ย่านสามย่าน

(เปลี่ยนทางจาก แยกสามย่าน)

สามย่าน เป็นสี่แยกในเขตปทุมวันและเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เป็นจุดตัดของถนนพระรามที่ 4 ถนนพญาไท และถนนสี่พระยา รวมทั้งเป็นชื่อของย่านที่อยู่รอบ ๆ ทางแยกนี้

สี่แยก สามย่าน
มุมสูงของแยกสามย่านยามค่ำคืน
แผนที่
ชื่ออักษรไทยสามย่าน
รหัสทางแยกN047 (ESRI), 088 (กทม.)
ที่ตั้งแขวงวังใหม่ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน และแขวงมหาพฤฒาราม แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร

ประวัติ

แก้

ภูมิหลัง

แก้
 
สะพานเฉลิมเดช 57 ข้ามคลองหัวลำโพงที่ปลายถนนสี่พระยา หรือแยกสามย่านในปัจจุบัน

เมื่อ พ.ศ. 2400 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการขุดคลองถนนตรงตั้งแต่หน้าป้อมผลาญไพรีราบ (ตรงหัวลำโพง) ตัดทุ่งลงไปถึงคลองพระโขนง ส่วนถนนเลียบคลองก็เรียก ถนนตรง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ถนนพระรามที่ 4 ถนนสายนี้มีทางรถไฟสายปากน้ำ (เปิด พ.ศ. 2436) แต่ภายหลังได้ยกเลิกรถไฟและถมคลองถนนตรงกลายเป็นถนน (พ.ศ. 2503)[1]

พ.ศ. 2443 เปิดใช้รถรางกรุงเทพ สายสามเสน โดยวิ่งจากบางกระบือ วิ่งบนถนนสามเสน ผ่านเทเวศร์ บางลำพู พาหุรัด เยาวราช หัวลำโพง รวมถึงผ่านสามย่าน บริเวณนี้วิ่งขนานไปกับทางรถไฟสายปากน้ำ สุดสายที่คลองเตย[2]

พ.ศ. 2449 มีการตัดถนนสี่พระยา ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2451 มีการตัดถนนพญาไทจากสี่พระยามาจนถึงถนนประแจจีน (ถนนเพชรบุรี)[3]

มีการสร้างสะพานอุทิศส่วนกุศลถวายแด่รัชกาลที่ 5 ชื่อ สะพานอุเทนถวาย เปิดสะพานอุเทนถวายเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2446 เป็นสะพานข้ามคลองอุเทน ภายหลังถูกรื้อเมื่อ พ.ศ. 2505 ที่ตั้งของสะพานอุเทนถวายในปัจจุบันอยู่ราวแนวรั้วคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนอาคารแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สร้างคือ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ สร้างราว พ.ศ. 2459–2461

พ.ศ. 2453 มีการสร้างสะพานเฉลิมเดช 57 เป็นสะพานปูนข้ามคลองถนนตรง เชื่อมระหว่างถนนสี่พระยากับถนนพญาไท หรือแยกสามย่านในปัจจุบัน[4]

ชุมชน

แก้

บริเวณหัวมุมถนนพระราม 4 ตัดกับถนนพญาไท เป็นที่ตั้งของวัดหัวลำโพงเป็นวัดเก่าแก่ คาดว่าสร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 โดยอาศัยการสันนิษฐานจากรูปทรงของอุโบสถหลังเก่าและเจดีย์ด้านหลัง บริเวณนั้นคงเป็นชุมชนมานานแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐิน[5]

จากแผนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2467 มีคนอยู่อาศัยเรียกว่าเป็นหมู่บ้านได้เพียง 3 บริเวณ คือ บริเวณสะพานเหลือง สามย่าน และตลาดเจริญผล นอกจากนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนผักและสวนมะลิ รวมถึงเป็นสลัม ต่อมามีผู้คนและหน่วยงานราชการเข้ามาเช่าที่ดินมากขึ้น สภาพที่ดินจึงเริ่มกลายเป็นอาคารบ้านเรือน[6]

