ปืนใหญ่จอมสลัด
ปืนใหญ่จอมสลัด ภาพยนตร์แนวแฟนตาซีอิงประวัติศาสตร์ของ นนทรีย์ นิมิบุตร ทุนสร้าง 140 ล้านบาท เขียนบทภาพยนตร์โดย วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรต์ และคงเดช จาตุรันต์รัศมี
ปืนใหญ่จอมสลัด | |
---|---|
โปสเตอร์ภาพยนตร์ | |
กำกับ | นนทรีย์ นิมิบุตร |
เขียนบท | วินทร์ เลียววาริณ คงเดช จาตุรันต์รัศมี |
อำนวยการสร้าง | สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ รอน พอล ไฟน์แมน นนทรีย์ นิมิบุตร |
นักแสดงนำ | สรพงษ์ ชาตรี จารุณี สุขสวัสดิ์ อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม ชูพงษ์ ช่างปรุง เจษฎาภรณ์ ผลดี ณัฐรดา อภิธนานนท์ แอนนา แฮมบาวริส เอก โอรี วินัย ไกรบุตร จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม อรรถพร ธีมากร ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ ชาติชาย งามสรรพ์ สุวินิต ปัญจมะวัต พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์ มนัสนันท์ พัชรโสภาชัย เมสิณี แก้วราตรี อริสา สนธิรอด |
กำกับภาพ | ณัฐกิตติ์ ปรีชาเจริญวัฒน์ ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ (ที่ปรึกษา) |
ตัดต่อ | นนทรีย์ นิมิบุตร |
ดนตรีประกอบ | ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ |
ผู้จัดจำหน่าย | สหมงคลฟิล์ม |
วันฉาย | 23 ตุลาคม พ.ศ. 2551 |
ความยาว | 114 นาที |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
ทุนสร้าง | 140 ล้านบาท[1] |
ทำเงิน | 74.8 ล้านบาท |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทย | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
เรื่องย่อ
แก้เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ 400 ปีก่อน องค์หญิงฮีเจา (จารุณี สุขสวัสดิ์) ธิดาคนโตขึ้นเป็นรายาสตรีองค์แรกแห่งลังกาสุกะ ภายหลังจากที่รายาบาฮาดูร์ ชาห์ ถูกลอบปลงพระชนม์ ซึ่งลังกาสุกะเป็นรัฐอิสระที่อยู่รายล้อมกลุ่มกบฏและโจรสลัดต่าง ๆ จนยานิส บรี (Andre Machielsen) ปราชญ์แห่งอาวุธชาวดัตช์ เดินทางมาพร้อมกับ ลิ่มเคี่ยม (จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม) ลูกศิษย์ นักประดิษฐ์ชาวจีน เพื่อนำมหาปืนใหญ่ ถวายรายาฮีเจาใช้ป้องกันบ้านเมือง แต่ก็กลับถูกกลุ่มโจรสลัดนำโดย เจ้าชายราไว (เอก โอรี) และ อีกาดำ (วินัย ไกรบุตร) จอมสลัดผู้มีวิชาดูหลำ ซุ่มโจมตีจนเรือฮอลันดาแตก ยานิส บรีถึงแก่ความตาย ส่วนมหาปืนใหญ่จมลงสู่ก้นทะเล แต่ศิษย์ของเขาลิ่มเคี่ยมรอดชีวิตมาได้
ในเหตุการณ์วันนั้น ปารี (อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม) เด็กที่ลอยมาจากทะเลซึ่งพ่อแม่ของเขาตายจากฝีมือของอีกาดำ โดยมีลิ่มเคี่ยมซึ่งช่วยชีวิตปารีในครั้งนั้นไว้ได้ เมื่อเขาเติบโตเป็นหนุ่มชาวเล เขาและลิ่มเคี่ยมที่ประดิษฐ์อาวุธพิสดารมากมาย และตั้งกลุ่มก่อกวนตัดกำลังโจรสลัดขึ้น
ในขณะที่ลังกาสุกะ ได้ให้ อูงู (แอนนา แฮมบาวริส) น้องสาวคนเล็ก อภิเษกกับ เจ้าชายปาหัง (เจษฎาภรณ์ ผลดี) เพื่อให้เป็นแผ่นทองเดียวกัน แต่อูงูก็ไม่เต็มใจนักขณะที่ยะรังนั้นกลับตกหลุมรัก บิรู (ณัฐรดา อภิธนานนท์) องค์หญิงคนรอง แต่ไม่เผยความรู้สึกออกมา
