โอกูโบะ โทชิมิจิ
โอกูโบะ โทชิมิจิ (ญี่ปุ่น: 大久保 利通; โรมาจิ: おおくぼ としみち; ทับศัพท์: Ōkubo Toshimichi, 10 สิงหาคม ค.ศ. 1830 – 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1878) เป็นรัฐบุรุษของญี่ปุ่นผู้มีพื้นเพจากการเป็นซามูไรแห่งแคว้นซัตสึมะ และเป็นหนึ่งใน 3 ขุนนางผู้ใหญ่แห่งการฟื้นฟูสมัยเมจิ เขาได้รับการยอมรับในฐานะหนึ่งในผู้วางรากฐานของประเทศญี่ปุ่นสมัยใหม่
โอกูโบะ โทชิมิจิ 大久保 利通 | |
---|---|
เกิด | 10 สิงหาคม ค.ศ. 1830 คาโงชิมะ, แคว้นซัตสึมะ, ญี่ปุ่น |
เสียชีวิต | 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1878 โตเกียว, จักรวรรดิญี่ปุ่น | (47 ปี)
สาเหตุเสียชีวิต | ถูกลอบสังหาร |
สัญชาติ | ญี่ปุ่น |
อาชีพ | นักการเมือง, ซามูไร |
โอกูโบะ โทชิมิจิ | |||||
ชื่อภาษาญี่ปุ่น | |||||
---|---|---|---|---|---|
คันจิ | 大久保 利通 | ||||
ฮิรางานะ | おおくぼ としみち | ||||
|
ปฐมวัย
แก้โอกูโบะ โทชิมิจิ เกิดที่เมืองคาโงชิมะ แคว้นซัตสึมะ (ปัจจุบันคือจังหวัดคาโงชิมะ) โดยเป็นบุตรชายคนโตจากทั้งหมด 5 คน ของโอกูโบะ จูเอมง ซามูไรระดับล่างผู้เป็นข้ารับใช้ของชิมัตสึ นาริอากิระ ไดเมืยวแห่งแคว้นซัตสึมะ เขาได้รับการศึกษาในสำนักศึกษาของท้องถิ่นแห่งเดียวกันร่วมกับไซโง ทากาโมริ ซึ่งมีอายุมากกว่าเขาเพียง 3 ปี ในปี ค.ศ. 1846 โอกูโบะได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอาลักษณ์ประจำแคว้นซัตสึมะ
ซามูไรแคว้นซัตสึมะ
แก้ชิมัตสึ นาริอากิระ ได้สังเกตเห็นความสามารถของโอกูโบะและได้แต่งตั้งให้เขาเป็นเจ้าพนักงานบริหารภาษีของแคว้นในปี ค.ศ. 1858 ต่อมาเมื่อนาริอากิระเสียชีวิต โอกูโบะก็ได้เข้าร่วมแผนการโค่นล้มรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ ทั้งนี้ เขามีจุดยืนสนับสนุนแนวคิด "โทบากุ" (倒幕) หรือการล้มล้างอำนาจรัฐบาลโชกุนอย่างสิ้นเชิง ซึ่งต่างจากซามูไรในแคว้นเดียวกันส่วนมากที่สนับสนุนแนวคิด "โคบูกัตไต" (公武合体, ประสานราชสำนักกับรัฐบาลโชกุน) และ '"ฮัมบากุ" (ต่อต้านรัฐบาล) ในการขับเคลื่อนขบวนการ "ซนโนโจอิ" (เทิดทูนจักรพรรดิ ขับคนป่าเถื่อน)
สงครามอังกฤษ-ซัตสึมะในปี ค.ศ. 1863 พร้อมด้วยกรณีริชาร์ดสัน และการรัฐประหารในเกียวโตในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ทำให้โอกูโบะเชื่อแน่ว่าการทำ "โทบากุ" ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว ในปี ค.ศ. 1866 เขาจึงได้ร่วมกับไซโง ทากาโมริ และตัวแทนจากแคว้นโจชูชื่อ คิโดะ ทากาโยชิ จัดตั้งพันธมิตรซัตโจขึ้นเป็นการลับ เพื่อดำเนินการล้มล้างรัฐบาลโชกุน
การฟื้นฟูสมัยเมจิ
แก้ในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1868 กองกำลังของแคว้นโจชูและแคว้นซัตสึมะได้ร่วมกันเข้ายึดพระราชวังหลวงที่เกียวโต และประกาศเริ่มการฟื้นฟูสมัยเมจิ คณะกุมอำนาจปกครองซึ่งประกอบด้วยโอกูโบะ ไซโก และคิโดะ ได้จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้น การได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีมหาดไทยทำให้โอกูโบะมีอำนาจอย่างสูงยิ่งในการควบคุมรัฐบาลท้องถิ่นและกิจการตำรวจทั่วทั้งประเทศ ในชั้นต้นนั้นรัฐบาลใหม่ต้องอาศัยรายได้จากดินแดนของตระกูลโทกูงาวะซึ่งรัฐบาลใหม่ได้ยึดครองไว้ ต่อมาโอกูโบะจึงแต่งตั้งผู้ปกครองดินแดนเหล่านี้ใหม่ทั้งหมด ซึ่งส่วนมากล้วนเป็นคนรุ่นหนุ่ม ส่วนหนึ่งก็เป็นเพื่อนของเขา เช่น มัตสึตากะ มาซาโยชิ ที่เหลือก็เป็นผู้ได้รับการศึกษาระดับสูงจากยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาซึ่งมีอยู่น้อยนิด นอกจากนี้โอกูโบะยังได้ใช้อำนาจของเสนาบดีมหาดไทยในการพัฒนาสาธารณูปโภคเช่น การตัดถนนใหม่ สร้างสะพานและท่าเรือ เพื่อส่งเสริมการอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลโชกุนปฏิเสธที่จะทำมาตลอด
ในฐานะเสนาบดีการคลัง โอกูโบะได้ตราพระราชบัญญัติปฏิรูปภาษีที่ดิน กฎหมายการห้ามพกพาดาบในที่สาธารณะ (廃刀令 Haitōrei) และยกเลิกการล่วงละเมิดคนชั้นล่างของสังคม (ซึ่งเรียกโดยรวมว่า "บูรากูมิง") อย่างเป็นทางการ ส่วนในด้านการต่างประเทศ เขาได้ดำเนินให้มีการทบทวนสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมฉบับต่าง ๆ และเข้าร่วมคณะการทูตอิวากูระในการเดินทางรอบโลกระหว่าง ค.ศ. 1871- 1873
โดยตระหนักว่าญี่ปุ่นในเวลานั้นยังไม่อยู่ในฐานะที่จะท้าทายกับมหาอำนาจชาติตะวันตกได้ โอกูโบะได้เดินทางกลับญี่ปุ่นในวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1873 ซึ่งขณะนั้นภายในประเทศญี่ปุ่นได้มีการถกเถียงเรื่องนโยบายการรุกรานเกาหลีอย่างเผ็ดร้อน เขายังได้เข้าร่วมการประชุมที่โอซากะในปี ค.ศ. 1875 เพื่อพยายามนำความสมานฉันท์ภายในหมู่สมาชิกคณะคณาธิปไตยเมจิกลับคืนมา
อย่างไรก็ตาม โอกูโบะประสบความล้มเหลวในการชักจูงให้ไซโง ทากาโมริ มองไปยังอนาคตของญี่ปุ่นในวันข้างหน้า ไซโงเริ่มเห็นว่านโยบายใหม่ในการทำให้ญี่ปุ่นมีความทันสมัยเป็นสิ่งที่ผิด และในการกบฏซัตสึมะในปี ค.ศ. 1877 กบฏฝ่ายซัตสึมะบางส่วนก็เข้าร่วมรบภายใต้การนำของไซโงเพื่อต่อต้านกองทัพของรัฐบาลใหม่ด้วย ในฐานะเสนาบดีมหาดไทย โอกูโบะได้บัญชาการกองทัพและทำสงครามปราบปรามไซโงผู้เป็นเพื่อนเก่า เมื่อการกบฏจบลงด้วยความพ่ายแพ้ โอกุบะจึงถูกซามูไรแคว้นซัตสึมะจำนวนมากมองว่าเขาเป็นคนทรยศ ในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1878 โอกูโบะจึงถูกชิมาดะ อิจิโร และซามูไรจากแคว้นคานาซาวะ 6 คน ลอบสังหารในระหว่างเดินทางไปยังพระราชวังโตเกียว โดยที่เกิดเหตุนั้นอยู่ห่างจากประตูซากูราดามง ซึ่งเป็นสถานที่ลอบสังหารอิอิ นาโอซูเกะ เมื่อ 18 ปีก่อน ไม่ไกลนัก
อ้างอิง
แก้- Beasley, William G. (1990). The Rise of Modern Japan: Political, Economic and Social Change Since 1850. New York: St. Martin's Press. 10-ISBN 0-312-04078-4; 13-ISBN 978-0-312-04078-9 (cloth)
- Iwata, Masukazu. 1964). Ōkubo Toshimichi: The Bismarck of Japan. Berkeley: University of California Press (1964). ASIN: B000FFQUIG
- Jansen, Marius B. (2000). The Making of Modern Japan. Cambridge: Harvard University Press. 10-ISBN 0674003349/13-ISBN 9780674003347; OCLC 44090600
- Nish, Ian. (1998) The Iwakura Mission to America and Europe: A New Assessment. Richmond, Surrey: Japan Library. 10-ISBN 1873410840/13-ISBN 9781873410844; 10-ISBN 9780415471794/13-ISBN 0415471796; OCLC 40410662
- Reischauer, Edwin O. and Haru M. Reischauer. Samurai and Silk: A Japanese and American Heritage. Cambridge: Harvard University Press, 1986. ISBN 0-674-78800-1.
- Weston, Mark, "Giants of Japan - The Lives of Japan's Greatest Men and Women," Kodansha, 1999