พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์

นายพันเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2395[1] – 16 มีนาคม พ.ศ. 2478[2]) เป็นอดีตอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ผู้มีบทบาทสำคัญทางการทูตของไทยในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้นำคณะพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทูลเกล้าฯ ถวายคำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 และเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดทีปทุตตมาราม ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ขณะผนวชเป็นพระภิกษุ ในฉายา "พระชินวรวงศ์"

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์
ประสูติ23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2395
กรุงเทพพระมหานคร ประเทศสยาม
สิ้นพระชนม์16 มีนาคม พ.ศ. 2478 (83 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
หม่อมหม่อมตลับ ชุมสาย ณ อยุธยา
ราชสกุลชุมสาย
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม
พระมารดาหม่อมน้อย ชุมสาย ณ อยุธยา
ลายพระอภิไธย

พระประวัติ แก้

ปฐมวัยและการศึกษา แก้

นายพันเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ประสูติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2394 (แบบสากล พ.ศ. 2395) ที่วังท่าพระ เป็นพระโอรสองค์สุดท้ายในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม อธิบดีกรมช่างศิลป์หมู่และช่างศิลา กับหม่อมน้อย ชุมสาย ณ อยุธยา (สกุลเดิม ภมรมนตรี) อดีตหม่อมในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ เมื่อประสูติมีพระยศที่ หม่อมเจ้าปฤษฎางค์

หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นนักเรียนหลวงเสด็จไปศึกษาที่โรงเรียนราฟเฟิลล์ ประเทศสิงคโปร์ พร้อมกับพระราชอนุชาในรัชกาลที่ 5 อีกหลายพระองค์ จากนั้นได้เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2414 และเข้าศึกษาในราชวิทยาลัยแห่งลอนดอน (King's College London) มหาวิทยาลัยลอนดอน ในสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ [3]เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับสยามในปี พ.ศ. 2419 แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการตำแหน่งผู้ช่วยราชการในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ ต่อมาหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ได้ทรงขอกลับไปศึกษาต่อเพิ่มเติมที่ประเทศอังกฤษในด้านวิศวกรรมโยธา และด้านการจัดการโรงกษาปณ์ [4]

รับราชการ แก้

 
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ฉายเมื่อปี พ.ศ. 2426 ขณะดำรงตำแหน่งอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส

ในปี พ.ศ. 2423 ขณะมีชันษาได้ 29 ปี ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นล่ามและตรีทูตในคณะของเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร และได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตไทยคนแรกประจำราชสำนักเซนต์เจมส์แห่งอังกฤษ และประจำประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและอเมริการวมถึง 12 ประเทศ ได้เป็นผู้แทนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งออสเตรีย-ฮังการีและพระเจ้ากรุงปรัสเซีย ก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัครราชทูตประจำกรุงปารีส พร้อมทั้งรับพระราชทานสถาปนาพระอิศริยยศเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" และรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎสยาม ชั้นที่ 1 มหาสุราภรณ์ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า เมื่อปี พ.ศ. 2426 ขณะมีพระชันษาได้ 32 ปี[5]

ในปี พ.ศ. 2428 พระองค์เจ้าปฤษฎางค์มีพระชันษาได้ 34 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ให้แสดงความเห็นต่อการเสียเอกราชของพม่าจากสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่สาม และแนวการปรับปรุงการปกครองของสยามเพื่อรับมือกับสถานการณ์ทำนองเดียวกันที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ถวายความคิดเห็นเป็นการส่วนพระองค์ แต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้นำพระราชหัตถเลขาและคำกราบบังคมทูลดังกล่าวไปประชุมปรึกษาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ และข้าราชการผู้ใหญ่ในสถานทูต และได้ตกลงกันว่าจะทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นรวมกันทั้ง 4 พระองค์ พร้อมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีก 7 คน อันเป็นที่มาของคำเสนอให้ปฏิรูปการเมืองการปกครอง หรือ "คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103" ซึ่งสาระสำคัญคือขอให้มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักในการปกครองบ้านเมืองด้วยระบอบประชาธิปไตย [4]

หลังการทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอทั้ง 3 พระองค์ และพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เสด็จกลับสยาม แต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ยังไม่เสด็จกลับทันที ด้วยทรงติดภารกิจในการลงพระนามให้สยามเป็นสมาชิกในสหภาพสากลไปรษณีย์ และจัดพิมพ์แสตมป์สยามในระบบสากลเป็นครั้งแรก (โปรดเกล้าฯ พระราชทานอำนาจในการดำเนินการดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2428)[6] หลังจากนั้นจึงเสด็จกลับสยามพร้อมกับพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณในเดือนมกราคม พ.ศ. 2429

กล่าวกันว่าเพราะการทำเกินพระราชประสงค์ในการถวายความคิดเห็นครั้งนั้น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงไม่เป็นที่โปรดปรานนับแต่นั้นเป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเสด็จกลับมาถึงสยามแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เข้ารับราชการในกรมไปรยสนีย์แลโทรเลข[7] ซึ่งกำลังอยู่ในระยะเริ่มจัดตั้ง โดยทรงรับตำแหน่งเป็นจางวางกรมไปรยสนีย์แลโทรเลข และยังได้ทรงปฏิบัติราชการอื่นที่สำคัญอีกหลายอย่าง จนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ในปี พ.ศ. 2432 ในระยะนี้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงประสบปัญหาส่วนพระองค์ด้านการเงินอย่างหนัก และถูกเรียกคืนบ้านหลวงเนื่องจากทรงมีปัญหาในการบริหารจัดการเงินงบประมาณกรมไปรยสนีย์แลโทรเลข และทรงพยายามจะบรรจุพระอนุวงศ์พระองค์หนึ่งเข้ารับราชการในกรมโยธาธิการ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงาน (พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงมีส่วนร่วมในการร่างแผนจัดตั้งหน่วยงานด้วย) เพื่อตอบแทนเจ้านายพระองค์หนึ่งซึ่งได้ประทานความช่วยเหลือทางการเงินแก่พระองค์[8] พระองค์จึงคิดว่ามีศัตรูที่คอยจ้องเล่นงานพระองค์อยู่ตลอดเวลาและเกิดความท้อใจที่จะรับราชการต่อไป

ลาออกจากราชการและผนวช แก้

 
พระชินวรวงศ์ หรือพระภิกษุพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (ประทับนั่งตรงกลาง) ขณะเสด็จไปจาริกแสวงบุญที่ประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. 2442 ในรูปนี้ทรงฉายพระรูปร่วมกับพันเอกเฮนรี สตีล โอลคอตต์ พุทธศาสนิกชนชาวอเมริกัน (ยืนข้างหลังพระชินวรวงศ์)

ในปี พ.ศ. 2434 ขณะมีพระชันษาได้ 40 ปี พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ไปราชการที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างทางเสด็จกลับ ขบวนเสด็จได้แวะที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เนื่องจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงพระประชวรอย่างกะทันหันและจำเป็นต้องพักรักษาพระองค์ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้ตัดสินพระทัยลาออกจากราชการโดยไม่มีการบอกกล่าวและทรงทิ้งจดหมายกราบบังคมทูลลาออกไว้ ก่อนจะเสด็จไปยังเมืองต่าง ๆ ในต่างประเทศ เพื่อหางานทำ ทั้งที่ไซ่ง่อน (โคชินไชนา) กรุงพนมเปญ (กัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส)[9] รัฐเปรัก (อาณานิคมมลายูของอังกฤษ)[10] จนกระทั่งได้เสด็จไปที่ประเทศศรีลังกาและทรงผนวชเป็นพระภิกษุในปี พ.ศ. 2439 ขณะมีพระชันษาได้ 45 ปี โดยมีพระวัสกะฑุเว ศรีสุภูติ (Waskaḍuwe Śrī Subhūti) พระสังฆนายกแห่งกรุงโคลัมโบ เป็นพระอุปัชฌาย์[11] ทรงได้รับพระฉายาว่า "ชินวรวงฺโส ภิกขุ" หรือ "พระชินวรวงศ์" (ในเอกสารภาษาต่างประเทศ ทรงใช้พระนามว่า Bhikkhu P.C. Jinavaravamsa) ภายหลังทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดทีปทุตตมาราม เป็นวัดไทยวัดแรกในกรุงโคลัมโบ ระหว่างปี พ.ศ. 2448 - 2453[12]