เมื่อองค์หญิงฮีเจาต้องการหาผู้ช่วยที่ร่วมสร้างมหาปืนใหญ่ โดยจะตามหาลิ่มเคี่ยม ลูกศิษย์ของยานิส บรี ที่หมู่บ้านชาวเลโดยให้น้องสาวทั้งสองเดินทางมากับองครักษ์และลิ่มกอเหนี่ยว (มนัสนันท์ พัชรโสภาชัย) น้องสาวของลิ่มเคี่ยมที่เดินทางมาจากประเทศจีนเพื่อตามหาพี่ชาย แต่ก็เจอกับกลุ่มโจรสลัดอีกาดำที่มาทำลายหมู่บ้าน ฆ่าทุกคนตายจนหมด จนมีการต่อสู้กันระหว่างโจรสลัดอีกาดำและกลุ่มองค์หญิงและปารี ปารีและอูงูได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์กระเบนขาว (สรพงษ์ ชาตรี) ปรมาจารย์ทางดูหลำ และติดอยู่ที่เกาะกระเบน บ้านของอาจารย์กระเบนขาวในระหว่างหน้ามรสุม ปารีได้พบกับกระเบนดำ (สรพงษ์ ชาตรี) ซึ่งเป็นด้านมืดของกระเบนขาว ได้พบเห็นความน่ากลัวของวิชาดูหลำที่มีทั้งด้านสว่างที่ทรงพลังและด้านมืดที่น่ากลัว จนยากต่อการควบคุม และได้ฝึกฝนวิชาดูหลำชั้นสูงจากกระเบนขาว ในระหว่างฤดูมรสุมนั้น ปารีกับอูงูก็มีความรักต่อกัน
ขณะเดียวกันลิ่มเคี่ยม ถูกจับตัวเป็นเชลยของกลุ่มสลัดและถูกบังคับให้ต้องสร้างปืนใหญ่ขึ้นมาเพื่อทำลายรัฐลังกาสุกะ โดยกลุ่มโจรนำน้องสาวของเขาจับเป็นตัวประกันกักขังไว้เป็นข้อต่อรอง ทางฝั่งลังกาสุกะเมื่อรู้ที่ซ่อนตัวของโจรอีกาดำจึงเดินทางเข้ามาซุ่มโจมตี ขณะที่ทั้งปารีและอูงูเห็นการทดลองปืนใหญ่จึงซุ่มเข้ามาเช่นกัน เมื่อมีการต่อสู้กันเจ้าชายราไว ก็ถึงขนาดปางตาย ทำให้อาจารย์กระเบนขาวซึ่งเป็นพ่อแท้ ๆ ของเจ้าชายราไวถูกด้านมืดเข้าครอบงำ ใช้วิชาทำให้เจ้าชายราไวรอดตาย และยังใช้วิชาดูหลำงมมหาปืนใหญ่จากใต้ทะเลมาได้
เมื่อสงครามเกิดขึ้นลังกาสุกะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะถูกมหาปืนใหญ่ในตำนานทำลายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังมีหนอนบ่อนไส้อีก แต่ก็ได้ลิ่มเคี่ยมก็ได้สร้างปืนใหญ่มหาลาโลขึ้นมาใช้ในการต่อกร ทั้งยังได้ความช่วยเหลือจากเจ้าชายปาหัง และปารีก็ใช้วิชาดูหลำทำให้มหาปืนใหญ่ลงดิ่งสู่ใต้ทะเลอีกครั้ง
นักแสดง
แก้ฝ่ายลังกาสุกะ
แก้- จารุณี สุขสวัสดิ์ เป็น รายาฮีเจา
- ณัฐรดา อภิธนานนท์ เป็น องค์หญิงบิรู
- แอนนา รีส เป็น องค์หญิงอูงู
- ชูพงษ์ ช่างปรุง เป็น ยะรัง
- สุวินิต ปัญจมะวัต เป็น สาโมง
ฝ่ายชาวเล
แก้- สรพงษ์ ชาตรี เป็น กระเบนขาว
- อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม เป็น ปารี
- จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม เป็น ลิ่มเคี่ยม
- มนัสนันท์ พัชรโสภาชัย เป็น ลิ่มกอเหนี่ยว
- ปรีชา เกตุคำ เป็น อันยา
- เมสินี แก้วราตรี เป็น บินตัง (เมียปารี)
- พรทิพย์ ปาปะนัย เป็น แม่ปารี
- ด.ช. กัณฑ์เอนก นัยนาประเสริฐ เป็น ปารี (เด็ก)
ฝ่ายโจรสลัด
แก้- เอก โอรี เป็น เจ้าชายราไว
- วินัย ไกรบุตร เป็น อีกาดำ
- อริสา สนธิรอด เป็น เมียอีกาดำ
- ทิฐิ มิเกลลี เป็น บัวสกา
นักแสดงรับเชิญ
แก้- Andre Machielsen เป็น ยานิส บรี
