อาร์เอส

บริษัทสื่อและความบันเทิงในประเทศไทย
(เปลี่ยนทางจาก สบายดีทีวี)

บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: RS Public Company Limited ชื่อย่อ: RS) เป็นผู้บุกเบิกและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่วัฒนธรรมความบันเทิงของไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525[2] ปัจจุบัน อาร์เอส กรุ๊ป จัดอยู่ในหมวดธุรกิจพาณิชย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจพาณิชย์ ซึ่งประกอบด้วย อาร์เอส มอลล์ และ บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด และธุรกิจสื่อและบันเทิง ซึ่งประกอบด้วย ช่อง 8, คูลลิซึ่ม และอาร์เอส มิวสิค ภายใต้โมเดล Entertainmerce (บันเทิงเชิงพาณิชย์)

บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)
ประเภทบริษัทมหาชนจำกัด
การซื้อขาย
SET:RS
อุตสาหกรรมธุรกิจพาณิชย์
ก่อตั้ง1 มกราคม พ.ศ. 2524 (43 ปี)
ผู้ก่อตั้งสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์
เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์
สำนักงานใหญ่27 อาคารอาร์เอสกรุ๊ป ถนนประเสริฐมนูกิจ (เกษตร-นวมินทร์) แขวงเสนานิคม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
บุคลากรหลักสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ (ประธาน, CEO)
ผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม รายการโทรทัศน์ ละครโทรทัศน์ ดนตรี เพลง โชว์บิซ คอนเสิร์ต สตูดิโอ และ สถานีโทรทัศน์
รายได้3,611 ล้านบาท (ข้อมูลปี พ.ศ. 2562) [1]
พนักงาน
1,400 คน
บริษัทในเครืออาร์เอสมอลล์
ไลฟ์สตาร์
คูลฟาเรนไฮต์
คูลแอนีธิง
ช่อง 8
อาร์เอส มิวสิค
เว็บไซต์www.rs.co.th/th

ประวัติ

แก้

ช่วงเริ่มต้น

แก้
 
สัญลักษณ์บริษัทเมื่อครั้งใช้ชื่อว่า อาร์.เอส. โปรโมชั่น กรุ๊ป เมื่อปี พ.ศ. 2533 - 2535
 
สัญลักษณ์บริษัทเมื่อครั้งใช้ชื่อว่า อาร์.เอส. โปรโมชั่น 1992 จำกัด

พ.ศ. 2519 เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ และสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ เริ่มก่อตั้ง RS และ Rose Sound โดยเริ่มจากธุรกิจแรกคือตู้เพลงและค่ายเพลง ด้วยเงินลงทุน 50,000 บาท ถือเป็นจุดเริ่มต้นของอาร์เอส มีสำนักงานแห่งแรกเป็นตึกแถวจำนวน 2 คูหา บนถนนอุรุพงษ์

พ.ศ. 2525 เริ่มทำเพลงแนววัยรุ่น ภายใต้บริษัท อาร์.เอส.ซาวด์ จำกัด โดยมีศิลปินวงแรกในสังกัดคือวงอินทนิล จากนั้นก็มีศิลปินเพิ่มขึ้นอีก เช่นคีรีบูน, ฟรุตตี้, ซิกเซนต์, บรั่นดี, และ เรนโบว์ เป็นต้น

พ.ศ. 2535 อาร์เอสได้ย้ายสำนักงานมายังอาคารเชษฐโชติศักดิ์ ซอยลาดพร้าว 15 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น "บริษัท อาร์.เอส. โปรโมชั่น 1992 จำกัด" พร้อมทั้งประกาศจุดยืนเป็นบริษัทบันเทิงครบวงจร

พ.ศ. 2538 เริ่มทำธุรกิจภาพยนตร์ ในนาม "อาร์.เอส.ฟิล์ม" จากเรื่อง "โลกทั้งใบให้นายคนเดียว" และนับเป็นภาพยนตร์เปิดตัวที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งรายได้และรางวัล และยังเป็นพื้นฐานในการสร้างภาพยนตร์เรื่องต่อมาของอาร์เอส

