ยอดธง เสนานันท์
ยอดธง เสนานันท์ หรือ ยอดธง ศรีวราลักษณ์ (28 สิงหาคม พ.ศ. 2480 – 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556) เป็นครูสอนวิชามวยไทยผู้อุทิศตนเพื่อส่งเสริมศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ จนได้รับการยกย่องเชิดชูจากสังคม โดยทั่วไปมักเรียกชื่อครูยอดธงกันว่า "ครูตุ๊ย" หรือ "ครูตุ้ย" นอกจากนี้ท่านยังมีลูกศิษย์เป็นนักมวยที่มีชื่อเสียงหลายราย อาทิ สามารถ พยัคฆ์อรุณ, ก้องธรณี พยัคฆ์อรุณ รวมทั้ง ยอดสนั่น 3เคแบตเตอรี่[2] อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อให้เกิดนักมวยไทยแชมป์โลกมาแล้ว 57 ราย นับเป็นผู้สร้างแชมป์มวยไทยระดับโลกเป็นจำนวนมากสุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์มวยไทย[3] ครูยอดธงเป็นเจ้าของค่ายมวยศิษย์ยอดธง ซึ่งอยู่ในอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิค่ายมวยยอดธงนานาชาติ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่และอนุรักษ์ศิลปะมวยไทย[4][5]
ยอดธง เสนานันท์ | |
---|---|
เกิด | 28 สิงหาคม พ.ศ. 2480 |
ประวัติ
แก้ยอดธง เสนานันท์ เกิดวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2480 ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และมีชื่อตามใบเกิดคือ ตุ๊ย แซ่ผู่ บิดาของเขาเป็นชาวจีนไหหลำ และมีพี่น้อง 6 คน (ชาย 4 คน หญิง 2 คน) โดยเป็นน้องชายของนางเยาวดี ราชเวชชพิศาล สะใภ้ของพันตรีหลวงราชเวชชพิศาล (โต๊ะ เวชอุไร)[1] เขาเป็นผู้ที่ชอบมวยมาตั้งแต่ 4 ขวบ อีกทั้งชื่นชอบกีฬาทุกประเภทที่เป็นการต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นปลากัด ไก่ชน จบประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนเทศบาล 1 อำเภอเมืองบ้านโป่ง เมื่อมีอายุได้ 13 ปี ก็ย้ายมาอยู่กับพี่สาวที่บ้านของพันตรีหลวงราชเวชชพิศาล (โต๊ะ เวชอุไร) บริเวณแหลมราชเวช อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี แล้วเริ่มหัดมวยอย่างจริงจังกับครูสิทธิเดช สมานฉันท์ โดยทำการชกมวยครั้งแรกในชื่อ เอราวัณ เดชประสิทธิ์[1] ที่งานวัดเขาพระบาทบางพระ อำเภอศรีราชา ตั้งแต่อายุ 15 ปี ด้วยค่าตัวเพียง 50 บาท จากนั้นก็ตระเวนชกเรื่อยมา พออายุได้ 17 ปี ครูสุวรรณ เสนานันท์ ได้ชวนมาอยู่ค่ายมวย และตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “ยอดธง เสนานันท์” ท่านได้เดินสายชกมวยทั่วประเทศ ก่อนเลิกชกเพราะแม่ของภรรยาขอร้อง จึงตั้งค่ายมวยศิษย์ยอดธง ที่มาบตาพุด ก่อนย้ายมาอยู่ที่อำเภอบางละมุง และใช้ชื่อนี้เรื่อยมา จนกระทั่งแขวนนวม[6]
โดยมีชาวต่างชาติรุ่นแรกที่ได้มาฝึกมวยไทยที่ค่ายมวยแห่งนี้คือชาวดัตช์ จากประเทศเนเธอร์แลนด์ (ในสมัยที่ ก้องธรณี และสามารถ พยัคฆ์อรุณ รวมทั้ง ศรศิลป์ ศิษย์เนินพยอม กำลังเป็นที่รู้จักในวงการ) มาฝึกที่ค่ายมวยแห่งนี้ ซึ่งมี "ร็อบ กามัน" มาฝึกฝนเป็นคนแรก และมี "รูเซียน การ์บิน" เป็นรายต่อมา ก่อนที่รูเซียน การ์บิน จะขออนุญาตเปิดโรงฝึกโดยใช้ชื่อ "ศิษย์ยอดธงยิม" ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ส่งผลให้ค่ายมวยดังกล่าว เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในเวลาต่อมา[7]
ในภายหลัง มีเหตุการณ์ที่โอซามุ โนงูจิ พยายามให้โลกหลงเข้าใจว่ามวยไทยมีต้นกำเนิดจากคิกบ็อกซิงของประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งมีผู้กล่าวหาว่าการรำไหว้ครูเป็นการเต้นรำแบบชนเผ่าที่ไร้อารยธรรม ส่งผลให้ครูยอดธงเกิดความไม่พอใจ เนื่องจากมวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ซึ่งต่อมาโอซามุ โนงูจิ ได้นำนักมวยคิกบ็อกซิงมาจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อชกกับนักมวยไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2515 ครูยอดธงได้อาสานำทัพมวยไทยไปสู้กับคิกบ็อกซิงในรายการบีเอส ซามูไร[8] และได้รับชัยชนะ หลังจากนั้นรัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้มีคำสั่งเนรเทศโอซามุ โนงูจิ ออกจากประเทศภายใน 24 ชั่วโมง ในฐานะที่เป็นบุคคลไม่พึงปรารถนาของประเทศชาติ และหลังจากที่โอซามุ กลับถึงญี่ปุ่น ทางการญี่ปุ่นก็มีคำสั่งห้ามโอซามุ โนงูจิ ยุ่งเกี่ยวกับวงการมวยอีกต่อไป เนื่องจากสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงแก่ประเทศ[9]
นักแสดงรับเชิญ
แก้ครูยอดธงยังได้รับเชิญให้มีส่วนร่วมในภาพยนตร์ องค์บาก โดยเป็นผู้อาวุโสข้างสังเวียนในฉากที่ ทิ้ง (จา พนม) สู้กับ บิ๊กแบร์ แม้จะไม่ได้มีการอ้างถึงชื่อครูยอดธงในภาพยนตร์ แต่หลายคนเชื่อว่าบุคคลในภาพยนตร์คือครูยอดธง[10] ตลอดจนได้ปรากฏตัวในภาพยนตร์ เกิดมาลุย ด้วยเช่นกัน
รางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล
แก้ครั้งหนึ่ง ครูยอดธงได้รับเงินรางวัลจากการเสี่ยงโชคสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่หนึ่งพร้อมแจกพอต ประจำงวดวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เป็นจำนวนเงิน 56 ล้านบาท[3] และท่านได้ใช้เงินนี้ในการช่วยเหลือวงการมวยและสังคม โดยคงเหลือไว้กับตัวประมาณสิบล้านบาท จากการอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือสังคม ส่งผลให้ครูยอดธงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีในเวลาต่อมา[2][11]
กำปั้นนอกสังเวียน
แก้ครูยอดธงยังได้เขียนอัตชีวประวัติของตนเองที่มีชื่อว่า กำปั้นนอกสังเวียน ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นโดยสำนักพิมพ์แพรว เนื้อหาได้กล่าวถึงประสบการณ์ของการเป็นนักมวย, การเปิดค่ายมวย, การนำนักมวยไทยไปประชัญฝีมือกับนักมวยคิกบ็อกซิงเพื่อประกาศศักดิ์ศรีสถาบันมวยไทย ตลอดจนความเชื่อตามมุมมองของตนเกี่ยวกับกฎแห่งกรรม และความสุขทางใจในการอุทิศตนเพื่อสังคมที่มีค่ามากกว่าชื่อเสียงเงินทองที่ได้รับ[9]
ชีวิตส่วนตัว
แก้ครูยอดธงเปิดค่ายมวยศิษย์ยอดธง ที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และเป็นผู้รักษาเอกลักษณ์ของชาติไทย แม้แต่เพดานที่บ้านพักของเขายังมีการฉาบทาสีเป็นธงชาติไทย[3] ครูยอดธงมีบุตรชายชื่อ อังคาร ศรีวราลักษณ์ หรือที่รู้จักในชื่อ ต่อย ศิษย์ยอดธง ซึ่งเป็นผู้ฝึกสอนมวยไทยในต่างประเทศ[12]
การเสียชีวิต
แก้ครูตุ้ย ยอดธง เสนานันท์ ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบที่โรงพยาบาลชลบุรี หลังจากได้ล้มป่วยลงด้วยโรคของคนวัยชราภาพ โดยเฉพาะอาการป่วยทางสมองที่ได้รับกระทบกระเทือนเมื่อครั้งครูยอดธงเป็นนักมวยตั้งแต่อายุ 17 ปีเป็นต้นมา ซึ่งคณะแพทย์วินิจฉัยและแจ้งให้ทางญาติรับทราบสาเหตุการเสียชีวิต จากอาการติดเชื้อกระแสเลือด โดยเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556[13][14][15][16]
ในการนี้ ร็อบ กามัน และรามอน เดกเกอร์ ได้ร่วมแสดงความอาลัยต่อการจากไปของครูยอดธง รวมถึงโปรโมเตอร์วิรัตน์ วชิรรัตนวงศ์ ได้กล่าวว่าเป็นความสูญเสียบุคคลสำคัญไปอีกหนึ่งคนที่ซึ่งตนมีความผูกพันมาหลายสิบปี[1] ส่วนต่อย ศิษย์ยอดธง ผู้เป็นบุตรชายของครูยอดธง ได้มีแผนที่จะฟื้นฟูค่ายมวยศิษย์ยอดธงให้อยู่คู่วงการมวยไทยต่อไป[12]
ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
แก้- 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามวยไทยศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ณ สวนอัมพร กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ถือได้ว่าครูยอดธง เป็นบุคคลแรกของโลกที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์นอกรั้วมหาวิทยาลัย[11][17]
