บาร์เตเลอมี ฟัน ไอก์

(เปลี่ยนทางจาก บาเธเลมี ฟาน เอค)

บาเธเลมี ฟาน เอค (ภาษาอังกฤษ: Barthelemy van Eyck หรือ Barthélemy d’Eyck หรือ van Eyck หรือ d' Eyck)[1] (ค.ศ. 1420 - ก่อน ค.ศ. 1470) [2] เป็นจิตรกรยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของยุคเนเธอร์แลนด์ตอนต้นคนสำค้ญของประเทศเนเธอร์แลนด์ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ผู้ทำงานอาจจะเป็นในบริเวณเบอร์กันดีในประเทศฝรั่งเศส บาเธเลมี แวน เอคมีความสำคัญในการเขียนภาพเขียน, จุลจิตรกรรม (Miniature) และภาพสำหรับ หนังสือวิจิตร ฟาน เอคสร้างผลงานระหว่างปี ค.ศ. 1440 ถึงปี ค.ศ. 1469[3] และอาจจะเป็นญาติกับ ยาน ฟาน เอค

จุลจิตรกรรมสัญลักษณ์แฝงคติจาก “ตำนานแห่งความรัก” ของพระเจ้าเรเน (King Rene’s Livre du cueur d'amour esprit)

แม้ว่างานที่เหลืออยู่จะไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่าเป็นงานของบาเธเลมี ฟาน เอค แต่นักประพันธ์ร่วมสมัยกล่าวว่าฟาน เอคเป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียงของสมัยนั้น และมักจะยอมรับว่างานชิ้นสำคัญๆ เป็นงานของฟาน เอค โดยเฉพาะเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นคนคนเดียวกับผู้ที่รู้จักกันในนามว่า “ครูบาแห่งการประกาศของเทพแห่งเอ็กซ์” (Master of the Aix Annunciation) ในฐานะเป็นผู้วาดบานพับภาพ และ “ครูบาแห่งเรเนแห่งอองชู” (Master of René of Anjou) ผู้วาดภาพสำหรับหนังสือวิจิตร [4] นอกจากนั้นก็ยังเชื่อกันว่าฟาน เอคคือ “ครูบาแห่งแสงเงา” ซึ่งเป็นผู้วาดภาพบางภาพใน “หนังสือประจำชั่วโมงดยุคแห่งแบร์รี” (Très Riches Heures du Duc de Berry)

ชีวิตและงาน แก้

อาจจะเป็นไปได้ว่าบาเธเลมี ฟาน เอคมีความเfกี่ยวดองกับยาน ฟาน เอคแต่ก็ไม่มีหลักฐานใดที่ยืนยัน[5] พ่อเลี้ยงของบาเธเลมีเป็นพ่อค้าผ้าที่ติดตามพระเจ้าเรอเนไปเนเปิลส์และทางใต้ของฝรั่งเศส แม่ของบาเธเลมีผู้เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1460 มีสร้อยชื่อว่า "Ydria Exters d'Allemagne" หรือ "แห่งเยอรมนี" ซึ่งอาจจะรวมไปถึงบริเวณที่เป็นเนเธอร์แลนด์ และทางใต้ของฝรั่งเศสด้วย แลมแบร์ตพี่ชายของบาเธเลมีดูเหมือนจะทำงานอยู่ทางใต้ของฝรั่งเศสหลังจากที่บาเธเลมีเสียชีวิตไปแล้ว

จากหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สันนิษฐานจากลักษณะงานและความเกี่ยวข้องทางครอบครัวว่าบาเธเลมีได้รับการฝึกจากยาน ฟาน เอค และเขียนหนังสือประจำชั่วโมงมิลาน-ตูริน (Milan-Turin Hours) ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1430 ซึ่งเป็นหนังสือวิจิตรเล่มสำคัญที่ส่วนใหญ่เหลืออยู่เพียงภาพถ่ายขาวดำหลังจากที่ต้นฉบับถูกไฟเผาไปหมด[6] ในปี ค.ศ. 1440 มีหลักฐานว่าจิตรกรนามว่า "บาเธเลมี" ทำงานอยู่ที่ดิจองให้กับฟิลลิปเดอะกูด ดยุคแห่งเบอร์กันดี "บาเธเลมี" ที่กล่าวถึงนี้อาจจะเป็นคนๆ เดียวกับบาเธเลมี ฟาน เอค พระเจ้าเรอเนผู้กลายมาเป็นผู้อุปภถัมภ์คนสำคัญต่อมาถูกจำขังโดยดยุคฟิลลิปผู้ทรงคุณธรรมอยู่ระยะหนึ่ง ในปี ค.ศ. 1444 บาเธเลมีไปตั้งหลักฐานอยู่ที่เอ็กซ์-ออง-โปรวองซ์ทางใต้ของฝรั่งเศสคงเพื่อจะทำงานกับ อองเกอรองด์ ควอตอง (Enguerrand Quarton) ช่างเขียนคนสำคัญของฝรั่งเศสตามหลักฐานการเป็นพยานทางกฎหมายที่ทั้งสองทำร่วมกัน

บานพับภาพ "การประกาศของเทพแห่งเอ็กซ์" แก้

 
บานพับภาพกลาง การประกาศของเทพแห่งเอ็กซ์

บานพับภาพสาม การประกาศของเทพแห่งเอ็กซ์ ที่วาดระหว่างปี ค.ศ. 1441 ถึงปี ค.ศ. 1445 ปัจจุบันถูกแยกเป็นชิ้นๆ ระหว่าง เอ็กซ์-ออง-โปรวองซ์ บรัสเซลส์ อัมสเตอร์ดัม และร็อตเตอร์ดัม บานข้างถูกตัดเป็นสองชิ้น ผู้จ้างงานชิ้นนี้เป็นพ่อค้าผ้าเพื่อนผู้รู้จักพ่อเลี้ยงของบาเธเลมี เป็นงานที่รวมอิทธิพลของจิตรกรรมเนเธอร์แลนด์สมัยต้นของโรแบร์ต แคมแพง และ ยาน ฟาน เอค และงานของเคล้าส์ ซลูเตอร์ (Claus Sluter) ที่ทำงานอยู่ที่ดิจองและ นิโคโล อันโตนิโอ โคลันโตนิโอ (Niccolò Antonio Colantonio) จากเนเปิลส์ แต่บางท่านก็สันนิษฐานว่าสองคนหลังน่าจะเป็นผู้ได้รับอิทธิพลจากบาเธเลมีเสียมากกว่าที่จะเป็นผู้มีอิทธิพลต่อ รายละเอียดสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ใช้ภายในภาพเป็นรายละเอียดที่ละม้ายสัญลักษณ์ของการประกาศของเทพของยาน ฟาน เอคและศิลปินในกลุ่มเดียวกันใช้ เช่นในภาพ"การประกาศของเทพ" (วอชิงตัน) ภาพนี้และภาพเหมือนที่เขียนเมื่อปีค.ศ. 1456 (ลิคเค็นชไตน์คอลเล็คชัน, เวียนนา) และเศษภาพพร้อมกับกางเขนที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ เป็นจิตรกรรมแผงเพียงเท่านั้นที่เหลือที่เชื่อกันว่าเป็นงานของบาเธเลมี งานสมัยหลังเป็นงานหนังสือวิจิตรทั้งสิ้นจากการอุปถัมภ์ของพระเจ้าเรอเนแห่งเนเปิลส์

