หินบะซอลต์
บะซอลต์ (อังกฤษ: basalt) เป็นหินอัคนีพุที่พบได้โดยทั่วไป มักพบมีสีเทาถึงสีดำ มีเนื้อละเอียดเนื่องจากเกิดจากการเย็นตัวของลาวาอย่างรวดเร็วบนพื้นผิวโลก อาจพบมีเนื้อสองขนาดที่มีผลึกขนาดโตกว่าอยู่ในพื้นเนื้อละเอียด หรือมีเนื้อเป็นโพรงข่าย หรือมีเนื้อเป็นตะกรันภูเขาไฟ (สคอเรีย) เนื้อหินบะซอลต์สดๆจะมีสีดำหรือสีเทา
ปรกติหินบะซอลต์จะถูกนำไปใช้เป็นวัสดุก่อสร้างถนน เทพื้นรองหมอนและรางรถไฟ และทำเป็นแผ่นปูพื้นหรือผนัง และยังใช้เป็นส่วนผสมที่สำคัญในการผลิตแอสฟัลต์
ในโลกของเรานี้หินหนืด (แมกมา) เป็นวัตถุต้นกำเนิดของหินบะซอลต์ เกิดจากการพองตัวของวัตถุหลอมในชั้นเนื้อโลก หินบะซอลต์ก็เกิดได้บนดวงจันทร์ของโลกเรา รวมถึงบนดาวอังคาร ดาวศุกร์ และแม้แต่ดาวเคราะห์น้อย 4 เวสตา หินต้นกำเนิดเพื่อการกึ่งหลอมละลายอาจจะเป็นทั้งเพริโดไทต์และไพรอกซีไนต์ (เช่น Sobolev et al., 2007) เปลือกโลกส่วนของมหาสมุทรโดยส่วนใหญ่แล้วจะประกอบไปด้วยหินบะซอลต์ที่เกิดจากการปะทุขึ้นมาจากชั้นเนื้อโลกที่อยู่ด้านล่างตรงบริเวณเทือกเขากลางสมุทร
คำว่าบะซอลต์บางครั้งก็ถูกใช้เรียกหินอัคนีแทรกซอนในระดับตื้นๆที่มีองค์ประกอบเป็นแบบหินบะซอลต์ แต่หินที่มีองค์ประกอบดังกล่าวที่มีเนื้อหยาบโดยทั่วไปจะเรียกว่าโดเลอไรต์ (อาจเรียกเป็นไดอะเบสหรือแกบโบร)
ประเภท
แก้- หินบะซอลต์โธลีไอต์เป็นหินบะซอลต์ที่มีซิลิก้าและโซเดียมต่ำ หินบะซอลต์ที่จัดอยู่ในประเภทนี้เป็นหินบะซอลต์ทั้งหมดในพื้นมหาสมุทร เกาะขนาดใหญ่ในมหาสมุทรทั้งหมด และหินบะซอลต์ที่ไหลท่วมบนพื้นทวีปอย่างเช่นกลุ่มหินบะซอลต์แม่น้ำโคลัมเบีย.
- MORB (หินบะซอลต์ที่เทือกเขากลางสมุทร) เป็นหินบะซอลต์ที่มีองค์ประกอบของธาตุอินคอมแพตทิเบิลในปริมาณต่ำ หินบะซอลต์ที่เทือกเขากลางสมุทรนี้โดยทั่วไปจะปะทุขึ้นมาที่เทือกเขากลางมหาสมุทรเท่านั้น หินบะซอลต์ที่เทือกเขากลางสมุทรนี้จำแนกแบ่งย่อยได้อีกหลากหลายกลุ่มเช่น NMORB และ EMORB (มีธาตุอินคอมแพตทิเบิลค่อนข้างมากกว่า)[1] [2]
- หินบะซอลต์ที่มีอะลูมินาสูง อาจอยู่ในสภาพที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าสภาพการอิ่มตัวของซิลิก้า ค่าปริมาณอะลูมินาจะสูงกว่าร้อยละ 17 (Al2O3) และมีองค์ประกอบอยู่ระหว่างหินบะซอลต์โธลีไอต์และหินบะซอลต์อัลคาไล การมีองค์ประกอบของอะลูมินาสูงนี้เนื่องด้วยหินนี้ไม่มีผลึกของแร่แพลจิโอเคลส
- หินบะซอลต์อัลคาไล เป็นหินที่มีองค์ประกอบของซิลิก้าต่ำแต่มีโซเดียมสูง เป็นหินที่เกิดขึ้นในสภาพที่ต่ำกว่าสภาพอิ่มตัวด้วยซิลิก้าที่อาจประกอบด้วยแร่เฟลด์สปาร์ อัลคาไลเฟลด์สปาร์ และโฟลโกไพต์
- โบนิไนต์ เป็นหินบะซอลต์หรือแอนดีไซต์ที่มีองค์ประกอบของแมกนีเซียมสูงที่โดยทั่วไปแล้วจะปะทุขึ้นมาบริเวณแอ่งหลังหมู่เกาะรูปโค้ง มีลักษณะที่เด่นชัดด้วยมีองค์ประกอบของไททาเนียมต่ำและมีองค์ประกอบของธาตุส่วนน้อย (trace elements)
