วิกิพีเดีย:การตรวจสอบผู้ใช้
หน้านี้เป็นนโยบายของวิกิพีเดียภาษาไทย เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางซึ่งปกติผู้ใช้ทุกคนควรถือปฏิบัติ การปรับแก้นโยบายควรสะท้อนความเห็นพ้อง |
ในวิกิพีเดีย เครื่องมือ ตรวจสอบผู้ใช้ (CheckUser) เป็นเครื่องมือสำหรับผู้ใช้ที่ได้รับอนุญาต ในการตรวจสอบข้อมูลไอพี และบันทึกของเซิร์ฟเวอร์ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขของผู้ใช้ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันวิกิพีเดียจากการก่อกวนหรือการแก้ไขอันไม่พึงประสงค์ เครื่องมือตรวจสอบผู้ใช้เป็นเครื่องมือที่ให้ข้อมูลที่บันทึกไว้ในเซิร์ฟเวอร์ระหว่างการแก้ไขเพื่อการตรวจสอบเท่านั้น จึงอาจต้องใช้ประสบการณ์และทักษะเฉพาะตัวควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้การตรวจสอบผู้ใช้ประสบผลสำเร็จมากที่สุด
นโยบายการตรวจสอบ
- เครื่องมือตรวจสอบผู้ใช้ให้ใช้ในการตรวจสอบเพื่อป้องกัน จำกัดและรับมือกับการก่อกวน เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมหุ่นเชิด หรือเพื่อลดการแก้ไขบางประการอันไม่พึงประสงค์ มิใช่เครื่องมือที่ใช้เพื่อควบคุมผู้ใช้ เพื่อสร้างแรงกดดันให้แก่ผู้ใช้ หรือใช้เครื่องมือในการโจมตีหรือคุกคามผู้ใช้อื่น ไม่ว่าจะเป็นในกรณีธรรมดาหรือกรณีที่มีเนื้อหาขัดแย้งกันไม่ก็ตาม
- ไม่ตรวจสอบการใช้บัญชีผู้ใช้มากกว่าหนึ่งบัญชีที่ไม่ละเมิดนโยบาย ได้แก่ บัญชีผู้ใช้ซึ่งแบ่งแยกการแก้ไขในแต่ละโครงการที่สนใจออกจากกัน บัญชีผู้ใช้ที่สร้างใหม่แทนบัญชีผู้ใช้เดิมที่มีปัญหาและมิได้นำไปใช้ในการก่อกวนหรือละเมิดนโยบาย (บัญชีที่เข้าข่ายสร้างเพื่อใช้ในการละเมิดนโยบาย เช่น บัญชีผู้ใช้ที่นำไปใช้ในการโหวดสนับสนุนตนเองเพื่อรับตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง (เช่น ผู้ดูแลระบบ) เป็นต้น
- ไม่อนุญาตให้มีการตรวจสอบไอพีผู้ใช้จากผู้ใช้นั้น ๆ เอง เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าตนเองมิใช่หุ่นเชิดของผู้ใช้อื่น เนื่องจากการตรวจสอบดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่พึงประสงค์ได้ หากมีประเด็นที่จะสงสัยว่าเป็นหุ่นเชิดหรือเป็นผู้ใช้เดียวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง กรุณาอย่าตื่นตระหนก เวลาและการกระทำจะเป็นเครื่องพิสูจน์ทุกสิ่งเอง (ดูเพิ่มที่ วิกิพีเดีย:หุ่นเชิด)
- ตามนโยบายเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคล ก่อนจะมีการตรวจสอบผู้ใช้ใด ๆ ตามคำขอของอีกผู้ใช้หนึ่ง ให้แจ้งผู้ใช้ที่จะถูกตรวจสอบทราบ และให้เวลาในการยอมรับหรือปฎิเสธความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกันได้ภายในระยะเวลาอันสมควร เว้นแต่เป็นกรณีเร่งด่วนซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือนี้ทันที เช่น การก่อกวนที่เกิดขึ้นโดยทันทีทันใด และ/หรือผู้ใช้หลายคนแสดงพฤติกรรมที่ใกล้เคียงกัน
- ไม่รับการตรวจสอบซึ่งจะนำไปสู่การเปิดเผยไอพี (เช่น การตรวจสอบผู้ใช้กับไอพี) เนื่องจากเป็นการละเมิดนโยบายสิทธิส่วนบุคคล
- คำขอตรวจสอบผู้ใช้จะต้องกระทำโดยผ่านทางระบบวิกิพีเดียเท่านั้น เช่น ผ่านทางหน้าพูดคุยของผู้ตรวจสอบ ผ่านทางหน้าแจ้งตรวจสอบหุ่นเชิด หรือผ่านทางฟังก์ชันส่งอีเมลหาผู้ใช้
นโยบายสิทธิส่วนบุคคล
เนื่องจากเครื่องมือตรวจสอบผู้ใช้อนุญาตให้ผู้ใช้ที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ และมูลนิธิวิกิมีเดียถือสิทธิส่วนบุคคลของผู้แก้ไขเป็นสิ่งสำคัญมาก จึงอาจมีข้อขัดแย้งระหว่างการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้ (แม้ผู้ใช้จะก่อให้เกิดปัญหามากก็ดี) กับการป้องกันการก่อกวนและการแก้ไขที่ไม่สร้างสรรค์ ประเด็นความขัดแย้งนี้เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและยังไม่มีหลักปฏิบัติที่เหมาะสม หลักปฏิบัติต่อไปนี้เป็นหลักทั่วไปที่ปฏิบัติในวิกิพีเดียภาษาไทย หากมีข้อสงสัย กรุณาติดต่อผู้ตรวจสอบผู้ใช้ที่มีประสบการณ์
- ผู้ตรวจสอบผู้ใช้มีวิจารณญาณในการตรวจสอบผู้ใช้ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม (ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการลดหรือป้องกันการแก้ไขที่ไม่สร้างสรรค์และการก่อกวน)
- ผู้ตรวจสอบผู้ใช้อาจรับเรื่องไว้โดยเปิดเผยหรือไม่ก็ได้ ตามแต่สมควร
- ผู้ตรวจสอบผู้ใช้จะรับเรื่องที่มีเหตุผลเฉพาะเจาะจงที่รับฟังได้เท่านั้น อย่างไรก็ดีผู้ตรวจสอบผู้ใช้อาจทำการตรวจสอบโดยไม่เปิดเผยเพื่อสกัดหรือป้องกันความเสียหายได้ ทั้งนี้ต้องสอดคล้องกับนโยบายการตรวจสอบผู้ใช้
- ผลการตรวจสอบผู้ใช้เป็นไปตามนโยบายสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งจะไม่เปิดเผยข้อมูลที่ระบุตัวบุคคล เว้นแต่
- ได้รับคำยินยอมจากผู้ที่ถูกตรวจสอบนั้น
- หากผู้ใช้ทำการก่อกวนหรือแก้ไขโดยไม่สร้างสรรค์อย่างสม่ำเสมอ ข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบผู้ใช้อาจนำมาเปิดเผยเพื่อช่วยในการบล็อกไอพีที่มีปัญหา หรือช่วยผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตในการจัดการกับกรณีดังกล่าว ซึ่งมีการร้องเรียนไปยังผู้ให้บริการ และ
- หากมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการปกป้องสิทธิ์ ทรัพย์สินหรือความปลอดภัยของมูลนิธิวิกิพีเดีย ผู้ใช้ หรือสังคมโดยรวม
การไม่เปิดเผยข้อมูลไอพี
โดยปกติการระบุว่าผู้ใช้ที่ต่างชื่อบัญชีกันจะใช้ไอพีหรือช่วงไอพีร่วมกัน ไม่ถือเป็นการละเมิดนโยบาย หากไม่ระบุข้อมูลเกี่ยวกับไอพีหรือช่วงไอพีโดยชัดแจ้ง หรือในข้อมูลที่ระบุมีเพียงข้อมูลกว้าง ๆ เช่นประเทศ เครือข่าย ซึ่งไม่สามารถนำไปชี้ว่าเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ นอกจากนี้การลิงก์ไอพีกับบัญชีผู้ใช้เป็นสิ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะไอพีนั้นมักจะลิงก์กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ หรือช่วงไอพีแคบ ๆ ช่วงใดช่วงหนึ่งเท่านั้น ยิ่งช่วงไอพีกว้างขึ้น จะไม่สามารถระบุบุคคลหนึ่ง ๆ นั้นว่ามาจากไอพีใดได้เลย
ผู้ตรวจสอบผู้ใช้จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงการระบุไอพีหนึ่งเข้ากับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ในบางกรณีก็ไม่อาจเป็นเช่นนั้น ผู้ใช้ที่ทำการแก้ไขโดยไม่สร้างสรรค์อาจถูกลิงก์ไอพีกับผู้ใช้ เช่นในกรณีต่อไปนี้
- ผู้ใช้ใช้หลายไอพี หรือใช้ทั้งบัญชีผู้ใช้และไอพีในการก่อกวนหรือแก้ไขโดยไม่สร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นในบทความเดียวหรือไม่ก็ตาม และเป็นการยากที่จะบล็อกผู้ใช้และไอพีทั้งหมด
- ผู้ใช้ก่อกวนโดยใช้หลายบัญชีผู้ใช้ และอาจสร้างบัญชีผู้ใช้เพิ่มอีกเพื่อการก่อกวน จำเป็นต้องบล็อกช่วงไอพีที่ใช้โดยบัญชีนั้น ๆ
ผู้ใช้ที่รับมือในสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งได้ร้องขอให้บล็อกหรือมีการดำเนินการใด ๆ ที่ต้องดำเนินการโดยผู้ดูแล ให้ถือว่าเป็นกรณีที่จะใช้เครื่องมือตรวจสอบได้ และหากผู้ตรวจสอบพิจารณาแล้วว่าผู้ใช้ดังกล่าวได้รับมือในสถานการณ์ดังกล่าวจริง แต่กรณีดังกล่าวเป็นข้อพิพาทระหว่างบุคคลหรือเนื้อหา ให้ผู้ตรวจสอบตระหนักไว้ว่า การกระทำการให้วิกิพีเดียปราศจากการก่อกวนและการแก้ไขอันไม่พึงประสงค์ มีความสำคัญกว่าการปกป้องผู้ใช้ที่จงใจละเมิดนโยบาย
การเก็บข้อมูลไอพี
วิกิมีเดียตั้งโปรแกรมเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับการตรวจสอบไว้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากข้อมูลเก่าซึ่งยังเก็บอยู่ในฐานข้อมูลซึ่งแม้จะไม่มีประโยชน์แล้วก็ตาม ยังนับว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ โดยทั่วไปแล้วหากกรณีการตรวจสอบไม่ได้กระทำอย่างทันท่วงที หรือไม่ใช่กรณีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาจไม่ได้รับการตอบสนองในการตรวจสอบได้
