บาบิโลเนีย (อังกฤษ: Babylonia) หรือ อาณาจักรกรุงบาบิโลน หรือ มีอีกชื่อหนึ่งว่า ชินาร์ ที่มีบันทึกในพระคัมภีร์ ปฐก. 10:10-11,14:1,9 (อังกฤษ: Kingdom of Babylon) เป็นอาณาจักรที่พูดภาษาแอกแคดโบราณในภาคกลางตอนใต้ของเมโสโปเตเมีย เดิมทีบาบิโลนเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ ในสมัยจักรวรรดิแอกแคด (2335–2154 BC) แต่แล้วอำนาจของเมืองบาบิโลนก็แผ่ไปอย่างไพศาลในรัชสมัยของพระเจ้าฮัมมูราบีในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ก่อนคริสตกาล จนกลายเป็นนครหลวงที่สำคัญ ซึ่งในรัชสมัยของพระเจ้าฮัมมูราบี อาณาจักรกรุงบาบิโลนถูกเรียกว่า ประเทศแอกแคด (Māt Akkadī) เพื่อสื่อว่าเป็นอาณาจักรที่รับช่วงต่อจากจักรวรรดิแอกแคดอันรุ่งโรจน์ก่อนหน้า[1][2]

อาณาจักรกรุงบาบิโลน

(บาบิโลเนีย)
1895 ก่อนค.ศ. – 539 ก่อนค.ศ.
อาณาเขตของอาณาจักรกรุงบาบิโลนในสมัยพระเจ้าฮัมมูราบี
อาณาเขตของอาณาจักรกรุงบาบิโลนในสมัยพระเจ้าฮัมมูราบี
เมืองหลวงบาบิโลน
ภาษาทั่วไปแอกแคด, ซูเมอร์
ศาสนา
ศาสนาบาบิโลน
ประวัติศาสตร์ 
• ก่อตั้ง
1895 ก่อนค.ศ. 
• สิ้นสุด
 539 ก่อนค.ศ.
ก่อนหน้า
ถัดไป
ซูเมอร์
จักรวรรดิแอกแคด
จักรวรรดิอะคีเมนิด
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ

บาบิโลเนียเก่า แก้

หลังจากที่พวกสุเมเรียนเสื่อมอำนาจลงเพราะการทำสงครามกับชนเผ่าอื่น ๆ ที่เข้ามารุกรานและแย่งชิงความเป็นใหญ่ในระหว่างพวกสุเมเรียนด้วยกันเอง ต่อมาพวกอามอไรต์ (Amorite) ได้ตั้งอาณาจักรกรุงบาบิโลนขึ้นมา มีเมืองหลวงที่บาบิโลนริมฝั่งแม่น้ำยูเฟรทีส อาณาจักรกรุงบาบิโลนเป็นอาณาจักรที่เข้มแข็ง มีการปกครองแบบรวมศูนย์ มีการเก็บภาษีอากรและการเกณฑ์ทหาร รัฐควบคุมการค้าต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ผลงานที่สำคัญของอาณาจักรกรุงบาบิโลน ได้แก่ การประมวลกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ในสมัยพระเจ้าฮัมมูราบี ซึ่งมีชื่อเรียกว่าประมวลกฎหมายฮัมมูราบี (The Code of Hammurabi) จารึกอยู่บนแผ่นศิลา หลักการของกฎหมายมีรากฐานมาจากกฎหมายของพวกสุเมเรียน แต่ได้จัดให้เป็นระบบ และให้อำนาจหน้าที่ในการลงโทษผู้กระทำผิดแก่ชนชั้นปกครองยิ่งขึ้น ประมวลกฎหมายของฮัมมูราบี ยึดถือหลัก ตาต่อตา ฟันต่อฟัน (an eye for eye, a tooth for a tooth) ในการลงโทษ กล่าวคือ ให้ใช้การทดแทนความผิดด้วยการกระทำอย่างเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายปกครองมีอำนาจได้ไม่นาน เพราะพวกพระกลับมีอิทธิพลเช่นเดิม อาณาจักรกรุงบาบิโลนจึงเริ่มอ่อนแอและถูกพวกฮิตไทต์ (Hittite) ซึ่งอพยพมาจากทางเหนือและใต้ (ซึ่งมาจากเทือกเขาซากรอส) เข้าปล้นสะดมเมื่อ 1,590 ปีคริสตกาล ต่อมาพวกฮิตไทต์ก็เสียอำนาจให้แก่พวกคัสไซต์และเข้าครอบครองกรุงบาบิโลนเป็นเวลาถึง 400 ปี

บาบิโลเนียใหม่ แก้

เมื่อ 612 ปีก่อนคริสตกาล พวกคาลเดียน (Chaldean) ซึ่งเป็นชนเผ่าฮีบรูทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรทีสก็สามารถเข้ายึดกรุงนิเนเวห์ได้สำเร็จ และสถาปนากรุงบาบิโลนขึ้นเป็นเมืองหลวงอีกครั้งหนึ่ง และจัดตั้งเป็นอาณาจักรกรุงบาบิโลนขึ้นมา อาณาจักรกรุงบาบิโลนใหม่เป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองมาก ในสมัยพระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์ที่ 2 พวกคาลเดียนสามารถยกกองทัพไปตีได้เมืองเยรูซาเลม และกวาดต้อนเชลยชาวยิวมายังกรุงบาบิโลนได้เป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการสร้างสวนขนาดใหญ่เรียกว่า สวนลอยแห่งบาบิโลน ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณเพราะสามารถใช้ความรู้ในการชลประทาน ทำให้สวนลอยนี้เขียวขจีได้ตลอดทั้งปี นอกจากนั้นพวกคาลเดียนในบาบิโลเนียใหม่ยังปรับปรุงด้านเกษตรกรรม และเริ่มต้นงานด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางดาราศาสตร์ มีการแบ่งสัปดาห์ออกเป็น 7 วัน แบ่งวันออกเป็น 12 คาบ คาบละ 120 นาที และยังสามารถพยากรณ์สุริยุปราคาตลอดจนคำนวณเวลาการโคจรของดวงอาทิตย์ในรอบปีได้อย่างถูกต้อง ชาวคาลเดียนเป็นชาติแรกที่ริเริ่มนำความรู้ทางดาราศาสตร์มาทำนายโชคชะตาของมนุษย์

เมื่อ 539 ปีก่อนคริสตกาล อาณาจักรกรุงบาบิโลนใหม่ถูกกองทัพเปอร์เซียโดยการนำของ พระเจ้าไซรัสมหาราช (Cyrus the Great, 559-530 ปีก่อนคริสตกาล) เข้ายึดครองและผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเปอร์เซียที่เรืองอำนาจอยู่ในบริเวณเอเชียตะวันตก จึงนับได้ว่าประวัติศาสตร์ของดินแดนแถบเมโสโปเตเมียในยุคโบราณได้สิ้นสุดลงไปด้วย

อ้างอิง แก้

  1. "Aliraqi - Babylonian Empire". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-21. สืบค้นเมื่อ 2019-11-08.
  2. Babylonian Empire - Livius
  • เอกสารประกอบการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ หัวข้อประวัติศาสตร์ตะวันตก ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5