เจดีย์ชเวดากอง

สถูปในพุทธศาสนา ในย่างกุ้ง ประเทศพม่า

เจดีย์ชเวดากอง (พม่า: ရွှေတိဂုံစေတီတော်, ออกเสียง: [ʃwèdəɡòʊ̯ɰ̃ zèdìdɔ̀] ชเวดะโกนเซดีดอ ; มอญ: ကျာ်ဒဂုၚ်) ตั้งอยู่บนเนินเขาสิงคุตตระ เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า โดยคำว่า ชเว (ရွှေ) หมายถึง ทอง, ดะโกน (ဒဂုံ แผลงเป็น တိဂုံ, ภาษามอญเรียกชื่อว่า ตะเกิง) คือชื่อดั้งเดิมของเมืองย่างกุ้ง[2] เชื่อกันว่าเป็นมหาเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุ 8 เส้นของพระโคตมพุทธเจ้า ยอดสุดขององค์เจดีย์บริเวณลูกแก้วหรือหยาดน้ำค้างประดับด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ และเพชร 5,448 เม็ด ชั้นบนสุดมีทับทิม 2,317 เม็ดและเพชรเม็ดใหญ่ 76 กะรัต เพื่อรับลำแสงแรกและลำแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์[3] ผู้ที่เข้ามานมัสการหรือเยี่ยมชมจะต้องถอดรองเท้าทุกครั้ง

เจดีย์ชเวดากอง
ရွှေတိဂုံစေတီတော်
ศาสนา
ศาสนาพุทธ
นิกายเถรวาท
เทศกาลเทศกาลเฉลิมฉลองเจดีย์ชเวดากอง
หน่วยงานกำกับดูแลคณะกรรมาธิการผู้ดูแลเจดีย์ชเวดากอง
สถานะเปิด
ที่ตั้ง
ที่ตั้งย่างกุ้ง ภาคย่างกุ้ง พม่า
เจดีย์ชเวดากองตั้งอยู่ในประเทศพม่า
เจดีย์ชเวดากอง
ที่ตั้งในประเทศพม่า
พิกัดภูมิศาสตร์16°47′54″N 96°08′59″E / 16.798354°N 96.149705°E / 16.798354; 96.149705
สถาปัตยกรรม
เสร็จสมบูรณ์ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 6
ลักษณะจำเพาะ
ความสูงสูงสุด99 เมตร (325 ฟุต)[1]
ความสูงยอดแหลม112 เมตร (367 ฟุต)[1]
เว็บไซต์
www.shwedagonpagoda.com

ประวัติ

แก้
 
เจดีย์ชเวดากอง ประมาณ ค.ศ. 1890

ตามตำนาน เจดีย์ชเวดากองนั้นสร้างเมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว แต่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีเชื่อกันว่าชาวมอญสร้างขึ้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 6–10 โดย[4] ตามตำนานนั้นกล่าวว่ามีพี่น้องพ่อค้า 2 คนคือ ตปุสสะและภัลลิกะ จากตอนเหนือของเนินเขาสิงคุตตระ ได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์จึงประทานพระเกศาให้พ่อค้าทั้งสองมา 8 เส้น พ่อค้าทั้งสองกลับมายังพม่าและได้ความช่วยเหลือจากผู้ปกครองท้องถิ่น พระราชาโอะกะลาปะ ในการประดิษฐานพระเกศาธาตุบริเวณเนินเขาสิงคุตตระ

องค์เจดีย์ได้ถูกทิ้งร้างทรุดโทรมจนมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 พระยาอู่ (ค.ศ. 1323–1384) ได้ทรงบูรณะเจดีย์ให้มีความสูง 18 เมตร (59 ฟุต) ศตวรรษต่อมาพระนางเชงสอบู (ค.ศ. 1453–1472) ได้ทรงบูรณะเจดีย์ให้มีความสูงถึง 40 เมตร (131 ฟุต) ได้ทำการปรับเปลี่ยนเนินซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์เจดีย์ให้เป็นฐานเจดีย์ลาดเป็นชั้น ๆ แบบขั้นบันได และปูพื้นด้านบนของฐานด้วยแผ่นหิน พระนางรับสั่งให้มีการบำรุงรักษาองค์เจดีย์ต่อไปแก่พระเจ้าธรรมเจดีย์ ซึ่งครองราชสมบัติต่อหลังพระนางสละราชสมบัติ ในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพพระนางประชวรและมีพระบัญชาให้วางแท่นบรรทมในจุดที่พระองค์สามารถมองเห็นเจดีย์ได้ทุกเวลา มีการจารึกภาษามอญบันทึกการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ที่เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1436 จนบูรณะเสร็จสิ้นในรัชสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ต่อมาเจดีย์ชเวดากองได้กลายเป็นสถานที่แสวงบุญของพุทธศาสนิกชนที่มีชื่อเสียงที่สุดในพม่า[5]

