ออลเทอร์นาทิฟร็อก
ออลเทอร์นาทิฟร็อก (อังกฤษ: alternative rock ในบางครั้งอาจเรียกว่า ดนตรีออลเทอร์นาทิฟ (alternative music), ออลต์-ร็อก (alt-rock) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ออลเทอร์นาทิฟ) เป็นแนวเพลงร็อกที่เกิดขึ้นจากเพลงใต้ดินอิสระในคริสต์ทศวรรษ 1980 และเริ่มได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในคริสต์ทศวรรษ 1990 ทั้งนี้ คำว่า "ออลเทอร์นาทิฟ" นั้นหมายถึง ความแตกต่างด้านแนวเพลงจากดนตรีร็อกกระแสหลัก ความหมายของคำนี้แต่เดิมกว้างกว่านี้ คือหมายถึงยุคของนักดนตรี ไปจนถึงแนวเพลงหรืออาจเป็นแค่ทำงานอิสระ กลุ่มคนที่ทำงานแบบดีไอวายในแนวพังก์ร็อก ซึ่งในปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 นี้เองได้ปูพื้นฐานให้กับดนตรีออลเทอร์นาทิฟ[5] ในช่วงเวลานี้เอง "ออลเทอร์นาทิฟ" ล้วนอธิบายว่าหมายถึงดนตรีจากศิลปินร็อกใต้ดินที่ได้เป็นที่รู้จักในกระแสหลัก หรือดนตรีประเภทไหนก็ตาม ไม่ว่าจะใช่ร็อกหรือไม่ ที่สืบทอดมาจากดนตรีพังก์ร็อก (ตัวอย่างเช่น พังก์ นิวเวฟ และโพสต์พังก์)
ออลเทอร์นาทิฟร็อก | |
---|---|
แหล่งกำเนิดทางรูปแบบ | |
แหล่งกำเนิดทางวัฒนธรรม | ปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 ถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 1980, สหรัฐและสหราชอาณาจักร |
เครื่องบรรเลงสามัญ | |
รูปแบบอนุพันธุ์ | |
แนวย่อย | |
แนวประสาน | |
ทัศนียภาพในระดับท้องถิ่น | |
หัวข้ออื่น ๆ | |
ออลเทอร์นาทิฟร็อก มีความหมายครอบคลุมถึงดนตรีที่แตกต่าง ในแง่ของซาวด์เพลง บริบททางสังคม และรากเหง้าท้องถิ่น เมื่อสิ้นสุดคริสต์ทศวรรษ 1980 นิตยสารและซีน (Zine), สถานีวิทยุในวิทยาลัย และการพูดแบบปากต่อปากนี้เองที่ทำให้แนวนี้โดดเด่นขึ้นมาและถือเป็นจุดเด่นความหลากหลายของออลเทอร์นาทิฟร็อก ยังช่วยให้กำหนดนิยามแนวเพลงที่แตกต่างให้ชัดเจน (กระแสดนตรี) เช่น นอยส์ป็อป, อินดีร็อก, กรันจ์ และชูเกซ แนวเพลงย่อยจำพวกนี้ส่วนใหญ๋แล้วจะประสบความสำเร็จในกระแสหลักได้เพียงเล็กน้อยและมีไม่กี่วง อย่าง ฮุสเกอร์ดุ และ อาร์.อี.เอ็ม. ที่ได้เซ็นสัญญากับค่ายใหญ่ แต่วงออลเทอร์นาทิฟส่วนใหญ่แล้วจะประสบความสำเร็จด้านยอดขายที่ค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับแนวร็อกอื่น ๆ และดนตรีป็อปในช่วงนั้น วงส่วนใหญ่จะเซ็นสัญญากับค่ายเพลงอิสระและได้รับความสนใจจากวิทยุที่เปิดเพลงกระแสหลัก โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ เพียงเล็กน้อย และจากการแจ้งเกิดของวงเนอร์วานาและความนิยมในกระแสเพลงกรันจ์และบริตป็อปในคริสต์ทศวรรษ 1990 ออลเทอร์นาทิฟร็อกก็สามารถก้าวสู่ดนตรีกระแสหลัก มีวงออลเทอร์นาทิฟหลายวงประสบความสำเร็จ
ต้นกำเนิดของชื่อ
แก้ก่อนที่ชื่อ ออลเทอร์นาทิฟร็อก จะใช้กันอย่างกว้างขวางราวปี 1990 จำพวกของเพลงที่ถูกอ้างถึงมีความหมายที่หลากหลายกันไป[6] ปี 1979 เทอร์รี ทอลคิน ใช้คำว่า ดนตรีออลเทอร์นาทิฟ (Alternative Music) เพื่อบรรยายถึงวงที่เขากำลังเขียนถึงอยู่[7] ปี 1979 สถานีวิทยุจากดัลลาสคลื่น เคเซดอีดับเบิลยู (KZEW) มีรายการคลื่นลูกใหม่ช่วงดึกที่ชื่อ "ร็อกแอนด์โรลล์ออลเทอร์นาทิฟ" (Rock and Roll Alternative)[8] ส่วนคำว่า "คอลเลจร็อก" ใช้ในสหรัฐเพื่ออธิบายหมายถึงดนตรีในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 เพื่อเชื่อมโยงกับขอบเขตสถานีมหาวิทยาลัยและรสนิยมของนักเรียนระดับมหาวิทยาลัย[9] ในสหราชอาณาจักรค่ายเพลงประเภทดีไอวายมากมายเกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากวัฒนธรรมย่อยพังก์ จากข้อมูลของหนึ่งในผู้ก่อตั้งค่ายเชอร์รีเรด กล่าวว่านิตยสาร เอ็นเอ็มอี และนิตยสาร ซาวส์ ได้เผยแพร่ชาร์ตเพลงจากข้อมูลของร้านขายแผ่นเล็ก ๆ เรียกชาร์ตนี้ว่า "ออลเทอร์นาทิฟชาตส์" (Alternative Charts) ส่วนชาร์ตระดับชาติชาร์ตแรกที่ดูจากยอดขายเรียกว่า อินดี้ชาร์ต (Indie Chart) ตีพิมพ์ในเดือนมกราคม 1982 ชาร์ตประสบความสำเร็จทันทีจากการช่วยเหลือของค่ายเพลงเหล่านี้ ณ ตอนนั้นคำว่าอินดี้ใช้เพื่ออธิบายถึงค่ายอิสระ[10] ในปี 1985 อินดี้มีความหมายเจาะจงไปทางแนวเพลง หรือกลุ่มแนวเพลงย่อย มากกว่าแค่สถานะการเผยแพร่เพลง[9]
การใช้คำว่า ออลเทอร์นาทิฟ เพื่ออธิบายถึงเพลงร็อกเกิดขึ้นราวกลางคริสต์ทศวรรษ 1980[11] ขณะนั้นเป็นคำทั่วไปที่อธิบายถึงเพลงล้ำสมัย เป็น เพลงแบบใหม่ และดนตรีโพสต์โมเดิร์น ที่เป็นการบ่งบอกถึงความสดใหม่ และพิเศษ ตามลำดับ เพื่อบ่งซาวด์ให้ต่างจากเพลงในอดีต[5][12] คนที่ทำงานด้านดีเจและโปรโมเตอร์ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 อ้างว่าที่มาของคำนี้เกิดขึ้นจากสถานีวิทยุเอฟเอ็มอเมริกันในยุคคริสต์ทศวรรษ 1970 ที่เปิดเพลงรูปแบบทางเลือกใหม่ก้าวหน้าไปจนถึงเพลงรูปแบบท็อป 40 โดยเปิดเพลงยาวขึ้นและให้อิสระแก่ดีเจในการเลือกเพลงมากกว่า จากข้อมูลของหนึ่งในดีเจและโปรโมเตอร์ "บางครั้งคำว่า 'ออลเทอร์นาทิฟ' ถือเป็นการค้นพบใหม่ และยืมมาจากบุคลากรสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 ที่พวกเขาประยุกต์มาใช้กับเพลงโพสต์พังก์ใหม่, อินดี้ และเพลงใต้ดินอะไรก็ตาม"[13] ในช่วงแรกคำนี้ตั้งใจให้หมายถึง เพลงร็อกนอกกระแส ที่ไม่ได้รับอิทธิพลจาก "เพลงเฮฟวีเมทัลบัลลาด, เพลงนิวเวฟบาง ๆ" และ "เพลงชาติเต้นรำอันทรงพลัง"[14] การใช้คำนี้ก็กว้างมากขึ้นให้รวมถึงเพลงนิวเวฟ, ป็อป, พังก์ร็อก, โพสต์พังก์ และในบางครั้งหมายถึงเพลงคอลเลจ/อินดี้ร็อก ที่พบเห็นได้ในสถานีวิทยุ "ออลเทอร์นาทิฟเพื่อการค้า" ในยุคนั้นอย่างเช่น เคอาร์โอคิว-เอฟเอ็ม (KROQ-FM) ในลอสแอนเจลิส นักข่าว จิม เกอร์ (Jim Gerr) เขียนไว้ว่า ออลเทอร์นาทิฟได้รวบความหลากหลายอย่างเช่น "แร็ป, แทรช, เมทัล และอินดัสเทรียล" ไว้ด้วยกัน[15] ในเดือนธันวาคม 1991 นิตยสาร สปิน เขียนว่า "ปีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เป็นที่โด่งดังแจ่มแจ้งว่า อะไรก่อนหน้าถือว่าเป็นออลเทอร์นาทิฟร็อก ที่เป็นกลุ่มศูนย์กลางการตลาดของเด็กมหาวิทยาลัย ที่ทำกำไรพอควร หากจะตั้งขอบเขตแนวโน้มแล้ว ในความเป็นจริงคือได้ก้าวสู่กระแสหลักเรียบร้อยแล้ว"[15] รายการครั้งแรกของลอลลาพาลูซา เทศกาลของนักท่องเที่ยวในอเมริกาเหนือ ให้นึกถึงหัวหน้าวงเจนส์แอดดิกชัน เพอร์รี ฟาร์เรลล์ ที่กลับมารวมตัวกันใหม่ "โดยมีองค์ประกอบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของชุมชนออลเทอร์นาทิฟร็อก" ร่วมด้วยเฮนรี โรลลินส์, บัตต์โฮลเซิฟเฟอส์, ไอซ์-ที, ไนน์อินช์เนลส์, ซูซีแอนด์เดอะแบนชีส์ และเจนส์แอดดิกชัน[15] ปีเดียวกันฟาร์เรลล์เป็นคนต้นคิดคำว่า ออลเทอร์นาทิฟเนชัน (Alternative Nation)[16] ปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 คำนี้มีนิยามที่เจาะจงอีกครั้ง[5] ปี 1997 นีล สเตราสส์แห่ง เดอะนิวยอร์กไทมส์ จำกัดความหมายของออลเทอร์นาทิฟร็อกว่า "ร็อกแน่วแน่ที่แยกโดยความเปราะบาง, ท่อนริฟฟ์กีตาร์ที่ได้แรงบันดาลใจจากคริสต์ทศวรรษ 1970 และนักร้องที่เจ็บปวด เต็มไปด้วยปัญหา จนพวกเขานำไปสู่มิติแห่งมหากาพย์"[14]
การนิยามดนตรีออลเทอร์นาทิฟมักเป็นเรื่องยากลำบากเหตุเพราะ มีการประยุกต์ใช้คำที่ขัดแย้งกัน 2 อย่าง ออลเทอร์นาทิฟสามารถอธิบายถึงดนตรีที่ท้าทายดนตรีมีเป็นอยู่ และ "นอกคอกอย่างรุนแรง, ต่อต้านการค้า และต่อต้านกระแสหลัก" แต่คำนี้ก็ยังใช้ในอุตสาหกรรมดนตรีเพื่อแสดงถึง "ทางเลือกของผู้บริโภคจากร้านแผ่นเสียง, วิทยุ, เคเบิลทีวี และอินเทอร์เน็ต"[17] อย่างไรก็ดี ดนตรีออลเทอร์นาทิฟก็เหมือนจะขัดแย้งในตัวเอง เพราะได้กลายมาธุรกิจและสามารถทำเงินได้แบบเพลงร็อกกระแสนิยม โดยค่ายเพลงใช้คำว่า "ออลเทอร์นาทิฟ" เป็นดนตรีการตลาดให้เข้าถึงกลุ่มผู้ฟังในกลุ่มที่เพลงร็อกกระแสนิยมไม่สามารถเข้าถึงได้[18] การนิยามความหมายที่กว้างขึ้นของแนวเพลงนี้ เดฟ ทอมป์สันได้พูดถึงในหนังสือของเขา ออลเทอร์นาทิฟร็อก ว่าการเกิดวงเซ็กซ์พิสทอลส์ หรืออย่างการออกจำหน่ายอัลบัม ฮอร์ซิส ของแพตตี สมิท และ เมทัลแมชชีนมิวสิก ของลู รีด เป็น 3 ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดออลเทอร์นาทิฟร็อก[19] จนในช่วงที่ผ่านมา (ต้นคริสต์ทศวรรษ 2000) เมื่ออินดี้ร็อกกลายเป็นคำทั่วไปในสหรัฐที่อธิบายหมายถึง โมเดิร์นป็อป และร็อก คำว่า "อินดี้ร็อก" และ "ออลเทอร์นาทิฟร็อก"จึงสามารถใช้สลับสับเปลี่ยนกันได้[20] ขณะที่มุมมองของ 2 แนวเพลงนี้ที่เหมือนกันคือ อินดี้ร็อกเป็นคำที่ใช้จากวงอังกฤษ แต่ออลเทอร์นาทิฟร็อกมักใช้กับวงอเมริกันมากกว่า[21]
คุณลักษณะ
แก้คำว่า "ออลเทอร์นาทิฟร็อก" โดยพื้นฐานแล้วอยู่ภายใต้ความหมายของ ดนตรีใต้ดิน ที่เกิดขึ้นมาในช่วงตื่นตัวของพังก์ร็อก ตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษ 1980[22] ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของเพลงออลเทอร์นาทิฟร็อกนั้น ได้นิยามคำจำกัดความส่วนใหญ่โดยผู้ปฏิเสธความสำเร็จทางธุรกิจของวัฒนธรรมกระแสหลัก ถึงแม้ว่าอาจมีข้อถกเถียงเกิดขึ้นตั้งแต่ศิลปินใหญ่แนวออลเทอร์นาทิฟจะประสบความสำเร็จในกระแสหลักหรือได้ทำงานกับค่ายใหญ่ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา (โดยเฉพาะตั้งแต่สหัสวรรษใหม่เป็นต้นมา) วงออลเทอร์นาทิฟร็อกในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 โดยมากจะเล่นในคลับเล็ก ๆ บันทึกเสียงกับค่ายอินดี และเผยแพร่ความนิยมแบบปากต่อปาก[23] ดังนั้นเพลงออลเทอร์นาทิฟจึงไม่ได้สร้างขึ้นจากสไตล์ดนตรีโดยทั้งหมด ถึงแม้ว่า เดอะนิวยอร์กไทมส์ จะอธิบายในปี 1989 ว่าเป็นแนวเพลงที่ "อย่างแรกคือเป็นดนตรีกีตาร์ ด้วยกีตาร์นี้เองที่ระเบิดคอร์ดอันทรงพลัง ทำให้ชัดขึ้นโดยท่อนริฟฟ์ที่ก้องกังวาน เสียงอื้ออึงโดยกีตาร์ฟัซซ์โทนและความแหลมจากเสียงสะท้อนกลับ"[24]
โดยปกติแล้วเพลงร็อกในสไตล์อื่น ตั้งแต่ช่วงเพลงร็อกกระแสหลักในคริสต์ทศวรรษ 1970 เนื้อเพลงแนวออลเทอร์นาทิฟร็อกจะมีแนวโน้มที่จะพูดถึงเนื้อหาเรื่องสังคม อย่างเช่น การใช้ยา ความตกต่ำทางเศรษฐกิจ การฆ่าตัวตาย และสิ่งแวดล้อมนิยม[23] วิถีเนื้อเพลงที่พัฒนาขึ้นเป็นการสะท้อนถึงสังคมและความตึงเครียดทางเศรษฐกิจในสหรัฐและสหราชอาณาจักรในคริสต์ทศวรรษ 1980 และต้นคริสต์ทศวรรษ 1990[25]
ประวัติ
แก้ยุคก่อนออลเทอร์นาทิฟร็อก (คริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970)
แก้ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 ก่อนการเกิดของออลเทอร์นาทิฟร็อก อยู่ในช่วงกระแสโพรโตพังก์[26] ต้นกำเนิดของออลเทอร์นาทิฟร็อก สามารถย้อนกลับไปได้ถึงอัลบัม เดอะเวลเวตอันเดอร์กราวด์แอนด์นีโก (1967) ของ เดอะเวลเวตอันเดอร์กราวด์[27] ที่เป็นแรงบันดาลใจให้แก่วงนออลเทอร์นาทิฟร็อกหลายวงในยุคหลัง[28] อัลบัม วีร์ออนลีอินอิตฟอร์เดอะมันนี (We're Only In It For The Money) ของ เดอะมาเทอส์ออฟอินเวนชัน (1968) ได้ถูกยอมรับว่าเป็นอัลบัมเพลงออลเทอร์นาทิฟร็อกยุคแรก[29] ศิลปินเช่น ซิด บาร์เร็ตต์ (Syd Barrett) มีอิทธิพลต่อออลเทอร์นาทิฟร็อกโดยทั่ว ๆ ไป[30] รวมทั้งวงคาบาเรต์วอลแทร์ (Cabaret Voltaire) เดอะโมโนโครมเซ็ต (The Monochrome Set) สเวลแม็ปส์ (Swell Maps) พอปกรุป (Pop Group) และพีไอแอล (PIL)[31] เป็นวงออลเทอร์นาทิฟร็อกในคริสต์ทศวรรษที่ 1970
คริสต์ทศวรรษ 1980
แก้ช่วงปี 1984 วงดนตรีโดยมากมักจะเซ็นสัญญากับค่ายเพลงอิสระที่มีเพลงร็อกหลากหลายรูปแบบและได้รับอิทธิพลเพลงร็อกในคริสต์ทศวรรษ 1960 เป็นบางส่วน[32]
ตลอดคริสต์ทศวรรษ 1980 ออลเทอร์นาทิฟร็อกยังคงถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใต้ดิน ขณะที่มีบางเพลงที่ได้รับความนิยมจนกลายเป็นเพลงฮิตหรืออัลบัมฮิต จนได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมจากสิ่งพิมพ์กระแสหลักอย่าง โรลลิงสโตน ออลเทอร์นาทิฟร็อกในคริสต์ทศวรรษ 1980 โดยมากจะอยู่กับค่ายเพลงอิสระ ตีพิมพ์ในแฟนซีน หรือเล่นในสถานีวิทยุของวิทยาลัย วงออลเทอร์นาทิฟได้สร้างกลุ่มคนฟังใต้ดินโดยการออกทัวร์อย่างคงเส้นคงวา และออกอัลบัมต้นทุนต่ำอยู่เป็นประจำ อย่างในสหรัฐ วงใหม่ ๆ จะเจริญรอยตามแบบวงที่มาก่อน นี่ทำให้ขยายขอบเขตของเพลงใต้ดินในอเมริกา เพิ่มเติมเข้ากับแวดวงต่าง ๆ ในหลาย ๆ แห่งของสหรัฐ[22] แม้ศิลปินออลเทอร์นาทิฟอเมริกันในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 จะไม่เคยมียอดขายอัลบัมที่ดี การลงทุนลงแรงของพวกเขาก็ถือได้ว่ามีอิทธิพลให้กับนักดนตรีออลเทอร์นาทิฟในยุคต่อมา และได้ปูพื้นฐานความสำเร็จให้แก่พวกเขาเอง[33] เมื่อวันที่ 10 กันยายน 1988 เกิดชาร์ตเพลงออลเทอร์นาทิฟขึ้นบนนิตยสาร บิลบอร์ด เป็น 40 อันดับเพลงที่ถูกเล่นบ่อยที่สุดบนสถานีวิทยุออลเทอร์นาทิฟและโมเดิร์นร็อกในสหรัฐ เพลงอันดับ 1 เพลงแรกคือเพลง "พีก-อะ-บู" ของซูซีแอนด์เดอะแบนชีส์[34] ในปี 1989 แนวเพลงนี้ได้รับความนิยมมากเพียงพอจนเกิดทัวร์รวมศิลปินอย่าง นิวออร์เดอร์, พับลิกอิมเมจลิมิเตด และ เดอะชูการ์คิวส์ ออกทัวร์กันในสหรัฐ[35]
