ศาสนาพุทธในประเทศพม่า
ศาสนาพุทธ (พม่า: ဗုဒ္ဓဘာသာ) นิกายเถรวาท (พม่า: ထေရဝါဒဗုဒ္ဓဘာသာ) เป็นศาสนาประจำชาติพม่าตั้งแต่ พ.ศ. 2504[2] มีผู้นับถือโดยประมาณ 90% ของประชากรภายในประเทศ[3][4] เป็นประเทศที่นับถือศาสนาพุทธมากที่สุดในแง่ของสัดส่วนพระสงฆ์ต่อประชากรและสัดส่วนของรายได้ที่ใช้ในศาสนา[5] พบการนับถือมากในหมู่ชาวพม่า, ชาน, ยะไข่, มอญ, กะเหรี่ยง, และชาวจีนในพม่า พระภิกษุเป็นที่เคารพบูชาทั่วไปของสังคมพม่า ในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศพม่า ได้แก่ ชาวพม่า และ ชาน พุทธศาสนาเถรวาทมักเกี่ยวข้องกับการนับถือ นะ (วิญญาณ) และสามารถเข้าแทรกแซงกิจการทางโลกได้
သာသနာ့အလံတော် ธงศาสนา | |
เจดีย์ชเวดากองที่มีชื่อเสียงในย่างกุ้ง ประเทศพม่า | |
ศาสนิกชนรวม | |
---|---|
ประมาณ 48 ล้านคน (90%) ใน พ.ศ. 2559[1] | |
ภูมิภาคที่มีศาสนิกชนจำนวนมาก | |
ทั่วประเทศพม่า | |
ศาสนา | |
พุทธศาสนานิกายเถรวาท | |
ภาษา | |
พม่าและภาษาอื่น ๆ |
พุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศพม่า เมื่อคราวที่พระเจ้าอโศกมหาราชอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 236 ได้ส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแถบสุวรรณภูมิ ประเทศต่าง ๆ รวม 9 สายด้วยกัน พม่าก็อยู่ในส่วนของสุวรรณภูมิด้วยและชาวพม่ายังเชื่อว่า สุวรรณภูมิ มีศูนย์กลางอยู่ที่ เมืองสะเทิม อาณาจักรมอญทางตอนใต้ของพม่า จากประวัติศาสตร์ทราบได้ว่า พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในพม่าราวพุทธศตวรรษที่ 6 เพราะได้พบหลักฐานเป็นคำจารึกภาษาบาลี และจารึกเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
ประวัติ
แก้พระพุทธศาสนาที่เผยแผ่เข้าสู่ดินแดนประเทศพม่าในระยะแรก คือพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทหรือนิกายหินยานได้เข้าไปประดิษฐานที่เมืองสุธรรมบุรีหรือเมืองสะเทิม ซึ่งเป็นเมืองของชาวมอญทางตอนใต้ของประเทศ ส่วนชาวพม่าตอนเหนือมีเมืองพุกามเป็นเมืองหลวง พงศาวดารมอญพม่าและตำนาน
พระพุทธศาสนาเถรวาทในพม่ากล่าวว่า พ่อค้าชาวมอญสองนายจากบริเวณพม่าตอนล่างได้เส้นพระเกศาของพระพุทธเจ้านำมาประดิษฐานไว้ในวัดเล็ก ๆ วัดหนึ่ง ต่อมาเป็นที่สร้างเจดีย์พระเกศาธาตุหรือเจดีย์ชเวดากอง[6]
