พฤกษาพักตร์ หรือ รุกขามนุษย์ (อังกฤษ: Green Man) คือประติมากรรม, จิตรกรรม หรือรูปสัญลักษณ์อื่นๆ ของใบหน้าที่ล้อมรอบไปด้วยใบไม้ กิ่งไม้ หรือเถาไม้เลื้อย ที่งอกออกมาจากจมูก ปาก หรือส่วนอื่นๆ ของใบหน้า ไม้ที่งอกออกมาอาจจะมีดอกมีผลด้วยก็ได้ การตกแต่งด้วยพฤกษพักตร์มักจะใช้สำหรับเป็นสิ่งตกแต่งของสถาปัตยกรรม พฤกษาพักตร์มักจะพบในรูปของประติมากรรมทั้งภายนอกและภายในคริสต์ศาสนสถาน และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ของคฤหัสน์ นอกจากนั้น “The Green Man” ยังเป็นชื่อที่นิยมใช้กันสำหรับสิ่งก่อสร้างสารธาณะ และปรากฏในหลายรูปหลายลักษณะเช่นบนป้ายโรงแรมเล็กๆ ที่บางครั้งอาจจะเป็นรูปเต็มตัวที่ไม่แต่จะเป็นเพียงเป็นใบหน้าเท่านั้น

คันทวยพฤกษพักตร์ในรูปของลายใบอาแคนธัสรองรับประติมากรรมนายอาชาแห่งแบมเบิร์กภายในมหาวิหารแบมเบิร์กที่แกะสลักเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13

ลักษณะพฤกษาพักตร์มีด้วยกันหลายแบบหลายลักษณะ และพบในวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก พฤกษาพักตร์มักจะเป็นเทพารักษ์ที่เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ที่มีมาในวัฒนธรรมต่างๆ ตลอดมาในประวัติศาสตร์ โดยทั่วไปแล้วก็มักจะตีความหมายกันว่าพฤกษาพักตร์เป็นนัยยะของการเกิดใหม่ที่เป็นสัญลักษณ์ของวัฏจักรของการเจริญเติบโตเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิของแต่ละปีที่มาถึง บ้างก็สันนิษฐานว่าพฤกษาพักตร์เป็นตำนานที่พัฒนาขึ้นมาต่างหากจากความเชื่ออื่นๆ ในสมัยโบราณ และวิวัฒนาการต่อมาจนแตกแยกกันออกไปในวัฒนธรรมต่างๆ ที่เห็นได้จากตัวอย่างในของพฤกษาพักตร์ในสมัยต่างๆ ของประวัติศาสตร์

ประเภทของพฤกษาพักตร์

แก้
 
แผ่นเหนือหลุมศพในสุสาน

คำว่า “พฤกษาพักตร์” คิดขึ้นมาโดยเลดี้แรกแลนสำหรับบทความ “พฤกษาพักตร์ในสถาปัตยกรรมของคริสต์ศาสนสถาน” ที่เขียนในปี ค.ศ. 1939 ในวรสาร “The Folklore Journal” (วรสารตำนานพื้นบ้าน)[1] ก่อนหน้านั้นพฤกษาพักตร์ที่กล่าวถึงในงานสถาปัตยกรรมมักจะเรียกว่า “หัวใบไม้” (foliate heads) บ้าง “หน้ากากใบไม้” (foliate masks) บ้าง

งานประติมากรรมของพฤกษาพักตร์มีด้วยกันหลายทรงทั้งที่เป็นลักษณะธรรมชาติและที่เป็นลักษณะที่ประดิษฐ์ขึ้น แบบที่ง่ายที่สุดก็จะเป็นใบหน้าที่แง้มออกมาจากพงไม้ บางหน้าก็จะมีผมหรือหนวดเป็นใบไม้ แต่ที่มักจะเห็นกันก็จะมีใบไม้ หรือยอดไม้งอกออกมาจากปากหรือจมูก หรือบางครั้งก็มีที่งอกออกมาจากตา หรือในงานที่เป็นแอ็ปสแตร็คท์เมื่อมองเผินๆ ก็อาจจะดูเหมือนเป็นเพียงรูปแกะของกลุ่มใบไม้จนเมื่อพิจารณาดูอย่างละเอียดจึงจะเห็นว่ามีใบหน้าที่แฝงอยู่ พฤกษาพักตร์ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นใบหน้าของชาย พฤกษาพักตร์หญิงหาดูได้ยาก บนหินบนหลุมศพ (gravestone) หรืออนุสรณ์ผู้ตายบางครั้งก็จะมีหัวกะโหลกที่มีเถาองุ่นหรือพันธุ์ไม้อื่นงอกออกมาที่อาจจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ (resurrection)

พฤกษาพักตร์มีด้วยกันหลายแบบแต่มีอยู่สามแบบที่เป็นที่นิยมกันกว่าแบบอื่น:

  • พฤกษาพักตร์ที่คลุมด้วยใบไม้ทั้งหัว (the Foliate Head)
  • พฤกษาพักตร์ที่มีไม้งอกออกมาจากปาก (Disgorging Head)
  • พฤกษาพักตร์ที่มีไม้งอกออกมาจากทุกช่องทุกรูบนใบหน้า (Bloodsucker Head) [2][3]

พฤกษาพักตร์ในคริสต์ศาสนสถาน

แก้
 
รายละเอียดของพฤกษาพักตร์ที่มีใบไม้งอกออกมาจากปากภายใต้เก้าอี้อิงในวัดที่ลัดโลว์ในอังกฤษ
 
พฤกษาพักตร์แกะจากหินที่แอบบีดอร์ในแฮรฟอร์ดเชอร์ในอังกฤษ

เมื่อดูเผินพฤกษาพักตร์ก็จะดูเหมือนเป็นศิลปะที่มาจากวัฒนธรรมของเพเกิน ที่เป็นรูปสัญลักษณ์ของความบริบูรณ์ (fertility figure) หรือรูปเทพารักษ์ที่คล้ายคลึงกับมนุษย์ป่า (woodwose) แต่มักจะปรากฏบ่อยในงานแกะสลักหินหรือไม้ภายในคริสต์ศาสนสถานต่างๆ ที่รวมทั้งชาเปล แอบบี และ มหาวิหาร ที่ทำกันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11 จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20

สำหรับผู้ดูในสมัยปัจจุบันพฤกษาพักตร์ที่สร้างกันระยะแรกเช่นในสมัยศิลปะโรมาเนสก์ และในยุคกลางมักจะมีลักษณะที่ทำให้ขนลุกหรือรู้สึกหวาดผวาที่ออกไปทางเหนือธรรมชาติ ซึ่งบางครั้งก็ทำให้สันนิษฐานกันว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังความอยู่รอดของพฤกษาพักตร์ของวัฒนธรรมเพเกินที่มิได้ถูกทำลายไปเมื่อวัฒนธรรมคริสเตียนเข้ามาแทนที่ หรืออาจจะเป็นได้ว่าเป็นการสรรเสริญคริสต์ศาสนาที่ยอมรับวัฒนธรรมอื่นที่นอกไปจากวัฒนธรรมของคริสต์ศาสนาเอง แทนที่จะหันหลังให้กับวัฒนธรรมของผู้ที่เพิ่งเข้ามารับคริสต์ศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่นักสอนศาสนาปฏิบัติกันในระยะแรกของการพยายามเผยแพร่ศาสนาด้วยการยอมรับและปรับให้เข้ากับเทพเจ้าพื้นบ้าน ที่ในบางครั้งถึงกับยกให้เป็นนักบุญย่อยๆ ก็มี

ลักษณะพฤกษาพักตร์ในสมัยต่อมา

แก้
 
หัวน้ำพุที่พบบนเกาะมูราโนในอิตาลี
 
ภาพพฤกษาพักตร์ที่มีหัวเป็นใบไม้จากสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาบนฉากกางเขนที่แอบบีดอร์

ตั้งแต่สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาเป็นต้นมาการสร้างพฤกษาพักตร์ก็วิวัฒนาการกันอย่างวิจิตรและบางครั้งก็จะกลายไปเป็นหัวสัตว์แทนที่จะเป็นมนุษย์ที่รวมทั้งที่ปรากฏในงานหนังสือวิจิตร, งานโลหะ, แผ่นพิมพ์หนังสือ และงานหน้าต่างประดับกระจกสี ที่มักจะใช้ในการตกแต่งโดยเฉพาะโดยไม่มีสัญลักษณ์ลึกซึ้งที่เคลือบแฝงแต่อย่างใด นักแกะภาพพิมพ์ชาวสวิสนูมา กูยต (Numa Guyot)[4] สร้างแผ่นพิมพ์หนังสือที่เป็นภาพพฤกษาพักตร์ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดที่สร้างราว ค.ศ.1887