ศิลาวิทยา
แก้องค์ประกอบทางแร่ของหินบะซอลต์โดดเด่นไปด้วยแร่เฟลด์สปาร์พวกแคลซิกแพลจิโอเคลส และอาจมีแร่โอลิวีนเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย มีแร่อื่นๆในปริมาณรองลงมาได้แก่เหล็กออกไซด์และเหล็ก-ไททาเนียมออกไซด์อย่างเช่นแมกนีไทต์ อัลโวสปิเนล และอิลเมไนต์ การมีองค์ประกอบของแร่ออกไซด์ดังกล่าวทำให้หินบะซอลต์สามารถมีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็กได้เมื่อเย็นตัวลง และทำให้มีการศึกษาสนามแม่เหล็กโลกโบราณกันอย่างกว้างขวางจากหินบะซอลต์
ในหินบะซอลต์โธลีไอต์จะพบผลึกของแร่ไพรอกซีน ออไจต์ และออร์โธไพรอกซีนหรือพิจิโอไนต์และแพลจิโอเคลสแคลเซียมสูงได้ อาจพบผลึกของแร่โอลิวีนได้ด้วยซึ่งถ้ามีจะเกิดแร่พิจิโอไนต์บริเวณขอบโดยรอบของผลึกด้วย พื้นเนื้อของหินมีแร่ควอตซ์หรือทริดีไมต์หรือคริสโตบาไลต์แทรกอยู่ในเนื้อของหิน หินโธลีไอต์โอลิวีนมีแร่ออไจต์และออร์โธไพรอกซีนหรือพิจิโอไนต์กับโอลิวีนในปริมาณมากแต่ที่ขอบของแร่โอลิวีนอาจมีแร่ไพรอกซีนและดูเหมือนจะไม่ปรากฏในส่วนของพื้นเนื้อของหิน
โดยทั่วไปหินบะซอลต์อัลคาไลจะมีองค์ประกอบของแร่ที่ไม่มีแร่ออร์โธไพรอกซีนแต่จะมีแร่โอลิวีน ผลึกแร่เฟลด์สปาร์จะมีองค์ประกอบเป็นพวกแลบราโดไลต์จนถึงแอนดีซีน แร่อย่างอัลคาไลเฟลด์สปาร์ ลิวไซต์ เนฟีลีน โซดาไลต์ ไมก้าโฟโกไพต์ และอะพาไทต์อาจพบได้ในส่วนของพื้นเนื้อหิน
บะซอลต์มีจุดลิควิดัสและจุดโซลิดัสที่อุณหภูมิสูง โดยค่าอุณหภูมิที่พื้นผิวโลกอาจสูงเกือบ 1200 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า สำหรับจุดลิควิดัส และสูงเกือบถึง 1000 องศาเซลเซียสสำหรับจุดโซลิดัส ค่าอุณหภูมิเหล่านี้ถือว่าสูงกว่าของหินอัคนีอื่นๆทั่วไป
ส่วนใหญ่แล้วหินโธลีไอต์จะเกิดขึ้นที่ความลึกประมาณ 50-100 กิโลเมตรอยู่ในชั้นเนื้อโลก หินบะซอลต์อัลคาไลจำนวนมากอาจเกิดขึ้นที่ความลึกมากกว่านี้คือระหว่าง 150-200 กิโลเมตรทีเดียว ขณะที่แหล่งกำเนิดของหินบะซอลต์อะลูมินาสูงยังมีการถกเถียงกันอยู่ มีการวิเคราะห์ตีความกันว่ามันอาจเกิดจากการหลอมปฐมภูมิมาจากหินบะซอลต์ชนิดอื่น (เช่น Ozerov, 2000)
ธรณีเคมี
แก้หินบะซอลต์ประกอบด้วยแร่แมกนีเชียมออกไซด์ (MgO) และแคลเซียมออกไซด์ (CaO) สูง โดยที่มีแร่ซิลิก้าไดออกไซด์ (SiO2) และโซเดียมออกไซด์ (Na2O) ต่ำ รวมถึงโปแตสเซียมออกไซด์ (K2O) ด้วยเมื่อเทียบกับหินอัคนีอื่นๆทั่วไปซึ่งสอดคล้องกับการจำแนกหินแบบ TAS
โดยทั่วไปหินบะซอลต์จะมีองค์ประกอบของซิลิก้าออกไซด์ (SiO2) ร้อยละ 45 - 55 อัลคาไลทั้งหมดร้อยละ 2 - 6 ไททาเนียมออกไซด์ (TiO2) ร้อยละ 0.5 - 2.0 เหล็กออกไซด์ (FeO) ร้อยละ 5 - 14 และอะลูมินา (Al2O3) ร้อยละ 14 หรือมากกว่า โดยปรกติแล้วจะมีแคลเซียมออกไซด์ (CaO) เกือบร้อยละ 10 และโดยทั่วไปจะมีแมกนีเซียมออกไซด์ (MgO) อยู่ระหว่างร้อยละ 5 - 12 โดยน้ำหนัก
