มังกรโกโมโด
มังกรโกโมโด (อังกฤษ: Komodo dragon; ชื่อวิทยาศาสตร์: Varanus komodoensis) เป็นสัตว์เลื้อยคลานในอันดับกิ้งก่าชนิดหนึ่ง มีถิ่นอาศัยอยู่บนเกาะโกโมโด, รินจา, โฟลเร็ซ และกีลีโมตังในประเทศอินโดนีเซีย อยู่ในวงศ์เหี้ย (Varanidae) จัดเป็นตะกวดชนิดที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบันนี้ ตัวโตเต็มวัยมีขนาดความยาวโดยเฉลี่ย 2–3 เมตร (6.6 ถึง 9.8 ฟุต) และมีน้ำหนักประมาณ 90 กิโลกรัม (150 ปอนด์)
มังกรโกโมโด ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยไพลโอซีน–สมัยโฮโลซีน,[1] 3.8–0Ma | |
---|---|
เพศผู้ที่สวนสัตว์ซินซินแนติ | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอตา Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | สัตว์เลื้อยคลาน |
อันดับ: | กิ้งก่าและงู |
วงศ์: | เหี้ย |
สกุล: | Varanus |
สกุลย่อย: | Varanus Ouwens, 1912[4] |
สปีชีส์: | Varanus komodoensis |
ชื่อทวินาม | |
Varanus komodoensis Ouwens, 1912[4] | |
แผนที่แสดงที่อยู่ของมังกรโกโมโด |
มังกรโกโมโดมีรูปร่างหน้าตาเหมือนตัวเงินตัวทองชนิดอื่นทั่วไป แต่ทว่ามีลำตัวใหญ่และยาวกว่ามาก มีลำตัวสีเทาออกดำกว่า
บทนำ
แก้ประวัติ
แก้มังกรโกโมโดเป็นที่รู้จักครั้งแรกของชาวโลก เมื่อพันตรีปีเตอร์ เอาเวินส์ ทหารชาวดัตช์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สัตววิทยาและสวนพฤกษศาสตร์ชวาที่เมืองเบยเตินซอร์ค (ปัจจุบันคือโบโกร์) ได้ยินเรื่องราวของมันและต้องการข้อมูลของมัน ดังนั้นในปี ค.ศ. 1910 เขาได้ติดต่อไปยังข้าหลวงของเกาะโฟลเร็ซ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเกาะโกโมโด ข้าหลวงซึ่งเป็นนักธรรมชาติวิทยาสมัครเล่นคนหนึ่งรับปากว่าจะหาข้อมูลมาให้
ต่อมาในปี ค.ศ. 1912 นักบินผู้หนึ่งเกิดเครื่องยนต์ขัดข้องขณะบินผ่านเกาะโกโมโด จึงต้องนำเครื่องลงฉุกเฉินที่นั่น เครื่องบินเสียหายแต่ตัวนักบินไม่เป็นอะไร ทว่าเมื่อเขาออกมาจากเครื่องก็ต้องตกใจ เมื่อพบว่ามีสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ หน้าตาเหมือนสัตว์ดึกดำบรรพ์รายล้อมเครื่องบิน เขารีบวิ่งหนีออกมาทันที และรอดชีวิตออกมาได้ นี่นับเป็นครั้งแรกที่ชาวยุโรปได้พบกับจระเข้บกในตำนานของชาวพื้นเมือง ในปีเดียวกันข้าหลวงแห่งเกาะโฟลเร็ซได้ไปที่นั่น และได้รับการยืนยันเรื่องสัตว์ดังกล่าว จากนั้นข้าหลวงได้มีโอกาสยิงสัตว์ดังกล่าวได้ตัวหนึ่ง และส่งหนังยาว 2.20 เมตรของมันไปให้เอาเวินส์ และบอกว่ามันไม่ใช่จระเข้แต่ใกล้เคียงพวกเหี้ยมากกว่า จากนั้นไม่นาน ทางสวนพฤกษศาสตร์ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปยังเกาะโกโมโด และสามารถจับสัตว์ดังกล่าวเป็น ๆ ได้ถึง 4 ตัว มีอยู่ตัวหนึ่งยาวถึง 3 เมตร เอาเวินส์ได้เขียนเรื่องของมันลงวารสารวิชาการ และตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้มันว่า Varanus komodoensis แปลว่า "เหี้ยแห่งโกโมโด" แต่ด้วยขนาดอันใหญ่โตของมัน ทำให้ผู้คนเรียกมันว่า "มังกรโกโมโด" อย่างที่รู้จักกัน[5]
แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับมังกรโกโมโดก็ยังเป็นที่รู้จักน้อยมาก เนื่องด้วยจากที่อยู่บนเกาะห่างไกลและภาวะจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในปี ค.ศ. 1926 จึงได้มีการศึกษามังกรโกโมโดอย่างจริงจังโดยคณะนักวิทยาศาสตร์และนักสร้างภาพยนตร์ชาวอเมริกัน โดยได้มีภาพยนตร์เกี่ยวกับวิถีชีวิตของมังกรโกโมโดในธรรมชาติ ภาพยนตร์ชุดนี้ได้สร้างความฮือฮาเป็นอย่างยิ่ง และในปีถัดมา มังกรโกโมโดที่มีชีวิต 2 ตัวก็ได้ถูกส่งไปยังทวีปยุโรป[6] แม้จะมีรูปร่างหน้าตาน่ากลัว แต่มังกรโกโมโดทั้ง 2 ตัวนี้กลับมีอุปนิสัยอ่อนโยนน่ารัก
อุปนิสัย
แก้มังกรโกโมโดเป็นสัตว์ที่พบได้เฉพาะบนเกาะโกโมโดและหมู่เกาะใกล้เคียงเท่านั้น ไม่พบในที่อื่นใดของโลกอีก มีอุปนิสัยดุร้าย ชอบอยู่เป็นฝูง มังกรโกโมโดเป็นสัตว์กินเนื้อเป็นอาหาร จะวิ่งล่าเหยื่อด้วยการซุ่มจู่โจมกัดเหยื่อด้วยฟันที่คม แต่มันจะวิ่งไล่ได้เพียงครั้งเดียว ถ้าหากมันจับเหยื่อไม่ได้ มันจะต้องหยุดนิ่งเพื่อชาร์จพลังสำหรับการวิ่งครั้งใหม่ มังกรโกโมโดเป็นสัตว์มีพิษมีต่อมพิษ(venom gland) โดยมีตำแหน่งอยู่ที่ขากรรไกรล่าง พิษของเจ้ามังกรมีผลต้านการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดของเหยื่อไม่แข็งตัว เมื่อเลือดของเหยื่อไหลออกมาเรื่อย ๆ ทำให้เกิดการอ่อนหล้า หรือช็อกเนื่องจากความดันเลือดลดลง และทำให้เหยื่อเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อได้ และในน้ำลายของมันมีเชื้อแบคทีเรียอยู่มากกว่าถึง 50 ชนิดที่อันตราย แต่ไม่มีแบคทีเรียชนิดใดที่ก่ออันตรายฉับพลันได้ เหยื่อที่ถูกกัดจะเกิดอาการโลหิตเป็นพิษ และจะถึงแก่ความตายในเวลาไม่เกิน 3 วัน ซึ่งบางครั้งเมื่อเหยื่อที่มังกรโกโมโดกัดและทิ้งน้ำลายไว้ในแผลหลบหนีไป มังกรโกโมโดจะติดตามไปเพื่อรอให้เหยื่อตายก่อนจะลงมือกินอีกด้วย เหยื่อของมังกรโกโมโดตามธรรมชาตินั้น มักเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น กวาง หรือวัวควายของชาวบ้าน
มังกรโกโมโดอาจจู่โจมมนุษย์บ้าง แต่มีไม่บ่อยนัก ซึ่งผู้ที่มันจะจู่โจมมักจะเป็นผู้ที่อ่อนแอหรือบาดเจ็บ แต่ในต้นปี ค.ศ. 2009 มีรายงานว่ามังกรโกโมโดได้รุมกัดชายหนุ่มคนหนึ่งจนถึงแก่ชีวิต ขณะที่เขากำลังเก็บผลไม้อยู่[7]
ในปัจจุบันนี้มีมังกรโกโมโดจัดเป็นสัตว์ที่มีสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยมีปริมาณเหลืออยู่ราว 4,000 ตัว จากสาเหตุจำนวนผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะเพิ่มขึ้น เหยื่อของมันถูกล่าจนลดน้อยลง การขยายตัวของกสิกรรมทำลายพื้นที่หากินของมัน อีกทั้งยังเป็นสัตว์ที่พบได้เฉพาะถิ่นอีกด้วย
