หนังสือกำหนดเทศกาล

(เปลี่ยนทางจาก หนังสือประจำชั่วโมง)

หนังสือกำหนดเทศกาล (อังกฤษ: book of hours) เป็นหนังสือวิจิตรจากยุคกลางที่ยังหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน หนังสือกำหนดเทศกาลแต่ละเล่มก็มีลักษณะแตกต่างจากกันแต่ที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือจะเป็นหนังสือที่ประกอบด้วยข้อเขียน, บทสวดมนต์ และ เพลงสดุดี และเป็นหนังสือที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นหนังสือสวดมนต์สำหรับคริสต์ชนผู้เคร่งครัด

หน้าจากหนังสือวิจิตร “หนังสือกำหนดเทศกาลดยุคแห่งแบร์รี” (Très Riches Heures du Duc de Berry) เป็นภาพของ จอห์น ดยุคแห่งแบร์รีในโอกาส “วันแลกเปลี่ยนของขวัญ” ซึ่งเป็นภาพสำหรับเดือนมกราคม
หนังสือกำหนดเทศกาลจากปลายคริสต์ทศวรรษ 1470
บทสวด “Obsecro te” มี ปีเอต้า ขนาดเล็กเป็นภาพประกอบ จากหนังสือกำหนดเทศกาลแห่งอองเชส์จากคริสต์ทศวรรษ 1470

คำว่า “ชั่วโมง” ในคำภาษาอังกฤษสำหรับหนังสือกำหนดเทศกาลนั้น มาจากภาษาละติน ว่า “horae” แต่ถ้าเป็นหนังสือสวดมนต์ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษก็มักจะเรียกว่า “primer” หนังสือกำหนดเทศกาลมักจะเขียนเป็นภาษาละติน แต่ก็มีบ้างที่เขียนเป็นภาษาพื้นเมืองของยุโรป หนังสือจำนวนมากที่ยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันอยู่ในมือของห้องสมุดหรือของผู้สะสมส่วนบุคคล

เนื้อหา

แก้

หนังสือกำหนดเทศกาลเป็นหนังสือสวดมนต์พิธีฉบับย่อที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับการสวดมนต์ประจำชั่วโมง (Divine Office) ที่ใช้กันตามสำนักสงฆ์ แต่หนังสือกำหนดเทศกาลเป็นหนังสือที่สร้างขึ้นสำหรับฆราวาสผู้ประสงค์ที่จะนำวิถีการปฏิบัติบางอย่างมาใช้กระทำในชีวิตประจำวันของผู้เป็นเจ้าของ ตามปกติหนังสือกำหนดเทศกาลจะประกอบด้วย:

ประวัติ

แก้

หนังสือกำหนดเทศกาลมีรากฐานมาหนังสือสวดมนต์สั้น (Breviary) จากคริสต์ศตวรรษที่ 12 ซึ่งนักบวชชายและหญิงต้องใช้ในสำนักสงฆ์ หนังสือสวดมนต์สั้นประกอบด้วย เพลงสดุดี, บทสวดมนต์, เพลงสรรเสริญและเพลงสวด (Antiphons) ซึ่งเปลี่ยนไปตามฤดูการทำพิธีทางศาสนา ในที่สุดส่วนที่เป็น “บทสวดมนต์เฉพาะตอน” (Little Office) ก็แยกออกมาจากหนังสือสวดมนต์สั้น และวิวัฒนาการมาเป็น “หนังสือกำหนดเทศกาล” ซึ่งตั้งตามชั่วโมงของพระแม่มารีในข้อเขียน[1] หนังสือกำหนดเทศกาลสมัยแรกแต่งขึ้นสำหรับผู้หญิงและมักจะมอบเป็นมรดกตกทอดต่อๆ กันมาภายในครอบครัว เช่นจากแม่ถึงลูกสาวซึ่งจะเห็นได้จากการที่ระบุไว้ในพินัยกรรมหลายฉบับ[2]

ความเชื่อเดิมที่ว่าผู้มีอันจะกินหรือเจ้านายเท่านั้นที่จะสามารถเป็นเจ้าของหนังสือกำหนดเทศกาลได้ แต่เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ก็มีตัวอย่างว่าชนชั้นผู้รับใช้ก็สามารถเป็นเจ้าของได้ ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีที่ถึงศาลกรณีหนึ่งที่บ่งว่าหญิงยากจนถูกกล่าวหาว่าโขมยหนังสือกำหนดเทศกาลจากสาวใช้ในบ้าน[3]

