พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)

มหาอำมาตย์โท พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) (จีน: 許心美; พินอิน: Xū Xīnměi "ซวี ซินเม่ย์"; เป่อ่วยยี: Khó͘ Sim-bí "คอ ซิมบี๊", 8 เมษายน พ.ศ. 2400 – 10 เมษายน พ.ศ. 2456) เป็นข้าราชการชาวไทย ระหว่างเป็นเจ้าเมืองตรัง ได้พัฒนาเมืองให้เจริญก้าวหน้าจนกลายเป็นเมืองเกษตรกรรม จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต และเป็นผู้ได้รับพระราชทานนามสกุล ณ ระนอง

มหาอำมาตย์โท

พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี
(คอซิมบี๊ ณ ระนอง)

เกิด8 เมษายน พ.ศ. 2400
เมืองระนอง ประเทศสยาม
ถึงแก่กรรม10 เมษายน พ.ศ. 2456 (56 ปี)
บ้านจักรพงษ์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย
ภรรยาเอกLim Kim Teen
บุตรหลวงบริรักษ์โลหวิสัย (คอยู่จ๋าย)
บิดามารดา

ประวัติ

แก้

คอซิมบี๊ ณ ระนอง เกิดที่ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดระนองเมื่อวันพุธ ขึ้น 14 เดือน 5 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2400 เป็นบุตรคนสุดท้องของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง ณ ระนอง) ซึ่งเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 3 และนางกิม ณ ระนอง ชื่อ "ซิมบี๊" เป็นภาษาฮกเกี้ยน แปลว่า "ผู้มีจิตใจดีงาม" เมื่ออายุได้ 9 ปี ได้ติดตามบิดาเดินทางกลับไปประเทศจีนและอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 2 ปี ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และได้ดูแลกิจการแทนบิดา ทั้ง ๆ ที่มิได้เรียนหนังสือ มีความรู้หนังสือเพียงแค่ลงลายมือชื่อตนได้เท่านั้น แต่มีความสามารถพูดได้ถึง 9 ภาษา บิดาจึงหวังจะให้สืบทอดกิจการการค้าแทนตน มิได้ประสงค์จะให้รับราชการเลย

บิดาถึงแก่กรรมขณะคอซิมบี๊อายุได้ 25 ปี พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก้อง ณ ระนอง) ผู้เป็นพี่ชาย (ต่อมามีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี สมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร) ได้นำเข้ารับราชการเป็นครั้งแรก โดยเข้าเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงบริรักษ์โลหวิสัย ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองระนอง ต่อมา ได้เลื่อนเป็นผู้ว่าราชการเมืองกระบุรี บรรดาศักดิ์ พระอัษฎงคตทิศรักษา ถือศักดินา ๓๐๐๐ เมื่อวันอังคาร เดือน 12 ขึ้น 11 ค่ำ ปีระกาสัปตศก จุลศักราช 1247 ตรงกับปี 2428[1]แล้วได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ถือศักดินา ๓๐๐๐ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2433 [2] ทั้งนี้ เนื่องจากราษฎรชาวตรังได้ยื่นฎีกาถวายความว่า เจ้าเมืองตรังคนก่อนคือ พระยาตรังคภูมิภาบาล (เอี่ยม ณ นคร) กดขี่ข่มเหงราษฎรทั้งที่สภาพเศรษฐกิจไม่ดี

พระยารัษฎานุประดิษฐ์ เมื่อรับตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง ได้พัฒนาปรับปรุงสภาพหลายอย่างในเมืองตรังให้เจริญรุ่งเรืองหลายอย่าง ด้วยกุศโลบาลส่วนตัวที่แยบยล เช่น การตัดถนนที่ไม่มีผู้ใดเหมือน รวมทั้งส่งเสริมชาวบ้านให้กระทำการเกษตร เช่น ให้เลี้ยงไก่โดยบอกว่า เจ้าเมืองต้องการไข่ไก่ ให้เอากาฝากออกจากต้นไม้ โดยบอกว่าเจ้าเมืองต้องการเอาไปทำยา ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟ และยางพารา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการนำยางพารามาปลูกที่ภาคใต้ จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเช่นในปัจจุบัน

ในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย ได้จัดตั้งกองโปลิศภูธรขึ้นแล้วซื้อเรือกลไฟไว้เป็นพาหนะตรวจลาดตระเวน บังคับให้ทุกบ้านเรือนต้องมีเกราะตีเตือนภัยไว้หน้าบ้าน หากบ้านใดได้ยินเสียงเกราะแล้วไม่ตีรับจะมีโทษ เป็นต้น

พระยารัษฎานุประดิษฐ์มีวิธีการบริหารปกครองแบบไม่มีใครเหมือน โดยใช้หลักเมตตาเหมือนพ่อที่มีต่อลูก เช่น ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามนโยบายก็จะถูกลงโทษอย่างหนัก แต่การลงโทษนั้นให้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่คนผู้นั้น เช่น ให้ไปทำนา เป็นต้น ชาวบ้านถือมีดพร้าผ่านมาก็จะขอดู ถ้าพบว่าขึ้นสนิมก็จะดุกล่าวตักเตือน แม้แต่ข้าราชการก็อาจถูกตีศีรษะได้ต่อหน้าธารกำนัลถ้าทำผิด หรือแม้กระทั่งดูแลให้ชาวบ้านสวมเสื้อเวลาออกจากบ้าน

พระยารัษฎานุประดิษฐ์ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรังนาน 11 ปี ในปี พ.ศ. 2444 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต รับผิดชอบดูแลหัวเมืองตะวันตก ตั้งแต่ภูเก็ต ตรัง กระบี่ พังงา ตะกั่วป่า ระนอง และสตูล มีผลงานเป็นที่เลื่องลือไปถึงหัวเมืองมลายูและปีนัง จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี แต่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ได้ปฏิเสธ จึงได้ทรงจะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ซึ่งพระยารัษฎาฯ ก็ได้ปฏิเสธไปอีกอย่างนิ่มนวล โดยขอเป็นเพียงสมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต เช่นเดิมต่อไป จากนั้น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสายสะพายช้างเผือกชั้นที่ 1 และทรงถือว่า พระยารัษฎาฯ เป็นพระสหาย สามารถห้อยกระบี่เข้าเฝ้าฯ โดยพระบรมราชานุญาตพิเศษ

พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2456[3] ณ บ้านจักรพงษ์ ปีนัง ด้วยสาเหตุเจ็บป่วยจากการถูกหมอจันทร์ หรือ นายเรือเอก จันทร์ บริบาล[4] หมอทหารเรือคนสนิทยิงเข้าที่แขน[5]: 44  พร้อมกับพระสถลสถานพิทักษ์ (คอยู่เกียด ณ ระนอง) หลานชายซึ่งถูกยิงเข้าที่ขาด้วยปืนบราวนิง[5]: 44  ที่ท่าเทียบเรือกันตัง เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2456 สิริอายุได้ 56 ปี นายแพทย์เยซี แบทซ์ เบิกความยืนยันว่า พระยารัษฎานุประดิษฐ์ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคประจำตัว ไม่ใช่เหตุที่ถูกกระสุนปืน แต่เหตุที่ถูกกระสุนปืนนั้นเป็นต้นเหตุให้ถึงแก่อนิจกรรมเร็วกว่าโรคที่เป็นอยู่[5]: 45  ส่วนหมอจันทร์ถูกศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๖ (พ.ศ. ๒๔๕๗) ฐานฆ่าพระสถลสถานพิทักษ์ (คอยู่เกียด ณ ระนอง) โดยเจตนา[5]: 45  เรื่องเล่าเหตุการณ์ฆาตกรรมของหมอจันทร์มีบันทึกอยู่ในวรรณกรรมชื่อ บทแหล่หมอจันทร์ หรือ แหล่เทศน์หมอจันทร์[4]

ถึงแก่อนิจกรรม

แก้

เมื่ออนิจกรรม หลวงบริรักษ์โลหวิสัย (คอยู่จ๋าย) บุตรชายได้รับหนังสือแสดงความเสียใจจากบุคคลต่าง ๆ รวมถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชโทรเลขจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีใจความว่า

เรามีความเศร้าสลดอย่างยิ่งในอนิจกรรมของบิดาเจ้า ผู้ซึ่งเรายกย่องอย่างสูง ไม่เฉพาะที่เป็นข้าราชการเท่านั้น แต่ยังถือว่าเป็นเพื่อนผู้หนึ่ง ซึ่งเราเศร้าสลดที่ต้องสูญเสียไปเช่นนั้น จงรับความเศร้าสลดและเห็นใจอย่างแท้จริงจากเราด้วย

ในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2456 หนังสือพิมพ์ สเตรตส์ เอโก และหนังสือพิมพ์ปีนังกาเซ็ต ที่ตีพิมพ์ในปีนังก็ได้ลงบทความไว้อาลัยต่อการจากไปของพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี พร้อมทั้งยกย่องว่าเป็นสมุหเทศาภิบาลที่ยอดเยี่ยมมมาก ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนทั้งในอดีตและอนาคต

วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดฯ ให้พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) รองเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และคณะบุคคลเชิญพวงมาลา เครื่องขมาศพ และเครื่องเกียรติยศ ไปพระราชทานศพพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ในการฝังศพที่จัดขึ้นที่เมืองระนอง ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2456[6]

ปัจจุบัน อนุสาวรีย์ของพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี ตั้งอยู่ที่สวนสาธารณะเทศบาลนครตรัง ห่างจากใจกลางเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร และอยู่บนเขารัง จังหวัดภูเก็ต

สมัญญานาม

แก้

พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งยางพาราไทย[7]: 347  ซึ่งเขากับพระสถลสถานพิทักษ์ (คอยู่เคียด ณ ระนอง) หลานชาย เป็นผู้นำเมล็ดยางพารามาปลูกในประเทศไทยเป็นคนแรก[8]: 72  โดยลอบนำเมล็ดยางจากหัวเมืองมลายู (ภายใต้การปกครองของอาณานิคมอังกฤษ) นำมาห่อสำลีชุบน้ำบรรจุประป๋องขนมแคร็กเกอร์ลงเรือกลับเมืองตรัง[8]: 72 

เมื่อ พ.ศ. 2547 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอให้วันที่ 10 เมษายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันถึงแก่อนิจกรรมของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็น วันยางพาราแห่งชาติ ให้ถือเป็นวันสำคัญแห่งชาติของทุกปีเพื่อเป็นอนุสรณ์[9]: 322 

รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ได้แต่งบทร้อยกรองเรื่อง ใครนำยางพารามาสู่ถิ่น? เพื่อสดุดีบิดาแห่งยางพาราของประเทศไทย[8]: 80 

ตัวอย่างคำประพันธ์ (บางส่วน)

๏ ใครนำยางพารามาสู่ถิ่น บุกเบิกดินแดนตรังสะพรั่งผล
สารน้ำยางยังไหลให้ปวงชน เล่ห์เลือดข้นคนตรังหวังเรืองรอง
ใครปลุกใจชาวตรังเหมือนดังพ่อ ที่เกื้อก่ออารยธรรมนำสนอง
ทุกอาชีพทุกด้านการปกครอง เด่นลำยองผลสถิตเป็นนิจมา
๏ ท่านเป็นใครชาวตรังเรายังซึ้ง ท่านเป็นถึง "สมุหเทศาฯ"
ท่านมียศสูงขั้นชั้นพระยา "รัษฎามหิศรฯ" ขจรนาม
อนุสาวรีย์มิ่งขวัญเราวันนี้ เด่นคนดีศรีตรังคนยังขาม
จากคนจริงทําจริงสิ่งงดงาม เราควรตามเทิดตามกตัญญู ฯ
รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์

บรรดาศักดิ์

แก้
  • มหาดเล็ก ในรัชกาลที่ 5[10]: 210 
  • หลวงบริรักษ์โลหวิสัย (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) ผู้ช่วยราชการเมืองระนอง ศักดินา 500[11]: 62 
  • พระอัษฎงคตทิศรักษา (พระกระบุรี)[10]: 210 [12]: 597  ผู้ว่าราชการเมืองกระบุรี ศักดินา 3000[11]: 149 
  • มหาอำมาตย์โท พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต[10]: 210  ศักดินา 3000

