หลังคาเขียว (อังกฤษ: green roof) คือหลังคาของอาคารที่ปิดทับบางส่วนหรือทั้งหมดด้วยพืชพรรณและดิน หรือเครื่องปลูกอย่างอื่นบนชั้นแผ่นกันน้ำ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงหลังคาที่ทาด้วยสีเขียว หรือวัสดุมุงสีเขียวใดๆ หลังคาเขียวอาจรวมส่วนประกอบอื่น เช่นแผ่นชั้นกันราก ระบบระบายน้ำและระบบรดน้ำต้นไม้

บ้านในรัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ที่สร้างขึ้นใหม่ตามแบบบ้านไวกิง
หลังคาปลูกหญ้ของบ้านหลายพลังที่เห็นในหม่บ้าน Bøur และเกาะฟาโร(Faroe Islands)

สวนกระถางที่จัดบนหลังคาซึ่งต้นไม้ปลูกในกระถางอิสระไม่นับเป็น “หลังคาเขียว” ที่แท้จริงในความหมายนี้ แม้จะยังเป็นที่ถกเถียงกันได้อยู่

คำว่า “หลังคาเขียว” อาจใช้กับหลังคาที่ใช้เทคโลโลยี “เขียว” บางรูปแบบ เช่นแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังสุริยะด้วยก็ได้ หลังคาเขียวอาจหมายถึงหลังคาแบบอื่น เช่น หลังคานิเวศ (eco-roofs) หลังคามีชีวิต (living roofs) ที่มีเป้าหมายของแนวคิดเดียวกัน

ปัจจุบัน ประโยชน์ของหลังคาเขียวได้ถูกนำมาใช้เป็นมาตรการหนึ่งทางสถาปัตยกรรมและการผังเมืองเพื่อช่วยบรรเทาปรากฏการณ์โลกร้อน

คุณประโยชน์ของหลังคาเขียว แก้

หลังคาเขียวมีประโยชน์ดังนี้:

  • ใช้เป็นพื้นที่รื่นรมย์สำหรับผู้ใช้อาคาร — ที่ให้ผลคล้ายสนามหรือสวนลานเล็ก (patio)
  • ใช้ปลูกไม้ผล ผักและดอกไม้
  • ลดระบบการทำความอบอุ่น (โดยการเพิ่มมวล และค่าความต้านทานความร้อน-เย็น) และลดโหลดค่าปรับอากาศเย็น (โดยได้ความเย็นจากการระเหย) ของอาคาร
  • ลดปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง (urban heat island effect)
  • ยืดอายุการใช้งานของหลังคา โดยเฉพาะหลังคาคอนกรีต
  • ลดประมาณน้ำฝน (stormwater) ที่ไหลลงระบบสาธารณะ
  • กรองมลพิษ(pollutants) และ คาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ออกจากอากาศ — ดูผนังชีวะ (living wall)
  • กรองมลพิษและโลหะหนักออกจากน้ำฝน
  • เป็นที่พักพิงแก่สัตว์ในเมืองหนาแน่น — ดู สัตว์ป่าในเมือง (urban wilderness)

หลังคาเขียวนับเป็นองค์ประกอบสำคัญของ “อาคารอิสระ” (อาคารที่เป็นเอกเทศจากโครงสร้างพื้นฐานของเมืองหรือท้องถิ่น -(autonomous building)

จากข้อมูลการรณรงค์การใช้หลังคาเขียวเพื่อบรรเทาปัญหาโลกร้อนขององ์กรเอกชนแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ที่ใช้ชื่อ “หลังคาเขียวเพื่อเมืองสุขภาพดี” (Green Roofs for Healthy Cities) [6] มีกล่าวไว้ดังนี้


"ในอเมริกาเหนือ คุณประโยชน์ของเทคโนโลยีหลังคาเขียวยังไม่เป็นเข้าใจกันอยู่มาก และตลาดด้านนี้ยังมีขนาดเล็ก ทั้งๆ ที่ผู้นำอุตสาหกรรมด้านนี้ได้พยายามรณรงค์ทำความเข้าได้มากพอควรแล้ว ต่างกับยุโรปที่เทคโนโลยีทางด้านนี้ได้วางรากฐานมั่นคงและไปไกลมากแล้ว "