แผ่นดินไหวเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่อยมาทำให้เจดีย์ได้รับความเสียหาย และเมื่อปี ค.ศ. 1768 ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างหนัก ทำให้ยอดของเจดีย์หักถล่มลงมา แต่ได้มีการบูรณะให้สูงขึ้นถึง 99 เมตร (325 ฟุต) ฉัตรองค์ใหม่สำหรับประดับยอดเจดีย์ได้รับการถวายจากพระเจ้ามินดง เมื่อปี ค.ศ. 1871 หลังการผนวกดินแดนพม่าตอนล่างโดยอังกฤษ แผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงปานกลางในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1970 ทำให้เพลาฉัตรบนยอดองค์เจดีย์ได้รับความเสียหาย มีการสร้างโครงและซ่อมแซมครั้งใหญ่

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ – 7 มีนาคม ค.ศ. 2012 มีเทศกาลเฉลิมฉลองประจำปีของเจดีย์ชเวดากองเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 หลังถูกห้ามโดยสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ที่ปกครองประเทศในขณะนั้น[6][7] เทศกาลเจดีย์ชเวดากองเป็นเทศกาลเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนดะบ้องตามปฏิทินพม่า[7]

รูปแบบ

แก้
 
รูปแบบสถาปัตยกรรม และองค์ประกอบของเจดีย์ชเวดากอง

ฐานเจดีย์เป็นแบบสี่เหลี่ยมยกเก็จสามชั้น ด้านบนฐานมีเพียงพระภิกษุและผู้ชายเท่านั้นที่สามารถขึ้นได้ ถัดมาเป็นชั้นฐานแปดเหลี่ยมยกเก็จ ต่อมาเป็นชั้นฐานเขียงกลม ถัดไปด้านบนคือส่วนองค์ระฆัง, รัดอกคาดองค์ระฆัง, บัวคอเสื้อลายเฟื่องอุบะ, ปล้องไฉน, ปัทมบาท, ปลียาว, ฉัตร, ธงใบพัด และลูกแก้วหรือหยาดน้ำค้าง ประกอบด้วยเพชร 5,448 เม็ดและทับทิม 2,317 เม็ด บนสุดเป็นเพชรปลายแหลมหนัก 76 กะรัต[8]

แผ่นทองที่ใช้ปิดโครงสร้างอิฐถูกยึดด้วยหมุดแบบดั้งเดิม ประชาชนทั่วประเทศได้บริจาคเงินทองเพื่อบูรณะเจดีย์ การปฏิบัติยังคงมีมาจนถึงทุกวันนี้หลังจากพระนางเชงสอบู ได้บริจาคทองคำเท่าน้ำหนักของพระองค์ในการบูรณะเจดีย์

มีบันไดทางขึ้นไปยังลานเนินเขาสิงคุตตระสี่ทาง ในแต่ละทางขึ้นมีรูปปั้นคล้ายสิงห์ที่เรียกว่าชีนเต่ ประดับไว้เป็นคู่หน้าทางขึ้นเพื่อปกปักรักษาองค์เจดีย์ตามความเชื่อ ทางทิศตะวันออกและทางใต้มีร้านขายธูปเทียน ทองคำเปลว หนังสือ และวัตถุมงคลต่าง ๆ

ผู้ที่เข้ามานมัสการหรือเยี่ยมชมมักนิยมเดินตามเข็มนาฬิกาวนรอบเจดีย์ เริ่มต้นที่วิหารทางทิศตะวันออกซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปพระกกุสันธพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพระองค์แรกในภัทรกัปนี้ ถัดไปเป็นวิหารทางทิศใต้ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปพระโกนาคมนพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพระองค์ที่สองในภัทรกัปนี้ ถัดไปทางทิศตะวันตกเป็นวิหารของพระกัสสปพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพระองค์ที่สามในภัทรกัปนี้ สุดท้ายทางทิศเหนือเป็นวิหารของพระโคตมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน[9]

