พระธรรมธีรราชมหามุนี

พระธรรมธีรราชมหามุนี เป็นราชทินนามสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นธรรมรูปหนึ่ง ปัจจุบันพระราชทานเฉพาะแก่พระภิกษุฝ่ายมหานิกาย มีพัดยศเฉพาะแถบสีดำ

พระธรรมธีรราชมหามุนี
ผู้ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบัน
ว่าง
ตั้งแต่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2564
การเรียกขานท่านเจ้าคุณ
จวนพระอารามหลวง หรือวัดราษฎร์
ผู้แต่งตั้งพระมหากษัตริย์ไทย
วาระตลอดชีพ หรือ ได้รับสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง
ผู้ประเดิมตำแหน่งพระธรรมธิราราชมหามุนี (ชื่น) ว่าที่พระพนรัตน
สถาปนาพ.ศ. 2325

ประวัติ

แก้

ในทำเนียบ "ตำแหน่งพระราชาคณะในกรุงนอกกรุง ครั้งกรุงเก่า" ปรากฏชื่อพระครูสุธรรมธิราราชมหามุนี เป็นพระครูเจ้าคณะเมืองระยอง ขึ้นกับในคณะคามวาสีฝ่ายขวา[1] ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ลดสมณศักดิ์สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) ลงเป็นพระธรรมธิราราชมหามุนีว่าที่พระพนรัตน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระจัน ที่เพิ่งถูกถอดจากสมณศักดิ์พระเทพโมลี กลับเป็นพระราชาคณะเสมอชั้นเทพที่พระธรรมธีระราชมหามุนี[2] ถึง พ.ศ. 2495 พระเทพเมธี (ธีร์ ปุณฺณโก) จึงได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมธีรราชมหามุนีเป็นรูปแรก

ในบรรดาพระสงฆ์ทั้งหมดที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์นี้ พระสงฆ์รูปที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.9) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระรูปแรกของสำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยท่านได้นำวิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน พองหนอ-ยุบหนอ จากการเดินทางไปศึกษาดูงานและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ณ ประเทศพม่า มาสอนในสำนักวิปัสสนากรรมฐานของวัดมหาธาตุฯ จนทำให้มีผู้ที่สนใจฝึกปฏิบัติเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ท่านยังเป็นพระอาจารย์ถวายการสอนวิปัสสนากรรมฐานแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระวิปัสสนาจารย์ผู้เลื่องชื่อในด้านวิชชาธรรมกาย เมื่อปี พ.ศ. 2498 ซึ่งทั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และหลวงพ่อสด ได้รับผลจากการปฏิบัติเป็นที่น่าพอพระทัยและน่าพอใจ โดยเฉพาะหลวงพ่อสด ท่านได้มอบภาพถ่ายของท่านให้กับสำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดมหาธาตุฯ พร้อมกับเขียนรับรองผลการปฏิบัติใต้ภาพถ่าย โดยระบุว่า การปฏิบัติแบบนี้ ถูกต้องร่องรอยในมหาสติปัฏฐานสูตรทุกประการ แต่เป็นที่น่าเสียดายและเศร้าสลดใจยิ่งนัก เนื่องจากพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.9) หลังจากได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เพียงแค่ 6 เดือน ก็ได้มรณภาพลงเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2531 นับเป็นพระสงฆ์ที่ดำรงสมณศักดิ์นี้สั้นที่สุด

รายนาม

แก้

นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีพระเถระได้รับสมณศักดิ์ที่พระธรรมธีรราชมหามุนีรวมทั้งสิ้น 8 รูป ดังนี้

ลำดับที่ รายนาม วัด ดำรงสมณศักดิ์ สังกัดคณะสงฆ์ สมณศักดิ์สุดท้าย
1 พระธรรมธิราราชมหามุนี (ชื่น) ว่าที่พระพนรัตน วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร พ.ศ. 2325–2330 มหานิกาย พระธรรมไตรโลก
2 พระธรรมธีระราชมหามุนี (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร พ.ศ. 2459–2466 ธรรมยุติกนิกาย พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
3 พระธรรมธีรราชมหามุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร พ.ศ. 2495–2506 มหานิกาย สมเด็จพระธีรญาณมุนี
4 พระธรรมธีรราชมหามุนี (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พ.ศ. 2516–2530 มหานิกาย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
5 พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร พ.ศ. 2530–2531 มหานิกาย ดำรงสมณศักดิ์จนกระทั่งมรณภาพ
6 พระธรรมธีรราชมหามุนี (วิลาศ ญาณวโร) วัดยานนาวา พ.ศ. 2532–2537 มหานิกาย พระพรหมโมลี
7 พระธรรมธีรราชมหามุนี (วิเชียร อโนมคุโณ) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พ.ศ. 2541–2549 มหานิกาย พระวิสุทธิวงศาจารย์
8 พระธรรมธีรราชมหามุนี (เที่ยง อคฺคธมฺโม) วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พ.ศ. 2551–2564 มหานิกาย ดำรงสมณศักดิ์จนกระทั่งมรณภาพ

อ้างอิง

แก้
  1. สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. หน้า 291. ISBN 974-417-530-3
  2. เรื่องเดียวกัน, หน้า 244