ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไต้หวัน

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)[1][2] ในสถานะปัจจุบันของสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวันได้รับการรับรองโดยประเทศเพียง 12 รัฐ จาก 193 รัฐสมาชิกสหประชาชาติดังนั้น จึงเน้นเฉพาะความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับประเทศที่รับรองสถานะของไต้หวัน และความสัมพันธ์ในเชิงพฤตินัยกับประเทศอื่น ๆ

A map of the world showing countries which have relations with the Republic of China. Only a few small countries recognize the ROC, mainly in Central, South America and Africa.
ประเทศที่มีการรับรองสาธารณรัฐจีนอย่างเป็นทางการ
  มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ
  มีความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการ

ทางด้านสถานะทางการเมืองของไต้หวัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐจีนนั้นมีรายละเอียดอยู่ที่ สถานะทางการเมืองของไต้หวัน

รายชื่อประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน แก้

ทั้ง 12 ประเทศนี้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอย่างเป็นทางการ โดยรับรองสถานะเป็นรัฐบาลโดยชอบธรรมเพียงหนึ่งเดียวเหนือแผ่นดินจีนทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะในอาณาเขตของหมู่เกาะในปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วย เกาะไต้หวัน, หมู่เกาะเผิงหู, เกาะจินเหมิน และหมู่เกาะหมาจู่ และเกาะเล็กเกาะน้อยอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง

เกาหลีใต้และซาอุดีอาระเบียได้ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันในปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) และแอฟริกาใต้ได้เปลี่ยนไปรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) สาธารณรัฐไลบีเรียเปลี่ยนจากการรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนมารับรองรัฐบาลบนเกาะไต้หวันในปี พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) และเปลี่ยนกลับไปรับรองรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 (พ.ศ. 2003) ทางเครือรัฐดอมินีกาหลังจากรับรองไต้หวันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2526 (ค.ศ. 1983) ก็ได้ยุติการรับรองลงในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เสนอให้ความช่วยเหลือเป็นมูลค่ากว่า 117 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในหกปี ส่วนสาธารณรัฐมาซิโดเนียซึ่งรับรองไต้หวันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) ก็ได้เปลี่ยนไปสานสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนแทน หลังจากถูกจีนแผ่นดินใหญ่คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และใช้สิทธิ์วีโต้ขัดขวางขบวนการรักษาสันติภาพในการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติเมื่อปี พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) หลังจากนั้นเซาตูเมและปรินซีปีซึ่งรับรองไต้หวันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) ก็ได้เปลี่ยนไปสานสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนแทนเมื่อปี พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) ต่อมาปานามาซึ่งรับรองไต้หวันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954) ก็ได้เปลี่ยนไปสานสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนแทนเมื่อปี พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) หลังจากนั้นสาธารณรัฐโดมินิกันซึ่งรับรองไต้หวันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) ก็ได้เปลี่ยนไปสานสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนแทนเมื่อปี พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018)

ถึงแม้ว่าสิงคโปร์จะเปลี่ยนไปสานสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) แต่ก็ยังคงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและกองทัพกับไต้หวันอย่างใกล้ชิด อันเป็นความพยายามของสิงคโปร์ที่จะวางตัวเป็นกลางระหว่างทั้งสองฝ่าย และก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางการทูตที่มักจะทำให้เกิดความขัดแย้งกันอยู่เสมอ สาธารณรัฐประชาชนจีนและสิงค์โปร์เกิดความขัดแย้งทางการทูตกันอย่างรุนแรงเมื่อนายลี เซียน ลุง ได้เดินทางไปเยือนไต้หวันเพียงหนึ่งเดือนก่อนหน้าที่จะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004)[3] ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นประเทศเดียวที่ยังคงมีค่ายฝึกทหารอยู่ในไต้หวัน และยังส่งกำลังพลไปฝึกที่นั่นเป็นประจำทุกปี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ได้มีการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ที่จะย้ายค่ายฝึกบางส่วนหรือทั้งหมดไปยังไหหนานตามข้อเสนอของสาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงแม้ว่านั่นอาจจะเป็นข้อเสนอที่ไม่สามารถตอบรับได้เนื่องจากอาจเกิดปัญหาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสิงคโปร์กับประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีเชื้อสายชาวจีน[4][5]