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
แก้ด้วยความใหญ่โตและอุปนิสัยอันน่าสะพรึงกลัว ทำให้มังกรโกโมโดได้ถูกกล่าวถึงในวัฒนธรรมร่วมสมัยมากมาย เช่น ภาพยนตร์สัญชาติฮอลลีวูดเรื่อง Komodo ในปี ค.ศ. 1999[8], The Curse of the Komodo ในปี ค.ศ. 2004[9] และ Komodo vs King Cobra ในปี ค.ศ. 2005[10] เป็นต้น
นิเวศวิทยา
แก้มังกรโกโมโดเป็นเหี้ยพันธุ์ใหญ่ที่สุดของโลก โตเต็มที่เมื่อมีอายุได้สิบห้าปี และมีอายุยืนกว่าห้าสิบปีในป่าธรรมชาติ ชาวพื้นเมืองบนเกาะโกโมโดเรียกมันว่า โอรา (ora) หรือจระเข้บก ส่วนบนเกาะโฟลเร็ซเรียกว่า บียาวักรักซาซา (biawak raksasa) หมายถึง เหี้ยหรือตะกวดยักษ์[11] มังกรโกโมโดเป็นสัตว์ผู้ล่า เดิมเหยื่อของมันเกิดขึ้นเพื่อล่าช้างแคระที่บัดนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว แต่มันก็สามารถล้มควาย กวาง แพะ หรือแม้กระทั่งลูกของมังกรโกโมโดด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ลูกของมังกรโกโมโดจึงใช้เวลาช่วงแรก ๆ ของชีวิตอยู่บนยอดของต้นไม้เพื่อไม่ให้ถูกกิน และจะป้องกันตัวด้วยการกลิ้งไปมาในมูลหรือปัสสาวะของเหยื่อ เพื่อไม่ให้ตัวที่ใหญ่กว่ากิน มังกรโกโมโดกินอาหารเดือนละครั้ง และสามารถกินได้มากถึง 3 ใน 4 ของน้ำหนักตัว[12] โดยกินด้วยการกลืนลงไปเลยโดยไม่เคี้ยว[13]
ความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการของมังกรโกโมโดและญาติ
แก้บรรพบุรุษของมังกรโกโมโดมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับไดโนเสาร์[14][15] โดยมีบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อ 300 ล้านปีมาแล้ว (ยุคคาร์บอนิเฟอรัส) และเริ่มแยกออกจากกันเมื่อประมาณ 250 ล้านปีก่อน โดยไดโนเสาร์เริ่มมีวิวัฒนาการในการเดิน 2 ขา ส่วนมังกรโกโมโดยังคลาน 4 เท้า เมื่อ 100 ล้านปีก่อน ต้นตระกูลของมังกรโกโมโด เริ่มออกเดินทางจากเอเชียมุ่งสู่ยุโรป อเมริกาเหนือ และเดินทางมายังออสเตรเลียเมื่อ 15 ล้านปีก่อน โดยเดินทางผ่านอินโดนีเซีย เมื่อระดับนํ้าทะเลเพิ่มสูงขึ้น แผ่นดินอินโดนีเซียถูกแยกเป็นเกาะ ๆ มังกรโกโมโดจึงตกค้างอยู่ตามเกาะเหล่านั้นมาจนทุกวันนี้[16]
การปรับตัวเชิงวิวัฒนาการ
แก้การล่าเหยื่อ
แก้มังกรโกโมโดสามารถวิ่งได้เร็ว 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง ด้วยกล้ามเนื้อขาที่แข็งแรง แต่มันจะวิ่งได้ระยะสั้นแล้วต้องหยุดพักเพราะมีขนาดลำตัวที่ใหญ่ มันจึงมักล่าโดยใช้วิธีซุ่มดักเหยื่ออยู่ตามทางเดินของสัตว์ รอจนกระทั่งเหยื่อเข้ามาใกล้ระยะที่มันจู่โจมได้ มันจึงจะจู่โจมด้วยฟันที่คมกริบ และเล็บที่แข็งแรง[17] มีต่อมพิษอีกทั้งยังมีน้ำลายที่เต็มไปด้วยจุลินทรีย์ที่เป็นพิษมากมายแม้มันจะล้มเหยื่อไม่ได้ในการล่า แต่ถ้าหากเหยื่อถูกกัดแล้วจะเกิดอาการเลือดเป็นพิษ และตายในเวลาไม่เกินสามวัน จากนั้นมังกรโกโมโดก็จะตามกลิ่นของเหยื่อที่ตายเพื่อไปกินได้[12]