ส่วนพระพุทธศาสนาลัทธิอาจริยวาทหรือนิกายมหายานได้เผยแผ่มาจากแคว้นเบงกอลและโอริศาของอินเดีย พระภิกษุมอญมีส่วนในการสร้างอาณาจักรพม่าในยุคแรก ดังที่หนังสือประวัติศาสตร์พม่าบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “ในพุทธศักราช 1587 (ค.ศ. 1044) พระเจ้าอนุรุทธะ (พระเจ้าอโนรธา) ขึ้นครองราชย์ที่กรุงพุกามซึ่งตั้งอยู่ตรงใต้จุดบรรจบของแม่น้ำอิรวดีกับแม่น้ำซินต์ พระเจ้าอนุรุทธะไม่ทรงพอพระทัยในศาสนาที่ประชาชนนับถืออยู่ในขณะนั้นซึ่งเป็นศาสนาที่มีส่วนผสมปนเปของหลักพระพุทธศาสนานิกายมหายานกับความเกรงกลัวอำนาจธรรมชาติแบบพื้นเมือง ซึ่งพระองค์ไม่เห็นด้วย ในขณะนั้นพระภิกษุมอญรูปหนึ่งชื่อพระชินอรหันต์ได้เดินทางมายังอาณาจักรพุกาม ท่านเป็นผู้หนึ่งในหมู่ชนจำนวนน้อยที่ไม่นิยมรับความเชื่อแบบฮินดูที่เมืองสะเทิม ในเวลานั้นไม่นานนักพระชินอรหันต์ก็สามารถชักนำให้พระอนุรุทธะหันมานับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทได้”[7]
เมื่อขึ้นครองราชย์ประชาชนมีความเชื่อหลากหลาย แต่สงบได้เพราะพุทธศาสนาดังที่อ้างไว้ว่าตอนที่พระเจ้าอโนรธายังมิได้ขึ้นครองบัลลังก์นั้น ในเมืองพุกามยังมีความเชื่อถืออันผิด ๆ โดยเฉพาะความเชื่อแบบพวกอะยีกำลังครอบงำแผ่นดินพุกามอยู่ขณะนั้น เมื่อพระเจ้าอโนรธาขึ้นครองบัลลังก์และทรงปรารถนาในศาสนาอันชอบ ในเพลาเดียวกันนั้นพระชินอรหันต์ได้เดินทางจาริกจากเมืองสะเทิมมาเผยแผ่ศาสนายังเมืองพุกาม จึงทรงขอร้องให้พระชินอรหันต์เผยแผ่ศาสนาในพุกาม ด้วยความช่วยเหลือของพระชินอรหันต์ พระเจ้าอโนรธาจึงสามารถกำจัดความเชื่อของเหล่าอะยีลงได้ พวกอะยีถูกจับสึกแล้วให้คนเหล่านั้นรับใช้ในงานอันควรแก่อาณาจักรต่อไป ด้วยเหตุผลนี้ความเชื่อแบบอะยีจึงค่อย ๆ หมดไปจากพุกาม พระเจ้าอโนรธาทำให้ประชาชนทั่วแผ่นดินพุกามหันมานับถือพุทธศาสนา และยังเป็นการรวมชาติโดยผนึกความเชื่อต่าง ๆ ให้เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ หากไม่มีความเชื่อใหม่คือพระพุทธศาสนาก็ยากที่จะรวมชาติได้ หลังรวบรวมดินแดนของชาวพม่าให้เป็นปึกแผ่นได้สำเร็จ พระเจ้าอโนรธายังได้จัดทัพไปตีได้เมืองสะเทิมของชาวมอญ พร้อมกับอันเชิญพระภิกษุสงฆ์ พระไตรปิฎก และพระเถระผู้เชี่ยวชาญในพระคัมภีร์จากเมืองสะเทิมไปยังเมืองพุกาม พระเถระชาวมอญซึ่งชำนาญในคัมภีร์ได้ช่วยพระชินอรหันต์เป็นอย่างมากในการเผยแพร่พุทธศาสนาให้เป็นที่แพร่หลาย นอกจากนี้พระเจ้าอโนรธามังช่อยังได้ทรงส่งสมณทูตไปติดต่อกับลังกา และเชิญไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์มาจากลังกามาด้วย พระเจ้าอโนรธามิได้สร้างพระเจดีย์เฉพาะในพุกามแต่ยังทรงสร้างเจดีย์ในทุกที่ที่เสด็จไปถึง ในบรรดาเจดีย์เหล่านี้เจดีย์ที่โดดเด่นที่สุดคือ เจดีย์ชเวซี่โกน
