วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ริมคลองผดุงกรุงเกษมและแม่น้ำเจ้าพระยา พระอุโบสถของวัดได้รับการปฏิสังขรณ์โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ปัจจุบันภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามและอยู่ในสภาพที่ได้รับการอนุรักษ์อย่างดี โดยตกแต่งด้วยสีน้ำเงินทะเลเป็นหลัก ภายในวัดยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ไม้สักทอง วัดเทวราชกุญชรฯ ซึ่งเป็นอาคารทรงไทยแบบสถาปัตยกรรมจีน-โปรตุเกส สร้างด้วยไม้สักทอง[1] ตามแบบดั้งเดิมทั้งหลัง[2] วัดเทวราชฯยังได้จัดสร้างอาคารปฏิบัติธรรมทรงปั้นหยา ศิลปะสมัยรัชกาลที่ 5 ผสมผสานศิลปะสมัย รัชกาลที่ 7 ถือเป็นอาคารปฏิบัติธรรม ที่มีศิลปะงดงามหาชมได้ยากในเขตกรุงเทพมหานคร ที่สำคัญทางวัดได้อนุรักษ์อาคารโบราณไว้หลายหลัง โดยเฉพาะอาคารเทวราชธรรมสภา ที่มีอายุกว่า 100 ปี เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาศิลปะในยุครัตนโกสินทร์ด้วย.[3]
วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดเทวราชกุญชร |
ที่ตั้ง | ถนนศรีอยุธยา แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 |
ประเภท | พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร |
นิกาย | เถรวาท มหานิกาย |
พระประธาน | พระพุทธเทวราชปฏิมากร |
เจ้าอาวาส | พระธรรมวชิราภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙) |
เว็บไซต์ | http://watdevaraj.org |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ประวัติ
แก้วัดเทวราชกุญชรเดิมเชื่อ วัดสมอแครง สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าชื่อ สมอ มาจากต้นสมอที่ขึ้นกระจายอยู่ภายในวัด ในขณะที่บางกลุ่มมองว่าคำว่า สมอ น่าจะเพี้ยนเสียงมาจากภาษาเขมร ถะมอ ที่แปลว่า หิน สมอแครง จึงแปลว่า หินแกร่ง[4] ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช วัดแห่งนีได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระเชษฐภคินีในรัชกาลที่ 1 ผู้ทรงเป็นต้นสกุลมนตรีกุล ตามลำดับ ในการบูรณะฯ นั้นได้รับการอุปถัมภ์โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษเทเวศร์ ต้นสกุลกุญชร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้รับการอุปถัมภ์โดยตระกูลนี้สืบต่อมา
สมัยพระบทสมเด็จพุทธเลิศหล้านภาลัย ปรากฏชัดว่าวัดสมอแครงใช้เป็นสถานที่ฌาปนกิจศพของขุนนางฝ่ายวังหน้า เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกเขตกำแพงพระนคร และเป็นวัดในเขตความรับผิดชอบของวังหน้า ดังปรากฏหลักฐานในในหมายรับสั่งรัชกาลที่ 2 จุลศักราช 1183 (พุทธศักราช 2364) เลขที่ 2 ระบุว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระราชทานเพลิงศพจมื่นจงขวา ขุนนางสังกัดพระอาลักษณ์ฝ่ายวังหน้า ณ วัดสมอแครง เมื่อวันแรม 6 ค่ำ พุทธศักราช 2364 ว่า