นามสกุล ณ ระนอง

แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

มรดก

แก้
  • อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) จังหวัดตรัง (เดิมเป็นที่ตั้งตำหนักผ่อนกาย)[19]: 83 
  • หอเกียรติยศ ๑๐๐ ปี พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) สวนสาธารณะเขารัง จังหวัดภูเก็ต[20]
  • พิพิธภัณฑ์บ้านพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) หรือ ควนรัษฎา[19]: 83 
  • ถนนคอซิมบี้ (Khaw Sim Bee Rd.) สี่แยกเขารัง ต. รัษฎา อ.เมือง จังหวัดภูเก็ต[21]
  • ยางพาราต้นแรกของประเทศไทย พ.ศ. 2442 อ.กันตัง จังหวัดตรัง[8]: 67 [22]: 32 

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. "สำเนาสัญญาบัตรหัวเมือง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  2. "พระราชทานสัญญาบัตร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  3. "ข่าวตาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 30 (ง): 151. 20 เมษายน 1913. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2016.
  4. 4.0 4.1 ชวน เพชรแก้ว. (2554). "วรรณกรรมทักษิณ : หลักฐานสำคัญของภาคใต้ ที่ท้าทายการศึกษา", วารสารราชบัณฑิตยสถาน, 36(4): 568. (ตุลาคม-ธันวาคม 2554).
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 นุสรณ์ รัษฎา. (2524). "ประวัติเจ้าคุณเทศา คอซิมบี้ มณฑลภูเก็ต บทบาทของผู้นำชาวใต้ในอดีต", วารสารรูสมิแล, 5(2). (กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2524). อ้างใน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๖ (พุทธศก ๒๔๕๗) ลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๗.
  6. "ข่าวฝังศพ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 30 (ง): 441. 1 มิถุนายน 1913. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2016.
  7. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. (2549). นามานุกรมพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 400 หน้า. ISBN 978-9-744-25049-0
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 ประพนธ์ เรืองณรงค์. (2541). มาลีศรีตรัง: สารคดีจากเมืองใต้. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า. 216 หน้า. ISBN 978-9-746-04118-8
  9. ชนาวุธ บริรักษ์. (2565). ความทรงจำใต้อำนาจ: รัฐ ราชวงศ์ พลเมือง และการเมืองบนหน้าปฏิทิน. กรุงเทพฯ: มติชน. 408 หน้า. ISBN 978-974-02-1770-1
  10. 10.0 10.1 10.2 กรมศิลปากร. (2532). ถลาง ภูเก็ต และทะเลฝั่งทะเลอันดามัน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์และเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ. ISBN 974-7936-65-8
  11. 11.0 11.1 กองหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. (2521). การแต่งตั้งขุนนางไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 410 หน้า.
  12. พิชัย วาสิงหนท์. (2522). สยามานุสรณ์. กรุงเทพฯ: สัตยการพิมพ์. 696 หน้า.
  13. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานตรารัตนวราภรณ์ เก็บถาวร 2022-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๖๕๕, ๒๗ ตุลาคม ๑๓๑
  14. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๔๓๕, ๒๒ มกราคม ๑๓๑
  15. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๕๕๘, ๒ ตุลาคม ๑๒๙
  16. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า, เล่ม ๒๕ ตอนที่ ๓๕ หน้า ๑๐๑๐, ๒๙ พฤศจิกายน ๑๒๗
  17. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๒๕ ตอนที่ ๓๕ หน้า ๑๐๑๓, ๒๙ พฤศจิกายน ๑๒๗
  18. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเหรียญรัตนาภรณ์ไปพระราชทาน เก็บถาวร 2022-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๔๒๒, ๑๑ มกราคม ๑๒๙
  19. 19.0 19.1 สุนทรี สังข์อยุทธ์ และเทศบาลนครตรัง. (2549). แลหลัง... เมืองตรัง ใตัร่มพระบารมี. กรุงเทพฯ: เวิร์คพอยท์ พับลิชชิ่ง. 127 หน้า. ISBN 978-9-744-58116-7
  20. ๒๕ มกราคม ได้ฤกษ์เปิดหอเกียรติยศ ๑๐๐ ปี พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ (ลานชมเมือง สวนสาธารณะเขารัง). เทศบาลนครภูเก็ต. (22 มกราคม 2559). สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2566.
  21. ประสิทธิ ชิณการณ์. (2526). ยอดนารีศรีถลาง. ภูเก็ต: ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต. 51 หน้า.
  22. วิรัช ถิรพันธุ์เมธี. (2536). พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) : เพชรน้ำหนึ่งของกระทรวงมหาดไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 75 หน้า. ISBN 978-9-745-75251-1
บรรณานุกรม