หินบะซอลต์อะลูมินาสูงจะมีอะลูมิเนียมอยู่ถึงร้อยละ 17 - 19 โดยน้ำหนัก (Al2O3) โบนิไนต์มีแมกนีเซียมออกไซด์สูงถึงร้อยละ 15 หินสีเข้มซึ่งมีเฟลด์สปาร์สูงตั้งแต่เอคินถึงหินบะซอลต์อัลคาไลอาจมี Na2O รวมกับ K2O ได้ถึงร้อยละ 12 หรือมากกว่า
หินบะซอลต์ MORB และหินอัคนีแทรกซอนที่มีองค์ประกอบใกล้เคียงกันอย่างหินแกบโบรเป็นลักษณะของหินอัคนีที่เกิดขึ้นที่เทือกเขากลางสมุทร หินบะซอลต์ MORB นี้เป็นโธลีไอต์ที่มีอัลคาไลและธาตุส่วนน้อยอินคอมแพตทิเบิลในปริมาณต่ำ และมีรูปแบบของธาตุหายากเฉลี่ยแล้วมีค่าเหมือนกันกับหินในชั้นเนื้อโลกหรือคอนไดรต์ ในทางตรงกันข้าม หินบะซอลต์อัลคาไลจะมีธาตุหายากและธาตุอินคอมแพตทิเบิลอื่นๆในปริมาณที่สูงกว่า เพราะว่าหินบะซอลต์ MORB ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญในการเข้าใจเกี่ยวกับขบวนการแปรสัณฐาน จึงมีการศึกษาองค์ประกอบของหินชนิดนี้กันอย่างกว้างขวาง แม้ว่าองค์ประกอบของ MORB จะมีความแตกต่างชัดเจนกับค่าเฉลี่ยของหินบะซอลต์ที่ปะทุในสภาพแวดล้อมอื่นๆแต่มันก็มีองค์ประกอบที่ไม่คงที่สม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่นมีองค์ประกอบที่เปลี่ยนแปลงไปตามตำแหน่งของเทือกเขากลางสมุทรในมหาสมุทรแอตแลนติกและการมีองค์ประกอบในช่วงที่แตกต่างกันในแอ่งมหาสมุทรที่แตกต่างกัน (Hofmann, 2003)
สัดส่วนไอโซโทปของธาตุทางเคมีอย่างเช่นสตรอนเตียม นีโอดายเนียม ตะกั่ว ฮาฟเนียม และออสเมี่ยมในหินบะซอลต์มีการศึกษากันมากเกี่ยวกับการเรียนรู้เข้าใจในวิวัฒนาการของชั้นเนื้อโลก สัดส่วนไอโซโทปของแก๊สมีสกุลอย่างเช่น 3He/4He ก็ถือว่ามีคุณค่ายิ่ง เช่น สัดส่วนในหินบะซอลต์จาก 6 ถึง 10 ของโธลีไอต์ที่เทือกเขากลางสมุทร (เป็นค่าเฉลี่ยของชั้นบรรยากาศ) แต่ค่าจาก 15 ถึง 24 หรือมากกว่าของหินบะซอลต์ที่เทือกเขากลางสมุทรถูกเข้าใจว่าอาจมาจากชั้นเนื้อโลก
ลักษณะสัณฐานและเนื้อหิน
แก้รูปร่าง โครงสร้าง และเนื้อหินของหินบะซอลต์ทำให้เราทราบได้ว่ามันปะทุขึ้นมาอย่างไรและที่ไหน รู้ได้ว่ามันเกิดขึ้นในทะเล ปะทุขึ้นมาเป็นเถ้าภูเขาไฟ หรือไหลบ่าแบบพาโฮโฮซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของการเกิดหินบะซอลต์ในฮาวาย
การปะทุขึ้นไปในอากาศ
แก้หินบะซอลต์ที่ปะทุขึ้นไปในอากาศทำให้เกิดการสะสมตัว 3 แบบ คือ ตะกรันภูเขาไฟ เถ้าภูเขาไฟ และการไหลของลาวา
ปรกติแล้วด้านบนของลาวาบะซอลต์และกรวยเถ้าภูเขาไฟจะมีโพรงข่ายอยู่มากซึ่งทำให้หินมีเนื้อเป็นฟองและมีน้ำหนักเบา เถ้าภูเขาไฟมักมีสีแดงซึ่งเป็นสีของเหล็กออกไซด์ที่เกิดจากการผุพังของแร่ไพรอกซีนที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบอยู่สูง ลักษณะที่เป็นก้อนของลาวาเอเอ้ที่เป็นเถ้าภูเขาไฟ การไหลของกรวดเหลี่ยมภูเขาไฟ และการไหลของลาวาบะซอลต์เนื้อแน่นพบได้ทั่วไปในฮาวาย ลาวาพาโฮโฮมีความหนืดสูงเป็นลาวาบะซอลต์ที่ร้อนซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีรูกลวงคล้ายท่อเกิดเป็นชั้นบางๆ รูกลวงในลาวาเหล่านี้เป็นลักษณะทั่วไปของการปะทุแบบพาโฮโฮ
