แฟตเฟสติวัล เป็นเทศกาลดนตรีในประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดย สถานีวิทยุ 104.5 แฟตเรดิโอ เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อ 1 - 2 กันยายน พ.ศ. 2544 ที่โรงงานยาสูบเก่า เป็นจัดเป็นประจำเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน เดิมมีสปอนเซอร์หลักเป็นเบียร์ไฮเนเก้น ทำให้ใช้ชื่องานเทศกาลว่า "ไฮเนเก้น แฟตเฟสติวัล" แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงสปอนเซอร์ ทำให้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ "แฟตเฟสติวัล" ในปัจจุบัน

ลักษณะของงาน จะเป็นเทศกาลที่มุ่งเน้นกิจกรรมทางดนตรีเป็นหลัก จัดขึ้นปีละครั้ง แต่ละครั้งจะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน คือวันเสาร์และอาทิตย์แรกหรือที่สองของเดือนพฤศจิกายน ตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึงเที่ยงคืน โดยเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดไปเรื่อยๆ ทุกปี

เทศกาลดนตรีแฟตเฟสติวัล

แก้

ไฮเนเก้น แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 1

แก้

จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 -2 กันยายน พ.ศ. 2544 ณ โกดังเก็บใบยาสูบ โรงงานยาสูบเก่า ปากซอยถนนเจริญกรุง 74 โดยมีเบียร์ไฮเนเก้นเป็นสปอนเซอร์หลัก ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้างาน มีคนเข้าร่วมงานประมาณ 20,000 คน ภายในงาน มีการแสดงดนตรีของศิลปินกลุ่มต่างๆ, แผงขายหนังสือทำมือ และแผงขายเทป-ซีดีของศิลปินและค่ายเพลงต่างๆ

แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 1 เป็นที่เปิดตัวครั้งแรกของนิตยสารอะเดย์, เป็นที่เปิดตัวศิลปินที่มีชื่อเสียงในเวลาถัดมาอย่าง อาร์มแชร์, ดาจิม และ กรู๊ฟไรเดอร์ส

ไฮเนเก้น แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 2

แก้

จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 -3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ณ ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว บนพื้นที่ชั้น 6 ของห้างซึ่งเคยเป็นลานสเกตน้ำแข็ง โดยมีเบียร์ไฮเนเก้นเป็นสปอนเซอร์หลัก ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้างาน มีผู้เข้างานกว่า 40,000 คน เป็นเวทีแจ้งเกิดของวง สครับ, ไทยเทเนี่ยม และฟลัวร์

ไฮเนเก้น แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 3

แก้

จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 - 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546สวนสยาม ทะเลกรุงเทพ โดยมีเบียร์ไฮเนเก้นเป็นสปอนเซอร์หลัก ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้างาน ภายในงานแบ่งออกเป็น 7 โซนและตั้งชื่อเป็นสีต่างๆ ดังนี้

  1. แผงหนังสือ ม่วง - แผงขายหนังสือทำมือจำนวนกว่าร้อยแผงจากนักเขียนกลุ่มต่างๆ และนิตยสารชื่อดังต่างๆ
  2. เวที ครามหมดจด - เวทีคอนเสิร์ตที่เป็นเพลงป๊อป และเพลงฟังสบายๆ
  3. เวที น้ำเงินเข้ม - เวทีคอนเสิร์ตสำหรับเพลง ฮิปฮอป, เร้กเก้, อิเล็กโทรนิก้า
  4. เวที เขียวดูโดดเด่น หรือ ร็อก อาเขตต์ - เวทีคอนเสิร์ตสำหรับวงดนตรีร็อก รวมทั้งเป็นเวทีที่อุทิศให้กับการจากไปของ เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ นักเขียนเพลงชื่อดัง
  5. โรงภาพยนตร์ เหลืองบรรเจิด - โรงภาพยนตร์กลางแปลงริมน้ำ ฉายหนังเงียบประกอบการบรรเลงดนตรีสด
  6. เวที ใกล้เคียงสีแสด - เวทีคอนเสิร์ตสำหรับวงดนตรีหน้าใหม่ที่ไม่มีโอกาสในการนำเสนอตัวเอง
  7. ตลาด สีแดงเชิด - ร้านขายเทป-ซีดี ของค่ายเพลง และศิลปินต่างๆ

