รางวัลลอเรนซ์โอลิวีเอร์

รางวัลลอเรนซ์โอลิวีเอร์ (อังกฤษ: Laurence Olivier Awards) หรือรู้จักกันในชื่อ รางวัลโอลิวีเอร์ (อังกฤษ: Olivier Awards) เป็นรางวัลประจำปีที่มอบเพื่อยกย่องความเป็นเลิศด้านละครเวทีในลอนดอนโดยสมาคมโรงละครลอนดอนภายในงานประกาศรางวัลประจำปีซึ่งจัดขึ้นในเมืองหลวงของสหราชอาณาจักร แต่เดิมรางวัลนี้ชื่อว่า รางวัลสมาคมโรงละครเวสต์เอ็นด์ (อังกฤษ: Society of West End Theatre Awards) แต่ได้รับการเปลี่ยนชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ลอเรนซ์ โอลิวีเอร์ นักแสดงชายชาวอังกฤษในปี พ.ศ. 2527

รางวัลโอลิวีเอร์
ปัจจุบัน: งานประกาศรางวัลลอเรนซ์โอลิวีเอร์ พ.ศ. 2565
รางวัลลอเรนซ์โอลิวีเอร์ ออกแบบโดยประติมากรนามว่าแฮร์รี่ ฟรานเชตตี ซึ่งตัวประติมากรรมแสดงโอลิวีเอร์ขณะแสดงบทบาทพระเจ้าเฮนรีที่ 5 ณ ดิโอลด์วิก เมื่อปี พ.ศ. 2480
รางวัลสำหรับละครเวทีในลอนดอนที่ดีที่สุด
ประเทศอังกฤษ
จัดโดยสมาคมโรงละครลอนดอน
รางวัลแรกพ.ศ. 2519; 48 ปีที่แล้ว (2519)
เว็บไซต์officiallondontheatre.com/olivier-awards/

รางวัลนี้มอบให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโปรดักชันเวสต์เอ็นด์ตลอดจนโรงละครที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ที่ตั้งอยู่ในลอนดอน ซึ่งมีความครอบคลุมทั้งหมวดหมู่ละคร ละครเพลง การเต้นรำ โอเปรา และ โรงละครที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลโอลิวีเอร์พิเศษซึ่งมีผู้ท้าชิงโดยดุลยพินิจในแต่ละปีด้วย รางวัลโอลิวีเอร์นี้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ว่าเป็นรางวัลอันมีเกียรติยศสูงสุดในวงการละครเวทีอังกฤษ เทียบเท่ารางวัลแบฟตาสำหรับวงการภาพยนตร์และโทรทัศน์และรางวัลบริตสำหรับวงการเพลง และยังเทียบเท่ากับรางวัลโทนีของละครเวทีบรอดเวย์และรางวัลโมลิแยร์ของวงการละครเวทีฝรั่งเศส

นับแต่การเริ่มมอบรางวัล สถานที่จัดงานถูกเปลี่ยนไปในสถานที่และโรงละครหลายแห่งทั่วลอนดอน จนกระทั่วปี พ.ศ. 2555 ถึง 2559 ได้จัดประจำที่รอยัลโอเปราเฮาส์ และย้ายไปจัดประจำที่รอยัลอัลเบิร์ตฮอลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา โดยมีการออกอากาศผ่านโทรทัศน์ในช่วงเวลายอดนิยมทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งได้รับสิทธิ์การถ่ายทอดนับแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา พร้อมกับการออกอากาศทางวิทยุโดยสถานีวิทยุแมจิก

ประวัติ แก้

รางวัลโอลิวีเอร์ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2519 โดยสมาคมโรงละครลอนดอน ในฐานะรางวัลสมาคมโรงละครเวสต์เอ็นด์ โดยตัวรางวัลได้รับการออกแบบโดยทอม เมอร์ริฟิลด์ งานประกาศรางวัลครั้งแรกถูกจัดขึ้นในเดือนธันวาคมปีดังกล่าว ณ โรงแรมโฮเทลคาเฟรอยัล ปี พ.ศ. 2527 ลอเรนซ์ โอลิวีเอร์ นักแสดงชาวอังกฤษยินยอมให้รางวัลนี้ใช้ชื่อของเขาเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ดังนั้น รางวัลจึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น รางวัลลอเรนซ์โอลิวีเอร์[1]

การตัดสิน แก้

ทุกปี คณะกรรมการตัดสินด้านโรงละคร โอเปรา การเต้นรำ และการแสดงที่เกี่ยวข้องจะถูกรวบรวมขึ้นโดยสมาคมโรงละครลอนดอน[2]

สำหรับโอเปรา การเต้นรำ และการแสดงที่เกี่ยวข้อง แต่ละองค์คณะจะประกอบไปด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญ (ได้แก่ นักสื่อมวลชน ผู้กำกับฝ่ายคัดเลือกนักแสดง ผู้จัดการศิลป์ ผู้จัดพิมพ์ และ ผู้เชี่ยวชาญในอุตสหกรรมอื่นที่ได้รับการคัดเลือกจากความรู้ในสาขาของตน) และสมาชิกของสาธารณชนผู้หลงใหลในโรงละครลอนดอน อันดับแรก คณะกรรมการจะเลือกการแสดงที่เห็นสมควรที่จะเสนอชื่อเพื่อเข้าชิงรางวัลโอลิวีเอร์มากที่สุด จากนั้นจึงจะลงคะแนนเลือกผู้ชนะในตอนท้ายสุดของการตัดสิน[2]

