ความสัมพันธ์ไทย–สเปน

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรสเปนกับราชอาณาจักรไทย

ความสัมพันธ์ไทย–สเปน เป็นทวิภาคี และความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1870 ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสถานเอกอัครราชทูตอยู่ที่มาดริด รวมถึง สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่บาร์เซโลนา และซานตากรุซเดเตเนริเฟ[1] ขณะที่ ประเทศสเปนมีสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้ง สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่จังหวัดภูเก็ต และเชียงใหม่[2]

ความสัมพันธ์ไทย–สเปน
Map indicating location of Spain and Thailand

สเปน

ไทย

ประวัติศาสตร์ และความสัมพันธ์ทางการทูต แก้

เมื่อสเปนได้ตั้งฐานทัพ และอาณานิคมไว้ ณ กรุงมะนิลา ในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ในช่วงหลายสิบปีก่อนที่สเปนจะเข้ามาติดต่อกับไทยนั้น โปรตุเกสได้เริ่มสร้างสัมพันธภาพทางการทูตและการค้ากับราชอาณาจักรสยามไว้แล้ว แต่ในช่วง ค.ศ.1580–1640 พระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน กษัตริย์แห่งสเปนได้ผนวกโปรตุเกสเข้าไว้ในอาณาจักรสเปน ทำให้สเปนพยายามเผยแผ่คริสต์ศาสนา และติดต่อค้าขายกับดินแดนซึ่งชาวโปรตุเกสเคยติดต่อด้วยเป็นประจำ เช่น อาณาจักรอยุธยา เป็นต้น

ในปี ค.ศ. 1598 ฟรันซิสโก เด เตโย เด กุซมัน ข้าหลวงใหญ่แห่งกรุงมะนิลา ได้ส่งนาย ฆวน เตโย เด อากิร์เร มาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงส่งพระราชสาส์นแสดงความสนพระทัยที่จะค้าขายกับสเปน โดยผลที่เกิดขึ้นคือ การลงนามในสนธิสัญญาที่รับรองสิทธิของชาวสเปนในการอยู่อาศัย เจรจา และปฏิบัติตามศาสนาของตนในอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรสยาม นับเป็นสัญญาฉบับที่สองที่ไทยตกลงเซ็นกับประเทศตะวันตก ปรากฎในจดหมายถวายความต่อ พระเจ้าเฟลิเปที่ 3 แห่งสเปน ความว่า

            “ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชสาส์นจากพระเจ้ากรุงสยาม...ในพระราชสาส์นนั้น พระเจ้ากรุงสยามทรงประสงค์การพาณิชย์และการค้ากับหมู่เกาะนี้ (หมู่เกาะฟิลิปปินส์)...โดยที่ได้เห็นว่า พระมหากษัตริย์องค์นี้โปรดเช่นนั้น ปีที่แล้ว (ค.ศ. 1598) ข้าพระพุทธเจ้าได้แต่ง ฆวน เตโย พร้อมคณะทูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสยามเป็นการตอบพระราชสาส์น โดยได้กล่าวถึงความนิยมชมชื่นอย่างใหญ่หลวงสำหรับพระราชไมตรีที่ทรงแสดงต่อข้าพระพุทธเจ้า และความนิยมชมชื่นสำหรับพระราชปรารถนาที่จะให้ชาวสเปนค้าขายในราชอาณาจักร...ฆวน เตโย ได้ออกเดินทางไปสยาม และเมื่อปฏิบัติการทูตสมบูรณ์แล้ว เขาได้ทำข้อตกลงด้วยว่า (สยาม) ควรเปิดเมืองท่าเมืองหนึ่งสำหรับการค้าเพื่อให้ชาวสเปนสามารถไปเมืองนั้นได้และตั้งหลักแหล่งได้โดยอิสระ และได้รับการยกเว้นจากภาษีทั้งปวง"[3]

ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1870 ทั้งสองราชอาณาจักรได้สร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ด้วยการลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพ การค้า และการเดินเรือ โดยจุดประสงค์หลักของสนธิสัญญาคือการสร้างสถานกงสุลสเปนในกรุงเทพมหานคร โดยการออกแบบของอาโดลโฟ ปักตอน สถาปนิกซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตที่ส่งมาจากประเทศจีน จึงนับเป็นสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน[4] อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ปรับปรุงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ โดยเกิดการติดต่ออย่างเป็นทางการเพียงเล็กน้อย เท่านั้น[5]

 
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 แห่งสเปน ในกรุงมาดริด

ในปี ค.ศ. 1883 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตประจำประเทศสเปนคนแรก โดยสำนักงานประจำอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ[6] การติดต่อ และผลประโยชน์ร่วมกันยังคงลดลง แม้จะมีการเสด็จเยือนสเปนครั้งประวัติศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี ค.ศ. 1897 ซึ่งได้พบกับมาเรีย คริสตินาแห่งออสเตรีย สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน รวมทั้ง การเสด็จร่วมพิธีบรมราชาภิเษก พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 แห่งสเปน ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1902[7]ก่อนที่จะมีนามในสนธิสัญญามิตรภาพ การค้าและการเดินเรือฉบับใหม่ในปี ค.ศ. 1925 แต่หลังจากสงครามกลางเมืองสเปน และสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ความสัมพันธ์ทางการทูตยุติลง จนกระทั่งได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในปี ค.ศ. 1950 โดยเฟร์นันโด บัซเกซ เมนเดส ได้เป็นทูตของสเปนคนแรกที่มีถิ่นพำนักถาวรอยู่ในกรุงเทพมหานคร[2]

ในปี ค.ศ. 1955 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทย ได้เดินทางเยือนแผ่นดินสเปนอย่างเป็นทางการ ก่อนที่ในปี ค.ศ. 1960 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช และพระราชินี จะเสด็จเยือนมาดริด และเซบิยา ปีถัดมา สเปนได้ยกระดับการเป็นตัวแทนในกรุงเทพ เป็นสถานเอกอัครราชทูต ก่อนที่ในปี ค.ศ. 1962 ดอน ซานเตียโก รุยซ์ ตาบาเนรา ได้รับการรับรองเป็นเอกอัครราชทูตสเปนคนแรกในประเทศไทย ปีถัดมา ไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด และแต่งตั้ง มนู อมาตยกุล ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด คนแรก[8]

การติดต่อกันอย่างเป็นทางการ ได้กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งพร้อมกับการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในสเปน โดยเหตุการณ์ที่สำคัญคือ สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในปี ค.ศ. 1987 และ 2006 นับจากนั้นเป็นต้นมา สเปน และไทยได้รักษาความสัมพันธ์อันดีบนพื้นฐานของมิตรภาพอันลึกซึ้งระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ของทั้งสองประเทศ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1992 กองทัพเรือไทย ได้ว่าจ้างรัฐบาลสเปนในการสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ เป็นเงิน 7,100 ล้านบาท คือเรือหลวงจักรีนฤเบศร[9]

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2010 กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสเปนอย่างเป็นทางการ ซึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญของการไปเยือนในครั้งนี้คือ การลงนามแผนปฏิบัติการร่วมไทย (ค.ศ 2010–2015) และความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางทูตไทย–สเปน[10][2]

ในวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 2021 คณะรัฐมนตรีไทยได้มีมติเห็นชอบให้เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์สเปนแห่งแรก ที่จังหวัดเชียงใหม่ ให้แต่งตั้งการ์โลส โฆเซ ฆาลอน โอลิเบรัส ให้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ คนแรก[11]

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2021 สเปนได้จัดส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 614,500 โดส ให้กระทรวงสาธารณสุขไทย ในโอกาสวันชาติสเปน โดยรัฐบาลไทยไม่ประสงค์รับบริจาค สเปนจึงขายให้ในราคาถูก ประมาณ 2.9 ยูโรต่อโดส[12][13]

