สมเด็จพระศรีสุลาลัย
สมเด็จพระศรีสุลาลัย[3] บางแห่งสะกดว่าสมเด็จพระศรีสุลาไลย[4][note 1] พระนามเดิม เรียม (28 มกราคม พ.ศ. 2314 – 17 ตุลาคม พ.ศ. 2380)[1] เป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย[5] และเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระศรีสุลาลัย | |
---|---|
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง[1] | |
ดำรงพระยศ | 13 กันยายน พ.ศ. 2367 - 17 ตุลาคม พ.ศ. 2380 |
สถาปนา | 13 กันยายน พ.ศ. 2367[2] |
ก่อนหน้า | กรมพระอมรินทรามาตย์ |
ถัดไป | กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ |
พระราชสมภพ | 28 มกราคม พ.ศ. 2314 เมืองนนทบุรี อาณาจักรธนบุรี |
สวรรคต | 17 ตุลาคม พ.ศ. 2380 (66 ปี) กรุงเทพพระมหานคร อาณาจักรรัตนโกสินทร์ |
บรรจุพระอัฐิ | หอพระธาตุมณเฑียร |
พระราชสวามี | พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย |
พระราชบุตร |
|
ราชวงศ์ | จักรี (โดยสถาปนา) |
พระราชบิดา | พระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน |
พระราชมารดา | คุณหญิงเพ็ง |
ศาสนา | เถรวาท |
พระราชประวัติ
พระชนม์ชีพตอนต้น
สมเด็จพระศรีสุลาลัย มีพระนามเดิมว่า เรียม เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ เดือน 3 ขึ้น 13 ค่ำ ปีขาลโทศก ศักราช 1132 ตรงกับวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2314[1] เป็นธิดาเพียงคนเดียวของพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน (บุญจัน) กับคุณหญิงเพ็ง นนทบุรีศรีมหาอุทยาน มีนิวาสถานเดิมอยู่ที่เมืองนนทบุรีด้วยพระชนกเป็นผู้ว่าราชการเมืองดังกล่าว[6] พระองค์มีพระอนุชาต่างมารดาชื่อ นาค สมรสกับน้องสาวคนหนึ่งของพระอักษรสมบัติ (หม่อมทับ) บิดาเจ้าจอมมารดาทรัพย์ ในรัชกาลที่ 3[7] พระอนุชานาคนี้เป็นต้นสกุลของพระยารัตนอาภรณ์ (แตง)[8]
บุรพชนฝ่ายพระชนกนั้นไม่ใคร่ปรากฏหลักฐานนัก ทราบแต่เพียงว่าเป็นชาวไทยมาจากย่านบางเชือกหนัง[9] ส่วนฝ่ายพระชนนีคือ คุณหญิงเพ็งนั้นมีบิดาเป็นมุสลิมสุหนี่ชื่อพระยาราชวังสัน (หวัง) ที่สืบเชื้อสายมาจากสุลต่านสุลัยมานแห่งสงขลา[10][11] กับมารดาชื่อท่านชู สตรีชาวไทยย่านสวนวัดหนัง คลองบางขุนเทียน ฝั่งธนบุรี[9] คุณหญิงเพ็งมีน้องอีกสองคน ได้แก่[12]
- ท่านปล้อง สมรสกับพระยาพัทลุง (ทองขาว ณ พัทลุง) มีบุตรธิดาทั้งหมด 9 คน เป็นยายของเจ้าจอมมารดาทรัพย์ในรัชกาลที่ 3 และเป็นเทียดของพระนมปริก
- พระนมรอด สมรสกับพระยาศรีสรราช (เงิน) ต่อมาได้เป็นพระนมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เพ็งสมรสกับพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน (บุญจัน) ที่ต่อมาได้รับราชการไปเป็นผู้ว่าราชการเมืองนนทบุรีแล้วย้ายไปตั้งบ้านเรือนที่นั่น และมีธิดาด้วยกันเพียงเดียวคือเรียม ภายหลังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างพระอารามถวายแด่พระบรมราชชนนีในนิวาสถานเดิมซึ่งปัจจุบันคือ วัดเฉลิมพระเกียรติ ลุมาถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จ้างช่างไปเขียนฝาผนังอุโบสถ ให้เขียนเป็นลายรดน้ำมีปราสาทตราแผ่นดิน และเขียนเป็นรูปดวงจันทร์เต็มบริบูรณ์ ทรงออกพระนามว่า "เพ็งองค์ ๑ จันทร์องค์ ๑" คือพระชนกพระชนนีของสมเด็จพระศรีสุลาลัยนั่นเอง[13]
เข้ารับราชการฝ่ายใน
คุณเรียมเริ่มรับราชการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ด้วยทอดพระเนตรเห็นคุณเรียมขณะลงเล่นน้ำที่ท่าหน้าบ้านแล้วต้องพระทัย[14] และตามเสด็จไปประทับ ณ พระราชวังเดิม ถือเป็นหม่อมห้ามคนที่สองในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ส่วนหม่อมท่านแรก คือ เจ้าจอมมารดาสี ธิดาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช)
เจ้าจอมมารดาเรียมได้ประสูติพระราชโอรสพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ณ พระราชวังเดิม จำนวน 3 พระองค์ ได้แก่
- พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (31 มีนาคม พ.ศ. 2330 – 2 เมษายน พ.ศ. 2394) มีพระราชโอรสธิดา 51 พระองค์
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าป้อม (7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2333 – พ.ศ. 2336)
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดำ หรือ หนูดำ[15] (พ.ศ. 2335 – พ.ศ. 2336)
หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสวยราชสมบัติ เจ้าจอมมารดาเรียมได้ตามเสด็จไปประทับ ณ พระบรมมหาราชวัง ดำรงตำแหน่งพระสนมเอกดูแลห้องเครื่องต้นทั้งปวงจนชาววังออกนามว่า เจ้าคุณ ถือเป็นสตรีที่มีบทบาทโดดเด่นในราชสำนัก เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2367 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระพันปีหลวงเป็น กรมพระศรีสุลาลัย[3]
การสวรรคตของรัชกาลที่ 2
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันหลังจากการผนวชของเจ้าฟ้ามงกุฎเพียงไม่นาน ทำให้สมเด็จพระศรีสุราลัยทรงถูกครหาว่าเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ยิ่งจากการสวรรคตในครั้งนี้ เนื่องจากกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์พระราชโอรสได้สืบราชสมบัติ[16][17] กรณีดังกล่าวปรามินทร์ เครือทอง ได้เขียนบทความ "ฆาตกรรมวังหลวง : คดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ ๒ จริงหรือข่าวลือ?" จึงตั้งข้อสังเกตโดยอาศัยเอกสาร เช่น
หนังสือราชสำนักสยามฯ ที่เขียนโดยนายแพทย์มัลคอล์ม สมิธ แพทย์หลวงประจำรัชกาลที่ 5 ได้กล่าวถึงสิ่งที่เขาได้ฟังมาว่า "หลังจากที่ทรงผนวชได้เพียง 2 สัปดาห์ พระราชบิดาของพระองค์ [รัชกาลที่ 2] ก็เสด็จสวรรคตลงอย่างปัจจุบันทันด่วน พระนั่งเกล้าฯ พระเชษฐาซึ่งมีตำแหน่งสำคัญในราชอาณาจักรและยังทรงได้รับการสนับสนุนจากพระมารดาซึ่งแม้จะมีฐานะเป็นเพียงเจ้าจอมแต่ก็เป็นหญิงที่มีเล่ห์เหลี่ยม ทำให้พระองค์ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สืบทอดราชสมบัติ" ซึ่งก่อนหน้านั้นสมัยรัชกาลที่ 4 แอนนา ลีโอโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักสยามก็เคยได้ยินคำเล่าลือทำนองนี้มาเช่นกัน[16]
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์เอกชัย โควาวิสารัช ได้เขียนบทความ "ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ กรณีสวรรคตพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ" เพื่อโต้แย้งบทความของนายปรามินทร์ เครือทอง เนื่องจากเห็นว่าเป็นบทความที่มีความไม่ถูกต้องและไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและได้กล่าวหาสมเด็จพระศรีสุลาลัยโดยปราศจากหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้เลยแม้แต่น้อย นอกจากประวัติศาสตร์ที่เป็นลักษณะบัตรสนเท่ห์หาสาระอะไรไม่ได้เลยเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่พระองค์[18]
นายแพทย์เอกชัย โควาวิสารัช ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า มีพระอาการที่เหมือนกันกับโรคสมองอักเสบที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสค่อนข้างมาก ตั้งแต่ปวดพระเศียร ปวดเมื่อย มึนพระองค์ มีพระไข้ ซึมลง ตรัสไม่ได้ และเสวยพระโอสถไม่ได้ นอกจากนี้ พระอาการยังมีความคล้ายกับโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเช่นกัน แต่พระอาการพระศอแข็งไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เนื่องจากไม่มีบันทึกโดยแพทย์หลวงหรือปรากฏในเอกสารชิ้นใดเลย แต่พระอาการของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกลับไม่เหมือนกับโรคเลือดออกในสมองหรือโรคเนื้องอกของสมอง ดังนั้น นายแพทย์เอกชัย โควาวิสารัชจึงมีความเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยน่าจะทรงพระประชวรและสวรรคตด้วยพระโรคติดเชื้อของสมอง ซึ่งอาจเป็นโรคสมองอักเสบที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสหรือโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบมากที่สุด[18]
สวรรคต
สมเด็จพระศรีสุลาลัยทรงพระประชวรไข้พิษ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันอังคาร เดือน 11 แรม 3 ค่ำ เวลา 3 ยาม ตรงกับวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2380[1] สิริพระชนมายุ 68 พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท[1] มีการจัดสร้างพระเมรุมาศ และถวายเพลิงพระบรมศพ ก่อนที่จะนำพระบรมอัฐิอัญเชิญสู่พระบรมมหาราชวัง[19]
พระอิสริยยศ
ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระศรีสุลาลัย | |
---|---|
การทูล | ใต้ฝ่าละอองพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ |
- 28 มกราคม พ.ศ. 2314 - สมัยรัชกาลที่ 1 : เรียม
- สมัยรัชกาลที่ 1 – 8 กันยายน พ.ศ. 2352 : หม่อมเรียม ในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร
- 8 กันยายน พ.ศ. 2352 – 13 กันยายน พ.ศ. 2367 : เจ้าจอมมารดาเรียม ในรัชกาลที่ 2
- 13 กันยายน พ.ศ. 2367 – 17 ตุลาคม พ.ศ. 2380 : กรมพระศรีสุลาลัย
- สมัยรัชกาลที่ 4 – สมัยรัชกาลที่ 6 : กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย
- สมัยรัชกาลที่ 6 : สมเด็จพระศรีสุลาลัย
พงศาวลี
พงศาวลีของสมเด็จพระศรีสุลาลัย | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
หมายเหตุ
- ↑ พระนามของพระองค์มีการสะกดได้หลายทาง ได้แก่
- สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชว่า "ศรีสุราไลย" (สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขฯ. ราชินิกูลรัชชกาลที่ 3, 19 กันยายน พ.ศ. 2471)
- เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดีว่า "ศรีสุลาลัย" (เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2547, หน้า 3)
- ส.พลายน้อยว่า "ศรีสุราลัย" (ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : บำรุงสาสน์. 2530, หน้า 35)
อ้างอิง
- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560, หน้า 191
- ↑ ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560, หน้า 39
- ↑ 3.0 3.1 จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1, หน้า 62
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การพระราชกุศลดิถีซึ่งคล้ายกับวันประสูตรพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, เล่ม 17, ตอน 52, 24 มีนาคม พ.ศ. 2443, หน้า 755
- ↑ ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560, หน้า 40
- ↑ ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ภาคต้น). ธนบุรี : สำนักพิมพ์อโยธยา, ม.ม.ป., หน้า 97
- ↑ ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ภาคต้น). ธนบุรี : สำนักพิมพ์อโยธยา, ม.ม.ป., หน้า 165
- ↑ "อิสลาม มอญ และจีน ในราชินีกุลรัชกาลที่ ๓ และราชินีกุลรัชกาลที่ ๕". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-31. สืบค้นเมื่อ 2012-06-27.
- ↑ 9.0 9.1 ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ภาคต้น). ธนบุรี : สำนักพิมพ์อโยธยา, ม.ม.ป., หน้า 98
- ↑ Putthongchai, Songsiri (2013). What is it Like to be Muslim in Thailand?. England: University of Exeter, p. 98.
- ↑ จักรพันธ์ กังวาฬ. และคนอื่น ๆ. กรุ่นกลิ่นอารยธรรมเปอร์เซียในเมืองสยาม. กรุงเทพฯ:มติชน, 2550, หน้า 162
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ. (25 ธันวาคม พ.ศ. 2551). "ชุมชน "ข้าหลวงเดิม" บนเส้นทางคมนาคม "คลองด่าน" ฝั่งธนบุรี แม่น้ำลำคลองสายประวัติศาสตร์". มติชนรายวัน. 31:11247, หน้า 21
- ↑ ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์ , หน้า 66
- ↑ "ตอนที่ 29 รักซ่อนปมของกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย". เดลินิวส์. 2 ธันวาคม 2556. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาพันธุวงศ์วรเดช. ราชินิกูลรัชชกาลที่ ๓. พระนคร:ราชบัณฑิตยสถาน. 2471, หน้า 12
- ↑ 16.0 16.1 วิภา จิรภาไพศาล (8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555). "ฆาตกรรมวังหลวง : คดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ ๒ จริงหรือข่าวลือ?". มติชน. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ ส.ศิวรักษ์. รากงอกก่อนตาย. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2555, หน้า 198
- ↑ 18.0 18.1 นายแพทย์เอกชัย โควาวิสารัช (14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556). "ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ กรณีสวรรคตพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ". มติชน. สืบค้นเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ พระราชประวัติรัชกาลที่ 3 พระราชประวัติสมเด็จพระศรีสุราลัย[ลิงก์เสีย]
- บรรณานุกรม
- จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 508 หน้า. ISBN 974-417-527-3
- ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์. 2554
- สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2554. 296 หน้า. หน้า 68. ISBN 978-974-417-594-6
ก่อนหน้า | สมเด็จพระศรีสุลาลัย | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี | สมเด็จพระพันปีหลวง (13 กันยายน พ.ศ. 2367 – 17 ตุลาคม พ.ศ. 2380) |
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง | ||
สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี | กุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี (18 ตุลาคม พ.ศ. 2372 – 17 ตุลาคม พ.ศ. 2380) |
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับ |