โอไซริส
โอไซริส (อังกฤษ: Osiris; กรีกโบราณ: Ὄσιρις) เป็นเทพอียิปต์ซึ่งมักได้รับการระบุว่า เป็นเทพแห่งชีวิตหลังความตาย เทพแห่งนรก และเทพแห่งวิญญาณ เดิมทีเชื่อกันว่า เป็นบุรุษเพศชาย มีกายสีเขียว มีมัสสุดังฟาโรห์ กายเบื้องล่างพันผ้าห่อศพไว้ ฉลองมงกุฎประดับขนนกกระจอกเทศสองข้าง หัตถ์ทั้งสองถือตะขอกับไม้หวดข้าว
โอไซริส Osiris | ||||
---|---|---|---|---|
มัจจุราช | ||||
มัจจุราชโอไซริสมีกายเขียวเป็นสัญลักษณ์ว่า ผ่านความตายและเกิดใหม่ | ||||
ชื่อในอักษรไฮเออโรกลีฟ |
| |||
ศูนย์กลางของลัทธิ | อะไบดัส (Abydos) | |||
สัญลักษณ์ | ตะขอกับไม้หวดข้าว | |||
ข้อมูลส่วนบุคคล | ||||
คู่ครอง | ไอซิส | |||
บุตร - ธิดา | ฮอรัส | |||
บิดา-มารดา | ||||
พี่น้อง |
|
ถือกันมาระยะหนึ่งว่า โอไซริสเป็นโอรสของเกบ (Geb) เทพผืนดิน กับนัต (Nut) เทพีท้องฟ้า[1] ทั้งเป็นเชษฐภาดาและภัสดาของไอซิส (Isis) มีโอรสด้วยกันหนึ่งองค์เมื่อสิ้นชนม์ไปแล้ว คือ ฮอรัส (Horus)[1] โอไซริสยังเกี่ยวเนื่องกับสมญาที่ว่า "เค็นที-อาเมนทีอู" (Khenti-Amentiu) แปลว่า ที่สุดแห่งชาวตะวันตก ซึ่งหมายถึง การได้ปกครองนรกภูมิ[2] โอไซริสในฐานะมัจจุราชนั้นบางทีได้รับการเรียกขานว่า "เจ้าชีวิต" (king of the living) เพราะชาวอียิปต์โบราณถือว่า วิญญาณที่ได้รับเซ่นสรวงบูชานั้นเป็น "สิ่งมีชีวิต" (living one)[3]
โอไซริสปรากฏเป็นครั้งแรกในช่วงกลางราชวงศ์ที่ห้าแห่งอียิปต์ แต่น่าเชื่อว่า ได้รับการเคารพบูชามาก่อนหน้านั้นแล้ว[4] นอกจากนี้ สมญา "เค็นที-อาเมนทีอู" ยังปรากฏย้อนหลังไปถึงราชวงศ์ที่หนึ่งโดยเป็นสมัญญาสำหรับพระมหากษัตริย์ด้วย เรื่องราวเกี่ยวกับโอไซริสนั้นส่วนใหญ่ได้มาจากการกล่าวถึงในตำราพีระมิด (Pyramid Texts) ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อปลายราชวงศ์ที่ห้า ตลอดจนเอกสารในชั้นหลัง ๆ เช่น ศิลาชาบากา (Shabaka Stone) และคัมภีร์เรื่อง การชิงชัยระหว่างฮอรัสกับเซท (Contending of Horus and Seth) รวมถึงการพรรณนาในงานเขียนของปรัชญาเมธีกรีกหลายคน เช่น พลูตาร์ก (Plutarch)[5] และดีโอโอรัส ซีกูลัส (Diodorus Siculus)[6]
ในนรกภูมิ ถือว่า โอไซริสเป็นตุลาการผู้เปี่ยมเมตตา ทั้งยังทำหน้าที่แทนนรกในการบันดาลให้เกิดสรรพชีวิต รวมถึง การแตกหน่อก่อผลของพืชผัก และการสร้างน้ำท่วมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ริมฝั่งไนล์ นอกจากนี้ โอไซริสยังได้ชื่อว่าเป็น "กามเทพ"[7] "พระผู้ปราศศัตรูและทรงเยาว์วัยตลอดกาล"[8] และ "เจ้าแห่งความสงัด"[9] พระเจ้าแผ่นดินอียิปต์จะทรงเป็นส่วนหนึ่งของโอไซริสเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว เชื่อกันว่า เมื่อสิ้นพระชนม์ โอไซริสจะสถิตอยู่ในพระวิญญาณ และพระวิญญาณที่มีโอไซริสเป็นส่วนหนึ่งนี้จะดำรงอยู่ชั่วกัลปาวสานหลังผ่านพิธีกรรมทางไสยเวทบางประการ ครั้นถึงช่วงอาณาจักรใหม่ ความเชื่อเปลี่ยนไปว่า ใช่แต่พระเจ้าแผ่นดินเท่านั้นที่จะเข้ารวมกับโอไซริสในโลกหลังความตาย บุคคลธรรมดาสามัญทั้งหลายก็ด้วย แต่ต้องผ่านพิธีกรรมทำนองเดียวกัน[10]
โอไซริสได้รับการนับถือเป็นมัจจุราชมาจนศาสนาอียิปต์โบราณระงับไปในช่วงคริสตกาล[11][12]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 Wilkinson, Richard H. (2003). The Complete Gods and Goddesses of Ancient Egypt. London: Thames & Hudson. p. 105. ISBN 0-500-05120-8.
- ↑ "How to Read Egyptian Hieroglyphs", Mark Collier & Bill Manley, British Museum Press, p. 41, 1998, ISBN 0-7141-1910-5
- ↑ "Conceptions of God In Ancient Egypt: The One and the Many", Erik Hornung (translated by John Baines), p. 233, Cornell University Press, 1996, ISBN 0-8014-1223-4
- ↑ Griffiths, John Gwyn (1980). The Origins of Osiris and His Cult. Brill. p. 44
- ↑ "Isis and Osiris", Plutarch, translated by Frank Cole Babbitt, 1936, vol. 5 Loeb Classical Library. Penelope.uchicago.edu
- ↑ "The Historical Library of Diodorus Siculus", vol. 1, translated by G. Booth, 1814. Google Books
- ↑ "The Gods of the Egyptians", E. A. Wallis Budge, p. 259, Dover 1969, org. pub. 1904, ISBN 0-486-22056-7
- ↑ The Oxford Guide: Essential Guide to Egyptian Mythology, Edited by Donald B. Redford, p302-307, Berkley, 2003, ISBN 0-425-19096-X
- ↑ "The Burden of Egypt", J. A. Wilson, p. 302, University of Chicago Press, 4th imp 1963
- ↑ "Man, Myth and Magic", Osiris, vol. 5, p. 2087-2088, S.G.F. Brandon, BPC Publishing, 1971.
- ↑ "Catholic Encyclopedia: Theodosius I". Newadvent.org. 1912-07-01. สืบค้นเมื่อ 2012-05-01.
- ↑ "History of the Later Roman Empire from the Death of Theodosius I. to the Death of Justinian", The Suppression of Paganism – ch22, p371, John Bagnell Bury, Courier Dover Publications, 1958, ISBN 0-486-20399-9