สะพานชุดเฉลิม เป็นสะพานที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 42 พรรษา ใน พ.ศ. 2438 ถึง พ.ศ. 2453 อันเป็นปีสิ้นรัชกาลรวมทั้งสิ้น 17 สะพาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญของสะพานข้ามคลองในการสัญจรของประชาชน และเป็นเครื่องประดับพระนครให้สมบูรณ์งดงาม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์เท่าพระชนมวาร วันละ 1 สลึง เป็นค่าก่อสร้างสะพานชุดเฉลิมในแต่ละปี โดยมีกระทรวงโยธาธิการทำหน้าที่ออกแบบและดำเนินการก่อสร้าง และมีสถาปนิกและวิศวกรเป็นชาวต่างประเทศ ทุกสะพานมีแผ่นจารึกชื่อและตราพระปรมาภิไธยย่อ จปร.

สะพานเฉลิมเผ่า 52
สะพานเฉลิมพันธุ์ 53 บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สะพานเฉลิมโลก 55 ย่านประตูน้ำ
สะพานเฉลิมหล้า 56 หรือสะพานหัวช้าง
สะพานเฉลิมเดช 57 ข้ามคลองหัวลำโพงที่ปลายถนนสี่พระยา หรือแยกสามย่านในปัจจุบัน

รายชื่อสะพาน

แก้

สะพานชุดเฉลิมทั้ง 17 สะพาน เดิมกำหนดชื่อเป็นคำว่า เฉลิม ตามด้วยตัวเลขปีพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในแต่ละปีที่สร้าง แต่ต่อมามีพระราชปรารภว่าชื่อสะพานที่มีเพียงคำว่าเฉลิม และตัวเลขกำกับยากต่อการเรียก ใน พ.ศ. 2452 จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสะพานทั้ง 15 สะพาน ดังนี้

  1. สะพานเฉลิมศรี 42 สร้างข้ามคลองบางขุนพรหม ที่ถนนสามเสน เปิดใช้เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2438 (รื้อถอนแล้วเนื่องจากคลองถูกถมทิ้ง แนวคลองที่ถูกถมในปัจจุบันคือซอยสามเสน 5 (วัดสามพระยา) และซอยสามเสน 8/1)
  2. สะพานเฉลิมศักดิ์ 43 สร้างข้ามคลองอรชร ที่ถนนหัวลำโพงนอก (ปัจจุบันคือ ถนนพระรามที่ 4) หรือบริเวณแยกอังรีดูนังต์ในปัจจุบัน เปิดใช้เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2439 (รื้อถอนแล้วเนื่องจากคลองถูกถมทิ้งเพื่อขยายถนนอังรีดูนังต์)
  3. สะพานเฉลิมเกียรติ 44 สร้างข้ามคลองหัวลำโพง ที่ปลายถนนสาทรเชื่อมถนนหัวลำโพง (ปัจจุบันคือถนนพระรามที่ 4) หรือบริเวณแยกวิทยุในปัจจุบัน เปิดใช้เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2440 (รื้อถอนแล้วเนื่องจากคลองถูกถมทิ้งเพื่อขยายถนนพระรามที่ 4)
  4. สะพานเฉลิมยศ 45 สร้างข้ามคลองวัดพระพิเรนทร์ ที่ถนนวรจักร เปิดใช้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 (รื้อถอนแล้วเนื่องจากคลองถูกถมทิ้ง แนวคลองที่ถูกถมในปัจจุบันคือถนนคลองถมวัดพระพิเรนทร์ (ทางเข้าวัดพระพิเรนทร์) และถนนเจ้าคำรบ)
  5. สะพานเฉลิมเวียง 46 สร้างข้ามคลองตรอกเต๊า ที่ถนนเยาวราช เปิดใช้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 (รื้อถอนแล้วเนื่องจากคลองถูกถมทิ้ง แนวคลองที่ถูกถมในปัจจุบันคือซอยเยาวราช 8 และซอยเยาวราช 15 (ตรอกเต๊า))
  6. สะพานเฉลิมวัง 47 สร้างข้ามคลองสะพานถ่าน หรือคลองหลอดวัดราชบพิธ ที่ถนนอุณากรรณ เปิดใช้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443 (ปัจจุบันยังมีอยู่ โดยเป็นสะพานที่ถูกสร้างใหม่เนื่องจากการขยายถนน โดยสร้างให้ตัวสะพานอยู่ระดับเดียวกันกับพื้นผิวถนน แต่ไม่ปรากฏชื่อที่ราวสะพาน)
  7. สะพานเฉลิมกรุง 48 สร้างข้ามคลองวัดจักรวรรดิ ที่ถนนเจริญกรุง เปิดใช้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 (รื้อถอนแล้วเนื่องจากคลองถูกถมทิ้ง แนวคลองที่ถูกถมในปัจจุบันคือถนนมหาจักร (คลองถม))
  8. สะพานเฉลิมเมือง 49 สร้างข้ามคลองสาทร ที่ถนนสุรศักดิ์ หรือบริเวณแยกสาทร-สุรศักดิ์ในปัจจุบัน เปิดใช้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2445 (รื้อถอนแล้วเนื่องจากการขยายถนนสาทรเหนือและสาทรใต้เพื่อรองรับการก่อสร้างสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
  9. สะพานเฉลิมภพ 50 สร้างข้ามคลองหัวลำโพง ที่ปลายถนนสุรวงศ์เชื่อมถนนหัวลำโพง (ปัจจุบันคือถนนพระรามที่ 4) หรือบริเวณแยกอังรีดูนังต์ในปัจจุบัน เปิดใช้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 (รื้อถอนแล้วเนื่องจากคลองถูกถมทิ้งเพื่อขยายถนนพระรามที่ 4)
  10. สะพานเฉลิมพงษ์ 51 สร้างข้ามคลองสะพานถ่าน หรือคลองหลอดวัดราชบพิธ ที่ถนนเฟื่องนคร เปิดใช้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447 (ปัจจุบันยังมีอยู่ โดยเป็นสะพานที่ถูกสร้างใหม่เนื่องจากการขยายถนน โดยสร้างให้ตัวสะพานอยู่ระดับเดียวกันกับพื้นผิวถนน แต่ไม่ปรากฏชื่อที่ราวสะพาน)
  11. สะพานเฉลิมเผ่า 52 สร้างข้ามคลองอรชร ที่ถนนปทุมวัน (ปัจจุบันคือ ถนนพระรามที่ 1) หรือบริเวณแยกเฉลิมเผ่าในปัจจุบัน เปิดใช้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448 (รื้อถอนแล้วเนื่องจากคลองถูกถมทิ้งเพื่อขยายถนนอังรีดูนังต์ แต่ยังปรากฏราวสะพานให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน)
  12. สะพานเฉลิมพันธุ์ 53 สร้างข้ามคลองสามจีน หรือคลองวัดไตรมิตรวิทยาราม ที่ถนนเจริญกรุง หรือบริเวณวงเวียนโอเดียนในปัจจุบัน เปิดใช้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 ต่อมาเมื่อคลองสามจีนถูกถมเพื่อสร้างถนนตรีมิตร (รวมถึงแนวถนนมิตรภาพไทย-จีนด้วย) จึงได้มีการรื้อสะพานเดิมทิ้ง และย้ายชิ้นส่วนของสะพานเดิมไปสร้างใหม่เป็นสะพานข้ามคลองสาทร ที่ถนนเจริญกรุง หรือบริเวณใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในปัจจุบัน
  13. สะพานเฉลิมภาคย์ 54 สร้างข้ามคลองสีลม ที่ถนนเจริญกรุง หรือบริเวณแยกบางรักในปัจจุบัน เปิดใช้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 (รื้อถอนแล้วเนื่องจากคลองถูกถมทิ้งเพื่อขยายถนนสีลม และแนวคลองที่ถูกถมในปัจจุบันส่วนหนึ่งคือซอยเจริญกรุง 42 (ซอยวัดสวนพลู))
  14. สะพานเฉลิมโลก 55 สร้างข้ามคลองแสนแสบ ที่ถนนราชดำริและถนนเพชรบุรี หรือบริเวณแยกประตูน้ำในปัจจุบัน เปิดใช้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451
  15. สะพานเฉลิมหล้า 56 สร้างข้ามคลองแสนแสบ ที่ถนนพญาไท หรือบริเวณแยกปทุมวันในปัจจุบัน เปิดใช้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452