- เจษฎาภรณ์ ผลดี เป็น เจ้าชายปาหัง,อับดุลกาฟูมูไอดิม
- อรรถพร ธีมากร เป็น หัวหน้าโจรสลัดชวา
- ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ เป็น หัวหน้าโจรสลัดยะฮอร์
- ชาติชาย งามสรรพ์ เป็น ราชทูตจากสงขลา
- พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์ เป็น สนมรายาบาฮาดูร์ ชาห์ (แม่ราไว)
งานสร้างภาพยนตร์
แก้บทภาพยนตร์
แก้บทภาพยนตร์เรื่อง ปืนใหญ่จอมสลัด เขียนขึ้นโดยนักเขียนรางวัลซีไรต์ วินทร์ เลียววาริณ โดยนนทรีย์ที่เป็นแฟนหนังสือคุณวินทร์มานานแล้ว ติดต่อ เชิญให้มาเขียนบท โดยมีรูปแบบของนวนิยายอิงประวัติศาสตร์บวกกับกำลังภายใน แฟนตาซี และนิยายรัก[2] โดยใช้เวลาเขียนบทไม่ต่ำกว่า 3 ปี[3] โดยวินทร์ เลียววาริณได้รับแนวความคิดจากนนทรีย์ว่าอยากจะทำเรื่องเกี่ยวกับโจรสลัดในภาคใต้ของไทย ที่เกิดขึ้นแถวเกาะตะรุเตา พอวินทร์เริ่มเขียนบทได้ระยะหนึ่ง ก็พบข้อมูลใหม่ว่าภาคใต้มีโจรสลัดในช่วง 400 ปีก่อน จึงเกิดเป็นเนื้อเรื่องของโครงเรื่องนี้[4]
สถานที่ถ่ายทำ
แก้ภาพยนตร์เรื่อง ปืนใหญ่จอมสลัด ใช้เวลาเตรียมงานสร้างและถ่ายทำร่วม 5 ปี มีทีมงานกว่า 1,000 ชีวิต โดยทีมงานเลือกใช้สถานที่ทางทะเลหลายแห่งในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ที่ เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่สร้างเป็นหมู่บ้านชาวเล โดยใช้เวลาสร้าง 3 เดือน และฉากหมู่บ้านข้าง ๆ ที่เป็นลักษณะของท่าเรืออีก 1 เดือน รวมเป็น 4 เดือนกว่า แต่เมื่อสร้างเสร็จก็โดนพายุพังหมดจึงต้องสร้างใหม่อีก 2 เดือน โดยฉากหมู่บ้านได้รับแนวคิดมาจากหมู่บ้านชาวเลแถบเกาะบอร์เนียว สร้างบ้านเกือบ 20 หลัง แบบสร้างและถอดได้[5]
ฉากที่ถ่ายทำที่ อ.สัตหีบ เพื่อถ่ายทำเรื่องราวในส่วนกลางทะเลและกำแพงวัง และจังหวัดกระบี่และพังงา เพื่อถ่ายทำฉากถ้ำบนเกาะ ส่วนฉากอื่น ๆ ในเรื่องเช่น ภายในพระราชวังลังกาสุกะ ไปจนถึงการสู้รบบนเรือโจรสลัด ด้วยการสร้างเรือหลายรูปแบบที่สามารถใช้ได้จริง ฉากถ้ำอีกา ถ่ายทำที่ถ้ำลูกเสือพังงาและที่ถ้ำสระยวนทองกระบี่ เป็นถ้ำที่คุมขัง ใช้เวลาในการเซตติ้ง 5-6 เดือนในการเซตฉากทั้งหมด ทั้งยังต้องสร้างเพิ่มเพราะบางถ้ำมีรูจึงต้องปิด[6]
อุปกรณ์ประกอบ
แก้เรื่องอุปกรณ์ประกอบ อย่างเรือ ทั้งเรือพวกฮอลันดาและเรือโจรสลัด ทีมงานลงทุนต่อเรือขึ้นมาโดยเฉพาะ ส่วนอาวุธของแต่ละฝ่ายจะมีความแตกต่างกัน อย่างเช่นอาวุธของฝ่ายลังกาสุกะจะมีความละเอียดงดงาม มีลวดลายแกะสลัก อาวุธของชาวน้ำมีความเรียบง่าย มีลวดลายเฉพาะตัว ในเรื่องเสื้อผ้า การแต่งกาย ฝ่ายลังกาสุกะอ้างอิงมาจากของจริง โดยส่งทีมงานค้นคว้าถึงประเทศมาเลเซีย โดยผสมงานเสื้อผ้าของมลายูกับไทย แต่จะออกไปทางมลายู โดยผ้าที่ใช้ต้องสั่งทอพิเศษโดยผ้าแต่ละผืนมาจากที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศไทย การแต่งกายของชาวน้ำจะไม่ซับซ้อน เป็นเสื้อผ้าง่าย ๆ เช่น นุ่งผ้าเตี่ยวและไม่ใส่เสื้อสำหรับผู้ชาย และจะเห็นรอยสักของทุกคน ที่ได้แนวความคิดจากชนเผ่าต่าง ๆ ในโลกเช่น เผ่าเมารี ที่รอยสักมีความหมายต่อพวกเขา และเสื้อผ้าฝ่ายโจรสลัดจะมีความเป็นนักรบมากกว่าชาวน้ำ มีเสื้อผ้าลักษณะหนังปลากระเบน เป็นเสื้อเกราะ นอกจากนี้ยังมีเสื้อผ้าโจรสลัดกลุ่มอื่น อย่าง โจรสลัดวาโกะจากญี่ปุ่น ออกแบบคล้ายนินจาและซามูไร และสลัดจากชวาและสลัดยะโฮร์อีกด้วย[4]