เมื่อ พ.ศ. 2548 ผลการศึกษาของแบรด บาสส์ (Brad Bass) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งโทรอนโทได้แสดงให้เห็นว่าหลังคาเขียวสามารถลดการสูญเสียความร้อนและการสิ้นเปลืองพลังงานได้มาก [1]

ความเป็นมาและการใช้ประโยชน์ของหลังคาเขียว แก้

 
หลังคาเขียวของที่ทำการนครชิคาโก (Chicago City Hall) อิลลินอยส์. ภาพถ่ายตอนต้นฤดูใบไม้ผลิ หญ้าจึงยังเป็นสีน้ำตาลอยู่
 
หลังคาเขียวของห้างสหกรณ์เมาน์เทนอีควิบเมนท์ (Mountain Equipment Co-op) ใน โทรอนโท แคนาดา

หลังคาเขียวสมัยใหม่สร้างขึ้นตามระบบแผ่นชั้นที่ทำขึ้นจำหน่ายโดยบริษัทผู้ผลิตที่จงใจทำขึ้นเฉพาะเพื่อใช้วางบนหลังคาสำหรับรองรับวัสดุปลูกพืชและตัวพืชที่จะปลูก นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ เทคโนโลยีนี้พัฒนาขึ้นในประเทศเยอรมันเมื่อประมาณ พ.ศ. 2508 และได้แพร่หลายไปทั่วประเทศนับแต่นั้นมา ปัจจุบัน ประมาณว่าร้อยละ 10 ของหลังคาอาคารในประเทศเยอรมนีเป็น “หลังคาเขียว” [2] หลังคาเขียวกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสหรัฐฯ แม้จะยังไม่มากและเป็นธรรมดาอย่างในยุโรป

หลังคาเขียวส่วนใหญ่สร้างให้เป็นไปตามข้อบัญญัติท้องถิ่นซึ่งให้ความสำคัญแก่การจัดการการระบายน้ำฝน[3] ในพื้นที่ที่ใช้ระบบระบายน้ำรวม (รวมน้ำโสโครกและน้ำฝนไว้ในท่อเดียวกัน - combined sewer-stormwater systems) ซึ่งน้ำฝนที่มากผิดปกติจะทำให้เกิดน้ำล้นท่อพาของเสียไหลท่วมพื้นที่แล้วไหลลงสู่ทางน้ำสาธารณะได้ หลังคาเขียวจะช่วยลดปริมาณน้ำฝนที่ไหลตามผิวโดยรวม ทำให้อัตราการไหลจากหลังคาช้าลง ซึ่งพบว่าหลังคาเขียวช่วยรับและหน่วงน้ำได้มากถึง 75% ของปริมาณน้ำฝนปกติที่ตกลงบนหลังคาแล้วจึงค่อยๆ ปล่อยน้ำกลับคืนสู่บรรยากาศอย่างช้าๆ โดยการระเหย ในขณะเดียวกันดินปลูกก็จะช่วยจับมลพิษที่ดูดซับมาโดยฝนไว้ในดิน [4] โครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ชื่อ “เอเลเวชัน 314" ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ใช้พลังคาเขียวสำหรับกรองและเก็บกักน้ำฝนบางส่วนไว้ในบริเวณโครงการเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ระบบกรองใต้ดินที่ใช้ทรายที่มีราคาแพงเพื่อให้เป็นไปตามข้อบัญญัติว่าด้วยการระบายน้ำฝนของหน่วยงานควบคุมด้านสาธารณสุขของวอชิงตัน ดี.ซี.

