อาสนวิหารแซ็ง-ฟลูร์

อาสนวิหารแซ็ง-ฟลูร์ (ฝรั่งเศส: Cathédrale de Saint-Flour) หรือชื่อเต็มว่า อาสนวิหารนักบุญเปโตรแห่งแซ็ง-ฟลูร์ (Cathédrale Saint-Pierre de Saint-Flour) เป็นอาสนวิหารโรมันคาทอลิก และเป็นที่ตั้งของมุขนายกประจำมุขมณฑลมุขมณฑลแซ็ง-ฟลูร์ ตั้งอยู่ที่เมืองแซ็ง-ฟลูร์ จังหวัดก็องตาล ในแคว้นโอแวร์ญ-โรนาลป์ ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่นักบุญเปโตร

อาสนวิหารนักบุญเปโตรแห่งแซ็ง-ฟลูร์
ภาพด้านข้างของอาสนวิหารในฤดูหนาว
แผนที่
45°02′00″N 3°05′42.36″W / 45.03333°N 3.0951000°W / 45.03333; -3.0951000
ที่ตั้งแซ็ง-ฟลูร์ จังหวัดก็องตาล
ประเทศ ประเทศฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
สถานะอาสนวิหาร
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์กอทิก
แล้วเสร็จค.ศ. 1466
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์
(ค.ศ. 1906)

อาสนวิหารแห่งนี้เป็นหนึ่งในอาสนวิหารทั้งหมดสี่แห่งของภูมิภาคโอแวร์ญ ตั้งอยู่กลางใจเมืองเก่าของแซ็ง-ฟลูร์ และเป็นอาสนวิหารที่สร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมกอทิกสร้างเสร็จในคริสต์ศตวรรษที่ 15 บนที่ตั้งของบาซิลิกาแบบโรมาเนสก์เดิม หินที่ใช้สร้างมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับสิ่งก่อสร้างทางคริสต์ศาสนาในแถบนี้ ซึ่งเป็นหินภูเขาไฟมีสีดำสนิทอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของอาสนวิหาร ต่อมาภายหลังอาสนวิหารได้ถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรมลงมากในช่วงของการปฏิวัติฝรั่งเศส

อาสนวิหารแห่งนี้ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1906[1]

ประวัติ แก้

เริ่มแรกได้มีการก่อตั้งสักการสถานเพื่อเป็นที่บรรจุเรลิกของนักบุญฟลูร์ มุขนายกองค์สำคัญของโอแวร์ญในอดีตซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 4 และยังเป็นที่มาของชื่อเรียกเมืองและอาสนวิหารแห่งนี้ และต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 11 พระอธิการแห่งกลูนี ได้ก่อตั้งคณะนักบวชนักบุญฟลูร์จึงได้สร้างบาซิลิกาไว้ที่บริเวณนี้ โดยได้เสกขึ้นเป็นบาซิลิกาโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 ในปี ค.ศ. 1095 และต่อมาในปี ค.ศ. 1317 ก็ได้เพิ่มฐานะเป็นอาสนวิหารด้วย ต่อมาในปี ค.ศ. 1398 มีการพังทลายของของวิหารบริเวณส่วนทิศเหนือ มุขนายกในขณะนั้นจึงได้มีการสร้างเป็นอาสนวิหารแห่งใหม่ในแบบกอทิกวิจิตร อันประกอบไปด้วยบริเวณกลางโบสถ์สามช่วงและหอคอยทั้งสี่แห่ง ซึ่งหลังจากการเสร็จสิ้นทั้งหมดก็ได้ทำพิธีเสกขึ้นเป็นอาสนวิหารอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1466

ในระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสได้มีการบุกรุกและเปลี่ยนอาสนวิหารแห่งนี้เพื่อเป็นที่ตั้งโบสถ์แห่งเหตุผล (Temple of the Reason) ประจำลัทธิแห่งความเป็นเลิศ (Cult of the Supreme Being) ซึ่งตั้งใจก่อตั้งเพื่อเป็นศาสนาใหม่ประจำชาติแทนคริสต์ศาสนา ต่อมาตามความตกลง ค.ศ. 1801 ได้เปลี่ยนกลับเป็นอาสนวิหารดังเดิม และโครงการบูรณะซ่อมแซมครั้งสำคัญต่อมาในปี ค.ศ. 1846 และ ค.ศ. 1856 ซึ่งรวมถึงการทำลายหอคอยทั้งสองแห่งลง

ในปี ค.ศ. 1966 ได้มีการทำพิธีครบรอบ 500 ปีของอาสนวิหารแห่งนี้ ซึ่งก็ได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรีฌอร์ฌ ปงปีดู (ตำแหน่งในขณะนั้น)

รายละเอียดทางสถาปัตยกรรม แก้

ภายนอก แก้

ความยาวรวมของอาสนวิหารมีขนาด 65 เมตร และกว้าง 24.60 เมตร บริเวณกลางโบสถ์สูง 16.50 เมตร และจุดที่สูงที่สุดด้านในสูงถึง 44 เมตร ลานกว้างด้านหน้าอยู่บนความสูงที่ 892 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งถือว่าตั้งอยู่สูงที่สุดในทวีปยุโรป

สีของหินบะซอลต์ที่ดำสนิทและขนาดอันใหญ่โตของหอคอยคู่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส อันประกอบด้วยหน้าต่างบานคู่ตกแต่งอยู่โดยรอบนั้นให้ความรู้สึกประหนึ่งเหมือนป้อมปราการ และลักษณะของด้านหน้าโดยรวมนั้นยึดรูปแบบทรงสมมาตรซึ่งดูหยาบและแข็งกระด้าง ซึ่งตรงกันข้ามกับความอ่อนโยนและความประดิดประดอยขององค์ประกอบต่าง ๆ ภายในของอาสนวิหาร

ด้านหลังของบริเวณพิธีของอาสนวิหารนั้นเป็นส่วนหนึ่งของแนวปราการเก่าในอดีตซึ่งในปัจจุบันเป็นจุดชมวิวแบบพานอรามาที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของเมือง ซึ่งสามารถเห็นได้ถึงแม่น้ำอ็องแดร์ แม่น้ำทรุยแยร์ และเทือกเขามาร์เกอรีดของฝรั่งเศส

ภายใน แก้

ภายในนั้นถูกนำสายตาด้วยเสาสูงโปร่งเป็นเส้นตรงของบริเวณกลางโบสถ์ทั้งห้าช่วง ซึ่งด้านในสุดนั้นเป็นแสงสว่างจากบริเวณร้องเพลงสวด

พระเยซูองค์ดำ แก้

ตั้งอยู่บริเวณร้องเพลงสวดช่วงระหว่างเสาฝั่งซ้ายมือ มีรูปพระเยซูซึ่งเป็นงานสลักไม้วอลนัตสีดำสนิทพบเพียงแห่งเดียวในยุโรปซึ่งมีอายุถึงคริสต์ศตวรรษที่ 1315 เรียกว่า "Le Beau Dieu Noir"[2] ซึ่งเหตุผลของการตั้งชื่อนั้นไม่ทราบได้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมีความสัมพันธ์เชิงเอกลักษณ์กับแม่พระฉวีดำซึ่งนิยมสร้างกันในสมัยยุคกลาง

ชาเปล แก้

ชาเปลนักบุญเปโตร และชาเปลนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา ทั้งสองแห่งนี้ตกแต่งด้วยงานกระจกสีของเอมีล ตีโบ ซึ่งของชาเปลแห่งหลังนี้ บริเวณแท่นบูชานั้นประดับด้วยงานปีเอตะซึ่งทำจากหินปูนย้อมสีสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15

