ลาวอิสระ (ลาว: ລາວອິດສະຫຼະ) หรือ รัฐบาลลาวอิสระแห่งพระราชอาณาจักรลาว (ลาว: ລັດຖະບານລາວອິດສະຫຼະ ແຫ່ງ ພຣະຣາຊອານາຈັກລາວ) เป็นขบวนการต่อต้านฝรั่งเศส โดยมีเป้าหมายคือประกาศเอกราชของลาวจากฝรั่งเศสซึ่งเน้นชาตินิยมและไม่นิยมคอมมิวนิสต์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2488 โดยเจ้าเพชรราช[1] ขบวนการนี้เป็นขบวนการที่อายุสั้น ที่เกิดขึ้นหลังจากจักรวรรดิญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง และกลายเป็นรัฐบาลลาวก่อนที่จะกลับมาเป็นรัฐบาลฝรั่งเศส เป้าหมายของขบวนการ คือ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝรั่งเศสกลับมาปกครองลาวอีก ขบวนการนี้สลายตัวไปใน พ.ศ. 2492

ลาวอิสระ

ລາວອິດສະຫຼະ
ค.ศ. 1945–1946
ค.ศ. 1946–1949: รัฐบาลพลัดถิ่น
ธงชาติ
ธงชาติ
ที่ตั้งของ
เมืองหลวงเวียงจันทน์ (ทางการ), หลวงพระบาง (ธรรมเนียม)
เมืองหลวงพลัดถิ่นกรุงเทพ
ภาษาทั่วไปลาว (ทางการ), ฝรั่งเศส
ศาสนา
พุทธเถรวาท
การปกครองรัฐบาลเฉพาะกาล (1945–1946), รัฐบาลพลัดถิ่น (1946–1949)
ประมุขแห่งรัฐ 
• ค.ศ. 1945-1946
เจ้าเพชรราช รัตนวงศา
นายกรัฐมนตรี 
• ค.ศ. 1945–1946
พระยาคำม้าว วิไล
ยุคประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สอง
8 เมษายน ค.ศ. 1945
• ลาวอิสระยึดครอง
12 ตุลาคม ค.ศ. 1945
24 เมษายน ค.ศ. 1946
• สิ้นสุด
24 ตุลาคม ค.ศ. 1949
สกุลเงินกีบ
ก่อนหน้า
ถัดไป
ราชอาณาจักรลาว (รัฐหุ่นเชิดของญี่ปุ่น)
ลาวในอารักขาของฝรั่งเศส
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศลาว

เอกราชภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่น

แก้

การสิ้นสุดการยึดครองลาวของจักวรรดิญี่ปุ่นเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2488 หลังจากที่ญี่ปุ่นเริ่มพ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ญี่ปุ่นกดดันให้พระมหากษัตริย์ลาวแห่งหลวงพระบาง คือ สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ ให้ประกาศเอกราชแก่ลาวในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2488[2] เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้ในวันที่ 15 สิงหาคม เจ้าเพชรราชพยายามเสนอให้พระเจ้าสว่างวัฒนาประกาศรวมประเทศ ยกเลิกการเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส เพราะฝรั่งเศสไม่สามารถปกป้องลาวจากญี่ปุ่นได้ แต่พระเจ้าสว่างวัฒนากลับเห็นว่าลาวยังควรเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสต่อไป ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2488 กลุ่มผู้สนับสนุนเอกราชของลาวประกาศปลดเจ้ามหาชีวิตและจัดตั้งรัฐบาลลาวเรียกว่ารัฐบาลลาวอิสระ เพื่อแทนที่ภาวะสุญญากาศทางการเมืองของประเทศ[3]