การต่อสู้กับปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง [5] เป็นเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้หลังคาเขียวได้รับการยอมรับ วัสดุก่อสร้างอาคารทั่วไปเมื่อดูดซับความร้อนไว้เต็มที่แล้วก็จะไม่ดูดซับได้ไว้อีกและจะแผ่ความร้อนสู่อากาศที่เย็นกว่า ทำให้เมืองหนาแน่นทั่วไปมีความร้อนสูงกว่าพื้นที่ชานเมืองโดยรอบที่มีพื้นที่สีเขียวถึง 4 °C [6] หลังคาเขียวของที่ทำการนครชิคาโก (ในภาพ) จะมีอุณหภูมิต่ำกว่าหลังคาธรรมดาอื่นๆ ทั่วไปที่อยู่ใกล้เคียงประมาณ 14-44 °C [7]

หลังคาเขียวเริ่มมีมากและกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นในชิคาโก รวมทั้งแอตแลนตา พอร์ตแลนด์และเมืองอื่นๆ การใช้ที่มากขึ้นนี้เกิดจากข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ให้การสนับสนุนเพื่อต่อสู้กับปรากฏการณ์เกาะความร้อนในขึ้นและเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นตัวอย่างหนึ่งของประเทศ ที่ได้จัดสร้างขึ้นเพื่อทดลองหาข้อมูลว่าหลังคาเขียวว่าจะมีผลต่อลมฟ้าอากาศจุลภาคบนหลังอย่างไร จากตัวอย่างนี้และจากการศึกษาหลังคาเขียวแห่งอื่นๆ ทำให้ประมาณการได้แล้วว่า หากหลังคาของอาคารทุกหลังในเมืองใหญ่เป็นหลังคาเขียว ในวันที่ร้อนจัด อุณหภูมิในเมืองจะลดลงได้มากถึง 7 °C [8]

นอกจากนี้ยังพบว่าหลังคาเขียวสามารถเพิ่มค่าความเป็นฉนวนของหลังคาได้มากอีกด้วย การศึกษาที่ทำโดยหน่วยงานสิ่งแวดล้อมของแคนาดา (Environment Canada) พบว่าหลังคาเขียวสามารถลดความต้องการในการทำความอบอุ่นในฤดูหนาวได้ 26°C และลดความต้องการในการทำความเย็นในฤดูร้อนได้ 26°C เช่นกัน [9] การศึกษาของศูนย์วิจัยหลังคาเขียวของมหาวิทยาลัยเพนสเตตพบว่าหลังเขียวสามารถยืดอายุขัยการใช้งานของหลังคาให้ยืนยาวไปได้อีก 2-3 เท่า [10]

ประการสุดท้าย หลังคาเขียวยังเป็นที่ขึ้นของพืชและที่อยู่อาศัยพักพิงของแมลงและสัตว์อื่นๆ ที่มีที่ขึ้นและที่มาอยู่อาศัยจำกัดมากขึ้นในเมืองใหญ่ แม้บนหลังอาคารสูง 19 ชั้นในเมืองใหญ่ก็ยังพบว่าหลังคาเขียวเป็นที่อยู่อาศัยและพักพิงของสัตว์ที่มีประโยชน์ประภทแมลง นก ผึ้งและผีเสื้อ หลังคาเขียวเพิ่มความเป็น “ป่า” ที่เป็นที่พักพิงของนกที่ร้องไพเ ราะ นกอพยพและสัตว์อื่นที่มีที่พักพิงน้อยลง [11]

