เอกสารตัวเขียนสีวิจิตร
เอกสารตัวเขียนสีวิจิตร (อังกฤษ: Illuminated manuscript) หรือหนังสือตัวเขียนสีวิจิตร[1] คือเอกสารตัวเขียนที่ตัวหนังสือตกแต่งเพิ่มเติมด้วยสีสรรค์เช่นตัวหนังสือตัวแรกที่ขยายใหญ่ขึ้นและเล่นลายอย่างวิจิตร หรือเขียนขอบคัน หรือทำเป็นจุลจิตรกรรม ตามความหมายตรงตัวจะหมายถึงต้นฉบับที่ตกแต่งด้วยเงินและทอง แต่การใช้กันโดยทั่วไปโดยนักวิชาการสมัยใหม่ในปัจจุบันจะหมายถึงต้นฉบับใดก็ได้ที่มีการตกแต่งหรือหนังสือประกอบภาพจากทั้งทางตะวันตกและทางศาสนาอิสลาม


ประวัติแก้ไข
งานเอกสารตัวเขียนสีวิจิตรฉบับแรกที่สุดที่มีการตกแต่งพอประมาณมาจากสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึงที่ 7 ส่วนใหญ่ทำในไอร์แลนด์, อิตาลี และประเทศอื่น ๆ บนผืนแผ่นดินใหญ่ยุโรป ความสำคัญของเอกสารตัวเขียนสีวิจิตรมิใช่เพียงคุณค่าทางวรรณกรรมแต่ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ด้วย ซี่งจะเห็นได้จากต้นฉบับเอกสารตัวเขียนสีวิจิตรที่ทำให้เราเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ โรมันและ กรีกที่ตกแต่งโดยผู้บันทึกและตกแต่งหนังสือตามอาราม
เอกสารตัวเขียนสีวิจิตรส่วนใหญ่ที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันมาจากยุคกลางแม้ว่าการสร้างเอกสารตัวเขียนสีวิจิตรจะทำกันมาจนถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาในคริสต์ศตวรรษที่ 15 เนื้อหาของงานส่วนใหญ่ในสมัยแรก ๆ จะเป็นงานศาสนา แต่ต่อมาโดยเฉพาะในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ก็เริ่มมีงานทางโลกเพิ่มขึ้น รวมถึงคำประกาศ ตั๋วเงินลงทะเบียน กฎหมาย กฎบัตร รายการสินค้า และโฉนด[2] และเกือบทั้งหมดจะทำเป็นหนังสือแต่ก็มีบ้างที่เป็นม้วนหรือเป็นแผ่นเดียวเขียนบนหนัง (parchment หรือ vellum อาจจะเป็นหนังลูกวัว, แกะ, หรือแพะ) ที่มีคุณภาพดี[3] หลังปลายยุคกลางวัสดุที่ใช้เขียนก็เปลี่ยนมาเป็นกระดาษ เมื่อวิวัฒนาการพิมพ์เพิ่งเริ่มใหม่ ๆ ผู้พิมพ์ก็อาจจะทิ้งช่องว่างไว้สำหรับพยัญชนะตัวแรก, ขอบ หรือ ภาพเขียนย่อส่วน[4] แต่การพิมพ์ทำให้ศิลปะการทำเอกสารตัวเขียนสีวิจิตรเสื่อมความนิยมลง แต่ก็ทำกันต่อมาจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 แต่น้อยลงมากและทำสำหรับผู้มีฐานะดีจริง ๆ เท่านั้น
นอกจากเอกสารตัวเขียนสีวิจิตรจะเป็นตัวอย่างของสิ่งที่หลงเหลือมาจากยุคกลางแล้ว ก็ยังเป็นตัวอย่างที่ดีของจิตรกรรมที่มาจากยุคกลางด้วย และบางครั้งก็เป็นจิตรกรรมอย่างเดียวที่เหลืออยู่จากยุคนั้น
สมุดภาพแก้ไข
ภาพนักบุญลูกาผู้นิพนธ์พระวรสาร จากราวคริสต์ศตวรรษที่ 10
แม่พระและพระกุมาร จาก “หนังสือกำหนดเทศกาลของดุ๊คเบอรี” (Très Riches Heures) จากสมัยเรอเนซองส์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 15
จุลจิตรกรรมอุปมานิทัศน์จาก “ตำนานแห่งความรัก” ของพระเจ้าเรอเน (King Rene’s Livre du cueur d'amour esprit) โดย บาเธเลมี ฟาน เอค จากคริสต์ศตวรรษที่ 16
ดูเพิ่มแก้ไข
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ Britannica concise encyclopedia ภาคภาษาไทย เล่ม 2 G-O. Encyclopaedia Britannica. กรุงเทพฯ: มีเดีย แม็กเน็ท. 2008. ISBN 978-974-8072-60-9.
- ↑ Rholetter, Wylene (2018). Written Word in Medieval Society. Salem Press Encyclopedia.
- ↑ "Differences between Parchment, Vellum and Paper". National Archives (ภาษาอังกฤษ). 15 สิงหาคม 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 มิถุนายน 2016. สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2021.
- ↑ Wight, C. "M - Glossary for the British Library Catalogue of Illuminated Manuscripts". www.bl.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 ตุลาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2021.
แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: เอกสารตัวเขียนสีวิจิตร |
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พยัญชนะตัวแรกของเอกสารตัวเขียนสีวิจิตร
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ “หนังสือกำหนดเทศกาล”
- เอกสารตัวเขียนสีวิจิตรจากยุคกลาง, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 ธันวาคม 2008