรวจเอก เจมส์ วิลเลียม แลร์ ภารกิจลับ...งานใหญ่...จะไม่ใช้คนเยอะ... โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก". มติชนออนไลน์.
  8. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการ กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2498. เล่ม 72 ตอนที่ 51, วันที่ 12 กรกฎาคม 2498
  9. Lair, James William (Bill Lair). Essay. In อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจเอก เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ ม.ว.ม, ป.ช., ท.จ.ว., 113. กรุงเทพฯ: หอรัตนชัยการพิมพ์, 2543.
  10. "ค่ายนเรศวรจัดพิธีสถาปนาครบรอบปีที่ 65". banmuang.co.th (ภาษาอังกฤษ).
  11. 11.0 11.1 11.2 "ประวัติ ตชด. พลร่มค่ายนเรศวร - Pinthup".
  12. ต้นโพธิ์, ต้อย (2018-03-05). "(9) ศึกชนช้าง 2 นายพลหมวกแดง". COP'S Magazine.
  13. 13.0 13.1 "พิธีเปิดหลักสูตรการต่อต้านปราบปรามการก่อการไม่สงบ (ตปส.)". fo.rtpoc.police.go.th.[ลิงก์เสีย]
  14. พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการ กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2503 ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 77 ตอนที่ 77 หน้า 746
  15. 15.0 15.1 "'บันทึก 6 ตุลา' เปิดคำให้การ 'ตำรวจพลร่ม' ชี้เป็นปฏิบัติการสงครามลับ บอกระดับความโหดฝ่ายขวา". prachatai.com.
  16. "ไทยเคยส่งตำรวจไปเป็นครูฝึกหน่วยรบพิเศษม้งในลาวด้วยเหรอครับ". Pantip.
  17. 17.0 17.1 ปัญญา, พันตำรวจโท อินทรัตน์, INSIGHT POLICE-กองร้อยกู้ชีพ ค่ายนเรศวร, สืบค้นเมื่อ 2022-04-01
  18. ราชกิจจานุเบกษา. [ลิงก์เสีย] ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 130 [มีสถานะเทียบเท่าพระราชกฤษฎีกา แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๐๘ เพื่อปรับปรุงกองบัญชาการตำรวจภูธรและให้จัดตั้งกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน] เล่ม 89 ตอนที่ 66, วันที่ 25 เมษายน 2515 ฉบับพิเศษ หน้า 1-23
  19. "ตำรวจพลร่มตระเวนชายแดน | บันทึก 6 ตุลา". 2017-09-23.
  20. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529. เล่ม 103 ตอนที่ 176, วันที่ 13 ตุลาคม 2529, หน้า 5-31
  21. "ชุมชนค่ายนเรศวร". www.cha-amcity.go.th.
  22. "ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ผู้แทน ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา ..." nbtworld.prd.go.th.
  23. admin. "กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2548". policetraining9.com.
  24. "ประวัติสถานีดับเพลิงสามเสน - สถานีดับเพลิงสามเสน". www.samsenfire.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-09. สืบค้นเมื่อ 2022-04-01.
  25. "โอนงานดับเพลิงเขตพระราชฐานให้ตำรวจราชสำนัก". dailynews. 2017-01-30.
  26. "ประวัติ กก.๕ บก.สอ.บช.ตชด. - กองกำกับการ 5กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน". sites.google.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-31. สืบค้นเมื่อ 2022-04-01.
  27. "เตรียมถ่ายโอนภารกิจถวายความปลอดภัยด้านอัคคีภัยในเขตพระราชฐาน". dailynews. 2016-06-15.
  28. พ.ท.นิพนธ์ บุญศิริ. การปฏิบัติการพิเศษ (Special Operations), สงครามนอกแบบ. บทที่ 2 หลักนิยมพื้นฐานของหน่วยรบพิเศษ. ส่วนวิชาสงครามพิเศษ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก สถาัับันวิชาการทหารบกชั้นสูง
  29. "Publications : Military Dictionary English - Thai 2015 for Joint Services" (PDF). li.rtarf.mi.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-05-14. สืบค้นเมื่อ 2022-04-01.
  30. "การยุทธ์ส่งทางอากาศ". ทหารพลร่ม.
  31. โรงเรียนรักษาดินแดน. เอกสารประกอบการบรรยาย การสื่อสารทางยุทธวิธีในระดับหน่วยต่าง ๆ[ลิงก์เสีย]
  32. "หลักสูตรโดดร่ม วัดใจนร.นายร้อยแหวกฟ้าคว้า'ปีก'". bangkokbiznews. 2014-04-02.
