สถาปัตยกรรมจีน-โปรตุเกส

สถาปัตยกรรมจีน-โปรตุเกส (อังกฤษ: Sino-Portuguese Architecture) คือรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันระหว่างตะวันออกกับตะวันตก คือ โปรตุเกส จีน และมลายูในแหลมมลายูสมัยจักรวรรดินิยมตะวันตก ราวปี พ.ศ. 2054 สามารถพบเห็นได้ในมะละกา ปีนัง สิงคโปร์ มาเก๊า รวมถึงไทย เช่น ในเขตเทศบาลนครภูเก็ตซึ่งมีจำนวนมากและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ตึกแถวแบบจีน-โปรตุเกสในภูเก็ต ตลอดช่วงถนนเยาวราช
อาคารสถานีตำรวจตำบลตลาดใหญ่บริเวณถนนภูเก็ต ซึ่งเป็นอาคารสองชั้นทรงจีน-โปรตุเกสที่มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี

สถาปัตยกรรมจีน-โปรตุเกสเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยในสมัยที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต ในช่วงปี พ.ศ. 2444–2456 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ถือเป็นผู้ที่พัฒนาเมืองภูเก็ตให้มีความเจริญในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการวางผังเมืองภูเก็ตใหม่ในระบบกริดตาราง[1]

ประวัติ แก้

ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำการค้าบริเวณเมืองท่ามะละกา และได้นำเอาศิลปวัฒนธรรมตลอดจนวิทยาการตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ และได้สร้างบ้านและสถาปัตยกรรมตามรูปแบบของตน ส่วนช่างชาวจีนได้นำผังการก่อสร้างไปดำเนินการ แต่ลักษณะของสถาปัตยกรรมได้เพี้ยนไปจากเดิม โดยช่างชาวจีนได้ตกแต่งลวดลายสัญลักษณ์รวมถึงลักษณะรูปแบบบางส่วนของตัวอาคารตามคติความเชื่อของจีน เกิดการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมโปรตุเกสกับจีน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นท่ามกลางสังคมของกลุ่มชน 3 เชื้อชาติ อันได้แก่โปรตุเกส จีน และมลายู ในดินแดนแหลมมลายู

ต่อมาเมื่อชาวดัตช์และอังกฤษเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้ ก็ได้ปรับปรุงรูปแบบของอาคารโดยดัดแปลงและเพิ่มเติมลวดลายต่าง ๆ และมีชื่อเรียกลักษณะการก่อสร้างอาคารเหล่านี้ว่า สถาปัตยกรรม "จีน-โปรตุเกส" คำว่า Sino หมายถึง จีน และคำว่า Portuguese หมายถึง โปรตุเกส แม้ว่าชาวอังกฤษและชาวดัตช์จะเข้ามามีอิทธิพลในการผสมผสานศิลปะของตนเข้าไปในยุคหลังด้วยก็ตามก็ยังเรียกรวมกันว่า จีน-โปรตุเกส

ในประเทศไทยพบสถาปัตยกรรมจีน-โปรตุเกสได้ในภูเก็ต รวมถึงระนอง กระบี่ ตะกั่วป่า พังงา ตรัง และสตูล ซึ่งอาคารส่วนใหญ่สร้างในสมัยของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต ในช่วงปี พ.ศ. 2444–2456 ในสมัยรัชกาลที่ 5[2] ภูเก็ตในสมัยนั้นมีความสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับปีนัง อาคารแบบจีน-โปรตุเกสได้ถูกสร้างขึ้นโดยนักธุรกิจชาวจีนที่มีความร่ำรวยจากการทำธุรกิจเหมืองแร่ดีบุก

