ประวัติศาสตร์ยุโรป

บทความนี้ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของทวีปยุโรปโดยรวม

ลำดับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ยุโรป
ยุโรปวาดโดยนักเขียนแผนที่ชาวอันท์เวิร์พอับราฮัม ออร์เทเลียส
ในปี ค.ศ. 1595
360 BC เพลโตโจมตีระบอบประชาธิปไตยของเอเธนส์ในหนังสืออุตมรัฐ
323 BC พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเสด็จสวรรคต ราชอาณาจักรมาซิโดเนียแตกแยกเป็นรัฐย่อย
44 BC จูเลียส ซีซาร์ถูกลอบสังหาร และการสิ้นสุดของสาธารณรัฐโรมัน
27 BC การก่อตั้งจักรวรรดิโรมันภายใต้จักรพรรดิเอากุสตุส
AD 330 จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 สถาปนากรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองหลวงเป็นโรมใหม่
395 ภายหลังการสวรรคตของจักรพรรดิธีโอโดเซียสที่ 1 จักรวรรดิโรมันถูกแบ่งออกเป็นจักรวรรดิตะวันออกและตะวันตกอย่างถาวร
527 จักรพรรดิจัสติเนียนที่ 1 ราชาภิเษกเป็นจักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์
800 ชาร์เลอมาญราชาภิเษกเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
1054 ศาสนเภทตะวันออก-ตะวันตกเริ่มต้นขึ้น
1066 วิลเลียมแห่งนอร์ม็องดีพิชิตอังกฤษ
1095 สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 ระดมผู้เข้าร่วมในสงครามครูเสดครั้งที่ 1
1340 เกิดกาฬโรคระบาดครั้งใหญ่ คร่าชีวิตประชาการหนึ่งในสามของยุโรป
1337 - 1453 สงครามร้อยปี
1453 เสียกรุงคอนสแตนติโนเปิลแก่จักรวรรดิออตโตมัน
1492 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสขึ้นฝั่งบนโลกใหม่
1498 เลโอนาร์โด ดา วินชีเขียนภาพ พระกระยาหารมื้อสุดท้าย ในมิลานในช่วงแห่งความรุ่งเรืองของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา
1517 มาร์ติน ลูเทอร์ติดประกาศเรียกร้องให้มีการปฏิรูปศาสนาที่ประตูโบสถ์ในวิทเทนแบร์ก
1648 สนธิสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลียยุติสงครามสามสิบปี
1789 การปฏิวัติฝรั่งเศส
1815 การลงนามในสนธิสัญญาเวียนนาหลังจากการพ่ายแพ้ของนโปเลียน
1860s รัสเซียเลิกทาส, คาร์ล มาร์กซ์เขียน "ทุน" เล่มแรกจบ
1914 การลอบสังหารอาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันด์แห่งออสเตรีย เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
1945 การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง ทิ้งยุโรปให้เสื่อมโทรม
1989 - 1992 การทลายกำแพงเบอร์ลิน, การลงนามในสนธิสัญญาสหภาพยุโรป หรือสนธิสัญญามาสทริชท์

ต้นกำเนิด แก้

ยุคก่อนประวัติศาสตร์ แก้

มนุษย์โฮโมอีเรคตัส (บรรพบุรุษของมนุษย์ปัจจุบัน) กับ มนุษย์นีแอนเดอร์ธอล (Neanderthals) อาศัยอยู่ในยุโรปมานานก่อนที่มีมนุษย์ปัจจุบัน (โฮโมเซเปียน หรือ Homo sapiens)

กระดูกของมนุษย์ยุคแรก ๆ ในยุโรปถูกพบที่เมือง Dmanisi ประเทศจอร์เจีย ซึ่งกระดูกเหล่านั้นคาดว่ามีอายุราว ๆ 2 ล้านปีก่อนคริสตกาล หลักฐานของมนุษย์ที่มีโครงสร้างสรีระคล้ายมนุษย์ปัจจุบันที่ปรากฏในยุโรปที่เก่าที่สุดนั้นคือประมาณ 35,000 ปีก่อนคริสตกาล แต่หลักฐานแสดงการตั้งรกรากถาวรนั้นแสดงอยู่ราว ๆ 7000 ปีก่อนคริสตกาลในประเทศบัลแกเรีย โรมาเนีย และ กรีซ

ยุโรปกลางเข้าสู่ยุคหินใหม่ (Neolithic) ในช่วงราว ๆ 6000 ปีก่อนคริสตกาลก่อนหลาย ๆ ที่ในยุโรปเหนือซึ่งเข้าสู่ยุคหินใหม่ในช่วงราว ๆ 5000 ถึง 4000 ปีก่อนคริสตกาล

ราว ๆ 2000 ปีก่อนคริสตกาลเริ่มมีอารยธรรมที่มีความรู้ทางการอ่าน-เขียนในยุโรปคืออารยธรรมของพวกมิโนน (Minoans) ที่เกาะcrete และตามด้วยพวกไมเซเนียน (Myceneans) (ทั้งสองอารยธรรมอยู่ราว ๆ บริเวณซึ่งเป็นประเทศกรีซในปัจจุบัน)

ราว ๆ 400 ปีก่อนคริสตกาล วัฒนธรรมลาทีเน่ (La Tène) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมในยุคเหล็กได้แพร่กระจายไปเกือบทั่วภาคพื้น พวกอีทรัสกัน (Etruscans) ได้เข้าไปตั้งรกรากในตอนกลางของอิตาลีและลอมบาดี (Lombady) ซึ่งอยู่ตอนเหนือของอิตาลีปัจจุบัน

ยุคเก่า แก้

 
ยุโรปประมาณปี 220 ก่อน ค.ศ.