พระเจ้าเรอเน (ค.ศ. 1409 - ค.ศ. 1480) ทรงเป็นเจ้านายราชวงศ์วาลัวส์ผู้อ้างสิทธิในการครองดินแดนต่างๆ อย่างซับซ้อน รวมทั้งสิทธิที่จะเป็นกษัตริย์แห่งเนเปิลส์ซึ่งถูกขับโดยกษัตริย์แห่งอารากอนในปี ค.ศ. 1442 บางหลักฐานกล่าวว่าบาเธเลมีอาจจะไปทำงานอยู่ที่เนเปิลส์หรือมีอิทธิพลต่อผลงานของนิโคโล อันโตนิโอ โคลันโตนิโอ และ อันโตเนลโล ดา เมสสินา ศิลปินของเนเปิลส์ เรเนชอบพำนักอยู่ทางใต้ของฝรั่งเศสหรือบริเวณลุ่มแม้น้ำลัวร์และเป็นกวีและศิลปินผู้มีความสามารถพอตัวจนเดิมเชื่อกันว่าเป็นเจ้าของผลงานหนังสือวิจิตรหลายชิ้นที่ในปัจจุบันเชื่อกันว่าเป็นผลงานของบาเธเลมี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1447 บาเธเลมีปรากฏในหลักฐานในฐานะ "ช่างเขียนประจำราชสำนัก" ("peintre et varlet de chambre") ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับยาน ฟาน เอคในราชสำนักของ ฟิลลิปเดอะโบลด์ ดยุคแห่งเบอร์กันดี (Philip the Bold) และ พี่น้องลิมบวร์ก(Limbourg brothers) ในราชสำนักของดยุคแห่งแบร์รี ตำแหน่ง "ประจำราชสำนัก" เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติและฐานะที่ถือกันว่าผู้ได้รับแต่งตั้งได้เป็นผู้ได้รับความใกล้ชิดกับผู้แต่งตั้งเช่นเรอเน บาเธเลมีเดินทางติดตามเรอเนไปแคว้นอากีแตนและอองเชส์ (Angers) หลายครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 1447 ถึงปี ค.ศ. 1449 ห้องเขียนภาพของบาเธเลมีอยู่ติดห้องพักส่วนตัวของเรอเนซึ่งทำให้สันนิษฐานได้ว่าทั้งสองน่าจะมีความใกล้ชิดกันมากกว่าปกติ หลักฐานสุดท้ายปรากฏในปี ค.ศ. 1469 กล่าวว่าบาเธเลมีได้รับเงินเดือนพร้อมทั้งคนรับใช้หรือผู้ช่วยสามคนและม้าสามตัว นอกจากนั้นยังมีหลักฐานว่าบาเธเลมีมีชีวิตอยู่ต่อมาถึงปี ค.ศ. 1476[6]

หนังสือวิจิตร แก้

 
เอมิเลีย, อาร์ไซท์ และพาลามอนสวดมนต์ในวัดจาก "Théséide"

