หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม โรจนกุล)

หลวงลิขิตปรีชา (19 เมษายน พ.ศ. 2362 – 6 กันยายน พ.ศ. 2439) มีนามเดิมว่า คุ้ม[1] เป็นนักกวีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์[2][3] ช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 5 ราชเลขานุการในพระองค์ และเป็นเจ้ากรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล (ฝ่ายวังหน้า) ปรากฏในทำเนียบตำแหน่งข้าราชการ ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งเป็นทำเนียบในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว[4] จนถึงรัชสมัย กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลองค์สุดท้ายในสมัยรัตนโกสินทร์[5]

หลวงลิขิตปรีชา
(คุ้ม โรจนกุล)
เจ้ากรมพระอาลักษณ์
พระราชวังบวรสถานมงคล
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าพระสุนทรโวหาร (ภู่)
ถัดไปไม่ปรากฏ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด19 เมษายน พ.ศ. 2362
แขวงบ้านช่างหล่อ
เขตบางกอกน้อย กรุงรัตนโกสินทร์
เสียชีวิต6 กันยายน พ.ศ. 2439 (77 ปี)
แขวงบ้านช่างหล่อ
เขตบางกอกน้อย กรุงรัตนโกสินทร์
คู่สมรสคุณหญิงลิขิตปรีชา (พึ่ง)
บุตรหลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก โรจนกุล)
บุพการี
  • ขุนหมื่นช่างเขียน (ดี) (บิดา)
  • ไม่ปรากฏ (มารดา)
อาชีพข้าราชการ, ขุนนาง

ประวัติ แก้

หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เกิดที่กรุงเทพพระมหานคร เมื่อวันจันทร์ แรม 10 ค่ำเดือนห้าปีเถาะสัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2362 สมัยรัชกาลที่ 2 มีนิวาสสถานอยู่ที่ย่านบ้านช่างหล่อ วังหลัง เคยเล่าเรียนหนังสือที่วัดโพธิ์ บิดาชื่อ ดี รับราชการเป็นขุนหมื่น ตำแหน่งช่างเขียนในกรมช่างสิบหมู่ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคลอยู่กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) นามมารดาไม่ปรากฎ ภรรยาชื่อ คุณหญิงลิขิตปรีชา (พึ่ง) ส่วนบุตรปรากฏว่าชื่อ หลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก โรจนกุล)[6] เป็นทหารกองหนุน ในสมัยรัชกาลที่ 5

สมัยรัชกาลที่ 3 ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล มีบรรดาศักดิ์เป็น นายราชอักษร (คุ้ม) ตำแหน่งนายเวร ถือศักดินา 400 โดยมีพระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือ สุนทรภู่ เป็นเจ้ากรมพระอาลักษณ์ ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 7 ตำลึง หลังรับราชการได้ 3 ปีเศษ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งนายราชอักษร (คุ้ม) นายเวร ให้เป็นหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายพระราชวังบวร ถือศักดินา 1,500 ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 1 ชั่ง แล้วทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งพระสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นจางวางกรมพระอาลักษณ์ เมื่อ พ.ศ. 2408 ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) จึงได้ย้ายไปสมทบกับกรมพระอาลักษณ์ในพระบรมมหาราชวัง

สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) จึงได้ย้ายไปกรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายพระราชวังบวร หลังจากกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จทิวงคตแล้วจึงย้ายไปสมทบกับกรมพระอาลักษณ์ในพระบรมมหาราชวังอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. พ.ศ. 2435 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยหวัดเพิ่มอีกปีละ 5 ตำลึง พร้อมพระราชทานเหรียญรัชฎาภิเศกมาลา ร.ศ. ๑๑๒ แก่หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ๆ จึงได้รับเบี้ยหวัดเป็นปีละ 1 ชั่ง 5 ตำลึง[7]

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2439[8] หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ป่วย จึงให้พระอ่อน วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหารรักษามีอาการทรุดๆ ทรงๆ จึงเปลี่ยนให้หมอสีชะเลยศักดิ์ (หมอเชลยศักดิ์) รักษาแทนแต่อาการกลับทรุดลงมาก เมื่อวันที่ 6 กันยายน มีอาการอ่อนเพลียและหอบจวนหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ถึงแก่กรรมเมื่อเวลา 20.00 น. ด้วยโรคชรา สิริรวมอายุได้ 77 ปี[9] คุณหญิงลิขิตปรีชา (พึ่ง) จึงได้เข้าจัดการศพ วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เพลิงหลวง พร้อมหีบศพเชิงชายเป็นเกียรติยศ

พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) ผู้ค้นคว้า รวบรวม และบันทึกเรื่องราวของสุนทรภู่ ได้เขียนบันทึกคำกล่าวของพระอมรสินธพ (นก) เมื่อ พ.ศ. 2456 ขณะมีอายุ 77 ปี[10] ซึ่งเล่าว่า "เวลานั้น ใบฎีกามี ของสมเด็จพระปรมา[หมายเหตุ 1] ได้เป็นหลวงลิขิตปรีชา เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ท่านผู้นี้เจ้ายศเจ้าศักดิ์ ถือความมั่งมีภาคภูมิเต็มที่อย่างขุนนางโบราณคือ บ่าวไพร่นุ่งห่มร่มค้างคาว กล้องยาแดงกาน้ำเป็นต้น สุนทรภู่ถึงเป็นจางวางก็จริง แค่ลดความมั่งมีให้ท่านเจ้ากรม เวลาจะนั่งจะเดินอยู่ในกิริยาเป็นผู้ถ่อมตน ยอมเป็นผู้ที่ ๒ ไม่ตีตนเสมอเลย"[11]

ยศและบรรดาศักดิ์ แก้

 
ตราประทับประจำตำแหน่งของหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม)[12]
ตราลายชาดรูปเทวดาสวมชฎายอดชัยถือคัมภีร์นั่งแท่น (ซ้าย) ถือพระขรรค์ (ขวา)
  • นายราชอักษร (คุ้ม) ตำแหน่งนายเวรพระอาลักษณ์ ศักดินา 400
  • หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ ศักดินา 1,500[13] (ทำเนียบวังหน้าบอกว่าถือศักดินา 1,800)[14]