สงครามกรีก-เปอร์เซีย และสงครามเปโลโปนีเซีย แก้

สงครามกรีก-เปอร์เซีย คือสงครามของพวกกรีกกับชาวเปอร์เซียที่บุกมาจากทางฝั่งอาหรับเข้ามาทางตอนเหนือ ประวัติศาสตร์ได้จดบันทึกวีรกรรมของชาวสปาร์ตา (Sparta) ที่ไปรบขวางพวกเปอร์เซียที่มีเป็นแสนได้ด้วยกำลังคนไม่กี่พันที่ช่องเขาเทอร์มอพิลี (Thermopylae) นำโดยกษัตริย์เลโอไนดาสที่ 1 (Leonidas I) หยุดพวกเปอร์เซียไว้ได้หลายวันก่อนที่จะถูกทำลาย ถ่วงเวลาให้ชาวกรีกมีเวลาตั้งตัวต่อกรกับชาวเปอร์เซียได้สำเร็จในภายหลัง

สงครามเพโลพอนนีเซียน เป็นสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐของชาวเอเธนส์ (Athens) มหาอำนาจทางทะเลกับชาวสปาร์ตาชนชาตินักรบหลังจากสงครามกับพวกเปอร์เซียได้ไม่นาน

ชาวสปาร์ตาไปขอความช่วยเหลือจากพวกเปอร์เซียให้ช่วยต่อเรือไปสู้กับชาวเอเธนส์ ตัดเสบียงทางทะเลจนชาวเอเธนส์อดอยากต้องยอมแพ้ไปในที่สุด หลังจากสงครามครั้งนี้รัฐกรีกก็เริ่มทำสงครามกันเรื่อยมาทำให้เสื่อมอำนาจลงอย่างรวดเร็วจนการมาถึงของชาว มาซีดอน (Macedon)

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช แก้

ในขณะที่รัฐของกรีกแตกกระจายเป็นก๊ก ๆ ชาวมาซีดอนทางตอนเหนือก็เรืองอำนาจขึ้นมา ฟิลลิปป์ (Phillip) เป็นผู้ที่เริ่มสร้างฐานอำนาจนำกองทัพบุกรัฐกรีกขึ้นเป็นผู้นำสมาพันธ์กรีกกุมอำนาจไว้ในมือ

หลังจากสงครามกับพวกเปอร์เซียชาวกรีกก็ยังแค้นไม่หาย พยายามอย่างยิ่งที่จะบุกเข้าไปบ้าง ฟิลลิปป์สร้างกองทัพของเขาบ้างหลังจากที่รวมกรีกไว้ได้ แต่ก็มาถูกสังหารเสียก่อน คราวนี้ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the great) ลูกชายเพียงคนเดียวก็ขึ้นมาครองอำนาจแทน นำทัพสู้กับชาวเปอร์เซียบุกลงไปถึง “อียิปต์" จนชาวเปอร์เซียที่เคยรุ่งเรืองมากที่สุดอาณาจักรหนึ่งต้องมาเสื่อมอำนาจลงไป

อเล็กซานเดอร์ยังไม่พอใจกับชัยชนะเพียงแค่นี้เขายังนำกองทัพบุกไปถึงอินเดีย แต่ก็ไปต่อไม่ไหวเนื่องจากห่าฝนที่ตกลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตาของดินแดนเขตร้อน ทหารก็เหนื่อยอ่อนจากการทำศึกหนักอย่างยาวนาน และคิดถึงบ้าน จนจอมทัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยังต้องจำใจเดินทางกลับบ้านเกิดเสียที เขาล่องเรือทางแม่น้ำสินธุมาถึงบาบิโลน (ระหว่างแม่น้ำไทกรีส และแม่น้ำยูเฟรติส ในปัจจุบัน) และตั้งเมืองหลวงที่นั่น

อเล็กซานเดอร์กลับบ้านไปได้ไม่ทันไรก็มาด่วนตายตอนอายุสามสิบสามปี นักประวัติศาสตร์บันทึกสาเหตุว่าเป็นเพราะการดื่มเหล้าอย่างหนักในงานเลี้ยงครั้งหนึ่งจนร่างกายของเขารับไม่ไหว แต่บางคนก็แย้งว่าเขาถูกวางยาพิษ จากนั้นอาณาจักรของเขาได้ถูกแย่งกันในหมู่แม่ทัพของกรีก คือ แคสแซนเดอร์ ไลซิมคัส เซลิวคัส และ ทอเลมี