"....ด้วยพระยาธารมารับพระราชโองการใส่เกล้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งว่าจะได้ชักศพจมื่นจงขวาบ้านอยู่ ณ คลองบางลำพู บ้านพระอาลักษณ์วังหน้า ไป ณ เมรุวัดสมอแครง ณ วันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๖ เพลาเช้า ครั้นเพลาบ่าย จะพระราชทานเพลิงนั้นให้ชาวพระคลังวิเสทรับเลกต่อพระสัสดี ต่อพันพุฒ พันเทพราช ๒๐ คน ถอยเอาเรือขนานลำหนึ่งไปรับศพที่บ้าน...."[5]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการบูรณะซ่อมแซม วัดสมอแครงอีกครั้งหนึ่ง ดังปรากฏหลักฐานในราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า "กรมหมื่นพิทักษ์เทเวศร์บูรณะวัดสมอแครงวัด ๑..."[6]
การซ่อมแซมวัดสมอแครงครั้งนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะตรงกับ พุทธศักราช 2392 เนื่องจากพบหลักฐานสมุดไทยร่างสารตรา หมวดจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 หมู่จุลศักราช 1211 (พุทธศักราช 2329) ระบุว่าเจ้าพระยาจักรีมีสารตราไปถึงพระยาพิษณุโลก พระยาสวรรคโลก พระยาสุโขทัย พระยาพิชัย พระยาพิจิตร พระยาแก้วกำแพงเพชร พระยาตาก พระยานครสวรรค์ พระยาเถิน ให้เกณฑ์ตัดไม้ขอนสักซ่อมแซมวัดมหาธาตุ วัดพรหมสุรินทร์ และวัดสมอแครงสาเหตุที่ต้องบูรณะวัดสมอแครงเนื่องจากพระอุโบสถเดิม มีขนาดไม่เพียงพอต่อการทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ จึงโปรดเกล้าให้ขยายพระอุโบสถวัดสมอแครงให้กว้างขึ้นกว่าเดิม ดังความในร่างสารตราดังกล่าวว่า
ข้อมูลที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา ว่าด้วยเรื่อง "แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง ปฏิสังขรณ์วัดเทวราชกุญชร"[7] ดังมีความว่า
ด้วย สมเต็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรม พระยารชิรญาณวโรรส.
พระมหาสมณะ ประ ทาน รายงาน บฏิถังขรณ์ ของพระครูสมุห์วรคณิศรสิทธิการ ผู้รั้งเจ้าอาวาสวัดเทวราชรุญชร มายัง กระทรวงธรรมการ ว่า
พระครูสมุห์วรคณิศรสิทธิการ ได้เบิกเงินราย ทรงพระราชอุทิศ ๒,๐๐๐ บาท กับเงิน ผลประโยชน์ ขวง วัดเทวราชกุญชรอีก ๔,๗๘๘ บาท ๔ สตางค์
ไป จากกระทรวงธรรมการ แลเริยไรจาก ท่าน ที่ ทรง พระศรัทธา และ ศรัทธาได้ ๓,๕๐๔ บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๑๐,๙๒๙ บาท
๔ สตางค์ จักการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ กุฏิ ๓ หลัง ก่อถนนในวัต ๑๔ สายแล้วเสร็จ มีราย พระนาม และ นามผู้บริจาคทรัพย์ แจ้ง ต่อไปนี้
คือ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหสวงราชบุรีติเรกฤทธิ์ ๑,๐๔๔ บาท อำแตงเอม อำแลงเปลี่ยน อำแดงเง็ก รายละ ๔๐๐ บาท อำแดงกลิ่น
๒๐๐ บาท นายปั่น ๑๐๕ บาท พระกันภยุบาทว์ ๙๐ บาท อำแตงบ๊วย ๖๓ บาท หม่อมเจ้าสารภี ๕๔ บาท พระองค์เจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้า
เหมวตี ๕o บาท ย่ำแดงจ่าง ๔๕ บาท ขุนราชคฤหรักษ์ อำแตงจิ๋น รายละ ๔๓ บาท ยำแดงอี่ยม ๔๑ บาท พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเจริญศรีชนมายุ
พระยาเสถียรสุรประเพณี นายพันโท พระสรชาญพลไกร อำแดงหลิน อำแดงจีบ รายละ ๔๐ บาท ตำแดงกลิ่น อำแดงจีบ รายละ ๓๖ บาท อำแตงเง็ก ๓๕ บาท นายพันตรี หลวงชาติสรสิทธิ์
กับนายร้อยโทเยื้อน รวมกัน ๓๐ บาท พระยาศรีกฤดากร ๒๐ บาท อำแดงคำ อำแดงสุ่น รายละ ๑๖ บาท อำแดงเล็ก ๑๑ บาท พระยาพิบูลย์สงคราม นายเจิม รายละ ๑๐ บาท
