การแบ่งยุคสมัย

กระบวนการหรือการศึกษาการแบ่งหมวดหมู่อดีตออกเป็นช่วงเวลาที่มีชื่อแยกกันและบอกปริมาณ

ในทางประวัติศาสตร์นิพนธ์ การแบ่งยุคสมัย (อังกฤษ: Periodization) คือกระบวนการหรือการศึกษาที่แบ่งอดีตออกเป็นช่วงเวลาที่แยกออกจากกัน มีการกำหนดปริมาณ และมีชื่อเรียก เพื่อประโยชน์ในการศึกษาหรือวิเคราะห์[1] โดยทั่วไปแล้ว วิธีการนี้มุ่งเน้นความเข้าใจกระบวนการทางประวัติศาสตร์ทั้งในปัจจุบันและอดีต รวมถึงความสัมพันธ์เชิงเหตุภาพ (causality) ที่อาจเชื่อมโยงเหตุการณ์เหล่านั้นเข้าด้วยกัน

การแบ่งยุคสมัยช่วยให้เราแบ่งช่วงเวลาออกเป็นส่วนๆ ได้อย่างสะดวก โดยเหตุการณ์ภายในยุคสมัยเดียวกันมักจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน อย่างไรก็ตาม การกำหนดจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดที่ชัดเจนของ "ยุคสมัย" ใดๆ มักเป็นการกำหนดตามอำเภอใจ เนื่องจากการกำหนดเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและตลอดช่วงประวัติศาสตร์ ระบบการแบ่งยุคสมัยแม้จะขึ้นอยู่กับการกำหนดโดยพลการบ้าง แต่ก็ยังคงเป็นกรอบช่วยให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ การแบ่งยุคสมัยที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ มักถูกท้าทายและนิยามใหม่เสมอ แต่เมื่อมีการกำหนดขึ้นแล้ว "แบรนด์" ของแต่ละยุคสมัยก็สะดวกสบายเสียจนยากที่จะเปลี่ยนแปลง

ประวัติศาสตร์

แก้

ประเพณีการแบ่งประวัติศาสตร์ออกเป็นยุคหรือสมัยนั้น มีมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของการประดิษฐ์ตัวเขียน และสามารถสืบค้นไปถึงยุคสุเมเรียนได้เลย รายชื่อกษัตริย์สุเมเรียน ซึ่งมีอายุย้อนหลังไปถึง สหัสวรรษที่สองก่อนคริสต์ศักราช — แม้จะไม่ถือว่าเป็นข้อมูลที่แม่นยำทางประวัติศาสตร์ในหลายส่วน— ถูก "แบ่งยุคสมัย" เป็นช่วงรัชกาลของราชวงศ์ต่าง ๆ การแบ่งยุคสมัยแบบดั้งเดิมจะแบ่งออกเป็น ยุคทอง ยุคเงิน ยุคสำริด ยุควีรบุรุษ และยุคเหล็ก มีที่มาจากเฮสิโอด ในช่วงศตวรรษที่ 8 – 7 ก่อนคริสต์ศักราช

ในยุคกลาง มีรูปแบบการแบ่งยุคสมัยตามหลักเทววิทยาของศาสนาคริสต์แบบหนึ่งที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป นั่นคือ แนวคิดของนักบุญเปาโล ที่แบ่งประวัติศาสตร์ออกเป็น 3 ยุค โดยยุคแรกคือยุคก่อนโมเสส (ภายใต้ธรรมชาติ) ยุคที่สองอยู่ภายใต้กฎหมายโมเสส (อยู่ภายใต้กฎหมาย) และยุคที่สามในยุคของพระคริสต์ (อยู่ภายใต้พระหรรษทาน) แต่รูปแบบการแบ่งยุคสมัยที่อาจเป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดในยุคกลาง น่าจะเป็นทฤษฎีหกยุคของโลก (Six Ages of the World) ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 5[2] โดยกำหนดให้แต่ละยุคมีระยะเวลาหนึ่งพันปี นับตั้งแต่ อดัม มาถึงยุคปัจจุบัน โดยยุคปัจจุบัน (ในยุคกลาง) ถือเป็นยุคที่หกและเป็นยุคสุดท้าย