 
พระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบจากโบราณสถานกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งรัฐบาลบริติชราชในขณะนั้นได้แบ่งเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เป็นพระบรมสารีริกธาตุชุดเดียวกันกับที่รัฐบาลบริติชราชได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2442

ระหว่างที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ดำรงสมณเพศเป็นพระภิกษุชินวรวงศ์นั้น ได้มีการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุภายในซากโบราณสถานกรุงกบิลพัสดุ์ที่ประเทศอินเดียในปี พ.ศ. 2439 เมื่อพระชินวรวงศ์ทรงทราบข่าวดังกล่าวจึงเสด็จไปที่นั่นเพื่อตรวจสอบพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบ[13] และทรงแนะนำให้รัฐบาลอังกฤษซึ่งปกครองอินเดีย (บริติชราช) ทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[14] เพราะเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวในสมัยนั้นที่เป็นพุทธมามกะ ต่อมาเมื่อทางสยามตอบรับการทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสารีริกธาตุจากรัฐบาลอังกฤษ และมอบหมายให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ข้าหลวงมณฑลนครศรีธรรมราช เป็นผู้ออกไปรับพระบรมสารีริกธาตุในปี พ.ศ. 2442 ปรากฏว่าพระชินวรวงศ์ได้เกิดความขัดแย้งกับพระยาสุขุมนัยวินิตอย่างรุนแรง เนื่องจากพระองค์ได้บอกกับพระยาสุขุมนัยวินิตว่า ทรงแอบหยิบเอาพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเศียรที่รัฐบาลอังกฤษรวบรวมไว้จากการค้นพบดังกล่าวมาองค์หนึ่ง หากรัฐบาลอังกฤษไม่ยอมทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็จะนำพระบรมสารีริกธาตุส่วนนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเสียเอง พระยาสุขุมนัยวินิตซึ่งมีความรู้ทางพระพุทธศาสนาและภาษาบาลีเป็นอย่างดี จึงแจ้งแก่พระชินวรวงศ์ว่าพระองค์ได้ต้องอาบัติปาราชิกข้อ "อทินนาทานสิกขาบท" (คือ การลักทรัพย์ การถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้) ไปแล้ว ขาดจากความเป็นพระภิกษุ ณ นาทีที่กระทำเช่นนั้นแล้ว และได้รายงานเรื่องดังกล่าวไปยังทางสยาม[15][16]

เมื่อทางสยามทราบเรื่องพระชินวรวงศ์ต้องอาบัติปาราชิกตามที่พระยาสุขุมนัยวินิตได้รายงานไปก็เห็นด้วยเช่นนั้น และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ได้มีโทรเลขไปยังพระชินวรวงศ์ผ่านกงสุลสยามในโคลัมโบว่า พระชินวรวงศ์จะเข้าไปสยามแบบเป็นพระไม่ได้ เพราะต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ในเวลานั้นพระชินวรวงศ์มีแผนการจะเสด็จกลับสยามเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงได้รับโทรเลขดังกล่าวจึงทรงล้มเลิกแผนการเสด็จกลับ และภายหลังแม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสกรุงโคลัมโบระหว่างทางเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2450 แต่พระชินวรวงศ์ก็ไม่ได้รับโอกาสให้เข้าเฝ้าฯ ทั้งในสมณเพศ เพราะรัฐบาลสยามยังคงตั้งเงื่อนไขไว้ว่าพระชินวรวงศ์จะเข้าเฝ้าได้ก็ต่อเมื่อลาสิกขาออกเป็นฆราวาสแล้วเท่านั้น[16]

อนึ่ง พระบรมสารีริกธาตุที่สยามได้รับมาจากรัฐบาลอังกฤษนั้น โปรดเกล้าฯ ให้บรรจุไว้ที่พระบรมบรรพต วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และแบ่งไปยังประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนา

ลาสิกขาและบั้นปลายพระชนม์ชีพ แก้

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เสด็จกลับประเทศสยามในปลายปี พ.ศ. 2453 (แต่ปฏิทินสากลเปลี่ยนเป็น ค.ศ. 1911 แล้ว) ขณะมีพระชันษาได้ 60 ปี เพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเสด็จกลับสยามครั้งนี้กลายเป็นการเสด็จกลับอย่างถาวร เพราะพระองค์จำต้องลาสิกขาออกเป็นฆราวาสตามเงื่อนไขของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ[16] และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2453 เพื่อให้ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้าไปถวายบังคมพระบรมศพ แต่หลังจากเสร็จพระราชพิธีพระบรมศพแล้ว พระองค์ก็ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ผนวชและกลับไปศรีลังกาอีกครั้ง[17] เนื่องจากทางการสยามยังคงเห็นว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ต้องอาบัติปาราชิกจากเรื่องทรงแอบหยิบเอาพระบรมสารีริกธาตุในครั้งนั้น จึงไม่สามารถกลับเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาได้อีกตลอดชีวิต รวมเวลาที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุได้ 14 พรรษา

หลังจากลาสิกขาแล้วทรงทำงานเป็นบรรณาธิการแผนกภาษาไทยให้กับหนังสือพิมพ์ "สยามออบเซิร์ฟเวอร์" ของพระยาอรรถการประสิทธิ์ (วิลเลียม แอลเฟรด คุณะดิลก) อยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นประทับอยู่ในตรอกกัปตันบุช ทรงหาเลี้ยงพระชนม์ชีพด้วยการรับจ้างสอนภาษาอังกฤษ ต่อมาในปี พ.ศ. 2466 พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้ขอกลับเข้ารับราชการอีกครั้งที่กระทรวงการต่างประเทศ ทั้งที่ในเวลานั้นมีพระชันษาได้ 72 ปีแล้ว พระองค์รับราชการได้ไม่นานก็ทรงถูกให้ออกจากราชการ (สำนวนในยุคนั้นเรียกว่า "ถูกดุลย์") เช่นเดียวกับข้าราชการหลาย ๆ คนในเวลานั้น เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายในงบประมาณแผ่นดินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงบันทึกไว้ว่าถูกให้ออกจากราชการในปี พ.ศ. 2467)[18]

ในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงย้ายไปพำนักอยู่ในตรอกวัดมหาพฤฒารามวรวิหาร ดำรงพระชนม์ชีพด้วยเงินเบี้ยหวัดในฐานะพระอนุวงศ์และมีพระญาติส่วนหนึ่งให้ความอุปการะ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงพระชนม์ชีพ อีกทั้งพระองค์ยังมีพระโรครุมเร้า ประชวรเข้าโรงพยาบาลบ่อยครั้ง ดังข้อความในตอนท้ายของหนังสือพระประวัติซึ่งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงนิพนธ์ไว้เอง ระบุว่า

ข้าพเจ้าก็มีร่างกายทุพพลภาพ โรคภัยต่าง ๆ ก็ตามมาผะจญซ้ำเติม ป่วยไข้เรื่อยมาโดยความอัตคัดจนกาลบัดนี้ เป็นตุ๊กตาล้มลุกลงนอนอยู่บ้าง ลุกขึ้นเต้นรำตะกุยตะกายหาใส่ท้องบ้าง เที่ยวขอทานญาติมิตรจนเขาเบื่อระอาบ้าง ไปอยู่โรงพยาบาลบ้าง เรื่อยมา จนได้แพทย์สวรรค์มาช่วยให้ลุกขึ้นเต้นไปได้อีกครั้งหนึ่ง จึงได้เขียนประวัติตัวเอง ซึ่งแม้ตัวเองก็อดเห็นแปลกประหลาดไม่ได้

— พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์

พระองค์ทรงดำรงพระชนม์อยู่ด้วยความยากไร้เช่นนี้ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2477 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2478)ขณะมีพระชันษาได้ 84 ปี พระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 โดยพระศพของพระองค์ได้รับการบรรจุในโกศราชวงศ์อย่างเก่า[19] คือเป็นโกศไม้สี่เหลี่ยมหุ้มผ้าขาว ยอดโกศเป็นรูปฉัตร 3 ชั้น และไม่มีเครื่องประกอบใด ๆ[20]