หนังสือกำหนดเทศกาลบางเล่มเขียนขึ้นสำหรับผู้เป็นเจ้าของโดยเฉพาะ โดยมีเนื้อหาที่เหมาะสมตามความต้องการของผู้เป็นเจ้าของรวมทั้งการลงชื่อในหนังสือและมีบทสวดมนต์ที่เหมาะสมกับเจ้าของด้วย บางเล่มที่ตกค้างมามีรูปเจ้าของและตราประจำตระกูล หลักฐานเหล่านี้และนักบุญที่เลือกสำหรับการฉลองในปฏิทินทำให้สามารถสันนิษฐานได้ว่าผู้เป็นเจ้าของคนแรกเป็นใครถ้าไม่มีหลักฐานอื่นที่บ่งไว้

พอมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 การผลิตหนังสือกำหนดเทศกาลก็แพร่หลายมากขึ้นในประเทศในยุโรป พอมาถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 การผลิตหนังสือกำหนดเทศกาลก็ยิ่งถูกลงเพราะความก้าวหน้าทางด้านการพิมพ์ ซึ่งทำให้แม้แต่ชนชั้นต่ำก็สามารถซื้อหาหนังสือกำหนดเทศกาลเป็นของตนเองได้

การตกแต่ง

แก้

หนังสือกำหนดเทศกาลเป็นหนังสือที่มักจะตกแต่งด้วยภาพประกอบอย่างงดงามและกลายมาเป็นเอกสารสำคัญที่ไม่แต่จะมีคุณค่าทางการใช้รูปสัญลักษณ์ของคริสต์ศาสนาในยุคกลางเท่านั้น แต่ยังเป็นเอกสารที่บันทึกความเป็นอยู่ของสังคมในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 และคริสต์ศตวรรษที่ 16 ด้วย บางเล่มถึงกับตกแต่ด้วยอัญมณีบนหน้าปก หรือภาพเหมือนหรือตราประจำตระกูลของผู้เป็นเจ้าของ และภายในก็จะมีการตกแต่งด้วยภาพประกอบ ด้วยอักษรตกแต่ง หรือการตกแต่งตามริมหน้าหนังสือ บางเล่มก็หุ้มปกเป็นแบบที่เรียกว่า “หนังสือเข็มขัด” (girdle book) ที่เจ้าของสามารถห้อยกับเข็มขัดพกติดตัวไปไหนมาไหนง่าย บางเล่มเช่น “หนังสือกำหนดเทศกาลทาลบ็อต” ของ จอห์น ทาลบ็อต ดยุคแห่งชรูสบรีที่ 1 มีภาพเหมือนของเจ้าของและภรรยาที่คุกเข่าชื่นชมพระแม่มารีและพระบุตรด้วย นอกจากนั้นก็อาจจะตกแต่งประกอบด้วยภาพชุดเช่นภาพชุดจาก แรงงานประจำเดือน (Labours of the Months), หรือภาพชุดจาก “ชีวิตของพระแม่มารี” หรือภาพชุดจากทุกขกิริยาของพระเยซู (Passion of Christ) 8 ภาพสำหรับบทสวดมนต์ 8 บทใน หนังสือสวดมนต์พระแม่มารี

เนื้อหาของหนังสือกำหนดเทศกาลมิได้ตายตัวกับเจ้าของคนแรก เจ้าของคนต่อๆ มาอาจจะขยายเพิ่มภายหลัง เช่นเมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 7 ทรงได้รับชัยชนะต่อพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 พระองค์ก็พระราชทานหนังสือกำหนดเทศกาลของพระเจ้าริชาร์ดให้แก่พระมารดาผู้ทรงลงพระนามแสดงความเป็นเจ้าของ สิ่งที่มักจะได้รับการเปลี่ยนอีกอย่างหนึ่งคือตราประจำตระกูลของผู้เป็นเจ้าของใหม่ หนังสือบางเล่มที่เหลืออยู่ในปัจจุบันบางเล่มก็จะมีบันทึกของผู้เขียนตามขอบหรือความเห็นส่วนตัวบ้าง หรือบางครั้งเจ้าของใหม่ก็อาจจะจ้างช่างเขียนมาเพิ่มเนื้อหาหรือภาพประกอบเช่นเซอร์ทอมัส ลูว์คนอร์จ้างให้เพิ่มภาพประกอบจนกลายเป็นหนังสือที่รู้จักกันในชื่อ “หนังสือกำหนดเทศกาลลูว์คนอร์” (Lewkenor Hours) นอกไปจากบันทึกทางศาสนาแล้วบางทีก็จะมีหมายเหตุเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายภายในบ้าน หรือวัดเกิดวันเสียชีวิตของคนในบ้านหรือลายเซ็นของแขกที่มาเยี่ยมเป็นต้น

ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ผู้พิมพ์หนังสือกำหนดเทศกาลก็เริ่มใช้ภาพประกอบจากที่เป็นภาพพิมพ์แกะไม้ และสามารถพิมพ์ต้นฉบับเป็นหนังโดยมีภาพประกอบที่เรียบๆ ได้ทีละเป็นจำนวนมาก เมื่อพิมพ์เสร็จก็จะจ้างทำภาพประกอบที่ให้เหมาะสมกับผู้ซื้อได้อย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างหนังสือกำหนดเทศกาล

แก้

หนังสือกำหนดเทศกาลที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดและมีการตกแต่งมากที่สุดคือหนังสือ “หนังสือกำหนดเทศกาลดยุคแห่งแบร์รี” ที่เขียนและตกแต่งระหว่างปี ค.ศ. 1412 ถึงปี ค.ศ. 1416 ใน ประเทศฝรั่งเศสสำหรับจอห์น ดยุคแห่งแบร์รี

“หนังสือกำหนดเทศกาลเบรลส์” (De Brailes Hours) เขียนและตกแต่งราวปี ค.ศ. 1240 เป็นหนังสือกำหนดเทศกาลที่เก่าที่สุดที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ภายในมีภาพสี่ภาพที่อาจจะเป็นภาพของเจ้าของคนแรก

หนังสือสวดมนต์รอธชาล์ยด์

แก้

“หนังสือสวดมนต์รอธชาล์ยด์” (The Rothschild Prayerbook) เขียนและตกแต่งราวปี ค.ศ. 1505 เดิมเป็นของหลุยส์ นาเธเนียล ฟอน รอธชาล์ยด์ แต่มาถูกนาซียึดจากสมาชิกในตระกูลรอธชาล์ยด์ที่พำนักอยู่ในออสเตรียในปี ค.ศ. 1938 หลังจากที่นาซีเข้ายึดครองประเทศออสเตรีย ในที่สุดหลังจากการเรียกร้องโดยเบ็ตตินา ลูแรม-รอธชาล์ยด์ รัฐบาลออสเตรียก็มอบ “หนังสือสวดมนต์รอธชาล์ยด์” คืนให้แก่ครอบครัวในปี ค.ศ. 1999 เบ็ตตินาประมูลขายที่ลอนดอนในราคา $13,400,000 (ประมาณ 402,000,000 บาท) เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1999

หนังสือกำหนดเทศกาลคอนนอลลี

แก้

“หนังสือกำหนดเทศกาลคอนนอลลี” (Connolly Book of Hours) เขียนและตกแต่งระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นตัวอย่างของหนังสือที่เจ้าของมิได้เป็นชนชั้นเจ้านาย

อ้างอิง

แก้
  1. จอห์น ฮาร์ธัน “หนังสือกำหนดเทศกาล: พร้อมทั้งการสำรวจทางประวัติศาสตร์และความคิดเห็นโดยจอห์น ฮาร์ธัน”: นิวยอร์ก: โครเวลล์, ค.ศ. 1977
  2. จอห์น ฮาร์ธัน
  3. อีมอน ดัฟฟี
  • “อ็อกฟอร์ดพจนานุกรมศิลปะ” ISBN 0-19-280022-1
  • อีมัน ดัฟฟี, “The Stripping of the Altars: Traditional Religion in England 1400-1580” (เยล, ค.ศ. 1992) ISBN 0-300-06076-9
  • อีมัน ดัฟฟี, “A Very Personal Possession” (“History Today” พฤศจิกายน ค.ศ. 2006)
  • จอห์น ฮาร์ธัน “หนังสือกำหนดเทศกาล: พร้อมทั้งการสำรวจทางประวัติศาสตร์และความคิดเห็นโดยจอห์น ฮาร์ธัน”: นิวยอร์ก: โครเวลล์, ค.ศ. 1977

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ “หนังสือกำหนดเทศกาล”   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ หนังสือวิจิตร