บรรดาศักดิ์เจ้ากรมพระอาลักษณ์ สมัยหลังรัชกาลที่ 5 ล้วนเป็น พระยาศรีสุนทรโวหาร[15][16][17] และกองรายงานหนังสือไปมา กรมราชเลขานุการ ปรากฏบรรดาศักดิ์ เป็น พระยาศรีราชอักษร[18] กระทั่ง ปี พ.ศ. 2475 กรมพระอาลักษณ์ ยุบเลิกตำแหน่งไปอยู่กับคณะรัฐมนตรี[19]

ผลงาน แก้

งานประพันธ์ของหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) โดดเด่นที่มีปรากฏและค้นพบได้ในปัจจุบันมีดังนี้

โคลงกลอน แก้

  • จารึกวัดโพธิ์ (พ.ศ. 2374-2381)
 
ภาพจารึกเพลงยาวกลบทและกลอักษร แผ่นที่ 20 (กลบทพระจันท์ธรงกลด) พบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ได้ร่วมแต่งโคลงดั้นบาทกุญชร จารึกวัดโพธิ์[20][21] ปรากฏหลักฐานในคำประพันธ์บทหนึ่ง ความว่า “ฉันทพากย์เพลงโคลงคล่อง สองหลวงว่องโวหาร ชาญภูเบศร์สมญา ลิขิตปรีชาเฉลียวอรรถ เจนแจ้งจัดทุกอัน ร่วมสังสรรค์เสาวพจน์”[22]จารึกวัดโพธิ์ ได้รับการขึ้นทะเบียน มรดกความทรงจำของโลก[23][24] เมื่อ พ.ศ. 2551 โดย คณะกรรมการองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

คำโคลงจารึกวัดโพธิ์ ที่หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เป็นผู้แต่ง ปรากฏว่ามีดังนี้

จารึกโคลงภาพฤๅษีดัดตน[25]

ท่าที่ 27 ท่าดัดตนแก้อาการลมชักปากเบี้ยว ลมลิ้นตาย ลมเท้าเหน็บ ลมมือเหน็บ

จารึกนี้กล่าวถึงพระฤๅษีกาลสิทธิ์ (ฤๅษีปู่เจ้าสมิงพราย) แสดงบทอาสนะแห่งฤๅษีด้วยท่าตัดตนแก้ลมชักปากเบี้ยว ลมลิ้นตาย ลมเท้าเหน็บ ลมมือเหน็บ ด้วยการใช้มือหนึ่งเหนี่ยวไหล่ กดปลายนิ้วลงเหนือซอกรักแร้ และอีกมือหนึ่งหน่วงข้อเท้า โดยกดหัวแม่มือกดลงที่เอ็นเหนือตาตุ่มด้านใน จารึกดังกล่าวถูกค้นพบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
 
ท่าฤๅษีดัดตน ท่าที่ 27 แก้อาการลมชักปากเบี้ยว ลมลิ้นตาย ลมเท้าเหน็บ ลมมือเหน็บ และคำโคลง แต่งโดย หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) พบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

ท่าที่ 40 ท่าดัดตนแก้เท้าเย็นสบาย ใจสวิงสวาย

จารึกนี้กล่าวถึงพระฤๅษีกบิล แสดงบทอาสนะแห่งฤๅษีด้วยท่าดัดตนแก้เท้าเย็น ใจสวิงสวาย โดยการไขว้เท้าหนึ่งไปวางบนตักของอีกข้างหนึ่ง ซึ่งถูกสองมือกุมเข่า รัดแข้งยกเอาไว้จารึกดังกล่าวถูกค้นพบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

จารึกโคลงภาพคนต่างภาษา

แผ่นที่ 31 ภาพเขมร[26]

เป็นหนึ่งในจารึกโคลงภาพต่างภาษาจำนวน 32 แผ่น จารึกนี้กล่าวถึงอัตลักษณ์และตัวตนชนชาติเขมรว่ามีผิวดำ นับถือศาสนาพุทธ อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชาทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นเมืองขึ้นของสยาม แต่งกายโดยนุ่งผ้าปูม สวมเสื้อสีคราม คาดแพรเยื่อไม้ของญวนที่สะเอว และไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม ไม่ไว้ไรผม จารึกดังกล่าวถูกค้นพบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

แผ่นที่ 32 ภาพลิ่วขิ่ว[27]

เป็นหนึ่งในจารึกโคลงภาพต่างภาษาจำนวน 32 แผ่น จารึกนี้กล่าวถึงอัตลักษณ์และตัวตนชนชาติลิ่วขิ่ว ว่ามีการเกล้าผมมวยเหมือนจุกเด็ก สวมเสื้อสีหมากสุกยาวคลุมเข่า โพกศีรษะ บ้านเมืองตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก และมีการถวายบรรณาการแด่จีนจารึกดังกล่าวถูกค้นพบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

จารึกเพลงยาวกลบทและกลอักษร

แผ่นที่ 8 กลบทกินรเกบบัว

จารึกกลบทกินรเกบบัว มีคำจารึก 19 บรรทัดซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงความชอกช้ำใจจากหญิงคนรักที่กลับห่างเหินไป

แผ่นที่ 20 กลบทพระจันท์ธรงกลด

จารึกกลบทพระจันท์ธรงกลด มีคำจารึก 22 บรรทัดซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงความโศกเศร้าเพราะการพลัดพรากจากหญิงคนรัก

แผ่นที่ 39 กลบทก้านต่อดอก

จารึกกลบทก้านต่อดอก มีคำจารึก 19 บรรทัดซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงความทุกข์ระทมที่ต้องอยู่ห่างไกลจากหญิงอันเป็นที่รัก
  • โคลงศิลาจารึกศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบอง (พ.ศ. 2379)[28][29]

ศิลาจารึกศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบอง เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เป็นผู้แต่ง เป็นโครงสี่สุภาพสลับกาพย์ฉบับ 16 โดยคำประพันธ์ที่จารึกผนังด้านทิศตะวันออกมีระบุบรรดาศักดิ์เป็นหลวงลิขิตปรีชาเป็นผู้แต่ง ซึ่งณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ราชบัณฑิตประเภทประวัติศาสตร์ ระบุว่า หลวงลิขิตปรีชา เจ้ากรมพระอาลักษณ์ผู้นี้มีนามเดิมว่า คุ้ม กวีในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นผู้แต่งโคลงดังกล่าว

