เฮเลน เมียร์เรน
เดม เฮเลน เมียร์เรน ดีบีอี (อังกฤษ: Dame Helen Mirren, DBE; เกิดวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1945) มีชื่อเดิมว่า อิลเยนา ลิเดีย วาซิลีเยฟนา มิโรนอฟ (อังกฤษ: Ilyena Lydia Vasilievna Mironov) เป็นนักแสดงชาวอังกฤษ[1] ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงและได้รับรางวัลมากมาย โดยเธอเป็นหนึ่งในนักแสดงเพียง 24 คนจนถึงปัจจุบันที่ได้ทริปเปิลคราวน์ทางการแสดง อันประกอบไปด้วยรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม, รางวัลไพรม์ไทม์เอมมี และ รางวัลโทนี เมียร์เรน มีผลงานการแสดงภาพยนตร์รวมถึงละครโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 50 ปี เธอได้รับคำชื่นชมจากการแสดงบท "สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2" จากภาพยนตร์เรื่อง เดอะ ควีน ราชินีหัวใจโลกจารึก (2006) ซึ่งบทดังกล่าวเป็นบทที่สร้างชื่อเสียงให้เธอมากที่สุดและส่งผลให้เธอได้รับรางวัลออสการ์, รางวัลแบฟตา, รางวัลลูกโลกทองคำรวมถึงรางวัลแซกอวอร์ดส์ภายในปีเดียวกัน นอกจากนี้เธอยังมีผลงานที่โด่งดังทางโทรทัศน์จากบท "เจน เทนนิสัน" ตำรวจสืบสวนหญิงแห่งสกอตแลนด์ยาร์ด ในละครชุดเรื่อง ไพรม์ซัสเปกต์ (1991–2006) ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลแบฟตาถึง 3 สมัยติดต่อกัน และยังได้รับรางวัลไพรม์ไทม์เอมมี สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ประเภทมินิซีรีส์อีก 2 สมัย
เฮเลน เมียร์เรน | |
---|---|
เฮเลน เมียร์เรนในปี 2020 | |
สารนิเทศภูมิหลัง | |
ชื่อเกิด | อิลเยนา ลิเดีย วาซิลีเยฟนา มิโรนอฟ |
เกิด | แฮมเมอร์สมิท, เกรเทอร์ลอนดอน ประเทศอังกฤษ | 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1945
คู่สมรส | เทย์เลอร์ แฮ็กฟอร์ด (1997–ปัจจุบัน) |
อาชีพ | นักแสดง |
ปีที่แสดง | 1965–ปัจจุบัน |
รางวัล | |
ออสการ์ | นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม 2006 เดอะ ควีน ราชินีหัวใจโลกจารึก |
เอมมี | นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ประเภทมินิซีรีส์หรือภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ 1996 ไพรม์ซัสเปกต์ (ซีซั่น 4) 1999 เดอะ แพสชัน ออฟ ไอน์ แรนด์ 2006 เอลิซาเบธที่ 1 2007 ไพรม์ซัสเปกต์ (ซีซั่น 7) |
โทนี | นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมทางละครเวที 2015 ดิ ออเดียนซ์ |
ลูกโลกทองคำ | นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ประเภทมินิซีรีส์หรือภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ 1996 ลูซิง เชส 2006 เอลิซาเบธที่ 1 นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์ดราม่า 2006 เดอะ ควีน ราชินีหัวใจโลกจารึก |
แบฟตา | นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (ทางโทรทัศน์) 1991 ไพรม์ซัสเปกต์ 1992 ไพรม์ซัสเปกต์ 1993 ไพรม์ซัสเปกต์ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (ภาพยนตร์) 2006 เดอะ ควีน ราชินีหัวใจโลกจารึก |