อีกฟากหนึ่ง ออลเทอร์นาทิฟร็อกอังกฤษเริ่มมีความโดดเด่นขึ้นมาในช่วงที่สหรัฐอยู่ในช่วงแรก โดยเริ่มใส่ความเป็นป็อปมากกว่า (ดูได้จากอัลบัมและซิงเกิลที่โดดเด่น เช่นเดียวกับการเปิดกว้างที่มักใส่องค์ประกอบเพลงเต้นรำและวัฒนธรรมในคลับเข้ามาด้วย) และเนื้อเพลงให้ความสำคัญกับความเป็นชาวอังกฤษ ผลก็คือ วงออลเทอร์นาทิฟร็อกจำนวนหนึ่งประสบความสำเร็จด้านยอดขายในสหรัฐด้วย[36] ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาเพลงออลเทอร์นาทิฟร็อกได้รับการเปิดออกอากาศอย่างแพร่หลายบนวิทยุในสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดีเจหลายคน อาทิ จอห์น พีล (ทำงานสถานีวิทยุออลเทอร์นาทิฟบน บีบีซีเรดิโอวัน), ริชาร์ด สกินเนอร์ และแอนนี ไนติงเกล นอกจากนี้ศิลปินยังมีกลุ่มผู้ติดตามอย่างเหนียวแน่ทั้งในสหรัฐ โดยผ่านสถานีวิทยุแห่งชาติอังกฤษและสื่อดนตรีรายสัปดาห์ และยังมีวงออลเทอร์นาทิฟหลายวงประสบความสำเร็จที่ชาร์ตในสหรัฐนี้ด้วย[37]
เพลงใต้ดินในสหรัฐ ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980
แก้วงออลเทอร์นาทิฟอเมริกันยุคแรก ๆ อย่างเช่น เดอะดรีมซินดิเคต, เดอะบอนโกส, เทนเทาซันด์แมนิแอกส์, อาร์.อี.เอ็ม., เดอะฟีลีส์ และไวโอเลนต์เฟมส์ ได้รวมเพลงพังก์เข้ากับเพลงโฟล์ก รวมถึงเพลงกระแสหลักมาไว้ด้วยกัน อาร์.อี.เอ็ม. เป็นวงที่ประสบความสำเร็จที่สุดโดยทันที อัลบัมเปิดตัวชุด เมอร์เมอร์ (1983) เข้าใน 40 อันดับแรก และยังได้ฐานผู้ฟังเพลงแจงเกิลป็อปจำนวนมาก[38] อีกหนึ่งในผู้อยู่ในกระแสเพลงแจงเกิลในต้นยุคคริสต์ทศวรรษ 1980 วงเพรสลีย์อันเดอร์กราวด์จากลอสแอนเจลิส นำซาวด์ในคริสต์ทศวรรษ 1960 มาฟื้นฟู เข้ากับความหลอน เสียงร้องอันกลมกลืนอิ่มเอิบ และกีตาร์ที่ประสานกันกับโฟล์กร็อก เช่นเดียวกับเพลงพังก์และเพลงใต้ดิน อย่างวงเดอะเวลเวตอันเดอร์กราวด์[22]
ค่ายเพลงอิสระอเมริกันอย่าง เอสเอสทีเรเคิดส์, ทวิน/โทนเรเคิดส์, ทัชแอนด์โกเรเคิดส์ และดิสคอร์ดเรเคิดส์ มีความโดดเด่นขึ้นมาจากการสลับเปลี่ยนจากเพลงฮาร์ดคอร์พังก์ที่โดดเด่นในกระแสเพลงใต้ดินอเมริกัน ไปสู่แนวเพลงที่หลากหลายมากขึ้นของเพลงออลเทอร์นาทิฟร็อกที่กำลังโดดเด่นขึ้นมา[39] วงจากมินนีแอโพลิส อย่าง ฮุสเกอร์ดุ และเดอะรีเพลซเมนส์ ก็เป็นหนึ่งในวงที่สลับเปลี่ยนแนวเพลงนี้ ทั้ง 2 วงเริ่มจากการเป็นวงพังก์ร็อก จากนั้นก็เปลี่ยนซาวด์ดนตรีให้ฟังดูมีเมโลดีมากขึ้น[22] ไมเคิล แอเซอร์แรดยืนยันว่า ฮุสเกอร์ดุถือเป็นกุญแจสำคัญในการเชื่อมเปลี่ยนเพลงฮาร์ดคอร์พังก์และเพลงที่มีเมโลดี้มากขึ้น ทำให้ดนตรีคอลเลจร็อกที่เกิดขึ้นมีความหลากหลาย แอเซอร์แรดเขียนไว้ว่า "ฮุสเกอร์ดุมีบทบาทสำคัญในการโน้มน้าวให้เพลงใต้ดินที่มีเมโลดีและเพลงพังก์ร็อกให้ไม่เป็นเรื่องแย้งกัน"[40] วงยังได้สร้างตัวอย่างที่ดี ด้วยการเป็นวงอินดีอเมริกันวงแรกที่เซ็นสัญญากับค่ายใหญ่ ยังได้ทำให้สร้างเพลงคอลเลจร็อกให้ "เป็นกิจการเพื่อการค้าอย่างชัดเจน"[41] ขณะที่วงเดอะรีเพลสเมนส์ที่แต่งเพลงอกหักและเล่นคำมากกว่าที่จะพูดเรื่องการเมือง ก็ทำให้เกิดกระแสเพลงใต้ดินได้อย่างมาก แอเซอร์แรดเขียนว่า "ร่วมกับวง อาร์.อี.เอ็ม. แล้ว เดอะรีเพลสเมนส์เป็นหนึ่งในวงใต้ดินไม่กี่วงที่คนฟังเพลงกระแสหลักชื่นชอบ"[42]
ปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 กระแสออลเทอร์นาทิฟร็อกอเมริกันมีอิทธิพลกว้างขึ้นตั้งแต่เพลงออลเทอร์นาทิฟพอปแปลก ๆ (เดย์ไมต์บีไจแอนส์ และ แคมเปอร์แวนบีโทเฟน) ไปจนถึงนอยส์ร็อก (โซนิกยูท, บิกแบล็ก, เดอะจีสัสไลซาร์ด[43]) และอินดัสเทรียลร็อก (มินิสทรี, ไนน์อินช์เนลส์) ซาวด์ดนตรีเหล่านี้ทำให้มีวงที่ตามมา อย่างวงจากบอสตันที่ชื่อ พิกซีส์ และวงจากลอสแอนเจลิสที่ชื่อ เจนส์แอดดิกชัน[22] ในช่วงเวลาเดียวกัน แนวย่อยเพลงกรันจ์กำเนิดขึ้นในซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ในช่วงแรกใช้ชื่อว่า "เดอะซีแอตเทิลซาวด์" (The Seattle Sound) จนกระแสกระแสเพลงแนวนี้ได้รับความนิยมในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990[44] กรันจ์เป็นเพลงที่มีส่วนผสมดนตรีกีตาร์ที่ฟังดูเลอะเทอะและมืดมัว ที่ปะติดปะต่อเข้ากับเฮฟวีเมทัลและพังก์ร็อก[45] มีการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางโดยค่ายเพลงอิสระที่ชื่อ ซับป็อป วงกรันจ์ได้รับการกล่าวว่ามีแฟชั่นจากร้านราคาถูก มักเป็นเสื้อเชิร์ตสักหลาดและใส่รองเท้าบูตคอมแบต เข้ากับภูมิอากาศท้องถิ่น[46] วงกรันจ์ยุคแรกเช่น ซาวด์การ์เดน และมัดฮันนีย์ ที่ได้รับการกล่าวถึงในสหรัฐและสหราชอาณาจักรตามลำดับ[22]
ในช่วงสิ้นทศวรรษ มีหลายวงออลเทอร์นาทิฟเริ่มเซ็นสัญญากับค่ายใหญ่ ขณะที่วงที่เซ็นกับค่ายใหญ่แรก ๆ อย่าง ฮุสเกอร์ดุ และเดอะรีเพลซ์เมนส์ ได้รับความสำเร็จเล็กน้อย ค่ายที่ได้เซ็นสัญญากับวงอย่าง อาร์.อี.เอ็ม. และเจนส์แอดดิกชัน ก็ได้รับแผ่นเสียงทองคำและแผ่นเสียงทองคำขาว ก่อให้เกิดการแจ้งเกิดของออลเทอร์นาทิฟในเวลาต่อมา[47][48] บางวงอย่างเช่น พิกซีส์ ประสบความสำเร็จข้ามทวีป ขณะที่ในประเทศบ้านเกิดไม่ประสบความสำเร็จ[22]
ในช่วงกลางทศวรรษ อัลบัม เซนอาร์เคต ของฮุสเกอร์ดุมีอิทธิพลด้านดนตรีต่อวงฮาร์ดคอร์ดโดยมีการพูดเรื่องส่วนตัว นอกจากนั้นกระแสเพลงฮาร์ดคอร์ในวอชิงตันดีซี ที่เรียกเพลงเหล่านี้ว่า "อีโมคอร์" หรือ "อีโม" เกิดขึ้นมา และได้รับการพูดถึงเรื่องเนื้อเพลงที่เข้าถึงอารมณ์ส่วนตัวเป็นสาระสำคัญอย่างมาก (นักร้องบางคนร้องไห้) และยังเพิ่มเติมบทกวีแบบการเชื่อมโยงเสรี (free association) และโทนเพลงแบบสารภาพผิด วงไรตส์ออฟสปริงได้รับคำจำกัดความว่าเป็นวงอีโมวงแรก เอียน แม็กเคย์อดีตสมาชิกวงไมเนอร์ทรีต ผู้ก่อตั้งค่ายดิสคอร์ดเรเคิดส์ ถือเป็นศูนย์กลางเพลงอีโมของเมือง[49]