ไฮเนเก้น แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 4

แก้

จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 - 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ณ สนามม้านางเลิ้ง โดยมีเบียร์ไฮเนเก้นเป็นสปอนเซอร์หลัก ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้างาน ภายในเทศกาลมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ คอนเสิร์ต หนังสือทำมือ การจัดฉายภาพยนตร์ การออกร้านของค่ายเทปต่างๆ เวทีคอนเสิร์ตถูกแบ่งออกเป็น 9 โซน ซึ่งตั้งชื่อให้สอดคล้องกับสถานี่จัดซึ่งเป็นสนามม้า ได้แก่

  1. ลานพักตร์อาชา หรือ เวทีหน้าม้า - เวทีคอนเสิร์ตจากวงน้องใหม่ที่ผ่านการคัดเลือก
  2. เรือนฟ้าม้าหานิยม - เวทีคอนเสิร์ตของศิลปินที่เป็นที่นิยม
  3. วงกลมฮี้-ฮอบ พลาซ่า - เวทีคอนเสิร์ตของศิลปินฮิปฮอป
  4. อรนภา - เวทีคอนเสิร์ตใหญ่สุดในงาน ตั้งอยู่คู่กับเวทีกฤษฎี
  5. กฤษฎี - เวทีคอนเสิร์ตใหญ่สุดในงาน ตั้งอยู่คู่กับเวทีอรนภา
  6. แสงระวีราม้า - โซนฉายภาพยนตร์สั้นจากประเทศต่างๆ ใช้พื้นที่ของสนามแบดมินตัน
  7. ศูนย์การค้าโบ๊เบ๊ - โซนขายหนังสือทำมือ และนิตยสารต่างๆ, สินค้าเกี่ยวกับภาพยนตร์ และสินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ
  8. สเตเดี้ยมพาชี - แสดงโชว์พิเศษต่างๆ
  9. ซีดีแวร์ฮอส - โซนจำหน่ายสินค้าซีดีเพลงจากศิลปินและค่ายเพลงต่างๆ จัดบนชั้น 1- 5 ของสนามม้า

แฟตเฟสติวัลครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่เกิดปัญหาความรุนแรง ทำให้ต้องใช้กำลังตำรวจเข้าจัดการ ขณะที่บริเวณที่จัดงานอยู่ใกล้กับทำเนียบรัฐบาล ส่งผลให้การจัดงานเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น และจำเป็นต้องเลิกงานก่อนกำหนดเวลา

ศิลปินต่างประเทศที่มาร่วมงาน

แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 4 มีศิลปินต่างประเทศเข้ามาร่วมแสดง อาทิ Nitt (ญี่ปุ่น) , Cafa (ญี่ปุ่น) , Fantastic Plastic Machine (ญี่ปุ่น) และ Serenaid (สิงคโปร์)

ไฮเนเก้น แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 5

แก้

จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 - 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ณ แดนเนรมิตเก่า เลื่อนเวลางานมาเป็น 11.00-23.00 น. เป็นครั้งสุดท้ายที่มีเบียร์ไฮเนเก้นเป็นสปอนเซอร์ จำหน่ายบัตรเข้างานในราคา 200 บาท เข้างานได้ทั้ง 2 วันและแลกรับซีดี Fat Code#2 ในงาน สำหรับเวทีคอนเสิร์ตใหญ่ แบ่งออกเป็น 3 เวที ได้แก่

  1. เวทีไวกิ้ง
  2. เวทีรถไฟเหาะ เวทีใหญ่ที่สุด
  3. เวทีปราสาท ตั้งอยู่หน้าปราสาทซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแดนเนรมิต

นอกเหนือไปจากเวทีคอนเสิร์ตแล้ว ยังมีกิจกรรมในส่วนอื่นๆ คือ เธคม้าหมุน เธคเงียบที่มีดีเจเปิดแผ่น แล้วให้ผู้เข้างานฟังเพลงจากหูฟังและเต้นตาม, บูธขายสินค้าของค่ายเพลงและศิลปิน, บูธขายหนังสือทำมือ

แฟตแฟสติวัลครั้งนี้ ประสบกับอุปสรรคอีกครั้ง ฝนตกหนักในบางช่วงของงาน ทำให้บางเวทีต้องหยุดเล่นชั่วคราวจนกว่าฝนจะหยุด ขณะที่บางเวทีซึ่งมีหลังคา ยังคงทำการแสดงคอนเสิร์ตได้ต่อ