ความรุ่งเรืองของกรุงโรม แก้

พวกโรมันมีกษัตริย์ปกครองกันเรื่อยมาหลังตำนานโรมูลุส (Romulus) กษัตริย์ลูกหมาป่าที่ก่อตั้งกรุงโรม จนมาถึงรุ่นของกษัตริย์ทาควิน (Tarquin the pround) เป็นองค์สุดท้าย ว่ากันว่าชาวโรมันไม่พอใจที่ทาควินสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ มากมายจนประชาชนเดือดร้อนทำให้มีตระกูลชั้นสูงพวกแพทริเซียน (Partrician) ที่มีอำนาจในกรุงโรมนำโดยสกุล บรูตัส (Brutus) พากันขับไล่พระองค์ลงจากบัลลังก์

ตั้งแต่นั้นมาชาวโรมันก็ใช้การปกครองแบบสาธารณรัฐปกครองโดยสภาซีเนตมาถึง 400 ปีจวบจนมาถึงยุคของจักรพรรดิออกัสตัส (Augustus) จักรพรรดิพระองค์แรกของจักรวรรดิโรมัน

การล่มสลายของกรุงโรม แก้

พวกคนเถื่อนทางตอนเหนือของยุโรปก้าวร้าวบุกรุกอาณาจักรโรมันกันเป็นว่าเล่น หนึ่งในนั้นมี “แอตติลา” (Attila) ผู้นำของคนเถื่อนที่เป็นตำนาน รวบรวมเหล่าคนเถื่อนมาไว้ด้วยกันนำกำลังบุกเข้าไปในอาณาจักร โรมันแต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถที่จะบุกเข้าไปถึงกรุงโรมได้ถูกพวกโรมันหยุดยั้งไว้ได้ก่อน แล้วก็มาด่วนตายไป

แต่การกระทำของแอตติลาก็ส่งผลให้พวกคนเถื่อนบุกเข้าไปในจักรวรรดิโรมัน จนในที่สุดกรุงโรมก็ถูกตีแตกโดยพวกเยอรมัน เป็นการสิ้นสุดอิทธิพลของพวกโรมันในยุโรปตะวันตก คงเหลือแต่พวกโรมันที่กรุงคอนสแตนติโนเบิลเท่านั้นที่ยังคงแผ่อิทธิพลออกไป

ยุคกลาง แก้

 
ยุโรปเมื่อ ค.ศ. 814

จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เรืองอำนาจ แก้

กรุงโรมล่มสลายพร้อมกับการก้าวขึ้นมาของคนเถื่อนทางเหนือ พวกแฟรงค์ (Frank) คนเถื่อนทางประเทศฝรั่งเศสก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่โดยการนำของ “พระเจ้าชาร์เลอมาญ” เมื่อรวบรวมดินแดนทางยุโรปตะวันตกไว้ได้มากมายแล้ว ชาเลอร์มาญก็ไปทำสัญญากับพระสันตะปาปาขึ้นเป็นจักรพรรดิของอาณาจักรโรมันตะวันตก ตั้งอาณาจักรโรมันตะวันตกขึ้นมาใหม่จากที่เคยล่มสลายลงไป ภายใต้ชื่อ "จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)" ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้เป็นอิสระจากอิทธิพลของอาณาจักรโรมันตะวันออก

สงครามครูเสด แก้

พระสันตะปาปาเรียกร้องให้ชาวคริสต์ทุกคนนำกำลังไปช่วยเหลือจักรวรรดิโรมันตะวันออกที่กำลังถูกพวกอาหรับกลืนกิน กองทัพของผู้ศรัทธานำกำลังบุกเข้าไปถึงกรุง เยรูซาเลม ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ในพระคำภีร์ฉบับเก่าของโมเสสที่ถูกชาวอาหรับครอบครอง

กองทัพครูเสดยึดดินแดนได้แถบริมฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแล้วตั้งเป็นประเทศ อยู่มาจนการมาถึงของ ซาลาดิน (Saladin) สุลต่านอาหรับที่สามารถบุกยึดกรุงเยรูซาเลมจากพวกครูเสดได้ ตั้งแต่นั้นมานักรบครูเสดที่ถูกส่งมาอีกหลาย ๆ ครั้งก็ไม่สามารถที่จะยึดคืนกรุงเยรูซาเลมกลับมาได้อีกเลย

สงครามร้อยปี แก้

สงครามร้อยปีเป็นความขัดแย้งระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส นาน 116 ปี นับจาก พ.ศ. 1880 ถึง พ.ศ. 1996 (ค.ศ. 1337 ถึง 1453) เริ่มจากการอ้างสิทธิ์ของกษัตริย์อังกฤษเหนือบัลลังก์ฝรั่งเศส คำที่นักประวัติศาสตร์ใช้นิยามสงครามความขัดแย้งแบ่งได้สามถึงสี่ช่วง คือ สงครามยุคเอ็ดเวิร์ด(Edwardian War 1337-1360) สงครามยุคแครอไลน์ (Caroline War 1369-1389) สงครามยุคแลงคาสเตอร์ (Lancastrian War 1415-1429)

อังกฤษกับฝรั่งเศสเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานาน ชาวนอร์มังดีบุกไปชิงราชบังลังก์ที่เกาะอังกฤษเพราะยังอยากที่จะได้ดินแดนของบรรพบุรุษกลับมาอีกครั้ง อังกฤษกับฝรั่งเศสจึงทำสงครามกันเรื่อยมา