ข้อปฏิบัติทั่วไป
แม้ผู้ใช้จะก่อกวนก็ตาม การไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นการดีที่สุด กล่าวคือ
- โดยทั่วไปจะไม่เปิดเผยไอพี จะเปิดเผยเพียงว่าใช่เครือข่ายเดียวกันหรือไม่ หากจำเป็นต้องเปิดเผย ขอให้แน่ใจว่าบุคคลที่จะมอบข้อมูลให้นั้นไว้ใจได้และจะไม่เปิดเผยข้อมูลนั้น
- ถ้าผู้ใช้บอกว่าตนเองแก้ไขจากที่ใดที่หนึ่ง และไอพียืนยันว่าเป็นเช่นนั้นจริง จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อยืนยัน (หากจำเป็นต้องมีการยืนยัน)
- หากผู้ขอตรวจสอบมีข้อสงสัยไม่ว่าจะเป็นในประเด็นก็ตาม ผู้ตรวจสอบจะไม่พึงเปิดเผยข้อมูลใด ๆ ทั้งสิ้น
หลักปฏิบัติเพิ่มเติมคือ หากมีการร้องขอให้ตรวจสอบข้อมูล กรุณาให้ผู้ขอตรวจสอบแสดงหลักฐานว่าการตรวจสอบนั้นจำเป็นและพึงกระทำได้ รวมถึงใช้เหตุผลของผู้ตรวจสอบเองเพื่อพิจารณาควบคู่ไปด้วย และต้องอธิบายเหตุผลของผู้ตรวจสอบเองหากจำเป็น อย่าอนุมานว่ากรณีนี้สามารถตรวจสอบได้ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ร้องขอให้ตรวจสอบก็ตาม
"ไม่มีหลักฐาน"
การตรวจสอบผู้ใช้โดย "ไม่มีหลักฐาน" คือการตรวจสอบผู้ใช้โดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าผู้ใช้ที่ถูกตรวจสอบเป็นหุ่นเชิดของอีกคนหนึ่ง การตรวจสอบเช่นนี้ไม่เหมาะสม เว้นแต่จะมีหลักฐานที่แสดงได้ว่ามีการใช้หุ่นเชิดในทางที่ผิด สำหรับการตรวจสอบผู้ใช้ที่เป็นหุ่นเชิดโดยไม่ทราบผู้เชิดหุ่น แต่มีเหตุผลสนับสนุนว่าจะมีการกระทำการเป็นหุ่นเชิด ไม่ใช่การตรวจสอบแบบไม่มีหลักฐาน เพราะในบางกรณีอาจไม่รู้ตัวผู้เชิดหุ่นจนกว่าจะตรวจสอบก็ได้ ทั้งนี้ แม้ผลการตรวจสอบชี้ว่าไม่ใช่ มิได้หมายความว่าการตรวจสอบนั้นเป็นการตรวจสอบที่ละเมิดนโยบายแต่อย่างใด
ติดต่อผู้ตรวจสอบผู้ใช้
โดยทั่วไป ผู้ตรวจสอบผู้ใช้เป็นผู้ใช้ที่มีประสบการณ์ในการรับมือกับกรณีที่ละเอียดอ่อน กรณีเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคล และกรณีอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับผู้ใช้ ปัญหาเกี่ยวกับการใช้หุ่นเชิดและปัญหาจากการแก้ไขที่ต้องการให้มีการตรวจสอบผู้ใช้สามารถดำเนินการได้ที่ หน้าแจ้งตรวจสอบหุ่นเชิด ผู้ใช้ยังสามารถที่จะติดต่อผู้ตรวจสอบผู้ใช้ผ่านทางหน้าคุย อีเมล ไออาร์ซีและช่องทางอื่น ๆ หากเป็นกรณีที่เป็นเรื่องส่วนตัวหรือละเอียดอ่อนคุณไม่ควรใช้ช่องทางติดต่อที่เปิดเผยโดยสาธารณะ หากเป็นกรณีเร่งด่วนคุณควรติดต่อผู้ตรวจสอบผู้ใช้ที่คุณทราบว่ากำลังออนไลน์อยู่หรือติดต่อผู้ตรวจสอบผู้ใช้หลายคน หากเป็นกรณีฉุกเฉินคุณควรติดต่อมูลนิธิวิกิมีเดีย คุณสามารถติดต่อกับผู้ตรวจสอบผู้ใช้ได้โดยใช้ช่องทางดังต่อไปนี้
