พิพิธบางลำพู เป็นศูนย์การเรียนรู้และห้องสมุดชุมชน ตั้งอยู่บน ถนนพระสุเมรุ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นโดย กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง แต่เดิมคือ โรงพิมพ์คุรุสภา (โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช) เป็นสถานที่ฝึกสอนช่างพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทยและเป็นโรงพิมพ์ตำราเรียน สังกัดองค์การค้าคุรุสภา ภายหลังมีการยุบโรงพิมพ์คุรุสภา กรมธนารักษ์ จึงปรับปรุงอาคารซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งนี้ให้เป็น “พิพิธบางลำพู” เมื่อปี พ.ศ. 2555 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาชุมชนบางลำพูให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ และเป็นศูนย์การเรียนรู้เชิงการศึกษาวัฒนธรรมชุมชน

ประวัติ

แก้

พิพิธบางลำพู ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 1 ไร่เศษ เดิมเป็นบ้านของพระยานรนารถภักดีศรีรัษฎากร หรือ เอม ณ มหาไชย อธิบดีกรมการคลัง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมา ในปี พ.ศ. 2467 กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอใช้เป็นที่เก็บหนังสือ บัญชี สิ่งของของห้างเยอรมันและออสเตรีย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2468 กรมตำรากระทรวงศึกษาธิการได้ขอใช้เป็นร้านกลางสำหรับจำหน่ายแบบเรียน จึงมีการรื้อและซ่อมแซมอาคารเดิม โดยปรับปรุงอาคารด้าน ริมถนนพระสุเมรุ (กำแพงพระนคร) เป็นโรงพิมพ์ชั้นเดียว แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2469 เป็นโรงพิมพ์กรมตำรา มีการสั่งซื้อเครื่องพิมพ์จากบริษัท บาโรว บาวน์ จำกัด มาจัดพิมพ์แบบเรียนเลข ภูมิศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 อาคารชำรุด จึงได้ทำการซ่อมแซมปรับปรุงอีกครั้ง โดยรองอำมาตย์เอก หลวงไมตรีวานิช ได้รับพระบรมราชานุญาตให้รื้อกำแพงพระนครที่ติดโรงพิมพ์ออกและในเวลาเดียวกันนั้น ยังมีการปรับปรุงเรือนไม้ริมคลองทางด้านทิศตะวันออก เพื่อใช้เป็น ที่เก็บกระดาษ

ในปี พ.ศ. 2475 กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเปิดโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช นับเป็นโรงเรียนสอนวิชาการพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย รับนักเรียนที่จบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรียนตามหลักสูตร 3 ปี ภาคเช้ามีการสอนทฤษฎี ภาคบ่ายฝึกให้นักเรียนได้พิมพ์งานจริง โดยสร้างอาคารด้านหน้าที่ติดกับถนนพระสุเมรุเป็นอาคารคอนกรีตรูปตัวแอล (L) เป็นอาคารแบบเบาเฮ้าส์ (Bauhaus) มีลักษณะเรียบง่าย บันไดภายในและพื้นเป็นไม้ รวมทั้งมีการก่อสร้างโรงงานของโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช บริเวณริมคลองบางลำพู ข้างซอยวัดสังเวชฯ เป็นอาคารเรือนไม้ 2 ชั้น รูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้า กว้าง 7 เมตรยาว 23 เมตร และยังสร้างซุ้มประตูคอนกรีตตรงมุม ใกล้ปากซอยวัดสังเวช โดยทั้งหมดเป็นการออกแบบของพระสาโรชรัตนนิมมานก์ และควบคุมการก่อสร้างโดยหลวงวิศาลศิลปกรรม

ในปี พ.ศ. 2489 โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชต้องยุติการสอนลงเนื่องจากมีนักเรียนเหลือน้อยและมีภาระการจ้างครูรวมถึงภาระอื่นๆ คณะกรรมการควบคุมและดำเนินการองค์การค้าคุรุสภา ลงมติให้เปลี่ยนจากทั้งโรงเรียนและโรงพิมพ์ มาเป็นโรงพิมพ์เพียงด้านเดียว พ.ศ. 2493 โรงพิมพ์แห่งนี้จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อโรงพิมพ์คุรุสภา สังกัดองค์การค้าคุรุสภา รับงานพิมพ์ทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานราชการอื่นๆ จากนั้นในปี พ.ศ. 2501 องค์การค้าคุรุสภา ได้สร้างโรงพิมพ์แห่งใหม่ขึ้นที่ถนนลาดพร้าว ในช่วงแรกใช้โรงพิมพ์ทั้งสองแห่งจนถึงปี พ.ศ. 2516 จึงได้เลิกการพิมพ์ที่โรงพิมพ์คุรุสภา ถนนพระสุเมรุ เหลือเพียงใช้เป็นคลังสินค้าของครุสภา จนหมดสัญญาเช่า และส่งคืนพื้นที่แก่กรมธนารักษ์เมื่อปี พ.ศ. 2538 ภายหลังการยุบโรงพิมพ์คุรุสภา พื้นที่นี้จึงร้างลง ในปี พ.ศ. 2541 – 2543 มีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อสร้างสวนสาธารณะ ทำให้อาคารไม้หลังที่อยู่ติดซอยทางเข้าชุมชนวัดสังเวชฯ ถูกรื้อถอนไป ประชาชนได้เห็นความสำคัญของอาคารเก่าแก่ และแสดงความประสงค์จะใช้สถานที่ให้เกิดประโยชน์ ในที่สุดกรมศิลปากรได้ประกาศให้โรงพิมพ์คุรุสภาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และในปี พ.ศ. 2555 กรมธนารักษ์ได้ปรับปรุงพื้นที่แห่งนี้เป็น “พิพิธบางลำพู” ศูนย์การเรียนรู้กรมธนารักษ์และห้องสมุดชุมชน