ศิลปินต่างประเทศที่มาร่วมงาน

สำหรับศิลปินต่างประเทศที่มาร่วมแสดงในครั้งนี้ ได้แก่ Kiiiiii (ญี่ปุ่น) , Fried Pride, The Travellers (ญี่ปุ่น) , Higashida Tomohiro (ญี่ปุ่น) , YMCK (ญี่ปุ่น)

แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 6: มหกรรมดนตรีที่มันที่สุดใน 3 โลก โลก/สวรรค์/นรก

แก้

จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 – 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ เมืองทองธานี โดยมีบัตรเงินสดสมาร์ทเพิร์ส เป็นสปอนเซอร์หลัก ร่วมกับอีก 7 สปอนเซอร์ร่วม โดยใช้คอนเซ็ปต์ของงานว่า มหกรรมดนตรีที่มันที่สุดใน 3 โลก “โลก – สวรรค์ – นรก” เป็นอีกครั้งที่การเข้างานต้องซื้อบัตร ในราคา 300 บาทเข้าได้ 2 วันและแลกรับซีดี Fat Code#3 ในงาน รูปแบบการจัดงาน ด้านในของฮอลล์จะแบ่งเป็น

  1. ตลาดเขาวงกต - พื้นที่สำหรับบูธจำหน่ายซีดีของศิลปินและค่ายเพลงต่างๆ บูธหนังสือทำมือ รวมทั้งบูธของสปอนเซอร์และพันธมิตรรายต่างๆ โดยจัดวางพื้นที่ในลักษณะของเขาวงกต
  2. เธคเงียบเขาพระสุเมรุ - เธคเงียบที่เพิ่ม Visual Graphic เข้าไป
  3. โรงหนังกินนร - โรงหนังที่ฉายภาพยนตร์สั้นจากทั่วโลก
  4. เวทีสารพัดนึก - เวทีที่เปิดให้แสดงออกอะไรก็ได้เป็นเวลา 3 นาที

เวทีต่างๆ ในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 4 เวที ตั้งชื่อตามคอนเซ็ปต์ของงาน คือ

  1. เวทีสวรรค์
  2. เวทีโลก
  3. เวทีนรก
  4. เวทีอเวจี
ศิลปินต่างประเทศที่มาร่วมงาน

แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 6 มีศิลปินต่างประเทศเข้ามาร่วมงานมากมาย ได่แก่ Shitdisco (สก็อตแลนด์) , Divas (เยอรมัน) , Y2K (มาเลเซีย) , Couple (มาเลเซีย) , Rivermaya (ฟิลิปปินส์) , 21 Scott, Windy City, Phonebooth (เกาหลีใต้) , YMCK, Loves, Doc Holiday and Apache Train, The Travellers, Euphoria และ Velvet Peach 7 (ญี่ปุ่น)

แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 7: ตอนขอบคุณป้าเอ

แก้

จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2550 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2 และ 3 เมืองทองธานี โดยมีเครื่องดื่มบี-อิ้ง และดีแทค เป็นผู้สนับสนุนหลัก ค่าบัตรผ่านประตู 300 บาท เข้าได้ทั้ง 2 วัน และแลกรับซีดี FatCode#4 ในงาน โดยงานครั้งนี้มีแนวความคิดหลักเพื่อแสดงความขอบคุณ "ป้าเอ" ผู้หญิงดัดฟันวัยทอง สตรีไทยตัวเล็กๆ ที่เหล่าชาวแฟตและบรรดาดีเจทั้งหลาย ต่างยกให้เป็นปูชนียบุคคล จากคำพูดเพียงประโยคเดียวที่ว่า “เราน่าจะมีงานที่เล่นดนตรีแล้วขายเทปนะ” เป็นการจุดประกายให้เกิดเทศกาลดนตรีนี้ขึ้นมา[1] ภายในงานแบ่งการแสดงดนตรีออกเป็น 5 เวที ได้แก่