หินเถ้าภูเขาไฟมีการพบน้อยแต่ก็ใช่ว่าจะไม่เป็นที่รู้จัก ปรกติแล้วลาวาบะซอลต์ที่ร้อนมากๆและหนืดเกินไปที่มีแรงดันไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดการปะทุออกมา แต่บ่อยครั้งจะถูกกักอยู่ในปล่องภูเขาไฟและปล่อยแก๊สออกมา ภูเขาไฟมอนาโลเอในฮาวายได้ปะทุขึ้นมาในลักษณะดังกล่าวนี้ในศตวรรษที่ 19 และก็เกิดขึ้นที่เมาต์ทาราเวราของนิวซีแลนด์ในการปะทุอย่างรุนแรงในปี ค.ศ. 1886
โครงสร้างอะมิกดาลอยด์เป็นโครงสร้างที่เป็นโพรงข่ายในหินบะซอลต์มักพบผลึกที่สวยงามของแร่ซีโอไลต์ ควอตซ์ หรือแคลไซต์อยู่ข้างในด้วย
หินบะซอลต์ที่มีแนวแตกเสาเหลี่ยม
แก้ระหว่างที่มวลลาวาหนาๆเกิดการเย็นตัวลงอยู่นั้นจะเกิดการหดตัวเกิดเป็นรอยแตก ถ้าการเย็นตัวเกิดขึ้นค่อนข้างเร็วก็จะทำให้เกิดแรงหดตัวขึ้น เมื่อลาวาหดตัวในแนวดิ่งจะไม่ส่งผลให้เกิดรอยแตก มันจะไม่มีการแตกออกถ้าไม่มีการหดตัวในแนวด้านข้าง การเกิดรอยแตกจะแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางยังผลให้เกิดเป็นแนวแตกเสาเหลี่ยมในแนวดิ่ง การแตกเป็นเสาเหลี่ยมในแนวดิ่งจะแผ่กระจายเชื่อมโยงออกไปในแนวด้านข้างมีลักษณะเป็นรูปแบบคล้ายกับเครือข่ายเซลลูลาร์ โครงสร้างเหล่านี้ถูกเข้าใจผิดๆว่าโดดเด่นไปด้วยแท่งเสาหลายเหลี่ยม แต่ที่แท้จริงแล้วจำนวนด้านเฉลี่ยของแท่งเสาเหลี่ยมจะมีหกด้าน แต่แท่งเสาหลายเหลี่ยมตั้งแต่ 3 ถึง 12 ด้านหรือมากกว่านี้ก็สังเกตเห็นได้[3] ทั้งนี้สังเกตได้ว่าขนาดของแท่งเสาเหลี่ยมจะขึ้นอยู่กับอัตราการเย็นตัวลงของลาวากล่าวคือถ้าลาวาเย็นตัวลงเร็วมากก็จะทำให้เกิดเสาเหลี่ยมมีขนาดเล็กมากด้วย (น้อยกว่า 1 ซม.) ขณะที่ลาวาเย็นตัวลงอย่างช้าๆจะทำให้เกิดเสาเหลี่ยมขนาดใหญ่กว่า
บางทีการไหลของลาวาบะซอลต์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลกอาจเป็นไจแอ้นคอสเวย์ที่ชายฝั่งตอนเหนือของไอร์แลนด์ ที่การแตกในแนวดิ่งเกิดเป็นรอยแตกเสาเหลี่ยมและทำให้เกิดความรู้สึกว่าอาจถูกสร้างขึ้นโดยฝีมือมนุษย์
ศาสนสถานโบราณศตวรรษที่ 13 ที่เรียกกันว่าแนนมาโดลถูกสร้างขึ้นบนเกาะโปห์เนในมหาสมุทรแปซิฟิกใช้แท่งหินบะซอลต์จากหลายแห่งบนเกาะ ที่มีการผุพังเสียหายเป็นอย่างมากจนถึงปัจจุบัน
- หินบะซอลต์ที่มีรอยแตกเสาเหลี่ยมที่โดดเด่นสะดุดตาของโลก
- ป้อมบอร์การ์เวอร์กิ ไอซ์แลนด์
- แหลมสโตล์บชาชิย์ เกาะกูริล รัสเซีย
- เดวิล โพสต์พายล์ แคลิฟอร์เนีย
- หอคอยเดวิลส์ ไวโอมิง
- ไจแอ้นคอสเวย์ ไอร์แลนด์เหนือ
- อุทยานแห่งชาติออร์แกนไพเปส วิคตอเรีย ออสเตรเลีย
- หินบะซอลต์นารูมา นารูมา นิวเซาธ์เวลส์ ออสเตรเลีย
- แซมสันริบส์ (เอดินเบอร์ก) สก๊อตแลนด์
- สตาฟฟา สก๊อตแลนด์