พิธีกรรม

แก้
 
บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ขณะสรงน้ำพระพุทธรูป ณ จุดวันศุกร์ โดยโอบามาเกิดวันศุกร์

ประชาชนชาวพม่าส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท แต่บางส่วนก็ยังมีความเชื่อในทางโหราศาสตร์ เช่นโหราศาสตร์พม่าที่เกี่ยวข้องกับดวงดาว 7 ดวงได้แก่ ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, ดาวอังคาร, ดาวพุธ, ดาวพฤหัสบดี, ดาวศุกร์และดาวเสาร์ นอกจากนี้ยังตระหนักถึงดาวอีกสองดวงคือราหูและเกตุ ความเชื่อเรื่องดวงดาวล้วนได้รับอิทธิพลมาจากโหราศาสตร์ฮินดู แต่ดาวราหูและเกตุของโหราศาสตร์พม่าต่างจากดาวราหูและเกตุของฮินดู โดยโหราศาสตร์พม่าพิจารณาให้เป็นดวงดาวที่แตกต่างและแยกกัน ในขณะที่โหราศาสตร์ฮินดูพิจารณาว่าเป็นหัวและหางของนาคหรือเป็นจุดขึ้นและลง ส่วนในโหราศาสตร์พม่าดาวเกตุเป็นราชาของดวงดาวทั้งมวล เช่นเดียวกับภาษาอื่น ๆ อีกมากมายชาวพม่าตั้งชื่อวันทั้งเจ็ดในสัปดาห์ตามดวงดาวทั้งเจ็ดดวง แต่โหราศาสตร์ของพม่ามีการแบ่งสัปดาห์เป็นแปดวันโดยแบ่งวันพุธเป็นสองวัน คือ เที่ยงคืนจนถึง 18:00 น. เป็นวันพุธ แต่หลังเวลา 18.00 น. จนถึงเวลาเที่ยงคืนเป็นวันของราหู[10]

เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวพม่าที่จะต้องรู้ว่าวันเกิดของตนได้รับอิทธิพลจากดาวเคราะห์ดวงใด นองจากนี้ยังมีการกำหนดสัญลักษณ์ของรูปสัตว์ต่าง ๆ แทนในแต่ละวัน เช่น ครุฑสำหรับวันอาทิตย์, เสือสำหรับวันจันทร์, สิงโตสำหรับวันอังคาร, ช้างมีงาสำหรับวันพุธครึ่งวันแรก, ช้างไม่มีงาสำหรับวันพุธครึ่งวันหลัง, หนูสำหรับวันพฤหัสบดี, หนูตะเภาสำหรับวันศุกร์และนาคสำหรับวันเสาร์ สัญลักษณ์ของวันต่าง ๆ กระจายไปรอบองค์เจดีย์แต่ละจุดจะมีพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ ผู้ศรัทธามักนำดอกไม้ ธงต่าง ๆ ไปบูชาและทรงน้ำพระพร้อมคำอธิษฐานและความปรารถนา ด้านหลังองค์พระเป็นรูปปั้นของเทวดาผู้พิทักษ์และด้านล่างจะเป็นสัตว์ที่เป็นตัวแทนในแต่ละวัน ชาวพุทธมักนิยมเดินสำรวจเวียนรอบฐานเจดีย์ตามเข็มนาฬิกา

ผู้แสวงบุญและผู้ศรัทธามักซื้อดอกไม้ธูปเทียนธงสีและธงริ้วต่าง ๆ ตามทางขึ้นมานมัสการและไว้รอบเจดีย์ มีกล่องบริจาคอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ รอบองค์เจดีย์ เพื่อมอบให้โดยสมัครใจซึ่งอาจมอบให้เจดีย์เพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป สิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของการให้ทานอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในคำสอนของศาสนาพุทธ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ชาวต่างชาติจะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า 10,000 จัต (ประมาณ 7 ดอลลาร์สหรัฐ)

เจดีย์ชเวดากองในวรรณกรรม

แก้

รัดยาร์ด คิปลิง ได้บรรยายในปี ค.ศ. 1889 ถึงการเยี่ยมชมเจดีย์ชเวดากอง อีกสิบปีต่อมาได้ลงพิมพ์ในหนังสือ From Sea to Sea and Other Sketches, Letters of Travel[11]