ตัวอย่างคำประพันธ์

๏ อาลักษณ์ศักดิ์ยศพร้อง สมญา
หลวงลิขิตปรีชา ชื่ออ้าง
นิพนธ์สรรพ์พจนา โคลงพากย์ ฉันท์เอย
แนะตรนักนามป้อมสร้าง สฤษดิ์ไว้เปนเฉลิม ฯ
๏ ป้อมนารายน์นารายน์ทรง จักรแก้วฤทธิรงค์
ประหารประหัตดัษกร
ป้อมเสือเสือร้ายแรงขจร ในด้าวดงดอน
จัตุบาทฤๅอาจเทียบทัน ฯ
ศิลาจารึกศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบอง

ส่วนคำประพันธ์ในจารึกผนังด้านทิศตะวันตก กล่าวถึงเหตุการณ์สร้างเมืองพระตะบองและยังกล่าวถึงการอธิษฐานขอให้เทพยดาช่วยรักษาคุ้มครองเมือง ซึ่งศิลาจารึกส่วนนี้เป็นของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เนื่องด้วยเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) สร้างเมืองไว้เพื่อป้องกันศัตรู

ตัวอย่างคำประพันธ์

๏ ปางปิ่นอดิศวร ผู้ทรง ทศพิธธำรง
จารีตราชประเพณี
เฉลิมดิลกพิภพศรี อยุทธเยศบุรี
พระเกียรติเกริ่นธราดล ฯ
๏ สถิตยพระโรงรัตนโสภณ พร้อมหมู่มุขมน–
ตรีชุลีกรเดียรดาษ
บัดเอื้อนราโชยงการประภาษ สั่งตูข้าบาท
ผู้รองเบื้องมุลิกา ฯ
ศิลาจารึกศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบอง
  • โคลงนิทานเบ็ดเตล็ด (พ.ศ. 2430)[30]
  • สุริยพันธ์คำกลอน (พ.ศ. 2431)

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระนิพนธ์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงนิพนธ์ขึ้นในขณะยังทรงดำรงพระยศเป็น กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ เริ่มนิพนธ์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2431) ปรากฏว่าหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ในขณะนั้นเป็นหนึ่งในกวีที่ได้ร่วมแต่งคำกลอนลงในพระนิพนธ์นี้ด้วยโดยมีปรากฏคำกล่อนใน สุริยพันธ์คำกลอน[31] ตอนที่ 5 ตอนที่ 8 ตอนที่ 9 ตอนที่ 12 และตอนที่ 21 เป็นต้น และเคยได้รับการเผยแพร่ลงใน วารสารศิลปากร ฉบับปีที่ 4 เล่มที่ 5 วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494 - ฉบับ ปีที่ 8 เล่มที่ 12 วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

ตัวอย่างคำประพันธ์

๏ ฝ่ายพระสุริยพันธุ์พงศ์กษัตริย์ ซึ่งวิบัติเรือแตกแยกสลาย
ลงเรือน้อยลอยไปไม่วางวาย เอกากายผู้เดียวให้เปลี่ยวใจ
ด้วยเวลาราตรีก็มืดมิด ทั่วทุกทิศไม่เห็นสิ่งใดได้
พายุกล้าสลาตันพรั่นฤทัย โอ้ที่ไหนจะได้รอดตลอดคืน ฯ
สุริยพันธ์คำกลอน ตอนที่ 5
  • โคลงพิพิธพากย์ (พ.ศ. 2455)[32]

เป็นคำโคลงสุภาษิตที่แสดงถึงคุณและโทษของเรื่องที่ตั้งกระทู้ความ เช่นว่า ความงาม ความรัก ความชัง ความเบื่อหน่าย เป็นต้น ซึ่งกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณได้รวบรวมโคลงเหล่าให้เป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อ พ.ศ. 2457 หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ได้ร่วมแต่งโคลงนี้ในกระทู้ความเรื่อง ความอิจฉา

ตัวอย่างคำประพันธ์

๏ ความอิจฉาเกิดขึ้น คนใด
พาจิตรไม่ผ่องใส สดชื่น
มักงุ่นง่านทยานใจ เจียนคลั่ง
เพราะตฤกตรองตื้นตื้น ต่ำช้าตนเฉา ฯ
โคลงความอิจฉา
  • กำนันหลอกพราน

เป็นเพลงยาวมีความยาว 27 บท หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ร่วมแต่งกับนายนาน บางขุนพรหม ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกใน วารสารวชิรญาณวิเศษ[33] หมวดนิทานคำกลอน เล่ม 8 แผ่นที่ 20 ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 111 ตรงกับ พ.ศ. 2435 และถูกตีพิมพ์อีกครั้งในหนังสือ นิทานวชิรญาณ เล่ม 1[34] เมื่อ พ.ศ. 2555 โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

นิราศ แก้

นิราศสรวมครวญเป็นวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยโคลงสุภาพชาตรีจำนวน 186 บท และใช้ร่ายสุภาพปิดท้ายโคลงนิราศ ซึ่งหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ร่วมแต่งกับขุนสาราบรรจง ขุนจำนงสุนธร และนายเวรจำลอง ภายหลังหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนีได้ตรวจสอบ ชำระใหม่และเขียนเพิ่มเติมเป็นฉบับ นรินทร์จัน-ประชันนรินทร์อิน ทรงใช้นามปากกาว่า “พ.ณ.ประมวญมารค”

ตัวอย่างคำประพันธ์

๏ เทเวนทรวาสุเทพท้าว ผทมสินธุ์
อ่อนอาสน์อุรัคคินทร์ ค่ำเช้า
ทรงสังข์จักราจิณ เจนหัตถ์
หลับอย่าลืมละเจ้า ปิ่นไท้ผไทสยาม ฯ
นิราศสรวมครวญ