ประสาทรับกลิ่น
แก้มังกรโกโมโดมีประสาทในการรับกลิ่นและแยกกลิ่นดีมาก มันสามารถรับกลิ่นได้ไกลหลายกิโลเมตร โดยมันจะใช้ลิ้นในการรับกลิ่น และใช้ปุ่มที่เพดานปากในการแยกกลิ่น มันสามารถบอกได้ว่าเหยื่อของมันอยู่ที่ใด และมีอาการเป็นอย่างไร ซึ่งก็เป็นการเพิ่มโอกาสในการหาอาหารของมัน[18]
การพัฒนาขนาดร่างกาย
แก้มังกรโกโมโดมีขนาดร่างกายที่ใหญ่โต เนื่องจากบนเกาะเหล่านี้เคยมีช้างแคระอาศัยอยู่สองชนิด (จากหลักฐานทางซากดึกดำบรรพ์) ซึ่งน่าจะเป็นเป็นอาหารเดิมของมังกรโกโมโด และจากการที่พวกมันต้องล่าเหยื่อขนาดใหญ่นี้เอง จึงทำให้มันต้องวิวัฒนาการร่างกายให้ใหญ่โต เพื่อล่าเหยื่อ[19]
การสืบพันธุ์
แก้มังกรโกโมโดตัวผู้จะต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงตัวเมีย ในฤดูผสมพันธุ์ที่อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม การผสมพันธุ์จะเริ่มต้นที่ตัวผู้ใช้ข้างแก้มถูไปตามข้างลำตัวของตัวเมีย ตัวเมียโดยปกติแล้ว จะวางไข่ครั้งละ 20 ฟอง ใช้เวลาฟักราว 7–8 เดือน ลูกมังกรโกโมโดจะฟักเป็นตัวในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นฤดูที่มีแมลงชุกชุมมากที่สุด เนื่องจากเป็นอาหารของมังกรโกโมโดวัยอ่อน ในช่วงที่ยังเป็นวัยอ่อนซึ่งสีของลำตัวยังไม่เหมือนกับตัวเต็มวัย ส่วนมากจะใช้ชีวิตอยู่บนต้นไม้โดยสามารถปีนป่ายต้นไม้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากต้องหลบหนีจากมังกรโกโมโดตัวเต็มวัยที่กินมังกรโกโมโดวัยอ่อนเป็นอาหาร ซึ่งเป็นสัญชาติญาณในการกำจัดคู่แข่ง[20]
นอกจากนี้แล้ว ยังมีกรณีที่มังกรโกโมโดตัวเมีย 2 ตัว ที่สวนสัตว์เชสเตอร์ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้ออกไข่แล้วฟักออกมาเป็นตัวโดยที่ไม่ต้องมีการผสมพันธุ์กับตัวผู้ นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า การสืบพันธุ์โดยไม่ใช้เพศนั้น (การเกิดโดยไม่ผสมพันธุ์) เกิดขึ้นกับสัตว์มีกระดูกสันหลังราว 70 ชนิด เช่น งู, ปลาฉลาม, กิ้งก่า หรือแม้แต่ไก่งวงหรือปลากระเบน แต่มักถูกมองว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก การให้กำเนิดโดยไม่ใช้เพศผู้ของมังกรโกโมโดนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว[21][22]