ประเภทของหลังคาเขียว แก้

 
สวนหลังคาแบบป่าใน แมนฮัทตัน

หลังคาเขียวอาจจำแนกได้เป็นแบบดูแล (intensive) หรือแบบกึ่งดูแล (semi-intensive) หรือแบบปล่อย(extensive) ขึ้นอยู่กับขนาดความลึกของดินปลูกและความต้องการในการดูแลรักษา สวนหลังคาทั่วไปซึ่งต้องการใช้ความลึกของดินปลูกมากพอควรเพื่อใช้ปลูกต้นไม้และปลูกหญ้าสนามแบบทั่วไปซึ่งนับเป็นสวนที่ต้องการการดูแลรักษาสูง ต้องการระบบการให้น้ำที่เพียงพอ ต้องการปุ๋ยและการดูแลรักษาอีกหลายอย่าง ต่างกับหลังคาเขียวแบบปล่อยที่ออกแบบให้ดูแลตนเองและต้องการการดูแลรักษาต่ำสุด ซึ่งอาจเป็นการกำจัดวัชพืชปีละครั้ง หรือให้ปุ๋ยชนิดปลดปล่อยช้าเพื่อเสริมการเจริญเติบโตบ้าง พืชพรรณที่ใช้กับหลังคาเขียวแบบปล่อยสามารถขึ้นได้บน “ดินปลูก” (ส่วนใหญ่เป็นดินผสมปุ๋ยหมักสูตรเฉพาะ)ที่ตื้น หรือแม้แต่ใช้แผ่นใยหิน (rock wool) ธรรมชาติ (ที่ไม่ใช่แอสเบสตอส) หรือใยหินสังเคราะห์ที่ใช้ทำฉนวนความร้อนที่ปูลงบนหลังค่าที่ทำระบบกันน้ำซึมไว้ดีแล้วได้โดยตรง ซึ่งต้นเซดัม (Sedum sp.) หรือพรรณไม้ประเภทอวบน้ำและมอสสามารถขึ้นได้ดี

ความแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งของหลังคาเขียวคือ หลังคาเขียวแบบลาดเอียง กับ หลังคาเขียวแบบแบนราบ หลังคาเขียวแบบลาดเอียงเป็นแบบตามสถาปัตยกรรมประเพณีของสแกนดิเนเวียซึ่งมักเป็นการออกแบบที่ง่ายกว่าแบบแบนราบ ทั้งนี้เนื่องจากหลังคาเอียงน้ำไหลได้ดีกว่า ปัญหาการรั่วซึมเข้าไปในโครงสร้างหลังคาจึงมีน้อยกว่าจึงสิ้นเปลืองค่าป้องกันการซึมและการระบายน้ำน้อยกว่า

หลังคาน้ำตาล แก้

ดูบทความหลัก: ที่ดินบราวน์ฟิลด์

ที่ดินบริเวณบราวน์ฟิลด์ อาจกลายเป็นระบบนิเวศที่มีคุณค่า เป็นที่ขึ้นและอยู่อาศัยพักพิงของพืชและสัตว์มีกระดูกสันหลังและที่ไม่มีกระดูกสันหลังที่หายากได้หลายชนิด ที่ดินบราวน์ฟิลด์ในเมืองที่ลดลงจากที่เคยมีอยู่เดิมเนื่องจากเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาและฟื้นฟูเมืองในบริเวณ ทำให้สัตว์ป่าในเมือง (Urban wildlife) ถูกคุกคามสูญเสียถิ่นที่อยู่ในที่ดินบราวน์ฟิลด์หลังคาน้ำตาล” หรือ บราวน์รูฟ จึงอาจช่วยบรรเทาเรื่องนี้ลงได้บ้างด้วยการใช้อิฐหักและกรวดบางๆ ปิดทับบนดินปลูกหลังคาเขียวที่อยู่บนหลังคาแบนของอาคารโครงการที่สร้างใหม่ซึ่งไม่แพง มันจะค่อยๆ กลายเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงต่างๆ และแมงมุมและกลายเป็นแหล่งอาหารของนกกินแมลง ศูนย์ลีลาศลาบาน (Laban) ซึ่งเป็นศูนย์ลีลาศร่วมสมัยในนครลอนดอนมีหลังคาน้ำตาลออกแบบเป็นแหล่งอาหารเฉพาะสำหรับนกหายากท้องถิ่นคือนกแบ็กเรดสตาร์ท ([Black Redstart]).[12] (เมื่อ พ.ศ. 2546 อาคารลาบานได้รับรางวัลสเตอร์ลิง ( Stirling Prize) ของสถาบันสถาปนิกบริเตน (RIBA) และยังมีอาคารหลังคาน้ำตาลในลักษณะเดียวกันนี้อีกหลายหลังในเมืองเดพท์ฟอร์ดใกล้ๆ นั้น เช่นอาคารศูนย์การศึกษาครีกไซด์