นอกจากนี้ ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 2021 คณะรัฐมนตรีไทยยังได้มีมติเห็นชอบให้เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์สเปนแห่งที่ 2 ที่จังหวัดภูเก็ต ให้แต่งตั้งกริสโตบัล โรดริเกซ โลเปซ ให้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ คนแรก[14] ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์สเปน 2 แห่ง และสถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อาคารเลครัชดา เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร มีอาณาเขตรับผิดชอบครอบคลุมไปถีงประเทศกัมพูชา เมียนมาร์ และลาว[15] ส่วนสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสเปน อยู่ที่ถนนกาเยฆัวกินโกสตา ในเมืองมาดริด[16] และมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยในสเปน 2 แห่งที่บาร์เซโลนา และซานตากรุซเดเตเนริเฟ

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ แก้

 
สถานเอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงมาดริด

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างไทยกับสเปน เป็นไปตามความสัมพันธ์ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปกับไทย นับตั้งแต่เริ่มต้นปี จนถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2022 สเปน นำเข้าสินค้าจากไทยคิดเป็นร้อยละ 0.29 จากสินค้าที่สเปนนำเข้าทั้งหมด โดยไทยเป็นประเทศที่สเปนนำเข้าสินค้ามากเป็นอันดับที่ 35 และมากเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียนรองจากสิงค์โปร์ โดยเป็นจำนวนเงิน 542 ล้านยูโร ขณะที่ สเปนส่งออกสินค้าให้กับไทย มากเป็นอันดับที่ 35 คิดเป็นร้อยละ 0.32 จากสินค้าที่สเปนส่งออกทั้งหมด โดยเป็นจำนวนเงิน 1,302 ล้านยูโร ดุลการค้าที่เกินดุลของไทย เป็นผลดีต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก และยังมีแนวโน้มเกินดุลเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยสเปน มีสัดส่วนการส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์เครื่องจักรกล มากที่สุดเป็นจำนวนเงิน 51.06 ล้านยูโร ตามด้วย ผลิตภัณฑ์ยา และผลิตภัณฑ์เคมี ขณะที่สเปน มีสัดส่วนการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เครื่องจักรกล มากที่สุด เป็นจำนวนเงิน 272.44 ล้านยูโร ตามด้วย ยาง และส่วนประกอบยานยนต์[2]

ในด้านการท่องเที่ยว ในปี ค.ศ. 2022 มีชาวสเปนเดินทางมาประเทศไทย 87,400 คน ขณะที่ ชาวไทยที่เดินทางไปประเทศสเปนอยู่ที่ 59,617 คน[15]

ความร่วมมือระหว่างประเทศ แก้

ความร่วมมือระหว่างสเปนและไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ ในด้านการศึกษา วัตถุประสงค์หลักของสเปนในประเทศไทยคือเพื่อส่งเสริมการสอนภาษาสเปนในทุกระดับ โดยมีอาจารย์จากหน่วยงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศสเปน (AECID) มาสอนในระดับมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และล่าสุดในปี ค.ศ. 2023 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[17] สำหรับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษานั้น ภาษาสเปนได้รับการส่งเสริมมากขึ้นโดยกระทรวงศึกษาธิการ และการฝึกอบรมสายอาชีพของสเปน เพื่อการเผยแพร่สื่อการสอน และการฝึกอบรมออนไลน์ของครู และอื่น ๆ