ปืนใหญ่ที่เป็นแรงบันดาลใจของภาพยนตร์เรื่องนี้มาจาก ปืนพญาตานี ที่ตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม มีปืนคู่แฝดที่ชื่อ ปืนศรีนคราและ ปืนมหาลาโล ซึ่งในประวัติศาสตร์ปืนเหล่านี้หล่อจากรัฐปัตตานี ผู้สร้างจึงนำเรื่องราวของปืนใหญ่และเพิ่มเติมความแฟนตาซีเข้าไป มหาปืนใหญ่นั้นได้รวมต้นแบบปืนใหญ่ 2 กระบอกที่ต่างมีข้อเด่นเรื่องระยะการยิงและพลังทำลายเข้าด้วยกัน ในส่วนรายละเอียดจะเห็นตราประทับของบริษัทวีโอซี ซึ่งเป็นบริษัทของชาวฮอลันดา ที่รับทำปืนใหญ่ในสมัยนั้น นอกจากนี้ปืนมหาลาโล ซึ่งทำโดยลิ้มโต๊ะเคี่ยมหรือลิ่มเคี่ยม ก็เป็นบุคคลตัวจริงในประวัติศาสตร์อีกด้วย โดยเป็นพี่ชายของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว[4]
การถ่ายทำ
แก้ฉากใต้น้ำ นักแสดงทุกคนเรียนการดำน้ำ เป็นคอร์สสั้น 2 อาทิตย์ เพื่อให้ชินกับการไม่หายใจหรือหายใจออกอย่างเดียว การถ่ายทำ ถ่ายทั้งในสระว่ายน้ำและในทะเลจริง[7] ใช้เวลาถ่ายทำฉากใต้น้ำ 3 เดือน[8] มีการใช้เทคนิคพิเศษด้านภาพ ภาพกว่า 2,000 ช็อต โดยบริษัท บลูแฟรี จำกัด[9]
การตอบรับ
แก้การออกฉายและรายได้
แก้ภาพยนตร์ออกฉายปฐมทัศน์ครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2008 เดเรก เอลเลย์ จาก นิตยสารวาไรอิตี พูดถึงว่า ภาพยนตร์ขาดการโฟกัสและด้วยความยาว 133 นาที ที่ยาวเกินไป[10] หลังจากการตอบรับสหมงคลฟิล์มจึงได้ทำให้สั้นลง และจากกำหนดการเดิมจากเดือนสิงหาคมเลื่อนไปเป็นเดือนตุลาคม ซึ่งทางผู้กำกับอธิบายว่าเพื่อหลีกเลี่ยงความตึงเครียดของเหตุการณ์การเมือง[11]
ภาพยนตร์ออกฉายในเทศกาลภาพยนตร์เวนิส และยังได้ออกฉายรอบกาล่า ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2008[12] โดยออกฉายรอบทั่วไปในประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2551 โดยเปิดตัวรายได้ในสัปดาห์แรกที่ 31.6 ล้านบาท[13] ทำรายได้รวม 74.8 ล้านบาท[14]
การตอบรับของนักวิจารณ์
แก้อภินันท์ บุญเรืองพะเนา จากผู้จัดการออนไลน์ พูดถึงหนังเรื่องนี้ว่า "มองโดยภาพรวมทั้งหมดแล้ว สามารถตอบโจทย์ของตัวเองได้ดีในความเป็นหนังแอ็กชั่นแฟนตาซี โดยเฉพาะจินตนาการในด้านแฟนตาซีนั้น แม้ไม่ถึงกับเรียกว่าบรรเจิดอะไรมาก แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็ดูน่าอัศจรรย์ใจที่ได้เห็น ขณะที่ความเป็นแอ็กชั่น สิ่งที่น่าให้คะแนนมากที่สุด"[15]