  1. เวที A1 เวทีขนาดใหญ่ที่สุด อยู่ภายในฮอลล์
  2. เวที A2 เวทีขนาดกลาง จัดอยู่ด้านนอกฮอลล์
  3. เวที A3 Nokia IAC stage by Nokia Xpress Music เป็นเวทีสำหรับวงดนตรีสมัครเล่นที่ผ่านการออดิชัน สนับสนุนโดย โนเกีย
  4. เวที A4 เวทีขนาดเล็ก อยู่ภายในฮอลล์ โดยจัดหันหลังชนกับเวที A5
  5. เวที A5 เวทีขนาดเล็ก อยู่ภายในฮอลล์ โดยจัดหันหลังชนกับเวที A4

นอกจากนี้ยังมีการออกร้านของค่ายเพลง บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ ผู้ผลิตนิตยสาร ผู้จัดทำเว็บไซต์ รวมถึงซุ้มหนังสือทำมือ การฉายภาพยนตร์สั้น และยังมีงานศิลปะเพื่อแรงบันดาลใจ ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมและหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดแสดงงานศิลปะของศิลปินผู้สร้างแรงบันดาลใจ 11 คน ได้แก่

  1. "แฟต เฟสติวัล" แรงสั่นสะเทือนจากนอกสารบบ ประวัติและที่มาของงานแฟต เฟสติวัล ที่ริเริ่มโดย ป้าเอ
  2. จงเติมตัวเองลงในช่องว่างที่ถูกต้อง: "จุดยืน" ของวิศุทธิ์ พรนิมิตร จัดแสดงงานแอนิเมชันของการ์ตูน Hesheit
  3. Myspace: โครงการแยกขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ งานศิลปะจากขยะของอุดม แต้พานิช
  4. เสียงกู่ตะโกนของวสันต์ สิทธิเขตต์ โดยการให้เด็กรุ่นใหม่ได้รังสรรค์งานศิลปะใหม่ๆ ในพื้นที่ผนังขนาดใหญ่อย่างอิสระ
  5. งานศิลปะชุด Navin Party (นาวิน ปาร์ตี้) ของ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล เป็นงานศิลปะในธีมของการตามหาคนชื่อนาวินเพื่อรวมตัวกันเป็น พรรคนาวิน
  6. "เชื่อฉัน" ของ คธา พรหมสุภา
  7. Kiiiiiii: หูสองใบ ก็ไม่พอ ผลงานการแสดงศิลปะของนักดนตรีชาวญี่ปุ่นวง Kiiiiiii ที่เพิ่งแสดงไปที่ Graf Media GM, Osaka
  8. Overhead Night Club: คลับตัดหัว
  9. Exjample: เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ จัดแสดงงานกราฟิคดีไซน์ขนาดใหญ่กว่า 60 ภาพ
  10. SMS มนุษย์ - ดีเลย์-ดีเลย ปรับมาจาก ยักษ์วัดแจ้ง ในงานแฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 6 โดยให้คนส่ง SMS เข้ามา และทีมงานจะแสดงข้อความนั้นบนนั่งร้านขนาดใหญ่เพื่อประชาสัมพันธ์ไปทั่วทั้งงาน โดยลูกค้าดีแทคส่งข้อความได้ฟรี หากเป็นลูกค้าของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ใช่ดีแทคจะเสียค่าบริการส่งข้อความ 3 บาทเช่นเคย
  11. ซุ้มขายของอัตโนมัติจากน้ำมือมนุษย์ โดย พรทวีศักดิ์ ริมสกุล และเพื่อน
  12. ลานถ่ายภาพทางอากาศกรุงเทพมหานคร (Google Earth) โดยนำภาพถ่ายทางอากาศของกรุงเทพมหานครจากกูเกิล เอิร์ธ มาขยายขนาดและแปะลงบนพื้น เพื่อให้คนได้นำสติ๊กเกอร์เขียนแสดงความเป็นเจ้าของลงไปได้
เพลงประจำงาน
  1. เทศกาลคนอ้วน Fat Festival - Playground

แฟตเฟสติวัล โชว์เหนือ

แก้

เป็นการจัดงานแฟตเฟสติวัลในต่างจังหวัดครั้งแรก กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2551 ณ ลานม่วนใจ๋ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต[2] โดยมีผู้สนับสนุนหลักคือ โนเกีย และเครื่องดื่มโค้ก ภายใต้แนวคิดหลัก "กรุงเทพมีหยั๋งใด เชียงใหม่มีหยั๋งอั้น" ค่าบัตรผ่านประตูสำหรับผู้ชาย 50 บาท ผู้หญิงไม่เสียค่าบัตรผ่านประตูเพราะงานจัดในวันสตรีสากล โดยในงานจัดการแสดงดนตรีออกเป็น 2 เวที มีการออกร้านของค่ายเพลง บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ ผู้ผลิตนิตยสาร รวมถึงซุ้มหนังสือทำมือ ฉายภาพยนตร์สั้น และ Overhead Night Club เหมือนเช่นเคย

แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 8: แฟตเฟสติวัล พลาซ่า หรือ โค้ก Fat Fest 8 พลาซ่า: มันทุกชั้นทุกแผนก”

แก้

แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 8 จัดขึ้นในวันที่ 8-9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ที่ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2 และ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เช่นเดียวกับครั้งที่ 6 และ ครั้งที่ 7 โดยมีเครื่องดื่มโค้กเป็นผู้สนับสนุนหลักและถือเป็นครั้งแรกของ “เครื่องดื่มโค้ก” ที่เป็นสปอนเซอร์หลักของงานนี้[3] ร่วมกับอีก 10 สปอนเซอร์ร่วม รวมทั้ง iStudio ตัวแทนจำหน่าย คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและโทรศัพท์มือถือ ของบริษัทแอปเปิล ในประเทศไทย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.

  • เวทีการแสดง
  • Black Market: ตลาดมืด เป็นตลาดที่เน้นที่การพิจารณาเฉพาะตัวสินค้า ไม่ใช่หน้าตาคนขายจริงๆ
  • ลานน้ำแข็ง ดีแทค on Ice ซึ่งเป็นบูทที่เถื่อนที่สุดในงาน เพราะมีดีเจพูดด้วยในบางครั้ง
  • ดอยย้ง ปรับมาจาก ยักษ์วัดแจ้ง ในงานแฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 6 และ SMS มนุษย์ ในงานแฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 7 เป็นโซนที่คุณสามารถ sms ข้อความขึ้นไปโชว์บนดอยจำลองขนาดใหญ่เพื่อประชาสัมพันธ์ไปทั่วทั้งงานได้ โดยลูกค้าดีแทคส่งข้อความได้ฟรี หากเป็นลูกค้าของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ใช่ดีแทคจะเสียค่าบริการส่งข้อความ 3 บาทเช่นเคย
  • บูทสสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้นำโต๊ะปิงปอง และ นินเทนโด วี มาให้ผู้ที่มาในงานแฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 8 ได้เล่น และสามารถให้คุณถ่ายคลิปวีดีโอ เพื่อทำขาเทียมพระราชทานมอบให้แก่มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้อีกด้วย

แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 9: อีนี่ fat fest นะจ๊ะ 9 จ๋า

แก้

แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 9 จัดขึ้นในวันที่ 7-8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ที่ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2 และ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เช่นเดียวกับครั้งที่ 6-8 ในแนวคิดโลกสไตล์อินเดีย โดยมีโครงการโมโซไซตี้ ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เป็นผู้สนับสนุนหลัก มีกิจกรรมสำคัญดังนี้