  33. "Recent Hostile Environment Awareness Training (HEAT) – Cha-am | Human Development Forum Foundation" (ภาษาอังกฤษ).
  34. 34.0 34.1 ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 11 การศึกษา การฝึกและอบรม (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2558, บทที่ 25 หลักสูตรการโดดร่ม เก็บถาวร 2022-06-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  35. "ร่วมพิธีเปิดหลักสูตรการต่อต้านการก่อการร้าย". fo.rtpoc.police.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-27. สืบค้นเมื่อ 2022-04-01.
  36. "กองร้อยกู้ชีพ ค่ายนเรศวร". www.facebook.com.
  37. admin-csd (2018-07-17). "ผบช.ก.ตรวจเยี่ยมผู้เข้ารับการฝึก S.W.A.T. (Advance)". CSD | กองบังคับการปราบปราม.
  38. "เจ้าหน้าที่เร่งค้นหาอีก 1 รายที่ยังสูญหายในทะเล". mgronline.com. 2021-05-07.
  39. "ฮีโร่ตัวจริง!ตำรวจพลร่มขับเรือฝ่าคลื่นลมช่วยนักท่องเที่ยวกลางทะเล". www.posttoday.com (ภาษาอังกฤษ). 2016-05-01.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  40. "เจ้าหน้าที่ช่วยหนุ่มติดหน้าผาเขาตาม่องล่ายประจวบฯ". www.posttoday.com (ภาษาอังกฤษ). 2015-01-05.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  41. matichon (2018-06-26). "'ตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร' เข้าพื้นที่ถ้ำหลวงฯ รอรับคำสั่ง พร้อมโรยตัวเข้าปล่องถ้ำช่วย 13 ชีวิต". มติชนออนไลน์.
  42. "(ชมคลิป) ผบ.ตร.ลุยต่อนำตำรวจพลร่ม-ชุดกู้ภัย เจาะโพรงถ้ำหลวงนำ 13 หมูป่า กลับบ้าน". mgronline.com. 2018-07-04.
  43. https://www.pptvhd36.com. "ข่าวดี! ตำรวจพลร่มพบห้องโถงใหญ่ รอผลสำรวจเชื่อมถ้ำหลวง". pptvhd36.com. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |last= (help)
  44. ""ดาบจ่อย ตำรวจพลร่ม" ปลอดภัยแล้ว หลังป่วยระหว่างสำรวจโพรงภารกิจช่วยชีวิต 13 หมูป่า". mgronline.com. 2018-07-11.
  45. Pisan (2010-03-11). "เอ็กซเรย์บันนังสตา…แดนสนธยากลืนชีวิต "หมวดตี้-ผู้กองแคน-ผู้กำกับฯสมเพียร"". สำนักข่าวอิศรา.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  46. "ข้อมูลประจำปี | มูลนิธิสันติภาพชีวิตคิดเพื่อสันติภาพใต้".{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  47. ""พล.ต.ต.วันชนะ" ผบก.สอ.บช.ตชด. มอบหมาย "พ.ต.อ.อภิรัตน์" ตรวจเยี่ยม-ให้กำลังใจ กพ. ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ จชต". สยามรัฐ. 2022-03-19.
  48. ระเบียบ ตร. ว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าทของส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 แนบท้ายในส่วนของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
  49. "หน้าแรก". sites.google.com.
  50. "ผบ.ตร.เปิดอุโมงค์ลมฝึกโดดร่มแบบกระตุก". Thai Post | อิสรภาพแห่งความคิด (ภาษาอังกฤษ).
  51. "กก.4 บก.สอ.บช.ตชด. - ภารกิจ". sites.google.com.
  52. ""บิ๊กรอย"เป็นประธานฯพิธีฝึกยุทธวิธีเพิ่มทักษะพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ". สยามรัฐ. 2021-08-31.
  53. การโดดร่มของนักเรียนนายร้อยตำรวจ [AIR BRONE 225], สืบค้นเมื่อ 2022-03-30
  54. "ตำรวจพลร่มดับเพลิง - ค่ายนเรศวร". www.facebook.com.
  55. matichon (2019-09-18). "'ศรีวราห์' ประธานปล่อยแถวตรวจความพร้อมตำรวจปฏิบัติหน้าที่เขตพระราชฐาน". มติชนออนไลน์.
  56. รายการ สน.เพื่อประชาชน : หลักสูตรป้องกันบรรเทาสาธารณภัยและดับเพลิงปี 2563, สืบค้นเมื่อ 2022-03-30
  57. "บ้านพักสวัสดิการ ตำรวจพลร่ม". www.facebook.com.