อื่นๆ แก้

 
พระสมุดโคลงแผนม้าตำราพุกาม ฉบับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหามหาศักดิพลเสพ ฝีมือเขียนครั้งรัชกาลที่ 2
  • เลียดก๊ก พงศาวดารจีน (พ.ศ. 2362)

เมือ พ.ศ. 2362 ตรงกับรัชกาลที่ 2 หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ได้ร่วมแปลและเป็นบรรณาธิการ เลียดก๊ก พงศาวดารจีน ปรากฏในย่อหน้าที่ 3 ของพงศาวดารว่า "ห้องสินแลในเลียดก๊กนั้น ว่าด้วยพระเจ้าบู๊อ่องครองเมืองทั้งปวงคิดทำศึกกัน ข้าพเจ้าหลวงลิขิตปรีชา เจ้ากรมอาลักษณ์ชำระขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย"[37] พร้อมด้วยกวีดังนี้ ขุนมหาสิทธิโวหาร พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนเรศร์โยธี หลวงญาณปรีชา เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง วงศาโรจน์) พระยาโชดึกราชเศรษฐี หลวงวิเชียรปรีชา ขุนท่องสื่อ จมื่นไวยวรนาถ นายเล่ห์อาวุธ และจ่าเรศ

  • ตำรานพรัตน์

ตำรานพรัตน์[38][39][40] ฉบับร้อยแก้ว คือ ตำราว่าด้วยอัญมณี ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน งานบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชนมายุครบ ๖๐ พระพรรษาของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เมื่อ พ.ศ. 2464 ในวาระต่อมาได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง นับว่า ตำรานพรัตน์ ฉบับนี้เป็นฉบับที่แพร่หลายมากที่สุด[41] ซึ่งหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เป็นผู้แต่งตำรับพุทธศาสตร์ประกอบ ตำรานพรัตน์ ว่า "วชิรํ รัตตํ อินฺทนีลํ เวฬุริยํ รัตฺตกาฬมิสิสกํ โอทาตปีตมิสสฺกํ นีลํ ปุสฺสราคํ มุตตาหารญจาติ อิมานิ นวากาทีนิ รตนานิ ตฺสมา รตนชาติ โย อเนกวิธา นานาปเทเสสุ อุปปชฺชนตีติ เวทิตฺพพา" ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ถอดความพระบาลี ว่า

อันว่ารัตนชาติทั้งหลายมีประการเป็นอันมากจะประมาณมิได้ มีแก้วเก้าประการเป็นอาทิ คือ แก้ววิเชียร ๑ แก้วแดง ๑ แก้วอินทนิล ๑ แก้วไพทูรย์ ๑ แก้วรัตกาลมิสก ๑ แก้วโอทาตปปิตมิสก ๑ นิลรัตน์ ๑ แก้วบุษราคัม ๑ แก้วมุกดาหาร ๑ แก้วทั้งเก้าประการมีพรรณต่างกัน แต่แก้ววิเชียรนั้นมีสีงามบริสุทธิ์ดังน้ำอันใส ตำราไสยศาสตร์ชื่อว่าเพชร นับถือว่าเป็นมงคล อันพราหมณ์ทั้งหลายนำมาใช้ให้ช่างเจียรนัยผูกเรือนธำมรงค์ประดับด้วยเนาวรัตน์จัดเอาเพชรตั้งเป็นปฐม อันว่าแก้วมีพรรณแดงงามสดใสยิ่งนักในตำราไสยศาสตร์สมมุติชื่อว่าปัทมราช ถ้ามีสีแดงอ่อนดังผลเมล็ดทับทิมสุกนั้นชื่อว่าทับทิมประดับเรือนธำมรงค์เนาวรัตน์เป็นที่สอง อันว่าแก้วอินทนิลมีพรรณผลนั้นเขียวเลื่อมประภัสสรดังแสงแห่งปีกแมลงทับประดับเรือนนพรัตน์เป็นที่สาม อันว่าแก้วไพทูรย์มีสีเหลืองเลื่อมพรายดังสีสรรพ์พรรณบุปผชาติทั้งหลายมีสีดอกทรึกเป็นอาทิ ประดับนับเข้าในเรือนนพรัตน์เป็นที่สี่ อันว่าแก้วอันมีสีดำและสีแดงเจือแกมกันดูงามสดใส สมมติว่ามีคุณอันพิเศษนำมาผูกเรือนธำมรงค์เนาวรัตน์จัดเป็นที่ห้า อันว่าแก้วอันมีสีขาวกับสีเหลืองเจือกันนั้นประดับเนาวรัตน์เป็นที่หก อันว่าแก้วอันมีสีขาวกับสีเหลืองเจือกันนั้นประดับเนาวรัตน์เป็นที่หก มีสีดอกอัญชันและดอกสามหาว ประดับเรือนเนาวรัตน์เป็นที่เจ็ด อันว่าบุษราคัม มีสีเหลืองเลื่อมประภัสสรดังสีวงแววหางปลาสลาด นัยหนึ่งมีสีดังหลังปู ประดับเรือนนพรัตน์เป็นที่แปด อันว่ามุกดาหารมีสีดังมุกอันเลื่อมพราย ดูงามเป็นที่จำเริญจักขุบุคคลอันเล็งแลดู ประดับเรือนพระธำมรงค์นพรัตน์เป็นที่เก้า[42]

โดยมีกวีในครั้งนั้นร่วมแต่ง ตำรานพรัตน์ ปรากฏว่ามี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) (ขณะยังเป็นพระยาสุริยวงศ์มนตรี) พระมหาวชิรธรรรม หลวงภักดีจินดาและนายชม รวมถึงบรรดากวีท่านอื่น ๆ ที่ได้ร่วมนิพนธ์กับหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ช่วงรัชกาลที่ 3 เช่น พระมหามนตรี (ทรัพย์) ขุนธนสิทธิ์ หมื่นพรหมสมพัตรสร หมื่นนิพนธ์อักษร ครูแจ้ง นายเกตุ นายช้าง นายนก นายพัต และกวีหญิงอีก 2 ท่านคือ คุณพุ่มและคุณสุวรรณ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาสุริยวงศ์มนตรี, พระมหาวชิรธรรรม, หลวงลิขิตปรีชา, หลวงภักดีจินดา, นายชม ปรึกษาพร้อมกับสอบตำราเพชรรัตน์ตำหรับพราหมณ์ ซึ่งหลวงภักดีจินดาได้เรียนไว้มาชำระเทียบต้องกันสามฉบับ พระมหาวิชาธรรนค้นพระบาลีพุทธศาสตร์ ประกอบกับตำราไสยศาสตร์ หลวงลิขิตปรีชาอาลักษณ์แต่งตำหรับพุทธศาสตร์ ประกอบกับตำราไสยศาสตร์ทูนเกล้าถวาย[43]