- วิเซห์มาเล๊ก โปห์เป, สหพันธรัฐไมโครนีเซีย [4]
- พื้นที่เกาะบะซอลต์ ฮ่องกง รวมถึงอ่างเก็บน้ำเกาะไฮห์ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ประเทศจีน
- เรย์นิสแดรงการ์ วิกอิเมอร์ดัล ไอซ์แลนด์
- หินธันเดอร์สตรัค (เดทูนาเทล) โรมาเนีย
- พันสกา สกาลา สาธารณรัฐเชค[5]
- แม่น้ำอัลแคนทารา ยอร์จ ชิชิลี อิตาลี
- เขาโต๊ะโมะ ตำบลประณีต อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ประเทศไทย
การระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล
แก้หินบะซอลต์รูปหมอน
แก้เมื่อลาวาปะทุขึ้นมาจากใต้น้ำหรือไหลเอ่อนองลงไปในทะเลไปสัมผัสกับน้ำทะเลทำให้ผิวลาวาเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วเกิดเป็นรูปทรงคล้ายหมอนหลายๆลูกซ้อนๆกัน องค์ประกอบของหินบะซอลต์รูปหมอนนี้มีลักษณะเฉพาะของความเป็นลาวาที่ไหลอยู่ใต้น้ำและวินิจฉัยได้ว่าเป็นการปะทุในสภาพแวดล้อมแบบใต้น้ำเมื่อพบเป็นหินบะซอลต์รูปหมอนโบราณ หินบะซอลต์รูปหมอนมีเนื้อในตรงกลางละเอียดโดยส่วนบริเวณผิวรอบนอกจะมีเนื้อแก้วและมีการแตกตามแนวรัศมีของก้อนหมอน ขนาดของหมอนลูกหนึ่งๆมีความแปรผันจาก 10 ซม. ไปจนถึงหลายเมตร
เมื่อลาวาพาโฮโฮไหลลงไปในทะเลโดยปรกติแล้วจะเกิดเป็นหินบะซอลต์รูปหมอน อย่างไรก็ตามเมื่อลาวาอาอาไหลลงไปในทะเลกลับเกิดการสะสมตัวของเศษตะกอนเนื้อเถ้าภูเขาไฟ (tuffaceous debris) เป็นรูปกรวย (littoral cone) กรวยขนาดเล็กเกิดขึ้นเมื่อธารลาวาอาอาร้อนไหลลงไปในน้ำและเกิดการระเบิดเป็นไอร้อนพวยพุ่งขึ้นไปอย่างรุนแรง (littoral explosion หรือ steam explosion)
เกาะเซอร์ตเซย์ในมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นภูเขาไฟลาวาบะซอลต์ที่ไหลชะลงไปบนพื้นมหาสมุทรในปี ค.ศ. 1963 การระเบิดของภูเขาไฟนี้ในช่วงแรกๆจะมีความรุนแรงมากโดยขณะที่หินหนืดเปียกน้ำจะทำให้หินถูกทำให้โป่งพองออกโดยไอร้อนที่พวยพุ่งออกมาเกิดเป็นกรวยของเถ้าภูเขาไฟ ลักษณะนี้ต่อมาได้กลายเป็นลักษณะเฉพาะของลาวาพาโฮโฮ
อาจพบแก้วภูเขาไฟโดยเฉพาะผิวด้านนอกอันเกิดจากผิวของลาวาที่เย็นตัวลงอย่างรวดเร็วและมักจะพบกับภูเขาไฟที่มีการปะทุใต้น้ำ
สิ่งมีชีวิตบนหินบะซอลต์
แก้ลักษณะของการถูกกัดกร่อนทั่วๆไปของหินบะซอลต์ใต้ทะเลชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมของสิ่งมีชีวิตขนาดจุลภาคอาจมีบทบาทที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนทางเคมีระหว่างหินบะซอลต์กับน้ำทะเล ปริมาณของเหล็ก Fe(II) และแมงกานีส Mn(II) ไร้ออกซิเจนที่ปรากฏอยู่ในหินบะซอลต์เป็นแหล่งพลังงานสำหรับแบคทีเรีย ผลการวิจัยเร็วๆนี้ระบุได้ว่าแบคทีเรียที่ทำให้เกิดเหล็กออกไซด์ที่เจริญเติบโตอยู่บนพื้นผิวเหล็ก-ซัลไฟด์ก็สามารถเจริญเติบโตได้บนหินบะซอลต์ซึ่งเป็นแหล่งของเหล็ก