ภูมิหลัง

แก้

บล็อกการแบ่งยุคสมัยเหล่านี้อาจมีการทับซ้อน ขัดแย้ง หรือโต้แย้งกันเองได้ บางช่วงแบ่งตามวัฒนธรรม (เช่น ยุคทอง) บางช่วงอ้างอิงตามเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ (เช่น สมัยระหว่างสงคราม) ขณะที่บางช่วงถูกกำหนดโดยระบบหมายเลขทศนิยม (เช่น 'ทศวรรษ 1960', 'ศตวรรษที่ 17') นอกจากนี้ ยังมีบางยุคที่ตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญที่มีอิทธิพล (เช่น 'ยุคนโปเลียน ', ' ยุควิกตอเรียน ' และ 'ยุคปอร์ฟิเรียโต')

บางกรณี การแบ่งยุคสมัยเหล่านี้อาจมีความเฉพาะเจาะจงทางภูมิศาสตร์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการแบ่งยุคสมัยที่ตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญหรือราชวงศ์ที่ปกครอง เช่น ยุคแจ็กสัน ในอเมริกา, ยุคเมจิ ในญี่ปุ่น หรือ ยุคเมรอแว็งเฌียง ในฝรั่งเศส

แม้แต่คำศัพท์ทางวัฒนธรรมก็ยังมีความหมายจำกัดอยู่แค่บางพื้นที่ ตัวอย่างเช่น แนวคิดของ "ยุคโรแมนติก" แทบจะไม่มีความหมายใดนอกเหนือจากโลกตะวันตกของยุโรปและวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากยุโรป ในทำนองเดียวกัน "ยุค 1960" ถึงแม้จะสามารถใช้กับทุกพื้นที่ทั่วโลกตามระบบปฏิทินคริสต์ศักราช แต่ก็ยังคงมีความหมายเฉพาะทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า "ยุค 60s ไม่เคยเกิดขึ้นในสเปน" เพราะในช่วงเวลานั้น สเปนอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมอันเข้มงวดของ ฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) ผู้นำเผด็จการที่เคร่งครัดในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก  ทำให้ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นในยุค 60 ของประเทศอื่นๆ  เช่น การปฏิวัติทางเพศ วัฒนธรรมต่อต้าน การกบฏของเยาวชน  ไม่สามารถเบ่งบานได้ในสังคมสเปนที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม

สอดคล้องกับความคิดเห็นของนักประวัติศาสตร์ อาเธอร์ มาร์วิก ที่กล่าวว่า "ยุค 60 เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1950 และสิ้นสุดลงในช่วงต้นทศวรรษ 1970" เนื่องจากบริบททางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่กำหนดความหมายของช่วงเวลานี้  มีความครอบคลุมมากกว่ากรอบตายตัวของช่วง 10 ปีที่ขึ้นต้นด้วยเลข 6 เท่านั้น การใช้กรอบเวลายืดหยุ่นนี้เรียกว่า "ทศวรรษ 1960 อันยาวนาน" แนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลจากนักประวัติศาสตร์ท่านอื่นๆ ที่เคยเสนอแนวคิดแบ่งช่วงเวลา เช่น "ศตวรรษที่ 19 อันยาวนาน" (ค.ศ. 1789–1914) เพื่อเชื่อมโยงการแบ่งช่วงเวลาแบบทศวรรษตามเลขกับความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและสังคมที่เกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับ เอริค ฮอบส์บาวม์ นักประวัติศาสตร์อีกท่าน  ที่เสนอแนวคิด "ศตวรรษที่ 20 อันแสนสั้น" ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จนถึงสิ้นสุด สงครามเย็น