ช่วงหลังของสงครามอังกฤษสามารถบุกเข้าไปยึดดินแดนของฝรั่งเศสได้จนเกือบจะสิ้นชาติ แต่ก็มีการมาถึงของหญิงสาว “ฌานดาร์ค” (โจนออฟอาร์ค) สาวชาวนาผู้ได้รับนิมิตจากพระเจ้าให้นำฝรั่งเศสไปสู่เอกราชจากพวกอังกฤษ แต่ไม่ทันที่จะจบสงครามโจนก็ถูกจับไปเผาในข้อหาว่าเป็นแม่มด แต่การกระทำของโจนก็ไม่เสียเปล่าพวกฝรั่งเศสขับไล่อังกฤษออกจากประเทศได้สำเร็จ

การล่มสลายของกรุงคอนสแตนติโนเปิล แก้

หลังจากการล่มสลายของกรุงโรม โรมันทางฝั่งตะวันออกก็ค่อยๆ ลืมเลือนความยิ่งใหญ่ของตัวเองในฟากตะวันตกไปหมด จักรพรรดิองค์ต่อๆ มาก็ไม่ใช่คนจากอิตาลีอีกต่อไป แต่เป็นชาวกรีกดั้งเดิมที่อยู่มาก่อนพวกโรมัน พวกกรีกเมื่อไม่รู้สึกถึงคุณค่าของความเป็นโรมันก็ตั้งชื่ออาณาจักรใหม่เป็น “ไบแซนไทน์” (Byzantine) ตามชื่อเก่าของเมืองคอนสแตนติโนเบิลเมืองที่มั่งคั่งที่สุดในยุโรปยุคมืด

แต่ชาวอาหรับที่ขยายอำนาจออกมาก็ทำให้ไบแซนไทน์เสื่อมอำนาจลงเรื่อยๆ จนในที่สุดก็มาเสียกรุงให้กับชาวเติร์ก (Turk) ทำให้กรุงไบเซนติอุมกลายเป็นเมืองหลวงในชื่อ อิสตันบูล (Istanbul)

ต้นยุคใหม่ แก้

จากชาตินิยมสู่จักรวรรดินิยม แก้

การปฏิวัติอุตสาหกรรม แก้

การปฏิวัติฝรั่งเศส แก้

 
การทลายคุกบาสตีย์อันเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติ

การเข้าแทรกแซงของฝรั่งเศสในสงครามปฏิวัติอเมริกาทำให้รัฐล้มละลาย หลังความพยายามปฏิรูปการเงินล้มเหลวหลายครั้ง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกโน้มน้าวให้เปิดประชุมสภาฐานันดร ซึ่งเป็นองค์กรผู้แทนของประเทศอันประกอบด้วยสามฐานันดร ได้แก่ นักบวช ขุนนางและสามัญชน สมาชิกสภาฐานันดรประชุมกันที่พระราชวังแวร์ซายในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1789 แต่การถกเถียงว่าจะใช้ระบบการออกเสียงแบบใดนั้นต่อมาจะกลายมาเป็นทางตัน เดือนมิถุนายน ฐานันดรที่สาม และมีสมาชิกอีกสองฐานันดรเข้าร่วม ประกาศตนเป็นสมัชชาแห่งชาติ และปฏิญาณว่าจะไม่สลายตัวจนกว่าฝรั่งเศสจะมีรัฐธรรมนูญ และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติขึ้นในเดือนกรกฎาคม ขณะเดียวกัน ประชาชนกรุงปารีสลุกขึ้นต่อต้าน และทลายคุกบาสตีย์ที่ขึ้นชื่อเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789

ขณะนั้น สมัชชาต้องการสถาปนาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และในห้วงสองปีถัดมา ได้ผ่านกฎหมายหลายฉบับรวมทั้งคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง การเลิกระบบฟิวดัล และการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับกรุงโรม ในตอนแรกพระมหากษัตริย์ทรงยินยอมกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้และได้รับความนิยมอยู่พอสมควรจากประชาชน แต่เมื่อการต่อต้านพระมหากษัตริย์เพิ่มขึ้นร่วมกับการบุกครองจากต่างชาติที่คุกคาม พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงถูกถอดพระราชอำนาจ ตัดสินพระทัยลี้ภัยไปพร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์ แต่มีคนจำพระองค์ได้และทรงถูกนำพระองค์กลับมายังกรุงปารีส วันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1793 พระองค์ถูกตัดสินประหารชีวิต ด้วยข้อหากบฏ

วันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1792 สภากงวองซิยงแห่งชาติเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์และประกาศให้ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐ เนื่องจากภาวะสงครามฉุกเฉิน สภากงวองซิยงแห่งชาติจึงตั้งคณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวม ควบคุมโดยมักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์แห่งสโมสรฌากอแบ็ง ขึ้นทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารของประเทศ คณะกรรมาธิการฯ ภายใต้อิทธิพลของรอแบ็สปีแยร์ริเริ่มสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว ซึ่งในช่วงนี้มีประชาชนกว่า 40,000 คนถูกประหารชีวิตในกรุงปารีส ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นสูง และผู้ที่ถูกศาลปฏิวัติพิพากษาลงโทษ โดยมักเป็นหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือ สำหรับที่อื่นในประเทศ การก่อการกบฏต่อต้านการปฏิวัติถูกปราบปรามอย่างโหดร้าย ระบอบถูกโค่นในรัฐประหารเมื่อวันที่ 9 แตร์มิดอร์ (27 กรกฎาคม ค.ศ. 1794) และรอแบ็สปีแยร์ถูกประหารชีวิต ระบอบต่อมายุติความน่าสะพรึงกลัวและผ่อนคลายนโยบายสุดโต่งกว่าของรอแบ็สปีแยร์

 
นโปเลียน โบนาปาร์ต ไต่เต้าจากทหาร มาเป็นกงสุลใหญ่ และจักรพรรดิ

นโปเลียน โบนาปาร์ตเป็นนายพลที่ประสบความสำเร็จที่สุดของฝรั่งเศสในสงครามปฏิวัติ โดยพิชิตแผ่นดินอิตาลีผืนใหญ่ และบีบให้ออสเตรียขอสันติภาพ ใน ค.ศ. 1799 เขากลับจากอียิปต์และวันที่ 18 บรูแมร์ (9 พฤศจิกายน) โค่นรัฐบาล และแทนที่ด้วยคณะกงสุล โดยมีเขาเป็นกงสุลใหญ่ วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1804 หลังแผนลับลอบสังหารล้มเหลว เขาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิ ใน ค.ศ. 1805 นโปเลียนวางแผนบุกครองอังกฤษ แต่พันธมิตรของอังกฤษกับรัสเซียและออสเตรีย (สัมพันธมิตรที่สาม) บีบให้พระองค์หันความสนใจไปยังภาคพื้นทวีป ขณะที่ไม่อาจลวงให้กองเรืออังกฤษที่เหนือกว่าออกจากช่องแคบอังกฤษพร้อมกันนั้น ยุติลงด้วยความปราชัยเด็ดขาดของฝรั่งเศสที่ยุทธนาวีทราฟัลการ์เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งดับความหวังใด ๆ ที่จะบุกครองอังกฤษ วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1805 นโปเลียนเอาชนะกองทัพออสเตรีย-รัสเซียที่มีจำนวนเหนือกว่าที่เอาสเทอร์ลิทซ์ บีบให้ออสเตรียถอนตัวจากสัมพันธมิตร และยุบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ใน ค.ศ. 1806 มีการจัดตั้งสัมพันธมิตรที่สี่ วันที่ 14 ตุลาคม นโปเลียนพิชิตปรัสเซียที่ยุทธการเยนา-เออร์ชเตดท์ เคลื่อนที่ผ่านเยอรมนีและพิชิตรัสเซียเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1807 ที่ฟรีดลันด์ สนธิสัญญาทิลซิทแบ่งยุโรประหว่างฝรั่งเศสกับรัสเซียและสถาปนาดัชชีวอร์ซอ

วันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1812 นโปเลียนบุกครองรัสเซียด้วยกองทัพใหญ่ ซึ่งมีกำลังพลเกือบ 700,000 นาย หลังชัยชนะมั่นคงที่สโมเลนสก์และโบโรดีโน นโปเลียนยึดครองกรุงมอสโก และพบว่าถูกเผาโดยกองทัพรัสเซียที่ล่าถอยไป พระองค์ถูกบีบให้ล่าถอย ระหว่างการถอยทัพ กองทัพของพระองค์ถูกคอสแซกก่อกวน และประสบกับโรคระบาดและความอดอยาก มีทหารเพียง 20,000 นายที่รอดชีวิตจากการทัพ จนถึง ค.ศ. 1813 กระแสเริ่มพลิกผันจากนโปเลียน หลังถูกกองทัพเจ็ดชาติพิชิตที่ยุทธการไลป์ซิจในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1813 ตามติดด้วยการทัพหกวันและการยึดครองกรุงปารีส พระองค์ทรงถูกบีบให้สละราชสมบัติ ภายใต้สนธิสัญญาฟงแตนโบล พระองค์ทรงถูกเนรเทศไปยังเกาะเอลบา พระองค์กลับมาฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1815 เริ่มต้นสมัยร้อยวัน พระองค์ทรงตั้งกองทัพใหม่ แต่ถูกพิชิตอย่างเบ็ดเสร็จโดยกองทัพอังกฤษและปรัสเซียที่ยุทธการวอเตอร์ลูเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1815

ศตวรรษแห่งสงคราม แก้

คริสต์ศตวรรษที่ 20 เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเย็น รวมทั้งการรุ่งเรืองและล่มสลายของนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียต เหตุการณ์วิบัติเหล่านี้นำไปสู่การสิ้นสุดของจักรวรรดิอาณานิคมยุโรปและริเริ่มการปลดปล่อยอาณานิคมอย่างกว้างขวาง การล่มสลายของสหภาพโซเวียตระหว่าง ค.ศ. 1989 ถึง 1991 ทิ้งให้สหรัฐอเมริกาเป็นรัฐอภิมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวของโลก และกระตุ้นการล่มสลายของม่านเหล็ก การกลับมารวมประเทศเยอรมนี และเร่งขบวนการบูรณการยุโรปที่กำลังดำเนินอยู่