  • พระพิไชยสงคราม (พ.ศ. 2368)

เมื่อ พ.ศ. 2368 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุริยวงศ์ กรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิสุขวัฒนวิไชย ได้จัดข้าทูลอองธุลีพระบาทสนองพระบัณฑูรสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ให้ชำระคัมภีร์สาตรพยากรณ์ฤกษบนล่าง วิทธีวิชาไมยมนต์เลกยันต์แลอาถันข่มนาม และพระราชพิทธีข่มนามที่พยุหะ ซึ่งหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ได้ร่วมชำระตำรับ พระพิไชยสงคราม เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 6 ค่ำ เดือน 8 ปีระกาสัพศก[44][45][46][47] เป็นตำราลับปกปิดที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงแต่งขึ้นเมื่อปีมะเมีย สัมฤทธิ์ศก ตรงกับ พ.ศ. 2041 โดยเชิญพระตำรับจำนวน 14 เล่ม ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพระราชวังบวรสถานมงคล ความว่า "...พระเจ้าน้องยาเธอรับพระราชปริหาญ จัดข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้มีสติปัญญา ได้ พระยาบำเรอบริรักษ์ จางวางมหาดเล็ก ๑ พระมหาวิชาธรรม ๑ จางวาง ราชบัณฑิต ๑ หลวงลิขิตรปรีชา เจ้ากรมอาลักษณ์ ๑ หลวงสุธรรมาจารย์ ๑ พระโหราธิบดี จางวางโหร ๑ หลวงญาณเวท ๑ หลวงไตรเพทวิไศรย ๑ ขุนโลกยพรหมา ปลัดกลม ๑ รวม ๙ นาย พระเจ้าน้องยาเธอเป็นแม่กอง ครั้น ณ วัน ๕ ๘ ค่ำ ปีระกาสัพศก พร้อมกัน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ หลวงลิขิตรปรีชา เจ้ากรมพระอาลักษณ์ เชิญพระตำรับพระพิไชยสงครามข้างที่ออกมาเป็นสมุดพระราชตำรับ ๑๔ เล่ม ให้ลงมือจับชำระสอบสวนกันที่ฟั่นเฟือนวิปลาดซ้ำกันก็วงกาตกเต็มให้ถูกถ้วนแล้วขึ้นกราบทูลพระกรุณา ทุกเวลาเสด็จออกวถายสังฑภัตทาน ทรงฟังเทศนาเช้าเย็น ภอพระทัยบ้าง ทรงชำระวงกาดัดแปลงบ้าง โปรดให้ออกมาเรียบเรียงชำระใหม่บ้าง แต่ได้ชำระพระตำรับพระพิไชยสงคราม ณ วัน ๕ ๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๘๗ ปีระกาสัพศก จนถึง ณ วัน จึงสำเร็จ ให้คัดส่งเข้าไว้ข้างที่ฉบับหนึ่งไว้ ณ หอหลวงฉบับหนึ่ง..."[48]

  • หนังสือ "องเลโบ” (พ.ศ. 2390)

หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) รับสั่งจากเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ให้แปลหนังสืออักษรญวนออกเป็นไทย พร้อมนำสำเนาแปลหนังสือญวนคำให้การของพญาราชเดชกับพญาธนาธิบดีขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งให้เป็นผู้พาพญาราชเดชกับพญาธนาบดี องค์ญวนของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) ทั้ง 2 องค์เข้ามาแจ้งราชการที่กรุงเทพด้วย เมื่อแปลเสร็จแล้วหลวงลิขิตปรีชา (ปลอบ) นำหนังสือบอก และสำเนาแปลหนังสือญวนคำให้การของพญาราชเดชกับพญาธนาธิบดี ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบแล้ว ทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ ว่า "ตั้งแต่แผ่นดินเทียวตรีมา ๗ ปี ได้ทรงฟังแต่หนังสือขุนนางญวนแม่ทัพซึ่งมีไปมาถึงเจ้าพญาบดินทรเดชา ก็เห็นเป็นปากร้ายตามทำนองแต่ก่อน พึ่งจะได้ทรงทราบสำนวนเจ้าเทียวตรีรู้ทำนองครั้งนี้ เห็นเป็นปากกล้าใจอ่อนผิดกับทำนองเจ้ามินมาง, เจ้าญาลอง, ทรงพระราชดำริราชการเมืองเขมรเข้าพระทัยว่า ทำนองญวนก็จะเหมือนกันกับทำนองแต่ก่อน ที่ไหนจะให้กลับมาให้สมคิดสมหมายง่าย ๆ พระราชดำริผิดไปแล้ว เจ้าพญาบดินทรเดชา ฯ คิดราชการถูกอุตส่าห์พวกเพียรจนสำเร็จได้ตามความปรารถนา ด้วยเดชะพระบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวที่จะได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ให้ตั้งอยู่ในเมืองเขมรฐีติการ ควรที่จะยินดีรับขวัญเอา ได้มาเถิงเมืองพร้อมเมืองแล้วก็กระหมวดไว้ให้หมั่น แต่ญวนเอาเมืองเขมรของเราไปตั้งแต่ปีวอกจัตวาศนับได้ถึง ๓๖ ปีแล้ว พึ่งได้ คืนมาเป็นของเราเมื่อ ณ วัน ๕ ๗ ค่ำ ปีมะแมนพศก และเจ้าพญาบดินทรเดชาฯ ออกไปลำบากกรากกรำคิดราชการจะเอาเมืองเขมรคืนตั้งแต่ปีมะเส็งเบ็ญจศกช้านานถึง ๑๕ ปี อุปมาเหมือนหนึ่งว่ายน้ำอยู่กลางพระมหาสมุทรไม่เห็นเกาะเห็นฝั่ง พึ่งจะได้"[49]