ในกรณีของมังกรโกโมโดพบว่า ลูกมังกรโกโมโดที่เกิดจากไข่ที่เกิดจากการเกิดโดยไม่ผสมพันธุ์นั้นเป็นตัวผู้ทั้งหมด เนื่องจากมังกรโกโมโดตัวเมียมีโครโมโซมเพศ 2 ชุด ที่แตกต่างกัน คือ W และ Z ขณะที่ตัวผู้มีโครโมโซมที่เหมือนกัน 2 ชุด คือ Z และ Z ถ้าไม่มีตัวผู้จะเหลือโครโมโซม W และ Z ในตัวเมีย ในกรณีนี้ตัวเมียจะแบ่งเซลล์ไข่ของตัวเองออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งมีโครโมโซม W และอีกส่วนเป็นโครโมโซม Z จากนั้นตัวเมียจะทำสำเนาตัวเองเป็นโครโมโซม W และ W กับ Z และ Z สำหรับมังกรโกโมโดโครโมโซม W และ W จะไม่ทำงาน ดังนั้นจึงมีเพียงแต่โครโมโซม Z และ Z เท่านั้น จึงทำให้ไข่ที่เกิดมาเป็นตัวผู้ทั้งหมด[23][24] ทั้งนี้เชื่อว่าเป็นผลมาจากการวิวัฒนาการในอดีต ที่บรรพบุรุษของมังกรโกโมโดเดินทางยังเกาะโกโมโดจากแผ่นดินใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งยังมีจำนวนประชากรที่น้อยและขาดแคลน ทำให้ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมาเช่นนี้
จากการสำรวจพบว่ามังกรโกโมโดในธรรมชาติ 2 ใน 3 เป็นตัวผู้ นั่นแสดงว่าแม้มังกรโกโมโดจะสามารถสืบพันธุ์โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ได้ แต่ก็มีความยืดหยุ่นที่มีการสืบพันธุ์โดยใช้การผสมพันธุ์ได้ด้วย แต่ทว่าด้วยความสามารถพิเศษในการสืบพันธุ์แบบนี้ ทำให้มังกรโกโมโดตัวเมียมีอายุสั้นกว่าตัวผู้ถึงครึ่งต่อครึ่ง[25]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Hocknull SA, Piper PJ, van den Bergh GD, Due RA, Morwood MJ, Kurniawan I (2009). "Dragon's Paradise Lost: Palaeobiogeography, Evolution and Extinction of the Largest-Ever Terrestrial Lizards (Varanidae)". PLOS ONE. 4 (9): e7241. Bibcode:2009PLoSO...4.7241H. doi:10.1371/journal.pone.0007241. PMC 2748693. PMID 19789642.
- ↑ Jessop, T.; Ariefiandy, A.; Azmi, M.; Ciofi, C.; Imansyah, J.; Purwandana, D. (2021). "Varanus komodoensis". IUCN Red List of Threatened Species. 2021: e.T22884A123633058. doi:10.2305/IUCN.UK.2021-2.RLTS.T22884A123633058.en. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2021.
- ↑ "Appendices | CITES". cites.org. สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2022.
- ↑ Ouwens, P. A. (1912). "On a large Varanus species from the island of Komodo". Bulletin de l'Institut Botanique de Buitenzorg. 2. 6: 1–3. สืบค้นเมื่อ 6 มีนาคม 2017.
- ↑ มังกรโคโมโด ตำนานที่มีชีวิต. Dek-D.com. 28 มีนาคม 2006.
- ↑ Chalmers Mitchell, Peter (15 มิถุนายน 1927). "Reptiles at the Zoo: Opening of new house today". The London Times. London, UK. p. 17.
- ↑ หนุ่มอินโดสุดซวย! มังกรโกโมโดรุมกัดเสียชีวิตขณะเก็บผลไม้. สำนักข่าวไทย. 24 มีนาคม 2009.
- ↑ Komodo. ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส.
- ↑ The Curse of the Komodo. ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส.