พ.ศ. 2540 อาร์เอสเริ่มทำธุรกิจสื่อโทรทัศน์อย่างเต็มตัว ด้วยการเปิดบริษัท ชาโดว์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ในช่วงต้นปี และบริษัท เมจิค แอ็ดเวอร์เทนเมนท์ จำกัด ในช่วงกลางปี โดยผลิตรายการทั้งรายการเกมส์โชว์, รายการวาไรตี้, มิวสิควีดีโอ และละครโทรทัศน์ ให้แก่สถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ

พ.ศ. 2542 ได้มีการปรับปรุงการทำธุรกิจสื่อวิทยุใหม่ในนาม บริษัท สกาย-ไฮเน็ตเวิร์ค จำกัด และเข้าทำสื่อวิทยุอย่างเป็นทางการ โดยรับหน้าที่ผลิตรายการและบริหารคลื่นวิทยุในเครือ ได้แก่ 98 Cool FM และ 88.5 Z POP We Like คลื่นซ่าของคนรุ่น Z

บริษัทมหาชนจำกัด

แก้

พ.ศ. 2546 อาร์เอสได้ยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น "บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)"

 
สัญลักษณ์บริษัท ถึงเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2563

พ.ศ. 2549 เปลี่ยนโลโก้บริษัทเนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี รวมทั้งก่อตั้งบริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดแคสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเมนต์ จำกัด และ บริษัท อาร์เอส ไอดรีม จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจทางด้านกีฬาและโชว์บิซ รวมทั้งซื้อลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2 สมัย คือฟุตบอลโลก 2010, 2014 และฟุตบอลยูโร 2008

พ.ศ. 2552 เริ่มทำโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม โดยเปิดตัว YOU Channel และ สบายดี ทีวี

พ.ศ. 2554 ได้เปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเพิ่มอีก 2 ช่อง ได้แก่ ช่อง 8 และ ย๊ากทีวี

พ.ศ. 2556 เป็นผู้ผลิตสื่อครบวงจร พร้อมทั้งผลิตสื่อบันเทิงเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจวิทยุ ได้รีแบรนด์ ‘สกายไฮ เน็ตเวิร์ค’ เป็น ‘คูลลิซึ่ม’ และเปิดคลื่นวิทยุใหม่ คูลเซลเซียส 91.5

พ.ศ. 2557 อาร์เอสเริ่มทำธุรกิจทีวีดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยได้ส่งบริษัท อาร์เอส เทเลวิชัน จำกัด เข้าร่วมการประมูลโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ประเภทบริการธุรกิจระดับชาติ หมวดรายการทั่วไป ความละเอียดมาตรฐาน และทำให้ "ช่อง 8" ได้เริ่มออกอากาศทางทีวีดิจิทัลช่องหมายเลข 27 ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557 มาจนถึงปัจจุบัน ส่วน "ช่อง 2" และ "สบายดีทีวี" ยังคงเป็นผู้นำในธุรกิจทีวีดาวเทียมตามเดิม ทั้งยังได้ปรับโฉมคลื่นวิทยุ คูลเซลเซียส 91.5 เป็น COOL Fahrenheit 93 คลื่นเพลงฟังสบายอันดับ 1 ที่มีผู้ติดตามอย่างเหนียวแน่น และในขณะเดียวกันก็เริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม

พ.ศ. 2559 เปิดตัวบริษัท "ไลฟ์สตาร์ (LifeStar)" เพื่อขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจสุขภาพและความงาม พร้อมเปิดตัวสินค้าหลัก เช่น "มาจีค กราวีธัส รีไวว์ และ โนเบิลไวท์"