หนังสือวิจิตรที่เป็นผลงานของบาเธเลมีที่ยังหลงเหลืออยู่ก็ได้แก่หนังสือประจำชั่วโมงที่หอสมุดมอร์แกนที่รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมทั้งงานของอองเกอรองด์ ควอตองบางส่วน และจุลจิตรกรรมอีกห้าชิ้นใน “หนังสือประจำชั่วโมงโดยเรอเนแห่งอองจู (ลอนดอน)” (The London Hours of René of Anjou) ที่หอสมุดแห่งชาติแห่งอังกฤษที่บรรยายถึงความคับแค้นระหว่างที่เรอเนไปเป็นนักโทษอยู่ที่ดิจอง ฮาร์ธันสันนิษฐานว่าแบบวาดอาจจะร่างโดยเรอเนเองโดยให้บาเธเลเป็นผู้วาดรายละเอียด: “ผู้แปลความคิดอันบรรเจิดของพระเจ้าแผ่นดิน บุคคลสองคนที่มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งจนยากที่จะแยกจากกันซึ่งอาจจะนำมาถึงความร่วมมือทางศิลปะที่ประสบความสำเร็จ”[7] [1] เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ต้นฉบับที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดสองฉบับคือ “ตำนานแห่งความรัก” (Livre du cueur d'amour esprit) และ "Théséide" ทั้งสองฉบับเป็นของหอสมุดแห่งชาติแห่งออสเตรียที่ กรุงเวียนนาในประเทศออสเตรีย ภาพในหนังสือเขียนระหว่างปี ค.ศ. 1460 ถึงปี ค.ศ. 1470 ประกอบด้วยจุลจิตรกรรมทั้งหมด 16 และ 17 ภาพตามลำดับ “ตำนานแห่งความรัก” เป็นหนังสือความรักแฝงคติในราชสำนักซึ่งเกือบจะเป็นที่แน่นอนว่าเขียนโดยเรอเน ตัวต้นฉบับมีเนื้อที่สำหรับจุลจิตรกรรมอีก 29 ภาพแต่มาเขียนเสร็จในต้นฉบับอีกเล่มหนึ่งที่เขียนโดยจิตรกรที่มีฝีมือด้อยกว่า และอาจจะเขียนจากภาพที่บาเธเลมีร่างไว้[2] ตำนานรักแบบอุดมคติ/วีรบุรุษมาเขียนตอนปลายสมัยซึ่งอาจจะมีส่วนทำให้บาเธเลมีสามารถแฝงความเป็นจริงของชีวิตและความเข้าใจในชีวิตเข้าไปได้บ้าง ฝีมืงานเขียนเป็นฝีมือชั้นดีที่เห็นได้จากภาพสี่ภาพที่เป็นภาพกลางคืนและหลายภาพเป็นยามสลัวหรือยามรุ่งอรุณซึ่งบาเธเลมีถ่ายทอดได้อย่างงดงาม ต้นฉบับที่มีขนาดใหญ่กว่าและเป็นภาพที่มีรายละเอียดอย่างซับซ้อนมากกว่าคือต้นฉบับที่แปลมาจากงานของจิโอวานนิ โบคคาชโชในภาษาอิตาลีชื่อ “Il Teseida delle nozze d'Emilia” ซึ่งตามทฤษฏีแล้วเป็นเรื่องของเธเซียส แต่ตามความเป็นจริงแล้วก็เป็นตำนานรักอีกฉบับหนึ่งซึ่งประกอบด้วยฉากชีวิตของการอยู่อาศัยในเมืองใหญ่ที่วาดอย่างเลิศลอย

งานที่เก่ากว่าที่กล่าวถึงคืองานวาดภาพประกอบคำบรรยายของเรอเนชื่อ “หนังสือการแข่งขันของพระเจ้าเรอเน” (King René's Tournament Book) ซึ่งเป็นงานสีน้ำบนกระดาษแทนที่จะเป็นสีฝุ่นบนหนัง[8]

นอกจากนั้นนักประวัติศาสตร์ศิลปะหลายคนก็ยังเชื่อกันว่าบาเธเลมีเป็นคนคนเดียวกับ “ปรมาจารย์แสงเงา” (Master of the Shadows) ผู้เขียนภาพประกอบในหนังสือ “หนังสือประจำชั่วโมงดยุคแห่งแบร์รี” ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นช่วงระยะเวลานานภายหลังพี่น้องลิมบวร์กเขียนจุลจิตรกรรมชิ้นสำคัญที่สุด (ทั้งพี่น้องและดยุคเสียชีวิตไปก่อนที่จะเขียนเสร็จ) หนังสือจึงอาจจะตกมาเป็นของเรอเน ฉากสำหรับเดือนกันยายนบางส่วนอาจจะเป็นงานของ “ปรมาจารย์แสงเงา” ซึ่งแสดงภาพวังโซมัวร์ (Saumur) ซึ่งเป็นของเรอเนและเป็นที่ที่เรอเนพำนักระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1460 นอกจากนั้นปรมาจารย์ก็ยังเขียนภาพเดือนมีนาคมหรือเขียนบางส่วน เดือนตุลาคม และเดือนธันวาคม ลักษณะช่องว่างในภาพที่ประกอบด้วยแสงเงาซึ่งเป็นลักษณะเด่นของงานของบาเธเลมีเป็นฝีมือที่เหนือกว่างานของพี่น้องลิมบวร์ก หน้าตัวแบบภายในรูปโดยเฉพาะชาวนาเป็นหน้าที่แสดงเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคลแม้ว่าโครงร่างกายจะไม่ดีเท่าก็ตาม งานนี้และอาจจะงาน “ขบวนแห่ของนักบุญเกรกอรี” (วอลเธอร์และวูลฟ, op cit) เท่านั้นที่แสดงลักษณะการเขียนที่ว่านี้ งานเขียนอื่นๆ มาเพิ่มเติมหลายชั่วคนภายหลังโดยฌอง โคลอมบ์ (Jean Colombe)[9]

