หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ หรือ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา หรือที่รู้จักและนิยมเรียกชื่อกันสั้น ๆ ว่า หะยีสุหลง เป็นโต๊ะอิหม่ามที่มีชื่อเสียงในอดีต เป็นผู้นำและปัญญาชนของชาวไทยเชื้อสายมลายูมุสลิมโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

หะยีสุหลง
เกิดพ.ศ. 2438
หมู่บ้านกำปงอาเนาะรู (หมู่บ้านลูกสน) มณฑลปัตตานี
เสียชีวิต13 สิงหาคม พ.ศ. 2497 (59 ปี)
บังกะโลริมทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา
สาเหตุเสียชีวิตการบังคับบุคคลให้สูญหาย (ถูกรัดคอ)
อาชีพอิหม่าม
มีชื่อเสียงจากกบฏดุซงญอ
คู่สมรสเวห์ เตร์ยอห์
บุตรอาหมัด โต๊ะมีนา
อามีน โต๊ะมีนา
เด่น โต๊ะมีนา

ประวัติ แก้

หะยีสุหลง เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2438 ที่หมู่บ้านกำปงอาเนาะรู (หมู่บ้านลูกสน) มณฑลปัตตานี เมื่อเติบโตขึ้นมา บิดาได้ส่งไปเรียนศาสนาที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จนแตกฉานทั้งในเรื่องศาสนา ปรัชญา และภาษาทางมุสลิม ที่นั่น หะยีสุหลงได้สมรสกับภริยาคนแรก โดยที่ไม่มีบุตรด้วยกัน ต่อมาภริยาได้เสียชีวิตลง หะยีสุหลงจึงสมรสใหม่กับนางคอดีเยาะห์ บุตรี มุฟตีรัฐกลันตัน (ตำแหน่งมุฟตีเทียบเท่าจุฬาราชมนตรีของประเทศไทย) ภริยาคนที่สอง ทั้งคู่มีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคน แต่ต่อมาบุตรชายก็เสียชีวิตลงเมื่ออายุได้ขวบเศษ ๆ เท่านั้น ทั้งคู่จึงตัดสินใจเดินทางกลับมายังประเทศไทย[1]

หะยีสุหลง ตั้งใจจะกลับมาเผยแพร่ศาสนาที่มณฑลปัตตานี อันเป็นบ้านเกิด ได้เดินทางกลับมาเมื่อปี พ.ศ. 2470 ก่อนจะพบว่าชาวมุสลิมที่นั่นยังมีสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นและนับถือภูติผีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งขัดกับหลักทางศาสนาอิสลามอย่างรุนแรง จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนา หรือปอเนาะ ขึ้นมาเป็นแห่งแรก ด้วยเงินเริ่มต้นที่รวบรวมหามาได้ 3,500 บาท ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2475 ในรัฐบาลที่มีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี หะยีสุหลงได้เดินทางเข้าสู่พระนครเพื่อขอความช่วยเหลือจากทางรัฐบาล ก็ได้เงินช่วยเหลือจากภาครัฐมาอีก 3,500 บาท รวมเป็น 7,000 บาท ปอเนาะแห่งแรกในประเทศไทยจึงถือกำเนิดขึ้นมาได้[1]

งานการเมือง แก้

 
หะยีสุหลง กับปรีดี พนมยงค์หน้าโรงเรียนที่ หะยีสุหลง สร้างขึ้นจากการระดมทุนของประชาชนท้องถิ่นในปี พ.ศ. 2488

หะยีสุหลง ได้เกี่ยวพันกับทางการเมืองและความขัดแย้งในพื้นที่ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร เมื่อเป็นผู้นำเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ที่ให้ความเป็นธรรมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิมในพื้นที่ต่อรัฐบาลไทยที่มีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. 2490 แต่ต่อมาได้เกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อปลายปีเดียวกัน ได้มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลมาเป็นขั้วของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากขั้วอำนาจเดิม ข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อ ของหะยีสุหลงถูกเพ่งเล็งว่าเป็นกบฏกระด้างกระเดื่องต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร จนในที่สุดถูกจำคุกในข้อหาปลุกระดมและก่อการกบฏเพื่อแบ่งแยกดินแดน ซึ่งหะยีสุหลงถูกจัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน โทษฐานกล่าวร้ายรัฐบาลในเอกสารที่แจกจ่ายยังประชาชนในท้องถิ่น ส่วนโทษฐานแบ่งแยกดินแดน ศาลพิจารณาให้ยก[2]