ในการที่จะให้พุทธศาสนาแพร่หลาย พระเจ้าอโนรธายังทรงให้มีการศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกกันในวัด พุทธศาสนาที่พระเจ้าอโนรธาได้ทรงอุปถัมภ์นั้นยังมั่นคงมาได้จวบจนปัจจุบัน การนำพุทธศาสนาจากแผ่นดินของชาวมอญสู่พุกามนั้น พม่ายกย่องพระชินอรหันต์ภิกษุมอญเป็นดุจผู้ส่องไฟนำทาง พระเจ้าอโนรธาเป็นดุจผู้หว่านเมล็ดแห่งพุทธศาสนาบนดินแดนพม่า ส่วนเหล่าอะยีนั้นถูกตีตราให้เป็นพวกมิจฉาทิฐิโดยประมาณว่าเป็นกลุ่มนักบวชที่แผ่อิทธิพลเหนือชาวบ้านด้วยการเอานรกมาขู่ ยกสวรรค์มาอ้าง และหากินกับลาภสักการระ การนำพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมาสู่อาณาจักรของชาวพม่านั่นจึงถือเป็นการทำลายอำนาจมืดจากความเชื่อผิด ๆ ภาพของพระเจ้าอโนรธาในแบบเรียนจึงเป็นภาพปฏิวัติทางความคิดเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมของชาวพุทธพม่า[8]
ทุกหนทุกแห่งที่พระเจ้าอนุรทธะทรงได้ชัยชนะในการสงคราม แทนที่พระองค์จะสร้างเสาหินแห่งชัยชนะไว้ กลับสร้างอิฐจารึกบทสวดมนต์ในพระพุทธศาสนาเป็นภาษาบาลีหรือสันสกฤต และพระนามาภิไธยเป็นภาษาสันสกฤต และทำให้พุกามกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษานิกายเถรวาท[9]
ความมั่งคั่งในอาณาจักรพุกามทำให้มีการสร้างวัดนับไม่ถ้วนในพุกาม และยังมีปรากฏให้เห็นในปัจจุบันประมาณห้าพันวัด ส่วนเจดีย์ในพุกามมีสองประเภทใหญ่ ๆ คือแบบสถูปตันและแบบกลวงกลมหรือถ้ำจำลอง เจดีย์อันดับแรกคือเจดีย์ชเวซี่โกนของพระเจ้าอนุรทธะมีลักษณะเป็นรูปปิรามิด มีฉัตรทองกั้นอีกชั้นหนึ่ง ทั้งเจดีย์ปิดทองมีมณีมีค่าประดับฉัตรบนยอดเจดีย์ [10]
หลังยุคพระเจ้าอโนรธามังช่อเป็นต้นมา กษัตริย์ของพม่าองค์ต่อ ๆ มาทรงให้ความสำคัญต่อพระพุทธศาสนา ดังที่หม่องอ่องกล่าวว่า “พระเจ้ามินดงทรงโปรดให้จารึกพระไตรปิฎกทั้งชุด รวมทั้งคำอธิบายลงบนแผ่นหินกว่า 5,000 แผ่น และทรงสนับสนุนพระสงฆ์ผู้เคร่งวินัยให้อพยพไปพม่าตอนล่าง”[11] พระภิกษุบางรูปเคยได้รับการคัดเลือกให้เป็นกษัตริย์ครองราชย์บัลลังก์ ดังเช่นเรื่องของ พระธรรมเจดีย์ กษัตริย์สมัยอาณาจักรหงสาวดีของชาวมอญ เมื่อพระนางเชงสอบู ทรงเลือกบาตรใหญ่สองใบ ใบหนึ่งบรรจุอาหารที่จัดสรรอย่างวิเศษ และอีกใบหนึ่งใส่เครื่องราชอิสริยยศ พระนางก็ทรงนิมนต์พระภิกษุทั้งสอง คือพระธรรมเจดีย์บุตรบุญธรรมและพระธรรมปาละ มาบิณฑบาตในท้องพระโรงต่อหน้าข้าราชสำนักที่แต่งเต็มยศอย่างงดงามตระการตายิ่ง เมื่อพระทั้งสองรูปมาถึงและให้เลือกบาตรคนละใบ พระธรรมเจดีย์เลือกได้บาตรที่ใส่เครื่องราชอิสริยยศและได้รับเลือกเป็นกษัตริย์จึงต้องสึก เพื่ออภิเษกสมรสกับพระธิดาของพระนางเชงสอบูและรับราชบัลลังก์ (ค.ศ. 1472)[12]