- ผู้ตรวจสอบผู้ใช้รายคน ผู้ตรวจสอบผู้ใช้อาจให้คำแนะนำ ช่วยจัดการกรณีดังกล่าว หรือส่งเรื่องไปพิจารณากับผู้ตรวจสอบคนอื่น (ดูข้อ 2)
- คณะผู้ตรวจสอบผู้ใช้วิกิพีเดียภาษาไทย เมื่อผู้ตรวจสอบผู้ใช้รายคนได้รับการแจ้งเรื่องจากผู้ใช้โดยเฉพาะกรณีละเอียดอ่อนจากช่องทางติดต่อที่ไม่เปิดเผยโดยสาธารณะ เช่น การแจ้งเรื่องผ่านอีเมล หรือเรื่องที่ต้องการพิจารณาจาก ผู้ตรวจสอบผู้ใช้ที่ได้รับแจ้งจะดำเนินการส่งเรื่องให้กับผู้ตรวจสอบผู้ใช้ทั้งหมดเพื่อพิจารณาโดยทั่วกันผ่านกลุ่มจดหมายข่าว (checkuser-l lists.wikimedia.org) ซึ่งไม่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ วิธีนี้มักเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะได้รับคำตอบเนื่องจากผู้ตรวจสอบผู้ใช้สามารถเห็นหลักฐานอ้างอิงได้โดยทั่วกันและให้ความเห็นต่อการตรวจสอบได้
- คณะผู้ตรวจสอบผู้ใช้ข้ามวิกิ ผู้ใช้สามารถส่งอีเมลไปยังกลุ่มรวมของผู้ตรวจสอบผู้ใช้ทุกโครงการของวิกิมีเดียได้ในบางสถานการณ์ เช่น มีการใช้หุ่นเชิดในการก่อกวน ข่มขู่ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลที่อยู่นอกเหนืออำนาจของผู้ตรวจสอบผู้ใช้ในวิกิพีเดียภาษาไทยหรือเกิดขึ้นในหลายโครงการของวิกิมีเดีย แต่เนื่องจากอีเมลดังกล่าวไม่สามารถส่งจากผู้ใช้ทั่วไปไปยังกลุ่มรวมได้โดยตรง ผู้ที่ต้องการติดต่อกับผู้ตรวจสอบผู้ใช้รวมนั้นจึงต้องติดต่อกับคณะผู้ตรวจสอบผู้ใช้รายคน แล้วขอให้ส่งอีเมลไปยังกลุ่มรวมของผู้ตรวจสอบผู้ใช้ข้ามวิกิ
การตรวจสอบผู้ใช้
กระบวนการการขอตรวจสอบ
การขอตรวจสอบผู้ใช้จะกระทำได้ต่อเมื่อผู้ใช้ทั่วไปหรือผู้ดูแลระบบมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามีการใช้บัญชีผู้ใช้หลาย ๆ บัญชีในทางที่ผิดเท่านั้น สำหรับขั้นตอนตามกระบวนการปกติมีดังต่อไปนี้
- ให้ผู้ใช้แจ้งตรวจสอบผู้ใช้ในหน้าพูดคุยของผู้ตรวจสอบผู้ใช้ (ดูข้างล่างนี้) หรือแจ้งที่หน้า วิกิพีเดีย:แจ้งตรวจสอบหุ่นเชิด เพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างเปิดเผย เว้นแต่กรณีเร่งด่วนหรือกรณีที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล อนุญาตให้ใช้การส่งอีเมลหาผู้ตรวจสอบผู้ใช้ได้โดยอนุโลม
- ผู้ขอตรวจสอบจะต้องเป็นผู้ใช้ทั่วไป (กล่าวคือมีบัญชีผู้ใช้ 4 วันนับจากวันที่แก้ไขครั้งแรก และมีการแก้ไขรวม 10 การแก้ไขขึ้นไป) เท่านั้น การตรวจสอบจะเป็นการตรวจสอบระหว่างผู้ใช้กับผู้ใช้เท่านั้น จะไม่ตรวจสอบระหว่างไอพีกับผู้ใช้เป็นอันขาด และจะไม่รับคำขอตรวจสอบจากไอพีไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