แนวเพลงอังกฤษและแนวโน้มในคริสต์ทศวรรษ 1980
แก้แนวเพลงกอทิกร็อกเริ่มพัฒนานอกเหนือจากโพสต์พังก์อังกฤษในปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 กิตติศัพท์ว่าเป็น "รูปแบบเพลงร็อกใต้ดินที่มืดหม่นและเศร้าหมองที่สุด" กอทิกร็อกใช้ซาวด์เครื่องสังเคราะห์เสียงและกีตาร์เป็นพื้นฐานซึ่งเป็นผลมาจากโพสต์พังก์ เพื่อสร้าง "ลางสังหรณ์ ความโศกเศร้า และมักใช้ทัศนียภาพของเสียงแบบมหากาพย์" ผนวกกับเนื้อเพลงของแนวนี้ที่มักเอ่ยถึง วรรณกรรมจินตนิมิต, โรคภัย, สัญลักษณ์ทางศาสนา และเรื่องไสยศาสตร์เหนือธรรมชาติ[50] วงแนวนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มโพสต์พังก์อังกฤษ 2 วง คือ จอยดิวิชันกับซูซีแอนด์เดอะแบนชีส์[51] ซิงเกิลเปิดตัวของเบาเฮาส์ที่ชื่อ "เบลาลูโกซีส์เดด" (Bela Lugosi's Dead) ออกขายปี 1979 ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นอย่างสมบูรณ์ของแนวเพลงกอทิกร็อก[52] อัลบัมวงเดอะเคียวร์หลายอัลบัมที่ "หดหู่น่าสลดใจ" อาทิ พอร์โนกราฟี (1982) ก็ทำให้วงมีสัณฐานในแนวเพลงนี้ อีกทั้งยังปูฐานรากให้มีกลุ่มผู้ฟังติดตามกลุ่มใหญ่[53]
วงออลเทอร์นาทิฟร็อกอังกฤษกุญแจดอกสำคัญที่เกิดขึ้นระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1980 คือวงจากแมนเชสเตอร์ที่ชื่อ เดอะสมิทส์ นักข่าวดนตรี ไซมอน เรย์โนลส์ ชี้ว่าเดอะสมิทส์และวงอเมริกันร่วมสมัย อาร์.อี.เอ็ม. ถือเป็น "2 วงสำคัญออลต์-ร็อกของวันนั้น" แสดงความเห็นว่า "พวกเขาเป็นวงยุค 80 ที่ให้ความรู้สึกถึงการต่อต้านยุค 80 แต่เพียงผู้เดียว" เรย์โนลส์พูดถึงเดอะสมิทส์ว่า "ทีท่าทั้งหมดนั้นมีนัยยะต่อผู้ฟังชาวอังกฤษที่ไร้ยุค เหมือนถูกขับไล่จากดินแดนพวกเขา"[54] เสียงกีตาร์ที่เดอะสมิทส์ได้นำมาใช้ในยุคนั้น คือดนตรีโดดเด่นด้วยเสียงสังเคราะห์ ถูกมองว่าเป็นสัญญาณจบของยุคนิวเวฟและเป็นการมาถึงของออลเทอร์นาทิฟร็อกในสหราชอาณาจักร แม้วงจะประสบความสำเร็จไม่มากบนอันดับเพลงและมีงานในระยะสั้น เดอะสมิทส์ก็สำแดงอิทธิพลไปทั่วกระแสเพลงอินดีในอังกฤษจนสิ้นศตวรรษ ซึ่งหลายวงก็ได้รับหลักเกณฑ์เนื้อเพลงของนักร้องวงมอร์ริสซีย์ และแนวทางการเล่นกีตาร์แข็งกร้าวของจอห์นนี มาร์[36] เทปคาสเซตต์รวมเพลง ซีเอตตีซิก ออกพิเศษโดยนิตยสาร เอ็นเอ็มอี ในปี 1986 มีศิลปินอย่าง ไพรมัลสกรีม, เดอะเวดดิงพรีเซนต์ และวงอื่น ๆ ก็มีอิทธิพลในการพัฒนากระแสอินดีป็อปและอินดีอังกฤษมาโดยตลอด[55][56]
ยังมีอีกหลายรูปแบบของออลเทอร์นาทิฟร็อกที่พัฒนาขึ้นในสหราชอาณาจักรในคริสต์ทศวรรษ 1980 ซาวด์ของวงเดอะจีซัสแอนด์แมรีเชนได้รวมเอา "เสียงเศร้า" ของวงเดอะเวลเวตอันเดอร์กราวด์ เข้ากับเมโลดี้เพลงป็อปของเดอะบีชบอยส์ และงานผลิตแบบวอลล์ออฟซาวด์ของฟิล สเปกเตอร์[57][58] ขณะที่นิวออร์เดอร์เกิดขึ้นมาหลังจากวงโพสต์พังก์ จอยดิวิชัน สิ้นสลาย พวกเขาได้ทำการทดลองดนตรีเทคโนกับเฮาส์[36] เดอะแมรีเชน รวมถึงไดโนเสาร์จูเนียร์, ซีเอตตีซฺก และวงดรีมป็อปค็อกโททวินส์ เป็นผู้เป็นต้นแบบอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวชูเกซซิงในปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 ได้รับการขนานนามเรื่องสมาชิกของวงจ้องมองเท้าตัวเอง และเหยียบเอฟเฟกต์กีตาร์[59] บนเวที มากกว่าที่จะปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม วงชูเกซซิงอย่าง มายบลัดดีวาเลนไทน์ และสโลว์ไดฟ์ได้สร้างสรรค์เสียงอึกทึกอันท้วมท้น "อย่างไม่สนใจซาวด์เพลง" ที่ร้องอย่างคลุมเครือ และเล่นเมโลดีที่มีท่อนริฟฟ์เสียงต่ำ เสียงบิด และเสียงสะท้อน อย่างยาวนาน[60] วงชูเกซซิงโดดเด่นขึ้นมาในสื่อเพลงอังกฤษในปลายทศวรรษ ร่วมไปกับกระแสเพลงแมดเชสเตอร์ การแสดงส่วนใหญ่ที่ไนต์คลับในแมนเชสเตอร์ที่ชื่อ เดอะฮาเซียนดา มีเจ้าของคือนิวออร์เดอร์และแฟกทอรีเรเคิดส์ มีการแสดงวงแมดเชสเตอร์อย่างเช่น แฮปปี้มันเดส์ และเดอะสโตนโรสเซสที่ผสมเข้ากับจังหวะเต้นรำแอซิดเฮาส์ กับความป็อปของเมโลดีกีตาร์[61]
ความนิยมในคริสต์ทศวรรษ 1990
แก้ช่วงเริ่มต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 อุตสาหกรรมดนตรีถูกชักนำจากความเป็นไปได้ทางธุรกิจออลเทอร์นาทิฟร็อก และค่ายใหญ่หาวงต่าง ๆ อย่างแข็งขัน อาทิ เจนส์แอดดิกชัน, เรดฮอตชิลีเพปเปอส์, ไดโนเสาร์จูเนียร์, ไฟร์โฮส และเนอร์วานา[47] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสำเร็จของอาร์.อี.เอ็ม. ได้กลายเป็นพิมพ์เขียวให้กับวงออลเทอร์นาทิฟจำนวนมากในปลายยุคคริสต์ทศวรรษ 1980 และ 1990 วงมีผลงานอย่างยาวนานและในคริสต์ทศวรรษ 1990 ถือเป็นหนึ่งในวงที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก[22]
การแจ้งเกิดของวงเนอร์วานานำไปสู่ความนิยมอย่างกว้างขวางของออลเทอร์นาทิฟร็อกในคริสต์ทศวรรษ 1990 เมื่อซิงเกิล "สเมลส์ไลก์ทีนสปิริต" จากอัลบัมชุด 2 เนเวอร์ไมนด์ (1991) ออกขาย "ได้เป็นสัญลักษณ์กระตุ้นปรากฏการณ์ดนตรีกรันจ์" เป็นผลจากการออกอากาศมิวสิกวิดีโอของเพลงนี้ทางช่องเอ็มทีวี ทำให้ เนเวอร์ไมนด์ มียอดขาย 400,000 ชุดในสัปดาห์คริสต์มาส 1991[62] จากความสำเร็จของ เนเวอร์ไมนด์ ได้สร้างความประหลาดใจให้กับอุตสาหกรรมดนตรี เนเวอร์ไมนด์ ยังไม่เพียงทำให้เพลงกรันจ์เป็นที่นิยม แต่ยังสร้าง "วัฒนธรรมและออลเทอร์นาทิฟร็อกเพื่อการค้าอย่างชัดเจนโดยทั่วไป"[63] ไมเคิล แอเซอร์แรดยังยืนยันว่า เนเวอร์ไมนด์ เป็นสัญลักษณ์ "การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการเพลงร็อก" ซึ่งขณะนั้นเพลงแฮร์เมทัลมีความโดดเด่นอยู่ตอนนั้นก็ได้เสื่อมลง เนเวอร์ไมนด์ เป็นโฉมหน้าทางดนตรีที่แท้จริงและมีความสำคัญทางวัฒนธรรม[64]
