อธิการอาราม
อธิการอาราม[1] (อังกฤษ: abbot) เป็นสมณศักดิ์สำหรับนักพรตที่เป็นอธิการของอาราม พบในหลายศาสนารวมทั้งศาสนาคริสต์ ถ้าเป็นนักพรตหญิงเรียกว่าอธิการิณีอาราม ส่วนอธิการอารามในศาสนาพุทธเรียกว่า "เจ้าอาวาส" หรือ "สมภาร"
ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า abbot ซึ่งมาจากภาษาแอราเมอิก ܐܒܐ/אבא (อับบา) แปลว่า คุณพ่อ
ที่มา
แก้คำว่า abbot มีต้นกำเนิดมาจากอารามในอียิปต์และซีเรีย และต่อมาได้แพร่ไปทั่วดินแดนเมดิเตอร์เรเนียน จนนำไปใช้ในหลายภาษาว่าหมายถึง อธิการอาราม ในตอนแรกใช้เป็นคำนำหน้าชื่อของนักพรตโดยทั่วไป แต่ต่อมากฎหมายศาสนจักรให้ใช้เรียกเฉพาะบาทหลวงที่เป็นอธิการ คำว่า abbot ยังเคยใช้กับบาทหลวงในหลาย ๆ ตำแหน่ง เช่น ในราชสำนักของราชอาณาจักรแฟรงก์ มีตำแหน่ง Abbas palatinus (อธิการพระราชวัง) และ Abbas castrensis (อธิการค่าย) ซึ่งเป็นอนุศาสนาจารย์ประจำราชสำนักในราชวงศ์เมรอแว็งเฌียงและราชวงศ์การอแล็งเฌียง และกองทัพบกตามลำดับ ปัจจุบันมักใช้ในคณะนักบวชอารามิกในศาสนาคริสต์ตะวันตก ซึ่งมีสมาชิกเป็นบาทหลวงด้วย
ลำดับชั้นของอธิการอาราม
แก้ในคณะนักพรตบางกลุ่ม อธิการอารามจะมีหลายลำดับชั้นตามอำนาจหน้าที่ที่มากน้อยต่างกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่อารามบางแห่งมีสถานะเป็นอารามแม่ของอารามอื่น ๆ (ซึ่งนับเป็นอารามลูก) ในบางกรณีเป็นเพราะอารามอยู่ในสังกัดคณะนักบวชเดียวกัน ทำให้อธิการอารามที่ได้เป็นหัวหน้าคณะมีศักดิ์สูงกว่าอธิการอารามอื่น ๆ และบางคณะก็ถือว่าอารามหนึ่งเป็นอารามแม่ของอารามทั้งหมดที่สังกัดคณะนั้น
- อธิการอารามซันตาเซลโมแห่งอาเวนตีโน กรุงโรม มีตำแหน่งเป็นประธานสมาพันธ์อธิการอาราม (abbot primate) ซึ่งถือเป็นอธิการอาวุโสของคณะเบเนดิกติน
- ประธานาธิการอาราม (abbot president) คือประมุขของสหพันธ์อารามในคณะเบเนดิกตินหรือคณะซิสเตอร์เชียน
- อัคราธิการอาราม (archabbot) เป็นประมุขของอารามบางแห่งที่ถือเป็นอารามแม่ของอารามอื่น ๆ