ชาเปลบริเวณหลุมฝังศพจะพบหีบสักการะทำด้วยทองแดงสีทองอร่ามผลงานของช่างชาวปารีส (งานสมัย ค.ศ. 1897) ซึ่งใช้เป็นที่บรรจุเรลิกของนักบุญฟลูร์ และยังมีงานบรรจุร่างพระเยซูสมัยค.ศ. 1842 ของโฟฌีแน และรูปเขียน นักบุญแว็งซ็อง เดอ ปอล งานสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 รวมทั้งงานสลักหินอ่อนรูปเหมือนของอดีตมุขนายกปีแยร์-อ็องตวน-มารี ลามูรู เดอ ปงปีญัก (ดำรงตำแหน่งในสมัยปี ค.ศ. 1857-1877)

บริเวณร้องเพลงสวด แก้

ประกอบด้วยแท่นบูชาเอกทำจากหินอ่อนย้อมสี ซึ่งถูกคลุมด้วยซุ้มชิโบเรียมที่ทำจากไม้ปิดทอง และแท่นอ่านจากวัสดุเดียวกัน ทั้งสองอย่างนี้เป็นงานในคริสต์ศตวรรษที่ 18 บริเวณฐานเป็นรูปมนุษย์และพญาอินทรี

เก้าอี้ร้องเพลงสวดนั้นติดตั้งราวปี ค.ศ. 1852 ตั้งอยู่ด้านหลังของบริเวณร้องเพลงสวด ด้านบนเป็นงานกระจกสี (ค.ศ. 1851) ของเตเวอโน ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของผู้ก่อตั้งเมืองนี้ (นักบุญฟลูร์และโอดีลงแห่งกลูนี)

ในปี ค.ศ. 2010 มุขนายกแห่งแซ็ง-ฟลูร์ได้มอบหมายให้กูจี นักปั้นและโลหะชาวฝรั่งเศส ให้ผลิตเครื่องใช้ทางศาสนพิธีขึ้นใหม่อีกหนึ่งชุด ได้แก่ แท่นบูชา คาเทดรา (บัลลังก์) กางเขน โค้มระย้าตกแต่งแท่นบูชา ฯลฯ

แท่นเทศน์ แก้

เป็นผลงานของฌ็อง เปิช นักทำเครื่องเรือนชาวท้องถิ่น ในปี ค.ศ. 1868

จิตรกรรมฝาผนัง แก้

บริเวณใกล้กับทางเข้าของวิหาร บริเวณระเบียงชั้นบนภายใต้ออแกนเป็นที่ตั้งของงานจิตรกรรมฝาผนังอายุประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งถูกค้นพบอย่างไม่ได้ตั้งใจเมื่อปี ค.ศ. 1851 วาดเป็นเรื่องราวของแดนชำระทางซ้ายมือ และนรกทางฝั่งขวามือ

อ้างอิง แก้

  1. Cathédrale Saint-Pierre de Saint-Flour on Base Mérimée กระทรวงวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
  2. L'Intermédiaire des chercheurs et curieux, n° 585-595, 2001, p. 859

บรรณานุกรม แก้

  • Saint-Flour. La Cathédrale Saint-Pierre, plaquette éditée par Les Amis de la Cathédrale, Saint-Flour, 2007
  • Anne Courtillé, Auvergne, Bourbonnais, Velay gothiques, Éditions A. et J. Picard, Paris, 2002, p. 372-384 (ISBN 2708406833)
  • Gérard Denizeau, Histoire visuelle des monuments de France, Larousse, Paris, 2003, p. 121 (ISBN 2035052017)
  • Joël Fouilheron, La Cathédrale de Saint-Flour, Nouvelles Éditions Latines, Paris, 1966, 95 p.
  • Joël Fouilheron (et al.), La Cathédrale Saint-Pierre de Saint-Flour, Inventaire général, coll. « Itinéraires du patrimoine », no 256, Paris, 2002
  • Pierre et Pascale Moulier, « Fondation de Saint-Flour », Églises romanes de Haute-Auvergne, Éditions CREER, 1999, p. 14-16 (ISBN 2909797694)
  • Dictionnaire des églises de France, Belgique, Luxembourg, Suisse (Tome II-B), Robert Laffont, Paris, p. 143-145