ประเทศที่มีสถานทูตประจำอยู่ในกรุงไทเป ได้แก่ กัวเตมาลา, เซาตูเมและปรินซิปี, หมู่เกาะโซโลมอน, สาธารณรัฐโดมินิกัน, นิการากัว, บูร์กินาฟาโซ, เบลีซ, ปารากวัย, ปาเลา, หมู่เกาะมาร์แชลล์, มาลาวี, สวาซิแลนด์, นครรัฐวาติกัน, และเฮติ

เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2567 นาอูรูตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และยอมรับ "สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงรัฐบาลเดียวของจีน" และ "ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่ง ของสาธารณรัฐประชาชนจีน”

จำนวนประเทศที่ยอมรับไต้หวัน และจีน
ปี ยอมรับไต้หวัน ยอมรับจีน
1969 71 48
1971 68 53
1973 31 89
1978 21 112
1986 23 134
1990 28 139
2012 23 172
2013 22 172
2016 21 174
2017 20 175
2018 17 178
2019 15 180
2021 14 181
2023 13 182[หมายเหตุ 1]
2024 12 183[6]

ความสัมพันธ์สหรัฐ-ไต้หวัน แก้

ตัวแทนความสัมพันธ์ในสหรัฐอเมริกา แก้

ในปัจจุบัน ไม่มีการสานสัมพันธ์ทางการทูตในระดับทางการ แต่จะเป็นการประสานสัมพันธ์ทางด้านการค้าและวัฒนธรรมอย่างไม่เป็นทางการแทน โดยดำเนินการผ่านสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ซึ่งโดยพฤตินัยแล้วเทียบได้กับสถานทูต มีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และในอีก 12 เมืองทั่วสหรัฐอเมริกา โดยทางเทคนิคแล้วถือว่าสำนักงานมีสถานะเป็นองค์กรเอกชน แต่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานก็คือ นักการทูตที่ "ออกจากงานชั่วคราว"

ตัวแทนความสัมพันธ์จากสหรัฐอเมริกา แก้

เมื่อความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการได้ยุติลงในปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) จากการที่สหรัฐอเมริกาเริ่มกระชับความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ยังคงมีการรักษาความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและวัฒนธรรมผ่านองค์กรที่โดยพฤตินัยแล้วถือว่าเป็นสถานทูตในชื่อ สถาบันอเมริกาในไต้หวัน

ในทางเทคนิค สถาบันนี้ก็ถือว่าเป็นองค์กรเอกชน แต่เจ้าหน้าที่จะเป็นนักการทูตจาก|กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในสถานะ "ลางาน" เพื่อทำงานให้กับสถาบัน อันเป็นวิธีการเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาทางการทูต

ความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ แก้

เพื่อเป็นการรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศต่าง ๆ จึงได้จัดตั้ง 'คณะทำงานทางการค้า' หรือ 'สำนักงานตัวแทน' ขึ้นในไทเปสำหรับการปฏิบัติภารกิจทางด้านการค้าและกงสุล อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความอ่อนไหวทางการเมืองทำให้งานทางด้านวีซ่ามักจะไม่ได้ดำเนินการในไต้หวันแต่จะถูกส่งต่อไปยังสถานทูตหรือสถานกงสุลที่ใกล้ที่สุดแทน และในทางกลับกัน ทางไต้หวันก็ได้ดำเนินการจัดตั้ง สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป หรือ สำนักงานตัวแทนไทเป ขึ้นในประเทศต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน

ไต้หวันเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคและการแข่งขันกีฬานานาชาติอื่น ๆ ภายใต้ชื่อ 'จีนไทเป' โดยมีการเปลี่ยนธงชาติและเพลงชาติใหม่ เนื่องจากการกดดันจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

ปัญหาในเรื่องสถานะของไต้หวันนั้นยังส่งผลกระทบกับเส้นทางการบินด้วย โดยเฉพาะประเทศในยุโรป, อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย สายการบินแมนดารินแอร์ไลน์ซึ่งเป็นสายการบินลูกของไชน่าแอร์ไลน์อันเป็นสายการบินประจำชาติของไต้หวันได้ให้บริการไปยังจุดหมายปลายทางหลายแห่งในต่างประเทศแทนสายบินแม่เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางการเมือง แต่ในปี พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1998) ไชน่าแอร์ไลน์ก็ได้เปลี่ยนเครื่องแบบพนักงานใหม่โดยไม่มีการใช้สีธงชาติของไต้หวันอีกต่อไป และเริ่มบินให้บริการไปยังต่างประเทศภายใต้ชื่อของตัวเอง

