ท่าอากาศยานตาก หรือ สนามบินตาก (IATA: TKTICAO: VTPT) ตั้งอยู่ที่ ตำบลน้ำรึม อำเภอเมือง จังหวัดตาก ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 14 กิโลเมตร เป็นท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม[1] โดยปัจจุบันใช้งานเฉพาะราชการทหาร ไม่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์

ท่าอากาศยานตาก
ข้อมูลสำคัญ
การใช้งานสาธารณะ
ผู้ดำเนินงานกรมท่าอากาศยาน
พื้นที่บริการอำเภอเมือง จังหวัดตาก
สถานที่ตั้งตำบลน้ำรึม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก
วันที่เปิดใช้งาน31 พฤษภาคม พ.ศ. 2520
ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล146 เมตร / 478 ฟุต
พิกัด16°53′45.56″N 99°15′12.06″E / 16.8959889°N 99.2533500°E / 16.8959889; 99.2533500
เว็บไซต์https://minisite.airports.go.th/tak/
แผนที่
ภาพแผนที่ประเทศไทย ซึ่งบอกสถานที่ของท่าอากาศยาน
ภาพแผนที่ประเทศไทย ซึ่งบอกสถานที่ของท่าอากาศยาน
TKT
ตำแหน่งของท่าอากาศยานในประเทศไทย
ภาพแผนที่ประเทศไทย ซึ่งบอกสถานที่ของท่าอากาศยาน
ภาพแผนที่ประเทศไทย ซึ่งบอกสถานที่ของท่าอากาศยาน
TKT
TKT (ประเทศไทย)
ทางวิ่ง
ทิศทาง ความยาว พื้นผิว
เมตร ฟุต
09/27 1,500 4,921 ยางมะตอย
สถิติ (2563)
ผู้โดยสาร0
เที่ยวบิน0
แหล่งข้อมูล: https://airports.go.th

ประวัติ แก้

สนามบินตาก (เก่า) ก่อสร้างขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ณ ตำบลระแหง อำเภอเมืองจังหวัดตาก ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ประกาศเป็นสนามบินอนุญาตตามประกาศกระทรวงคมนาคมที่ 2/2497 ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2497 บริษัทเดินอากาศไทย จำกัด ได้ใช้เครื่องบินดักลาส ดีซี-3 ทำการบินให้บริการผู้โดยสารแบบประจำแต่ได้เลิกทำการบินประมาณ พ.ศ. 2513 หลังจากนั้นกระทรวงคมนาคมได้ประกาศยกเลิกเป็นสนามบินอนุญาต เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2526

ใน พ.ศ. 2516 ช่วงเวลาที่ยังใช้สนามบินเดิมอยู่นั้น รัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร พิจารณาให้กรมการบินพาณิชย์ (กรมท่าอากาศยานในปัจจุบัน) จัดหาที่เพื่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ เนื่องจากที่เดิมมีภูมิประเทศไม่เหมาะสม มีราษฎรทำการบุกรุกที่ดิน มีสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านและยังมีคลองน้ำไหลผ่านบริเวณท่าอากาศยานรวมทั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองมากเกินไป กรมการบินพาณิชย์ได้ขอความอนุเคราะห์กรมป่าไม้จัดหาพื้นที่บริเวณป่าสงวนจำนวน 1,300 ไร่ ซึ่งอยู่ในตำบลน้ำรึม อำเภอเมือง เป็นที่ก่อสร้างท่าอากาศยานตากแห่งใหม่และได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2518 และกระทรวงคมนาคมประกาศให้ท่าอากาศยานตากเป็นสนามบินอนุญาต เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2520[2]

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2533 การบินไทย ได้ใช้เครื่องบินแบบเอทีอาร์ 72 ทำการบินรับ-ส่ง เส้นทางกรุงเทพฯ-ตาก-แม่สอด-เชียงใหม่ ไป-กลับ จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2537 จึงขอหยุดทำการบิน เนื่องจากผู้โดยสารน้อยไม่คุ้มค่าต่อการทำการบิน โดยในปัจจุบันยังมีเครื่องบินที่ใช้ในราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจและเครื่องบินส่วนบุคคล ทำการบินเป็นครั้งคราว[3] และเป็นฐานในการทำฝนหลวง[4] โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เข้าใช้พื้นที่ของท่าอากาศยานตากในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดตาก คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2566[5][6] โดยมีแผนที่จะจัดตั้งขึ้นมาแทนศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงแห่งเดิมที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเริ่มจะมีข้อจำกัดด้านสถานที่และทางวิ่ง (รันเวย์) จากการที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่มีจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากทำให้ต้องมีแผนการพัฒนาและปรับปรุงท่าอากาศยาน[6]

แผนการอนุญาตให้ บมจ. ท่าอากาศยานไทย เข้าบริหารท่าอากาศยาน แก้

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 กรมท่าอากาศยานได้ประกาศแผนการมอบสิทธิ์การบริหารท่าอากาศยานตากให้ บมจ. ท่าอากาศยานไทย เช่นเดียวกับท่าอากาศยานอุดรธานี (ภายหลังได้เพิ่มท่าอากาศยานชุมพรและท่าอากาศยานสกลนครเข้ามาด้วย)[7] โดยจะนำเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบ[8][9] แต่กระทรวงคมนาคมยังไม่อนุมัติในทันที โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รวบรวมข้อมูลจากทั้งของกรมท่าอากาศยาน, บมจ. ท่าอากาศยานไทย และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ไปศึกษาวิเคราะห์ถึงผลดีและผลเสียก่อน[10]

ในวันที่ 25 เมษายน 2561 ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บมจ. ท่าอากาศยานไทย มีมติเห็นชอบรับโอนท่าอากาศยานตากและท่าอากาศยานอีกสามแห่งดังกล่าวจากกรมท่าอากาศยานมาบริหาร[11] และกรมท่าอากาศยานได้รวบรวมข้อมูลและเสนอเรื่องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้วในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน[12] เพื่อที่จะได้เสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป คาดว่าจะดำเนินการได้เรียบร้อยและ ทอท. เข้าบริหารสนามบินทั้งสี่ได้อย่างเต็มรูปแบบภายในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562[13]

โดย บมจ. ท่าอากาศยานไทยเปิดเผยว่าได้วางแผนให้ท่าอากาศยานตากเป็นสนามบินสำหรับขนส่งสินค้าทางอากาศ ไม่เน้นการรับส่งผู้โดยสาร โดยอ้างว่าเพื่อที่จะไม่แข่งขันกับท่าอากาศยานแม่สอดของกรมท่าอากาศยาน[7] อย่างไรก็ตามในเดือนเมษายน 2561 หอการค้าจังหวัดตาก, กำแพงเพชร และสุโขทัย ได้ร่วมกันเสนอให้สายการบินนกแอร์ (ซึ่งมีเครื่องบินขนาดเล็กจึงสามารถใช้งานรันเวย์ปัจจุบันของท่าอากาศยานตากที่มีความยาวเพียง 1,500 เมตรได้) พิจารณาเปิดเส้นทางเที่ยวบินโดยสารระหว่างท่าอากาศยานดอนเมืองกับท่าอากาศยานตาก[14][15] แต่ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน บมจ.ท่าอากาศยานไทยได้แจ้งว่าจะไม่พัฒนาท่าอากาศยานตากในด้านการขนส่งผู้โดยสาร โดยอ้างว่ามีอุปสงค์ไม่ถึงหนึ่งล้านคนต่อปี[13] (ถือเป็นจำนวนที่สูงมาก เนื่องจากในปี พ.ศ. 2560 ท่าอากาศยานในพื้นที่อื่นโดยรอบ ได้แก่ ท่าอากาศยานพิษณุโลก มีผู้โดยสารขาเข้าและขาออกรวมประมาณ 6 แสนคนต่อปี และท่าอากาศยานแม่สอดมีประมาณ 2 แสนคนต่อปี[16]) และจะมุ่งเน้นพัฒนาในด้านการรองรับขนส่งอากาศยานโดยเฉพาะ ด้านกระทรวงคมนาคมได้ปฏิเสธแผนการดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้สนามบินทั้ง 4 แห่งที่จะโอนให้ ทอท. นั้นรองรับด้านการท่องเที่ยวด้วย และให้ ทอท. ทำแผนการดำเนินการรับโอนและบริหารท่าอากาศยานตากใหม่[17] ต่อมาเดือนกันยายน 2561 นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตากกล่าวว่าคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเห็นชอบให้ดำเนินการโอนสนามบินให้ ทอท. แล้ว โดยที่ ทอท. จะเข้าพัฒนาท่าอากาศยานตากทั้งในด้านการขนส่งและการรองรับนักท่องเที่ยว[18]

อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่มีรัฐบาลชุดใหม่ในปี พ.ศ. 2562 กรมท่าอากาศยาน และกระทรวงคมนาคมซึ่งมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ได้เปลี่ยนแปลงแผนการ โดยจะให้ บมจ. ท่าอากาศยานไทย เข้าบริหารท่าอากาศยานตาก, ท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ในลักษณะการบริหารสัญญาร่วม หรือการจ้าง บมจ. ท่าอากาศยานไทย บริหารจัดการ โดยไม่ต้องมีการประมูล และกรมท่าอากาศยานยังคงเป็นเจ้าของสนามบินทั้งสามแห่งดังกล่าว[19] แต่หลังจากนั้นข่าวคราวก็ได้เงียบหายไป ไม่มีความคืบหน้าใดอีก นอกจากนี้ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ยังได้เสนอแนวคิดอื่น เช่นพัฒนาท่าอากาศยานตากให้เป็นสถานที่สำหรับซ่อมและจอดเครื่องบิน รวมถึงขยายรันเวย์ให้กว้างขึ้นและยาวขึ้นเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ แต่จะต้องมีบริษัทเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน[20][21] จนกระทั่งในเดือนมีนาคม 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยว่ากระทรวงคมนาคมจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้าดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน[22] โดยที่ไม่มีท่าอากาศยานตากรวมอยู่ด้วยอีกต่อไป จึงนับว่ากรมท่าอากาศยานและกระทรวงคมนาคมได้ยุติแผนการถ่ายโอนการบริหารท่าอากาศยานตากไปโดยปริยาย

อาคารสถานที่ แก้

ท่าอากาศยานตาก มีอาคารผู้โดยสารขนาดเล็ก พื้นที่ 320 ตารางเมตร 1 หลัง รองรับผู้โดยสารได้จำนวน 24 คนต่อชั่วโมง 192 คนต่อวัน มีลาจอดรถรองรับได้ 140 คัน และมีลานจอดอากาศยานขนาดกว้าง 60 เมตร ยาว 180 เมตร สามารถรองรับอากาศยานประเภท เอทีอาร์ 72 ได้ มีทางวิ่งขนาดกว้าง 30 เมตร พร้อมไหล่ทางวิ่งข้างละ 7.5 เมตร และยาว 1,500 เมตร พร้อมพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่ง (blastpads) ขนาดกว้างข้างละ 45 เมตร และความยาวข้างละ 75 เมตร และมีทางขับขนาดกว้าง 16 เมตร และยาว 135 เมตร จำนวน 2 เส้น[23]

ปัจจุบันท่าอากาศยานตาก ไม่มีบริการภาคพื้น

รายชื่อสายการบิน แก้

การใช้งานในปัจจุบัน แก้

ปัจจุบันไม่มีสายการบินให้บริการ โดยในปัจจุบันยังมีเครื่องบินที่ใช้ในราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจและเครื่องบินส่วนบุคคล ทำการบินเป็นครั้งคราว และเป็นฐานการบินฝนหลวง[24]

พ.ศ. เที่ยวบินทหาร เที่ยวบินส่วนตัว
พ.ศ. 2561 0 2
พ.ศ. 2562 414 4
พ.ศ. 2563 388 18
พ.ศ. 2564 610 12
พ.ศ. 2565 176 0

สายการบินที่เคยทำการบิน แก้

สายการบิน จุดหมายปลายทาง หมายเหตุ
เดินอากาศไทย พิษณุโลก, แม่สอด[25] ภายในประเทศ
การบินไทย กรุงเทพฯ-ดอนเมือง, แม่สอด[25], พิษณุโลก[26] ภายในประเทศ

การเดินทางสู่ท่าอากาศยาน แก้

ท่าอากาศยานตากตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (เขตแดนไทย/พม่า–มุกดาหาร) ในบริเวณ อำเภอเมือง จังหวัดตาก