ศาลเจ้า

แก้
 
ศาลเจ้าพ่อเสือ สามย่าน เมื่อปี พ.ศ. 2566
 
ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง เมื่อปี พ.ศ. 2566

ศาลเจ้าพ่อเสือ สามย่าน หรือ ศาลฮุกโจ้ว แต่เดิมตั้งอยู่ในชุมชนหัวลำโพง (หวัก ลัม คง เสีย) ชุมชนจีนเก่าแก่ที่อยู่ตรงข้ามกับวัดหัวลำโพง สร้างขึ้นในราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงราว พ.ศ. 2508 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอขยายเขตการศึกษา เพื่อสร้างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี รวมถึงอาคารเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ และ ศาลาพระเกี้ยว จึงได้ขอให้ชุมชนและศาลเจ้าย้ายออกจากพื้นที่ จึงได้ย้ายไปที่แห่งใหม่ที่ซอยจุฬาลงกรณ์ 50 อันแวดล้อมไปด้วย ตลาดสามย่าน โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร อัญเชิญเทพเจ้ามาประดิษฐานในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2509 (1 ค่ำ เดือน 11 ตามปฏิทินจีน)[7]

ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ที่ตั้งอยู่ในซอยจุฬาลงกรณ์ 9 อาคารจะมีอายุไม่ถึงร้อยปี (ประมาณ 50 ปี) แต่ศาลมีกระถางธูปที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้กับทางศาลเจ้า เป็นเครื่องสังเค็ดเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2454 โดยบนกระถางธูปมีพระปรมาภิไธยย่อ จปร. พร้อมด้วยอักษรภาษาจีนสลัก[8]

ส่วนศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองอีกแห่ง สร้างไว้ภายในบริเวณอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ[9]

ตลาดสามย่าน

แก้

ชุมชนบริเวณสามย่านเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ก่อน พ.ศ. 2500 มีตลาดของชุมชนที่ยังไม่มีชื่อเรียก เป็นเพียงตลาดไม้ 2 ชั้นของชุมชน

10 สิงหาคม พ.ศ. 2504 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำสัญญาปรับปรุงที่ดินบริเวณสามย่านกับบริษัทวังใหม่ จำกัด เป็นการบริหารจัดการที่ดินในเขตพาณิชย์แห่งแรก ของมหาวิทยาลัย จนเมื่อ พ.ศ. 2508 มีการยกระดับตลาดไม้ให้กลายเป็นตลาดสดที่มีมาตรฐาน พร้อมกับใช้ชื่อว่า ตลาดสามย่าน ลักษณะเป็นตลาดที่ค้าขายชั้นล่าง ส่วนชั้นบนเป็นคนอยู่อาศัย รายล้อมด้วยชุมชนจำนวนมาก ต่อมา พ.ศ. 2530 มีการปรับปรุงตลาดสดสามย่านใหม่อีกครั้ง โดยพื้นที่ชั้นล่าง ขายของสด ส่วนชั้น 2 เปลี่ยนจากที่อยู่อาศัยเป็นร้านขายอาหาร[10]

พ.ศ. 2550 สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตัดสินใจย้ายตลาดสามย่านเดิมจากบริเวณจุฬาฯ ซอย 15 มาอยู่บริเวณระหว่างจุฬาฯ ซอย 32 และ 34 และเปิดให้บริการตลาดสามย่านใหม่เมื่อ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีลักษณะคล้ายตลาดสามย่านเก่า ที่ชั้นล่าง ขายของสด และชั้นบนเป็นร้านขายอาหาร

บริเวณพื้นที่รอบตลาดสามย่านในอดีต มีร้านนพชูส์ ร้านตัดรองเท้าของสามย่าน ร้านถ่ายรูปอัดรูป ทีมคัลเลอร์แล็บ โรงภาพยนตร์สามย่านรามา โจ๊กสามย่าน ร้านโชห่วยจีฉ่อย และโรงจำนำฮะติ๊ดหลี[11] ร้านเครื่องเขียน ส.ส่งเสริม ร้านตี๋เป็นร้านเทปในซอกตึกแถวใกล้จีฉ่อย เซเว่น อีเลฟเว่นสาขาสามย่าน ซึ่งเป็นสาขาที่ 8 ตรงข้ามตลาดสามย่านมีโรงแรมแมนดารินและโรงหนังราม่า (พ.ศ. 2518–2555)

สถานศึกษา

แก้

พ.ศ. 2507 ได้ย้ายสถานที่ตั้งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากบริเวณเรือนภะรตราชามายังซอยจุฬาฯ 11[12] บริเวณสามย่านยังเคยมีโรงเรียนศึกษาวัฒนาเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ตั้งอยู่ตรงข้ามคณะนิติศาสตร์