  • เวทีการแสดง
    • เวที dhoom dhoom ตั้งชื่อตามเพลงประกอบภาพยนตร์ dhoom ของทาทา ยัง เป็นเวทีขนาดใหญ่ที่สุด ความจุ 6,000 คน
    • เวทีมะจาเร่ เวทีขนาดเล็ก ความจุ 500 คน
    • เวทีฮัดช้า เวทีขนาดกลาง ความจุ 1,000 คน สำหรับศิลปินเพลงแนวฟังสบาย (เพลงช้า)
    • เวทีรามซิงค์ ตั้งชื่อเพื่อให้พ้องกับคำว่า ลำซิ่ง ในภาษาไทย ความจุ 1,000 คน เน้นเพลงเร็ว สมามรถเต้นตามได้อย่างสนุก
    • เวทีฮาเร็ม พื้นที่สำหรับศิลปินอิสระที่สร้างสรรค์งานนอกสตูดิโอค่ายเพลง (Bedroom Studio)
    • ตลาดฮังเลวังก้า แผงขายซีดีจากศิลปินและค่ายเพลง
  • ทัชมาฮา ตั้งชื่อให้พ้องกับทัชมาฮาล เป็นโซนเกมที่ผู้เล่นต้องทายว่าเสียงหัวเราะที่ได้ยินหลังกดปุ่มเป็นของศิลปินคนใด
  • มหาสมุดอินตรดี้ ตั้งชื่อให้พ้องกับมหาสมุทรอินเดีย เป็นมุมรวมรวมหนังสือในดวงใจคนดังให้อ่าน
  • โรงหนังบอลลีวู๊ด ตั้งชื่อตามฉายาของมุมไบ มหานครแห่งภาพยนตร์ของอินเดีย ตั้งอยู่ที่ห้องจูปิเตอร์ ชั้น 1 เป็นโรงภาพยนตร์ ฉายภาพยนตร์สั้นและภาพยนตร์อินเดียที่เคยได้รับความนิยม เช่น ช้างเพื่อนแก้ว สามพี่น้อง สวรรค์เบี่ยง เปลี่ยนทางรัก เป็นต้น
  • โมโรโซมราเกต ตลาดแนวใหม่ใช้ซีดีเพลง 1 แผ่น ซีดีภาพยนตร์ 1 แผ่น หรือหนังสือ 1 เล่ม แลกคูปองโมโซ 1 ใบ เพื่อนำไปแลกหนังสือหรือซีดีที่ผู้อื่นนำมาแลกคูปองเช่นกัน
  • มะตะบะโซน ตั้งชื่อตามมะตะบะ อาหารของอินเดีย เป็นโซนอาหาร

แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 10: 10 (หึ่ม...)ปี แห่งความหลัง

แก้

แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 10 จัดขึ้นในวันที่ 6-7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ณ ริมทะเลสาบ เมืองทองธานี มีเครื่องดื่มกระทิงแดงเป็นผู้สนับสนุนหลัก โดยเป็นการกลับมาจัดกลางแจ้งอีกครั้งหลังจากครั้งที่ 5 ณ แดนเนรมิตเก่า แฟตเฟสติวัลครั้งนี้มีแนวคิดในการย้อนอดีตของงานในครั้งที่ผ่านมา เพื่อฉลองครบ 1 ทศวรรษของงาน โดยมีเวทีการแสดง 6 เวที การจำหน่ายเสื้อยืดลายเก่าจากปีที่ผ่านมาที่ได้รับเลือกจากการลงคะแนนทางเว็บไซต์ ตลาดนัดเพลง หนังสือทำมือ และโรงภาพยนตร์ Feel Goose

แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 11: กระทิงแดง แฟตเฟส กรุงเทพ หรือ แฟตเฟส ไตรภาค

แก้

แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 11 จัดขึ้นในวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ณ ริมทะเลสาบ เมืองทองธานี เช่นเดียวกับครั้งที่ 10 โดยย้ายมาจาก มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต จังหวัดปทุมธานี (เดิมกำหนดจัดในเดือนพฤศจิกายน แต่ต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากอุทกภัย) โดยมีเครื่องดื่มกระทิงแดงเป็นผู้สนับสนุนหลัก โปสเตอร์ของแฟตเฟสติวัลครั้งนี้เป็นภาพวาดลายเส้น กรุง ศรีวิไล และเทพ โพธิ์งาม โดยเมื่อแฟตได้ผูกงานเข้ากับแฟตเฟสโชว์เหนือและแฟตเฟสมันถึงแก่นเป็นแฟตเฟสไตรภาคแล้ว ได้มีการเติมลายเส้นแรมโบ้ พร้อมที่คาดหัวมีข้อความ "May the FATFEST be with you" ที่รูปของกรุง และหมวกดาร์ธ เวเดอร์ ที่รูปของเทพ

ในการจัดงานครั้งนี้เดิมมีแนวคิดเวทีการแสดง 5 เวที ได้แก่

  • เวทีลูกศิษย์ ตกแต่งโดยใช้จานดาวเทียม ('จารย์มาคุม) สำหรับวงดนตรีหน้าใหม่
  • เวทีกรุง สำหรับเพลงฟังสบายเหมาะกับชีวิตคนเมือง
  • เวทีเทพ สำหรับศิลปินมากความสามารถ มากประสบการณ์
  • เวทีมหา เวทีแนวเซ็นเตอร์สเตจที่ศิลปินอยู่ท่ามกลางผู้ฟัง เสมือนผู้ฟัง "มาหา" ศิลปิน
  • เวทีนคร เวทีสำหรับโชว์หาดูยาก

