สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในจักรวรรดิการอแล็งเฌียง

ในจักรวรรดิการอแล็งเฌียง สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (อังกฤษ: Carolingian Renaissance) เกิดขึ้นเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 8 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 9 โดยมีจุดที่รุ่งเรืองที่สุดในรัชสมัยของจักรพรรดิชาร์เลอมาญและจักรพรรดิหลุยส์ผู้ศรัทธาพระราชโอรส

การอแล็งเฌียงสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา
Carolingian Renaissance
ส่วนหนึ่งของ: การฟื้นฟูการศึกษาและ
วัฒนธรรมตะวันตก

พระวรสารอาเคิน” (ราว ค.ศ. 820)
ซึ่งเป็นตัวอย่างงานเอกสารตัวเขียนสีวิจิตรของการอแล็งเฌียงสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา
ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม
ช่วงเวลา ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 8 จนถึง คริสต์ศตวรรษที่ 9
ภูมิภาค ฝรั่งเศส
เกี่ยวข้อง ศิลปะไบแซนไทน์
สมัยต่อมา ศิลปะโรมาเนสก์
วัฒนธรรมตะวันตก

ระหว่างช่วงเวลานี้ก็มีการศึกษาวรรณคดี, การเขียน, ศิลปะ, สถาปัตยกรรม, นิติศาสตร์, และหนังสือทางเทววิทยาศาสนาคริสต์กันอย่างแพร่หลาย นอกจากนั้นก็ยังเป็นสมัยของการวิวัฒนาการภาษาละตินสมัยกลาง และอักษรกาโรแล็งเฌียงกันขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างภาษาและวิธีการเขียนที่เป็นสามัญที่สามารถนำมาใช้ในการสื่อสารไปได้เกือบทั่วทั้งยุโรป

การใช้คำว่า “renaissance” หรือ “สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา” ในการบรรยายช่วงเวลานี้ก็เป็นประเด็นที่โต้แย้งกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในยุคนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มนักบวชเท่านั้น และขาดการเคลื่อนไหวโยกย้ายอย่างกว้างขวางเช่นที่เกิดขึ้นในอิตาลีสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาต่อมา[1] แทนที่จะเป็นการรื้อฟื้นของขบวนการทางวัฒนธรรมใหม่ ยุคนี้เป็นเพียงการพยายามที่จะเลียนแบบวัฒนธรรมของจักรวรรดิโรมันก่อนหน้านั้น[2]

ความพยายามของผู้มีการศึกษา

แก้

ความขาดแคลนผู้มีการศึกษาในคริสต์ศตวรรษที่ 8 ของยุโรปตะวันตกก่อให้เกิดปัญหาสำหรับนักปกครองกาโรแล็งเฌียงโดยจำกัดจำนวนผู้ที่มีความสามารถที่จะเข้ารับราชการในราชสำนักในฐานะนักคัด นอกจากนั้นปัญหาที่ใหญ่กว่าต่อประมุขผู้เคร่งครัดทางศาสนาคือนักบวชบางองค์ก็ไม่มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญพอที่จะอ่านคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาละติน (Vulgate Bible) ได้ ปัญหาอื่นก็คือภาษาละตินพื้นบ้านของจักรวรรดิโรมันตะวันตกเริ่มที่จะขาดมาตรฐานและเพี้ยนไปเป็นภาษาท้องถิ่น ที่เป็นบรรพบุรุษของภาษากลุ่มโรมานซ์ในปัจจุบัน ภาษาที่เพี้ยนไปก็เป็นภาษาที่ไม่มีความหมายและทำให้ผู้มีการศึกษาจากภูมิภาคต่าง ๆ ในยุโรปไม่อาจจะสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 
อัลควิน (กลาง) นักการศึกษาคนสำคัญของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาคาโรแล็งเชียง

ในการพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวจักรพรรดิชาร์เลอมาญจึงมีพระบรมราชโองการให้ก่อตั้งสถานศึกษาต่าง ๆ ขึ้น องค์ประกอบสำคัญของโครงการปฏิรูปของพระองค์คือการพยายามดึงดูดผู้นำทางการศึกษาเข้ามารับราชการในราชสำนัก กลุ่มคนแรกในบรรดาผู้ที่ทรงเรียกตัวมายังราชสำนักก็ได้แก่ชาวอิตาลี: ปีเตอร์แห่งปิซาผู้ถวายอักษรภาษาละตินให้แก่พระองค์ระหว่าง ค.ศ. 776 จนถึงราว ค.ศ. 790 และพอลินัสที่ 2 แห่งอควิเลเอียระหว่าง ค.ศ. 776 จนถึง ค.ศ. 787 ผู้ที่จักรพรรดิชาร์เลอมาญทรงแต่งตั้งให้เป็นบิชอปแห่งอควิเลเอียในปี ค.ศ. 787 พอลเดอะดีคอนจากลอมบาร์ดีถูกนำตัวมายังราชสำนักในปี ค.ศ. 782 และอยู่ต่อมาจนถึง ค.ศ. 787 เมื่อจักรพรรดิชาร์เลอมาญทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสที่มอนเตคาสซิโน ทีโอดุลฟ์แห่งออร์เลอองส์ผู้เป็นชาววิซิกอธสเปนรับราชการในราชสำนักระหว่างปี ค.ศ. 782 จนถึงปี ค.ศ. 797 เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบิชอปแห่งออร์เลอ็อง ทีโอดุลฟ์มีบทบาทในการสร้างมาตรฐานให้แก่คัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาละตินแข่งอย่างเป็นมิตรกับอัลคิวอิน อัลคิวอินเป็นนักบวชจากนอร์ทธัมเบรียผู้มีตำแหน่งเป็นประธานของสถานศึกษาของราชสำนักระหว่างปี ค.ศ. 782 จนถึงปี ค.ศ. 796 ยกเว้นระหว่างปี ค.ศ. 790 จนถึงปี ค.ศ. 793 เมื่อเดินทางกลับไปอังกฤษ หลังจากปี ค.ศ. 796 อัลคิวอินก็ดำเนินการค้นคว้าทางวิชาการในฐานะเจ้าอาวาสอยู่ที่สำนักสงฆ์เซนต์มาร์ตินที่เมืองตูร์[1] ในบรรดาผู้ติดตามอัลคิวอินข้ามจากอังกฤษไปรับราชการในราชสำนักของจักรพรรดิชาร์เลอมาญก็ได้แก่โจเซฟ สกอตตัสชาวไอร์แลนด์ หลังจากนักการศึกษารุ่นแรกที่เป็นชาวต่างประเทศแล้ว ลูกศิษย์ที่เป็นชาวแฟรงค์เช่นอองชิลแบร์ตก็มีบทบาทต่อมา

ราชสำนักต่อมาของจักรพรรดิหลุยส์ผู้ศรัทธาและ จักรพรรดิคาร์ลที่ 2 หรือ “ชาลส์เดอะบอลด์” ก็ทรงอุปถัมภ์กลุ่มนักการศึกษาเช่นเดียวกันในราชสำนัก บุคคลที่สำคัญที่สุดในบรรดานักการศึกษาเหล่านี้ก็ได้แก่โยฮันน์ส สโคทัส อีรูจินานักปรัชญา, นักเทววิทยา และกวีชาวไอร์แลนด์

กิจการสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการสร้างหลักสูตรมาตรฐานเพื่อใช้ในสถานศึกษาต่าง ๆ ที่เพิ่งทำการก่อตั้งขึ้น อัลควินเป็นผู้นำในโครงการดังกล่าวและเป็นผู้รับผิดชอบในการเขียนตำรา, สร้างรายชื่อคำศัพท์ และวางรากฐานของไตรศาสตร์และจตุรศิลปศาสตร์เพื่อเป็นพื้นฐานของการศึกษา[3]

อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยนี้คือการวิวัฒนาการอักษรกาโรแล็งเฌียง ที่ใช้เป็นครั้งแรกที่อารามคอร์บีและตูร์ ที่ประกอบด้วยการใช้อักษรตัวเล็ก (lower case) กันเป็นครั้งแรก นอกจากนั้นก็ยังมีการสร้างภาษาละตินมาตรฐานที่เป็นภาษาที่สามารถสร้างคำใหม่ได้ ขณะที่ยังคงรักษาโครงสร้างทางไวยากรณ์ของภาษาละตินคลาสสิกเอาไว้ ภาษาละตินสมัยกลางที่วิวัฒนาการขึ้นมากลายมาเป็นภาษากลางในการให้การศึกษา และสำหรับข้าราชการผู้บริหารและนักเดินทางสามารถเป็นที่เข้าใจในบริเวณต่าง ๆ ของยุโรป[4]