ตัวอย่างหลังคาเขียว แก้

 
หลังคาเขียวที่ปลูกต้นไม้พื้นถิ่นที่ L'Historial de la Vendée พิพิธภัณฑ์ใหม่ในฝรั่เศส

หลังคาเขียวแบบปล่อยที่กว้างใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ขณะนี้ คือหลังคาเขียวของโรงงานประกอบรถยนต์ริเวอร์รูจ (River Rouge Plant) ในเดียร์บอร์น (Dearborn) มิชิแกน ของบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ จำกัด ซึ่งมีพื้นที่รวมกันถึง 42,000 ตารางเมตร (26.25 ไร่) ปลูกคลุมด้วยต้นเซดัม (ไม้พุ่มอวบน้ำมีดอกชนิดหนึ่ง) รวมทั้งพืชพรรณอื่นๆ ตัวอย่างหลังคาเขียวที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในสหรัฐฯ อีกแห่งหนึ่งได้แก่อาคารที่ทำการเมืองชิคาโกดังกล่าวมาแล้วและสำนักงานใหญ่ของ “Gap” ในซานบรูโน แคลิฟอร์เนีย เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมภูมิสถาปนิกอเมริกัน (American Society of Landscape Architects) ได้ปรับปรุงสำนักงานใหญ่ในวอชิงตัน ดี.ซี. ด้วยหลังคาเขียวที่ออกแบบโดยภูมิสถาปนิกไมเคิล แวน วาลเคนเบรอะ ( Michael Van Valkenburgh) [13] ชิคาโก แอตแลนตาและปอร์ตแลนด์ ออริกอน ต่างก็อวดว่าตนมีหลังคาสีเขียวเป็นจำนวนมากมาย [14]

สวิสเซอร์แลนด์มีหลังคาเขียวที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป สร้างเมื่อ พ.ศ. 2457 ที่โรงทำน้ำประปาทะเลสาบมูส วอลลิชโชเฟน ซูริก ตัวโรงกรองน้ำมีหลังคาคอนกรีตคลุมเป็นเนื้อที่ 30,000 ตารางเมตร (18.75 ไร่) เพื่อรักษาความเย็นภายในและป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเติบโตในชั้นกรอง จึงมีการใส่ชั้นระบายน้ำด้วยกรวดและชั้นดินหนา 15 ซ.ม. บนหลังคาคอนกรีตที่ได้ป้องการรั่วซึมไว้แล้วด้วยยางมะตอย มีเมล็ดหญ้าทุ่งต่างๆ ที่งอกบ้างแล้วติดมากับดินจำนวนมากเติบโตขึ้นเต็มพื้นที่ ปัจจุบันหลังคาเขียวแห่งนี้เป็นสวรรค์ของพืชหลายขนิด มีบางชนิดอาจสูญพันธุ์ไปจากย่านนั้นไปแล้ว ที่เด่นชัดได้แก่ “กล้วยไม้ปีกเขียว” หรือ (Orchis morio) ที่มีอยู่ที่นี่ประมาณ 6,000 ต้น อีกตัวอย่างหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ของสวิสฯ ได้แก่หลังคาโรงพยาบาลเขต คลินิคัม 1 และคลินิคัม 2 ของนครบาเซิล สวิสเซอร์แลนด์ และหลังคาชานชลารถไฟในสถานีใหญ่ของนครซูริก