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2016 มีการลงนามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางเทคโนโลยีในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และสิ่งมีชีวิต ระหว่างศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสเปน กับศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพของไทย เพื่อส่งเสริม และให้ทุนสนับสนุนโครงการความร่วมมือทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมในด้านสุขภาพ และยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานไทย โดยศูนย์วิจัยพลังงาน สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีสเปน (CIEMAT) ในด้านพลังงานทดแทน รวมทั้ง ร่วมกับสถาบันสุขภาพการ์โลสที่สาม เพื่อวิจัยโรคเขตร้อนที่ได้รับการส่งเสริมโดยองค์การอนามัยโลก โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และธนาคารโลก นอกจากนี้ การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสภาอธิการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สเปน (CSIC) และศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความโดดเด่นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมในการเพาะปลูกข้าว ซึ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกหลักของโลก ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ได้มีการเปิดตัวโครงการความร่วมมือระหว่างเมืองเชียงใหม่ และกรานาดา เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และแนวปฏิบัติที่ดีในเมืองอัจฉริยะ โดยเฉพาะเศรษฐกิจหมุนเวียน และการจัดการขยะ ภายใต้โครงการความร่วมมือระดับเมืองและระดับภูมิภาคระหว่างประเทศ (IURC)[18]

การปรากฏทางวัฒนธรรมของสเปนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และสเปนกำลังสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับตัวแทนทางวัฒนธรรมไทยที่หลากหลาย เช่น หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) บางกอกอาร์ตเบียนนาเล่ มูลนิธิเพื่อนศิลปะ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และอื่น ๆ[2] นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 หอภาพยนตร์ และสถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย ได้มีการจัดฉายภาพยนตร์สเปน ในงานเทศกาลภาพยนตร์สเปน ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานครเป็นประจำทุกปี[19]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. [1]List of foreign consulates in Spain.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 OFICINA DE INFORMACIÓN DIPLOMÁTICA FICHA PAÍS Reino de Tailandia กระทรวงการต่างประเทศ (ประเทศสเปน) สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2566
  3. อยุธยาในบันทึกสเปน ท้องถิ่นอยุธยาในหลักฐานสเปน museumthailand.com สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2566
  4. Treaty of Friendship, Commerce and Navigation between the Kingdom of Siam and the Kingdom of Spain สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2566
  5. Embajada: funciones e historia เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ (ประเทศสเปน) สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม ค.ศ. 2023
  6. รายพระนามและรายนามอัครราชทูตและเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสเปน เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาดริด สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2566
  7. กรมศิลปากร, "The Spanish Coronation" by King Vajiravudh, พ.ศ. 2550
  8. ราชอาณาจักรสเปน เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ (ประเทศไทย) เขียนเมื่อ 12 เม.ย. ค.ศ. 2011 ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. ค.ศ. 2022 สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2023
  9. ประวัติ ร.ล.จักรีนฤเบศร เก็บถาวร 2023-10-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์เรือหลวงจักรีนฤเบศร เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2023
  10. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนราชอาณาจักรสเปน ระหว่างวันที่ 6 - 9 ตุลาคม 2553 เว็บไซต์อาร์วายทีไนน์ สืบค้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2023
  11. มติคณะรัฐมนตรี 19 มกราคม พ.ศ. 2564 สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2023
  12. สเปนฉลองวันชาติด้วยการช่วยจัดหาวัคซีนให้ไทยสื่ออย่าชักใบให้เรือเสีย naewna.com เขียนโดยสุทิน วรรณบวร เมื่อ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2021 สืบค้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2023
  13. "Spain's mighty effort to help Thais". Bangkok Post.
  14. มติคณะรัฐมนตรี 8 มีนาคม พ.ศ. 2565 สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2023
  15. 15.0 15.1 สเปน (Spain) เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ (ประเทศไทย) เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน ค.ศ. 2023 สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม ค.ศ. 2023
  16. ประวัติอาคารที่ทำการของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสเปน สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม ค.ศ. 2023
  17. เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม เอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทยได้เดินทางไปมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์บนเฟซบุ๊ก Embajada de España en Tailandia - สถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย 20 ตุลาคม ค.ศ. 2022 สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม ค.ศ. 2023
  18. Chiang Mai and Granada eye on smart technologies: Two ancient cities look to the future เว็บไซต์โครงการความร่วมมือระดับเมืองและระดับภูมิภาคระหว่างประเทศ สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม ค.ศ. 2023
  19. Spanish Film Festival 2021 เว็บไซต์หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม ค.ศ. 2023