พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ นามเดิม จันทร์ ฉายา สิริจนฺโท เป็นพระภิกษุฝ่ายเถรวาท คณะธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี อดีตเจ้าคณะใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้าคณะมณฑลอีสาน มณฑลจันทบุรี มณฑลราชบุรี และมณฑลกรุงเทพ อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ และวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาสมัยใหม่ ทั้งในฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาสในภาคอีสาน ท่านเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนอุบลวิทยาคมที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร จังหวัดอุบลราชธานี และเป็นผู้สอนธรรมะให้แก่พระเถระองค์สำคัญในธรรมยุติกนิกายหลายรูปรวมถึงพระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่แห่งพระกรรมฐานสายวัดป่าด้วย

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์

(จันทร์ สิริจนฺโท)
ส่วนบุคคล
เกิด20 มีนาคม พ.ศ. 2400 (75 ปี 121 วัน ปี)
มรณภาพ19 กรกฎาคม พ.ศ. 2475
นิกายธรรมยุติกนิกาย
การศึกษาเปรียญธรรม 4 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
อุปสมบท20 เมษายน พ.ศ. 2420
พรรษา55
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุปัฏนารามวรวิหาร
เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร
เจ้าคณะใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์
เจ้าคณะมณฑลอีสาน
เจ้าคณะมณฑลจันทบุรี
เจ้าคณะมณฑลราชบุรี
เจ้าคณะมณฑลกรุงเทพ
เจ้าคณะรองฝ่ายอรัญญวาสี

ประวัติ แก้

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ มีนามเดิมว่าจันทร์ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2399 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2400) ตรงกับวันแรม 10 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง เป็นบุตรคนโตของหลวงสุโภร์ประการ (สอน) กรมการจังหวัดอุบลราชธานี[1] กับนางแก้ว เมื่ออายุย่าง 13 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในเดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2411 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2412) ณวัดบ้านหนองไหล เจ้าอธิการโสดาเป็นพระอุปัชฌาย์ ถึงเดือน 4 จึงย้ายไปอยู่วัดศรีทอง (ปัจจุบันคือวัดศรีอุบลรัตนาราม) เพื่อศึกษากับพระอาจารย์ม้าว เทวธมฺมี จนอายุย่าง 19 ปี ก็จำเป็นต้องลาสิกขาเพื่อตามไปไถ่ตัวบิดาที่ถูกเกณฑ์ไปปราบทัพฮ่อ

ท่านได้อยู่ช่วยงานมารดาบิดาอยู่ 3 ปี พระอาจารย์ม้าวก็ให้คนมาตามไปบวชอีกครั้ง ท่านยินยอม จึงได้อุปสมบทเมื่อวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2420 ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีฉลู พระอาจารย์ม้าวเป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการสีโห วัดไชยมงคล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ บวชแล้วจำพรรษาที่วัดไชยมงคลเพื่อช่วยงานของพระกรรมวาจาจารย์ เฉพาะเวลาเรียนมูลกัจจายน์จึงเดินมาเรียนที่วัดศรีทอง เรียนได้ 2 ปี พระอาจารย์ม้าวอาพาธหนักจนไม่สามารถสอนได้ จึงให้ท่านไปศึกษาต่อที่กรุงเทพมหานคร

เมื่อถึงกรุงเทพฯ พระอาจารย์อ่อนซึ่งเป็นศิษย์พี่ได้นำท่านไปฝากศึกษาพระปริยัติธรรมกับพระปลัดผา วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อพระอริยมุนี (เอม อายุวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์ มรณภาพ พระปลัดผาได้พาท่านไปฝากตัวศิษย์ของพระมหาอ่อน อหึสโก วัดบุปผาราม จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ขณะบวชได้ 9 พรรษา ท่านตั้งใจว่าตั้งแต่พรรษา 10 เป็นต้นไปจะมุ่งด้านวิปัสสนาธุระแทน ในพรรษาที่ 10 นั้น ท่านจึงกลับไปอยู่วัดศรีทองเพื่อปรนนิบัติและฝึกปฏิบัติธรรมกับพระอาจาร์ม้าวต่อ