ในรัชสมัยของพระเจ้าธรรมเจดีย์ กษัตริย์สมัยอาณาจักรหงสาวดีของชาวมอญทางตอนใต้ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงพระราชดำริว่าพระพุทธศาสนาในดินแดนมอญขณะนั้นเสื่อมลงมาก จึงโปรดให้มีการชำระปฏิรูปพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์โดยทรงให้ภิกษุทุกรูปในดินแดนมอญลาสิกขา และรับการอุปสมบทใหม่จากพระอุปัชฌาย์และพระอันดับที่ล้วนได้รับการอุปสมบทจากลังกาเป็นผู้ให้อุปสมบท แต่หลังจากนั้นพระพุทธศาสนาในประเทศพม่าก็เสื่อมลงอีก สาเหตุทั้งเนื่องจากสงครามระว่างพม่าด้วยกันเอง และสงครามระหว่างพม่ากับมอญ กระทั่งถึงประมาณ พ.ศ. 2300 เมื่อพระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่าได้ยกทัพไปทำลายกรุงหงสาวดีอย่างราบคาบ ทำให้ชนชาติมอญสูญสิ้นอำนาจลงอย่างเด็ดขาด หลังสงครามพระพุทธศาสนาในพม่าได้รับการทำนุบำรุงจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในสมัยพระเจ้ามินดง (พ.ศ. 2395–2420) พระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาพระไตรปิฎกที่พม่าระหว่าง พ.ศ. 2411–2414 ณ เมืองมัณฑะเลย์ และโปรดเกล้า ฯ ให้จารึกพระไตรปิฎกลงบนแผ่นหินอ่อนแล้วทำมณฑปครอบไว้ ซึ่งยังปรากฏอยู่ที่วัดกุโสดอเชิงเขามัณฑะเลย์จนถึงทุกวันนี้ ปี พ.ศ. 2429 พม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกล้มล้างลง จึงส่งผลให้พระพุทธศาสนาได้รับผลกระทบกระเทือนตามไปด้วย แต่ถึงกระนั้นประชาชนในพม่าก็ยังคงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่นตลอดมา จนเมื่อพม่าได้รับเอกราช เมื่อ พ.ศ. 2591 ฯพณฯ อู นุ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎก เมื่อ พ.ศ. 2493 และต่อมารัฐบาลได้ออกกฎหมายรับรองให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ในปี พ.ศ. 2500 ในปัจจุบันมีพระพุทธศาสนาที่ได้รับการรับรองโดยรัฐบาลพม่า จำนวน 9 นิกาย เช่น นิกายสุธรรมมา เป็นต้น[13]
หม่องทินอ่อน นักประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า “พระเจ้าอโศกทรงส่งสมณทูตไปยังดินแดนที่ห่างไกลหลายแห่งด้วยกัน สมณทูตคณะหนึ่งไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่ประชาชนในสุวรรณภูมิ เมืองหลวงของสุวรรณภูมิคือเมืองสะเทิม (Thaton) ในพม่าตอนล่าง ในขณะที่ประวัติศาสตร์ไทยเชื่อกันว่าจุดศูนย์กลางของสุวรรณภูมิอยู่ที่นครปฐมโดยมีโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่นพระปฐมเจดีย์[14]
นักประวัติศาสตร์ไทยบางท่านมีความเชื่อสอดคล้องกับนักประวัติศาสตร์พม่าโดยได้บันทึกไว้ว่า “พระเจ้าอโศกได้ส่งสมณทูตเก้าสายไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาพระโสณะและพระอุตระไปสุวรรณภูมิคือบริเวณเมืองสะเทิมของมอญและเมืองไทยตลอดจนแหลมมลายู ในคัมภีร์มหาวงศ์ของลังการะบุว่าดินแดนสุวรรณภูมิอยู่ห่างจากลังกา 700 โยชน์”[15]