เมียร์เรน เริ่มต้นอาชีพนักแสดงจากการเป็นนักแสดงละครเวทีของโรงละครเยาวชนแห่งชาติสหราชอาณาจักร โดยในปี 1965 ขณะอายุได้ 20 ปี เธอได้รับบทเป็น คลีโอพัตรา ในละครเวทีที่สร้างจากบทประพันธ์ของวิลเลียม เชกสเปียร์ ซึ่งจากการแสดงของเธอทำให้เธอได้รับความสนใจและได้รับการติดต่อให้มาเป็นนักแสดงของโรงละครรอยัล เชกสเปียร์ ที่เป็นโรงละครชั้นนำในลอนดอน โดยเธอได้แสดงละครเวทีที่สร้างจากบทละครที่มีชื่อเสียงของวิลเลียม เชกสเปียร์ และ มักซิม กอร์กีหลายเรื่อง[2] จากความโดดเด่นของเธอในละครเวที ทำให้เธอมีโอกาสได้แสดงภาพยนตร์เรื่องต่างๆเช่น ฝันในคืนกลางฤดูร้อน (1968), ซาเวจ เมสสิยาห์ (1972), แฮมเลต (1976), คาลิกูลา กษัตริย์วิปริตแห่งโรมัน (1979) จนในปี 1980 เธอได้แสดงในภาพยนตร์เรื่อง เดอะลองกู้ดฟรายเดย์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากและถูกบรรจุไว้ใน 100 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของสถาบันภาพยนตร์อังกฤษ ส่งผลให้เธอมีชื่อเสียงโด่งดังมากขึ้นและมีผลงานการแสดงในภาพยนตร์ฮอลลีวูดทุนสร้างสูงอย่าง เอ็กซ์คาลิเบอร์ ดาบเทวดา (1981) ที่เธอรับบทเป็น "มอร์แกน เลอ เฟย์ / มอร์กานา" รวมทั้งภาพยนตร์ไซไฟเรื่อง 2010 อุบัติการณ์อาทิตย์ดวงใหม่ (1984) ซึ่งเป็นภาคต่อของ 2001 จอมจักรวาล ต่อมาเธอได้แสดงในภาพยนตร์เพลงที่เข้าชิงรางวัลออสการ์เรื่อง บอกเธอ บอกฉัน บอกว่ารักเรามั่นนิรันดร (1985) และแสดงนำคู่กับ แฮร์ริสัน ฟอร์ด ใน สวรรค์ดงดิบ (1986)
ยุคคริสต์ทศวรรษ 1990 เมียร์เรน มีผลงานในภาพยนตร์ชีวประวัติของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3เรื่อง ราชาสภาโจ๊ก (1993) ซึ่งเธอรับบทเป็นสมเด็จพระราชินีชาร์ล็อต และได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรก ในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ก่อนจะมีผลงานแสดงนำในภาพยนตร์ที่สร้างจากเหตุการณ์การอดอาหารประท้วงในประเทศไอร์แลนด์เรื่อง เพื่อแม่หรืออุดมการณ์ (1996) และแสดงคู่กับเคที โฮลมส์ ในภาพยนตร์ระทึกขวัญเรื่อง อาจารย์หวีด (1999) โดยในยุคคริสต์ทศวรรษ 2000 เธอแสดงในเรื่อง คนสวนมือใหม่ นักโทษไม้ประดับ (2000) ก่อนที่จะได้รับรางวัลแซกอวอร์ดส์เป็นครั้งแรกในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม จากบท "มิสซิสวิลสัน" ในภาพยนตร์เรื่อง รอยสังหารซ่อนสื่อมรณะ (2001) ซึ่งจากบทบาทดังกล่าวยังทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ, รางวัลแบฟตา รวมถึงได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมเป็นครั้งที่ 2 จากนั้นเธอแสดงใน สาวปฏิทินหัวใจทอง (2003), หักล้างแผนไถ่อำมหิต (2004), ชาโดว์บ๊อกเซอร์ (2005)