สายการบินประจำชาติอื่น ๆ หลายแห่งก็ได้ให้บริการเส้นทางไปยังไทเปโดยใช้ชื่อและเครื่องแบบพนักงานอื่นแทน ตัวอย่างเช่น บริติชแอร์เวย์ไม่มีเส้นทางบินระหว่างลอนดอนกับไทเปเลย แต่ให้บริการโดยสายการบินลูกที่ชื่อ บริติชเอเชียแอร์เวย์ โดยมีตัวอักษรจีนบนหางเครื่องบินแทนรูปธงสหราชอาณาจักรที่บริติชแอร์เวย์ใช้ สายการบินแควนตัสของออสเตรเลียก็มีสายการบินลูกชื่อ ออสเตรเลียเอเชียแอร์ไลน์ ซึ่งมีเส้นทางบินระหว่างซิดนีย์และไทเป และในปัจจุบันก็ใช้วิธีบินร่วมกับอีวีเอแอร์ ซึ่งเป็นสายการบินสัญชาติไต้หวัน

ในช่วงก่อนที่รันเวย์ที่สองของสนามบินนานาชาติโตเกียวแห่งใหม่จะสร้างเสร็จ หรือชื่อในปัจจุบันคือ ท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ สายการบินจากไต้หวันจะต้องบินไปลงที่ท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว (รู้จักกันในชื่อ "สนามบินฮะเนะดะ") เพื่อหลีกให้กับสายการบินจากสาธารณรัฐประชาชนจีนที่บินไปลงที่นะริตะ และเช่นเดียวกับสายการบินอื่น ๆ เจแปนแอร์ไลน์ก็ได้จัดตั้งสายการบินลูกชื่อ เจแปนเอเชียแอร์ไลน์ เพื่อบินในเส้นทางไต้หวันแทน

รหัสโทรศัพท์ระหว่างประเทศซึ่งจะกำหนดโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศให้กับประเทศสมาชิก ทางไต้หวันซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพ แต่ก็ได้รับการกำหนดรหัส 886 ให้อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นรหัสที่ทางสหภาพระบุไว้ว่า 'สำรอง' ทางสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้รับรองการใช้รหัสประเทศ 886 นี้ ถึงแม้ว่าจะรับรองการใช้รหัสประเทศที่กำหนดให้กับฮ่องกงและมาเก๊าก็ตาม โดยได้สำรองหมายเลขโทรศัพท์หมวด 26 ไว้ใช้สำหรับเมืองไทเป และหมวด 06 สำหรับส่วนอื่น ๆ ของไต้หวัน

การเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์กรนานาชาติ แก้

ไต้หวันเป็นสมาชิกของ APEC, AsDB, BCIE, ICC, IOC, WCL และ WTO

ดูเพิ่ม แก้

หมายเหตุ แก้

  1. Out of the 193 UN member states and 2 UN observer states, 181 UN member states and the State of Palestine recognise the People's Republic of China as the sole legitimate government of China. The 13 states who recognise the Republic of China include 12 UN member states and the Holy See.

อ้างอิง แก้

  1. "Ministry of Foreign Affairs, Republic of China (Taiwan) 中華民國外交部". web.archive.org. 2013-05-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-13. สืบค้นเมื่อ 2023-12-11.
  2. "Office of the President, ROC (Taiwan)". english.president.gov.tw (ภาษาอังกฤษ).
  3. "24Hrs Licensed Money Lender in Singapore | 118 Credit | Loan Agency". https://118credit.sg/ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |website= (help)
  4. "24Hrs Licensed Money Lender in Singapore | 118 Credit | Loan Agency". https://118credit.sg/ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |website= (help)
  5. jlgi (2005-03-17). "Taiwan PROFILE". data.mongabay.com.
  6. "Republic of Nauru to sever diplomatic ties with Taiwan". Lismore City News (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2024-01-15.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้