ถนนประดิษฐ์มนูธรรม
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ถนนประดิษฐ์มนูธรรม (อักษรโรมัน: Thanon Pradit Manutham) เป็นถนนเลียบทางพิเศษฉลองรัช (ทางด่วนสายรามอินทรา-อาจณรงค์หรือทางด่วนหมายเลข 3) เป็นถนนสายหลักสายหนึ่งที่เชื่อมระหว่างในเมืองกับชานเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพมหานคร

ชื่อถนน "ประดิษฐ์มนูธรรม" ตั้งตามราชทินนามของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) รัฐบุรุษอาวุโส ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 หัวหน้าขบวนการเสรีไทย และผู้นำพลเรือนในคณะราษฎร เพื่อสดุดีเกียรติคุณของท่านในฐานะบุคคลสำคัญของชาติและในวาระที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ประกาศให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลกใน พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของท่าน โดยกรุงเทพมหานครเป็นผู้จัดสร้างและดูแลรักษาถนนสายนี้
เมื่อ พ.ศ. 2546 กรุงเทพมหานครได้ให้ทางเขตวังทองหลางและเขตห้วยขวางเปลี่ยนชื่อถนนประดิษฐ์มนูธรรมเฉพาะช่วงถนนพระราม 9 ถึงถนนลาดพร้าวเป็นชื่อ "ถนนประเสริฐมนูกิจ" โดยให้เหตุผลว่าถนนสายนี้มีความยาวมาก ทำให้การระบุที่อยู่และชื่อผู้รับทางไปรษณีย์ทำได้ไม่สะดวก อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนชื่อถนนประดิษฐ์มนูธรรมช่วงดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเสียงคัดค้านขึ้นทั่วไป ทางคณะกรรมการกลางตั้งชื่อถนน ตรอก ซอย วงเวียน ทางแยก คลอง สะพาน และสถานที่สำคัญในเขตกรุงเทพมหานครจึงได้พิจารณาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547 และให้เปลี่ยนชื่อถนนประเสริฐมนูกิจกลับมาเป็นถนนประดิษฐ์มนูธรรมตามเดิม
ถนนประดิษฐ์มนูธรรมมีความยาว 12 กิโลเมตร เริ่มต้นจากปลายซอยสุขุมวิท 63 (เอกมัย) ในพื้นที่เขตห้วยขวาง มุ่งเหนือค่อนตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดผ่านถนนพระราม 9 ข้ามคลองลาดพร้าวเข้าสู่พื้นที่เขตวังทองหลาง ตัดกับถนนประชาอุทิศและถนนลาดพร้าว ข้ามคลองทรงกระเทียมเข้าสู่เขตลาดพร้าว (ฟากตะวันออกของถนนกลายเป็นเส้นแบ่งเขตปกครองระหว่างเขตลาดพร้าวกับเขตวังทองหลาง เขตบางกะปิ และเขตบึงกุ่มตั้งแต่จุดนี้) จากนั้นตัดกับถนนประเสริฐมนูกิจ ข้ามคลองโคกครามเข้าสู่พื้นที่เขตบางเขน และไปสิ้นสุดเส้นทางที่ถนนรามอินทราบริเวณกิโลเมตรที่ 5.5 ถนนมีความกว้าง 6 ช่องจราจร (ขาเข้าและขาออกอย่างละ 3 ช่องจราจร) มีเกาะกลางถนน โดยมีทางด่วนยกระดับอยู่บนเกาะกลางถนนช่วงตั้งแต่ถนนพระราม 9 ถึงถนนรามอินทรา กล่าวได้ว่าถนนสายนี้ขนานขนาบทางด่วน ชาวบ้านจึงมักเรียกว่า "ถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา" มีสะพานลอยรถข้ามทางแยกบริเวณจุดตัดถนนลาดพร้าวและถนนประเสริฐมนูกิจด้วย
ถนนสายนี้ยังมีทางจักรยานขนานไปกับทางเท้าริมถนน เป็นตัวอย่างที่ดีของการออกแบบถนนสายใหม่ในกรุงเทพฯ และเมืองต่าง ๆ สองข้างทางปลูกต้นไม้หลายชนิดให้ความสวยงามร่มรื่น เช่น ต้นปาล์มน้ำมันที่ปลูกเป็นทิวแถวเรียงรายไปตามทางเท้าริมถนน ถัดจากแถวต้นปาล์มก็จะมีแนวต้นประดู่บ้านอยู่ริมทางจักรยานอีกด้วย
ปัจจุบันมีร้านอาหารแบบสวนอาหารตั้งอยู่เรียงรายตลอดแนวถนน โดยเฉพาะบริเวณใกล้จุดตัดถนนประเสริฐมนูกิจซึ่งมีบรรยากาศแบบชายทุ่งชานเมือง นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาหมู่บ้านจัดสรรราคาสูงหลายโครงการบนถนนเส้นนี้บนพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ตาบอด แต่ปัจจุบันกลายเป็นทำเลทองที่ไม่ไกลจากใจกลางเมือง และยังมีห้างสรรพสินค้าตั้งอยู่เรียงรายตลอดแนวถนนอีกด้วย
รายชื่อทางแยก
แก้จังหวัด | อำเภอ/เขต | กม.ที่ | ชื่อจุดตัด | ซ้าย | ขวา |
---|---|---|---|---|---|
กรุงเทพมหานคร | ห้วยขวาง | 0+000 | แยกเอกมัยเหนือ | เชื่อมต่อจาก: ซอยสุขุมวิท 63 (เอกมัย) | |
ถนนเพชรบุรี ไปแยกอโศก-เพชรบุรี | ถนนเพชรบุรี ไปแยกคลองตัน | ||||
1+200 | แยกพระราม 9-ประดิษฐ์มนูธรรม | ถนนพระราม 9 ไปแยกพระราม 9 | ถนนพระราม 9 ไปแยกรามคำแหง | ||
3+200 | แยกประชาอุทิศ-ประดิษฐ์มนูธรรม | ถนนประชาอุทิศ ไปแยกประชาอุทิศ (เหม่งจ๋าย) | ถนนประชาอุทิศ ไปวัดเทพลีลา, ม.รามคำแหง | ||
วังทองหลาง | 5+600 | แยกลาดพร้าว-ประดิษฐ์มนูธรรม | ถนนลาดพร้าว ไปแยกโชคชัย 4 | ถนนลาดพร้าว ไปบางกะปิ | |
ลาดพร้าว | 10+000 | แยกประดิษฐ์มนูธรรม | ถนนประเสริฐมนูกิจ ไปแยกเกษตร | ถนนประเสริฐมนูกิจ ไปถนนนวมินทร์ | |
12+000 | ถนนสุคนธสวัสดิ์ ไป ถนนประเสริฐมนูกิจ | ไม่มี | |||
บางเขน | 13+000 | ทางแยกต่างระดับวัชรพล | ถนนรามอินทรา ไปหลักสี่ | ถนนรามอินทรา ไปมีนบุรี | |
สะพาน กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต |
สถานที่สำคัญ
แก้- หอประชุมกองทัพบก
- โรงแรม เอสซี ปาร์ค
- คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์
- เดอะคริสตัล วีรันดา รามอินทรา
- เซ็นทรัล อีสต์วิลล์
- โลตัส เลียบทางด่วน เอกมัย-รามอินทรา
- โฮมโปร เอกมัย-รามอินทรา
- คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา
- โกลเด้นเพลส พระรามเก้า
- เดอะ วอร์ค เกษตร-นวมินทร์