- ผู้ขอตรวจสอบต้องแสดงหลักฐานให้เป็นที่ชัดเจนว่ามีการใช้บัญชีผู้ใช้ในทางที่ผิด เช่น แสดงลิงก์การแก้ไขแต่ละรุ่นที่แสดงว่าผู้ใช้มีความเกี่ยวข้องกัน แสดงลักษณะการแก้ไขที่คล้ายคลึงกัน เป็นต้น
- ผลการตรวจสอบของผู้ตรวจสอบจะไม่เปิดเผยไอพี ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
คำแนะนำ
ผู้ใช้ที่ได้สิทธิ์ในการตรวจสอบผู้ใช้สามารถเข้าถึงเครื่องมือได้จาก พิเศษ:หน้าพิเศษ เลือก "ตรวจสอบผู้ใช้" หรือเข้าโดยตรงได้จาก พิเศษ:ตรวจสอบผู้ใช้ ทั้งนี้ มีข้อแนะนำสำหรับการตรวจสอบผู้ใช้ดังนี้
- เครื่องมือตรวจสอบผู้ใช้เป็นเครื่องมือทางเทคนิค ซึ่งต้องการผู้ใช้ที่คุ้นเคยกับไอพี ช่วงไอพี และข้อมูลทั่วไปอื่น ๆ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
- การที่ผู้เขียนสองคนแก้ไขเหมือนกัน หรือผู้เขียนคนใดคนหนึ่งกระทำการอันแสดงว่าเป็นการแก้ไขไม่สร้างสรรค์ ให้ดูที่รูปแบบการแก้ไขเป็นหลัก การที่ไอพีตรงกันอาจเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน หรือไม่ใช่หลักฐานก็ได้
- ไอพีโดยส่วนมากจะเปลี่ยนทุกช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ เป็นช่วง วัน เดือน หรือแทบไม่เปลี่ยนเลยก็เป็นไปได้ โปรดใช้ความระมัดระวังในการแสดงว่าผู้ใช้หนึ่ง ๆ กับอีกคนหนึ่งเป็นคนคนเดียวกัน เพราะการเปลี่ยนไอพีของแต่ละผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตนั้นอาจเปลี่ยนช้าหรือเร็วก็ได้
- มีกลุ่มจดหมายข่าว (checkuser-l lists.wikimedia.org) และไออาร์ซีของผู้ตรวจสอบผู้ใช้โดยเฉพาะ (#wikimedia-checkuser) ซึ่งใช้สำหรับโครงการวิกิมีเดียทั้งหมด สำหรับการหารือว่าด้วยข้อปฎิบัติหรือคำแนะนำในการตีความข้อมูลและการตรวจสอบข้อมูล โดยเฉพาะในกรณีการก่อกวนที่ซับซ้อน อย่างไรก็ดี การเข้าใช้ไออาร์ซีจะเข้าใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำเชิญให้เข้าเท่านั้น นอกจากนี้กลุ่มจดหมายข่าวไม่รับจดหมายที่ไม่ได้มาจากสมาชิก หากผู้ใดต้องการความช่วยเหลือจากผู้ตรวจสอบผู้ใช้ ให้ติดต่อกับผู้ตรวจสอบผู้ใช้ตามวิธีที่กล่าวมาข้างต้น
- ผู้ตรวจสอบผู้ใช้ต้องมีเหตุผลที่สอดคล้องกับนโยบายตรวจสอบผู้ใช้ หากมีการตรวจสอบผู้ใช้ การยืนยันข้อมูล และการบล็อก และต้องพร้อมที่จะอภิปรายโดยเปิดเผยถึงเหตุผลดังกล่าวหากจำเป็น
การบล็อก