จ่านายสิบเปรม หม่อมราชวงษ์นุ่ม อำแตงเจียน ตำแดงปลั่ง ยำแดงเอม รายละ ๘ บาท ยำแดงเฮี๊ยะ ๖ บาท อำแดงถนอม ๕ บาท รายย่อย ๘๔ บาท ผู้บริจาคทรัพย์ มีความยินดีรับพระราชทานถวายพระราชกุศล
กระทรวงธรรมการได้นำความกราบบังคมทูลทราฝ่าละอองธุรีพระบาท
แจ้งความมา ณ วันที่ ๑๐ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๘
มหาอำมาดย์ โท พระยาธรรมศักดิ์มนตรี (ลงนามแทนเสนาบดี)
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกวัดให้เป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามใหม่แก่วัดว่า วัดเทวราชกุญชร ซึ่งแปลว่า ช้าง (กุญชร) ของพระอินทร์ (เทวราช)
เมื่อปี พ.ศ. 2546 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานนามของพระประธานว่า พระพุทธเทวราชปฏิมากร และได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งล้านบาทถ้วนเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยทางวัดได้นำพระราชทรัพย์ส่วนนี้มาปฏิสังขรณ์พระอุโบสถจนสำเร็จในปี พ.ศ. 2556[8]
ศาสนสถานสำคัญในวัดเทวราชกุญชร
แก้• พระอุโบสถ ขนาดใหญ่ กว้าง 17 เมตร ยาว 36 เมตร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ทรงสร้างขึ้น มีกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ ที่มุมกำแพงแก้วมีเจดีย์ทั้ง 4 มุม พระอุโบสถผ่านกาลเวลามายาวนาน กระทั่งในปี 2555 คณะกรรมการอนุรักษ์และทำนุบำรุงศาสนสถาน อันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และการส่งเสริมการเผยแผ่ศาสนา สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เห็นชอบให้การสนับสนุนและดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2556 พระอุโบสถจึงหวนคืนสู่ความสง่างามเคียงคู่พระอารามแห่งนี้[9]
• พระพุทธเทวราชปฏิมากร พระประธานประจำพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปโลหะหล่อ ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 4.35 เมตร ปางมารวิชัย ฝีมือช่างสมัยทวารวดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “พระพุทธเทวราชปฏิมากร” พระพุทธรูปองค์นี้ มีประวัติว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบว่า กรุงศรีอยุธยาพบพระทององค์ใหญ่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นพระพิทักษ์เทเวศรไปอัญเชิญลงมายังพระนคร โดยทางน้ำ ครั้นถึงปากคลองเทเวศร์ แพที่อัญเชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ฉุดเท่าไรก็ไม่มายังตำหนักแพ จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นที่วัดสมอแครง
การถวายเครื่องสักการะแด่องค์พระพุทธเทวราชปฏิมากร นับว่าแปลกกว่าวัดอื่นๆ เนื่องจากพุทธศาสนิกชนนิยมถวาย “ผ้าไตร” แทนดอกไม้ธูปเทียน นับเป็นวัดแรกในประเทศไทยที่มีการนำผ้าไตรมาเป็นเครื่องสักการะพระพุทธรูปที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ให้ผลสัมฤทธิ์ตามที่ปรารถนา มาจนทุกวันนี้
• จิตรกรรมฝาผนัง ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ นอกจากภาพชุมนุมเทพยดาแล้ว ยังมีภาพพุทธประวัติตอนโปรดพุทธมารดา ทศชาติชาดก ตอนสุวรรณสามชาดก ภาพเครื่องตั้งบูชาแบบจีน ซึ่งเป็นรูปแบบนิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 3 รวมทั้งภาพปริศนาธรรมมากมายที่แปลกไปจากวัดอื่นๆ คือ ภาพพระภิกษุปลงอสุภกรรมฐานกับซากศพในสภาพต่างๆ
• พระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยต่างๆ ทำด้วยทองเหลือง ลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตัก 19 นิ้ว สูง 43 นิ้ว จำนวน 9 องค์ ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานแก่วัดเทวราชกุญชร
• มณฑปจตุรมุข เป็นสถานที่ไหว้พระ สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม และทำบุญถวายสังฆทาน
• พิพิธภัณฑ์สักทอง[10] อาคารพิพิธภัณฑ์สักทอง ลักษณะทรงปั้นหยาประยุกต์ 2 ชั้น กว้าง 16.75 เมตร ยาว 30.15 เมตร ใช้เสาไม้สักทองทั้งหลัง ขนาดเสา 2 คนโอบ มีอายุประมาณ 479 ปี ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง
สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การอนุรักษ์ไม้สักทอง และเป็นศูนย์เผยแพร่ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนา
และเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในมงคลวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา
ภายในจัดแสดงรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งเท่าพระองค์จริงของสมเด็จพระสังฆราช 19 พระองค์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา
• ศาลาการเปรียญ (เทวราชธรรมศาลา) ลักษณะทรงไทยตรีมุข 2 ชั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ พระราชทานพระพุทธรัตนโกสินทร์มหาวชิราลงกรณ์ ขนาดหน้าตัก 19 นิ้ว ประดิษฐานประจำพระแท่นบุษบก
• กุฏิสงฆ์ (เทวราชกุญชร) ลักษณะทรงปั้นหยา 2 ชั้น เป็นกุฏิโบราณ บูรณะขึ้นใหม่
• อาคารสงฆ์พระมงคลนาวาวุธ ลักษณะทรงปั้นหยาประยุกต์ 4 ชั้น เป็นอาคารสร้างใหม่ จำนวน 49 ห้อง
• หอพระรัตนตรัย ทรงบุษบก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร
• อาคารอเนกประสงค์ (เทวราชธรรมสถิต) ลักษณะทรงปั้นหยาประยุกต์ ขนาดกว้าง 9.50 เมตร ยาว 16 เมตร สำหรับพระภิกษุสามเณร และพุทธศาสนิกชนใช้ในการประกอบศาสนกิจศึกษาเล่าเรียน
ลำดับเจ้าอาวาส
แก้ลำดับ | นาม | ดำรงตำแหน่ง (พ.ศ.) |
---|---|---|
1. | พระปลัด มุก | ? |
2. | พระธรรมุเทศาจารย์ (ฉิม) | |
3. | พระครูธรรมุเทศาจารย์ (ยิ้ม) | |
4. | พระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง) | |
5. | พระมหาทิม[11] | |
6. | พระสรภาณกวี (ชื่น ป.ธ.5) | |
7. | พระเทพสิทธินายก (เลียบ ปุญฺญสิริ)[12] | 2457 - 2472 |
8. | พระอริยมุนี (หว่าง ธมฺมโชโต) ป.ธ.3 | 2472 - 2501 |
9. | พระอริยมุนี (ศรี ฐิตพโล ป.ธ.8) | 2501 - 2540 |
รักษาการ | พระมหาสมบัติ สุวโจ ป.ธ.8 | 2540 - 2544 |
10. | พระธรรมวชิราภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) | 2544 - ปัจจุบัน |
อ้างอิง
แก้- ↑ วชิรา ชิติกชุษณพงศ์. (2558). พิพิธภัณฑ์ ไม้สักทอง วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร. วารสารกรมประชาสัมพันธ์.ปีที่ 20 ฉบับที่ 221 กรกฎาคม 2558 หน้า 13-16.https://hq.prd.go.th/prTechnicalDM/download/article/article_20150916105724.pdf
- ↑ https://m.pantip.com/topic/31104589?