ในบริเตนพฤกษาพักตร์กลับมาเป็นที่นิยมกันอีกครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะในหมู่สถาปนิกของยุคฟื้นฟูกอธิคและในสมัยของการวิวัฒนาการของขบวนการศิลปะหัตถกรรมในการใช้เป็นสิ่งตกแต่งสิ่งก่อสร้างหลายแห่งทั้งทางศาสนาและทางโลก สถาปนิกชาวอเมริกันก็เริ่มนำพฤกษาพักตร์เข้ามาใช้ในการตกแต่งในช่วงเวลาเดียวกัน พฤกษาพักตร์ติดตามชาวยุโรปไปในดินแดนต่างๆ ที่ไปยึดเป็นอาณานิคม พฤกษาพักตร์ลักษณะต่างๆ พบในสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิคของสมัยวิคตอเรีย พฤกษาพักตร์เป็นที่นิยมกันในหมู่ช่างสลักหินชาวออสเตรเลียที่พบในงานสิ่งก่อสร้างทั้งของศาสนาและของฆราวาส

พฤกษาพักตร์สมัยใหม่

แก้
 
“พฤกษาพักตร์แบงค์เซีย” โดยศิลปินชาวออสเตรเลียที่เป็นงานชิ้นหนึ่งในบรรดางานที่การตีความหมายใหม่ของพฤกษาพักตร์ที่ผสานกับพรรณไม้ท้องถิ่นของออสเตรเลีย
 
“พฤกษาพักตร์ไวท์ฟิลด์” โดยพอล ซิเวลล์จากส่วนที่ตายไปแล้วของต้นไม้ที่ยังเป็นอยู่

พฤกษาพักตร์กลับมาเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในสมัยปัจจุบันโดยศิลปินจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกนำไปผสมผสานกับงานแบบต่างๆ ในบรรดาศิลปินที่กล่าวถึงใน “พฤกษาพักตร์คืนชีพ” (Green Man Resurrected--วิทยานิพนธ์สำหรับปริญญาโทโดยฟิลลิส อราเนโอ)[5] ก็ได้แก่ศิลปินอังกฤษพอล ซิเวลล์ผู้สร้าง “พฤกษาพักตร์ไวท์ฟิลด์”[1][ลิงก์เสีย] ซึ่งเป็นงานแกะไม้ที่แกะบนส่วนที่ตายไปแล้วของต้นโอ้ค; เดวิด กอฟฟ์ เอเวลี นักออกแบบสวนชาวอังกฤษผู้ออกแบบ “วงกตพฤกษาพักตร์เพนพอนท์”[2] เก็บถาวร 2009-05-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Penpont Green Man Millennium Maze) ที่ตั้งอยู่ที่เพาวิสในเวลส์ซึ่งเป็นพฤกษาพักตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก; และเอ็ม.เจย์. แอนเดอร์สันประติมากรที่ทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกาผู้สร้างงานประติมากรรมหินอ่อนชื่อ “พฤกษาพักตร์ในรูปของชนแอบอริจินชายฝั่งดั้งเดิมของทุกสมัยที่เป็นที่เจริญงอกงามของไม้และของธรรมชาติทุกอย่างที่ให้งอกมาจากนิ้ว” (Green Man as Original Coastal Aboriginal Man of All Time from Whence the Bush and All of Nature Sprouts from his Fingers)[5]

ศิลปินผู้อื่นที่กล่าวถึงโดยอราเนโอก็ได้แก่เจน ไบรด์สันผู้เกิดที่กานา, ศิลปินออสเตรเลีย มาร์จอรี บุสซีย์, ศิลปินชาวอเมริกันมอนิคา ริชาร์ดส (และเป็นนักร้องและคีตกวี) และศิลปินแฟนตาซีชาวอังกฤษปีเตอร์ พราเคานิคที่งานพฤกษาพักตร์สร้างเป็นงานผสมสื่อที่รวมทั้งการสักทั้งตัว[5]