การหายสาบสูญ แก้

เมื่อพ้นโทษออกมา หะยีสุหลงก็ยังถูกคุกคามจากทางอำนาจรัฐ จนกระทั่งในเช้าตรู่ของวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2497 หลังจากเสร็จจากละหมาดในตอนเช้าแล้ว หะยีสุหลงพร้อมกับ นายอาหมัด โต๊ะมีนา บุตรชายคนโตวัย 15 ปี ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาไทย เนื่องจากหะยีสุหลงไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ได้เดินทางออกจากบ้านพักส่วนตัวที่จังหวัดปัตตานี ไปยังกองบัญชาการตำรวจสันติบาลที่จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยพรรคพวกอีก 2 คน รวมเป็น 4 คน ก่อนที่ทั้งหมดจะหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย นำมาซึ่งความเชื่อว่าทั้งหมดถูกฆาตกรรมทางการเมืองด้วยฝีมือของตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ภายใต้การบัญชาการของ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ซึ่งเป็นเสมือนมือขวาสำคัญของจอมพล ป. นายกรัฐมนตรี ซึ่งเรื่องราวการหายตัวไปของหะยีสุหลงเป็นข่าวอย่างครึกโครม โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปจนถึงมาเลเซีย และสิงคโปร์[1][3]

ทางครอบครัว ภริยาและนายเด่น โต๊ะมีนา บุตรชายของหะยีสุหลงได้เดินทางเข้าสู่พระนครเพื่อติดตามเรื่องราว ก็ไม่ได้ความคืบหน้าใด ๆ แต่ก็ได้รับทราบเพียงว่าเป็นการฆาตกรรมทางการเมืองโดยบุคคลของภาครัฐเองจากปากคำของท่านผู้หญิง ละเอียด พิบูลสงคราม ภริยาของจอมพล ป. จนกระทั่งมีการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลได้เปลี่ยนขั้วอีกครั้งเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยมี พลตำรวจตรีฉัตร หนุนภักดี เป็นประธาน ในที่สุดนายตำรวจผู้ที่ลงมือในการฆาตกรรมครั้งนี้ก็รับสารภาพว่าได้สังหารบุคคลทั้ง 4 ในบังกะโลริมทะเลสาบสงขลา จากคำสั่งโดยตรงทางโทรศัพท์ของรัฐบาลในขณะนั้น ผ่านทางผู้บังคับการตำรวจจังหวัดสงขลา ด้วยการใช้เชือกรัดคอและคว้านท้องศพทั้งหมดและอำพรางด้วยการนำศพไปผูกไว้กับแท่งซีเมนต์ในทะเลสาบสงขลา ใกล้กับเกาะหนู เกาะแมว ซึ่งเมื่อทุกอย่างกระจ่างได้มีการส่งนักประดาน้ำลงไปงมหาศพ แต่ด้วยระยะเวลาที่ผ่านไปหลายปีจากที่เกิดเหตุ ทำให้ไม่พบศพหรือเศษซากใด ๆ อีกแล้ว[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 ตอบโจทย์, "บทสัมภาษณ์ เด่น โต๊ะมีนา และ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ทายาทของหะยีสุหลง". รายการทางไทยพีบีเอส: ศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2556
  2. "เรื่องของหะยี สุหลง ปฐมเหตุของสถานการณ์ใต้?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-19. สืบค้นเมื่อ 2013-03-09.
  3. ตำรวจพัวพันการหายตัวของนายหะยี สุหลง, หน้า 60. กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554 โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (มีนาคม, 2555) ISBN 978-974-228-070-3