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แก้

 
สนามเพลาะเป็นลักษณะเด่นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

หลังช่วงค่อนข้างสงบในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ส่วนใหญ่ การแข่งขันระหว่างประเทศยุโรปปะทุขึ้นใน ค.ศ. 1914 เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มขึ้น มีการระดมทหารยุโรปกว่า 60 ล้านนายระหว่าง ค.ศ. 1914-1918[1] คู่สงครามฝ่ายหนึ่งมีเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิออตโตมันและบัลแกเรีย (ฝ่ายมหาอำนาจกลาง/ไตรพันธมิตร) อีกฝ่ายหนึ่งมีเซอร์เบียและไตรภาคี ซึ่งเป็นแนวร่วมหลวม ๆ ระหว่างฝรั่งเศส อังกฤษและรัสเซีย และมีอิตาลีซึ่งเข้าร่วมใน ค.ศ. 1915 โรมาเนียใน ค.ศ. 1916 และสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1917 รัสเซียของพระเจ้าซาร์ล่มสลายลงในการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 และเยอรมนีประกาศชัยชนะบนแนวรบด้านตะวันออก หลังจากการปกครองแบบเสรีนิยมนานแปดเดือน การปฏิวัติเดือนตุลาคมนำให้วลาดีมีร์ เลนินและพรรคบอลเชวิกเถลิงอำนาจ นำไปสู่การสถาปนาสหภาพโซเวียตแทนที่จักรวรรดิรัสเซีย เมื่ออเมริกาเข้าร่วมสงครามใน ค.ศ. 1917 โดยอยู่ข้างฝ่ายสัมพันธมิตร และความล้มเหลวของการรุกฤดูใบไม้ผลิของเยอรมนี ทำให้เยอรมนีขาดแคลนกำลังพล ออสเตรีย-ฮังการีและจักรวรรดิออตโตมัน พันธมิตร ก็ยอมจำนน จักรวรรดิทั้งสามสิ้นสุดลงเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัยชนะในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918

ระหว่างสงคราม แก้

ในสนธิสัญญาแวร์ซาย ผู้ชนะสงครามกำหนดเงื่อนไขค่อนข้างสาหัสแก่เยอรมนีและรับรองรัฐใหม่ เช่น โปแลนด์ เชโกสโลวาเกีย ฮังการี ออสเตรีย ยูโกสลาเวีย ฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวียและลิทัวเนีย ซึ่งสถาปนาขึ้นในยุโรปกลางจากจักรวรรดิเยอรมัน ออสเตรีย-ฮังการีและรัสเซียเดิม ซึ่งถือว่าอยู่นอกการกำหนดการปกครองชาติด้วยตนเอง ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่พัวพันในสงครามท้องถิ่น โดยสงครามใหญ่ที่สุด คือ สงครามโปแลนด์-โซเวียต (1919–1921)

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ แก้

หลังตลาดหุ้นวอลล์สตรีทตกใน ค.ศ. 1929 เกือบทั้งโลกก็เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เมื่อราคาตก กำไรตก และการว่างงานสูงขึ้น ภาคที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดมีอุตสาหกรรมหนัก เกษตรกรรมเน้นการส่งออก การทำเหมืองแร่และการป่าไม้ และการก่อสร้าง การค้าโลกหดลงถึงสองในสาม[2]

ประชาธิปไตยถูกป้ายสี เมื่อชาติแล้วชาติเล่าในยุโรปส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นและละตินอเมริกาส่วนใหญ่ เปลี่ยนเป็นเผด็จการและระบอบอำนาจนิยม ที่สำคัญที่สุด คือ ฮิตเลอร์และพรรคนาซีที่เถลิงอำนาจในเยอรมนีใน ค.ศ. 1933 เกิดสงครามกลางเมืองใหญ่ขึ้นในสเปน โดยฝ่ายชาตินิยมชนะ สันนิบาตชาติช่วยเหลืออะไรไม่ได้เมื่ออิตาลีพิชิตเอธิโอเปียและญี่ปุ่นยึดแมนจูเรียใน ค.ศ. 1931 และยึดจีนได้ส่วนใหญ่เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1937[3]

สงครามโลกครั้งที่สอง แก้

หลังเป็นพันธมิตรกับอิตาลีของมุสโสลินีใน "สนธิสัญญาเหล็ก" และการลงนามสนธิสัญญาไม่รุกรานกับสหภาพโซเวียต ผู้เผด็จการเยอรมัน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จึงเปิดฉากสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 โดยเข้าตีโปแลนด์ หลังการเสริมสร้างทหารตลอดปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 หลังความสำเร็จขั้นต้นใน ค.ศ. 1939-1941 ซึ่งมีทั้งการพิชิตโปแลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ กลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ ฝรั่งเศสและคาบสมุทรบอลข่าน ฮิตเลอร์และพันธมิตรเริ่มขยายเกินตัวใน ค.ศ. 1941 เป้าหมายของฮิตเลอร์เพื่อควบคุมยุโรปตะวันออก แต่เนื่องจากความล้มเหลวในการเอาชนะอังกฤษและความล้มเหลวของอิตาลีในแอฟริกาเหนือและคาบสมุทรบอลข่าน ทำให้การเข้าตีใหญ่สหภาพโซเวียตถูกเลื่อนออกไปกระทั่งเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1941 แม้จะประสบความสำเร็จในขั้นต้น กองทัพเยอรมันถูกหยุดใกล้กับกรุงมอสโกในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1941