แป้งร่ำจากมติชนรายวันวิจารณ์ในส่วนบทหนังและการเล่าเรื่องไว้ว่า "บทหนังในครั้งแรกคือเขียนขึ้นมาสำหรับ 3 ภาค แต่เมื่อมารวบเป็นภาคเดียวอย่างนี้แล้ว กลวิธีและการเล่าเรื่องเลยจำเป็นที่จะต้องกระชับและรวมทุกอย่างไว้ให้อยู่ในเวลาอันจำกัด ทุกอย่างเลยต้องรวดเร็วไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการปูพื้นตัวละคร ลูกเล่นในการลำดับภาพ รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งหลายครั้งค่อนข้างจะเร็วเกินไป จนแทบจะตั้งตัวไม่ทัน เพราะเนื้อเรื่องค่อนข้างซับซ้อนอยู่ไม่น้อย" และในส่วนมิติตัวละครวิจารณ์ไว้ว่า "ดูรู้สึกเหมือนจะเกิดสภาวะแบ่งบทให้กับนักแสดงแต่ละคนที่ชื่อชั้นไม่ย่อย เลยเกิดความเหลื่อมล้ำและไร้มิติ หรือบางครั้งก็รู้สึกเหมือนมากเกินไปในบางตัวละครจนขัดอารมณ์"[16]
รางวัล
แก้ในงานแจกผลงานรางวัลสตาร์พิกส์อวอร์ด ครั้งที่ 6 ปืนใหญ่จอมสลัด ได้รับรางวัลสาขา กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม [17] ส่วนรางวัลอื่น ๆ ตามตารางด้านล่าง[18]
ผู้มอบรางวัล | สาขารางวัล | ผล |
---|---|---|
สตาร์พิคส์อวอร์ด | นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (สรพงษ์ ชาตรี) | เสนอชื่อเข้าชิง |
กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม | ได้รับรางวัล | |
ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง | |
รางวัลสุพรรณหงส์[19] | นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (สรพงษ์ ชาตรี) | เสนอชื่อเข้าชิง |
กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง | |
บันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยม | ได้รับรางวัล | |
ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง | |
เทคนิคการแต่งหน้ายอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง | |
ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง | |
การสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม | ได้รับรางวัล | |
รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง | นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (ณัฐรดา อภิธนานนท์) | เสนอชื่อเข้าชิง[20] |
กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม | ได้รับรางวัล[20] | |
ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง[20] | |
คมชัดลึกอวอร์ด | นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (ชูพงษ์ ช่างปรุง) | เสนอชื่อเข้าชิง[20] |
ดีวีดี
แก้ปืนใหญ่จอมสลัด ออกจำหน่ายในรูปแบบดีวีดีเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 จัดจำหน่ายโดยบริษัท แฮปปี้ โฮม เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ดีวีดี 1 แผ่น มีระบบภาพไวด์สกรีน 1.85:1 (Anamorphic) ระบบเสียงภาษาไทย Dolby Digital 5.1[21]
งานต่อยอด
แก้หลังจากที่ภาพยนตร์ออกฉาย ผู้เขียนบทภาพยนตร์ กวีซีไรต์ วินทร์ เลียววาริณ ออกผลงานเรื่อง บุหงาปารี นวนิยายที่มีเนื้อหาลงรายละเอียดจากในภาพยนตร์ในเนื้อหาเกี่ยวกับราช วงศ์ศรีวังสาบนคาบสมุทรมลายูเมื่อสี่ร้อยปีก่อน และยังมีเกร็ดประวัติศาสตร์รัฐทางใต้ จีน และญี่ปุ่น ที่ผูกเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์เข้ากับตำนานโบราณ[22]
อ้างอิง
แก้- ↑ Rithdee, Kong (2008-05-30). "A piece of the action". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2008-08-08.