จัตุรัสจามจุรี

แก้

บริเวณจัตุรัสจามจุรี หรือเรียกว่า บริเวณหมอน 20 อยู่ข้างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่เศษ เดิมเป็นอาคารพาณิชย์ลักษณะตึกแถว 2 ชั้น และ 3 ชั้น ที่พัฒนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2507 จำนวน 366 คูหา และอาคารตลาด โต้รุ่ง 1 หลัง มีร้านอาหารทะเล สมบูรณ์ภัตตาคาร ดำเนินกิจการเมื่อ พ.ศ. 2512[13] บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของร้านโจ๊กสามย่านด้วย

เมื่อ พ.ศ. 2531 จุฬามีโครงการในบริเวณนี้ว่า จุฬาไฮเทค มีเป้าหมายที่จะให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาพักอาศัย แต่เมื่อก่อสร้างฐานรากและตัวอาคารสูงทั้งสองถึงประมาณชั้นที่ 13 ก็ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้การก่อสร้างต้องหยุดตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2539 ภายหลังมหาวิทยาลัยได้เข้ามาดูแลโครงการใหม่ในชื่อ จัตุรัสจามจุรี โดยดำเนินงานปรับปรุงอาคาร และเปิดอาคารอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2551[6]

ปัจจุบัน

แก้

รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เปิดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 โดยบริเวณสามย่านเป็นที่ตั้งของสถานีสามย่าน จากนั้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2562 เปิดสามย่านมิตรทาวน์บริเวณที่ตั้งของตลาดสามย่านเก่า โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ บนพื้นที่กว่า 14 ไร่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบไปด้วย ศูนย์การค้า สำนักงานและที่พักอาศัย[14]

ย่านสามย่านมีคอนโดมีเนียมตามแนวถนนพระรามที่ 4 ได้แก่ จามจุรี Square Residence (พ.ศ. 2551) Ideo Q จุฬา-สามย่าน (พ.ศ. 2561) และ Triple Y Residence (พ.ศ. 2562)[15]

สถานที่สำคัญ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "ย้อนรอย 100 ปี ถนนพระราม 4 : อดีต ปัจจุบันและอนาคต". ดีแทค. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-08. สืบค้นเมื่อ 2022-02-08.
  2. "รถราง สายสามเสน". Thailand old Pictures.
  3. บัณฑิต จุลาสัย. "ร้อยปีจุฬาฯ ในแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ".
  4. โรม บุนนาค. "สะพานที่หายไปเมื่อคลองถูกถมเป็นถนน! สะพาน "ชุดเฉลิม" ของ ร.๕ เกือบไม่เหลือ!!". ผู้จัดการออนไลน์.
  5. "วัดหัวลำโพง (พระอารามหลวง) แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร". ทัวร์วัดไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-08. สืบค้นเมื่อ 2022-02-08.
  6. 6.0 6.1 "100 ปี การบริหารจัดการที่ดินเขตจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" (PDF). สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  7. "สักการะตั่วเหล่าเอี๊ย ศาลเจ้าพ่อเสือ สามย่าน จุดมูปังๆ ย่านจุฬาฯ". เอ็มไทย.
  8. "'ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง' พื้นที่ประวัติศาสตร์ของบรรทัดทอง-สามย่าน กับการต่อสู้เพื่อไม่ให้เหลือเพียงความทรงจำ". brandthink.me.
  9. "#saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่มาพร้อมกับการ saveวัฒนธรรมศาลเจ้า". สารคดีไลต์.
  10. "รู้จักย่านสามย่านแบบเจาะลึก".
  11. "บางอย่างที่ขาดหายไป ใน "สามย่านมิตรทาวน์"". ไทยรัฐ.
  12. "โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม".
  13. "สามย่านแห่งความหลัง 60 ปีก่อนมี "มิตรทาวน์"". ไทยรัฐ.
  14. "สามย่านมิตรทาวน์ มิตรสัมพันธ์ของการเปลี่ยนผ่านย่านจากอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต". urbancreature.co.
  15. "ตามหาคอนโดงบ 5 ล้าน ใกล้จุฬา (สามย่าน)".

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°43′58″N 100°31′44″E / 13.732806°N 100.528753°E / 13.732806; 100.528753