ชีวิตส่วนพระองค์ แก้

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ มีหม่อมคนหนึ่ง ชื่อ หม่อมตลับ ที่เสกสมรสกันก่อนเสด็จไปทรงศึกษาที่ยุโรป แต่ทั้งสองมิได้มีพระโอรสธิดาด้วยกัน ในงานเขียนของ ดับเบิลยู. เอส. บริสโทว์ (W.S. Bristowe) ได้อ้างว่าหม่อมต่างด้าวคนหนึ่งที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงคบหาเมื่อครั้งอยู่ในลอนดอนเป็นน้องสาวของนาย เจ. สตีเวนส์ (J. Stevens) นายไปรษณีย์คนแรกของเมืองเชียงใหม่ และกล่าวอีกว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์มีสัมพันธ์สวาทกับสตรีสูงศักดิ์ท่านหนึ่งที่ต่างฝ่ายต่างมีครอบครัวแล้ว[21] แต่ปรากฏด้วยหลักฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งหม่อมตลับตามไปอยู่ในฐานะภรรยาราชทูตที่ปารีสในปี พ.ศ. 2427 และในที่สุดผู้กล่าวหาพระองค์ได้มีหนังสือไปขอขมาในขณะที่เป็นสังฆราชที่นครโคลัมโบ

พระเกียรติยศ แก้

 
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศทหารบก ยศนายพันเอกพิเศษ

พระอิสริยยศ แก้

  • หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ (23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2394 – พ.ศ. 2426)
  • พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (พ.ศ. 2426 – 16 มีนาคม พ.ศ. 2477)[5]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ทรงได้รับพระราชทานทั้งสยามและต่างประเทศ ดังนี้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์สยาม แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ แก้