- ↑ 'วินทร์' ออกงานเขียนใหม่ 'บุหงาปารี' ต่อยอดปืนใหญ่ dailynews.co.th
- ↑ ณัฎฐ์ธร กังวาลไกล, สัมภาษณ์วินทร์ เรียววาริณ และ อุ๋ย นนทรีย์ นิมิบุตร อย่างเจาะใจ thaicinema.org
- ↑ 4.0 4.1 4.2 "ปืนใหญ่จอมสลัด," นิตยสารสตาร์พิกส์ ฉบับแรกเดือนตุลาคม 2551 หน้า 58-65
- ↑ 'หมู่บ้านชาวเล' อีกฉากใหญ่ 'ปืนใหญ่จอมสลัด' dailynews.co.th
- ↑ 'อนันดา'ลุ้นระทึกฉากสุดมันส์ 'ระเบิดถ้ำอีกาดำ' dailynews.co.th
- ↑ 'อุ๋ย นนทรีย์' ฟุ้งส่งนักแสดง 'เรียนดำน้ำ' ก่อนถ่ายทำฉากใต้น้ำ 'ปืนใหญ่จอมสลัด dailynews.co.th
- ↑ “นนทรีย์ สุดท้าทาย3 เดือนตะลุยถ่ายฉากใต้น้ำใน “ปืนใหญ่จอมสลัด”[ลิงก์เสีย] gossipstar
- ↑ ปืนใหญ่ จอมสลัด The Queen of Lung-Gasuka เก็บถาวร 2008-09-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน mono2u.com
- ↑ Lee, Maggie (2008-05-21). "Queens of Langkasuka". The Hollywood Reporter. สืบค้นเมื่อ 2008-08-08.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "The Fun". newspaper article (ภาษาอังกฤษ). Daily Xpress (print edition only). 2008-06-30. p. 15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-30. สืบค้นเมื่อ 2008-11-01.
- ↑ Pajee, Parinyaporn (2008-07-31). "A fresh look". Daily Xpress. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-06. สืบค้นเมื่อ 2008-08-08.
- ↑ 200 ล้านของ "ปืนใหญ่จอมสลัด" นับหนึ่งที่ 31 ล้าน เก็บถาวร 2011-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผู้จัดการออนไลน์ 31 ตุลาคม 2551 18:18 น.
- ↑ มยุรี อำนวยพร, ที่สุดของหนังเด่น-หนังโดนแห่งปี เก็บถาวร 2008-12-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน dailynews.co.th
- ↑ อภินันท์ บุญเรืองพะเนา, ปืนใหญ่จอมสลัด : ทั้งน่าชื่นชม และ..น่าเสียดาย เก็บถาวร 2011-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผู้จัดการออนไลน์ 28 ตุลาคม 2551 13:32 น.
- ↑ แป้งร่ำ , ปืนใหญ่จอมสลัด ภาระบนความคาดหวัง มติชนรายวัน วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11185
- ↑ ประกาศผลรางวัล STARPICS THAI FILMS AWARDS # 6 (๒๕๕๑) เก็บถาวร 2009-01-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน deknang.com]
- ↑ ตารางเปรียบเทียบผู้ได้เข้าชิงภาพยนตร์ไทยปี 2552 thaicinema.org
- ↑ ผลรางวัล "สุพรรณหงส์"ครั้งที่ 18 เก็บถาวร 2014-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน daradaily.com
- ↑ 20.0 20.1 20.2 20.3 รางวัลหนังไทย 2552 thaicinema.org
- ↑ ดีวีดีปืนใหญ่จอมสลัด เก็บถาวร 2008-12-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน boomerangshop.com
- ↑ วินทร์ ออกงานเขียนใหม่ บุหงาปารี ต่อยอดปืนใหญ่