สงครามและการบุกรุก

แก้
 
ทหารอังกฤษถอดรองเท้าออกขณะไปเยี่ยมชมเจดีย์ชเวดากองช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ในปี ค.ศ. 1608 ฟีลีปึ ดึ บรีตู อี นีโกตึ นักผจญภัยชาวโปรตุเกส หรือที่รู้จักในนามของ งะซีนกา เมื่ออยู่ในพม่า ได้เข้าปล้นชิงสมบัติของเจดีย์ชเวดากอง และได้เอาระฆังพระเจ้าธรรมเจดีย์ขนาด 300 ตัน ซึ่งถวายโดยพระเจ้าธรรมเจดีย์เมื่อปี ค.ศ. 1485 เจตนาของฟีลีปือคือการหลอมระฆังเพื่อสร้างปืนใหญ่ แต่ระฆังได้ตกลงไปในแม่น้ำพะโคขณะกำลังขนย้าย จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการกู้คืน

สองศตวรรษต่อมาจักรวรรดิบริติชเริ่มเข้าครอบครองพื้นที่เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1824 ช่วงสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่หนึ่ง ทันทีที่ยึดครองเจดีย์ชเวดากองได้พวกเขาได้ใช้เป็นป้อมปราการจนสละทิ้งในอีกสองปีต่อมา มีการปล้นสะดมการทำลายทรัพย์สิน และข้ออ้างของเจ้าหน้าที่คนหนึ่งในการขุดอุโมงค์เข้าไปในส่วนลึกของเจดีย์ คือการหาว่าสามารถใช้เป็นที่เก็บดินปืนได้หรือไม่ ระฆังมหาฆัณฏา ระฆังสัมฤทธิ์หนัก 23 ตัน สร้างในปี ค.ศ. 1779 โดยได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าจิงกูจาและเป็นที่รู้จักในชื่อระฆังพระเจ้าจิงกูจา ถูกขนย้ายลงเรือปรารถนาที่จะส่งไปยังโกลกาตา และได้พบเหตุการณ์เช่นเดียวกับระฆังพระเจ้าธรรมเจดีย์คือตกลงไปในแม่น้ำ เมื่อชาวอังกฤษล้มเหลวในความพยายามที่จะกู้ระฆังขึ้นมา จึงมีประชาชนเสนอที่จะกู้ระฆังโดยมีเงื่อนไขว่าถ้ากู้ขึ้นมาได้ให้ถวายคืนไปยังเจดีย์ ชาวอังกฤษคิดว่ามันเป็นเรื่องไร้ประโยชน์จึงตอบตกลง ต่อมานักดำน้ำได้นำเสาไม้ไผ่หลายร้อยต้นผูกเข้ากับระฆังด้านล่างและปล่อยให้ลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ ระฆังใบนี้มักมีคนสับสนกับระฆังพระเจ้าแสรกแมง ขนาด 42 ตัน ซึ่งได้รับการถวายในปี ค.ศ. 1841 โดยพระเจ้าแสรกแมงพร้อมกับชุบทองคำ 20 กก. ระฆังขนาดใหญ่นี้แขวนอยู่ในศาลามุมตะวันออกเฉียงเหนือของเจดีย์ ส่วนระฆังพระเจ้าจิงกูจาแขวนในศาลาตะวันตกเฉียงเหนือของเจดีย์[12]

ในสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่สอง จักรวรรดิบริติชเข้ายึดครองเจดีย์ในเดือนเมษายนปี ค.ศ. 1852 แต่คราวนี้เจดีย์อยู่ภายใต้การควบคุมทางทหารเป็นเวลานานถึง 77 ปีจนถึงปี ค.ศ. 1929 อย่างไรก็ตามประชาชนสามารถเข้าไปสักการะองค์เจดีย์ได้

ระหว่างการยึดครองเจดีย์และเป็นป้อมปราการของบริติช หม่อง ทอ เล ซึ่งเป็นชาวมอญเชื้อสายพม่า ประสบความสำเร็จในการป้องกันการปล้นทรัพย์สมบัติจากกองทัพบริติช ท้ายที่สุดเขาก็สามารถบูรณะเจดีย์ให้มีชื่อเสียงดังเดิมได้ ทั้งยังได้รับเงินสนับสนุนจากผู้ปกครองชาวอังกฤษ บทความบางส่วนได้ถูกบันทึกลงในหนังสือ “A Twentieth Century Burmese Matriarch” (ปูชนียบุคคลของพม่าในคริสต์ศตวรรษที่ 20) ซึ่งเขียนโดยทายาทสายตรงที่สืบเชื้อสายมาจากหลานสาวของเขา คีน ธีดา[13]