ความสำเร็จที่สร้างความประหลาดใจของเนอร์วานาในอัลบัม เนเวอร์ไมนด์ เป็นการประกาศ "การเปิดรับครั้งใหม่ให้กับออลเทอร์นาทิฟ" ให้กับสถานีวิทยุเพื่อการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดประตูให้กับวงออลเทอร์นาทิฟที่หนักกว่านี้[65] การตื่นตัวใน เนเวอร์ไมนด์ ออลเทอร์นาทิฟ "ได้ขัดขืนใจตัวเองเพื่อก้าวสู่เพลงกระแสหลัก" รวมถึงค่ายเพลง ยังสร้างความสับสนของความสำเร็จในแนวเพลงนี้ ที่ยังไม่อยากกระตือรือล้นแย่งชิงเซ็นสัญญากับวงต่าง ๆ[66] เดอะนิวยอร์กไทมส์ เขียนไว้ในปี 1993 ว่า "ออลเทอร์นาทิฟร็อกยังดูไม่เหมือนเป็นทางเลือกอีกต่อไป ค่ายใหญ่ทุกค่ายมีวงที่ขับเคลื่อนโดยกีตาร์อยู่เต็มมือ สวมเสื้อเชิร์ตที่ไร้รูปร่างและยีนส์เก่า ๆ วงที่วางท่าแย่ ๆ กับท่อนริฟฟ์ที่ดีงาม ที่ยังไม่ติดหู และซ่อนความสามารถเบื้องหลังความไม่แยแสอะไร"[67] อย่างไรก็ดี ศิลปินออลเทอร์นาทิฟหลายวงก็ดูปฏิเสธความสำเร็จที่ขัดแย้งกับความหัวรั้น ในหลักการแนวเพลงแบบดีไอวายที่พวกเขาสนับสนุนก่อนที่จะระเบิดมาในกระแสหลัก รวมถึงแนวคิดเรื่องความเป็นศิลปินที่แท้จริงของพวกเขา[68]
กรันจ์
แก้กรันจ์วงอื่นเริ่มทำสำเนาความสำเร็จแบบเนอร์วานาในเวลาต่อมา เพิร์ลแจมออกอัลบัมชุดแรกที่ชื่อ เท็น ออกก่อน เนเวอร์ไมนด์ 10 เดือน ในปี 1991 แต่ยอดขายอัลบัมกลับเพิ่มขึ้นในปีถัดมา[69] ครึ่งหลังของปี 1992 เท็น แจ้งเกิดได้สำเร็จ ได้รับการยืนยันแผ่นเสียงทองคำขาวและขึ้นอันดับ 2 บน บิลบอร์ด 200[70] อัลบัม แบดมอเตอร์ฟิงเกอร์ ของซาวด์การ์เดน, เดิร์ต ของอลิซอินเชนส์ และ คอร์ ของสโตนเทมเพิลไพล็อตส์ รวมถึงอัลบัม เทมเพิลออฟเดอะดอก อัลบัมการร่วมงานของสมาชิกจากวงเพิร์ลแจมและซาวด์การ์เดน อัลบัมเหล่านี้เป็นอัลบัมขายดีใน 100 อัลบัมแห่งปี 1992[71] เมื่อความนิยมในวงกรันจ์เหล่านี้เกิดขึ้น โรลลิงสโตน ก็เรียกเมืองซีแอตเทิลว่า "ลิเวอร์พูลใหม่"[46] ค่ายหลักเซ็นสัญญากับวงกรันจ์ที่โดดเด่นขึ้นมาที่เมืองซีแอตเทิล ขณะที่การไหลบ่าของวงต่าง ๆ มายังเมืองนี้ เพราะหวังว่าจะประสบความสำเร็จ[72]
ในเวลาเดียวกัน นักวิจารณ์ยืนยันว่า การโฆษณาได้รับองค์ประกอบแนวคิดของกรันจ์แล้วจะกลายมาเป็นแฟชันสมัยนิยม เอนเตอร์เทนเมนต์วีกลี แสดงความเห็นในบทความปี 1993 ว่า "ไม่มีรูปแบบการหาผลประโยชน์ในวัฒนธรรมย่อยนับตั้งแต่สื่อค้นพบฮิปปีในคริสต์ทศวรรษ 1960"[73] เดอะนิวยอร์กไทมส์ เปรียบเทียบ "กรันจ์อเมริกา" กับตลาดมวลชนแบบพังก์ร็อก, ดิสโก้ และฮิปฮอปที่มาก่อนหน้านี้ ผลคือแนวเพลงกรันจ์ได้รับความนิยม ส่งผลกลับอย่างรุนแรงต่อกรันจ์ที่พัฒนาขึ้นมาในซีแอตเทิล[46] อัลบัมถัดมาของเนอร์วานา อินยูเทโร (1993) ฟังดูโมโหอย่างตั้งใจ มือเบสของวง คริสต์ โนโวเซลิช อธิบายว่า "เป็นซาวด์ก้าวร้าวป่าเถื่อน เป็นอัลบัมทางเลือกอย่างแท้จริง"[74] อย่างไรก็ตาม เมื่อออกอัลบัมในเดือนกันยายน 1993 อินยูเทโร ก็ขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ต บิลบอร์ด[75] เพิร์ลแจมก็ยังมียอดขายดีอยู่ในอัลบัมชุด 2 Vs. (1993) โดยขึ้นอันดับ 1 ด้วยยอดขาย 950,378 ชุด ในสัปดาห์แรกที่ออกขาย[76]
บริตป็อป
แก้เมื่อกระแสแมดเชสเตอร์เสื่อมลง และชูเกซซิงก็ดูขาดเสน่ห์ กรันจ์ในอเมริกาก้าวสู่ขาขึ้น ยังมีอิทธิพลต่อกระแสออลเทอร์นาทิฟในอังกฤษ และสื่อดนตรีในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990[36] การตอบสนองคือ วงอังกฤษปะปรายได้เกิดขึ้นมาด้วยความปรารถนาที่จะ "กำจัดเพลงกรันจ์" และ "ประกาศสงครามแก่อเมริกา" ได้เข้ามาครอบงำมวลชนและสื่อดนตรีท้องถิ่นอย่างรวดเร็ว[77] ชื่อ "บริตป็อป" ที่ตั้งโดยสื่อ การเคลื่อนไหวครั้งนี้นำโดย พัลป์, เบลอ, สเวด และโอเอซิส เป็นเสมือนการปะทุของกรันจ์ในแบบอังกฤษ ศิลปินเหล่านี้ได้ขับเคลื่อนออลเทอร์นาทิฟขึ้นสู่จุดสูงสุดของอันดับเพลงในประเทศบ้านเกิด[36] วงบริตป็อปได้รับอิทธิพลและนำเสนอการแสดงความนับถือดนตรีกีตาร์อังกฤษในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสและแนวเพลงอย่างเช่น บริติชอินเวชัน, แกลมร็อก และพังก์ร็อก[78] ในปี 1995 ปรากฏการณ์บริตป็อปขึ้นสู่จุดสุดยอดจากสองอริ โอเอซิส และเบลอ ที่ได้สร้างสัญลักษณ์โดยการแข่งขันด้วยการออกซิงเกิลในวันเดียวกัน ผลคือ เบลอเป็นผู้ชนะใน "ศึกแห่งบริตป็อป" (The Battle of Britpop) แต่โอเอซิสก็ได้รับความนิยมมากกว่าเบลอในอัลบัมชุดที่ 2 (วอตส์เดอะสตอรี) มอร์นิงกลอรี? (1995)[79] ซึ่งเป็นอัลบัมขายดีอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร[80]
อินดี้ร็อก
แก้ล้วนมีความหมายเดียวกับออลเทอร์นาทิฟร็อกในสหรัฐ อินดี้ร็อกมีความโดดเด่นขึ้นมาหลังจากเนอร์วานาแจ้งเกิด[81] อินดี้ร็อกได้บัญญัติว่าเป็นการปฏิเสธออลเทอร์นาทิฟร็อกที่ซึมซับเข้าสู่กระแสหลักโดยศิลปินที่ไม่สามารถข้ามฟากไปได้หรือปฏิเสธการข้ามฟาก และระมัดระวังเรื่องสุนทรีย์แห่งความเป็นชาย (macho) ขณะที่ศิลปินอินดี้ร็อกไม่เชื่อใจลัทธิการค้าแบบพังก์ร็อก ด้วยแนวเพลงที่ไม่สามารถระบุนิยามได้อย่างแท้จริง ต่อคำที่ว่า "สมมติฐานโดยทั่วไปแล้วคือ มีความเป็นไปได้อย่างแท้จริงที่จะสร้างดนตรีอันหลากหลายของอินดี้ร็อกให้เข้ากันได้กับรสนิยมกระแสหลักเป็นสิ่งแรก"[81]
ค่ายเพลงอย่างเช่น มาทาดอร์เรเคิดส์, เมิร์จเรเคิดส์ และดิสคอร์ด และชาวร็อกอินดี้อย่าง เพฟเมนต์, ซูเปอร์ชังก์, ฟูกาซี และสลีเตอร์-คินนีย์ เป็นผู้โดดเด่นในกระแสอินดี้อเมริกันตลอดคริสต์ทศวรรษ 1990[82] หนึ่งในการเคลื่อนไหวที่สำคัญของอินดี้ร็อกในคริสต์ทศวรรษ 1990 คือเพลงโลฟาย การเคลื่อนไหวนี้มุ่งไปที่การบันทึกเสียงและแจกจ่ายดนตรีที่มีคุณภาพต่ำอย่างตลับเทป ที่ตอนแรกเกิดขึ้นมาในคริสต์ทศวรรษ 1980 จนปี 1992 วงเพฟเมนต์, ไกด์บายวอยซ์ และเซบาโดห์ ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ชื่นชอบแนวโลฟายในสหรัฐ ขณะที่ศิลปินที่ตามมาทีหลังอย่าง เบ็ก และลิซ แฟร์ได้สร้างสุนทรีย์แก่คนฟังกระแสหลัก[83] ยุคนี้ยังเห็นนักร้อง-นักแต่งเพลงออลเทอร์นาทิฟหญิงแนวสารภาพ นอกเหนือจากลิซ แฟร์ ก็มีพีเจ ฮาร์วีย์ที่อยู่ในกลุ่มย่อยนี้[84]
โพสต์กรันจ์
แก้ในต่อจากครึ่งหลังของคริสต์ทศวรรษ 1990 กรันจ์ถูกแทนที่ด้วยโพสต์กรันจ์ วงโพสต์กรนจ์หลายวงขาดรากฐานความเป็นเพลงใต้ดินของกรันจ์และได้รับอิทธิพลอย่างมากจากที่กรันจ์ยุคเปลี่ยน กล่าวคือ "เป็นรูปแบบหนึ่งของความนิยมอย่างรนแรงที่มองเข้าไปข้างใน, ดนตรีฮาร์ดร็อกที่มุ่งมั่นจริงจัง" วงโพสต์กรันจ์หลายวงเลียนแบบซาวด์และสไตล์ของกรันจ์ "แต่ไม่จำเป็นต้องทำตัวประหลาดเหมือนอย่างศิลปินต้นฉบับ"[85] โพสต์กรันจ์เป็นแนวเพลงที่ประสบความสำเร็จยิ่งกว่า โดยลดเสียงบิดกีตาร์ของกรันจ์ให้ดีขึ้น พร้อมเพื่อออกอากาศทางวิทยุ[85] เดิมทีโพสต์กรันจ์เป็นการแบ่งประเภทอย่างเหยียบหยาม กับวงเกือบแทบทั้งหมดที่เกิดขึ้นเมื่อกรันจ์อยู่ในกระแสหลักและลอกเลียนแบบซาวด์ของกรันจ์ การแบ่งประเภทนี้บ่งถึงวงที่ใช้ว่าโพสต์กรันจ์ว่า เป็นดนตรีดัดแปลง หรือตอบโต้อย่างถากถางกับการเคลื่อนไหวร็อกทีเป็นของแท้[86] บุช, แคนเดิลบอกซ์ และคอลเลกทีฟโซลถูกเย้ยว่าเป็น โพสต์กรันจ์ ทิม เกรียร์สันจาก อะเบาต์.คอม เขียนว่า "แทนที่จะเป็นการเคลื่อนไหวทางดนตรีโดยความชอบของตน พวกเขาเป็นอย่างที่คิด ได้รับการตอบรับอย่างถากถางต่อการเปลี่ยนสไตล์เป็นดนตรีร็อกของเก๊"[86] โพสต์กรันจ์ได้แปลเปลี่ยนไปในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 อาทิวงอย่าง ฟูไฟเตอส์, ครีด และ นิกเคลแบ็ก ได้เกิดขึ้นมา[86]
โพสต์ร็อก
แก้โพสต์ร็อกกำเนิดขึ้นจากอัลบัม ลาฟฟิงสต็อก ของทอล์กทอล์ก และอัลบัม สไปเดอร์แลนด์ ของสลินต์ ทั้ง 2 ชุด ออกในปี 1991[87] โพสต์ร็อกได้รับอิทธิพลจากหลากหลายแนวเพลง อาทิ เคราต์ร็อก, โพรเกรสซิฟร็อก และแจ๊ซ แนวนี้โค่นล้มหรือปฏิเสธจารีตเพลงร็อก และมักจะรวมเพลงอิเล็กทรอนิกส์[87] ขณะที่ชื่อของแนวเพลงเกิดขึ้นโดยนักข่าวดนตรี ไซมอน เรย์โนลส์ ในปี 1994 สไตล์ของแนวเพลงที่แข็งแรงขึ้นจากการออกวางขายอัลบัม มิลเลียนส์นาวลิฟวิงวิลล์เนเวอร์ดาย (1996) ของศิลปินจากชิคาโก ทอร์ทอยส์[87] โพสต์ร็อกโดดเด่นขึ้นในรูปแบบของดนตรีร็อกทดลองในคริสต์ทศวรรษ 1990 หลายวงในแนวนี้ได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงเช่น ทริลล์จอกกี, แครงกี, แดรกซิตี และทูเพียวร์[87] แนวเพลงที่ใกล้เคียงกัน อย่าง แมทร็อก ถึงจุดสูงสุดในกลางคริสต์ทศวรรษ 1990 เมื่อเปรียบเทียบโพสต์ร็อกกับแมทร็อกที่ดู "ร็อกกิสต์" มากกว่า (คนที่เห็นว่าร็อกดีกว่าป็อป) และเชื่อใจในเครื่องหมายกำหนดจังหวะอันซับซ้อน และถ้อยคำอันสอดประสาน[88] เมื่อสิ้นศตวรรษเกิดกระแสย้อนกลับอย่างรุนแรงต่อเพลงโพสต์ร็อกอันเนื่องจาก "ไร้สติปัญญา" และสามารถสัมผัสได้ถึงการคาดเดาที่เพิ่มขึ้นได้ แต่วงโพสต์ร็อกคลื่นลูกใหม่อย่าง กอดสปีดยู! แบล็กเอมเพอร์เรอร์ และซีกือร์โรส เกิดขึ้นมาพร้อมกับการขยับขยายแนวเพลงให้กว้างขึ้นไป[87]
ความนิยมอื่น
แก้ปี 1993 อัลบัม ไซมิสดรีม ของเดอะสแมชชิงพัมป์กินส์ประสบความสำเร็จด้านยอดขายอย่างมาก อัลบัมได้รับอิทธิพลเพลงเฮฟวีเมทัลและโพรเกรสซิฟร็อกอย่างมาก ทำให้ออลเทอร์นาทิฟร็อกก้าวสู่รายการกระแสหลักทางวิทยุและปิดช่องโหว่ระหว่างออลเทอร์นาทิฟร็อกกับดนตรีร็อกที่เล่นเพลงร็อกอเมริกันยุคคริสต์ทศวรรษ 1970[89] ในปี 1995 สแมชชิงพัมป์กินส์ยังออกอัลบัมคู่ชุด เมลลอนคอลลายแอนด์เดอะอินฟินิตแซดเนสส์ ที่ขายได้ 10 ล้านชุดเฉพาะในสหรัฐ ได้รับการยืนยันแผ่นเสียงเพชรอีกด้วย
หลังจากเกือบ 10 ปีที่เพลงใต้ดิน, สกาพังก์ และเพลงที่มีส่วนผสมของสกาอังกฤษยุคแรก ๆ กับพังก์ ได้รับความนิยมในสหรัฐ วงแรนซิดเป็นวงแรกที่ได้แจ้งเกิดจาก "การกลับมาคลื่นลูกที่ 3 ของสกา" และในปี 1996 วงไมตีไมตีบอสสโตนส์, โนเดาต์, ซับไลม์, โกลด์ฟิงเกอร์, รีลบิกฟิช, เลสส์แดนเจก และเซฟเฟอร์ริส มีเพลงเข้าชาร์ตหรือได้รับกระแสตอบรับท่วมท้นทางวิทยุ[90][91]
เปลี่ยนซาวด์
แก้ช่วงสิ้นสุดทศวรรษ สไตล์ของออลเทอร์นาทีฟได้เปลี่ยนไปเนื่องจากเกิดเหตุการณ์ขึ้นมากมาย เรื่องที่น่าจดจำอย่างเช่น การเสียชีวิตของเคิร์ต โคเบน แห่งวงเนอร์วานาในปี 1994 และการมีคดีความของวงเพิร์ลแจมต่อผู้จัดงานคอนเสิร์ต ทิกเกตมาสเตอร์ ที่ส่งผลกีดกันให้วงไม่ได้เล่นงานใหญ่ ๆ หลายงานในสหรัฐ[68] นอกจากนี้เกิดความเสื่อมความนิยมในวงกรันจ์ บริตป็อปก็ร่วงโรยกันไป อย่างอัลบัมชุดที่ 3 ของโอเอซิส บีเฮียร์นาว (1997) ได้คำวิจารณ์ไม่สดใสนัก ส่วนวงเบลอก็เริ่มได้รับอิทธิพลจากออลเทอร์นาทิฟร็อกอเมริกัน[92] การเปลี่ยนสัญญะที่สื่อความหมายของออลเทอร์นาทิฟร็อกก่อให้เทศกาลดนตรีลอลลาปาลูซาหายไปหลังจากพยายามหาวงนำมาแสดงไม่สำเร็จในปี 1998 ความจริงคือปัญหาที่เกิดในปีนั้น สปิน ได้บอกไว้ว่า "ลอลลาปาลูซาดูเฉื่อยชาเหมือนอย่างออลเทอร์นาทิฟร็อกตอนนี้"[93]
แม้จะเปลี่ยนไปในแง่สไตล์ ออลเทอร์นาทิฟร็อกยังคงอยู่ในกระแสได้อยู่ โพสต์กรันจ์ยังคงทำเงินได้เมื่อเริ่มศตวรรษที่ 21 เมื่อวงอย่างครีด และแมตช์บ็อกซ์ทเวนตี ถือเป็นวงร็อกที่ได้รับความนิยมที่สุดในสหรัฐ[85] ขณะเดียวกัน บริตป็อปเริ่มเสื่อมความนิยม เรดิโอเฮดที่เคยได้รับเสียงวิจารณ์ที่ดีในอัลบัมชุด 3 โอเคคอมพิวเตอร์ (1997) จนอัลบัมถัดมา คิดเอ (2000) และ แอมนีซิแอก (2001) ที่ได้รับการกล่าวว่าแตกต่างจากประเพณีนิยมบริตป็อป เรดิโอเฮดและวงบริตป็อปยุคหลังอย่าง แทรวิส และโคลด์เพลย์ ถือเป็นกำลังสำคัญของร็อกอังกฤษในยุคถัดมา[94]
กลางคริสต์ทศวรรษ 1990 วงซันนีเดย์รีลเอสเตตได้กำหนดนิยามเพลงอีโมขึ้นมา อัลบัม พิงเคอร์ตัน (1996) ของวีเซอร์ก็ถือว่าเป็นอัลบัมที่สร้างผลกระทบ ในปี 2000 เมื่อก้าวทศวรรษใหม่ อีโมเป็นแนวเพลงร็อกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแนวเพลงหนึ่ง[49] ผลงานยอดนิยมที่ประสบความสำเร็จได้ยอดขายได้แก่ บลีดอเมริกา ของจิมมีอีตเวิลด์ (2001) และ เดอะเพลซซิสยูแฮฟคัมทูเฟียร์เดอะโมสต์ ของแดชบอร์ดคอนเฟชชันนอล (2003)[95] อีโมแบบใหม่มีซาวด์แบบกระแสหลักมากขึ้นมากกว่าในคริสต์ทศวรรษ 1990 และดูดึงดูดใจต่อวัยรุ่นได้อย่างมาก มากกว่าช่วงก่อร่างสร้างตัวในช่วงก่อนหน้านี้[95] ขณะเดียวกัน การใช้คำว่า "อีโม" ขยับขยายไปมากกว่าคำว่าแนวเพลง ได้กลายมาเป็นแฟชั่น ทรงผม และดนตรีที่ปลดปล่อยอารมณ์[96] ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของอีโมในกระแสหลักกับวงที่เกิดขึ้นใหม่ในคริสต์ทศวรรษ 2000 อาทิวงที่ทำผลงานหลักแผ่นเสียงทองคำขาวหลายชุดอย่าง ฟอลล์เอาต์บอย[97] และมายเคมิคอลโรแมนซ์[98] รวมถึงวงในกระแสหลักอย่าง พาร์อะมอร์[97] และแพนิก! แอตเดอะดิสโก[99]
ศตวรรษที่ 21
