ถนนอุทยาน (อักษรโรมัน: Thanon Utthayan) หรือที่นิยมเรียกในชื่อเดิมว่า ถนนอักษะ เป็นถนนเชื่อมระหว่างถนนพุทธมณฑลสาย 3 ในพื้นที่แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ถึงถนนพุทธมณฑลสาย 4 ในตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีระยะทาง 3.98 กิโลเมตร ความกว้าง 90 เมตร พร้อมด้วยทัศนียภาพที่สวยงาม มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือ เสาโคมไฟรูปหงส์เรียงราย 2 ข้างทาง ที่มากถึง 979 ต้น และคูน้ำคั่นกลางความกว้าง 30 เมตร ที่มีน้ำพุเล่นระดับ 3 แห่ง จนได้ชื่อว่าเป็นถนนที่สวยที่สุดในประเทศไทย[1][2]

ถนนอุทยาน
Utthayan Road (24091313).jpeg
ข้อมูลของเส้นทาง
ความยาว3.98 กิโลเมตร (2.47 ไมล์)
มีขึ้นเมื่อ27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542–ปัจจุบัน
ทางแยกที่สำคัญ
ปลายทางทิศตะวันออกถ.พุทธมณฑล สาย 3 ใน เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร
 ถ.ทวีวัฒนา ใน เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร
ปลายทางทิศตะวันตก ถ.พุทธมณฑล สาย 4 ใน อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม
ถนนอุทยานในช่วงตัดกับถนนพุทธมณฑล สาย 4

ถนนอุทยานหรือเดิมชื่อถนนอักษะ เป็นถนนที่สร้างมุ่งไปพุทธมณฑล ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างใน พ.ศ. 2498 สมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (พ.ศ. 2500) โดยเริ่มดำเนินการเวนคืนที่ดินของราษฎรเพื่อสร้างถนนตั้งแต่ พ.ศ. 2494 แต่การก่อสร้างพุทธมณฑลและถนนอักษะได้หยุดชะงักไปเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจใน พ.ศ. 2500 ต่อมาในสมัยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เริ่มรื้อฟื้นโครการพุทธมณฑลขึ้นเนื่องจากใกล้การเฉลิมฉลองโอกาสที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปีใน พ.ศ. 2525 และเสร็จสมบูรณ์ในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนถนนอักษะได้รับอนุมัติให้ลงมือก่อสร้างในสมัยที่นายบรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

โครงการก่อสร้างถนนอักษะเป็นโครงการหนึ่งที่กรุงเทพมหานครดำเนินการเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในการฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ใน พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสง่างามแก่พุทธมณฑลซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ และอำนวยความสะดวกในพระราชพิธีที่พุทธมณฑล ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 1,068,987,571 บาท (ถือเป็นถนนที่ใช้งบประมาณในการสร้างสูงที่สุดในประเทศไทยด้วย[1]) และเสร็จสมบูรณ์เปิดให้ประชาชนใช้ได้ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542

สำหรับชื่อถนนอักษะซึ่งมาจากภาษาอังกฤษว่า "Axis" แปลว่า "แกนกลาง" นั้นเป็นคำที่ใช้เรียกหมายถึงประเทศฝ่ายอักษะ คือ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งทำสงครามกับฝ่ายพันธมิตร คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และรัฐบาลในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะ เมื่อสร้างถนนเสร็จแล้ว กรุงเทพมหานครได้ประสานงานกับกรมศิลปากรในเรื่องชื่อถนนอักษะ ซึ่งกรมศิลปากรได้แนะนำให้ใช้ชื่อว่า ถนนอักษะ ซึ่งแปลว่าแกนกลาง เนื่องจากเป็นถนนเชื่อมระหว่างถนนพุทธมณฑลสาย 3 กับถนนพุทธมณฑลสาย 4 ต่อมากรุงเทพมหานครได้ประสานงานกับกรมศิลปากรเพื่อขอพระราชทานชื่อถนนจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อถนนว่า "ถนนอุทยาน" ซึ่งเป็นชื่อที่สัมพันธ์กับพุทธมณฑล

ในเทศกาลสงกรานต์สมัยปัจจุบัน ถนนอุทยานรวมถึงถนนเลียบคลองทวีวัฒนาที่อยู่ใกล้เคียงกัน นิยมใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมและเล่นสาดน้ำเช่นเดียวกับ ถนนข้าวสารในเขตพระนคร และถนนสีลมในเขตบางรัก[3] แต่ในปี พ.ศ. 2560 ได้ถูกงดเว้นเนื่องจากกรุงเทพมหานครกังวลเรื่องในด้านความปลอดภัย[4]

ในช่วง วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 ถนนอุทยานเป็นสถานที่จัดการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง โดยจัดการชุมนุมที่ถนนแห่งนี้ 2 ครั้ง ในวันที่ 5–6 เมษายน พ.ศ. 2557 และครั้งต่อมาในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งชุมนุมต่อเนื่องจนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สถานที่ใกล้เคียง

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 กรุงเทพมหานคร, แฟนพันธุ์แท้. เกมโชว์ทางช่อง 5: ศุกร์ที่ 5 เมษายน 2545
  2. "ที่นี่ทีวีไทย". tvjaa.com. 4 April 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-29. สืบค้นเมื่อ 5 April 2014.
  3. "ย้อนอดีต 'เทศกาลสงกรานต์' รดน้ำอวยพร..ไม่ใช่สาดน้ำอย่างบ้าคลั่ง". สยามธุรกิจ.
  4. "กทม.สั่งงดเล่นสงกรานต์ ถนนอักษะ-เลียบคลองทวี". เดลินิวส์. 2017-04-09.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°46′41″N 100°20′52″E / 13.778192°N 100.347753°E / 13.778192; 100.347753