  • พระสมุดโคลงแผนม้า ตำราพุกาม ฉบับกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ (พ.ศ. 2395)[50]

หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมพระอาลักษณ์รับสั่งให้ชำระตำราร่วมกับขุนจำนงสุนทร ปลัดกรม เมื่อวันพฤหัสบดีเดือนสิบ ขึ้นห้าค่ำ ปีชวดจัตวาศก ตรงกับวันที่ 19 สิงหาคม ในสมัยรัชกาลที่ 4

  • พระราชปุจฉาในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-รัชกาลที่ ๕ เล่ม 2

ประชุม พระราชปุจฉาในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-รัชกาลที่ ๕ เป็นหนังสือประชุมพระราชปุจฉาที่พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชดำรัสถามข้ออรรถธรรมที่ทรงสงสัยให้พระราชาคณะประชุมถวายวิสัชนา เมื่อ พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรรหารให้หาหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร เข้าเฝ้าทูลลองธุลีพระบาทเพื่อนำข้อความพระราชปุจฉา เช่น ข้ออรรถธรรมว่าด้วยเถรวาทผู้แต่งคัมภีร์อัตโนมัติเรื่องมารวิชัย และทศโพธิสัตว์แอบอ้างเอาพระพุทธฎีกาจะเป็นกล่าวพระพุทธวจนะหรือไม่ ถวายนิมนต์เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชให้วิสัชนา ณ วัน 6 แรม 6 ค่ำเดือน 12 วานรสังวัจฉรนักษัตรฉศก ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2367

จึงมีรับสั่งโปรดดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้พระมหาวิชาธรรม หลวงลิขิตปรีชา นำข้อความพระราชปุจฉานั้นออกไปเผดียงแก่สมเด็จพระสังฆราช ให้ประชุมพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงพร้อมกันวิสัชนา จึงจะหายความสงสัย[51]


  • ศิริวิบุลยกิตต์

หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ได้ร่วมแต่งเพลงยาวกลบทและกลอักษรกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หลวงนายชาญภูเบศร์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทัศน์ กรมหมื่นไกรสรวิชิต ขุนธนสิทธิ์และจ่าจิตร์นุกูล

พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน เป็นพระสมุดพระราชพงศาวดารสมุดไทย 42 เล่ม มีเนื้อเรื่องตั้งต้นแต่พระเจ้าเชียงราย (พระเจ้าชัยศิริ) มาสร้างเมืองไตรตรฤง (เมืองไตรตรึงส์) แล้วพระเจ้าศิริไชยเชียงแสนสร้างเมืองเทพนคร พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยาจนขุนพิเรนคิดการจะจับขุนวรวงศาธิราช จนถึงจนถึงนายบุญเรืองเผาตัวตายที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารเมื่อปี พ.ศ. 2333 ซึ่งพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) รัชกาลที่ 4-5 ได้แบ่งกันคัดลอก โดยมี หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ขุนสาราบรรจง ปลัดกรมจำลอง และขุนจำนงสุนทร ปลัดกรม ปรากฏในปกหน้าสมุดไทยพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนฉบับตัวเขียนว่า[52]

๏ ข้าพระพุทธเจ้าขุนษาราบันจงปลัดกรมจำลอง หลวงลิขิตปรีชาเจ้ากรม ขุนจำนงสุนทรปลัดกรม ธารทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายขอเดชะ ๚ะ

การมีส่วนร่วมในสงครามเมืองพระตะบอง แก้

ช่วงรัชกาลที่ 3 ขณะนั้นมีสงครามระหว่างเขมร และญวน เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้จัดกองทัพเพื่อยกไปเมืองพระตะบอง[53] ใกล้กับจังหวัดจันทบุรี ณ วันเดือนยี่ ปีกุนเอกศก กรมอาลักษณ์ซึ่งหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมขณะนั้นเป็นนายทัพ พร้อมเสื้อพระราชทานนายทัพ ดอกถี่ 1 ชุด ได้จัดบัญชีแก่กองทัพเจ้าคุณจำนวน 2 คน เป็นนาย 1 คน และไพร่ 1 คน และขุนสาราบรรจง ปลัดกรมขวา เป็นนายกอง พร้อมเสื้อพระราชทานนายกอง ดอกลาย 1 ชุด จัดกำลังขุนหมื่นในกรมจัดกำลังจำนวน 25 คน ประกอบด้วยขุนหมื่นในกรม 7 คน ช่างสมุด 6 คน ช่างสมุดเลว 9 คน นาย 2 คน และ ไพร่ 1 คน ตามลำดับ ดังปรากฏใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม 42 ภาคที่ 66 (ต่อ) – 67 เรื่อง จดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี เล่าเรื่องไปชะวา ครั้งที่ 3 ฉบับที่ 2 บัญชีกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เมื่อยกไปเมืองพระตะบอง หน้า 180 วรรคที่ 2 ความว่า "กรมอาลักษณ์ หลวงลิขิตปรีชา นาย ๑ ไพร่ ๑ เป็น ๒ ขุนสาราบรรจง ๑ ขุนหมื่นในกรม ๗ ช่างสมุด ๖ เป็น ๑๓ ช่างสมุดเลว ๙ นาย ๒ ขุนหมื่น ๒๒ เป็น ๒๔ ไพร่ ๑ เป็น ๒๕"[54]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