Fe(II) [6] มีงานวิจัยเร็วๆนี้ที่ภูเขาใต้ทะเลโลอิฮิพบว่าแบคทีเรียที่ทำให้เกิดเหล็กและแมงกานีสออกไซด์สามารถเพาะเลี้ยงได้ด้วยหินบะซอลต์ผุๆ[7] ผลกระทบต่อแบคทีเรียอันเนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบทางเคมีของแก้วบะซอลต์และน้ำทะเลชี้ให้เห็นว่าปฏิสัมพันธ์เหล่านี้อาจนำไปสู่การประยุกต์เกี่ยวกับรอยแยกของเปลือกโลกใต้มหาสมุทรลึกที่เป็นถิ่นน้ำร้อน (ปล่องไฮโดรเทอร์มอล) ที่อาจจะอธิบายเกี่ยวกับการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตได้
เศรษฐธรณีวิทยา
แก้ตามที่มีเว็บไซต์หนึ่งชื่อว่า new study เผยแพร่ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551 รายงานว่าหินบะซอลต์อาจมีค่าทางเศรษฐกิจด้วยต้นทุนต่ำ ปลอดภัย และเป็นวิธีการที่ถาวรในการจับและเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นแก๊สหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาปรากฏการณ์โลกร้อน
การกระจายตัว
แก้การไหลของลาวาของเดคคานแทรพส์ในอินเดีย กลุ่มหินชิลโคตินของบริติชโคลัมเบียในแคนาดา พารานาแทรพส์ในบราซิล ไซบีเรียนแทรพส์ในรัสเซีย ที่ราบสูงแม่น้ำโคลัมเบียของวอชิงตันและโอรีกอน หลายส่วนของกลุ่มเทือกเขาเลียบชายฝั่งของแคลิฟอร์เนียในสหรัฐอเมริกา รวมถึงหินบะซอลต์ยุคไทรแอสซิกทางตะวันออกของอเมริกาเหนือล้วนแล้วเป็นหินบะซอลต์ แหล่งหินบะซอลต์ที่มีชื่อเสียงอื่นๆได้แก่ไอซ์แลนด์ การูในแอฟริกาใต้ และแนวเกาะภูเขาไฟฮาวายที่ตั้งอยู่บนแมนเทิลพลูม หินบะซอลต์ถือเป็นหินอัคนีที่พบได้กว้างขวาง
ปรกติแล้วหินบะซอลต์อายุพรีแคมเบรียนจะพบอยู่ในแนวชั้นหินคดโค้งและแนวรอยเลื่อนย้อนและมักจะพบถูกแปรสภาพอย่างรุนแรงที่รู้จักกันในนามของแนวกรีนสโตนเนื่องจากมีการถูกแปรสภาพขั้นต่ำของหินบะซอลต์ที่ทำให้เกิดกลุ่มของแร่คลอไรต์ แอคทิโนไลต์ เอพิโดต และแร่สีเขียวอื่นๆ
หินบะซอลต์จากดวงจันทร์และดาวอังคาร
แก้พื้นที่สีเข้มที่เห็นได้บนพื้นผิวดวงจันทร์ของโลกเรานี้เป็นที่ราบที่เกิดจากการไหลนองของลาวาบะซอลต์ ตัวอย่างหินเหล่านี้ถูกเก็บโดยโครงการอะพอลโลของสหรัฐอเมริกา โครงการสำรวจดวงจันทร์ด้วยหุ่นยนต์ของรัสเซีย และจากอุกกาบาตดวงจันทร์ทั้งหลาย
หินบะซอลต์จากดวงจันทร์แตกต่างไปจากหินบะซอลต์บนโลกคือมีองค์ประกอบของเหล็กสูงกว่าโดยมีค่าระหว่างประมาณร้อยละ 17 ถึง 22 โดยน้ำหนัก และยังมีค่าความเข้มข้นของไททาเนียม (TiO2) ที่เด่นชัด (พบในอิลเมไนต์) มีช่วงระหว่างน้อยกว่าร้อยละ 1 ถึงประมาณร้อยละ 13 โดยน้ำหนัก โดยทั่วไปแล้วหินบะซอลต์จากดวงจันทร์จะถูกจำแนกตามค่าของไททาเนียมโดยจำแนกเป็น ไททาเนียมสูง ไททาเนียมต่ำ และไททาเนียมต่ำมาก กระนั้นก็ตาม จากการสำรวจทางธรณีเคมีของไททาเนียมในโครงการคลีเมนไทน์แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ราบสีเข้มบนพื้นผิวดวงจันทร์มีการลำดับต่อเนื่องของค่าความเข้มข้นของไททาเนียม