จากประวัติศาสตร์บางตอนพบว่า พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในพม่าในราวพุทธศตวรรษที่ 6 เพราะได้พบหลักฐานเป็นคำจารึกภาษาบาลี นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งชื่อว่า ตารนาถ เสนอว่าพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทได้เข้ามาสู่พม่า ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ต่อมาได้มีพระสงฆ์ฝ่ายมหายานซึ่งเป็นศิษย์ของพระวสุพันธุ ได้นำเอาพระพุทธศาสนาแบบมหายานลัทธิตันตระ เข้าไปเผยแผ่ ในครั้งนั้นพม่ามีเมืองพุกามเป็นเมืองหลวง มีชื่อเรียกชาวพม่าว่า "มรัมมะ" ส่วนชาวมอญ ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อ "สะเทิม" และถิ่นใกล้เคียงรวม ๆ เรียกว่า รามัญประเทศ หรือ อาณาจักรสุธรรมวดี จนพระพุทธศาสนาทั้งแบบเถรวาทที่เข้ามาก่อนและแบบมหายานที่เข้ามาทีหลังเจริญรุ่งเรืองในพม่าเป็นเวลาหลายร้อยปี[16]
การศึกษาพระปริยัติธรรมในพม่า
แก้การศึกษาพระปริยัติธรรมในพม่านั้น สมัยพระเจ้ามินดงมีการสอบพระปริยัติธรรมวิชาที่สอบแบ่งเป็นสี่ชั้นคือ
- ชั้นต้น ต้องสอบท่องคัมภีร์กัจจายนไวยากรณ์ ข กัณฑ์ ด้วยปากเปล่า อภิธานนัปปทีปิกา 1203 คาถา วุตโตทัยฉันโทปกรณ์ สุโพธาลังการอภิธรรมมัตถสังคหะ 9 ปริจเฉท มาติกา ธาตุกถา 14 นัย ยมก 5
- ชั้นกลาง สอบท่องปากเปล่าคัมภีร์ในชั้นต้นทั้งหมดโดยเพิ่มยมกเป็น 10 ยมก
- ชั้นสูง สอบแบบชั้นกลางแต่เพิ่มคัมภีร์ปัฏฐานแต่ต้นจนจบกุสลติกะ
- ชั้นสูงสุด จะต้องสอบแข่งขันกันทั้งหมดเพื่อให้ได้ที่หนึ่งเพียงรูปเดียว จากนั้นพระเจ้ามินดงจะทรงอุปถัมภ์เป็นพระราชบุตรบิดามารดาพร้อมทั้งญาติถึง 15 ชั้น ได้รับการงดเว้นภาษีทุกด้าน[17]
ในงานวิจัยของโรเบิร์ต เอช เทย์เลอร์ อ้างว่า “ประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทรงใช้วิธีการสอนแบบสงฆ์ที่เรียกว่า “พระธรรมพยาน” ซึ่งมีวัตถุประสงฆ์เพื่อทดสอบความสามารถของพระสงฆ์ มาทดสอบความเหมาะสมในการเข้าดำรงตำแหน่งราชการ[18] การสอบของพระสงฆ์จึงเป็นวิธีการที่น่าเชื่อถือจนกษัตริย์ต้องนำเอาวิธีการสอบไปใช้
การสังคายนาพระไตรปิฎกในพม่า