หมายเหตุ:พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธ์ กรมราชเลขานุการในขณะนั้นรับพระบรมราชโองการใส่เกล้า ฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ข้าราชการกรมพระอาลักษณ์ในรัชกาลก่อนมาจนถึงปีวอกวัตวาศกศักราช 123 ในงานพระราชพิธีสมภาคาภิเษก โดยหมายให้ข้าราชการมาบอกบัญชีที่กรมพระอาลักษณ์ หมายวันที่วันที่ 18 สิงหาคม 2444 โดยให้มาแจ้งความที่หม่อมนิวัทธอิศรวงษ์ (หม่อมราชวงศ์พยอม อิศรศักดิ์) ณ กรมพระอาลักษณ์ ให้จดบัญชีชื่อตั้งชื่อเดิม และรับตำแหน่งยศเป็นที่อะไร ปีใด ศักราชใด ให้เสร็จภายในวันที่ 10 กันยายน รัตนโกสินทร์ศก 122 (พ.ศ. 2446)[55][56] สำหรับตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์โปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (ต.ช.) (ป.ม.) ประจำตำแหน่ง เหรียญราชอิสริยาภรณ์ (ร.ด.ม.) และ (ร.บ.ม.) สำหรับนักกวี ส่วน (ร.จ.พ.) กรณีที่รับราชการมามากกว่า 25 ปี สำหรับเครื่องราชอิสรยาภรณ์จุลจอมเกล้าโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้สำหรับตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ (ชั้น ท.จ.) และร่วมทำหน้าที่ราชการทหาร การสงคราม (ต่อมารัชกาลภายหลังโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีแทน)

อ้างอิง แก้

หมายเหตุ
เชิงอรรถ
  1. ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, สามเจ้าพระยา: เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร), เจ้าพระยาบดินทร์เดชา สิงห์ (สิงหเสนี), เจ้าพระยาทิพากรณ์วงศ์ (ขำ บุนนาค). พระนคร : โรงพิมพ์อาศรมอักษร, 2505.
  2. ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. ประวัติวรณคดีวิจารณ์ไทย พ.ศ. 2325-2525 ทอไหมในสายน้ำ 200 ปี วรรณคดีวิจารณ์ไทย. กรุงเทพฯ : ประพันธ์สานส์, 2541. 291 หน้า. ISBN : 974-230-708-0
  3. นันธนัย ประสานนาม. พิพิธพรรณวรรณา : ความทรงจำและสยาม - ไทยศึกษาในบริบทสากล. กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์, 2556. 352 หน้า. หน้า 303. ISBN 978-616-278-111-7
  4. สมบัติ ปลาน้อย. เจ้าฟ้าจุฑามณี, พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์รวมสาส์น (1977), 2536. 315 หน้า.
  5. ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 เล่ม 2. พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2504.
  6. ชำนาญอักษร (ปลอบ โรจนกุล), พระยา. คำสอนจากขุนพิสณฑ์สู่ลูกหลาน. หน้า 5.
  7. ชำนาญอักษร (ปลอบ โรจนกุล), พระยา. คำสอนจากขุนพิสณฑ์สู่ลูกหลาน. หน้า 18.
  8. ชำนาญอักษร (ปลอบ โรจนกุล), พระยา. คำสอนจากขุนพิสณฑ์สู่ลูกหลาน. หน้า 19.
  9. ข่าวตาย. (๒๔๓๙). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๑๓. หน้า ๒๘๙ – ๒๙๐.
  10. บุญชัย ใจเย็น. "เรื่องการเมืองในวังหลวง," ใน ชายในหม่อมห้าม. กรุงเทพฯ : ปราชญ์, 2556. 160 หน้า. หน้า 65. ISBN 978-616-3442-09-3
  11. ปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์), พระยา. "สุนทรภู่จากพระอมรสินธพ (นก)," ใน ประวัติสุนทรภู่ จากบันทึกของ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์). (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหิดล, 2554. 375 หน้า. หน้า 14. ISBN 978-974-1109-58-6
  12. จดหมายเหตุกรุงรัตนโกสินทร์ ร.๔ จ.ศ. ๑๒๒๓ (พ.ศ. 2404) เลขที่ ๒๘๕.
  13. ประวัติขุนนางวังหน้า ร. 2. กรุงเทพ หน้าที่ 12
  14. เทพ สุนทรศารทูล. ชีวประวัติพระสุนทรโวหาร (ภู่ ภู่เรือหงส์). กรุงเทพฯ : พระนารายณ์, 2533. 225 หน้า. ISBN : 974-575-133-2.
  15. ราชกิจจานุเบกษา. ตำแหน่งข้าราชการกรมรัฐมนตรีแลกรมพระอาลักษณ์ รัตนโกสินทรศก ๑๑๗. เล่ม 15 หน้า 92. ร.ศ. 117 (พ.ศ. 2441).
  16. ราชกิจจานุเบกษา. ตำแหน่งข้าราชการกรมรัฐมนตรีแลกรมพระอาลักษณ์ รัตนโกสินทรศก ๑๑๘. เล่ม 16 หน้า 183. 2 กรกฎาคม ร.ศ. 118 (พ.ศ.2442).
  17. ราชกิจจานุเบกษา. ตำแหน่งข้าราชการราชเลขานุการแลกรมพระอาลักษณ์ ศก ๑๒๙. เล่ม 27 หน้า 665. 10 กรกฎาคม ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453).
  18. ราชกิจจานุเบกษา. ราชพระนามและนามสมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้า. เล่ม 33 หน้า 2,172. 19 พฤศจิกายน 2459.
  19. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศปลดอธิบดีกรมพระอาลักษณ์. เล่ม 49 หน้า 497. 17 ฤศจิกายน 2475.
  20. กลิ่น คงเหมือนเพชร. วรรณกรรมทักษิณ: วรรณกรรมปริทัศน์. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์, 2004. 728 หน้า
  21. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย
  22. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. กายบริหารแบบไทย: ท่าฤๅษีดัดตน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2540. 373 หน้า.
  23. ยูเนสโกขึ้นทะเบียน ‘จารึกวัดโพธิ์’ ‘มรดกความทรงจำของโลก’. (2551, 1 เมษายน). ASTV ผู้จัดการออนไลน์.
  24. เก้า มกรา, (2551). ธรรมลีลา, (89).
  25. ปัฐมาภรณ์ เหมือนทอง. (2554). การศึกษาฤๅษีดัดตนเพื่อเป็นแนวคิดในการออกแบบตกแต่งภายในสถานบริการแพทย์แผนไทย. (วิทยานิพนธ์ศิลปมหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  26. สุจิตต์ วงษ์เทศ. ศิลปวัฒนธรรม เล่มที่ 24 ฉบับที่ 4-6. [ม.ป.ป.] : 2546.
  27. สุจิตต์ วงษ์เทศ. คนแปลกหน้านานาชาติของกรุงสยาม. มติชน 2546.
  28. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2538.
  29. ศานติ ภักดีคำ. เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กับบทบาทสร้างเมืองใหม่ในกัมพูชา. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับวันพุธที่ 25 ธันวาคม 2562, สิบค้น เมษายน, 2563
  30. รวมสารบัญหนังสือชุด "วชิรญาณ". กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2561. 404 หน้า. ISBN 978-616-412-012-9
  31. กรมศิลปากร. (2495). วารสารศิลปากร, 6(5): 32.
  32. หอพระสมุดวชิรญาณ. โคลงพิพิธพากย์. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2457. พระยาราชพินิจจัย พิมพ์แจกในงานศพ ว่าที่นายพันโท หลวงไกรกรีธา (ยรรยง บุรณศิริ) พ.ศ. ๒๔๕๗.
  33. หนังสือเก่าชาวสยาม, วชิรญาณวิเศษ เล่ม ๘ แผ่น ๑๖ - ๒๐. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำนักหอสมุดแห่งชาติ.
  34. กรมศิลปากร, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. นิทานวชิรญาณ เล่ม 1 - 2. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2555. 849 หน้า. ISBN 978-616-283-002-0
  35. เอมอร จิตตะโสภณ. วรรณคดีนิราศ. ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2521
  36. จันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี, หม่อมเจ้า. นิราศนรินทร์คำโคลงและนิราศปลีกย่อย ฉบับพิมพ์. กรุงเทพ ฯ : แพร่พิทยา, 2513. 347 หน้า
  37. พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร. สำเภาสยาม ตำนานเจ๊กบางกอก. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2544.
  38. ห้องสมุดส่วนตัวรัตนชาติ
  39. บรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค), สมเด็จเจ้าพระยา, และคณะ. ตำรานพรัตน์. พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ทรงแจกในงานทรงบำเพ็ญพระราชกุศล “ฉลองพระชนมายุครบหกสิบพรรษา” วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2464. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2464.
  40. เอนก นาวิกมูล. เที่ยวชมหนังสือเก่า. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2541. 385 หน้า
  41. อรุณวรรณ คงมีผล. "อัญมณีวิทยาในวรรณคดีไทย," ใน วารสารมนุษยศาสตร์ 20, พิเศษ (2556): 16. ISSN 0859-3485
  42. พลูหลวง. คติสยาม. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2540. 203 หน้า. ISBN 978-974-7367-81-2
  43. สุริยวงศ์มนตรี, พระยา และคณะ. ตำรานพรัตน์. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2464. 23 หน้า. หน้า 1.
  44. ปูมราชธรรม เอกสารสมัยอยุธยาจากหอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 224 หน้า
  45. นิยะดา เหล่าสุนทร. พินิจวรรณคดี รวมบทความวิชาการด้านวรรณคดี. กรุงเทพฯ : แม่คำผาง, 2544.
  46. ตำราพิไชยสงครามคำกลอน. พระนคร : สำนักพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2469. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพลตรี พระยารามจตุรงค์ (เพ็ชร บุณยรัตพันธุ์)
  47. ภมรี สุรเกียรติ. เสนางตพยุหะ และพยุหจักรี: ตำราพิชัยสงครามพม่าสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18. สงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ปีที่ 20;1:235.
  48. "ตำราพิไชยสังคราม" สมุดไทยดำ อักษรไทย เส้นสีเหลือง, 179, หน้าต้น อ้างถึงใน วสันต์ มหากาญจนบะ, 2539, 13-14
  49. ศานติ ภักดีคำ. ยุทธมรรคา เส้นทางเดินทัพไทยเขมร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557. 288 หน้า. หน้า 44. ISBN 978-974-0213-42-0 อ้างใน ตราให้หากองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชากลับจากกัมพูชา.
  50. ศิลปากร เล่มที่ 46, ฉบับที่ 1-3. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, พ.ศ. 2546.
  51. พระราชปุจฉาในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-รัชกาลที่ ๕ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2513. หน้า 68–76.
  52. ศานติ ภักดีคำ (ชำระ, บรรณาธิการ). "บานแพนก," ใน พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2558. 558 หน้า. หน้า 2. ISBN 978-616-91351-0-1 มูลนิธิ "ทุนพระพุทธยอดฟ้า" ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔) ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘.
  53. หอสมุดแห่งชาติ. จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3, เลขที่ 13, หนังสือออกญาสุภาวดี เรื่อง ส่งหลวงลิขิตปรีชาออกสืบราชการ
  54. ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ ๔๒ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๗ (ต่อ) ๖๘) จดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวนในรัชกาลที่ ๓ ตอนที่ ๑ (ต่อ) และตอนที่ ๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2512. 296 หน้า. หน้า 180.
  55. ราชกิจจานุเบกษา. หมายให้ข้าราชการมาบอกบัญชีที่กรมพระอาลักษณ์. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธ์ ราชเลขานุการ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลาในรัชกาลก่อนมาจนถึงปีวอกวัตวาศกศักราช ๑๒๓๔ ในงานพระราชพิธีสมภาคาภิเษก. กรุงเทพ ฯ. เล่มที่ 18 หน้า 296 วันที่ 18 สิงหาคม 2444.
  56. ตำแหน่งข้าราชการกรมรัฐมนตรีและกรมอาลักษณ์ รัตนโกสินทร์ศก 118 ตำแหน่งเจ้ากรมอาลักษณ์
บรรณาณุกรม
  • ชำนาญอักษร (ปลอบ โรจนกุล), พระยา. (2467). คำสอนจากขุนพิสณฑ์สู่ลูกหลาน. พิมพ์แจกในงานศพ พ.ท.หลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) ท.ช., ร.จ.ม. เมื่อปีจอ วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ณ เมรุวัดอมรินทรารามวรวิหาร บางกอกน้อย. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
  • สมมตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ, และคณะ. (2556). สุริยพันธุ์คำกลอน. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ISBN 978-616-5-43226-9
  • โครงการประชุมวิชาการมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 2 วันที่ 22-23 สิงหาคม 2562 ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์: 106-107.