อันดับลิ่น
อันดับลิ่น ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 12.9–0Ma สมัยไมโอซีนตอนกลาง-ปัจจุบัน | |
---|---|
ลิ่นจีน (Manis pentadactyla) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
ชั้นฐาน: | Eutheria |
อันดับใหญ่: | Laurasiatheria |
อันดับ: | Pholidota Weber, 1904 |
วงศ์: | Manidae Gray, 1821 |
สกุล: | Manis Linnaeus, 1758 |
ชนิด | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ |
ลิ่น หรือ นิ่ม หรือที่นิยมเรียกกันว่า ตัวลิ่น หรือ ตัวนิ่ม จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่อยู่ในอันดับ Pholidota จัดเป็นสัตว์ที่มีเพียงวงศ์เดียวในปัจจุบัน คือ Manidae และสกุลเดียว คือ Manis
ลิ่นเป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับอาร์มาดิลโล หรือ สัตว์ที่อยู่ในอันดับ Cingulata ที่พบได้ในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ขณะที่ลิ่นจะพบได้ที่ทวีปเอเชียและแอฟริกา
ลิ่นทุกชนิดจะมีส่วนหน้าที่ยาว มีปากขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นรูเล็ก ๆ ไม่มีฟัน กินอาหารโดยการใช้ลิ้นที่ยื่นยาวและน้ำลายที่เหนียวตวัดกินแมลงตามพื้นดิน จำพวก มดและปลวกหรือหนอนขนาดเล็ก และมีลำตัวที่ปกคลุมด้วยเกล็ดเป็นชิ้น ๆ เหมือนกับสัตว์เลื้อยคลาน ทำหน้าที่เหมือนชุดเกราะเพื่อใช้ในการป้องกันตัว เมื่อถูกรุกรานลิ่นจะลดลำตัวเป็นวงกลม ขณะที่ส่วนท้องจะไม่มีเกล็ด ซึ่งจะถูกโจมตีได้ง่าย
ลิ่นมีเล็บที่แหลมคมและยื่นยาว ใช้สำหรับขุดพื้นดินหาอาหารและขุดโพรงเป็นที่อยู่อาศัยและพักผ่อน และปีนต้นไม้ เป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน
ลิ่นออกลูกเป็นตัว ครั้งละ 1-2 ตัว ตั้งท้องนานราว 130 วัน เมื่อแรกเกิด ลูกลิ่นจะมีเกล็ดติดตัวมาตั้งแต่เกิด และจะเกาะกับแม่ตรงบริเวณโคนหาง ซึ่งลูกลิ่นวัยอ่อนจะยังไม่มีเกล็ดแข็งเหมือนกับลิ่นวัยโต แต่จะค่อย ๆ แข็งขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเจริญเติบโต[2]
ลิ่นมีทั้งหมด 8 ชนิด (ดูในตาราง) กระจายพันธุ์ไปในทวีปแอฟริกาและเอเชีย สำหรับในประเทศไทยพบ 2 ชนิด คือ ลิ่นซุนดา หรือ ลิ่นชวา (M. javanica) ที่พบได้ทั่วไปทุกภาค กับลิ่นจีน (M. pentadactyla) ที่มีรายงานการพบเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เมื่อปี พ.ศ. 2483 ซึ่งมีขนาดลำตัวที่เล็กกว่า หางสั้นกว่า และมีสีที่คล้ำกว่า[3]
ลิ่นซุนดา ในปัจจุบัน เป็นสัตว์ป่าที่นิยมอย่างมากในการรับประทานในหมู่ของผู้ที่นิยมรับประทานสัตว์ป่าหรือของแปลก ๆ โดยมีราคาขายสูงถึงกิโลกรัมละ 2,000-3,000 บาท หากตัวไหนที่มีน้ำหนักมากอาจมีราคาสูงถึง 3,500 บาท ทำให้มีการลักลอบค้าตัวลิ่นอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด และอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า เป็นต้น และในความเชื่อของชาวจีน เชื่อว่า เกล็ดของลิ่นช่วยในการรักษาโรคกระเพาะ[4]
โดยผู้ที่เข้าป่าหาตัวลิ่นจะใช้สุนัขดมกลิ่นตามล่า หากลิ่นปีนขึ้นต้นไม้ ก็จะใช้การตัดต้นไม้ต้นนั้นทิ้งเสีย โดยการค้าตัวลิ่นถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะลิ่นไม่ว่าชนิดไหน ในประเทศไทย ถือว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 และมีกฎหมายคุ้มครองระหว่างประเทศอีกด้วย ผู้กระทำผิดจะได้รับโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท จำคุก 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ [5]
ซึ่งคำว่า "Pangolin" ซึ่งเป็นคำศัพท์ในภาษาอังกฤษที่เรียกลิ่นนั้น มาจากภาษามลายูคำว่า Peng-goling แปลว่า "ไอ้ตัวขด"[6]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ จาก ITIS.gov (อังกฤษ)
- ↑ "ตัวนิ่ม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-07. สืบค้นเมื่อ 2012-01-05.
- ↑ กองทุนสัตว์ป่าโลก, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน (กรุงเทพมหานคร, พ.ศ. 2543) ISBN 974-87081-5-2
- ↑ Untamed China with Nigel Marven, สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: เสาร์ที่ 19 มกราคม 2556
- ↑ บุญเลิศ ชายเกตุ, ตัวนิ่ม สัตว์ป่าราคาแพง...วันนี้เสี่ยงสูญพันธุ์ นักเปิบยังนิยม'ขบวนการซื้อขาย'ไม่เข็ดขยาดกฎหมาย เดลินิวส์ หน้า 12: วันศุกร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555 ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 2 ปีเถาะ
- ↑ ลิ่นหรือนิ่ม จากข่าวสด