เมื่อปี พ.ศ. 2537 เทศบาลนครภูเก็ต รวมทั้งหน่วยงานจากภาครัฐและองค์กรเอกชน องค์กรท้องถิ่นในเมืองภูเก็ต ได้ร่วมกันพัฒนาและอนุรักษ์ย่านเมืองเก่าขึ้นมา มีการกำหนดให้พื้นที่ประมาณ 210 ไร่ ซึ่งครอบคลุมถนนรัษฎา ถนนพังงา ถนนเยาวราช ถนนกระบี่ ถนนดีบุก ถนนถลาง และถนนเทพกระษัตรี ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม โดยออกเป็นประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีการควบคุมให้พื้นที่อนุรักษ์นี้ ให้มีความสูงอาคารได้ไม่เกิน 12 เมตร และยังได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาอาคารในรูปแบบดั้งเดิมไว้ อย่างเช่นมีการให้เว้นช่องทางเดินด้านหน้า และคงรูปแบบอาคารลักษณะจีน-โปรตุเกสไว้ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของเมืองภูเก็ต

อย่างไรก็ดี นักวิชาการด้านมรดกสถาปัตยกรรมบางท่านเสนอว่าการเรียกสถาปัตยกรรมยุคอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผสมผสานอิทธิพลจีนและตะวันตกว่า จีน-โปรตุเกส นั้นก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับบริบททางประวัติศาสตร์ของสถาปัตยกรรมกลุ่มนี้ และเสนอให้เรียกว่า สถาปัตยกรรมสรรค์ผสานนิยม (eclectic architectural style) แทน[3]

ลักษณะ แก้

ลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบจีน-โปรตุเกสคือการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมยุโรปกับศิลปะจีน กล่าวคือ "สถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม" (colonial style) ถ้าเป็นอาคารสองชั้นกึ่งร้านค้ากึ่งที่อยู่อาศัย (shop-house หรือ semi-residential) จะมีด้านหน้าอาคารที่ชั้นล่างมีช่องโค้ง (arch) ต่อเนื่องกันเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เกิดการเดินเท้า ที่ภาษาไทยเรียกทับศัพท์ว่า "อาเขต" (arcade) หรือที่ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า หง่อคาขี่ ซึ่งมีความหมายว่า ทางเดินกว้างห้าฟุต ในภาษามลายูแปลว่าทางเดินเท้า กากี่แปลว่าเท้า นอกจากอาเขตแล้ว อาคารแบบอาณานิคมมีการนำลวดลายศิลปะตะวันตกแบบกรีก-โรมัน หรือเรียกว่า "ศิลปะคลาสสิก" เช่น หน้าต่างวงโค้งเกือกม้า หรือหัวเสาแบบไอโอนิก (แบบม้วนก้นหอย) และคอรินเทียน (มีใบไม้ขนาดใหญ่ประดับ) เป็นต้น ซึ่งนักวิชาการบางท่านอาจเรียกสถาปัตยกรรมแบบนี้ว่า "คลาสสิกใหม่"

สิ่งที่ผสมผสานศิลปะจีนคือ ลวดลายการตกแต่ง ไม่ว่าจะเป็นภาพประติมากรรมนูนต่ำหรือนูนสูงทำด้วยปูนปั้นระบายสีของช่างฝีมือจีนประดับอยู่บนโครงสร้างอาคารแบบโปรตุเกส บานประตูหน้าต่าง ตลอดจนการตกแต่งภายในที่มีลักษณะเป็นศิลปะแบบจีน

ระเบียงภาพ แก้

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม แก้

อ้างอิง แก้

  1. “ชิโนโปรตุกีส”สถาปัตยกรรมทรงคุณค่า ความลงตัวระหว่าง ตะวันออก-ตะวันตก, เว็บไซด์:https://mgronline.com/ .วันที่ 14 มี.ค. 2550
  2. ปิยะนาถ อังควาณิชกุล. (2563). การเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์และลักษณะอาคารของสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีสในเมืองภูเก็ต ระหว่าง พ.ศ. 2545-2559. กรุงเทพฯ: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
  3. เกรียงไกร เกิดศิริ และคนอื่นๆ. (2564). จอร์จทาวน์ เกาะปีนัง: จากเมืองท่าประวัติศาสตร์สู่เมืองมรดกโลก. กรุงเทพฯ: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.