ต่อมาได้พระราชทานพระราชทรัพย์ไว้สำหรับสร้างสะพานใน 2 ปีข้างหน้า แต่ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน การสร้างสะพานที่ 16 และ 17 จึงมาสำเร็จในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 สะพานดังกล่าว ได้แก่

  1. สะพานเฉลิมเดช 57 สร้างข้ามคลองหัวลำโพง ที่ปลายถนนสี่พระยาเชื่อมถนนหัวลำโพง (ปัจจุบันคือ ถนนพระรามที่ 4) หรือบริเวณแยกสามย่านในปัจจุบัน เปิดใช้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 (รื้อถอนแล้วเนื่องจากคลองถูกถมทิ้งเพื่อขยายถนนพระรามที่ 4)
  2. สะพานเฉลิมสวรรค์ 58 สร้างข้ามคลองคูเมืองเดิม ที่ถนนพระอาทิตย์ หรือบริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าในปัจจุบัน เปิดใช้เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2455 (รื้อถอนแล้วเนื่องจากการก่อสร้างสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า)

ปัจจุบัน

แก้

ปัจจุบันสะพานชุดเฉลิมทั้ง 17 สะพานนี้ ถูกรื้อถอนไปแล้ว 12 สะพาน และถูกดัดแปลงรูปแบบสะพานอีก 2 สะพาน เนื่องจากมีการขยายถนน และการถมคลองเพื่อสร้างถนนแทนที่

สำหรับสะพานชุดเฉลิมที่ถูกรื้อถอนไปแล้ว แต่ยังคงปรากฏร่องรอยให้เห็นอยู่ มี 1 สะพาน ได้แก่ สะพานเฉลิมเผ่า 52 ยังคงปรากฏเพียงส่วนของราวสะพานที่มีชื่อสะพานจารึกอยู่ในบริเวณริมทางเท้าแยกเฉลิมเผ่า ถนนพระรามที่ 1 หลังจากที่มีการบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2506

ส่วนสะพานชุดเฉลิมที่ยังคงปรากฏอยู่และใช้งานได้จนถึงปัจจุบัน มี 5 สะพาน ได้แก่

  1. สะพานเฉลิมวัง 47 (ไม่ปรากฏชื่อที่ราวสะพาน)
  2. สะพานเฉลิมพงษ์ 51 (ไม่ปรากฏชื่อที่ราวสะพาน)
  3. สะพานเฉลิมพันธุ์ 53
  4. สะพานเฉลิมโลก 55
  5. สะพานเฉลิมหล้า 56 โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า สะพานหัวช้าง

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  • โชติช่วง, บูรพา (2014-06-22). "สะพานชุดเฉลิมในรัชกาลที่ 5". สยามรัฐ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-16. สืบค้นเมื่อ 2018-02-25.