ผู้ดูแลระบบที่มีสิทธิ์ในการตรวจสอบผู้ใช้ อาจบล็อกผู้ใช้โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบผู้ใช้ได้ โดยถือว่าการกระทำดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ควบคุมประวัติ (Oversight) หรือผู้ตรวจสอบผู้ใช้ การบล็อกดังกล่าวต้องมีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการ และผู้ดูแลระบบต้องไม่เลิกบล็อกการบล็อกตามอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจสอบผู้ใช้ โดยไม่อภิปรายกับผู้ตรวจสอบผู้ใช้ก่อน
บันทึกการตรวจสอบผู้ใช้
บันทึกการตรวจสอบผู้ใช้จะถูกบันทึกไว้ที่หน้า พิเศษ:ตรวจสอบผู้ใช้ ซึ่งสามารถดูได้เฉพาะผู้ตรวจสอบผู้ใช้เท่านั้น โดยจะเก็บรายละเอียดว่ามีการตรวจสอบใคร เมื่อไร เหตุผลในการตรวจสอบ และบันทึกการตรวจสอบ แต่จะไม่เก็บผลการตรวจสอบและไอพีของผู้ใช้ไว้แต่อย่างใด
การคัดเลือกและการถอดถอน
ผู้ใช้ทั่วไปที่ประสงค์จะขอสิทธิในการใช้เครื่องมือตรวจสอบผู้ใช้ จะต้องได้รับการคัดเลือกจากชุมชนเช่นเดียวกับการเสนอชื่อผู้ดูแลระบบ โดยต้องแสดงเหตุผลและความจำเป็นต่อประชาคมตามสมควร และได้เสียงสนับสนุนจากประชาคมตามจำนวนที่กำหนด (ทั้งนี้ โดยให้ใช้คุณสมบัติและกระบวนการคัดเลือกเช่นเดียวกับการเสนอชื่อผู้ดูแลระบบโดยอนุโลม) โดยถือว่าเป็นการได้รับเลือกจากประชาคมเพื่อประโยชน์ในการขอสิทธิตามนโยบายการตรวจสอบผู้ใช้ของเมทาวิกิ ทั้งนี้ผู้ใช้จะต้องยืนยันตัวบุคคลตามช่องทางที่มูลนิธิวิกิมีเดียกำหนดด้วย เมื่อคุณพร้อมที่จะเป็นผู้ตรวจสอบผู้ใช้ ให้เพิ่มการเสนอชื่อคุณในหน้า วิกิพีเดีย:เสนอชื่อเพื่อเป็นผู้ดูแล
ผู้ตรวจสอบผู้ใช้สามารถถูกถอดถอนได้ หากประชาคมเห็นว่าผู้ตรวจสอบผู้ใช้ได้ใช้เครื่องมือตรวจสอบผู้ใช้ในทางที่ผิด เช่น ตรวจสอบในทางที่ผิด หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่จำเป็น ประชาคมอาจเสนอชื่อให้ถอดถอนผู้ตรวจสอบนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นทางอีเมล คำขอส่วนบุคคล หรือการขอถอนสถานะตามกระบวนการทั่วไปในเมทาวิกิ ทั้งนี้หากมีกรณีเร่งด่วน ผู้จัดการโครงการอาจถอดถอนสถานะผู้ตรวจสอบผู้ใช้เป็นการชั่วคราว เพื่อรอการตัดสินจากประชาคมได้ ทั้งนี้ต้องเป็นการชั่วคราวและมีเหตุผลรองรับเท่านั้น
การร้องเรียนซึ่งการละเมิดการใช้เครื่องมือ
นโยบายของมูลนิธิวิกิมีเดียเกี่ยวกับการถอดถอนสถานะตรวจสอบผู้ใช้ มีดังนี้
- ผู้ใช้ที่ได้รับสถานะตรวจสอบผู้ใช้ ที่ขาดความเคลื่อนไหวเป็นเวลานานกว่า 1 ปี จะถูกถอนสถานะโดยปริยาย
- หากมีการใช้เครื่องมือตรวจสอบผู้ใช้ในทางที่ผิด เช่น มีการตรวจสอบผู้ใช้โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเป็นเวลาบ่อยครั้ง ผู้ตรวจสอบจะถูกถอนสถานะทันที