คำศัพท์ที่ใช้แบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ (periodizing terms) มักจะมีความหมายแฝงในทางบวกหรือลบ ส่งผลต่อการใช้และการตีความ เช่น คำว่า สมัยวิกตอเรีย มักถูกมองในแง่ลบ ชวนให้นึกถึงสังคมที่เคร่งครัดกฎเกณฑ์ทางเพศ และความขัดแย้งระหว่างชนชั้น ในขณะเดียวกัน  คำศัพท์อื่นๆ  อย่างเช่น สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) กลับมีลักษณะเชิงบวกอย่างชัดเจน ส่งผลให้ความหมายของคำศัพท์แบ่งยุคสมัยเหล่านี้อาจขยายความหมายออกไปได้ ตัวอย่างเช่น สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอังกฤษ มักถูกนำไปใช้ครอบคลุมช่วงเวลาที่ตรงกับ สมัยของอลิซาเบธ หรือรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ซึ่งถัดมาจากสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลีราว 200 ปี อย่างไรก็ตาม สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในจักรวรรดิการอแล็งเฌียงกลับถูกกำหนดให้เกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยของชาร์เลอมาญ กษัตริย์แห่งแฟรงก์ และรัชสมัยของทายาทในราชวงศ์ต่อมา ซึ่งนับว่าไม่ตรงกับความหมายดั้งเดิมของ "ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา" ที่สื่อถึงการฟื้นคืนชีพของศิลปวิทยาการกรีกโรมัน ตัวอย่างอื่น ๆ ที่ไม่ได้สื่อถึงความหมายของ "การเกิดใหม่" ในแง่ของการฟื้นฟู  เช่น สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการของอเมริกา ครอบคลุมช่วงเวลาราวคริสต์ทศวรรษ 1820-1860 เน้นด้านวรรณกรรมเป็นหลัก  และ สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาฮาร์เล็ม ในคริสต์ทศวรรษ 1920 เน้นด้านวรรณกรรมเป็นหลัก  แต่รวมถึงดนตรีและศิลปะทัศนศิลป์ด้วย

 
เพทราร์ก เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดเกี่ยวกับ "ยุคมืด" ของยุโรป ซึ่งต่อมาได้พัฒนาไปสู่การแบ่งช่วงเวลาประวัติศาสตร์ตะวันตกออกเป็น 3 ยุค  ได้แก่ สมัยโบราณ ยุคหลังคลาสสิก และ สมัยใหม่

แนวคิดเรื่อง "การฟื้นคืนชีพ" (rebirth) ของการเรียนรู้ภาษาละตินโบราณนั้น เชื่อกันว่า เริ่มต้นโดย เพทราร์ก (ค.ศ. 1304–1374) กวีชาวอิตาลี ผู้บุกเบิกแนวคิด มนุษยนิยมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา แม้ว่าแนวคิดการฟื้นคืนชีพนี้ จะถูกใช้กันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยของเพทราร์กแล้วก็ตาม การใช้คำว่า เรอเนซองส์ ส่วนใหญ่ มักหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในอิตาลี  โดยจุดสูงสุดอยู่ที่ช่วง ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาตอนต้น ราวปี ค.ศ. 1500–1530 แนวคิดนี้มักเน้นไปที่ศิลปะทัศนศิลป์ โดยเฉพาะผลงานของศิลปินระดับปรมาจารย์อย่าง ไมเคิลแองเจโล, ราฟาเอล และ เลโอนาร์โด ดา วินชี นอกจากนั้น อาจมีการใช้คำนี้กับศิลปะแขนงอื่นๆ บ้าง แต่ยังคงเป็นที่ถกเถียงว่ามีประโยชน์หรือไม่ในการใช้คำนี้เพื่ออธิบายช่วงเวลาในด้านเศรษฐกิจ สังคม และประวัติศาสตร์การเมือง ปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์จำนวนมาก เปลี่ยนมาเรียกช่วงเวลาที่เคยรู้จักกันว่า สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา และ สมัยการปฏิรูปศาสนา ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ ยุคสมัยใหม่ตอนต้น แทน  ซึ่งยุคสมัยใหม่ตอนต้นกินเวลายาวนานกว่าเดิมมาก การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อหลักสูตรที่เปิดสอนและหนังสือที่ตีพิมพ์  ให้สอดคล้องกับการแบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนไป  สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความแตกต่างระหว่าง ประวัติศาสตร์สังคม และ ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม การใช้คำศัพท์ใหม่นี้ ชี้ให้เห็นถึงขอบเขตทางภูมิศาสตร์ที่กว้างขึ้น  และความสนใจที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับโลกภายนอก

คำว่า ยุคกลาง ก็มีที่มาจาก เพทราร์ก เช่นเดียวกัน เขาเปรียบเทียบยุคสมัยของเขากับโลกโบราณหรือโลกยุคคลาสสิก โดยมองว่าช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่นั้น  เป็นยุคแห่งการฟื้นฟู  หลังจากผ่านช่วงเวลายุคมืดอันยาวนาน  ซึ่งก็คือยุคกลาง แม้จะมีแนวคิดที่ว่ายุคกลางเองเป็นช่วงเวลาที่อยู่ตรงกลางระหว่างยุคโบราณ และยุคใหม่ ยังคงเป็นที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แต่ยุคกลางเองก็สามารถแบ่งช่วงเวลาออกได้เป็น ยุคกลางตอนต้น, ยุคกลางตอนกลาง และ ยุคกลางตอนปลาย คำว่า ยุคมืด ไม่ค่อยนิยมใช้กันแล้วในหมู่นักวิชาการสมัยใหม่  เนื่องจากมีความหมายแฝงทางลบ  แม้จะมีนักเขียนบางคนพยายามนำคำนี้กลับมาใช้  แต่ก็มักจะพยายามลดทอนความหมายเชิงลบนั้นออกไป คำว่า "ยุคกลาง" และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำคุณศัพท์ ในยุคกลาง อาจมีความหมายในเชิงลบเมื่อใช้ในภาษาพูดทั่วไป  แต่ความหมายเชิงลบนี้ ไม่ได้นำไปใช้กับคำศัพท์ทางวิชาการ อย่างไรก็ตาม คำศัพท์อื่น ๆ อย่างเช่น สถาปัตยกรรมกอทิก ซึ่งแต่เดิมเคยถูกใช้เรียกศิลปะรูปแบบเฉพาะที่มีในช่วงยุคกลางตอนกลาง  ปัจจุบัน ความหมายเชิงลบที่เคยมีได้เลือนหายไป  กลายเป็นความหมายใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมืดมัว (ดู สถาปัตยกรรมกอทิก และ วัฒนธรรมย่อยโกธิค)

กอทิก และ บาโรก ถูกตั้งชื่อในยุคศิลปะถัดมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ศิลปะแบบเดิมไม่ได้รับความนิยม คำว่า "กอทิก" ถูกนำมาใช้เป็นคำดูถูก สิ่งของต่างๆ ที่มาจากยุโรปเหนือ  ซึ่งโดยนัยหมาย ก็หมายถึง ป่าเถื่อน ผู้ที่อาจเป็นคนแรกที่ใช้คำนี้คือ จอร์โจ วาซารี เขาบัญญัติคำว่า "กอทิก" ขึ้นด้วยความพยายามที่จะอธิบาย (โดยเฉพาะสถาปัตยกรรม) สิ่งที่เขาพบว่าน่ารังเกียจ คำว่า บาโรก มาจากคำที่คล้ายกันในภาษาโปรตุเกส สเปน หรือฝรั่งเศส โดยแท้จริงแล้วหมายถึงหมายถึง ไข่มุกที่ไม่กลมหรือมีรูปร่างผิดปกติ การใช้งานครั้งแรกนอกจากวงการผลิตเครื่องประดับ คือในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 เพื่อ วิจารณ์ดนตรี ที่ฟังดู ซับซ้อน และหยาบเกินไป ต่อมาคำนี้ถูกนำไปใช้กับสถาปัตยกรรมและศิลปะด้วย [3] แนวคิดเกี่ยวกับยุคบาโรกเริ่มต้นเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 19 และโดยทั่วไปถือว่าเริ่มประมาณปี 1600 ครอบคลุมทุกแขนงศิลปะ นักประวัติศาสตร์ดนตรี กำหนดยุคบาโรก สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1750 ตรงกับปีที่ โยฮัน เซบาสทีอัน บัค นักดนตรีชื่อดัง เสียชีวิตในทางกลับกัน นักประวัติศาสตร์ศิลป์ มองว่า ยุคบาโรกยุคสำคัญ สิ้นสุดลงเร็วกว่านั้นมาก ขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิภาค

ระบบนับสามสมัย

แก้

ในทางโบราณคดี วิธีการแบ่งช่วงเวลาของยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนต้น มักอาศัยการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมวัตถุ และเทคโนโลยีเป็นหลัก เช่น ยุคหิน ยุคสำริด และ ยุคเหล็ก รวมถึงการแบ่งช่วงย่อยภายในยุคเหล่านี้ตามลักษณะรูปแบบที่แตกต่างกันของเครื่องมือเครื่องใช้ แม้ว่าในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เราสามารถกำหนดอายุที่แน่นอนของแหล่งโบราณสถานหรือโบราณวัตถุจำนวนมากได้ด้วยวิธีอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี และวิธีการทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ แต่ระบบการแบ่งช่วงเวลายาวนานเหล่านี้ก็น่าจะยังคงถูกใช้ต่อไป ในหลายกรณี อารยธรรมใกล้เคียงที่มีระบบการเขียนได้ทิ้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของอารยธรรมที่ไม่มีระบบการเขียนไว้บ้าง ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบได้ ระบบการแบ่งช่วงเวลานี้ยังมีการแบ่งย่อยลงไปอีก เช่น การแบ่งยุคหินออกเป็น ยุคหินเก่า ยุคหินกลาง และยุคหินใหม่ โดยจอห์น ลับบ็อก ในปี ค.ศ. 1865[4]

ประวัติศาสตร์นิพนธ์

แก้

บางเหตุการณ์หรือช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่ส่งผลรุนแรงต่อวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง ย่อมก่อให้เกิดจุดแบ่งช่วงเวลาตามธรรมชาติในประวัติศาสตร์ บ่อยครั้งจุดแบ่งเหล่านี้มักถูกกำหนดโดยการใช้คำหรือวลีทั้ง ก่อน (pre-) และ หลัง (post-) นำหน้าเหตุการณ์ อย่างแพร่หลาย เช่น ใน ยุคก่อนการปฏิรูปศาสนา (pre-Reformation) และ ยุคหลังการปฏิรูปศาสนา (post-Reformation) หรือ ยุคก่อนอาณานิคม (pre-colonial) และ ยุคหลังอาณานิคม (post-colonial) ทั้งคำว่า ยุคก่อนสงคราม (pre-war) และ ยุคหลังสงคราม (post-war) ล้วนยังคงเข้าใจได้ว่าหมายถึง สงครามโลกครั้งที่สอง แม้ว่าในอนาคต วลีเหล่านี้อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น

ประวัติศาสตร์โลก

แก้
 
ตัวอย่างช่วงเวลาในประวัติศาสตร์

นักประวัติศาสตร์ยุคสำคัญๆ หลายสมัยอาจใช้ ได้แก่:

  1. ยุคก่อนประวัติศาสตร์
  2. ประวัติศาสตร์สมัยโบราณ
  3. สมัยโบราณตอนปลาย
  4. ประวัติศาสตร์ยุคหลังคลาสสิก
  5. ยุคต้นสมัยใหม่
  6. ยุคสมัยใหม่ตอนปลาย
  7. ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ [5] (บางครั้งคริสต์ศตวรรษที่ 19 และสมัยใหม่ผสมผสานกัน) [5]
  8. ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย

แม้ว่าคำว่า ยุคหลังคลาสสิก (post-classical) จะมีความหมายเหมือนกันกับ ยุคกลาง ของยุโรปตะวันตก แต่คำว่า ยุคหลังคลาสสิก ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งช่วงเวลาแบบไตรภาค แบบดั้งเดิมของประวัติศาสตร์ยุโรปตะวันตก ที่แบ่งเป็น 'ยุคคลาสสิก' 'ยุคกลาง' และ 'ยุคใหม่' เสมอไป

การกำหนดช่วงเวลาที่เป็นที่นิยมบางช่วงโดยใช้คำยาวหรือสั้นโดยนักประวัติศาสตร์ ได้แก่:

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้

การอ้างอิง

แก้
  1. "Definition of periodization". Dictionary.com (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-27. สืบค้นเมื่อ 2022-08-26.
  2. Alexander, David C. (2008). Augustine's Early Theology of the Church: Emergence and Implications, 386–391 (ภาษาอังกฤษ). Peter Lang. p. 219. ISBN 978-1-4331-0103-8.
  3. Pasiscla, Claude V., "Baroque" in Grove Music Online, Oxford Music Online. Accessed Feb 2014.
  4. "John Lubbock's "Pre-Historic Times" is Published (1865)". History of Information. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2017. สืบค้นเมื่อ 27 December 2016.
  5. 5.0 5.1 Stearns, Peter N. (2017). "Periodization in World History: Challenges and Opportunities". ใน R. Charles Weller (บ.ก.). 21st-Century Narratives of World History: Global and Multidisciplinary Perspectives. Palgrave. ISBN 978-3-319-62077-0.

แหล่งที่มา

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น ๆ

แก้