พ.ศ. 2560 บริษัทฯ ภายใต้การดำเนินงานของไลฟ์สตาร์ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม รวมถึงจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าในตราสินค้า "มาจีค" ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมและหนังศีรษะในตราสินค้า "รีไวฟ์" และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในตราสินค้า "เอส.โอ.เอ็ม." โดยโฆษณาและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านสื่อของบริษัทฯ ทั้งออนไลน์และผ่านทีวี รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของทีมพนักงานขายผ่านโทรศัพท์ (Telesales) เพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และบริษัทฯ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ ส่งผลให้ยอดขายเติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

พ.ศ. 2561 เปลี่ยนถ่ายเข้าสู่การเป็นบริษัทเชิงพาณิชย์ หรือ MPC อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการบริหารสื่อที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายและประเภทของผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

ย้ายธุรกิจ

แก้

ในปี พ.ศ. 2562 อาร์เอสเติบโตในธุรกิจพาณิชย์ภายใต้แบรนด์ "ช้อป 1781" อย่างต่อเนื่อง และเป็นธุรกิจที่เติบโตสูงสุดในเครืออาร์เอส ทำให้ในเดือนมีนาคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอนุญาตให้อาร์เอสสามารถย้ายหมวดธุรกิจ จากหมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ มาเป็นหมวดธุรกิจพาณิชย์ได้ โดยยังคงอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการดำเนินธุรกิจของอาร์เอสในอนาคต โดยหลังจากเปลี่ยนกลุ่มมาเป็นกลุ่มธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง หรือ MPC (Multi-platform Commerce) ก็ช่วยสร้างรายได้ให้ได้ถึง 60% ของรายได้รวมของอาร์เอส[3] ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ได่เข้าถือหุ้นอาร์เอส จำนวน 68 ล้านหุ้น (หรือประมาณ 7%) เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลลูกค้าให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจมากขึ้น[4]

ปรับภาพลักษณ์องค์กร

แก้
 
สัญลักษณ์บริษัทใหม่ เริ่มใช้ปี พ.ศ. 2563

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 อาร์เอสได้ย้ายสำนักงานจากอาคารเชษฐโชติศักดิ์ ซอยลาดพร้าว 15 มาอยู่ที่ อาคารกลุ่มอาร์เอส ถนนประเสริฐมนูกิจ แขวงเสนานิคม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีพื้นที่รวมกว่า 62,845 ตารางเมตร แบ่งเป็น 3 อาคารหลัก และ 1 อาคารจอดรถ มีการออกแบบสไตล์ Congregations Rhythm และออกแบบให้ด้านหน้าอาคารของทั้ง 4 ต่อเนื่องกันเป็นกลุ่มอาคาร ซึ่งมีพื้นที่ของส่วนงานการผลิตรายการของช่อง 8 ที่มีห้องถ่ายทอดรายการข่าว และห้องอัดเสียง รวมทั้งห้องจัดรายการสำหรับคลื่นวิทยุคูลฟาเรนไฮต์ 93 และยังมี "โรสฮอลล์" หรือพื้นที่จัดกิจกรรมที่สามารถรองรับได้ถึง 400 – 600 คน สำหรับรองรับการจัดอีเวนต์หรือกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ

หลังจากย้ายสำนักงานแล้ว อาร์เอสได้ปรับภาพลักษณ์องค์กรเป็น "อาร์เอส กรุ๊ป"[5] และเปลี่ยนสัญลักษณ์บริษัทใหม่ จากสีฟ้าคล้ายหยดน้ำ เป็นตัวอักษรทรงโค้งมนสไตล์มินิมอล ซึ่งสื่อถึงองค์กรที่ไม่มีกรอบและข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ผลงานและการทำธุรกิจ

รวมถึงอาร์เอสยังประกาศจุดยืนใหม่คือ Entertainmerce (บันเทิงเชิงพาณิชย์) โดยมีการรีแบรนด์ "ช้อป 1781" เป็น "อาร์เอส มอลล์" และเปลี่ยนชื่อ "สบายดีทีวี" เป็น "อาร์เอส มอลล์ แชนแนล" ส่วนตราสินค้า "ไลฟ์สตาร์" ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และช่อง 8, คูลลิซึ่ม รวมถึงธุรกิจเพลง ยังคงเป็นผู้นำตลาดและเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อาร์เอสเติบโตอย่างต่อเนื่อง