หินบะซอลต์จากดวงจันทร์แสดงลักษณะเนื้อหินและวิทยาแร่ที่ผิดปรกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะของแปรสภาพจากการกระแทก การขาดลักษณะของรีดอกซ์และออกซิเดชั่นซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่พบได้ในหินบะซอลต์บนพื้นผิวโลก และการปราศจากโดยสิ้นเชิงของน้ำในแร่ ขณะที่หินบะซอลต์บนดวงจันทร์ทั้งหลายปะทุขึ้นมาระหว่าง 3 และ 3.5 พันล้านปีมาแล้ว ชิ้นตัวอย่างที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเก่าแก่ถึง 4.2 พันล้านปี และที่มีอายุอ่อนที่สุดจากการวัดค่าด้วยวิธีเครเตอร์เค้าติ้งประมาณได้ว่าปะทุขึ้นมาเมื่อ 1.2 พันล้านปีมาแล้ว
หินบะซอลต์ก็พบได้ทั่วไปบนพื้นผิวดาวอังคาร ทั้งนี้ได้จากข้อมูลส่งกลับมาจากพื้นผิวดาวอังคารโดยอุกกาบาตดาวอังคาร
การแปรสภาพ
แก้หินบะซอลต์เป็นหินที่สำคัญในแนวแปรสภาพด้วยเป็นหินที่ให้ข้อมูลที่สำคัญที่บ่งชี้ถึงสภาพของการแปรสภาพภายในแนวแปรสภาพนั้น มีชุดลักษณ์ของการแปรสภาพที่หลากหลายที่ถูกตั้งชื่อขึ้นตามชื่อกลุ่มของแร่และชนิดของหินที่เกิดขึ้นโดยหินบะซอลต์ตามอุณหภูมิและแรงกดดันของเหตุการณ์แปรสภาพนั้นๆ เช่น
หินบะซอลต์ที่ถูกแปรสภาพเป็นหินที่สำคัญที่เป็นแหล่งแร่แบบน้ำร้อนที่หลากหลายอย่างเช่น ทองคำ ทองแดง แหล่งแร่ซัลไฟด์ และอื่นๆ
หินบะซอลต์ในประเทศไทย
แก้- บริเวณภาคเหนือ
- หน่วยหินบะซอลต์เชียงราย หินบะซอลต์บ้านช่างเคียน อายุ 1.69 ± 1.25 ล้านปี (Barr and Macdonald, 1981) และหินบะซอลต์เชียงของ อายุ 1.74 ± 0.18 ล้านปี (Barr and Macdonald, 1981)
- หน่วยหินบะซอลต์ลำปาง หินบะซอลต์แม่ทะ 0.69 ± 0.95 และ 0.8 ± 0.3 ล้านปี (Barr et al., 1976; Sasada et al., 1987) และหินบะซอลต์สบปราบ
- หน่วยหินบะซอลต์เด่นชัย จังหวัดแพร่ อายุ 5.64 ± 0.28 ล้านปี (Barr and Macdonald, 1981)
- หน่วยหินบะซอลต์แม่ลามา
- บริเวณภาคตะวันตก
- หน่วยหินบะซอลต์บ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี อายุ 3.14 ± 0.17 ล้านปี (Barr and Macdonald, 1981)
- บริเวณภาคกลาง
- หน่วยหินบะซอลต์ลำนารายณ์ จังหวัดลพบุรี อายุ 11.29 ± 0.64 ล้านปี (Barr and Macdonald, 1981)
- บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- หน่วยหินบะซอลต์นครราชสีมา
- หน่วยหินบะซอลต์บุรีรัมย์ หินบะซอลต์เขากระโดง อายุ 0.92 ± 0.03 ล้านปี (Barr and Macdonald, 1981)
- หน่วยหินบะซอลต์สุรินทร์
- หน่วยหินบะซอลต์ศรีสะเกษ หินบะซอลต์ภูฝ้าย อายุ 3.28 ± 0.48 ล้านปี (Barr and Macdonald, 1981)
- หน่วยหินบะซอลต์อุบลราชธานี
- บริเวณภาคตะวันออก
- หน่วยหินบะซอลต์จันทบุรี หินบะซอลต์เขาพลอยแหวน จังหวัดจันทบุรี อายุ 0.44 ± 0.11 ล้านปี (Barr and Macdonald, 1981) และหินบะซอลต์ทางด้านตะวันออกของจันทบุรี อายุ 2.57 ± 0.20 ล้านปี (Carbonnel, 1972)
- หน่วยหินบะซอลต์โป่งน้ำร้อน