เวทีการเมือง

แก้
 
ผู้ประท้วงที่เจดีย์ชเวดากองในย่างกุ้ง ปี ค.ศ. 2007

ในปี ค.ศ. 1920 นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยของพม่ามาพบกันที่ศาลามุมตะวันตกเฉียงใต้ของเจดีย์ชเวดากอง และวางแผนประท้วงต่อต้านพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยใหม่ ที่พวกเขาเชื่อว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับการปกครองของอาณานิคมมากขึ้น ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้รับการขึ้นเป็นอนุสรณ์สถาน ผลที่ตามมาคือการคว่ำบาตรมหาวิทยาลัยและมีการจัดตั้ง "สถาบันการศึกษาแห่งชาติ" ซึ่งมีแหล่งเงินทุนและดำเนินการโดยชาวพม่า วันนี้จึงได้รับการระลึกเป็นวันชาติวันหนึ่งของพม่า ครั้งที่สองนักศึกษามหาวิทยาลัยได้หยุดประท้วงในปี ค.ศ. 1936 โดยรวมตัวกันบริเวณเชิงฐานเจดีย์ชเวดากอง

ในปี ค.ศ. 1938 คนงานเหมืองบ่อน้ำมันได้หยุดงานประท้วง และทยอยเดินทางออกจากเหมืองบ่อน้ำมันเมืองเชาะและเยนานช่องบริเวณตอนกลางของพม่าไปยังย่างกุ้ง เพื่อจัดค่ายประท้วงบริเวณเจดีย์ชเวดากอง การประท้วงครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและนักศึกษา เป็นที่รู้จักกันในชื่อ 'การปฏิวัติ 1300' เจ้าหน้าที่ตำรวจของบริติชได้สวมรองเท้าบูทบุกเข้าจู่โจมค่ายผู้ประท้วงบริเวณเจดีย์ ขณะที่ชาวพม่าล้วนต้องถอดรองเท้าก่อนขึ้นเจดีย์ทั้งสิ้น

ปัญหาเรื่องการสวมรองเท้าขึ้นไปบนเจดีย์ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนของชาวพม่าตั้งแต่สมัยอาณานิคม ชาวพม่าจะถอดรองเท้าเมื่อเข้าไปในศาสนสถานพุทธทุกแห่ง ไฮแรม ค็อกซ ทูตบริติชและเจ้าหน้าที่ศาลพม่า ในปี ค.ศ. 1796 ได้ชมประเพณีพื้นบ้านโดยไม่ได้แวะไปที่เจดีย์เพราะการที่เขาจะต้องถอดรองเท้า อย่างไรก็ตามหลังจากการผนวกพม่าตอนล่าง ผู้มาเยือนชาวยุโรปและทหารที่มายังเจดีย์ได้แสดงออกถึงการไม่เคารพประเพณีท้องถิ่น อู ธรรมโลกา เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสวมรองเท้าขึ้นไปบนเจดีย์ในปี ค.ศ. 1902 ต่อมาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของบริติชออกกฎข้อบังคับเด็ดขาดห้ามสวมรองเท้าเข้าไปในบริเวณเจดีย์ อย่างไรก็ตามพวกเขาได้ยกเว้นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลให้สวมรองเท้าได้ ระเบียบข้อบังคับและการยกเว้นนี้เป็นจุดเริ่มต้นกระตุ้นให้ประชาชนเริ่มมีบทบาทในขบวนการชาตินิยม ปัจจุบันไม่อนุญาตให้สวมรองเท้าหรือถุงเท้าขึ้นไปบนเจดีย์

ในเดือนมกราคมปี ค.ศ. 1946 นายพลอองซาน ได้จัดการชุมนุมใหญ่ที่บริเวณเจดีย์เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ โดยมีการประท้วงและการชุมนุมเป็นวงกว้าง อีกสี่สิบสองปีต่อมาในวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1988 ลูกสาวของเขา อองซาน ซูจี ได้กล่าวกับผู้ชุมนุมกว่า 500,000 คนที่บริเวณเจดีย์ชเวดากองเพื่อเรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยจากการปกครองของทหาร เหตุการณ์นี้เป็นที่รู้กันกันในชื่อ การปฏิวัติ 8888 ซึ่งเป็นการประท้วงระบอบการปกครองครั้งใหญ่ครั้งที่สอง

การปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์

แก้

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2007 มีการประท้วงทั่วประเทศต่อการปกครองของทหาร เกี่ยวกับการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พระสงฆ์ถูกห้ามเข้าเจดีย์เป็นเวลาหลายวันก่อนที่รัฐบาลจะยอมปล่อยให้เข้ามา

เมื่อวันที่ 24 กันยายน ค.ศ. 2007 พระภิกษุและตี่ละฉิ่น กว่า 20,000 รูป (การประท้วงครั้งใหญ่สุดในรอบ 20 ปี) ได้เดินขบวนไปยังเจดีย์ชเวดากองที่เมืองย่างกุ้ง ต่อมาในวันจันทร์มีประชาชนกว่า 30,000 คนและพระภิกษุ 15,000 รูป เดินขบวนจากเจดีย์ชเวดากองและผ่านสำนักงานพรรคฝ่ายค้านของนางอองซาน ซูจี คือ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) นักแสดงตลกและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซากะนา กับ จอ ตู มีการนำอาหารและน้ำมาถวายแด่พระสงฆ์ ในวันเสาร์มีพระภิกษุเดินทางไปทักทายนางอองซานซูจีซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมในบ้านพัก ต่อมาวันอาทิตย์มีแม่ชีจำนวน 150 คนเข้าร่วมเดินขบวน[14][15] เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2007 พระภิกษุและผู้สนับสนุน 2,000 คนขัดขืนคำขู่ของคณะผู้บริหารประเทศ เดินขบวนในถนนย่างกุ้งไปยังเจดีย์ชเวดากอง ท่ามกลางรถบรรทุกทหารและคำเตือนของ พลจัตวา มยิน มอง ไม่ให้พุทธศาสนิกชนละเมิดกฎระเบียบและข้อบังคับ[16]

วันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 2007 มีการปะทะกันระหว่างกองกำลังรักษาความปลอดภัยกับพระสงฆ์และผู้ประท้วงหลายพันคน มีผู้ประท้วงที่เสียชีวิตอย่างน้อย 5 รายจากกองกำลังรักษาความปลอดภัย ตามรายงานเจ้าหน้าที่มีการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมอย่างสันติของพระสงฆ์จำนวนมากรอบ ๆ เจดีย์ชเวดากอง[17]

มีรายงานการประท้วงว่าพระภิกษุจำนวนอย่างน้อย 50 รูปถูกจับขึ้นไปบนรถบรรทุกของกองทัพ และถูกนำไปยังสถานที่ที่ไม่เปิดเผย นอกจากนี้มีการรายงานว่าทหารใช้ปืนไรเฟิลจู่โจมและปิดศาสนสถานพุทธ มีประกาศให้ฝูงชนสลายตัวอย่างรวดเร็วก่อนจะปราบปรามอย่างรุนแรง มีการขับไล่พระภิกษุและผู้ประท้วงกว่าร้อยคนและเริ่มปิดล้อมบริเวณเจดีย์[17]

เจ้าหน้าผู้มีอำนาจได้ประกาศสั่งให้ฝูงชนสลายการชุมนุมประท้วง แต่พยานในที่เกิดเหตุกล่าวว่าพระภิกษุนั่งลงและเริ่มสวดภาวนาต่อสู้กับการห้ามชุมนุมของรัฐบาลทหาร กองกำลังรักษาความปลอดภัยที่เจดีย์ได้โจมตีผู้ชุมนุม มีการทำร้ายพระภิกษุและผู้สนับสนุนอีกหลายร้อยราย พระภิกษุถูกพาขึ้นไปยังรถบรรทุกโดยหน่วยงานท่ามกลางประชนหลายร้อยคนที่เห็นเหตุการณ์[17] มีรายงานว่าบางส่วนได้เลี่ยงและมุ่งหน้าไปยังเจดีย์ซู่เลแทน ซึ่งเป็นหนึ่งในศาสนสถานพุทธที่ตั้งอยู่ในใจกลางกรุงย่างกุ้ง[18]