หลังคาเขียวที่เชื่อว่าเป็นสวนพฤกษศาสตร์หลังคาเขียวแห่งแรกของโลกตั้งขึ้นที่ออกัสเตนบอร์ก แถบชานเมืองมาลโม (Malmö) ประเทศสวีเดน เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2542 บนหลังคาของสถาบันหลังคาเขียวนานาชาติ (International Green Roof Institute (IGRI)) ซึ่งเปิดเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2544 เพื่อให้เป็นสถานีวิจัยและที่ศึกษาหลังคาเขียวแก่สาธาณชนในเวลาต่อมา (ต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “สถาบันหลังคาเขียวสแกนดิเนเวียน” SGRI) หลังคาเขียวเป็นที่ยอมรับและแพร่หลายมากในมาลโม โครงการพัฒนาเคหการที่อยู่ใกล้สวนพฤกศาสตร์ GISR ใช้หลังคาเขียวแบบปล่อยที่ผนวกลำธาร สระน้ำและที่รับน้ำแบบซึมทิ้ง (soakaways) ที่สร้างสรรค์อย่างสวยงามไว้ระหว่างอาคารเพื่อรองรับน้ำฝนของหลังคาอาคาร โครงการที่พักอาศัยในเมืองที่สร้างบนพื้นที่อุตสาหกรรมเก่าชื่อโครงการ Bo01 ในวาสตราแฮมเนน อ่าวตะวันตกใกล้กับอาคารอพาร์เมนต์-สำนักงาน “เอวบิด” (Turning Torso) ในมาลโมออกแบบโดยซานติอาโก คาลาทราวา (Santiago Calatrava) นี้ก็เช่นกัน ที่ได้ใช้หลังคาเขียวเป็นจำนวนมาก

ตัวอย่างในประเทศอังกฤษอาจดูได้ที่อาคารห้องสมุดมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม และในลอนดอนดูได้ที่พิพิธภัณฑ์ฮอร์นิมาน (Horniman Museum) และสะพานเทียบเรือคะแนรี (Canary Wharf) เอเทลเรดเอสเตดใกล้แม่น้ำเทมส์ (Thames) ในลอนดอนกลางนับเป็นโครงการหลังเขียวในเมืองหลวงของอังกฤษที่ใหญ่ที่สุด ณ ปัจจุบัน, ทอซเทช (Toxteth) ในลิเวอร์พูลก็นับได้ว่าเป็นหลังคาเขียวโครงการใหญ่คู่แข่งได้เช่นกัน

ในประเทศฝรั่งเศส หลังคาเขียวขนาดใหญ่ประมาณ 8,000 ตารางเมตร (5 ไร่) ได้สร้างขึ้นบนหลังคาพิพิธภัณฑ์ L'Historial de la Vendée ที่ Les Lucs-sur-Boulogne ทำการเปิดเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549

อาคารใหม่ของ สถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนีย (California Academy of Sciences) ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างในสวนสาธารณะโกลเดนเกท (Golden Gate Park) ซานฟรานซิสโกมีหลังคาเขียวขนาด 6.25 ไร่ สำหรับปลูกพืชพรรณประจำถิ่นที่ออกแบบให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ประถิ่นชนิดต่างๆ รวมทั้ง ผีเสื้อเบย์ลายตาหมากรุก (Bay checkerspot butterfly) ที่เป็นสัตว์อยู่ในรายชื่อเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จากเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับอาคารใหม่นี้แจ้งไว้ว่า หลังคาเขียวของอาคารนี้จะใช้พลังงานน้อยกว่ากฎหมายกำหนดได้ 30-35%