อ้างอิง แก้

  1. "รายชื่อท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน". กรมท่าอากาศยาน. สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2024.
  2. "ท่าอากาศยานตาก Tak Airport". กรมการบินพลเรือน. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 มีนาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2017.
  3. "ความเป็นมาของท่าอากาศยานตาก". กรมท่าอากาศยาน. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2020.
  4. "ตากเปิดฐานปฏิบัติการตั้งฐานเติมสารฝนหลวงบรรเทาภัยแล้งและไฟป่า". เอเอสทีวีผู้จัดการ. 16 มีนาคม 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2017.
  5. "องคมนตรี เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารสำนักงานศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ". เชียงใหม่นิวส์. 24 สิงหาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2024.
  6. 6.0 6.1 "วันที่ 23 สิงหาคม 2563 เวลา 09.19 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จังหวัดตาก". กรมฝนหลวงและการบินเกษตร. 23 สิงหาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2021.
  7. 7.0 7.1 "ทอท.ปั้นสนามบินอุดรฯฮับอีสาน". มติชน. 22 เมษายน 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 เมษายน 2018. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2018.
  8. "ทย.ยกสนามบินอุดรฯ-ตาก ซบอกทอท". เดลินิวส์. 20 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2017.
  9. "กรมท่าอากาศยานย้ำชัด! ยกให้ ทอท.บริหารสนามบินแค่ "อุดรธานี-ตาก"". ประชาชาติธุรกิจ. 20 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2017.
  10. "'อาคม' เบรกส่ง 'ทอท.' บริหารสนามบินอุดร-ตาก". กรุงเทพธุรกิจ. 29 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2017.
  11. "งบสร้างสนามบินมโหระทึก". ไทยรัฐ. 2 พฤษภาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.
  12. "ปี 64 "กระบี่" ฮับสู่อีสาน บินสู่ขอนแก่นหนุนท่องเที่ยว". เดลินิวส์. 16 มิถุนายน 2018. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2018. ส่วนความคืบหน้าเรื่องการโอนย้าย 4 ท่าอากาศยานให้แก่บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. นั้น ขณะนี้ ทย.ได้รวบรวมข้อมูล และข้อเสนอรายงานผลการศึกษาแก่กระทรวงคมนาคมแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของ รมว.คมนาคม คาดว่าจะรู้ผลในเร็วๆนี้
  13. 13.0 13.1 "ทุ่มหมื่นล้านฟื้นสนามบินรอง". โพสต์ทูเดย์. 4 กรกฎาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 4 กรกฎาคม 2018.
  14. "ขอรายงานความคืบหน้า เรื่องสายการบินนกแอร์ ตาก-ดอนเมือง ว่าเราดำเนินการเรื่องนี้อย่างเกาะติดตลอด". TAK @taksociety. 23 เมษายน 2018. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2018.
  15. "หอการค้า 3 จว. หนุนบินโลว์คอสต์ ทำการบินมา จ.ตาก เพิ่มความสะดวกคนเดินทาง". ไทยรัฐ. 3 พฤษภาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.
  16. "ข้อมูลสถิติการขนส่งทางอากาศภายในประเทศ ปี 2017". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 กรกฎาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2018.
  17. "คมนาคมตีกลับแผนโอน 4 สนามบินให้ ทอท". สำนักข่าวไทย. 9 กรกฎาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2018.
  18. ""ตาก" วอนรัฐปัดฝุ่น 2 สนามบินเก่า ดันฮับอากาศบูมท่องเที่ยว". เดลินิวส์. 12 กันยายน 2018. สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2018.
  19. "เบื้องลึกเด้งอธิบดีทย. เซ่นการเมืองขวางทอท.ฮุบสนามบิน". ฐานเศรษฐกิจ. 8 กันยายน 2019. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2019.
  20. ""ถาวร" ดันผุดศูนย์ซ่อมเครื่องบิน "ตาก" ดึงเอกชนลงทุน คุมตลาดโซนจีนตอนใต้-พม่า-ลาว". ผู้จัดการออนไลน์. 29 มิถุนายน 2020. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2021.
  21. "'ถาวร' ดึงต่างชาติร่วมลงทุนโปรเจ็กต์ 'แฮงการ์' สนามบิน จ.ตาก 3,000 ไร่". ประชาชาติธุรกิจ. 5 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2021.
  22. ""ศักดิ์สยาม" เปิดไทม์ไลน์โอนย้าย 3 สนามบิน จ่อเสนอ ครม. เมษายนนี้". ไทยรัฐ. 21 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2022.
  23. "ข้อมูลแสดงลักษณะกายภาพของท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน". กรมท่าอากาศยาน.
  24. ข้อมูลสถิติการขนส่งทางอากาศ กรมท่าอากาศยาน
  25. 25.0 25.1 "ประวัติความเป็นมาของท่าอากาศยานแม่สอด". กรมท่าอากาศยาน. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2017.
  26. กาญจนา อาสนะคงอยู่; เอกชัย โกมล (2010). การพัฒนายุทธศาสตร์เชิงวัฒนธรรมในเขตเมือง กรณีศึกษา จังหวัดพิษณุโลก (PDF) (Report). กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. p. 123. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2017.