สำหรับรางวัลด้านโรงละคร บัญชีรายการซึ่งมีความยาวจะถูกรวบรวมขึ้นโดยองค์คณะ ซึ่งประกอบด้วย สมาชิกสาธารณชน และส่งไปยังสมาชิก SOLT เพื่อลงคะแนน โดยสมาชิกดังกล่าวสามารถลงคะแนนให้กับการแสดงที่อยู่นอกบัญชีรายการได้ เว้นแต่ในหมวดรางวัลนักแสดงสมทบชาย/สมทบหญิงสี่ประเภท (เนื่องจากในแต่ละหมวดรางวัลนั้นมีผู้มีสิทธิ์เข้าชิงหลายพันคน) คะแนนโดยสมาชิกจะถูกรวบรวมเข้ากับองค์คณะเพื่อสร้างรายชื่อผู้เข้าชิง จากนั้นรายชื่อผู้เข้าชิงจะได้รับการลงคะแนนโดยสมาชิกทั้งสองกลุ่มและองค์คณะเพื่อหาผู้ชนะ[2]

งานประกาศรางวัล แก้

พิธีกร แก้

พิธีกรที่ผ่านมาของงานประกาศรางวัล ได้แก่ ไมเคิล บอล, อีเมลดา สตอนตัน, ไคลฟ์ แอนเดอร์สัน, เจมมา อาร์เทอร์ตัน, สตีเฟน แมนเกน, ฮิว บอนเนวิลล์, เชอริแดน สมิท, เลนนี เฮนรี, แคเทอริน เทต และ เจสัน แมนเฟิร์ด

สถานที่จัดงาน แก้

สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานมากที่สุด คือ โรงแรมกรอสเวเนอร์เฮาส์ ซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงหลังงานประกาศรางวัลจำนวนเก้าครั้ง และเป็นสถานที่จัดงานประกาศรางวัลอีกสี่ครั้ง นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ต่าง ๆ ที่ใช้เป็นสถานที่ในการประกาศรางวัลดังนี้ โรงละครแอลเบอรี (ปัจจุบัน คือ โรงละครโนเอลโคเวิร์ด), โรงแรมคาเฟรอยัล, โรงละครโดมิเนียน, โรงละครลอนดอนแพลเลเดียม, โรงละครไลเซียม, โรงแรมลอนดอนฮิลตันออนพาร์กเลน, โรงละครพิคคาดิลลี, โรงละครแห่งชาติ, โรงละครรอยัลตี (ปัจจุบัน คือ โรงละครพีค็อก), โรงละครชาฟต์สเบอรี, โรงละครรอยัลดรูรีเลน และ โรงละครวิกตอเรียพาเลซ[3]

ในปี พ.ศ. 2555 ถึง 2559 งานประกาศรางวัลถูกจัดที่รอยัลโอเปราเฮาส์ และได้ย้ายไปจัดที่รอยัลอัลเบิร์ตฮอล ในปี พ.ศ. 2560[4][5]

การออกอากาศ แก้

งานประกาศรางวัลครั้งแรกได้รับการถ่ายทอดผ่านทางสถานีโทรทัศน์บีบีซี1 โดยออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวไปจนถึงปี พ.ศ. 2535 ก่อนจะเปลี่ยนไปออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์บีบีซี2 จนถึงปี พ.ศ. 2546[6] จากนั้นงานประกาศรางวัลถูกถ่ายทอดผ่านวิทยุเพียงอย่างเดียวจนถึงปี พ.ศ. 2554 เมื่อสถานีโทรทัศน์บีบีซีได้ออกอากาศสดเชิงตอบโต้ผ่านปุ่มแดงบนรีโมท[7] ขณะเดียวกันก็มีพอล แกมบักชีนีเป็นผู้ดำเนินรายการผ่านสถานีวิทยุบีบีซี 2โดยเป็นการออกอากาศและสัมภาษณ์สด[3] โดยมีรูปแบบการออกอากาศเดียวกันนี้ในปี พ.ศ. 2555 ก่อนที่สถานีโทรทัศน์ไอทีวีของสหราชอาณาจักรจะได้รับสิทธิ์การออกอากาศ ทำให้มีการออกอากาศงานประกาศรางวัลโอลิวีเอร์ผ่านสื่อกระแสหลักอีกครั้งในปี พ.ศ. 2556[8] นอกจากนี้ยังมีการออกอากาศผ่านสถานีวิทยุแมจิกด้วย

หมวดรางวัล แก้

อ้างอิง แก้

  1. "10 Things You Probably Didn't Know About The Olivier Awards". OfficialLondonTheatre.com, accessed 30 January 2018
  2. 2.0 2.1 2.2 "How the Olivier Award winners are chosen - Olivier Awards". Official London Theatre (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2018-03-07.
  3. 3.0 3.1 Jones, Kenneth. "Love Never Dies, Legally Blonde, Rylance, Jacobi, Boggess, Bennett, End of the Rainbow Are Olivier Nominees". Playbill.com, February 7, 2011
  4. Alvarez, Joe; Orlova-Alvarez, Tamara (10 April 2017). "Who Won at The Olivier Awards 2017". Ikon London Magazine. สืบค้นเมื่อ 18 January 2018.
  5. "Olivier Awards - How It All Began". OfficialLondonTheatre.com. สืบค้นเมื่อ 30 January 2018.
  6. "Olivier Awards – HistoryLondon theatre tickets - London theatre tickets". www.westendtheatre.com.
  7. Dunn, Carrie (14 March 2011). "Olivier theatre awards: the BBC should be red-faced over its red-button coverage". the Guardian.
  8. Trueman, Matt (29 January 2013). "Olivier awards make triumphant return to TV". the Guardian.