ในปี 2006 เป็นปีที่เธอประสบความสำเร็จในอาชีพการแสดงสูงสุด จากการรับบท "สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร" ในภาพยนตร์เรื่อง เดอะ ควีน ราชินีหัวใจโลกจารึก ที่ทำให้เธอได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์จำนวนมาก ส่งผลให้เธอได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม, รางวัลแบฟตา, รางวัลลูกโลกทองคำ และรางวัลแซกอวอร์ดส์ ภายในปีเดียวกัน โดยเธอยังคงมีผลงานการแสดงในภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องเช่น ปฏิบัติการณ์เดือด ล่าบันทึกลับสุดขอบโลก (2007), รักเธอตราบจนสถานีสุดท้าย (2009), คนอึดต้องกลับมาอึด (2010), ปรุงชีวิต ลิขิตฝัน (2014), ภาพปริศนา ล่าระทึกโลก (2015), คฤหาสน์ขังผี (2018), เร็ว..แรงทะลุนรก ฮ็อบส์ & ชอว์ (2019) และ เร็ว..แรงทะลุนรก 9 (2021)
เฮเลน เมียร์เรน เป็นนักแสดงหญิงที่ได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์เทียบเท่าชั้นอัศวินและได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรวรรดิบริติชชั้น "เดม คอมมานเดอร์" หรือ ดีบีอี จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่พระราชวังบักกิงแฮมโดยให้มีคำนำหน้าว่าเดมเทียบเท่ากับ "เซอร์" ที่ใช้กับบุรุษ[3][4] นอกจากนี้เธอยังได้รับเกียรติให้จารึกชื่อไว้ในฮอลลีวูดวอล์กออฟเฟม
ตลอดอาชีพนักแสดงของเธอ เธอประสบความสำเร็จได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม 1 ครั้ง, ได้รับรางวัลไพรม์ไทม์เอมมี สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ประเภทมินิซีรีส์ทางโทรทัศน์ 4 ครั้ง, ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม 3 ครั้ง, ได้รับรางวัลแบฟตา 4 ครั้ง, ได้รับรางวัลรางวัลแซกอวอร์ดส์ 5 ครั้ง และได้รับรางวัลโทนี, รางวัลลอเรนซ์โอลิวีเอร์ อีก 1 ครั้ง
ประวัติ
แก้อิลเยนา ลิเดีย วาซิลีเยฟนา มิโรนอฟ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1945[5][6] ที่โรงพยาบาลสูติกรรมและการผดุงครรภ์สมเด็จพระราชินีชาร์ล็อต เขตแฮมเมอร์สมิธ เกรเทอร์ลอนดอน [7][8] มีแม่เป็นชาวอังกฤษและมีพ่อเป็นชาวรัสเซีย[9] แม่ของเธอมีชื่อว่า "แคทลีน อเล็กซานดรินา อีวา มาทิลดา โรเจอส์" มาจากครอบครัวใหญ่แถบเวสต์แฮมที่ประกอบธุรกิจค้าขายเนื้อที่ประสบความสำเร็จในลอนดอน โดยตาทวดของเธอ เฮนรี โรเจอส์ เริ่มกิจการธุรกิจขายเนื้อสัตว์ที่ประสบความสำเร็จในเขตอิสลิงตัน ลอนดอนชั้นใน และได้เป็นผู้จัดหาเนื้อสัตว์ให้กับราชวงศ์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย[9][10] ส่วนพ่อของเธอมีชื่อว่า "วาซิลี เปโตรวิช มิโรนอฟ" เป็นอดีตนักดนตรีชาวรัสเซีย ตำแหน่งวิโอลาประจำวงออเคสตร้าในลอนดอน ซึ่งภายหลังได้รับราชการในกระทรวงคมนาคม ของอังกฤษ พ่อของเธอถูกนำตัวจากแคว้นสโมเลนสค์ จักรวรรดิรัสเซีย มาที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ 2 ขวบ โดย พันเอก ปิออตร์ วาซิลีเยวิช มิโรนอฟ ซึ่งเป็นปู่ของเธอ[9]
ภูมิหลังครอบครัว
แก้ต้นตระกูลทางฝ่ายพ่อของเธอสืบเชื้อสายมาจาก จอมพล เคานต์ "มีฮาอีล คาเมนสกี" อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดของรัสเซีย ในสงครามนโปเลียน ที่ถูกผู้ใต้บังคับบัญชาลอบสังหารด้วยการใช้ขวานสับที่ศีรษะจนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1809 จอมพล มีฮาอีล มีบุตรชายคือ พลเอก เคานต์ "เซียร์เกย์ มิฮาอิลโลวิช คาเมนสกี" ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารราบ เคานต์ เซียร์เกย์ ถูกปลดออกจากราชการทหารในปี ค.ศ. 1822 จากนั้นไปใช้ชีวิตที่ โอริออล[11]