อีกหนึ่งปีถัดมา กระแสของสงครามพลิกผันและเยอรมนีประสบความพ่ายแพ้หลายครั้ง เช่น การล้อมสตาลินกราดและที่เคิสก์ ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีและอิตาลีตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 1940 โจมตีอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 จากนั้น เยอรมนีได้ประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา กองกำลังสัมพันธมิตรชนะในแอฟริกาเหนือ บุกครองอิตาลีใน ค.ศ. 1943 และยึดฝรั่งเศสคืนได้ใน ค.ศ. 1944 ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1945 เยอรมนีเองถูกบุกครองจากทางตะวันออกโดยสหภาพโซเวียต และจากทางตะวันตกโดยฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อกองทัพแดงงพิชิตไรช์สทักในกรุงเบอร์ลิน ฮิตเลอร์ทำอัตวินิบาตกรรมและเยอรมนียอมจำนนในต้นเดือนพฤษภาคม[4]

สมัยนี้มีลักษณะของพันธุฆาตอย่างเป็นระบบ ระหว่าง ค.ศ. 1942-45 พวกนาซีประสบความสำเร็จในการสังหารพลเรือนกว่า 11 ล้านคน รวมทั้งชาวยิวและชาวยิปซีในยุโรปส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับชาวโปแลนด์และชาวโซเวียตเชื้อสายสลาฟอีกหลายล้านคน ขณะเดียวกัน ในคริสต์ทศวรรษ 1930 ระบบแรงงานเกณฑ์ การขับไล่และความอดอยากที่ถูกกล่าวหาว่ามีการวางแผนของโซเวียตก็มียอดผู้เสียชีวิตไม่ต่างกัน ระหว่างและหลังสงคราม พลเรือนหลายล้านคนได้รับผลกระทบจากการบังคับถ่ายโอนประชากร[5]

ร่วมสมัย แก้

สงครามเย็น แก้

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเกิดขัดแย้งกันเอง มีการแบ่งโลกออกเป็นสองค่ายคือค่ายเสรีประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ สงครามเย็นแม้ จะเรียกว่าสงครามแต่ก็เป็นเพียงสงครามที่ไม่มีการรบ มีเพียงสงครามตัวแทนเช่นสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม ฯลฯ สงครามนี้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการสะสมอาวุธร้ายแรง การใช้จิตวิทยาโจมตีอีกฝ่าย สงครามเย็นสิ้นสุดเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายใน พ.ศ. 2534 (ค.ศ.1991)

สหภาพยุโรป แก้

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ยุโรปอยู่ในสภาพที่บอบช้ำและเสียหายอย่างหนักในทุกด้าน จึงทำให้มีผู้นำทางการเมืองเกิดแนวความคิดที่จะสร้างอนาคตที่มีสันติภาพอย่างถาวร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรองดองกันระหว่างสองรัฐที่เคยได้ทำสงครามที่สร้างความหายนะแก่ทวีปทั้งทวีป คือ ฝรั่งเศส กับเยอรมนี ซึ่งบุคคลที่ได้เสนอแนวคิดนี้ คือ นาย Jean Monnet (ชาวฝรั่งเศส) และถูกนำมาขยายผลโดยนาย Robert Schuman (รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส) โดยวิธีการของการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจกันระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีให้ใกล้ชิดกันจนกระทั่งทั้งสองประเทศจะไม่สามารถทำสงครามระหว่างกันได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายในระยะยาวที่จะสร้างความเป็นเอกภาพระหว่างประชาชนชาวยุโรป เพื่อมิให้มีการแตกแยกและนำไปสู่การทำสงครามระหว่างกันในอนาคตด้วย

แนวคิดดังกล่าว ได้นำไปสู่การจัดตั้ง ”ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (European Coal and Steel Community)” ในปี พ.ศ. 2494 (ค.ศ.1951) โดยสนธิสัญญากรุงปารีส ซึ่งแรกเริ่มมีประเทศสมาชิก 6 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบอร์ก และอิตาลี ทั้งนี้ เนื่องจากถ่านหินและเหล็กกล้าถือเป็นยุทธปัจจัย การจัดตั้งประชาคมเพื่อบริหารทรัพยากรดังกล่าวจึงเสมือนเป็นก้าวแรกที่จะทำให้สงครามระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีก หลังจากนั้น ได้มีการจัดตั้งประชาคมขึ้นอีก 2 ด้าน คือ ด้านปรมาณู (Euratom) ในปี พ.ศ. 2497 (ค.ศ.1954) และที่สำคัญ คือ ด้านเศรษฐกิจ (European Economic Community) ในปี พ.ศ. 2500 (ค.ศ.1957) โดยสันธิสัญญากรุงโรม