แก้ระหว่างปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 มีวงออลเทอร์นาทิฟร็อกเกิดขึ้นหลายวง เช่น เดอะสโตรกส์, ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์, อินเตอร์พอล และเดอะแรปเจอร์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจที่สำคัญจากโพสต์พังก์และนิวเวฟ ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของโพสต์พังก์ริไววัล[100] หลังจากความสำเร็จของวงอย่าง เดอะสโตรกส์ และเดอะไวต์สไตรปส์ก่อนหน้านี้ในทศวรรษก่อน วงออลเทอร์นาทิฟร็อกหน้าใหม่ก็ไหลบ่ามา เช่นวงโพสต์พังก์ริไววัล และศิลปินแนวอื่นอย่าง เดอะคิลเลอส์ และเยเยเยส์ ประสบความสำเร็จด้านยอดขายช่วงต้นและกลางคริสต์ทศวรรษ 2000 เชื่อว่าน่าจะเป็นผลจากความสำเร็จของวงเหล่านี้ เอนเตอร์เทนเมนต์วีกลี ประกาศไว้ในปี 2004 ว่า "หลังจากเกือบทศวรรษที่วงแร็ปร็อกและนูเมทัลมีความโดดเด่น ในที่สุดออลต์-ร็อกก็กลับมาดีอีกครั้ง"[101] เทอร์ตีเซคันส์ทูมาส์ได้รับความนิยมอย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ทศวรรษ 2000[102] วงอเมริกันร็อก เรดฮอตชิลีเพปเปอส์ ได้ความนิยมครั้งใหม่ในปี 1999 หลังจากออกอัลบัมชุด แคลิฟอร์นิเคชัน (1999) ที่ยังคงประสบความสำเร็จล่วงเลยถึงคริสต์ทศวรรษ 2000
สิ่งที่ถูกอ้างถึงเกี่ยวกับออลเทอร์นาทิฟร็อกมากที่สุดในสหรัฐเมื่อผ่านปี 2010 คือแนวเพลงอินดี้ร็อก แต่เดิมคำนี้จำกัดการใช้อยู่แค่เพียงสื่อและช่องออลเทอร์นาทิฟร็อก[20] สถานีวิทยุในคริสต์ทศวรรษ 2010 เปลี่ยนรูปแบบที่ไกลไปจากออลเทอร์นาทิฟร็อกยิ่งขึ้น แต่เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้หาโฆษณาให้มากกว่ายอดขายของสถานีประเภทท็อป 40/ท็อป 100[103] ขณะเดียวก็เกิดความเห็นขัดแย้งในประเด็นออลเทอร์นาทิฟร็อกต่อกลุ่มผู้ฟังเพลงกระแสหลักหลังปี 2010[104][105] เดฟ โกรลแสดงความเห็นต่อบทความเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2013 บน นิวยอร์กเดลีนิวส์ ที่จั่วหัวว่า ร็อกได้ตายไปแล้ว[106] "ขอพูดเองเออเองว่า สำหรับตัวผมแล้ว ร็อกเหมือนจะยังมีชีวิตอยู่"[107]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Mitchell, Tony (2002). Global Noise: Rap and Hip Hop Outside the USA. Wesleyan University Press. p. 105. ISBN 0-8195-6502-4. สืบค้นเมื่อ November 27, 2012.
- ↑ Whiteley, Sheila; Bennett, Andy; Hawkins, Stan (2004). Music, Space And Place: Popular Music And Cultural Identity. Ashgate Publishing, Ltd. p. 84. ISBN 0-7546-5574-1. สืบค้นเมื่อ November 27, 2012.
- ↑ AllMusic Neo-psychedelia essay
- ↑ "Grunge". AllMusic. สืบค้นเมื่อ August 24, 2012.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 di Perna, Alan. "Brave Noise—The History of Alternative Rock Guitar". Guitar World. December 1995.
- ↑ Azerrad (2001), p. 446.
- ↑ Azerrad (2001).
- ↑ "Are We Not New Wave Modern Pop at the Turn of the 1980s by Theo Cateforis University of Michigan Press 2011 p. 38 ISBN 9780472115556
- ↑ 9.0 9.1 Reynolds, p. 391
- ↑ Stanley, Bob. "Will the indie chart rise again?". The Guardian. July 31, 2009. Retrieved July 20, 2012.
- ↑ Thompson, Dave. "Introduction". Third Ear: Alternative Rock. San Francisco: Miller Freeman, 2000. p. viii.
- ↑ Reynolds, p. 338.
- ↑ Mullen, Brendan. Whores: An Oral Biography of Perry Farrell and Jane's Addiction. Cambridge: Da Capo, 2005. p. 19. ISBN 0-306-81347-5.
- ↑ 14.0 14.1 Strauss, Neil. "Forget Pearl Jam. Alternative Rock Lives". The New York Times. March 2, 1997. Retrieved July 20, 2012.
- ↑ 15.0 15.1 15.2 Gerr, Jim (December 1991), "Artist of the Year: Perry Farrell of Jane's Addiction", Spin (magazine)
- ↑ Brown, Jake (2011). Jane's Addiction: In the Studio. Black Market Publishing. ISBN 9780972614276.
- ↑ Starr, Larry; Waterman, Christopher. American Popular Music: From Minstrelsy to MTV. New York: Oxford University Press, 2003. p. 430. ISBN 0-19-510854-X.
- ↑ Dolan, Emily (2010). "'...This little ukulele tells the truth':indie pop and kitsch authenticity". Popular Music. 29/3: 457–469. doi:10.1017/s0261143010000437.
- ↑ Alternative Rock by Dave Thompson, reprinted by Google Books
- ↑ 20.0 20.1 Fonarow, Wendy (July 28, 2011). "Ask the indie professor: why do Americans think they invented indie? For years, Americans never used the term 'indie', preferring to label the likes of Bush 'alternative'. But things changed". The Guardian.
- ↑ Carew, Anthony. "Alternative Music 101 - Is There a Difference Between 'Alternative' and 'Indie'?". About.com. Retrieved July 20, 2012.
- ↑ 22.0 22.1 22.2 22.3 22.4 22.5 22.6 22.7 Erlewine, Stephen Thomas. "American Alternative Rock/Post-Punk". AllMusic. Retrieved May 20, 2006.
- ↑ 23.0 23.1 "Rock Music". Microsoft Encarta 2006 [CD]. Redmond, WA: Microsoft Corporation, 2005.
- ↑ Pareles, Jon. "A New Kind of Rock". The New York Times. March 5, 1989. Retrieved July 19, 2009.
- ↑ Charlton, Katherine. Rock Music Styles: A History. McGraw Hill, 2003. P. 346–47. ISBN 0-07-249555-3.
- ↑ "The Top 100 Alternative Albums of the 1960s". March 28, 2013.
- ↑ BBC Culture "The Velvet Underground: As influential as The Beatles?"
- ↑ Britannica.com
- ↑ "Frank Zappa & the Mothers – We're Only in It for the Money".
- ↑ John Harris (July 12, 2006). "Barrett's influence". The Guardian.
- ↑ "PiL Official – Bio – Public Image Ltd". pilofficial.com.
- ↑ Reynolds, p. 392–93.
- ↑ Azerrad (2001), p. 3–5.
- ↑ "Top 10 Billboard Chart Milestones", Billboard magazine, p. 17, 27 November 2004
- ↑ "Review/Rock; Arena-Size Bill of Alternative Rock". The New York Times. July 21, 1989. "It was the final show on a package tour that brought what used to be post-punk alternative rock, the province of clubs and cult audiences, to the arena circuit across the United States."