จากนั้นในปี พ.ศ. 2566 กลุ่มอาร์เอสได้จับมือกับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ค่ายเพลงชื่อดังของไทยอีกรายหนึ่ง ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ จดทะเบียนจัดตั้งกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ภายใต้ชื่อ อะครอสเดอะยูนิเวิร์ส (Across The Universe) และดำเนินการจัดคอนเสิร์ตร่วมระหว่างศิลปินทั้ง 2 ค่าย ในชื่อ แกรมมี่ อาร์เอส คอนเสิร์ตส[6] และในวันที่ 27 เมษายน ปีเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของอาร์เอสได้อนุมัติการแยกธุรกิจ (Spin-off) ของกลุ่มธุรกิจอาร์เอส มิวสิค ออกมาจัดตั้งเป็นบริษัทย่อย เพื่อรองรับการระดมทุนสาธารณะผ่านการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชน และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2567[7]

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 คณะกรรมการบริษัทมีมติควบรวมกิจการกับ บริษัท กิฟท์ อินฟินิท จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนชื่อ "กิฟท์ อินฟินิท" เป็น "อาร์เอสเอ็กซ์วายแซด" ในการนี้อาร์เอสได้จัดแบ่งกลุ่มธุรกิจใหม่เป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ ดนตรีและบันเทิง, สุขภาพและความงาม, อาหารและเครื่องดื่ม, เทคโนโลยีและนวัตกรรม, การดูแลสัตว์เลี้ยง และแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้า[8]

บริษัทย่อย

แก้

จากข้อมูลในรายงานประจำปี พ.ศ. 2561 บริษัทอาร์เอสมีบริษัทย่อยดังนี้[9]

  • บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ดำเนินธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามช่องทางค้าปลีก
  • บริษัท อาร์เอส เทเลวิชั่น จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 99.99 รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลช่อง 8
  • บริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ดำเนินธุรกิจจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์
  • บริษัท บันเทิง วาไรตี้ จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ดำเนินธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์

ธุรกิจ

แก้

ธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง

แก้

ธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) ประกอบด้วยการขายสินค้าภายใต้แบรนด์อาร์เอส มอลล์ ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ผ่านแพลตฟอร์มและช่องทางต่าง ๆ ทั้งของอาร์เอสเองและพันธมิตร ทั้งในส่วนของทีวีดิจิทัลผ่านช่อง 8 และช่องอื่น ๆ, คูลฟาเรนไฮต์ต่าง ๆ, โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม อาร์เอส มอลล์ แชนแนล และช่องทางออนไลน์ทั้งไลน์, เว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน รวมถึงการวางสินค้าของอาร์เอส ภายใต้การดูแลของไลฟ์สตาร์ ผ่านการค้าสมัยใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ด้วยคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าสากล[10]  

ธุรกิจสื่อ

แก้

ธุรกิจสื่อของอาร์เอสประกอบด้วยทีวีดิจิทัล ช่อง 8, ทีวีดาวเทียม อาร์เอส มอลล์ แชนแนล และสื่อวิทยุ คูลฟาเรนไฮต์ 93 คลื่นวิทยุในเครืออาร์เอส กรุ๊ป สถานีเพลงแนวอีซีลีเซ็นนิงที่มียอดผู้ฟังสูงสุดตลอด 20 ปี และมีผู้ฟังผ่านออนไลน์เป็นอันดับใน 1 เอเชีย มีรูปแบบการนำเสนอเพลงไทยตลอด 24 ชั่วโมง บนวิทยุ FM93 เมกะเฮิรตซ์, หน้าเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน COOLISM[9]