งานสำคัญ แก้

อ้างอิง แก้

  1. บ้างก็ว่า “Barthélemy de Cler”, “der Clers”, “Deick d'Ecle”, “d'Eilz” - ฮาร์ธัน, จอห์น, “หนังสือประจำชั่วโมง”, หน้า 93, ค.ศ. 1977, บริษัททอมัส วาย โครเวลล์, นิวยอร์ก, ISBN 0690016549
  2. 2.0 2.1 อุนเตอร์เคิร์คเคอร์, ฟรันซ์ (ค.ศ. 1980). ตำนานแห่งความรักของพระเจ้าเรเน (Le Cueur d'Amours Espris). นิวยอร์ก: จี เบรซิลเลอร์. ISBN 0-8076-0989-7. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  3. ทอลลีย์
  4. หอสมุดแห่งชาติแห่งอังกฤษ เก็บถาวร 2015-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน และ “Master of the Cœur d’Amour Epris” สำหรับ “ครูบาแห่งแสงเงา” ในงาน Très Riches Heures ครูบาแห่งแห่งเอ็กซ์ใช้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1953 (โดย ไอ พี เมย์ ใน “La Revue des Arts”, 3) จากลายเซ็นที่ค่อนข้างจะน่าเคลือบแคลงในหนังสือในแผงบรัสเซลล์แต่ก็เป็นที่ยอมรับกัน ส่วน “ครูบาแห่ง ค.ศ. 1456” เป็นชื่อที่ใช้สำหรับภาพเหมือนลิคเค็นชไตน์ก็อาจจะเป็นบาเธเลมีด้วย
  5. เดเน็นส์, เอลิซาเบธ. ฮิวเบิร์ตและยาน ฟาน เอค. นิวยอร์ก: Alpine Fine Arts Collection. ISBN 0-933516-13-4.
  6. 6.0 6.1 วอลเทอร์, อินโก เอฟ (ค.ศ. 2005). งานชิ้นเอกของหนังสือวิจิตร (Masterpieces of Illumination). โคโลญ: ทาสเค็น. pp. หน้า 473-4. ISBN 3-8228-4750-X. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  7. ฮาร์ทัน op cit หน้า 90-93
  8. วอลเธอร์และวูลฟ, “งานชิ้นเอกของหนังสือวิจิตร”, หน้า 350-353
  9. โปยอง, เอ็ดมอนด์ (ค.ศ. 1979). หนังสือประจำชั่วโมงของดยุคแห่งเบร์รี: ต้นฉบับคริสต์ศตวรรษที่ 15. นิวยอร์ก: เครสเซนต์บุคส์. ISBN 0-517-28288-7. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help) - โปยองมิได้กล่าวว่าปรมาจารย์คือคนคนเดียวกับบาเธเลมีแต่วอลเธอร์และวูลฟเชื่อว่าเป็นคนคนเดียวกันและกล่าวว่าเป็นผู้เขียนรูปเดือนมิถุนายน

ข้อมูลเพิ่มเติม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

สมุดภาพ แก้