- ↑ 36.0 36.1 36.2 36.3 36.4 Stephen Thomas Erlewine. "British Alternative Rock". AllMusic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 28, 2010.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ Charlton, p. 349.
- ↑ "REM Biography". Sing 365. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กรกฎาคม 2, 2012. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 20, 2013.
- ↑ Reynolds, p. 390.
- ↑ "Indie music pioneer returns with a little help from his admirershis". Sydney Morning Herald. สืบค้นเมื่อ June 20, 2013.
- ↑ Azerrad (2001), p. 159.
- ↑ Azerrad (2001), p. 196.
- ↑ Erlewine, Stephen Thomas. "The Jesus Lizard Biography". AllMusic. Retrieved August 25, 2008.
- ↑ http://rock.about.com/od/top10lists/tp/Most-Influential-Seattle-Bands.htm
- ↑ "Genre – Grunge". AllMusic. สืบค้นเมื่อ October 6, 2007.
- ↑ 46.0 46.1 46.2 Marin, Rick. "Grunge: A Success Story". The New York Times. November 15, 1992.
- ↑ 47.0 47.1 Azerrad (1994), p. 160.
- ↑ Azerrad (1994), p. 4.
- ↑ 49.0 49.1 AllMusic emo genre essay
- ↑ "Genre – Goth Rock". AllMusic. สืบค้นเมื่อ October 6, 2007.
- ↑ Reynolds, p. 352.
- ↑ Reynolds, p. 359.
- ↑ Reynolds, p. 357–58.
- ↑ Reynolds, p. 392.
- ↑ Hann, Michael (October 13, 2004). "Fey City Rollers". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ July 19, 2009.
- ↑ Hasted, Nick (October 27, 2006). "How an NME cassette launched indie music". The Independent. London. สืบค้นเมื่อ July 19, 2009.
- ↑ "The Jesus and Mary Chain Biography". Rolling Stone. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-29. สืบค้นเมื่อ July 20, 2012.
- ↑ "Encyclopædia Britannica: the Jesus and Mary Chain". สืบค้นเมื่อ July 20, 2012.
- ↑ Rogers, Jude (July 27, 2007). "Diamond gazers". The Guardian. London.
- ↑ "Genre – Shoegaze". AllMusic. สืบค้นเมื่อ October 6, 2007.
- ↑ "Genre – Madchester". AllMusic. สืบค้นเมื่อ October 12, 2007.
- ↑ Lyons, p. 120.
- ↑ Olsen, Eric (April 9, 2004). "10 years later, Cobain lives on in his music". MSNBC.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 28, 2007. สืบค้นเมื่อ July 25, 2007.
- ↑ Azerrad (1994), p. 229–30.
- ↑ Rosen, Craig. "Some See 'New Openness' Following Nirvana Success". Billboard. January 25, 1992.
- ↑ Browne, David (August 21, 1992). "Turn That @#!% Down!". EW.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 16, 2007. สืบค้นเมื่อ April 17, 2007.
- ↑ Pareles, Jon (February 28, 1993). "Great Riffs. Big Bucks. New Hopes?". NYTimes.com. สืบค้นเมื่อ July 19, 2009.
- ↑ 68.0 68.1 Considine, J.D. "The Decade of Living Dangerously". Guitar World. March 1999
- ↑ "Smackdown: Pearl Jam vs. Nirvana". Soundcheck. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กุมภาพันธ์ 23, 2013. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 20, 2013.
- ↑ Pearlman, Nina. "Black Days". Guitar World. December 2002.
- ↑ Lyons, p. 136.
- ↑ Azerrad (2001), p. 452–53.
- ↑ Kobel, Peter (April 2, 1993). "Smells Like Big Bucks". Entertainment Weekly. สืบค้นเมื่อ July 25, 2007.
- ↑ DeRogatis, Jim. Milk It!: Collected Musings on the Alternative Music Explosion of the 90s. Cambridge: Da Capo, 2003. p. 18. ISBN 0-306-81271-1.
- ↑ "In Numero Uno". Entertainment Weekly. October 8, 1993. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 4, 2007. สืบค้นเมื่อ September 8, 2007.
- ↑ Hajari, Nisid (November 19, 1993). "Pearl's Jam". Entertainment Weekly. สืบค้นเมื่อ August 29, 2007.
- ↑ Youngs, Ian. "Looking back at the birth of Britpop". BBC News. August 14, 2005. Retrieved July 19, 2009.
- ↑ Harris, p. 202.
- ↑ Harris, p. xvii.
- ↑ "Queen head all-time sales chart". BBC.co.uk. November 16, 2006. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 4, 2007. สืบค้นเมื่อ January 3, 2007.
- ↑ 81.0 81.1 "Indie Rock". AllMusic. สืบค้นเมื่อ August 2, 2009.
- ↑ Azerrad (2001), pp. 495–97.
- ↑ "Lo-Fi". AllMusic. สืบค้นเมื่อ August 2, 2009.
- ↑ Erlewine, Stephen Thomas. "PJ Harvey Biography". Billboard.com. Retrieved July 20, 2012.
- ↑ 85.0 85.1 85.2 "Post-Grunge". AllMusic. สืบค้นเมื่อ August 28, 2007.
- ↑ 86.0 86.1 86.2 Grierson, Tim. "Post-Grunge. A History of Post-Grunge Rock". About.com.
- ↑ 87.0 87.1 87.2 87.3 87.4 "Post-Rock". AllMusic. สืบค้นเมื่อ July 28, 2009.
- ↑ "Math Rock". AllMusic. สืบค้นเมื่อ August 6, 2009.
- ↑ AllMusic Smashing Pumpkins bio
- ↑ Thompson, Dave. Alternative Rock : Third Ear - The Essential Listening Companion. Backbeat Books, 2000. ISBN 978-0879306076 p 112.
- ↑ AllMusic Third Wave Ska Revival
- ↑ Harris, p. xix.
- ↑ Weisbard, Eric. "This Monkey's Gone to Heaven". Spin. July 1998.
- ↑ Harris, p. 369–70.
- ↑ 95.0 95.1 J. DeRogatis (ตุลาคม 3, 2003). "True Confessional?". Chicago Sun Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 15, 2011
{{cite journal}}
: CS1 maint: postscript (ลิงก์). - ↑ H. A. S. Popkin (มีนาคม 26, 2006). "What exactly is 'emo,' anyway?". MSNBC.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 15, 2011
{{cite journal}}
: CS1 maint: postscript (ลิงก์). - ↑ 97.0 97.1 F. McAlpine (มิถุนายน 14, 2007). "Paramore: Misery Business". MSNBC.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 15, 2011
{{cite journal}}
: CS1 maint: postscript (ลิงก์). - ↑ J. Hoard. "My Chemical Romance". Rolling Stone. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 15, 2011
{{cite journal}}
: CS1 maint: postscript (ลิงก์). - ↑ F. McAlpine (ธันวาคม 18, 2006). "Paramore "Misery Business"". NME. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 15, 2011
{{cite journal}}
: CS1 maint: postscript (ลิงก์). - ↑ "New Wave/Post-Punk Revival". AllMusic. สืบค้นเมื่อ August 6, 2009.
- ↑ Hiatt, Brian; Bonin, Lian; Volby, Karen (July 9, 2004). "The Return of (Good) Alt-Rock". EW.com. สืบค้นเมื่อ August 28, 2007.
- ↑ Leahey, Andrew. "Thirty Seconds to Mars". AllMusic. All Media Network. สืบค้นเมื่อ October 20, 2014.
- ↑ Grubbs, Eric. "Josh Venable on the Edge's Demise: 'Today Cheerleaders and Indie Kids Love Band of Horses'". dallasobserver.com. Dallas Observer, LP. สืบค้นเมื่อ 7 April 2018.
- ↑ Catalano, Michele. "Don't Believe The Billboard Charts; Rock Isn't Dead". Forbes. สืบค้นเมื่อ December 29, 2013.
- ↑ Pawlak, Christine. "Alternative rock radio: The sad, unwarranted decline of FM Rock Stations". Slate. สืบค้นเมื่อ December 29, 2013.
- ↑ Farber, Jim. "VMAs 2013: Rock is dead, One Direction and Justin Timberlake's brands of Top 40 are king at MTV Awards". NY Daily News. สืบค้นเมื่อ December 29, 2013.
- ↑ Grohl, Dave. "Twitter / foofighters: Hey @NYDailyNews, speak for..." Twitter. สืบค้นเมื่อ December 29, 2013.
บรรณานุกรม
แก้- Azerrad, Michael. Come As You Are: The Story of Nirvana. Doubleday, 1994. ISBN 0-385-47199-8.
- Azerrad, Michael. Our Band Could Be Your Life: Scenes from the American Indie Underground, 1981–1991. Little Brown and Company, 2001. ISBN 0-316-78753-1.
- Erlewine, Stephen Thomas. "American Alternative Rock/Post-Punk". AllMusic. Retrieved May 20, 2006.
- Erlewine, Stephen Thomas. "British Alternative Rock". AllMusic. Retrieved May 20, 2006.
- Harris, John. Britpop!: Cool Britannia and the Spectacular Demise of English Rock. Da Capo Press, 2004. ISBN 0-306-81367-X.
- Lyons, James. Selling Seattle: Representing Contemporary Urban America. Wallflower, 2004. ISBN 1-903364-96-5.
- Reynolds, Simon. Rip It Up and Start Again: Postpunk 1978–1984. Penguin, 2006. ISBN 0-14-303672-6.
- Fonarow, Wendy. Empire of Dirt: The Aesthetics and Rituals of British Indie Music. Wesleyan, 2006. ISBN 0-8195-6811-2.
- Noise From The Underground : A History of Alternative Rock, by Michael Lavine and Pat Blashill. Simon and Schuster Publishing, 1996. ISBN 0-684-81513-3.