ธุรกิจเพลง

แก้
 
เฟย์ ฟาง แก้ว ศิลปินเบอร์แรกของค่ายวัยรุ่น กามิกาเซ่

ปัจจุบัน อาร์เอส มิวสิค กลับมาพัฒนาธุรกิจเพลงซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในความสำเร็จของอาร์เอสให้ดียิ่งขึ้น โดยจากเดิมที่มีการเปิดตัวค่ายเพลงต่าง ๆ หลายค่าย จนกระทั่งถูกยุบเหลือค่ายเดียวคืออาร์ สยาม ปัจจุบันมีค่ายเพลง รวม 4 ค่ายเพลง คือบิค เอนเตอร์เทนเม้น, แฟช , คูล มิวสิค และอาร์ สยาม และยังมีแผนในการระดมทุนสาธารณะผ่านการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชน และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2567[7]

ธุรกิจภาพยนตร์

แก้

ปัจจุบัน อาร์เอส ฟิล์มเวิร์คส์ กลับมาพัฒนาธุรกิจภาพยนตร์ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในความสำเร็จของอาร์เอสให้ดียิ่งขึ้น โดยภาพยนตร์เรื่องแรกในนาม อาร์เอส ฟิล์มเวิร์คส์ คือเรื่อง SUPERWAVE แดนซ์ลืมโลก ร่วมทำกับ จีดีเอช และ จอกว้างฟิล์ม

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

แก้
  • ข้อมูล ณ วันที่ 28 กันยายน 2567 [11]
ลำดับที่ รายชื่อผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้นสามัญ สัดส่วนการถือหุ้น
1 นาย สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ 242,499,999 22.67%
2 นาย โสรัตน์ วณิชวรากิจ 107,800,000 10.08%
3 นาย วีรพัฒน์ พูนศักดิ์อุดมสิน 60,184,300 5.626%[12]
4 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 58,365,090 5.46%
5 นางสาว อรุณรุ่ง ศรีวัฒนประภา 52,250,000 4.88%

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. หุ้นค่ายเพลง
  2. "RS Group - Inspire and fulfill people with valuable entertainment and solutions". RS Group.
  3. "กรณีศึกษา 'อาร์เอส' กับการ Cross Industry 'ต้องไม่ยึดติดกับความสำเร็จเดิม' เพราะส่งที่ใช่ ไม่จำเป็นต้องใช่เสมอไป". แบรนด์บุฟเฟต์. 25 มีนาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 2 กันยายน 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  4. "BTS ทุ่มพันล้านซื้อหุ้น RS 7% ขยายฐานต่อยอดธุรกิจใหม่". ผู้จัดการออนไลน์. 20 สิงหาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 2 กันยายน 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  5. RS พร้อมสร้างแรงบันดาลใจ เติมเต็มชีวิตผู้คนด้วยความบันเทิง สินค้าและบริการที่สร้างสรรค์ และมีคุณค่า
  6. “GRAMMY x RS” ร่วมทุนตั้งกิจการร่วมค้า “อะครอส เดอะ ยูนิเวิร์ส” ลุยธุรกิจเพลง
  7. 7.0 7.1 "เฮียฮ้อ เผยบอร์ดบริหารอนุมัติ Spin Off ธุรกิจ RS Music เข้าตลาดฯ ปีหน้า". กรุงเทพธุรกิจ. 2023-04-27. สืบค้นเมื่อ 2023-04-27.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "RS ควบกิจการ GIFT สู่ 'RSXYZ' เสริมทัพอีโคซิสเต็มดัน 7 พันล.ปี68". mgronline.com. 2024-10-16.
  9. 9.0 9.1 "รายงานประจำปี 2561". สืบค้นเมื่อ 2 กันยายน 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  10. Oops!, Marketing (2020-06-29). "อาร์เอส กรุ๊ป เปิดกลยุทธ์ ปั้น RS Mall เติบโตแบบยั่งยืน ด้วย Data Insight และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ". Marketing Oops! (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  11. ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เซ็ทเทรดดอตคอม
  12. [1]

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้