แก้ประเทศพม่ามีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกสิบครั้ง ซึ่งเป็นการกระทำร่วมกันของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท ดังหลักฐานบันทึกไว้ว่า “ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้มีเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในพม่าร่วมกัน คือการสังคายนาพระไตรปิฎก ณ เมืองมัณฑะเลย์ เมื่อ พ.ศ. 2414 เป็นการสังคายนาครั้งแรกในพม่า แต่พม่านับว่าเป็นครั้งที่ 5 ต่อจากจารึกลงในใบลานของลังกา สังคายนาครั้งนี้ มีการจารึกพระไตรปิฎกลงในแผ่นหินอ่อน 429 แผ่น ณ เมืองมัณฑะเลย์ ด้วยการอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง มีพระมหาเถระ 3 รูป คือพระชาคราภิวังสะ พระนรินทาภิธชะ และพระสุมังคลสามี ได้พลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานโดยลำดับ มีพระสงฆ์และพระอาจารย์ผู้แตกฉานในพระปริยัติธรรมร่วมประชุม 2,400 ท่าน กระทำอยู่ 5 เดือน จึงสำเร็จ[19]
ส่วนการทำสังคายนาครั้งที่ 2 ในพม่าหรือที่พม่านับว่าเป็นครั้งที่ 6 ที่เรียกว่าฉัฎฐสังคายนา เริ่มกระทำเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 จนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 เป็นอันปิดงาน ในการปิดงานได้กระทำร่วมกับการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (การนับปีเร็วกว่าไทย 1 ปี จึงเริ่มเท่ากับ พ.ศ. 2498 ปิด พ.ศ. 2500 ตามที่พม่านับ) การทำสังคายนาครั้งนี้มุ่งพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นข้อแรกแล้วจะจัดพิมพ์อรรถกถา (คำอธิบายพระไตรปิฎก) และคำแปลเป็นภาษาพม่าโดยลำดับ มีการโฆษณาเชิญชวนพุทธศาสนิกชนหลายประเทศไปร่วมพิธีด้วย โดยเฉพาะประเทศเถรวาท คือ พม่า ลังกา ไทย ลาว เขมร ทั้งห้าประเทศนี้ สำคัญสำหรับการทำสังคายนาครั้งนี้มากเพราะใช้พระไตรปิฎกภาษาบาลีอย่างเดียวกัน จึงได้มีสมัยการประชุมซึ่งประมุขหรือผู้แทนของประเทศนี้เป็นหัวหน้า เช่นเป็นสมัยของไทย สมัยของลังกา เป็นต้น ได้มีการก่อสร้างคูหาจำลองทำด้วยคอนกรีต จุคนได้หลายพันคน มีที่นั่งสำหรับพระสงฆ์ไม่น้อยกว่า 2,500 ที่ บริเวณที่ก่อสร้างประมาณ 200 ไร่เศษ เมื่อเสร็จแล้วได้แจกจ่ายพระไตรปิฎกฉบับอักษรพม่าไปให้ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย[20]
พระพุทธศาสนาในพม่ามีความเกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การเจริญหรือเสื่อมของคณะสงฆ์ก็ย่อมมีส่วนกับสถาบันกษัตริย์ด้วย ดังนั้นกษัตริย์จึงมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือการปฏิรูปสถาบันสงฆ์ ดังที่มีการบรรยายถึงการปฏิรูปสถาบันสงฆ์ไว้ว่า “กษัตริย์พม่าได้ทรงริเริ่มการปฏิรูปศาสนา หรือการชำระสถาบันสงฆ์ให้บริสุทธิ์ เพื่อจะได้ยึดทรัพย์สมบัติของทางสงฆ์มาให้เป็นที่ยอมรับทั้งทางกฎหมายและสังคม คณะสงฆ์ที่ร่ำรวยย่อมหมายถึงว่าพระภิกษุไม่ได้ดำเนินชีวิตตามกฎของพระวินัย ดังนั้นการปฏิรูปจึงนับว่าถูกต้องชอบธรรมตามอุดมการณ์ การปฏิรูปศาสนาส่งผลทางวัตถุให้ขนาดของคณะสงฆ์ลดลงทางด้านอุดมการณ์เท่ากับว่าทำให้พระศาสนาบริสุทธิ์ขึ้น เมื่อคณะสงฆ์บริสุทธิ์ขึ้นประชาชนต่างก็จะมาทำบุญเพิ่มขึ้น เพราะบุญที่บุคคลจะได้ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของพระภิกษุที่บุคคลนั้นนับถือ คณะสงฆ์เองก็จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณเพิ่มขึ้น เพราะโดยหลักการถือว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นผู้ทรงปกป้องและอุปถัมภ์ค้ำจุนพระศาสนา ถ้าประชาชนและพระมหากษัตริย์ไม่ได้หันมาอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา สุดท้ายจะนำกลับไปสู่ลัทธิเจ้าของที่ดินของวัดและรัฐก็ต้องเข้ามาจัดการปฏิรูปคณะสงฆ์ใหม่หมุนเวียนไปไม่รู้จบ[21]
พระพุทธศาสนาเถรวาทกับประเทศพม่ามีความผูกพันกันมาอย่างยาวนานต้องพานพบกับความเสื่อมและความเจริญ แต่ก็สามารถอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมของพม่าเรื่อยมา มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ ตลอดจนมีการศึกษาพระพุทธศาสนามาโดยตลอด แม้ว่าปัจจุบันพม่าจะไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหมือนในอดีต คณะสงฆ์พม่าก็ยังมีอิทธิพลสำหรับประชาชน ดังจะเห็นได้จากการเป็นผู้นำในการเดินขบวนเรียกร้องความเป็นธรรมจากอำนาจรัฐ คณะสงฆ์พม่ายังได้สร้างความสัมพันธ์กับประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทจากทั่วโลก ดังเช่นในปีพุทธศักราช 2550 ได้มีการก่อตั้งสมาคมพระพุทธศาสนาเถรวาทนานาชาติขึ้น และได้ประชุมครั้งแรกระหว่างช่วงวันที่ 9–11 มีนาคม 2550 ที่เมืองย่างกุ้ง และประชุมที่เมืองสะกายเป็นครั้งที่สอง
อ้างอิง
แก้- ↑ Department of Population Ministry of Labour, Immigration and Population MYANMAR (July 2016). The 2014 Myanmar Population and Housing Census Census Report Volume 2-C. Department of Population Ministry of Labour, Immigration and Population MYANMAR. pp. 12–15.
- ↑ "၁၉၆၁ ခုနှစ်၊ နိုင်ငံတော်ဘာသာသာသနာချီးမြှောက်ထောက်ပံ့ရေးအက်ဥပဒေ" [1961 year, State Religion Promotion Act]. Constitutional Tribunal of the Union, Law Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-25. สืบค้นเมื่อ 2022-09-02.
တည်ဆဲဥပဒေဖြစ်ပါသည် [It is an existing law]
- ↑ "The World Factbook".
- ↑ "Burma—International Religious Freedom Report 2009". U.S. Department of State. 26 October 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 November 2009. สืบค้นเมื่อ 11 November 2009.