เกียรติประวัติ
แก้- 11 เมษายน พ.ศ. 2534 รับโล่พระราชทานครูมวยไทยดีเด่นแห่งชาติ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วังสวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร
- พ.ศ. 2539 รับคุณวุฒิมวยไทยขั้นสูงสุด มงคลทอง ประเจียดทอง จากสมาพันธ์สมาคมมวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ
- รางวัลคนดีนำทางแผ่นดิน จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์[1]
- อาจารย์พิเศษ สอนมวยไทย ให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[1]
บรรณานุกรม
แก้- Siam Sport Daily, Obituary for Yodtong Sriwaralak (Senanan) (in Thai), 13 February 2013
ผลงานภาพยนตร์และละครโทรทัศน์
แก้ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์
แก้- พ.ศ.2546 องค์บาก รับบท คนขายหมากฝรั่งในค่ายมวย (รับเชิญ)
- พ.ศ. 2547 เกิดมาลุย รับบท ครูมวย
- พ.ศ.2539 นายขนมต้ม (ละครโทรทัศน์) รับบท พระเจ้ามังระ (รับเชิญ)
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 เงาปีศาจ. ‘ครูตุ๊ย′ ยอดธง เสนานันท์ ปิดฉากตำนานปรมาจารย์ คือบรมครูมวยไทยตัวจริง. มติชนสุดสัปดาห์. ปีที่ 33 ฉบับที่ 1696. วันที่ 15-21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556. ISSN 1686-8196. หน้า 94–96
- ↑ 2.0 2.1 ประวัติย่อครูยอดธง เสนานันท์
- ↑ 3.0 3.1 3.2 เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์. ลดธงครึ่งเสา อาลัย ‘ครูยอดธง’ บรมครูมวย ผู้มีหัวใจใหญ่กว่ากำปั้น. เนชั่นสุดสัปดาห์. ปีที่ 21 ฉบับที่ 1081. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556. ISSN 15135705. หน้า 84
- ↑ สมบัติ สวางควัฒน์. (2554). ย้อนตำนานแวดวงมวยไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน. สำนักพิมพ์ ก้าวแรก. ISBN 978-616-7446-13-4. หน้า 173–175
- ↑ ยอดธง เสนานันท์ : ข่าวสดออนไลน์
- ↑ Kru Yodtong เก็บถาวร 2010-02-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- ↑ พรชัย มหามิตร. ย่างสามขุม. มวยสยามรายวัน. ปีที่ 18 ฉบับที่ 6463. วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554. หน้า 26
- ↑ ปลายนวม น.เขลางค์. (2553). กำปั้นนอกสังเวียน. อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์. ISBN 9789744753199. หน้า 128
- ↑ 9.0 9.1 หนังสือกำปั้นนอกสังเวียน (สำนักพิมพ์แพรว)
- ↑ “Тайский бокс - это моя жизнь” (รัสเซีย)
- ↑ 11.0 11.1 ยอดธง เสนานันท์ ครูมวยผู้ทุ่มเทช่วยสังคม
- ↑ 12.0 12.1 ลูกครูตุ้ยระดมเรียกศิษย์ช่วยฟื้นฟูค่ายศิษย์ยอดธง
- ↑ “ยอดธง เสนานันท์” ครูมวยชื่อดังเสียชีวิตแล้ว[ลิงก์เสีย]
- ↑ สิ้นแล้ว ′ยอดธง เสนานันท์′ ครูมวยชื่อดัง ลูกศิษย์แห่ไว้อาลัย
- ↑ ปิดตำนานครูมวยไทย ยอดธง เสนานันท์[ลิงก์เสีย]
- ↑ 'ครูตุ๊ย'ปรมาจารย์มวยเสียชีวิตแล้ว
- ↑ วงการมวยเศร้าครูตุ้ยสิ้นลมด้วยโรคชรา
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Йодтонг Сенанан – величайший учитель Муай Тай เก็บถาวร 2014-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (รัสเซีย)
- Sityodtong Payakaroon Muay Thai Legacy เก็บถาวร 2011-07-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- หนึ่งพิชิต ศิษย์ยอดธง ผู้ให้ความเคารพนับถือต่อครูยอดธง เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- มุมมองเกี่ยวข้องกับ "คิกบ็อกซิ่ง" ในสายตาของชาวไทย