เลิศ ชินวัตร
เลิศ ชินวัตร (10 ตุลาคม พ.ศ. 2462 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2540) อดีตนักการเมืองชาวไทย เป็นบิดาของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 ของประเทศไทย และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 28 ของประเทศไทย
เลิศ ชินวัตร | |
---|---|
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ | |
ดำรงตำแหน่ง 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 – 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 10 ตุลาคม พ.ศ. 2462 อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ (มณฑลพายัพ) |
เสียชีวิต | 23 ตุลาคม พ.ศ. 2540 (78 ปี) |
พรรคการเมือง | พลังใหม่ |
คู่สมรส | ยินดี ชินวัตร (2486–2529) |
บุตร | เยาวลักษณ์ ชินวัตร ทักษิณ ชินวัตร เยาวเรศ ชินวัตร ปิยนุช ลิ้มพัฒนาชาติ อุดร ชินวัตร เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ พายัพ ชินวัตร มณฑาทิพย์ โกวิทเจริญกุล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทัศนีย์ ชินวัตร |
ประวัติ
แก้เลิศ เดิมมีชื่อว่า "บุญเลิศ แซ่คู"[1] เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2462 ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรคนที่ 4 จากบุตรจำนวน 12 คน ของนายเชียง (คู ชุนเชียง) และนางแสง ชินวัตร ชาวไทยเชื้อสายจีนแคะอพยพจากจังหวัดจันทบุรี จบการศึกษาจากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย หลังจากจบมัธยม 8 ได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ไม่สำเร็จการศึกษา เนื่องจากครอบครัวขาดผู้สืบทอดธุรกิจ[2]
ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับนางยินดี ชินวัตร (ระมิงวงศ์) ธิดาในเจ้าจันทร์ทิพย์ ณ เชียงใหม่ และนัดดาในเจ้าไชยสงคราม สมพมิตร ณ เชียงใหม่[3][4] มีบุตรธิดารวม 10 คน ได้แก่
- เยาวลักษณ์ ชินวัตร สมรสกับ พ.อ.(พิเศษ) ศุภฤกษ์ คล่องคำนวณการ
- ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย เคยสมรสกับคุณหญิง พจมาน ณ ป้อมเพชร (ดามาพงศ์)
- เยาวเรศ ชินวัตร เคยสมรสกับวีระชัย วงศ์นภาจันทร์
- ปิยนุช ลิ้มพัฒนาชาติ สมรสกับสง่า ลิ้มพัฒนาชาติ
- อุดร ชินวัตร
- เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ สมรสกับสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย
- พายัพ ชินวัตร สมรสกับพอฤทัย ชินวัตร (จันทรพันธ์)
- มณฑาทิพย์ โกวิทเจริญกุล สมรสกับ นพ.สมชัย โกวิทเจริญกุล
- ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของประเทศไทย สมรสกับอนุสรณ์ อมรฉัตร[5]
- ทัศนีย์ ชินวัตร (เสียชีวิตแล้ว)
เลิศ ชินวัตร เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ด้วยโรคระบบหายใจล้มเหลว สิริอายุได้ 78 ปี โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ([สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในขณะนั้น)และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540
การทำงาน
แก้เลิศ เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เพียงภาคเรียนเดียว ต้องกลับมาช่วยกิจการของครอบครัว คือ โรงงานทอผ้าไหมชินวัตรพาณิชย์ และธุรกิจตลาดสดสันกำแพง ต่อมาได้ประกอบกิจการหลายอย่าง เช่น รับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามต่างจังหวัด เปิดร้านกาแฟที่ห้องแถวไม้หน้าตลาดสันกำแพง ทดลองทำสวนส้มเขียวหวาน สวนฝรั่งและผลไม้เมืองหนาว หลังจากนั้น จึงมาทำงานที่ธนาคารนครหลวงไทย สาขาเชียงใหม่ ในตำแหน่งหัวหน้าสินเชื่อ ต่อมาร่วมหุ้นทำโรงภาพยนตร์ศรีวิศาลและได้ซื้อหุ้นไว้ทั้งหมด หลังจากนั้นได้สร้างโรงภาพยนตร์ชินทัศนีย์ ที่ถนนเจริญเมืองและซื้อกิจการรถเมล์วิ่งในตัวเมืองเชียงใหม่[2]
งานการเมือง
แก้เลิศ ชินวัตร เริ่มสนใจเล่นการเมืองท้องถิ่นเมื่อปี พ.ศ. 2510 เริ่มสมัครสมาชิกสภาจังหวัดเชียงใหม่และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาจังหวัด เขตอำเภอสันกำแพง ในปี พ.ศ. 2512 ลงรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ในสังกัดพรรคพลังใหม่และได้รับเลือก[6] แต่ในการเลือกอีกครั้งในปี พ.ศ. 2518 ไม่ได้รับเลือกตั้ง[7] ก่อนจะวางมือไปหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2513 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)[8]
อ้างอิง
แก้- ↑ หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์[ลิงก์เสีย]
- ↑ 2.0 2.1 นักการเมืองท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า.2551[ลิงก์เสีย]
- ↑ "รายพระนาม นาม เหล่าพระประยูรญาติ และ เชื้อสายเจ้าฝ่ายเหนือ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-14. สืบค้นเมื่อ 2011-11-09.
- ↑ "สังคมเมืองเชียงใหม่: ย่านถนนเจริญเมือง (๑๙)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-10. สืบค้นเมื่อ 2011-11-09.
- ↑ สุขสันต์วันแม่กับคำถาม ลูกชายของ "นายกฯปู" มีชื่อเล่นว่า "ไปค์" หรือ "ไปป์" ? เก็บถาวร 2012-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. มติชน. (12 สิงหาคม 2554). สืบค้น 12-8-2554.
- ↑ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่
- ↑ ตระกูลการเมือง-ชินวัตรเก็บถาวร 2011-11-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากกรุงเทพธุรกิจ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗๖๒, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๓
- หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพนายเลิศ ชินวัตรและสัมภาษณ์คุณเถาวัลย์ ชินวัตร