การจำลอง

แก้

เจดีย์หรือสิ่งก่อสร้างที่มีการระบุชัดเจนว่าสร้างจำลองมาจากเจดีย์ชเวดากอง เช่น

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Ministry of Religious Affairs and Culture, Myanmar (2018-12-06). "Shwedagon Pagoda on Singuttara Hill". UNESCO.
  2. "Paya Shwedagon Yangon -Myanmar". Dhammapiti (ภาษาฝรั่งเศส). 2007-02-11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-23. สืบค้นเมื่อ 2016-08-26.
  3. "เจดีย์ชเวดากอง : Shwedagon Pagoda". wonder7th.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-27. สืบค้นเมื่อ 2014-07-14.
  4. Pe Maung Tin (1934). "The Shwe Dagon Pagoda". Journal of the Burma Research Society: 1–91.
  5. BURMA, D. G . E. HALL, M.A., D.LIT., F.R.HIST.S.Professor Emeritus of the University of London and formerly Professor of History in the University of Rangoon, Burma.Third edition 1960. Page 35-36
  6. Gecker, Jocelyn (22 February 2012). "Festival returns to Myanmar's Shwedagon Pagoda". Yahoo! News. Associated Press. สืบค้นเมื่อ 23 February 2012.
  7. 7.0 7.1 "Banned festival resumed at Shwedagon Pagoda". Mizzima News. 22 February 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 February 2012. สืบค้นเมื่อ 23 February 2012.
  8. "เจดีย์ชเวดากอง ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-05-28. สืบค้นเมื่อ 2022-03-18.
  9. Billinge, T (2014). "Shwedagon Paya". The Temple Trail. สืบค้นเมื่อ 2014-12-29.
  10. Skidmore, Monique. Burma At The Turn Of The Twenty-first Century. University of Hawaii Press, 2005, p. 162.
  11. Kipling, JR (1914). "II: The River of the Lost Footsteps and the Golden Mystery upon its Banks. Shows how a Man may go to the Shway Dagon Pagoda and see it not and to the Pegu Club and hear too much. A Dissertation on Mixed Drinks". From sea to sea and other sketches: letters of travel. Vol. I. New York: Doubleday. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-09. สืบค้นเมื่อ 2018-08-09.
  12. Bird, GW (1897). Wanderings in Burma (1st ed.). London: F.J. Bright and Son.
  13. Oung, Kin Thida (2007). A Twentieth Century Burmese Matriarch. Lulu. p. 200. ISBN 9780557102297.
  14. "Afp.google.com, 30,000 rally as Myanmar monks' protest gathers steam". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-14. สืบค้นเมื่อ 2007-09-24.
  15. "Nuns in Burma anti-junta rallies". BBC News. 23 September 2007. สืบค้นเมื่อ 1 January 2010.
  16. Matthew Weaver. "Troops sent in as Burmese protesters defy junta". the Guardian.
  17. 17.0 17.1 17.2 Burma riot police beat back monks BBC, 26 September 2007.
  18. Insect spray to be used for crackdown on protesters Mizzima News, 27 September 2007. เก็บถาวร 23 กุมภาพันธ์ 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  19. Roughneen, S (2013-11-13). "Naypyidaw's Synthetic Shwedagon Shimmers, but in Solitude". The Irrawaddy. Chiang Mai, Thailand: Irrawaddy Publishing Group. สืบค้นเมื่อ 2014-12-29.
  20. Taman Alam Lumbini International Buddhist Center (2010-11-01). "The Inauguration Ceremony of Shwedagon Pagoda Replica". Shwedagon's Pagoda Replica Project. Berastagi, Sumatera Utara, Indonesia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-02. สืบค้นเมื่อ 2014-12-29.
  21. "Global Vipassana Pagoda inaugurated in Mumbai". DNA. 8 February 2009. สืบค้นเมื่อ 9 June 2013.

ดูเพิ่ม

แก้
  • Martin, Steve (2002). Lonely Planet Myanmar (Burma). Lonely Planet Publications. ISBN 1-74059-190-9.
  • Elliot, Mark (2003). South-East Asia: The Graphic Guide. Trailblazer Publications. ISBN 1-873756-67-4.
  • Win Pe (1972). Shwedagon. Printing and Publishing Corporation, Rangoon.
  • "Dictionary of Buddhism" by Damien Keown (Oxford University Press, 2003) ISBN 0-19-860560-9

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้