พ.ศ. 2431 พระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) และเจ้ายุติธรรมธร (คำสุก ณ จำปาศักดิ์) ร่วมกันสร้างวัดมหามาตยารามขึ้นที่นครจำปาศักดิ์ขึ้นถวายคณะสงฆ์ธรรมยุต พระอาจารย์ม้าวจึงมอบหมายให้ท่านไปเป็นเจ้าอาวาส และได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่ พระครูวิจิตรธรรมภาณี เจ้าคณะใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2433 แล้วกลับไปปกครองคณะสงฆ์เมืองจำปาศักดิ์

เกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทำให้สยามเสียดินแดนลาวแก่สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ท่านพ้นจากตำแหน่งเจ้าคณะเมืองจำปาศักดิ์ จึงย้ายมาอยู่วัดวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ต่อมาท่านได้นำคณะศิษย์มาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดพิชยญาติการามวรวิหาร อยู่ได้ 1 พรรษา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมอบหมายให้ไปอยู่วัดเทพศิรินทร์เพื่อช่วยงานหม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตร และมีรับสั่งให้ท่านเข้าสอบอีกครั้งในปี พ.ศ. 2437 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค[2] แล้วได้รับพระบรมราชานุญาตให้ออกไปจัดการศึกษาภาษาไทยและอักษรไทยที่เมืองอุบลราชธานี

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2452 ได้รับพระราชทานอาราธนาบัตร์สถาปนาเป็นเจ้าคณะมณฑลราชบุรี[3]

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ อาพาธด้วยโรคชรา ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 สิริอายุได้ 75 ปี 121 วัน ได้รับพระราชทานไตรแพรครอง 1 ไตร โกศโถและชั้นรอง 2 ชั้น ฉัตรเบญจาตั้ง 4 คันประกอบศพเป็นเกียรติยศ[4] ได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ศกนั้น ณ วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร[5]

ลำดับสมณศักดิ์ แก้

 
อนุสาวรีย์พระอุบาลีคุณปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) สถิตอยู่ภายในมณฑปริมทุ่งศรีเมืองฝั่งทิศใต้ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

อ้างอิง แก้

  • พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท). "อตฺตปวตฺติ (อัตประวัติ)". ประตูสู่ธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-07. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  1. สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. หน้า 244-6. ISBN 974-417-530-3
  2. ราชกิจจานุเบกษา, จำนวนพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานพัดเปรียญ ปเรียญ ๗ ประโยค, เล่ม 13, ตอน 27, 4 ตุลาคม ร.ศ. 115, หน้า 192
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานอาราธนาบัตร สถาปนาเจ้าคณะมณฑล, เล่ม 26, ตอน 0 ง, 4 กรกฎาคม ร.ศ. 128, หน้า 612
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวถึงมรณภาพ, เล่ม 49, ตอน ง, 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2475, หน้า 1470-1
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเพลิงศพ, เล่ม 49, ตอน ง, 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475, หน้า 2764
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 7, ตอน 16, 20 กรกฎาคม ร.ศ. 109, หน้า 149-150
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์ ราชาคณะ พระครู และเปรียญ, เล่ม 16, ตอน 34, 19 พฤษภาคม ร.ศ. 118, หน้า 487
  8. ราชกิจจานุเบกษา, รายนามพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานยศสมณะศักดิ์, เล่ม 26, ตอน 0 ง, 16 พฤษภาคม ร.ศ. 128, หน้า 215
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรพระสงฆ์, เล่ม 31, ตอน 0 ง, 11 พฤศจิกายน 2457, หน้า 2843
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคืนยศพระเทพโมลี วัดบรมนิวาศ, เล่ม 32, ตอน 0 ก, 16 มกราคม 2458, หน้า 418-9
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรพระสงฆ์, เล่ม 33, ตอน ง, 7 มกราคม 2459, หน้า 2752
  12. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณะศักดิ์, เล่ม 40, ตอน 0 ง, 25 พฤศจิกายน 2466, หน้า 2595-6
  13. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาเลื่อนและตั้งสมณะศักดิ์, เล่ม 42, ตอน 0 ก, 15 พฤศจิกายน 2468, หน้า 209

แหล่งข้อมูลอื่น แก้