เคานต์ เซียร์เกย์ มีบุตรชายคือ เคานต์ "อันเดรย์ คาเมนสกี" โดยเคานต์ อันเดรย์ แต่งงานกับ ลูย์บอฟ เฟโดรอฟนา และมีบุตรสาวคือ เคาน์ติส "ลิเดีย อันเดรเยฟนา คาเมนสกี" ในปี ค.ศ. 1848 ต่อมา เคาน์ติส ลิเดีย ที่แม้เธอจะเกิดในชนชั้นสูงของจักรวรรดิรัสเซียแต่กลับเลือกแต่งงานกับ "วาซิลี มิโรนอฟ" ที่ฐานะต่ำกว่า โดยลูกชายของ วาซิลี และ ลิเดีย คือ พันเอก "ปิออตร์ วาซิลีเยวิช มิโรนอฟ" (ปู่ของเฮเลน เมียร์เรน) ได้บรรจุเข้ารับราชการทหารในกองทัพจักรวรรดิรัสเซียและเข้าร่วมสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1904
ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียได้ส่ง พันเอก ปิออตร์ มิโรนอฟ เป็นทูตไปเจรจาซื้อขายอาวุธให้กับกองทัพที่ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1915 โดยปิออตร์ ได้เดินทางมาพร้อมกับครอบครัวคือ มาเรีย มิโรนอฟ ผู้เป็นภรรยา ไอรีนา และ วาซิลี เปโตรวิช มิโรนอฟ ลูกสาวคนโตและลูกชายคนเล็ก แต่เมื่อเดินทางมาถึงที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปิออตร์กลับทราบข่าวว่าได้เกิดเหตุการณ์การปฏิวัติรัสเซีย นำไปสู่การสละราชสมบัติของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ในปี ค.ศ. 1917 และรัฐบาลถูกล้มล้างโดยกลุ่มบอลเชวิก รวมทั้งเกิดการกวาดล้างในสงครามกลางเมืองรัสเซีย ทำให้ปิออตร์ และครอบครัว ไม่สามารถกลับประเทศของตัวเองได้เนื่องจากเป็นคนของฝ่ายพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2
เมื่อปิออตร์ มิโรนอฟ ไม่สามารถกลับไปยังรัสเซียได้ หลังจากการก่อตั้งสหภาพโซเวียต เขาจึงใช้ชีวิตในลอนดอนต่อไป และต้องเปลี่ยนอาชีพจากการรับราชการทหารระดับสูงในรัสเซียมาหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการเป็นคนขับรถยนต์โดยสารในลอนดอน เขาติดต่อกับพี่น้องที่รัสเซียผ่านทางจดหมาย โดยพี่สาวและน้องสาวของเขาแจ้งว่าบ้านและทรัพย์สินของพวกเขาที่รัสเซียถูกยึด ครอบครัวของเขากลายเป็นคนไร้บ้านและต้องไปอาศัยรวมกันในที่แคบๆและไม่มีหน้าต่างในมอสโก คอยหลบซ่อนคนของกองทัพแดง เคาน์ติส ลิเดีย คาเมนสกี แม่ของเขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1928 โดย เฮเลน เมียร์เรน ได้นำจดหมายของ ปิออตร์ มิโรนอฟ ปู่ของเธอที่เขียนโต้ตอบกับครอบครัวที่รัสเซียในช่วงนี้ให้กับ เฮเลน ดันมอร์ ทำเป็นละครวิทยุเรื่อง เดอะ มิโรนอฟ เลกาซี ทางเรดิโอ 4 ของบีบีซี
เมื่อ วาซิลี เปโตรวิช มิโรนอฟ ลูกชายของปิออตร์ เติบโตขึ้น เขาทำงานเป็นคนขับรถยนต์โดยสารเช่นเดียวกับผู้เป็นพ่อ และยังทำงานเป็นนักดนตรีในตำแหน่งวิโอลาประจำวงออเคสตร้าในลอนดอนควบคู่กันไปด้วย โดยเขาแต่งงานกับ แคทลีน โรเจอส์ หญิงชาวอังกฤษในปี ค.ศ. 1938 ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง วาซิลี ได้ทำงานเป็นคนขับรถพยาบาลฉุกเฉิน และปฏิบัติหน้าที่ในลอนดอนช่วงเหตุการณ์เดอะบลิตซ์ ที่กองทัพลุฟท์วัฟเฟอของนาซีเยอรมันทิ้งระเบิดลงลอนดอนอย่างหนัก วาซิลี และ แคทลีน มีลูกด้วยกัน 3 คนคือ เยกาเจรีนา มิโรนอฟ ลูกสาวคนโต, อิลเยนา มิโรนอฟ (เฮเลน เมียร์เรน) และ ปิออตร์ วาซิลีเยวิช มิโรนอฟ
