พระธรรมไตรโลก (ชื่น)
พระธรรมไตรโลก นามเดิม ชื่น เป็นพระภิกษุเถรวาทชาวไทย อดีตเจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร และอดีตสมเด็จพระสังฆราชไทยพระองค์ที่ 3 แห่งกรุงธนบุรี
พระธรรมไตรโลก (ชื่น ) | |
---|---|
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร |
ตำแหน่ง | อดีตเจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร อดีตสมเด็จพระสังฆราช |
ประวัติ
แก้พระธรรมไตรโลก มีนามเดิมว่า ชื่น เป็นชาวเมืองแกลง มีสมณศักดิ์เป็นพระครูสุธรรมธีรราชมหามุนี เจ้าคณะเมืองระยอง ภายหลังจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสถาปนากรุงธนบุรี จึงได้ย้ายมาจำพรรษาในกรุงธนบุรี ดำรงสมณศักดิ์ที่พระโพธิวงศ์ เป็นเจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช แทนสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ที่ถูกถอดจากสมณศักดิ์
สมเด็จพระสังฆราชชื่น เป็นพระสงฆ์ที่รอบรู้และแตกฉานในพระไตรปิฎกระดับดีเยี่ยม แม้ภายหลังจะถูกปลดออกจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ก็ยังมีรายชื่อเป็นผู้ชำระพระอภิธรรมปิฎกในส่วนปรมัตถ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และยังได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามจนถึงแก่มรณภาพ
สมเด็จพระสังฆราช
แก้พ.ศ. 2324 อันเป็นปีสุดท้ายแห่งรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ได้ถูกถอดจากตำแหน่งเนื่องจากได้ถวายวิสัชนาร่วมกับ พระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม) และพระพิมลธรรม วัดโพธาราม เรื่องพระสงฆ์ปุถุชนไม่ควรไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นอริยบุคคล เนื่องจากคฤหัสถ์เป็นหินเพศต่ำ พระสงฆ์เป็นอุดมเพศที่สูง เพราะทรงผ้ากาสาวพัสตร์และพระจาตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ดังความว่า
“ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดี แต่เป็นหินเพศต่ำ อันพระสงฆ์ถึงเป็นปุถุชน ก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์ และพระจตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์ อันเป็นพระโสดานั้นก็บ่มิควร”
ข้อวิสัชนาดังกล่าวนี้ไม่ต้องพระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์จึงให้ถอดเสียจากตำแหน่งพระสังฆราช ลงมาเป็นพระอนุจร (พระธรรมดา) แล้วทรงตั้งพระโพธิวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช และตั้งพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระวันรัต
เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีเมื่อ พ.ศ. 2325 แล้ว ก็โปรดให้ถอดยศสมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) วัดหงส์ฯ ลงเป็นพระธรรมธิราราชมหามุนี ทั้งนี้ทรงมีพระปรารภว่า "มีความรู้มาก เสียดายแต่ว่ามีสันดานสอพลอ" จากนั้นก็โปรดสถาปนาพระอาจารย์ศรี วัดระฆังโฆสิตาราม ขึ้นดำรงสมณฐานันดรศักดิ์ที่ "สมเด็จพระสังฆราช" อีกคำรบหนึ่ง จึงเป็นว่า พระสังฆราช (ศรี) วัดระฆัง ได้เป็นสังฆราชสองหน พระพุทธาจารย์และพระพิมลธรรมนั้น ก็ทรงโปรดให้คืนครองสมณศักดิ์และตำแหน่งดังเดิม และโปรดให้กลับครองวัดเก่าที่เคยสถิต[1]
สมณศักดิ์
แก้- "ไม่ปรากฏ" ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูสุธรรมธีรราชมหามุนี[2]
- พ.ศ. 2311 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระโพธิวงศ์
- พ.ศ. 2324 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 3 แห่งกรุงธนบุรี
- พ.ศ. 2325 ได้รับพระราชทานลดสมณศักดิ์ลงเป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมธิราราชมหามุนี ว่าที่พระพนรัตน
- พ.ศ. 2330 ได้รับพระราชทานลดสมณศักดิ์ลงเป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมไตรโลก
อ้างอิง
แก้- ↑ "คณะสงฆ์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-13. สืบค้นเมื่อ 2017-04-08.
- ↑ "ประวัติปกครองคณะสงฆ์ไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-20. สืบค้นเมื่อ 2017-04-08.
ก่อนหน้า | พระธรรมไตรโลก (ชื่น) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) (สมัยกรุงธนบุรี) |
สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2324 — พ.ศ. 2325) |
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) (สมัยกรุงรัตนโกสินทร์) |