- หน่วยหินบะซอลต์ตราด อายุ 1.13 ± 0.17 ล้านปี (Barr and Macdonald, 1981)
- หน่วยหินบะซอลต์เกาะกูด อายุ 8.5 ± 1.0 ล้านปี (Bignell et al., 1977)
- หน่วยหินบะซอลต์บ้านแชออ
อ้างอิง
แก้- ↑ See the PETDB database เก็บถาวร 2008-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.Hyndman, Donald W. (1985). Petrology of igneous and metamorphic rocks (2nd ed.). McGraw-Hill. ISBN 0-07-031658-9.
- ↑ Blatt, Harvey and Robert Tracy (1996). Petrology (2nd ed.). Freeman. ISBN 0-7167-2438-3.
- ↑ D. Weaire and N. Rivier. Contemporary Physics 25 1 (1984), pp. 55–99
- ↑ http://www.pohnpeiheaven.com/pwisehn_malek.htm เก็บถาวร 2012-02-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Alex Zuccarelli, 2003, Pohnpei-Between Time & Tide . Pwisehn Malek
- ↑ http://www.luzicke-hory.cz/mista/index.php?pg=zmpansc Website in Czech language with some nice pictures and excellent example of columnar basalt in Northern Bohemia near Kamenicky Senov
- ↑ Katrina J. Edwards, Wolfgang Bach and Daniel R. Rogers, Geomicrobiology of the Ocean Crust: A Role for Chemoautotrophic Fe-Bacteria, Biol. Bull. 204: 180–185. (April 2003) http://www.biolbull.org/cgi/content/full/204/2/180
- ↑ Templeton, A.S., Staudigel, H., Tebo, B.M. (2005). Diverse Mn(II)-oxidizing bacteria isolated from submarine basalts at Loihi Seamount, Geomicrobiology Journal, v. 22, 129–137. http://www.ebs.ogi.edu/tebob/pdfs/Templeton%20GeomicroJ.pdf เก็บถาวร 2009-03-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- A. Y. Ozerov, The evolution of high-alumina basalts of the Klyuchevskoy volcano, Kamchatka, Russia, based on microprobe analyses of mineral inclusions. Journal of Volcanology and Geothermal Research, v. 95, pp. 65–79 (2000).
- A. W. Hofmann, Sampling mantle heterogeneity through oceanic basalts: isotopes and trace elements. Treatise on Geochemistry Volume 2, pages 61–101 Elsevier Ltd. (2003). ISBN 0-08-044337-0 In March, 2007, the article was available on the web at http://www1.mpch-mainz.mpg.de/~geo/hofmann/Hofmann.mantle_heterogen1.pdf เก็บถาวร 2007-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- A. V. Sobolev and others, The amount of recycled crust in sources of mantle-derived melts. Science, v. 316, pp. 412–417 (2007). http://www.sciencemag.org/cgi/content/abstract/316/5823/412
ดูเพิ่ม
แก้- ธรณีวิทยาประเทศไทย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2550) 598 หน้า