ความอ่อนแอของรัฐบาลลาวอิสระ

แก้

รัฐบาลลาวอิสระใช้เวลา 6 เดือนที่จะพยายามจัดตั้งสิทธิการปกครอง โดยจัดตั้งกองกำลังป้องกันประเทศ ที่มีเจ้าสุพานุวงเป็นผู้นำ และได้รับความช่วยเหลือจากเวียดมิญและรัฐบาลจีน อย่างไรสถานการณ์ในขณะนั้น ได้มีเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ฝรั่งเศสกลับมาปกครองลาวอีก คือข้อตกลงระหว่างโฮจิมินห์กับรัฐบาลฝรั่งเศสในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2489 และข้อตกลงในการถอนทหารจีน ทำให้รัฐบาลลาวอิสระถูกโดดเดี่ยว และอ่อนแอทางด้านการทหารมากเมื่อเทียบกับฝรั่งเศส

นอกจากจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ลาวอิสระยังมีความขัดแย้งภายในองค์กร ลาวอิสระมีผู้สนับสนุนในเมืองน้อย และไม่ได้รับการสนับสนุนจากชนเผ่าต่างๆ ทำให้แนวคิดการเป็นเอกราชของลาวอิสระล้มเหลว นอกจากนั้น ลาวอิสระไม่สามารถจัดการการเงินของประเทศที่เหมาะสมได้ กองทัพต้องการงบประมาณสูง และเจ้าสุพานุวงปฏิเสธที่จะแสดงบัญชีการใช้จ่าย ในเวลาช่วงสั้นๆ ลาวอิสระไม่มีเงินสำหรับการบริหาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระต่าย ดอนสะโสฤทธิ์ อนุมัติเงินใหม่ตอนต้นปี พ.ศ. 2489 แต่พิมพ์ด้วยกระดาษคุณภาพต่ำจนใช้งานไม่ได้ จนเขาได้รับฉายาว่ากระต่ายใบตองแห้ง[4] จนกระทั่งปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2489 ฝรั่งเศสเข้ายึดครองเวียงจันทน์และเข้าสู่หลวงพระบางในเดือนพฤษภาคม ผู้นำลาวอิสระจึงลี้ภัยมายังประเทศไทย

ความแตกแยกภายในลาวอิสระและการสลายตัว

แก้

เมื่อฝรั่งเศสเข้ามาปกครองลาวอีกครั้ง และจัดตั้งหน่วยงานบริหารขึ้นใหม่ในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ฝรั่งเศสประกาศจะรวมลาวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพฝรั่งเศส เจ้าสุพานุวงแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในการปฏิเสธรัฐบาลใหม่ที่เวียงจันทน์ และยังมีความขัดแย้งเป็นส่วนตัวระหว่างเจ้าสุพานุวงกับกระต่าย

ในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ลาวอิสระได้ประกาศสลายตัวอย่างเป็นทางการเพราะขาดความร่วมมือภายในองค์กร[5] และในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2496 มีการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างลาวกับฝรั่งเศสเพื่อถ่ายโอนอำนาจให้รัฐบาลราชอาณาจักรลาวอย่างเป็นทางการ ยกเว้นอำนาจทางทหาร[6] ก่อนที่ลาวจะได้เอกราชอย่างสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2497 ตามสนธิสัญญาเจนีวา

ธงของลาวอิสระมีลักษณะใกล้เคียงกับธงชาติไทย ได้ถูกนำกลับมาใช้อีกโดยขบวนการปะเทดลาว และกลายเป็นธงชาติลาวเมื่อ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518

อ้างอิง

แก้
  1. visit-laos.com เก็บถาวร 2008-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. Stuart-Fox, Martin (1986). Laos: Politics, economics and society. London: Frances Pinter Publishers. ISBN 0861874269. สืบค้นเมื่อ 22 September 2013.
  3. Laos and Laotians by Meg Regina Rakow
  4. Evans, Grant (2002). A Short history of Laos, the land in between (PDF). Allen & Unwin. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-02-24. สืบค้นเมื่อ 2022-02-24.
  5. Laos – Keystone of Indochina by Arthur J. Donmen
  6. Uppsala Conflict Data Program (November 02, 2011). "Laos". Uppsala University Department of Peace and Conflict Research. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-21. สืบค้นเมื่อ 11/11/02. In October 1953, the Franco-Lao Treaty of Amity and Association transferred power.... {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)