ศิลปินเหล่านี้และศิลปินคนอื่นๆ ต่างก็สร้างงานศิลปะตามรอยการวิวัฒนการของการสร้างพฤกษาพักตร์ที่ทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่อราเนโอเรียกว่าการสร้างสิ่งที่เป็น “สัญชาตญาณของการแสดงออกที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ” [5] พฤกษาพักตร์สมัยใหม่มักจะเป็นงานที่มีลักษณะแตกต่างจากที่ทำกันมาในสมัยโบราณที่มักจะเป็นภาพใบหน้าแต่เพียงอย่างเดียว และบางที่ก็แสดงลักษณะของความเป็นสตรีแต่ก็ยังหาดูยาก ศิลปินชาวอเมริกันรอบ จัสแซ็คเป็นต้นที่ใช้หัวเรื่องพฤกษาพักตร์ในการแสดงว่าเป็นโลกที่เป็นจิตพิทักษ์และแปลงภาพพฤกษาพักตร์ให้โอบอุ้มโลกทั้งหมด ศิลปินโดโรธี “บันนี” โบเวนศิลปินชาวอเมริกันเช่นกันสร้างจิตรกรรมกิโมโนไหมชื่อ “พฤกษาพักตร์สตรี”[3] เก็บถาวร 2010-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ที่เป็นการแสดงด้านความเป็นสตรีของตำนานพฤกษาพักตร์[5]

ในลัทธิเพกันใหม่วิคคา พฤกษาพักตร์มักจะใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเทพฮอร์น (Horned God) ที่มีรากฐานบางส่วน[ต้องการอ้างอิง]มาจากเทพเซอร์นันนอสซึ่งเป็นเทพโบราณของเคลติค และเทพแพนของตำนานเทพเจ้ากรีก

รูปสัญลักษณ์อื่นที่เกี่ยวข้อง

แก้
 
งานพิมพ์ของคริสต์ศตวรรษที่ 18 ของ “แจ็คกรีน” (Jack in the Green) ในลอนดอน

ความเกี่ยวข้องระหว่างพฤกษาพักตร์กับเทพารักษ์ต่างๆ ก็ได้รับการศึกษา บ้างก็เห็นว่าพฤกษาพักตร์มีความเกี่ยวข้องกับเทพหลายองค์เช่นเทพโอซีริส, เทพโอดิน และแม้แต่พระเยซูของคริสต์ศาสนา และต่อมาในตัวละครที่ปรากฏในตำนานหรือวรรณกรรมเช่นอัศวินเขียว (Green Knight) ที่ปรากฏในตำนานกษัตริย์อาร์เธอร์ที่เขียนในคริสต์ศตวรรษที่ 14, จอห์น บาร์ลีย์คอร์น ที่ปรากฏในเพลงพื้นบ้านของอังกฤษที่เป็นสัญลักษณ์ของชาวเกษตรกรผู้ทุกข์ยาก,กษัตริย์ฮอลลี (Holly King) ที่ปรากฏในตำนานพื้นบ้านของอังกฤษผู้เป็นเทพแห่งฤดูหนาวและใช้ฮอลลีและเอเวอร์กรีนเป็นสัญลักษณ์ และ เทพทัมมุซ (Tammuz) ของ เมโสโปเตเมียผู้ที่ถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะของความมีชีวิตต่อฤดูหนาวและความตาย[6]

ในงานเขียน ละครสวมหน้ากาก (Masque) “Summer's Last Will and Testament” โดยทอมัส แนช ที่เขียนเมื่อปี ค.ศ. 1592 และพิมพ์ในปี ค.ศ. 1600 ตัวละครก็อ้างถึงพฤกษาพักตร์ ตัวละครอื่นๆ ใน ตำนานลึกลับ เช่นโวเดน (Woden), เซอร์นันนอส (Cernunnos), ซิลวานัส (Sylvanus), เดิร์ก คอร์รา (Derg Corra), กรีนจอร์จ (Green George), แจ็คกรีน (Jack in the green), จอห์น บาร์ลีย์คอร์น (John Barleycorn), โรบิน กูดเฟลโล (Robin Goodfellow), พัค (Puck), เซอร์กาเวนและอัศวินกรีน (Sir Gawain and the Green Knight) ต่างก็มีลักษณะของพฤกษาพักตร์ นอกจากนั้นก็ยังมีที่กล่าวว่าเรื่องโรบิน ฮูดเป็นเรื่องที่มีต้นกำเนิดมาจากตำนานพฤกษาพักตร์ ผู้ที่เป็นสัญลักษณ์ของพฤกษาพักตร์ในสมัยปัจจุบันก็ได้แก่ปีเตอร์ แพนผู้เข้ามมาในโลกในเครื่องแต่งกายที่เป็นใบไม้สีเขียว หรือแม่แต่พ่อคริสต์มัสที่มักจะปรากฏเป็นภาพคนสูงอายุที่แต่งตัวด้วยมาลัยไอวีที่เป็นนัยยะถึงจิตวิญญาณจากป่า[7].