แต่เมื่อมีการเปลี่ยนสถานที่จัดงาน จึงได้เปลี่ยนแนวคิดเวทีเป็นเสมือนวางมือซ้ายบนสถานที่จัดงาน แบ่งออกเป็น 5 เวทีตามนิ้ว คือ ก้อย นาง กลาง ชี้ และโป้ง โดยศิลปินทุกวงต้องมี "มุขควาย" วงละ 1 มุข ดีเจแฟตจะเป็นผู้ตัดสินว่ามุขของศิลปินวงใดโดนใจที่สุด รางวัลคือสปอตโปรโมทวงทางคลื่นแฟต นอกจากนี้ยังมี บูธจำหน่ายผลงานเพลง งานศิลปะ อนุสาวรีย์จ่าเฉย และจุดทำหน้ากากกรุง-เทพ ที่ใช้ชื่อบูธว่า "ขายหน้า"

แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 12: เดอะ ลาสต์ แฟตเฟส

แก้

แฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 12 จัดขึ้นในวันที่ 3-4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ณ ริมทะเลสาบ เมืองทองธานี เช่นเดียวกับครั้งที่ 10 และ ครั้งที่ 11 โดยเป็นการจัดงานครั้งสุดท้ายในชื่อแฟตเฟสติวัล สัญลักษณ์ของงานเป็นการนำสัญลักษณ์ของแฟตเฟสติวัลครั้งแรกมาใช้อีกครั้ง เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในงานครั้งนี้ คือ การกลับมาแสดงคอนเสิร์ตอีกครั้งในรอบ 3 ปี ของฟลัวร์

การเปลี่ยนแปลงคลื่นแฟต เรดิโอ

แก้

คลื่นแฟต เรดิโอ ประกาศปิดคลื่นวิทยุและหันไปจัดรายการออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ตแทน โดยมีกำหนดการออกอากาศตั้งแต่ 26 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป โดยเฮนรี่ จ๋อง หรือ พงศ์นรินทร์ อุลิศ หัวเรือใหญ่แห่งแฟต เรดิโอ เผยว่า สาเหตุที่มีการย้ายจากวิทยุไปไว้บนออนไลน์เนื่องจากประสบปัญหาทางธุรกิจและต้องการตัดภาระค่าเช่าสถานีออก[4] ก่อนหน้านี้ Fat Radio ได้ปรับตัวเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายทางธุรกิจออกเช่น การลดเงินเดือนพนักงาน การปรับลดจำนวนดีเจ การยกเลิกการจัดงาน Fat Festivalโดย Fat Radio ได้ย้ายสถานีวิทยุจากคลื่นความถี่ 104.5 มาเป็น 98.0 เมื่อต้นเดือนตุลาคมปี 2556 แต่ก็ต้องประกาศปิดการให้บริการทางวิทยุ และให้รับฟังทางอินเทอร์เน็ตแทน[5] [6]

ปัจจุบัน

แก้

แฟต เรดิโอ กลับมาในนามภายใต้ชื่อ แคท เรดิโอ (Cat Radio) และยังคงเป็นทีมงานและดีเจชุดเดิมที่ผลิตจากแฟต เรดิโออีกด้วย [7]

อ้างอิง

แก้
  1. "เปิดตัว Fat Festival 7 ตอน ‘ขอบคุณป้าเอ’". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-19. สืบค้นเมื่อ 2008-03-05. {{cite web}}: C1 control character ใน |title= ที่ตำแหน่ง 28 (help)
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-09. สืบค้นเมื่อ 2008-03-05.
  3. Fat Festival รวมพลเด็กแนว
  4. "Fat Radio ย้ายคลื่นแล้ว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-02-21.
  5. "Fat Radio ประกาศปิดคลื่นวิทยุแล้ว หันจัดออนไลน์แทน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-31. สืบค้นเมื่อ 2015-02-21.
  6. ปิดตำนาน แฟต เรดิโอ ปิดตำนานเด็กแนวและยุคปฏิวัติอินดี้ของเมืองไทย[ลิงก์เสีย]
  7. แฟต เรดิโอ กลับมาแล้ว ในชื่อ แคท เรดิโอ


แหล่งข้อมูลอื่น

แก้