- ↑ Komodo vs King Cobra. ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส.
- ↑ "มังกรโคโมโด ตำนานที่มีชีวิต (KOMODO THE LIVING LEGEND)". KomKid.com. 31 ธันวาคม 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2013.
- ↑ 12.0 12.1 Lawwell, L. 2006. Varanus komodoensis Komodo Dragon. Animal Diversity Web.
- ↑ Ballance, Alison; Morris, Rod (2003). South Sea Islands: A natural history. Hove: Firefly Books Ltd. ISBN 978-1-55297-609-8.
- ↑ Karen Moreno; Stephen Wroe; และคณะ (มิถุนายน 2008). "Cranial performance in the Komodo dragon (Varanus komodoensis) as revealed by high-resolution 3-D finite element analysis". Journal of Anatomy. 212 (6): 736–746. doi:10.1111/j.1469-7580.2008.00899.x. PMID 18510503.
- ↑ Scott A. Hocknull; Philip J. Piper; และคณะ (30 กันยายน 2009). "Dragon's Paradise Lost: Palaeobiogeography, Evolution and Extinction of the Largest-Ever Terrestrial Lizards (Varanidae)". Plos One. doi:10.1371/journal.pone.0007241.
- ↑ "มังกรโคโมโด" (PDF). Mahidol Wittayanusorn. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 6 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2013.
- ↑ Megan Borgen (2007). "How has the komodo dragon adapted to obtain its food?". University of Wisconsin-La Crosse.
- ↑ "Komodo Dragon, Varanus komodoensis". AZ Animals. 11 พฤษภาคม 2022.
- ↑ "มังกรโคโมโด (Komodo Dragon) สัตว์ร่างยักษ์ที่มีปากร้ายกาจ". Bicycle2011.com. 2011-05-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-18. สืบค้นเมื่อ 2013-10-10.
- ↑ David Badger; photography by John Netherton (2002). Lizards: A Natural History of Some Uncommon Creatures, Extraordinary Chameleons, Iguanas, Geckos, and More. Stillwater, MN: Voyageur Press. pp. 32, 52, 78, 81, 84, 140–145, 151. ISBN 978-0-89658-520-1.
- ↑ "พบฉลามมีลูกโดยไม่ผสมพันธุ์". foosci.com. 11 ตุลาคม 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2010. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2010.
- ↑ การค้นพบพืชและสัตว์ทั่วโลก ตอนที่ 31 : เวอร์จินเบิร์ธ !! มังกรโคโมโดสาวฟักไข่ไม่ใช้ตัวผู้. Dek-D.com. 30 มีนาคม 2008.
- ↑ "Virgin births for giant lizards". BBC News. 20 ธันวาคม 2006. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2008.
- ↑ "Strange but True: Komodo Dragons Show that "Virgin Births" Are Possible: Scientific American". Scientific American. สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2008.
- ↑ จุดประกาย 7 WILD, เล่ห์ร้ายยัยตัวแสบ. กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ 29 ฉบับที่ 10479. วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560. ISSN 1685-537X.
อ่านเพิ่ม
แก้- Attenborough, David (มกราคม 1957). Zoo Quest for a Dragon. London: Lutterworth Press. ISBN 978-0-7188-1046-7.
- Auffenberg, Walter (1981). The Behavioral Ecology of the Komodo Monitor. Gainesville: University Presses of Florida. ISBN 978-0-8130-0621-5.
- Burden, W. Douglas (1927). Dragon Lizards of Komodo: An Expedition to the Lost World of the Dutch East Indies. New York, London: G.P. Putnum's Sons. ASIN B000857XQQ.
- Eberhard, Jo; King, Dennis; Green, Brian; Knight, Frank; Keith Newgrain (1999). Monitors: The Biology of Varanid Lizards. Malabar, Fla: Krieger Publishing Company. ISBN 978-1-57524-112-8.
- Lutz, Richard L; Lutz, Judy Marie (1997). Komodo: The Living Dragon. Salem, Or: DiMI Press. ISBN 978-0-931625-27-5.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Varanus komodoensis (หมวดหมู่)
- ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Varanus komodoensis ที่วิกิสปีชีส์