- ↑ Cone & Gombrich, Perfect Generosity of Prince Vessantara, Oxford University Press, 1977, page xxii
- ↑ (หม่องทินอ่อง,ประวัติศาสตร์พม่า,หน้า 6)
- ↑ (หม่องทินอ่อง,ประวัติศาสตร์พม่า, หน้า 32)
- ↑ (วิรัช นิยมธรรม,ประวัติศาสตร์พม่า)
- ↑ (หม่องทินอ่อน,ประวัติศาสตร์พม่า,หน้า 37)
- ↑ (หม่องทินอ่อน,ประวัติศาสตร์พม่า,หน้า 57)
- ↑ (หม่องทินอ่อน,ประวัติศาสตร์พม่า,หน้า 244)
- ↑ (หม่องทินอ่อง,หน้า 100)
- ↑ พระปลัดระพิน พุทธิสาโร (เขียนร่วม). พระพุทธศาสนาในประเทศพม่า : นิกาย การปกครอง และสมณศักดิ์-Buddhism in Myanmar : Sect, Controlling, and Priest’s Ranks. วารสาร มจร สังคมศาสตร์ปริทรรศน์ . ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 (ฉบับพิเศษ) เมษายน – มิถุนายน 2561 Vol.7 No.2 (Special Issue) April- June 2017
- ↑ (สุชาติ หงษา ดร.,ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา,กรุงเทพ: ธรรมสภา,2549,หน้า 74)
- ↑ (อาทร จันทวิมล ดร., ประวัติของแผ่นดิน,กรุงเทพ : โรงพิมพ์อักษรไทย,2548,หน้า 55)
- ↑ (วิรัช นิยมธรรม,ประวัติพระพุทธศาสนาในพม่า )
- ↑ (พระธัมมานันทมหาเถระ,การศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศพม่า,กรุงเทพ ฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย : 2534 ,หน้า 264 )
- ↑ ( โรเบิร์ต เอช เทย์เลอร์ ( พรรณงาม เง่าธรรมสาร แปล ), รัฐในพม่า ,มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ,2550 หน้า 42)
- ↑ (สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน,กรุงเทพฯ : , มหามกุฎราชวิทยาลัย ,2539,หน้า 11)
- ↑ (สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน ,หน้า 12)
- ↑ (โรเบิร์ต เอช เทย์เลอร์ (พรรณงาม เง่าธรรมสาร แปล ), รัฐในพม่า ,มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย,2550,หน้า 70)
ดูเพิ่ม
แก้- Aung-Thwin, Michael (1985). Pagan: The Origins of Modern Burma, University of Hawaii Press, Honolulu, ISBN 0824809602
- Bischoff, Roger (1995). Buddhism in Myanmar-A Short History, Kandy, Sri Lanka: Buddhist Publication Society. ISBN 955-24-0127-5
- Charney, Michael W. (2006). Powerful Learning. Buddhist Literati and the Throne in Burma's Last Dynasty, 1752-1885. Ann Arbor: The University of Michigan. (Description[ลิงก์เสีย])
- "The Constitution of the Union of Burma". DVB Multimedia Group. 1947. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 June 2006. สืบค้นเมื่อ 7 July 2006.
- Ferguson, J.P. & Mendelson, E.M. (1981). "Masters of the Buddhist Occult: The Burmese Weikzas". Contributions to Asian Studies 16, pp. 62–88.
- Hlaing, Maung Myint (August 1981). The Great Disciples of Buddha. Zeyar Hlaing Literature House. pp. 66–68.
- Matthews, Bruce "The Legacy of Tradition and Authority: Buddhism and the Nation in Myanmar", in: Ian Harris (ed.), Buddhism and Politics in Twentieth-Century Asia. Continuum, London/New York 1999, pp. 26–53.
- Pranke, Patrick (1995), "On Becoming a Buddhist Wizard," in: Buddhism in Practice, ed. Donald S. Lopez, Jr., Princeton: Princeton University Press, ISBN 978-8121508322
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Nibbana.com - Books and Articles by Myanmar Monks and Scholars for English-speaking Readers
- Buddhism in Myanmar BuddhaNet
- Buddhism in Myanmar G Appleton 1943
- Saddhamma Foundation Information about practising Buddhist meditation in Burma.
- The Life of the Buddha in 80 Scenes from the Ananda Temple,Bagan,Myanmar เก็บถาวร 2013-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Buddha's Irresistible Maroon Army Dr Michael W Charney, SOAS, TIMESONLINE, 14 December 2007
- MyanmarNet Myanmar Yadanar Dhamma Section: Dhamma Video Talks in English or Myanmar by Venerable Myanmar Monks