หลังคาเขียวในประเทศไทย แก้

 
หลังคาเขียวอาคารชุดพักผ่อนการ์เดนคลิฟ 2 พัทยา พ.ศ. 2524

ประเทศไทยมีสวนหลังคามานานแล้ว โดยเฉพาะในย่านในเมืองหนาแน่น ด้วยการนำต้นไม้มาปลูกในภาชนะหรือกระถางบนดาดฟ้า แต่สวนหลังคาที่จงใจออกแบบให้เป็นสวนหลังคาตั้งแต่แรกและมีการจัดเผื่อการรับน้ำหนัก การกันน้ำซึมและอื่นๆ ไว้ก่อนเพิ่งเกิดขึ้นประมาณ 25-30 ปีที่ผ่านมาแต่มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อความสวยงามและเพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ดาดฟ้า การใช้ในเชิงของหลังคาเขียวหรือเชิงการช่วยลดค่าการส่งผ่านความร้อนจากหลังคา (RTTV) โดยเฉพาะยังไม่ปรากฏชัดเจน สวนหลังคาที่อาจตรงเกณฑ์มากที่สุดและจัดหลังคาเขียวได้แห่งหนึ่งได้แก่หลังคาอาคารชุดพักผ่อนโครงการการ์เดนคลิฟ 2 ที่พัทยา ชลบุรีซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ. 2524 แม้จะไม่ได้ออกแบบตั้งแต่แรกเพื่อบรรเทาปรากฏการณ์โลกร้อนแต่เป็นการเปิดวิวทะเลและลดความน่าเกลียดเมื่อมองจากตัวอาคารหลักที่เป็นอาคารสูงในโครงการเดียวกัน หลังคาเขียวแห่งนี้หากจัดประเภทตามเกณฑ์ อาจจัดให้อยู่ในหลังคาเขียวแบบ "กึ่งปล่อย" (Semi-intensive) ได้เพราะดูแลรักษามีเพียงการตัดหญ้าและให้น้ำ

 
สวนหลังคาอาคารชุดพักอาศัยอาคารตรีทศมารีนา ธนบุรี กรุงเทพฯ พ.ศ. 2536

เศรษฐกิจฟองสบู่ซึ่งก่อตัวขึ้นประมาณ 15 ปีที่ผ่านมามีส่วนทำให้ที่ดินราคาสูงขึ้นมาก ทำให้มีสวนหลังคาเกิดขึ้นตามโครงการต่างๆ ในย่านหนาแน่นมากจนเป็นปกติ แต่การสร้างหลังคาเขียวเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อนโดยเฉพาะยังไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน การทำหลังคาเขียวเพียงเพื่อการลดความร้อนผ่านทางหลังคายังมีน้ำหนักไม่พอในเชิงของการคุ้มทุนและการดูแลรักษา การบูรณาการประโยชน์ใช้สอยและความงามเข้าไปด้วยอาจเป็นวิธีที่ได้ผล การยกปรากฏการณ์โลกร้อนมาเป็นเกณฑ์ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)นับเป็นสิ่งที่ดี มาตรการ "ปลูกต้นไม้ 1 ต้นต่อเครื่องปรับอากาศ 1 ตัน?" อาจเป็นไปได้ยากในเมือง แต่หากใช้ "หลังคาเขียว" มาใช้เป็นเกณฑ์เสริมก็อาจช่วยให้เกิดความเป็นไปได้มากขึ้น

ข้อเสียของหลังคาเขียว แก้

หลังคาเขียวต้องการโครงสร้างที่แข็งแรงมากขึ้นกว่ามาตรฐานหลังคาธรรมดา อาคารเดิมบางหลังไม่สามารถปรับหลังคาเป็นหลังคาเขียวได้เนื่องจากน้ำหนักของดินปลูกและพืชพรรณที่เพิ่มเกินจากน้ำหนักที่ได้คำนวณไว้ นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาซึ่งผันแปรมากน้อยไปตามประเภทของหลังคาเขียว

ค่าก่อสร้างหลังคาเขียว แก้

หลังคาเขียวที่ออกแบบและก่อสร้างถูกต้องจะตกประมาณตั้งแต่ 50 ดอลลาร์สหรัฐ (ในยุโรป) ไปจนถึง 350 ดอลลาร์สหรัฐ (อย่างสูงในสหรัฐ) ต่อตารางเมตร ค่าก่อสร้างมากน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของหลังคาอาคาร และชนิดของพืชพรรณที่สามารถขึ้นได้ในวัสดุที่อยู่บนหลังคา จอร์ก บรูนิงได้กล่าวถึงปัญหาเรื่องลมและไฟบนหลังคาเขียวแบบปล่อย รวมทั้งวิธีที่บริษัทประกันเยอรมันจัดการกับหลังคาเขียวแบบปล่อยไว้ในบทความของเขาในหน้า 12 ของ “วาสารกรีนรูฟอินฟราสตรักเจอร์มอนิเตอร์” ของเว็บไซต์ หลังคาเขียวเพื่อสุขภาพของเมือง [7] เก็บถาวร 2007-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ค่าใช้จ่ายบางส่วนอาจขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา หลังคาเขียวแบบปล่อยมีค่าดูแลรักษาต่ำแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องดูแล นักวิจัยเยอรมันได้วิเคราะห์หาตัวเลขเวลาที่จำเป็นต้องใช้ในการจัดการกับวัชพืชที่ไม่ต้องการออกมาโดยประมาณได้ 0.1 นาที/(ตารางเมตร*ปี)[15]ค่าใช้จ่ายรวมค่าใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มดอกและการคลุมของพืชอวบน้ำ แต่ถ้าไม่ต้องการหรือไม่จำเป็นต้องมีความสวยงามก็ไม่ต้องมีการดูแลและใส่ปุ๋ย ปุ๋ยที่จะใช้กับหลังคาเขียวจำเป็นต้องเป็นชนิดควบคุมการละลายเพื่อป้องกันมลภาวะกับน้ำฝนที่ระบายออกมาสู่ระบบสาธารณะ ไม่ควรใช้ปุ๋ยชนิดธรรมดากับพืชพรรณของหลังคาเขียวแบบปล่อย [16][17] การศึกษาของเยอรมันดังกล่าวได้ประมาณการความต้องการธาตุอาหารสำหรับพืชพรรณหลังคาเขียวไว้ที่ 5 กรัมไนโตรเจน/ตารางเมตร และที่สำคัญยิ่งคือ จะต้องใช้สารตั้งต้นชนิดที่ไม่อุ้มสารอาหารได้มาก แนวทาง FLL ได้กำหนดส่วนประกอบสารอาหารมากสุดที่ยอมให้ได้สำหรับสารตั้งต้นไว้แล้ว[18].

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. [1]
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-08-24. สืบค้นเมื่อ 2008-01-19.
  3. Earth Pledge. Green Roofs : Ecological Design and Construction. Atglen, PA: Schiffer Pub., 2005.
  4. [2]
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-15. สืบค้นเมื่อ 2008-01-19.
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-28. สืบค้นเมื่อ 2008-01-19.
  7. [3]
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-07. สืบค้นเมื่อ 2008-01-19.
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-02. สืบค้นเมื่อ 2008-01-19.
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-08-24. สืบค้นเมื่อ 2008-01-19.
  11. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-28. สืบค้นเมื่อ 2008-01-19.
  12. Laban. Architecture of Laban building. Accessed October 27, 2007. [4] เก็บถาวร 2008-02-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  13. [5]
  14. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-28. สืบค้นเมื่อ 2008-01-19.
  15. Kolb, W. and T. Schwarz (2002). Gepflegtes grün auf dem dach Deutscher Gartenbau(7): 32-34.
  16. Emilsson, T., Czemiel Berndtsson, J., Mattsson, J-E and Rolf, K., 2007 Effect of using conventional and controlled release fertiliser on nutrient runoff from various vegetated roof systems, Ecological Engineering, Volume 29, Issue 3, Pages 260-271, http://dx.doi.org/10.1016/j.ecoleng.2006.01.001
  17. Czemiel Berndtsson, J., Emilsson, T. and Bengtsson, L., 2006 The influence of extensive vegetated roofs on runoff water quality, Science of The Total Environment, Volume 355, Issues 1-3, Pages 48-63, http://dx.doi.org/10.1016/j.scitotenv.2005.02.035
  18. Forschungsgesellschaft Landschaftsentwicklung Landschaftsbau e.V., http://www.fll.de
  • Scholz-Barth, Katrin. "Harvesting $ from Green Roofs: Green Roofs Present a Unique Business Opportunity with Tangible Benefits for Developers." Urban land 64.6 (2005): 83-7.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้