พื้นที่จัดแสดง

แก้

พิพิธบางลำพู ออกแบบพื้นที่ภายในแบบ “ยูนิเวอร์แซล ดีไซน์” เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือเด็ก จัดทำอักษรเบรลล์ให้แก่ผู้พิการทางสายตา และอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างประเทศด้วยการจัดทำบรรยายเสียงข้อมูล 7 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษ เยอรมัน และภาษาฝรั่งเศส แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วน ตามอาคาร 2 หลัง คืออาคารปูนรูปตัวแอล (L) และอาคารเรือนไม้ 2 ชั้น

  • อาคารปูนรูปตัวแอล (L) ออกแบบทางลาดเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา
  • อาคารเรือนไม้ 2 ชั้น

อาคารปูนรูปตัวแอล (L)

แก้

ภายในอาคารมีการจัดแสดงนิทรรศการตามเนื้อหาประวัติศาสตร์ มีเทคโนโลยีทันสมัยเพื่อให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วมในการเลือกดูข้อมูลด้วย โดยอาคารออกแบบเป็นสองชั้นและแบ่งเป็นห้องนิทรรศการต่างๆ ดังนี้

นิทรรศการเอกบรมองค์ราชินี

เอกบรมองค์ราชินี (นิทรรศการหมุนเวียน)

จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ณ มหามงคลสมัยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2555

นิทรรศการป้อมเขตขัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

  • คู่บารมีพระภูมินทร์ พระมเหสีคู่พระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
  • บรมราชินีนาถแห่งแผ่นดิน แม่ของปวงประชาชาวไทยที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ คอยคลายทุกข์บำรุงสุขให้กับราษฎร
  • ปิ่นองค์ขัตติยราช พระมารดาที่คอยอบรมพระราชโอรสและพระธิดา ซึ่งองค์ขัตติยราชทรงน้อมนำมาเป็นแบบอย่างในการประกอบกิจต่างๆ

ธนารักษ์เทิดไท้องค์ราชินี ภารกิจกรมธนารักษ์ทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในวาระต่างๆ เช่น การจัดสร้างเหรียญที่ระลึก

ป้อมเขตขัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับแนวกำแพงเมือง โบราณสถานท้องถิ่นบางลำพู ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และมีความสัมพันธ์กับชุมชนมาช้านาน จนเป็นที่มาของนิทรรศการ "ป้อมเขตขัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์" เป็นเรื่องราวของแนวกำแพงเมืองซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เป็นการเกริ่นนำให้ผู้ชมรู้จักบางลำพูในฐานะเป็นชุมชนซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ประวัติศาสตร์ นับแต่เริ่มสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่ของประเทศสยาม และเป็นพื้นที่ที่ยังรักษาป้อมปราการ “ป้อมพระสุเมรุ” ไว้ได้ จากป้อมปราการ 14 ป้อม ที่ถูกรื้อทิ้งไปจนเหลือเพียง 2 ป้อมในปัจจุบัน

สืบสานคุณค่าธนารักษ์

จัดแสดงบทบาทหน้าที่ของกรมธนารักษ์ ที่รับผิดชอบงานทั้ง 4 ด้าน คือ การผลิตและบริหารเหรียญกษาปณ์ การดูและรักษาและจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน การประเมินราคาทรัพย์สิน และการบริหารที่ราชพัสดุ 

อาคารเรือนไม้ 2 ชั้น

แก้

เป็นอาคารไม้รูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้า ชั้นบนจัดแสดงเรื่องราวและวิถีชีวิตก่อนเก่าของชาวบางลำพู สะท้อนวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ควรค่าแก่การรักษาไว้ ผ่านนิทรรศการชุมชนบางลำพู และประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งชาวชุมชนบางลำพูได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ที่ทรงประทานพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุภายในองค์พระตรงพระอุระเบื้องซ้าย และประทานนามให้ว่า "พระพุทธบางลำพู-ประชานาถ" มีความหมายว่าที่พึ่งของชาวบางลำพู 

ชั้นล่างได้จำลองบรรยากาศของห้องเรียนโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชในสมัยก่อน เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการพิมพ์หนังสือในประเทศไทย และมีห้องสมุดชุมชนบางลำพู ซึ่งรวบรวมหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์บางลำพูและหนังสืออื่นๆ รวมถึงหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ บริการให้แก่ประชาชนที่สนใจด้วย

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
    • พิพิธบางลำพู ที่เฟซบุ๊ก
    • พิพิธบางลำพู
    • ส่วนเผยแพร่ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์