อัศวินกรีนใน “เซอร์กาเวนและอัศวินกรีน” เป็นทั้งมอนสเตอร์และครูของเซอร์กาเวนจากโลกก่อนสมัยคริสเตียนแต่ก็มาผสมผสานเข้ากับปรัชญาของคริสต์ศาสนาต่อมา

ในชาติเจอร์มานิค เช่นเยอรมนี, ไอซ์แลนด์ และ อังกฤษ การสร้างพฤกษาพักตร์อาจจะมีแรงบันดาลใจมาจากเทพเช่นเฟรเยอร์ (Freyr)[8] หรือโวเดนที่มีลักษณะที่เป็นลักษณะของพฤกษาพักตร์ที่แพร่หลายไปทั่วยุโรป[9] [10] [11] [12]

จากการค้นคว้าศึกษาที่มาของคำโดยมหาวิทยาลัยเวลส์จากชื่อที่ใช้ในตำนานเทพเจ้าเคลติคกล่าวว่าชื่อของเทพวิริดิออส (Viridios) แปลว่า “Green Man” ทั้งในภาษากลุ่มเคลติค และภาษาละติน

พฤกษาพักตร์นอกยุโรป

แก้
 
โอซิริสเทพเจ้าแห่งความตาย พระฉวีสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่

ในหนังสือ “A Little Book of The Green Man” และเว็บไซต์ ไมค์ ฮาร์ดิงยกตัวอย่างของพฤกษาพักตร์ในบอร์เนียว, เนปาล และ อินเดีย: พฤกษาพักตร์ปรากฏเป็นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 8 ในวัดเจนในรัฐราชสถาน[13] ฮาร์ดิงตั้งข้อสังเกตต่อไปถึงหัวจากเลบานอนและอิรักอาจจะสร้างมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 2 นอกจากนั้นก็ยังพบพฤกษาพักตร์ของโรมาเนสก์จากคริสต์ศตวรรษที่ 11 ในคริสต์ศาสนสถานของอัศวินเทมพลาร์ในเยรูซาเลม ฮาร์ดิงตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นสัญลักษณ์ที่มีต้นตอมาจากอานาโตเลียและถูกนำเข้ามาในยุโรปโดยช่างสลักหินที่เดินทางเข้ามา นักบุญอิสลาม ทอม ชีแธมผู้เป็นผู้มีความรู้ในเรื่องตำนานของอิสลามกล่าวว่าคิเดอร์ (Al-Khidr) ของลัทธิซูฟี (Sufism) ก็คือพฤกษาพักตร์ ในหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับงานของเฮนรี คอร์บินและอื่นๆ เกี่ยวกับนักบุญอิบน์ อารอบี (Ibn Arabi) ของคริสต์ศตวรรษที่ 12 ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับพฤกษาพักตร์/คิเดอร์ว่าเป็นสื่อระหว่างโลกมนุษย์และโลกวิญญาณ[14]

ในหัวข้อที่คล้ายคลึงกันนักเขียนเกี่ยวกับจิตวิญญาณและสถาปัตยกรรมวิลเลียม แอนเดอร์สันกล่าวว่า:[15]

ตำนานเกี่ยวกับท่าน([คิเดอร์])มีด้วยกันหลายตำนาน [คิเดอร์]ก็เช่นเดียวกับโอซิริสที่เป็นผู้ถูกทรมานและเกิดใหม่ และคำพยากรณ์เชื่อมท่านก็เช่นเดียวกับพฤกษาพักตร์ที่เชื่อมกับวันสิ้นโลก ชื่อของท่านแปลว่า Green One หรือ Verdant One ท่านคือเสียงของแรงบันดาลใจแก่ผู้ที่ต้องการจะเป็นศิลปินหรือผู้ที่เป็นศิลปินผู้มุ่งมั่น ท่านอาจจะมาในรูปของรัศมีสีขาว หรือ เงาวาวบนใบหญ้า แต่โดยทั่วไปแล้วท่านจะมาในรูปของพลังอารมณ์ภายใน สัญญาณการปรากฏของท่านคือการสามารถสร้างงานหรือการเกิดความรู้สึกที่กระตือรือร้นอันไม่เหน็ดเหนื่อยที่เกินกว่าที่มนุษย์ธรรมดาจะสามารถรู้สึกได้ ดังที่กล่าวนี้จึงอาจเป็นได้ว่าท่านความสัมพันธ์คาบวัฒนธรรมต่างๆ, …เหตุผลหนึ่งของความรู้สึกอันกระตือรือร้นของสถาปนิกของยุคกลางในการสร้างงานพฤกษาพักตร์อาจจะเป็นได้ว่าท่านเป็นต้นกำเนิดของแรงบันดาลใจทุกแรง

บทบาทของเทพเจ้าอียิปต์โอซิริสที่เกี่ยวกับเทพแห่งข้าวโพดมักจะเขียนให้มีใบหน้าเป็นสีเขียวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพืช การเกิดใหม่ และ การคืนชีพ ผอบดินทรงโอซิริสปลูกด้วยเมล็ดพืช (“แปลงโอซิริส”) พบในที่เก็บศพของราชอาณาจักรใหม่บางแห่ง ข้าวโพดที่งอกเป็นนัยยะของโอกาสที่จะคืนชีพของผู้ตาย[16]

พระเจ้าองค์อื่นที่เขียนเป็นสีเขียวก็ได้แก่ Amogha-siddhi ของธิเบตหรือ Tlaloc ของเม็กซิโก

ระเบียงภาพ

แก้


อ้างอิง

แก้
  1. Lady Raglan (1939-03-01), "The Green Man in Church Architecture", Folklore, 50 (90990): 45–57{{citation}}: CS1 maint: date and year (ลิงก์)
  2. Harding, Mike (1998). A Little Book Of The Green Man. Aurum Press. p. 38. ISBN 1854105612. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-10. สืบค้นเมื่อ 2009-06-28.
  3. Pesznecker, Susan (2007). Gargoyles: From the Archives of the Grey School of Wizardry. Franklin Lakes NJ: Career Press. pp. 127–128. ISBN 1564149110.
  4. Numa, Guyot Brothers
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 Phyllis Araneo, "Green Man Resurrected: An Examination of the Underlying Meanings and Messages of the Re-Emergence of the Ancient Image of the Green Man in Contemporary, Western, Visual Culture.", Master’s thesis: University of the Sunshine Coast, 2006. Queensland, Australia., คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-04, สืบค้นเมื่อ 2009-06-28
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-24. สืบค้นเมื่อ 2009-06-28.
  7. Siefker, Phyllis (1997). Santa Claus, Last of the Wild Men: The Origins and Evolution of Saint Nicholas, Spanning 50, 000 Years. McFarland & Co Inc. ISBN 0786402466. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |month= ถูกละเว้น (help)
  8. Iceland By Paul Harding, Joseph Bindloss, Graeme Cornwallis Published by Lonely Planet, 2004 ISBN 1-74104-076-0, 9781741040760
  9. http://www.fantompowa.net/Flame/herne_the_hunter.htm
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-10. สืบค้นเมื่อ 2009-06-28.
  11. http://www.fantompowa.net/Flame/readers_comments.htm#Herne%20the%20Hunter
  12. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-14. สืบค้นเมื่อ 2009-06-28.
  13. The Official Mike Harding Web Site
  14. Cheetham, Tom (2004). Green Man, Earth Angel. Albany, NY: State University of New York. ISBN 0791462706.
  15. Anderson, William (1990). Green Man: The Archetype of Our Oneness with the Earth. San Francisco: Harper Collins. ISBN 0062500759.
  16. Routledge Dictionary of Egyptian Gods and Goddesses, George Hart, p119, Routledge, 2005 ISBN 0-415-34495-6

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พฤกษพักตร์