ทั้งสนธิสัญญากรุงปารีสและสนธิสัญญากรุงโรม ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของสหภาพยุโรปที่ยังคงใช้จนถึงทุกวันนี้ เพราะเป็นการวางรากฐานในการจัดตั้งสถาบันบริหารกิจการของประชาคม คือ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) คณะมนตรี (Council) ศาลตุลาการยุโรป (European Court of Justice) และสภายุโรป (European Parliamentary Assembly ต่อมาเปลี่ยนมาเรียกว่า European Parliament) และยังวางรากฐานของการบริหารอธิปไตยร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกโดยผ่าน ”ประชาคม” อีกด้วย

ทั้งนี้ เป้าหมายที่สำคัญของการร่วมมือครั้งนี้ คือ การจัดตั้ง “ตลาดร่วม” ของประเทศสมาชิก กล่าวคือ ดำเนินการเพื่อให้การเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศสมาชิกเป็นไปโดยไร้อุปสรรคอย่างสิ้นเชิง ซึ่งนอกจากหมายถึงการยกเลิกด่านศุลกากรระหว่างกันแล้ว ยังหมายถึงการประสานกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายสินค้าทั้งหมด อาทิ การรับรองมาตรฐานสินค้า ระบบการตรวจสอบสินค้าเข้าจากต่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวได้เสร็จสิ้นภายหลังโครงการ “Single Market Act” เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2529 (ค.ศ.1986) และสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ.1992) พัฒนาขั้นต่อไปที่สำคัญ คือ การลงนามในสนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรป (Treaty of European Union) ลงนามที่เมืองมาสตริคต์ในปี 1992 (จึงมักเรียกสั้นๆ ว่า Maastricht Treaty) ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของ “สหภาพยุโรป”ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สาระสำคัญของการจัดตั้งสหภาพยุโรป คือ นอกจากคงไว้ซึ่งโครงสร้างความร่วมมือเดิมภายใต้ประชาคมทั้งสามที่มีอยู่เดิมแล้ว ยังขยายความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกไปอีกสองด้าน คือ (1) ความร่วมมือด้านการต่างประเทศและความมั่นคง กับ (2) ความร่วมมือด้านมหาดไทยและยุติธรรม อย่างไรก็ดี เนื่องจากทั้งสองด้านดังกล่าว เป็นเรื่องที่บางรัฐสมาชิกมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นด้านอธิปไตย จึงมิใช่ความร่วมมือในลักษณะ “ประชาคม” (หมายถึงการแบ่งอำนาจอธิปไตยมาบริหารร่วมกัน) แต่เป็นการร่วมมือและประสานนโยบายระหว่างรัฐบาล (Inter-Governmental Cooperation) “สนธิสัญญามาสตริคต์” ถูกแก้ไขและปรับปรุงเพิ่มเติมโดยสนธิสัญญาสำคัญอีกสองฉบับ คือ สนธิสัญญากรุงอัมสเตอร์ดัม (Treaty of Amsterdam) ปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ.1997) และสนธิสัญญาเมืองนีซ (Treaty of Nice) ปี พ.ศ. 2544 (ค.ศ.2001) ซึ่งขยายขอบเขตสาขาความร่วมมือภายใต้นโยบายร่วมของสหภาพยุโรป (โดยเฉพาะในด้านมหาดไทยและยุติธรรม) พร้อมกับปรับปรุงสถาบันและแนวปฏิบัติเพื่อให้สามารถรองรับจำนวนรัฐสมาชิกที่เพิ่มขึ้นต่อไป

จากเดิมซึ่งมีสมาชิกเพียง 6 ประเทศ สหภาพยุโรป ได้รับรัฐสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยหลายครั้ง คือ ปีพ.ศ. 2516 (ค.ศ.1973) เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ปี 1981 กรีซ ปี 1986 สเปนและโปรตุเกส ปี 1995 ออสเตรีย ฟินแลนด์ สวีเดน และล่าสุดปีพ.ศ. 2547 (ค.ศ.2004) ถือเป็นการขยายจำนวนสมาชิกครั้งใหญ่ที่สุดถึง 10 ประเทศ คือ ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ค เอสโตเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย มอลต้า โปแลนด์ สาธารณรัฐสโลวัก และสลีวีเนีย และเมื่อ ค.ศ.2007 รับเพิ่มอีก 2 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 27 ประเทศ สมาชิกใหม่คือ บัลแกเรีย และโรมาเนีย

ประวัติศาสตร์แบ่งตามประเทศในยุโรป แก้

อ้างอิง แก้

  1. "The Treaty of Versailles and its Consequences". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-12. สืบค้นเมื่อ 2010-01-31.
  2. Charles Kindleberger, The World in Depression, 1929-1939 (2nd ed. 1986)
  3. David Clay Large, Between Two Fires: Europe's Path in the 1930s (1991)
  4. Norman Davies, No Simple Victory: World War II in Europe, 1939-1945 (2008)
  5. Dinah Shelton, ed., Encyclopedia of Genocide and Crimes Against Humanity (3 vol. 2004)