- ↑ วัดเทวราชฯอนุรักษ์อาคารเก่า (ไทยรัฐออนไลน์ 25 ตุลาคม 2557) [1]
- ↑ https://wat360.com/temple.php?wat_name=watdevarajkunchon[ลิงก์เสีย]
- ↑ หมายกำหนดผูกพัทธ์ สมุดไทยดำ,อักษรไทย,ภาษาไทย,เส้นดินสอขาว,หมายรับสั่งรัชกาลที่ 2, จ.ศ.1183 เลขที่ 2 หอสมุดแห่งชาติ
- ↑ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพ ฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. กรมศิลปากร,2547),145.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา น่า 1433 วันที่ 26 กันยายน 2458 เรื่อง แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง ปฏิสังขรณ์วัดเทวราชกุญชร
- ↑ http://watdevaraj.org/recruitment[ลิงก์เสีย]
- ↑ พิสิฐ เจริญสุข ... [และคนอื่นๆ] พระอารามหลวง. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, 2551.
- ↑ วินัย หมั่นคติธรรม (คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม). (๒๕๕๘). A Study of Physical Foctors to reduce the Risk of Disasters Case Study : Dusit District Bangkok การศึกษาปัจจัยทางกายภาพเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภัย กรณีศึกษา : พื้นที่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร.การประชุมสวนสุนันทาวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ ๒ ๒๖ - ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘.[2][ลิงก์เสีย]
- ↑ พระมหาทิม หรือเจ้าคุณทิม แต่เดิมอยู่วัดสุทัศนเทพวราราม เช่นเดียวกับหลวงปู่พัก ธมฺมทตฺโต และถูกส่งมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรในภายหลัง รวมทั้งเป็นคู่สวดหลวงปู่พักด้วย มีข้อมูลว่าเป็นชาววัดบึงทองหลาง บางกะปิ กรุงเทพ จนกระทั่งพระครูธรรมสมาจารย์ (หลวงปู่พัก ธมฺมทตฺโต) ถูกส่งมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบึงทองหลาง (พ.ศ. 2445 - 2501) โดยสมเด็จพระสังฆราชแพ เมื่อมาอยู่แล้วได้ดำริสร้างอุโบสถเมื่อ พ.ศ. 2462 จึงได้จัดหาพระประธาน จึงได้มาพบปรึกษากับเจ้าคุณทิม ในฐานะคนวัดบึงทองหลางและเป็นครูอาจารย์ โดยได้อนุญาตให้หลวงปู่พัก เลือกพระพุทธรูปจากวัดเทวราชกุญชร ไปเพื่อเป็นพระประธานในอุโบสถ โดยที่สมเด็จพระสังฆราชแพ เป็นผู้ตั้งชื่อพระประธานนี้ว่า "หลวงพ่อพรศรีสุเวสสุวรรณ" ด้วยหลวงปู่พักเคยอยู่จำพรรษาวัดสุทัศน์ และมีสมเด็จพระสังฆราชแพเป็นพระคู่สวด (หนังสือที่ระลึกงานสมโภชน์ยกช่อฟ้าและฉลองมณฑปธรรมสมาจารย์นุสรณ์ วัดบึงทองหลาง เขตบางกะปิ กทม. วันที่ 30 เดือน มีนาคม พุทธศักราช 2552,กรุงเทพ ฯ , สำนักพิมพ์ธรรมสภา,2552, หน้า 20-30).
- ↑ พระกรุวัดเทวราชกุญชร พิมพ์พระพุทธชินราช พิมพ์พระประธาน สวยสุด นิยมสุด หลวงพ่อเลียบได้เลื่อนขึ้นเป็นพระปลัด ฐานานุกรมของพระศากยปุตติวงศ์ (เผื่อน) ต่อมาได้รับการแต่งตั้งและได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ดังนี้ พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นพระครูสมุหวรคณิสรสิทธิการ พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นเจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร และได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และพ.ศ. ๒๔๖๒ เป็นพระเทพสิทธินายก [3] เก็บถาวร 2010-01-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน