ปุ๋ย หมายถึง สารที่ใส่ลงในดินเพื่อให้ธาตุอาหารแก่พืช พืชต้องการธาตุอาหาร 16 ชนิด ได้แก่ ออกซิเจน ไฮโดรเจน คาร์บอน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม กำมะถัน แคลเซียม

รถสำหรับหว่านปุ๋ย

แม็กนีเซียม เหล็ก สังกะสี แมงกานีส ทองแดง โบรอน โมลิบดินัม และคลอรีน ในจำนวนนี้ ออกซิเจน ไฮโดรเจน คาร์บอน(โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม หรือเรียกว่าธาตุอาหารหลัก) พืชได้รับจากน้ำและอากาศ

ส่วนไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม พืชต้องการในปริมาณมากเมื่อเทียบกับธาตุอื่น ๆ (ซึ่งถูกจัดเป็นธาตุอาหารหลักหรือธาตุปุ๋ย) และในดินมักมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมธาตุเหล่านี้โดยการให้ปุ๋ย ปุ๋ยที่ไม่ใช่ปุ๋ยอินทรีย์คือ ปุ๋ยไนโตรเจน

ชนิดของปุ๋ย แก้

  • ปุ๋ยเคมี หรือ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ คือ ปุ๋ยที่เป็นอนินทรียสาร อาจเป็นปุ๋ยเชิงเดี่ยว ปุ๋ยเชิงผสม และปุ๋ยเชิงประกอบ ตัวอย่างปุ๋ยเคมีเช่น ยูเรีย, ปุ๋ยเม็ด 16-20-0 แต่ไม่รวมถึงสารที่ใช้สำหรับปรับปรุงดิน เช่น ซีโอไลต์, ภูไมท์ และ สารต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติโครงสร้างทางฟิสิกส์ของดินให้ดีขึ้น ปุ๋ยเคมีแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
    • ปุ๋ยเดี่ยวหรือแม่ปุ๋ย คือ ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลักพืช คือ N P K เป็นส่วนประกอบของปริมาณธาตุอาหารจะคงที่
    • ปุ๋ยผสม คือ ปุ๋ยที่ได้จากการเอาแม่ปุ๋ยหลาย ๆ ชนิด มารวมกันเพื่อให้ได้ปริมาณธาตุอาหารหลักของปุ๋ยตามต้องการเพื่อให้เหมาะตามสภาพดินในแต่ละพื้นที่
  • ปุ๋ยอินทรีย์ คือ ปุ๋ยที่ได้มาจากการเน่าเปื่อยของซากสิ่งมีชีวิต ธาตุอาหารที่ได้ส่วนใหญ่ต้องเกิดจากการย่อยสลายจากจุลินทรีย์ก่อน เป็นกระบวนการผลิตสารอาหารจากธรรมชาติ ปุ๋ยอินทรีย์ส่วนใหญ่มักจะใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพดิน เมื่อใส่ลงไปในดินซากสิ่งมีชีวิตจะค่อย ๆ สลายตัวและปล่อยธาตุอาหารออกมาให้พืชช่วยให้ดินร่วยซุย แต่มีข้อเสียคือมีธาตุอาหารน้อยและสัดส่วนไม่แน่นอนต้องใช้ปริมาณมากจึงจะเพียงพอกับความต้องการของพืช ได้แก่
    • ปุ๋ยหมัก คือ ปุ๋ยที่เกิดจากเศษพืชต่าง ๆ เช่น หญ้าและใบไม้ ต้นถั่ว ต้นข้าวโพด ซังข้าวโพด เปลือกถั่วต่าง ๆ ใบจามจุรี ฟางข้าว ผักตบชวา เมื่อนำมากองหมักไว้จนเน่าเปื่อยก็ใช้เป็นหมักได้
    • ปุ๋ยคอก คือ ปุ๋ยที่ได้จากสิ่งที่สัตว์ขับถ่ายออกมา เช่น อุจาจาระ ปัสสาวะของสัตว์ต่าง ๆ ปุ๋ยคอกเป็นปุ๋ยที่มีประโยชน์ในการปรับปรุงสภาพทางกายภาพของดิน ช่วยลดอัตราการพังทลายของดิน เพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน เป็นต้น
    • ปุ๋ยพืชสด คือ ปุ๋ยที่ได้จากการปลูกพืชบำรุงดิน เช่น พวกพืชตระกูลถั่ว เมื่อพืชเจริญเติบโตถึงระยะหนึ่ง เราก็ไถกลบในขณะที่พืชยังเขียวและสดอยู่ ซึ่งมักจะไถกลบในช่วงที่พืชกำลังออกดอก เพราะเป็นช่วงที่เหมาะสมแก่การให้ธาตุอาหารแก่พืชมากที่สุด
    • ปุ๋ยชีวภาพ คือ การนำจุลินทรีย์ที่มีชีวิตมาใช้เพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหาร หรือเพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารในดิน ปุ๋ยชีวภาพอาจมีบทบาทในการปรับปรุงบำรุงดินทางชีวภาพ ทางกายภาพ และทางชีวเคมี และปุ๋ยชีวภาพยังหมายความรวมถึงหัวเชื้อจุลินทรีย์
    • ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ คือ การนำข้อดีของปุ๋ย 2 ชนิด มาผสมกัน โดยนำปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านกระบวนการควมคุมคุณภาพการผลิต โดยนำปุ๋ยอินทรีย์และแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น คีเลต ธาตุอาหารเสริม สารบำรุงดินมาผ่านการฆ่าเชื้อและเพาะเชื้อจุลินทรีที่เหมาะสม นำมาผสมกับปุ๋ยอินทรีย์และหมักเพาะเชื้อจุลินทรีย์ที่ผสมลงไปจนถึงระยะเวลาที่พอเหมาะจึงสามารถนำไปใช้งานได้ เป็นปุ๋ยที่เหมาะแก่การทำเกษตรอินทรีย์[1]

ความหมายของปุ๋ย ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย แก้

พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518[2] ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในดินเพื่อบำรุงความเติบโตแก่พืช

  • “ปุ๋ยเคมี” หมายความว่า ปุ๋ยที่ได้จากสารอนินทรีย์หรืออินทรีย์สังเคราะห์ รวมถึงปุ๋ยเชิงเดี่ยว ปุ๋ยเชิงผสมและปุ๋ยเชิงประกอบ และหมายความตลอดถึงปุ๋ยอินทรีย์ที่มีปุ๋ยเคมีผสมอยู่ด้วย แต่ไม่รวมถึงปูนขาว ดินมาร์ล ปูนพลาสเตอร์ หรือยิปซั่ม
  • “ปุ๋ยอินทรีย์” หมายความว่า ปุ๋ยที่ได้จากอินทรีย์วัตถุซึ่งผลิตด้วยกรรมวิธีทำให้ชื้น สับ บด หมัก ร่อน หรือวิธีการอื่นแต่ไม่ใช่ปุ๋ยเคมี
  • “ปุ๋ยเชิงเดี่ยว” หมายความว่า ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารหลักธาตุเดียว ได้แก่ปุ๋ยไนโตรเจน ปุ๋ยฟอสเฟต หรือปุ๋ย โปแตช
  • “ปุ๋ยเชิงผสม” หมายความว่า ปุ๋ยเคมีที่ได้จากการผสมปุ๋ยเคมีชนิดหรือประเภทต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ธาตุอาหารตามต้องการ
  • “ปุ๋ยเชิงประกอบ” หมายความว่า ปุ๋ยเคมีที่ทำขึ้นด้วยกรรมวิธีทางเคมีและมีธาตุอาหารหลักอย่างน้อยสองธาตุขึ้นไป
  • “ธาตุอาหาร” หมายความว่า ธาตุที่มีอยู่ในปุ๋ยและสามารถเป็นอาหารแก่พืชได้
  • “ธาตุอาหารหลัก” หมายความว่า ธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และ โพแทสเซียม หรือ NPK
  • “ธาตุอาหารรอง” หมายความว่า ธาตุอาหารมักเนเซียม คัลเซียม และกำมะถัน
  • “ธาตุอาหารเสริม” หมายความว่า ธาตุอาหารเหล็ก มังกานีส ทองแดง สังกะสี โบรอน โมลิบดินัม คลอรีน หรือธาตุอาหารอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
  • “ปริมาณธาตุอาหารรับรอง” หมายความว่า ปริมาณขั้นต่ำของธาตุอาหารหลักที่ผู้ผลิตหรือผู้นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งปุ๋ยเคมีรับรองในฉลากว่ามีอยู่ในปุ๋ยเคมีที่ตนผลิต นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร แล้วแต่กรณี โดยคิดเป็นจำนวนร้อยละของน้ำหนักสุทธิของปุ๋ยเคมี

ปุ๋ยอินทรีย์ แก้

ปุ๋ยอินทรีย์ คือ ปุ๋ยที่ได้จากการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุโดยจุลินทรีย์กลุ่มใช้ออกซิเจน (Aerobic Microorganisms) จนมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด เศษใบไม้ทุกชนิด ขึ้ค้างคาว ขี้วัว , ขี้หมู , ขี้สัตว์ในฟาร์มทุกชนิด เช่น ไก่ เป็ด แพะ แกะ กวาง

ปุ๋ยเคมี แก้

ปุ๋ยเคมี คือ ปุ๋ยที่ได้จากสิ่งไม่มีชีวิต เช่น จากหิน เหมือนแร่ต่าง ๆ หรือ จากการสังเคราะห์ขึ้นทางวิทยาศาสตร์ เช่น ปุ๋ยยูเรีย แอมโมเนียมซัลเฟต หินฟอสเฟตบด ปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ

ปุ๋ยเคมีจะมีส่วนผสมของธาตุอาหารหลักของพืช (ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส หรือโพแทสเซียม) ในปริมาณที่เข้มข้นมากกว่าปุ๋ยอินทรีย์[1] จึงทำให้ปุ๋ยเคมีได้รับความนิยมเนื่องจากสามารถใช้ในปริมาณที่น้อยกว่าปุ๋ยอินทรีย์

ถึงแม้ว่าปุ๋ยเคมีจะมีธาตุอาหารพืชเข้มข้นกว่าปุ๋ยอินทรีย์ แต่ปุ๋ยเคมีไม่มีคุณสมบัติในการปรับปรุงโครงสร้างของดินให้โปร่งและร่วนซุยได้[1] นอกจากนั้นปุ๋ยเคมีส่วนใหญ่มักจะไม่มีธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม ที่มีในปุ๋ยอินทรีย์ แต่อย่างไรก็ตามในตลาดปุ๋ยเคมีปัจจุบัน มีปุ๋ยเคมีหลายประเภทที่มีการผสมธาตุอาหารรองเข้าไป เพื่อลดปัญหานี้ลง

สูตรปุ๋ย แก้

สูตรปุ๋ย คือ ตัวเลข 3 ตัวโดยมีขีดคั่นกลาง เป็นตัวเลขที่ใช้บอกสัดส่วนปริมาณธาตุอาหารหลัก 3 ชนิดของปุ๋ย ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และ โพแทสเซียม ตามลำดับ เช่น ปุ๋ยกระสอบละ 100 กิโลกรัม สูตร 46-0-0 จะมีส่วนผสมเนื้อธาตุไนโตรเจน 46 กิโลกรัม, ปุ๋ย 16-20-0 จะมีส่วนผสมของเนื้อธาตุไนโตรเจน 16 กิโลกรัมและเนื้อธาตุฟอสฟอรัส 20 กิโลกรัม, หรือ ปุ๋ย 15-15-15 จะมีส่วนผสมของเนื้อธาตุไนโตรเจน 15 กิโลกรัม เนื้อธาตุฟอสฟอรัส 15 กิโลกรัม และ เนื้อธาตุโพแทสเซียม 15 กิโลกรัม

ปุ๋ยบางชนิดจะมีธาตุอาหารรอง (หรือบางครั้งเรียก จุลธาตุ) อยู่ด้วยและมักจะเติมท้ายสูตรปุ๋ยด้วย "TE" ซึ่ง TE ย่อจาก Trace Element ที่หมายถึงจุลธาตุ ในภาษาอังกฤษ

ปุ๋ยเชิงเดี่ยว แก้

ปุ๋ยเชิงเดี่ยว หรือ แม่ปุ๋ย คือ ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุปุ๋ยอยู่เพียงธาตุเดียว เช่น ยูเรีย มีไนโตรเจนเพียงธาตุเดียว หรือโปรตัสเซียมคลอไรด์ มีโปรตัสเซียมอยู่เพียงธาตุเดียว เป็นต้น[1]

ปุ๋ยเชิงผสม แก้

ปุ๋ยเชิงผสม, ปุ๋ยผสม, หรือ ปุ๋ยเบ๊าค์ (ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษ Bulk Blending Fertilizer) จะเป็นการผสมของปุ๋ยเชิงเดี่ยว เพื่อให้ได้อัตราส่วนของธาตุอาหารตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นการผสมทางกายภาพ เช่น คลุกส่วนผสมของปุ๋ยเชิงเดี่ยวแต่ละชนิดตามน้ำหนัก

ปุ๋ยเชิงประกอบ แก้

ปุ๋ยเชิงประกอบ คือ ปุ๋ยเคมีที่ทำขึ้นด้วยกรรมวิธีทางเคมีและมีธาตุอาหารหลักอย่างน้อยสองธาตุขึ้นไป ซึ่งการทำด้วยวิธีทางเคมีจะทำให้ธาตุอาหารในเนื้อปุ๋ยมีความสม่ำเสมอมากกว่าปุ๋ยเชิงผสม แต่โดยทั่วไปปุ๋ยเชิงประกอบก็จะมีราคาที่สูงกว่าด้วย จึงเหมาะกับพืชที่มีความอ่อนไหวต่อสารอาหาร

ปุ๋ยชนิดอื่น ๆ แก้

นอกจากนั้นยังมีปุ๋ยชนิดอื่น ๆ อีกเช่น ปุ๋ยละลายช้า หรือ ปุ๋ยควบคุมการละลาย

ปุ๋ยละลายช้า หรือ ปุ๋ยควบคุมการละลาย แก้

ปุ๋ยละลายช้า หรือ ปุ๋ยควบคุมการละลาย คือ ปุ๋ยที่จะค่อย ๆ ปล่อยสารอาหารออกมา

ปุ๋ยละลายช้ามีอยู่หลายชนิดด้วยกันรวมถึง ชนิดเคลือบพลาสติก (Plastic coated), ชนิดเคลือบสารละลายช้า (Slowly soluble coating), ชนิดยูเรียอัลดีไฮด์ (Urea aldehydes), ชนิดเคลือบกำมะถัน (Sulfur coated) เป็นต้น แต่ละชนิดมีคุณสมบัติแต่ต่างกัน เช่น ชนิดเคลือบพลาสติกอัตราการปล่อยสารอาหารจะขึ้นกับความหนาของพลาสติกที่เคลือบ ชนิดยูเรียอัลดีไฮด์อัตราการปล่อยสารอาหารจะสูงในตอนแรก ๆ และจะช้าลงตลอดจนหมดในเวลา 3 ปี ชนิดเคลือบกำมะถันจะมีระยะเวลาในการใช้อยู่ราว ๆ 3-4 เดือน[3] [4] [5]

ปุ๋ยละลายช้าช่วยทำให้พืชได้รับสารอาหารอย่างสม่ำเสมอ แบบค่อยเป็นค่อยไปลดความเสี่ยงจากภาวะที่เรียกว่า "จุกหรืออด" (feast or famine) ที่พืชอาจได้รับปุ๋ยมากเกินไปในช่วงแรกแล้วหลังจากสารอาหารถูกชะล้างไปหมด ก็จะขาดสารอาหารได้ นอกจากนั้น ปุ๋ยละลายช้า ยังมีข้อดีในแง่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะมันยังช่วยลดปริมาณสารเคมีที่ถูกชะล้างจากแหล่งเพาะปลูกลงไปสู่แหล่ง ที่มีน้ำธรรมชาติอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "ความรู้เรื่องปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-05. สืบค้นเมื่อ 2010-12-21.
  2. "พระราชบัญญัติปุ๋ย คลังปัญญาไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-10. สืบค้นเมื่อ 2010-12-20.
  3. Controlled-Release Fertilizers by Warren Davenport; url=http://www.garden.org/subchannels/flowers/roses?q=show&id=698 (retrieved 22 June 2011)
  4. C. Neal, Slow-Release Fertilizers for Home Gardens and Landscapes, University of New Hampshire Cooperative Extension, url=http://extension.unh.edu/resources/representation/Resource000494_Rep516.pdf เก็บถาวร 2011-07-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (retrieved 22 June 2011)
  5. T. M. Blessington, D. L. Clement, and K. G. Williams, SLOW RELEASE FERTILIZERS, Fact Sheet 870, Maryland Cooperative Extension, University of Maryland, College Park-Eastern Shore; url=http://extension.umd.edu/publications/pdfs/fs870.pdf เก็บถาวร 2012-06-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (retrieved 22 June 2011)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้