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. The Life and Time of Prince Prisdang(ฉบับแปลไทย)
  2. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. ISBN 974-221-818-8
  3. ปฤษฎางค์, พระองค์เจ้า. 2472. ประวัติย่อนายพันเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ แต่ประสูติ พ.ศ. 2392 ถึง 2472. กรุงเทพฯ. 10-12. https://www.car.chula.ac.th/display7.php?bib=b2209972 . http://eresource.car.chula.ac.th/chula-ebooks/redirect.php?name=clra56_0058
  4. 4.0 4.1 เรียกร้องรัฐธรรมนูญครั้งแรก สมัยรัชกาลที่ ๕ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ กับ "คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. ๑๐๓" หนังสือ ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 24 ฉบับที่ 12 วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2546
  5. 5.0 5.1 จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ (2481). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาค ๑๔ (เดือน ๙ จุลศักราช ๑๒๔๕). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2562. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "พระราชทานอำนาจให้พระวงษเธอพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไปประชุมสากลโทรเลข" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 1 (ตอน 34): หน้า 298. 16 สิงหาคม 2432. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. พิพัฒน์ ชูวรเวช, พ.ต.อ. นายแพทย์. ตำนานแสตมป์ไทยสำหรับนักสะสม. กรุงเทพ : อรุณการพิมพ์, พ.ศ. 2546. 264 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-91019-9-5
  8. พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระประวัติที่ถูกตัดตอน (๗) ล้างภาพใหญ่โตหมดสิ้น - หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน
  9. พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระประวัติที่ถูกตัดตอน (๑๑) มูลเหตุวิบากหลากหลาย - หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน
  10. พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระประวัติที่ถูกตัดตอน (๑๒) ร่อนเร่พเนจรร้อนกาย - หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน
  11. by Indrajith, Saman “Temple that keeps Thai - Sri Lanka ties strong”, The Island, 16.08.2003. Accessed on 15.2.2018 on http://www.island.lk/2003/08/16//satmag01.html
  12. ศรีลังกา : กฐินพระราชทาน ณ วัดทีปทุตตมาราม ปฐมฤกษ์ครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ไทย-ศรีลังกา
  13. เพ็ญนภา หงษ์ทอง (23 พฤศจิกายน 2555). "ตามรอยพิสูจน์พระบรมสารีริกธาตุ จากกบิลพัสดุ์สู่บรมบรรพต". Life Style กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระประวัติที่ถูกตัดตอน (๔) เคว้งคว้างเวหาคว้าลม - หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน
  15. สุลักษณ์ ศิวรักษ์. "ค้นหาพระพุทธเจ้า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-04. สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. 16.0 16.1 16.2 พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระประวัติที่ถูกตัดตอน (๕) หล่นลงโคลนตมจมดิน - หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน
  17. สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา (20 ธันวาคม 2561). "ทำไม ร.5 ทรงห้าม "พระองค์เจ้าปฤษฎางค์" เหยียบแผ่นดินรัชกาลพระองค์จนชีวิตยากไร้". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. พระองค์เจ้าปฤษฎางค์-ชีวิตลับที่ทรงเผยไม่ตลอด (เว็บบอร์ดเรือนไทยดอตคอม)
  19. กรมศิลปากร. page=122 สาส์นสมเด็จ ลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ภาค 4. พระนคร : สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ม.ป.ป.. หน้า 122.
  20. กรมศิลปากร. page=164 สาส์นสมเด็จ ลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ภาค 4. พระนคร : สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ม.ป.ป.. หน้า 158.
  21. จิระนันท์ พิตรปรีชา. ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก, 2552, หน้า 147-149
  22. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานตราเครื่องราชอิสริยยศ, เล่ม ๑ ตอนที่ ๖๔ หน้า ๕๕๘, ๘ เมษายน ๑๒๔๗
  23. ราชกิจจานุเบกษา, การพระราชพิธีฉัตรมงคล และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, เล่ม ๖ ตอนที่ ๒๔ หน้า ๒๘๖, ๒๔ พฤศจิกายน ๑๐๘
  24. ราชกิจจานุเบกษา, บัญชีพระราชทานตราเครื่องราชอิสริยยศ, เล่ม ๓ ตอนที่ ๔๗ หน้า ๓๙๓, ๒๒ มีนาคม ๑๒๔๘
  25. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยยศต่างประเทศ, เล่ม ๑ ตอนที่ ๓๔ หน้า ๒๙๘, ๑๖ สิงหาคม ๑๒๔๗
  26. 26.0 26.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๖ ตอนที่ ๒๕ หน้า ๒๑๔, ๒๒ กันยายน ๑๐๘
  27. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ออสเตรีย, เล่ม ๖ ตอนที่ ๒๑ หน้า ๑๗๖, ๒๕ สิงหาคม ๑๐๘
  28. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยยศ, เล่ม ๕ ตอนที่ ๕ หน้า ๔๑, ๒ มิถุนายน ๑๒๕๐

บรรณานุกรม แก้

  • ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. “พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ กับ ‘คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103’.” ใน ความคิดการเมืองไพร่กระฎุมพีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์. น. 164-187. กรุงเทพฯ: มติชน, 2549.
  • บุญพิสิฐ ศรีหงส์. สัมพันธภาพระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ จากหลักฐานชั้นต้นสู่คำถามต่อนักวิชาการและนักเขียนประวัติศาสตร์-รัฐศาสตร์. รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 32 ฉบับที่ 3 (ก.ย.-ธ.ค. 2554), หน้า 1-81.
  • สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. การเมืองการปกครองไทย พ.ศ. ๑๗๖๒ - ๒๕๐๐. กรุงเทพ : คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, พ.ศ. 2547. 801 หน้า. ISBN 974-92371-5-3
  • Loos, Tamara. Bones Around my Neck: The Life and Exile of a Prince Provocateur. Ithaca, NY and London, 2016.
  • Loos, Tamara. “Renegade Royalist: Autobiography and Siam’s Disavowed Prince Prisdang.” in Maurizio Peleggi (ed.), A Sarong for Clio: Essays on the Intellectual and Cultural History of Thailand--Inspired by Craig Reynolds. pp. 63-77. Itaca, NY: Southeast Asia Program, Cornell University, 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้