พระเจ้านรสีหบดี

พระเจ้านรสีหบดี (อังกฤษ: Narathihapate; พม่า: နရသီဟပတေ့, nəɹa̰ θìha̰pətḛ; c. 1238–1287) เป็นกษัตริย์พม่าองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์พุกาม ครองราชย์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1254-1287 มีเรื่องโดดเด่นสองประการที่สร้างพระเจ้านรสีหบดีพระองค์นี้เป็นที่จดจำ คือ ความตะกละตะกลามชอบเสวยอาหาร โดยร่ำลือกันว่าต้องมีอาหารหลากหลายถึงสามร้อยชนิดต่อมื้อพระกระยาหาร และอีกประการคือ ความขลาดกลัวต่อการรุกรานของทัพมองโกล จนเป็นกษัตริย์ที่ได้ฉายาว่า "กษัตริย์ขี้ตะกละผู้หนีทัพจีน"

พระเจ้านรสีหบดี
နရသီဟပတေ့
สี่ตู่ที่ 4 แห่งพุกาม
กษัตริย์แห่งพม่า
ครองราชย์6 พฤษภาคม ค.ศ. 1256 – 1 กรกฎาคม ค.ศ.1287
ราชาภิเษกพฤศจิกายน ค.ศ. 1256[1]
ก่อนหน้าพระเจ้าอุซะนา
ต่อไปพระเจ้ากะยอชวาแห่งพุกาม
มุขยมนตรีราซะทินจานแห่งพุกาม (ค.ศ. 1256–57, 1258–60)
Ananda Pyissi (ป. ค.ศ. 1271–87)
ประสูติ23 เมษายน ค.ศ. 1238
วันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน Kason 600 ME
พุกาม
สวรรคต1 กรกฎาคม ค.ศ. 1287 (49 พรรษา)
วันอังคาร แรม 5 ค่ำ เดือนWaso 649 ME
แปร
ชายาYadanabon (1256–62)
Saw Hla Wun[2][3]
Saw Nan
Shin Hpa
Shin Mauk
ชินชเวแห่งพุกาม
Saw Lon
พระราชบุตรYazathu
Uzana[3]
Pwa Saw Shin
สีหตูแห่งแปร
พระเจ้ากะยอชวาแห่งพุกาม
มิสออู
สีตูแห่งปีนยะ
พระนามครองราชย์
ศรีตรีภูวนาทิตยบวรธัมมราชา
ราชวงศ์พุกาม
พระราชบิดาพระเจ้าอุซะนา
พระราชมารดาSu Le Htone
ศาสนาพุทธเถรวาท

พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยถูกปลงพระชนม์โดยการวางยาพิษจากราชโอรสพระองค์รองนาม สีหตู (พม่า: သီဟသူ) ซึ่งขณะนั้นได้ครองเมืองแปร จากนั้นราชวงศ์พุกามก็ได้ล่มสลายลงพร้อมกับชัยชนะของมองโกลที่มีอำนาจเหนือภูมิภาคตอนบนของพม่า

กว่า 250 ปี ที่ราชวงศ์พุกามปกครองมีอำนาจในพื้นที่ลุ่มน้ำอิรวดี ผืนแผ่นดินอาณาจักรได้กลับไปแตกแยกเป็นแคว้นเล็กเมืองน้อยอีกครั้ง สภาพสุญญากาศทางการปกครอง สภาวะไร้ผู้นำได้ดำเนินต่อไปอีกกว่า 250 ปี จนกระทั่งการขึ้นมาของราชวงศ์ตองอูที่ได้รวบรวมอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้งในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16

รัชกาล แก้

พระเจ้านรสีหบดีเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าอุซะนาและพระนางอะซอหลังการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอุซะนาพระราชบิดาจากอุบัติเหตุในการล่าสัตว์เมื่อปี ค.ศ.1254 พระเจ้านรสีหบดีก็ได้ครองราชบัลลังก์พุกามโดยการแย่งชิงจากพระเชษฐาด้วยความช่วยเหลือบงการของมหาเสนาบดีราซะทินจาน ผู้ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเชิดกษัตริย์องค์ใหม่ที่มาจากเจ้าชายอ่อนพระชันษานี้ได้ แต่กษัตริย์หนุ่มได้แปรเปลี่ยนท่าทีที่หัวอ่อนเป็นกระด้างกระเดื่อง พระองค์สั่งเนรเทศราซะทินจานแทบจะทันทีที่ครองราชย์ แต่ต่อมาไม่นานพระองค์ก็จำพระทัยเรียกกลับมาใช้งานเพื่อปราบกบฏในแคว้นยะไข่และแถบตะนาวศรี ราซะทินจานปราบกบฏสำเร็จแต่ก็มิได้หวนกลับคืนมาราซะทินจานเสียชีวิตระหว่างเดินทัพกลับ

พระเจ้านรสีหบดีเป็นกษัตริย์ผู้ไร้ความสามารถอย่างสมบูรณ์แบบไม่ว่าจะเรื่องการปกครองบริหารภายในราชอาณาจักรหรือกิจการกับต่างชาติเฉกเช่นพระราชบิดาและพระอัยกาบุพกษัตริย์ทั้งสองก่อนหน้าพระองค์ พระองค์ล้มเหลวในการจัดการพระราชทรัพย์และบริหารท้องพระคลังซึ่งร่อยหรอลงทุกปีๆ สืบเนื่องมาจากการยกเว้นภาษีที่ดินให้แก่ธรณีสงฆ์ นอกจากนี้เมื่อเปรียบกับพระอัยกา คือ พระเจ้าจะซวา ที่มักโปรดสร้างพระเจดีย์ขนาดเล็กมากกว่าที่จะบังคับเกณฑ์แรงงานมากมายแล้ว พระเจ้านรสีหบดีกลับมักโปรดที่จะสร้างพระเจดีย์อย่างหรูหราฟุ่มเฟือย เช่น มีนกะลาเซดี ที่บังคับเกณฑ์แรงงานจำนวนมาก จนผู้คนต่างก่นด่าสาปแช่ง โดยมีเสียงร่ำลือว่า "วันที่เจดีย์สร้างสำเร็จสิ้นนั้น จักเป็นวันถึงฆาตของกษัตริย์"

แต่เงาทมิฬที่แท้จริงของราชวงศ์พุกามและพระเจ้านรสีหบดีนั้นมิใช่เงาของเจดีย์ แต่คือเงาของผืนธงกองทัพมองโกลจากทางเหนือ ในช่วงเวลานั้นทัพมองโกลได้เข้ายึดมณฑลยูนนานได้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1253 เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1271 แม่ทัพเขตยูนนานภายใต้การนำของกุบไลข่านจักรพรรดิมองโกลในขณะนั้นได้ส่งทูตมาเจรจาเรียกร้องเครื่องบรรณาการกับพระเจ้านรสีหบดี แต่พระองค์ปฏิเสธ แม้ทางมองโกลจะส่งทูตมาอีกครั้งในปี ค.ศ. 1273 พระองค์ก็ยังยืนกรานปฏิเสธพร้อมกับสั่งประหารทูตมองโกลผู้นั้นเป็นเครื่องยืนยัน

ปี ค.ศ. 1277 ทัพมองโกลได้เริ่มบุกอาณาจักรพุกามเป็นครั้งแรก ฝ่ายพุกามได้พ่ายแพ้อย่างราบคาบในยุทธการที่งาสะอองยาน สงครามได้ดำเนินต่อไปอีกหลายปี แม้ในปี ค.ศ. 1284 จะมีการพยายามเจรจาทางการทูตจากฝ่ายพุกามโดยส่งราชทูตทิศาปาโมกขะ ไปยังราชสำนักมองโกลของกุบไลข่านก็ตาม ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด เมื่อล่วงเข้าปี ค.ศ. 1287 กองทัพมองโกลภายใต้การนำโดยพระนัดดาของกุบไลข่าน บุกตะลุยยึดครองทั้งหมดของใจกลางอาณาจักรพุกาม พระเจ้านรสีหบดีเสด็จลี้ภัยไปทางใต้สู่เมืองแปรที่มีราชโอรสพระองค์รอง สีหตู ปกครองอยู่ แต่พระองค์เหลือจะคาดคิดได้ว่า สีหตูได้จับกุมตัวพระองค์ไว้และถวายโอสถพิษให้ เพื่อที่จะมิต้องหลั่งพระโลหิตถึงธรณีด้วยคมดาบ มีคำร่ำลือกันว่า คำอธิษฐานสุดท้ายของพระองค์คือ "เกิดชาติหน้าฉันใด ไม่ขอมีบุตรชายอีก" จากนั้นเสวยโอสถพิษและสวรรคต

อ้างอิง แก้

  1. Than Tun (1964): 135
  2. Pe Maung Tin and Luce (1960): 158–179
  3. 3.0 3.1 Hmannan Vol. 1 2003: 358
ก่อนหน้า พระเจ้านรสีหบดี ถัดไป
พระเจ้าอุซะนา   พระมหากษัตริย์พม่า
(อาณาจักรพม่ายุคที่ 1)

(พ.ศ. 1799 – 1830)
  ราชวงศ์ตองอู