- หากมีข้อสงสัยว่ามีการเครื่องมือในทางที่ผิด ให้อภิปรายกรณีดังกล่าวในวิกิพีเดียภาษาไทย โดยคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการจะเป็นผู้ตัดสินให้ถอนสถานะ หรือชุมชนมีมติก็ได้ และดำเนินเรื่องให้ผู้จัดการโครงการถอนสถานะต่อไป ผู้จัดการโครงการจะไม่เป็นผู้ถอนสถานะด้วยตนเอง แต่สามารถให้ข้อมูลเพื่อแสดงว่ามีการใช้เครื่องมือในทางที่ผิด และหากกรณีการถอดเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล สามารถขอให้มูลนิธิวิกิมีเดียเป็นผู้ประกาศถอดถอนสถานะได้
- สามารถส่งข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือในทางที่ผิด หรือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลไปที่คณะกรรมการผู้ตรวจการวิกิมีเดีย (Ombudsman committee) ได้เช่นกัน หากเป็นกรณีอื่น ๆ สามารถส่งให้คณะกรรมการอนุญาโตตุลาการเป็นผู้พิจารณาได้
ผู้ใช้ที่ได้รับอนุญาตตรวจสอบผู้ใช้
ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2565 มีผู้ใช้ 4 คนที่ได้รับอนุญาตตรวจสอบผู้ใช้บนวิกิพีเดียภาษาไทย สำหรับข้อมูลล่าสุดดูที่ พิเศษ:รายชื่อผู้ใช้/checkuser
ผู้ตรวจสอบผู้ใช้ปัจจุบัน
ชื่อผู้ใช้ | ผู้ดูแลระบบ | วันที่ได้รับสิทธิ | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
Geonuch (พูดคุย · เรื่องที่เขียน) | สำเร็จ | 20 สิงหาคม 2562 | |
Timekeepertmk (พูดคุย · เรื่องที่เขียน) | สำเร็จ | 22 ธันวาคม 2563 | |
Just Sayori (พูดคุย · เรื่องที่เขียน) | 29 ตุลาคม 2565 | ||
Siam2019 (พูดคุย · เรื่องที่เขียน) | 17 สิงหาคม 2566 |
อดีตผู้ตรวจสอบผู้ใช้
ชื่อผู้ใช้ | ผู้ดูแลระบบ | ระยะเวลา | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
Octahedron80 (พูดคุย · เรื่องที่เขียน) | 22 มกราคม 2555—21 มีนาคม 2556 2 เมษายน 2556—7 มกราคม 2559 |
||
Taweetham (พูดคุย · เรื่องที่เขียน) | สำเร็จ | 22 มกราคม 2555—21 มีนาคม 2556 | |
พุทธามาตย์ (พูดคุย · เรื่องที่เขียน) | สำเร็จ | 2 เมษายน 2556—7 มกราคม 2559 | |
B20180 (พูดคุย · เรื่องที่เขียน) | สำเร็จ | 20 สิงหาคม 2562—18 กันยายน 2563 | ลาออก |
ดูเพิ่ม
- นโยบาย
- การเข้าถึงเครื่องมือ
- m:Requests for permission สำหรับยื่นขอสถานะ/ถอดถอนสถานะตรวจสอบผู้ใช้
- m:User rights log สำหรับการตรวจสอบการให้และถอนสถานะ โดยพิมพ์ User:ชื่อผู้ใช้@thwiki ลงในกล่อง
- หน้าที่เกี่ยวข้อง
- วิกิพีเดีย:ระดับขั้นผู้ใช้
- วิกิพีเดีย:การยกเว้นการบล็อกไอพี
- m:Steward requests/Checkuser สำหรับการยื่นตรวจสอบผู้ใช้เดียวกันมากกว่าหนึ่งโครงการ
- เทคนิค
- mw:CheckUser ให้รายละเอียดการทำงาน และการติดตั้งลงในวิกิของตนเอง
- เครื่องมือสำหรับผู้ตรวจสอบผู้ใช้