ศิลปะการอแล็งเฌียง

แก้

ศิลปะกาโรแล็งเฌียงรุ่งเรืองอยู่ราวราว 120 ปี ราวระหว่าง ค.ศ. 780 จนถึง ค.ศ. 900 แม้ว่าจะเป็นช่วงระยะเวลาอันสั้นแต่ก็เป็นช่วงที่มีการสร้างงานศิลปะที่มีอิทธิพล ศิลปะของยุโรปเหนือเริ่มเลียนแบบงานศิลปะคลาสสิกของเมดิเตอร์เรเนียนโรมันเป็นครั้งแรก ที่เป็นการวางรากฐานของศิลปะโรมาเนสก์ที่ตามมา และต่อมาศิลปะกอธิคในยุโรปตะวันตก งานศิลปะจากยุคนี้ที่ยังคงตกทอดมาให้เห็นก็ได้แก่งานเอกสารตัวเขียนสีวิจิตร, งานโลหะ, ประติมากรรมขนาดเล็ก, โมเสก และ จิตรกรรมฝาผนัง

สถาปัตยกรรมการอแล็งเฌียง

แก้

สถาปัตยกรรมกาโรแล็งเฌียงเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมของทางตอนเหนือของยุโรปที่เผยแพร่โดยจักรพรรดิชาร์เลอมาญ สมัยสถาปัตยกรรมเริ่มตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 8 จนถึง คริสต์ศตวรรษที่ 9 จนมาถึงรัชสมัยของจักรพรรดิออตโตที่ 1 ในปี ค.ศ. 936 และเป็นความพยายามที่จะฟื้นฟูสถาปัตยกรรมโรมัน, สถาปัตยกรรมคริสเตียนยุคแรก และ สถาปัตยกรรมไบแซนไทน์ผสานกับลักษณะบางอย่างของตนเองซึ่งทำให้เกิดลักษณะใหม่ขึ้น

ดนตรีการอแล็งเฌียง

แก้

ในวัฒนธรรมตะวันตก ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีนิยมที่มีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยสุเมอเรียน (2500 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ผ่านทางบาบิโลเนี และ เปอร์เซียเข้ามายังกรีซโบราณ และต่อมาโรม แต่การโยกย้ายถิ่นฐานของชาวเจอร์มานิค ในคริสต์ทศวรรษ 400 ทำให้ประเพณีนิยมทางด้านดนตรีต้องมายุติลง ยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่ในช่วงหลายร้อยปีหลังจากนั้นไม่เข้าใจภาษากรีก ฉะนั้นโบเธียสผู้เข้าใจสถานการณ์จึงทำการแปลงานจากภาษากรีกมาเป็นภาษาละติน ที่กลายมาเป็นรากฐานของการศึกษาในยุคนั้น การปฏิรูปทางการศึกษาของจักรพรรดิชาร์เลอมาญผู้ทรงมีความสนพระทัยทางด้านดนตรีจึงเป็นการเริ่มสมัยของการเขียนและก็อปปีงานเขียนกันในสำนักสงฆ์ ที่รวมทั้งงานที่เกี่ยวกับทฤษฎีดนตรีด้วย “Musica enchiriadis” เป็นงานชิ้นแรกที่สุดชิ้นหนึ่งและเป็นงานที่น่าสนใจ จักรพรรดิชาร์เลอมาญทรงพยายามสร้างมาตรฐานสำหรับดนตรีที่ใช้ทางศาสนาโดยการกำจัดความแตกต่างที่มาจากอิทธิพลท้องถิ่น

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Scott pg 30
  2. Cantor pg 190
  3. Cantor pg 189
  4. Chambers pg 204-205
  • Norman F. Cantor (1993). The Civilization of the Middle Ages: a completely revised and expanded edition of Medieval history, the life and death of a civilization. HarperCollins. ISBN 0-06-017033-6.
  • Mortimer Chambers; Raymond Grew; David Herlihy; Theodore K. Rabb; Isser Woloch (1983). The Western Experience: To 1715 (3rd ed.). New York: Alfred A. Knopf. ISBN 0-394-33085-4.
  • Martin Scott (1964). Medieval Europe. New York: Dorset Press. ISBN 0-88029-115-X.

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาคาโรแล็งเชียง