ในปี 1951 วาซิลี มิโรนอฟ ได้ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อและนามสกุลของเขาเป็น "บาซิล เมียร์เรน" ให้ใกล้เคียงสำเนียงอังกฤษ เนื่องจากชื่อและนามสกุลภาษารัสเซียของเขาทำให้เขาและครอบครัวต้องประสบปัญหายุ่งยากในการใช้ชีวิตที่ลอนดอน ซึ่งทั้งภรรยาและลูกๆของเขาได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุล เมียร์เรน นับแต่นั้น โดยลูกของเขาเปลี่ยนชื่อจาก เยกาเจรีนา มิโรนอฟ เป็น แคทลีน เมียร์เรน ,อิลเยนา มิโรนอฟ เป็น เฮเลน เมียร์เรน และ ปิออตร์ วาซิลีเยวิช มิโรนอฟ เป็น ปีเตอร์ บาซิล เมียร์เรน ภายหลังเขาได้ออกจากวงดนตรีและได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สอบใบอนุญาตขับขี่จนได้รับราชการที่กระทรวงคมนาคมของประเทศอังกฤษ
วันเด็ก
แก้ครอบครัวของ เฮเลน เมียร์เรน ได้ย้ายจากลอนดอนมายังภาคตะวันออกของอังกฤษ โดยเธอเติบโตมาในย่านลีห์ออนซี เมืองเซาท์เอนด์ ของมณฑลเอสเซกซ์[12]
อ้างอิง
แก้- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-16. สืบค้นเมื่อ 2022-11-16.
- ↑ Murray, Braham (2007). The Worst It Can Be Is a Disaster. London: Methuen Drama. ISBN 978-0-7136-8490-2.
- ↑ "No. 56963". The London Gazette (Supplement). 14 June 2003. p. 7.
- ↑ "Dame Helen centre stage at palace". BBC News. 5 December 2003. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 July 2012.
- ↑ "Helen Mirren Biography: Actress (1945–)". Biography.com. FYI/A&E Networks. สืบค้นเมื่อ 15 June 2016.
- ↑ Lahr, John (2 October 2006). "Command Performance: The reign of Helen Mirren". The New Yorker. สืบค้นเมื่อ 24 October 2010.
- ↑ "England & Wales births 1837–2006 Transcription". Findmypast. สืบค้นเมื่อ 6 June 2016.
Her birth was registered in the Hammersmith registration district
- ↑ Norman, Neil (10 March 2013). "'Whenever I see the Queen, I think, "Oh ... there I am"': The right royal progress of Helen Mirren". The Independent. London. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 May 2022. สืบค้นเมื่อ 20 October 2019.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 "Helen Mirren". Nation's Memorybank. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 December 2008. สืบค้นเมื่อ 5 July 2008.
- ↑ Mirren 2011, p. 34.
- ↑ Russian Generals of the Napoleonic Wars
- ↑ Piccalo, Gina (7 February 2011). "Helen Mirren interview". The Daily Telegraph. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 January 2022. สืบค้นเมื่อ 6 November 2012.